อภิญญาปริเฉท

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย วิทย์, 1 สิงหาคม 2005.

  1. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439
    บัดนี้ เมื่อโยคีนั้นได้ปฏิบัติสมาธิจนดำรงอยู่ในจตุตถฌานได้อย่างสะดวกสบาย เธอสามารถทำให้เกิดอภิญญา ๕ อย่าง คือ
    อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้
    ทิพโสต หูทิพย์
    เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่น
    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนๆได้
    ทิพจักษุ ตาทิพย์
    คำว่า "อิทธิวิธี" หมายถึง "การเปลี่ยนร่าง" "ทิพโสต" หมายถึง "เหนือการได้ยินของมนุษย์" "เจโตปริยญาณ" หมายถึง "การเข้าใจความคิดของผู้อื่น" "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" หมายถึง "การจำอดีตชาติได้" "ทิพจักษุ" หมายถึง "เหนือการเห็นของมนุษย์"
    ถาม : อิทธิวิธีมีกี่ชนิด ใครทำให้เกิดขึ้น วิธีปฏิบัติเป็นอย่างไร?
    ตอบ : อิทธิวิธีมี ๓ ชนิด คือ อธิษฐานฤทธิ์ วิกุพพนาฤทธิ์ มโนมยิทธิ
    อธิษฐานฤทธิ์เป็นไฉน? โยคีคนเดียวกลายเป็นหลายคน และหลายคนกลายเป็นคนเดียว เมื่อเธอขยายร่างก็สูงใหญ่ถึงพรหมโลก นี่เรียกว่า อธิษฐานฤทธิ์
    วิกุพพนาฤทธิ์เป็นไฉน? โยคีนั้นละร่างตามปกติของตนแล้วปรากฎเป็นร่างของเด็กชายเป็นงูหรือท้าวมหาพรหม นี้คือวิกุพพนาฤทธิ์
    มโนมยิทธิเป็นไฉน? โยคีนั้นเนรมิตร่างอีกร่างหนึ่งขึ้นมาจากร่างนี้อย่างบริบูรณ์มีครบถ้วนทั้งอวัยวะน้อยใหญ่และอินทรีย์ตามความปรารถนาของตน นี้เรียกว่า มโนมยิทธิ

    อิทธิวิธี ๗ ชนิด
    อนึ่ง ยังมีอิทธิวิธีอีก ๗ ชนิด คือ ญาณวิปผาราฤทธิ์ สมาธิวิปผาราฤทธิ์ อริยฤทธิ์ กัมมวิปากชาฤทธิ์ บุญฤทธิ์ วิชชามยฤทธิ์ อิชฌนัฏเฐนฤทธิ์
    ถาม : ญาณวิปผาราฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : เพราะมองเห็นความไม่เที่ยงบุคคลจึงละความสำคัญว่าเที่ยง(อนิจจสัญญา) และทำให้เกิดญาณวิปผาราฤทธิ์ บุคคลจะละกิเลสทั้งมวลด้วยอรหัตมรรค และทำให้เกิดญาณวิปผาราฤทธิ์ ควรเข้าใจญาณวิปผาราฤทธิ์อย่างนี้ เหมือนญาณวิปผาราฤทธิ์ของพระพักกุลเถระ พระสังกิจจเถระ และพระภูตปาลเถระ นี้คือญาณวิปผาราฤทธิ์
    ถาม : สมาธิวิปผาราฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : บุคคลละนิวรณ์ และทำให้เกิดสมาธิวิปผาราฤทธิ์ด้วยปฐมฌาน เธอละและทำให้เกิดสมาธิวิปผาราฤทธิ์ด้วยการเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ เหมือนในกรณีของพระสารีบุตรเถระ พระขาณุโกณฑัญญเถระ นางอุตตราอุบาสิกา และนางวิสาขาอุบาสิกา นี้คือ สมาธิวิปผาราฤทธิ์
    ถาม : อริยฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : ถ้าภิกษุในพระศาสนานี้ปรารถนาจะอยู่ด้วยความสำคัญว่าไม่ปฎิกูลในสิ่งปฏิกูล ภิกษุนั้นก็สามารถอยู่ด้วยความสำคัญว่าไม่ปฏิกูล ถ้าภิกษุในพระศาสนานี้ปรารถนาจะอยู่ด้วยความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล ภิกษุนั้นก็สามารถอยู่ด้วยความสำคัญว่าปฏิกูล ถ้าภิกษุในพระศาสนานี้ปรารถนาจะอยู่ด้วยการสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งปฏิกูล ภิกษุนั้นก็สามารถอยู่ด้วยความสำคัญว่าไม่ปฏิกูล ถ้าภิกษุในพระศาสนานี้ปรารถนาจะอยู่ด้วยความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล เธอก็สามารถอยู่ด้วยความสำคัญว่าปฏิกูล
    ถาม : บุคคลอยู่ด้วยความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลได้อย่างไร?
    ตอบ : บุคคลแผ่ความคิดไปในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์หรือไม่เที่ยง
    ถาม : บุคคลอยู่ด้วยความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอย่างไร?
    ตอบ : บุคคลแผ่เมตตาจิตไปในสิ่งปฏิกูล และสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และถือสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นธาตุ
    ถาม : บุคคลอยู่ด้วยความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และสิ่งปฏิกูลได้อย่างไร?
    ตอบ : บุคคลแผ่ความคิดไปในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์หรือไม่เที่ยง
    ถาม : บุคคลอยู่อย่างวางอุเบกขามีสติและสัมปชัญญะคิดแยกออกจากสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลได้อย่างไร?
    ตอบ : ภิกษุในพระศาสนานี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ อยู่อย่างวางอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ อารมณ์ที่ปรากฏทางอายตนะอื่นๆก็ทำนองเดียวกันนี้ นี้เรียกว่า อริยฤทธิ์
    ถาม : กัมมวิปากชาฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : เทวดาทั้งมวล นกทั้งมวล มนุษย์บางคน สัตว์ที่เกิดในทุคติบางพวกมีฤทธิ์สามารถเหาะเหินไปในอากาศได้ นี้เรียกว่ากัมมวิปากชาฤทธิ์
    ถาม : บุญฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : เป็นเหมือนบุญฤทธิ์ของพระเจ้าจักรพรรดิ เศรษฐีชื่อโชติกะ เศรษฐีชื่อชฏิละ และเศรษฐีชื่อโฆสิตะ อนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นเหมือนบุญฤทธิ์ของบุคคลผู้มีบุญมาก ๕ คน นี้เรียกว่า บุญฤทธิ์
    ถาม : วิชชามยฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : ผู้มีอาคมร่ายเวทมนต์แล้วเหาะไปในอากาศได้ เขาทำให้ปรากฏมีช้าง ม้า รถม้า กองทหาร หรือกองทัพนานาชนิด ในอากาศนั้น นี้เรียกว่าวิชชามยฤทธิ์
    ถาม : อิชฌนัฏเฐนฤทธิ์เป็นไฉน?
    ตอบ : บุคคลสามารถละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ บุคคลสามารถละกิเลสทั้งมวลด้วยอรหัตมรรค เปรียบเหมือนช่างปั้นหม้อทำงานของตนให้สำเร็จฉะนั้น ดังนั้น โดยการประกอบตามวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จ ทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จได้ นี้เรียกว่าอิชฌนัฏเฐนฤทธิ์

    วิธีการเจริญอิทธิวิธี
    ถาม : ใครเป็นผู้ฝึกอิทธิวิธี วิธีเจริญอิทธิวิธีเป็นอย่างไร?
    ตอบ : กล่าวกันว่า มีกัมมัฏฐาน ๙ ที่เกี่ยวกับอากาศ และบ้างก็กล่าวว่ามี ๕ อย่าง ทุกคนที่บรรลุจตุตถฌานพร้อมความชำนาญ เป็นผู้เจริญอิทธิวิธี อนึ่ง กล่าวกันว่า รูปฌานที่สี่ทำให้ดับกิเลส เพราะฉะนั้น บุคคลจึงเป็นผู้เจริญอิทธิวิธี อีกนัยหนึ่ง กล่าวกันว่า ฌาน ๒ ในบรรดาฌานที่มี ๔ ขั้น(จตุกกฌาน)เป็นสิ่งให้ความสะดวก(ในการเจริญอิทธิวิธี) อิทธิวิธีย่อมฝึกได้ด้วยประการอย่างนี้
    ถาม : อิทธิวิธีเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : ภิกษุในพระศาสนานี้เจริญอิทธิบาทซึ่งประกอบด้วยความเพียร(ปธาน) และฉันทสมาธิซึ่งเป็นอันเดียวกับวิริยสมาธิ จิตตสมาธิ และวิมังสาสมาธิ
    "ฉันทะ" คือความปรารถนาที่จะทำ "สมาธิ" คือความไม่ฟุ้งซ่านของจิต โยคีนั้นปรารถนาอิทธิวิธีและอิทธิบาทแล้วปฏิบัติสมาธิและตั้งมั่นในความเพียร ๔ ประการ (คือ) โยคีนั้นเพียรพยายามป้องกันการเกิดขึ้นของบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น เธอเพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เธอเพียรพยายามทำให้เกิดบุญที่ยังไม่เกิดขึ้น เธอเพียรพยายามเพิ่มและรักษาบุญที่ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างมีสติพร้อมทั้งพัฒนาให้เจริญขึ้นอย่างสมบูรณ์ เหล่านี้เรียกว่า "ความเพียร(ปธาน)" คำว่า "ประกอบด้วย" หมายความว่า บุคคลมีคุณสมบัติ (ปธาน) ๓ อย่างเหล่านี้ ส่วนทั้ง ๓ ของข้อปฏิบัตินี้ครบบริบูรณ์ด้วยประการอย่างนี้ คำว่า "อิทธิบาท" ได้แก่ สิ่งที่เป็นเหตุให้บุคคลบรรลุอิทธิวิธี "อิทธิบาท" นั้นเป็นเพียงเครื่องมือให้บรรลุนั่นเอง เพราะเหตุนั้นภาวะนั้นท่านจึงเรียกว่า "อิทธิบาท" อีกอย่างหนึ่ง การทำให้ความเพียรและฉันทสมาธิบริบูรณ์นี้เรียกว่า "อิทธิบาท" มันเป็นหนทางเข้าถึงอิทธิวิธี นี้คือความหมายสำคัญ
    "เจริญ" หมายความว่า "ปฏิบัติและทำให้มาก" นี้เรียกว่า "การเจริญอิทธิบาทซึ่งประกอบด้วยความเพียรและฉันทสมาธิ" โยคีนั้นปฏิบัติอย่างนี้ นี้คือ หนทางแห่งความสำเร็จบางครั้งเธอถอยกลับ บางครั้งเธอทรงตัว เธอทำให้เกิดวิริยะ เธอทำให้อิทธิบาทนี้ซึ่งประกอบด้วยวิริยสมาธิและความเพียรเต็มบริบูรณ์(ใน)หนทางแห่งความสำเร็จนี้โยคีนั้นบางครั้งก็หย่อนยาน บางครั้งก็ถอยกลับ บางครั้งก็กระวนกระวายใจ เมื่อใจหย่อนยาน เธอก็สร้างลักษณะกระตือรือร้นขึ้นในใจ เมื่อจิตท้อถอย เธอก็สร้างจิตสมาธิให้เกิดขึ้น เมื่อจิตกระวนกระวาย เธอก็สร้างความสงบให้เกิดขึ้น(ในจิต) ดังนั้น จิตของเธอจึงได้อิทธิบาท อันประกอบด้วยจิตสมาธิและความเพียร ถ้าบุคคลมีจิตที่ปราศจากกิเลส เธอก็จะเข้าใจคุณและโทษโดยง่าย เธอปฏิบัติ(โดยกล่าวว่า) "บัดนี้เป็นเวลาที่จะเจริญ" หรือ "บัดนี้มิใช่เวลาที่จะเจริญ" ดังนั้น เธอจึงทำอิทธิบาทซึ่งประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและความเพียร โยคีนั้นเจริญอิทธิบาททั้ง ๔ อย่าง ด้วยประการอย่างนี้ จิตของเธอเป็นจิตคล่องแคล่วแสดงอาการรับกับกาย และกายของเธอก็แสดงอาการรับกับจิต ดังนั้น โยคีนั้น บางครั้งจึงควบคุมกายด้วยจิตของตน และบางครั้งควบคุมจิตด้วยกายของตน เมื่อขึ้นอยู่กับกาย จิตก็เปลี่ยนแปลง เมื่อขึ้นอยู่กับจิต กายก็เปลี่ยนแปลง เมื่อขึ้นอยู่กับกาย จิตก็ตั้งมั่น เมื่อขึ้นอยู่กับจิต กายก็ตั้งมั่น
    การรับรู้ความสุข(สุขสัญญา)และความเบา(ลหุสัญญา) ก็เกาะติดอยู่กับกาย ในภาวะนั้นเธอย่อมบรรลุถึงขีดสุดยอดของความเบา ทำกายของตนให้อ่อนอย่างยิ่งและบรรลุถึงขีดความสามารถสูงสุดของความตั้งใจ อุปมาเหมือนก้อนเหล็กที่ถูกเผาจนร้อนเป็นสีแดง สามารถแต่งเป็นรูปทรงอะไรก็ได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้น เมื่อได้ทำกายให้เบาโดยอาศัยการอบรมจิตด้วยประการอย่างนี้ เธออาศัยความเบาแห่งกายนี้จึงเข้าถึงจตุตถฌาน และเป็นผู้มีสติและสงบ เมื่อออกจากจตุตถฌานนั้น เธอนึกถึงอากาศ แล้วอธิษฐานโดยอาศัยฌาน ด้วยวิธีเช่นนี้ กายของเธอก็สามารถลอยขึ้นไปในอากาศ เมื่อได้อธิษฐานโดยอาศัยฌาน เธอก็สามารถเหาะขึ้นไปในอากาศได้ เปรียบเหมือนปุยนุ่นที่ลมพัดลอยไปฉะนั้น แต่โยคีใหม่ไม่ควรไปเร็วมากนักเพราะในขณะที่เธอกำลังทำอยู่นั้น เธออาจเกิดความกลัวขึ้นมาได้ ถ้าเธอเกิดความกลัว ฌานของเธอจะเสื่อมหายไป เพราะฉะนั้น โยคีใหม่ไม่ควรไปเร็วมากนัก เธอควรไปตามลำดับ เริ่มแรก เธอควรเหาะขึ้นสูง ๑ ศอก จากนั้นจึงค่อย ๆ สูงขึ้นตามลำดับ และควบคุมจิตให้เป็นสมาธิ อีกอย่างหนึ่ง เธอใช้ระยะช่วงแขนตามขนาดของตัวเองเป็นเกณฑ์ ดังนั้น บุคคลควรเข้าถึงจุดที่ตนปรารถนาจะเข้าถึงตามลำดับ
    ถาม : เป็นไปได้ไหมว่า โยคีนั้นจะตกลงมาจากฟ้า ถ้าเธอสูญเสียฌานของตนไปขณะอยู่ในท้องฟ้านั้น
    ตอบ : เป็นไปไม่ได้ (เพราะว่า) การเหาะนี้เริ่มจากการนั่งเข้าฌานของบุคคล ถ้าบุคคลไปไกลแล้ว ฌานเสื่อมเธอก็จะมาถึงที่นั่ง (พอดีกับที่ฌานเสื่อมหมด) บุคคลเห็นกายที่อยู่ในท่าแรก (และคิดว่า) "นี้คือผู้เป็นเจ้าของอิทธิวิธี นี้คือการปฏิบัติเพื่อความสงบ"

    อธิษฐานฤทธิ์
    โยคีนั้น ควบคุมจิตให้เกิดสมาธิขึ้นตามลำดับ และสามารถเข้าสมาบัติได้อย่างคล่องแคล่ว "เธอสามารถมีอิทธิวิธีในรูปแบบต่างๆ คนเดียวกลายเป็นหลายคน หลายคนกลายเป็นคนเดียว หรือมิฉะนั้น เธอก็ปรากฏตัวให้เห็น (หรือหายตัว) หรือเดินทะลุกำแพง เดินผ่านเครื่องกีดขวาง เดินทะลุภูเขา เธอไปได้อย่างไม่ติดขัดเหมือนอยู่ในที่ว่าง เธอสามารถดำลงดินหรือมุดขึ้นจากดินเหมือนอยู่ในน้ำ เธอสามารถเดินบนน้ำเหมือนเดินบนที่แห้ง เธอสามารถไปมาในอากาศได้เหมือนนก ด้วยความยิ่งใหญ่ของอิทธิวิธี และอำนาจเหนือธรรมดา เธอสามารถลูบคลำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เธอ(สามารถ)ขยายร่างให้ใหญ่ขึ้นถึงพรหมโลก"
    ข้อว่า "คนเดียวกลายเป็นหลายคน" หมายความว่า เธอคนเดียวทำตัวเองให้เป็นหลายคน เธอทำตัวเองให้ปรากฏเป็นร้อยคน พันคน หรือหมื่นคน เป็นต้น โดยอาศัยอิทธิวิธี เธอเข้าจตุตถฌานแล้วออกจากฌานนั้นอย่างสงบอธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอให้ข้าพเจ้ากลายเป็นหลายคน" เหมือนพระจูฬปันถกผู้อรหันต์
    ข้อว่า "หลายคนกลายเป็นคนเดียว" หมายความว่า เมื่อปรารถนาจะเปลี่ยนจากหลายคนให้กลับกลายเป็นคนเดียว เธอก็อธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนจากหลายคนกลายเป็นคนเดียว" เหมือนพระจูฬปันถกผู้อรหันต์
    ข้อว่า "เธอปรากฏตัวให้เห็นหรือหายตัว เดินทะลุกำแพง เดินผ่านเครื่องกีดขวาง เดินทะลุภูเขา เธอไปได้อย่างไม่ติดขัดเหมือนอยู่ในที่ว่า" หมายความว่า โยคีนั้นเจริญอากาศกสิณแล้วเข้าจตุตถฌาน ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้วก็เดินทะลุกำแพง เดินผ่าน เครื่องกีดขวางเดินทะลุภูเขาได้ ขณะกำลังไปเธออธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอให้เป็นช่องว่าง" เมื่อเข้าถึงความว่าง โยคีนั้นก็เดินทะลุกำแพง เดินผ่านเครื่องกีดขวาง เดินทะลุภูเขาไปในช่องว่างนั้นได้ เธอไปโดยไม่ติดขัดเหมือนอยู่ในที่ว่าง
    อะไรคือความหมายของ "เธอก็ปรากฏตัวให้เห็น"? ข้อนี้หมายถึง "เปิด" อะไรคือความหมายของ "เธอก็หายตัว" ข้อนี้หมายถึง "ไม่เปิด" โยคีนั้นเปิดสิ่งที่ยังไม่เปิดและเดินทะลุ กำแพงเดินผ่านเครื่องกีดขวาง เดินทะลุภูเขา
    อะไรคือความหมายของ "เธอไปได้อย่างไม่ติดขัด" "เธอสามารถดำลงดินและมุดขึ้นจากดินเหมือนอยู่ในน้ำ"? โยคีนั้นเจริญอาโปกสิณ แล้วเข้าจตุตถฌาน ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้ว กำหนดหมายเอาพื้นดินส่วนหนึ่งแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอที่นั่นจงเป็นน้ำ" โยคีนั้นก็สามารถดำลงดินและมุดขึ้นจากดินเหมือนอยู่ในน้ำ
    ข้อว่า "เธอสามารถเดินบนน้ำได้เหมือนเดินบนดิน" หมายความว่า โดยไม่มีอุปสรรค โยคีนั้นเจริญปฐวีกสิณแล้วเข้าจตุตถฌาน ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้ว กำหนดหมายเอาน้ำแห่งหนึ่งแล้ว อธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอที่นั่นจงเป็นดิน" เมื่อทำให้เป็นดินแล้ว โยคีนั้นก็สามารถเคลื่อนไหวไปมาบนน้ำได้อย่างไม่ลำบากเหมือนเคลื่อนไหวอยู่บนดิน
    ข้อว่า "เธอไปมาในอากาศได้เหมือนนก" หมายความว่า ในเรื่องนี้มีการไปมาอยู่ ๓ อย่างคือ การไปมาด้วยเท้า การไปมาในอากาศ และการไปมาด้วยใจ โยคีในพระศาสนานี้เจริญปฐวีกสิณแล้วอธิษฐานด้วยญาณขอให้มีทางเดินในอากาศ และไปมาด้วยเท้าได้ หรือถ้าเธอเจริญวาโยกสิณ อธิษฐานถึงอากาศแล้วก็ไปในอากาศได้เหมือนปุยนุ่น หรือเธอทำกายและจิตให้เต็มด้วยการไปมาด้วยใจ การรับรู้ความสุขและความเบาย่อมเกาะติดกับกายของเธอ ดังนั้นกายของเธอก็ลอยและไปด้วยการไปมาด้วยใจเหมือนดังนกไปด้วยปีกฉะนั้น เธอไปด้วยการไปมาด้วยใจด้วยประการอย่างนี้
    ข้อว่า "ด้วย(อานุภาพของ)อิทธิวิธีและอำนาจเหนือธรรมดา เธอก็สามารถลูบคลำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้" หมายความว่าเมื่อได้อิทธิวิธี โยคีนั้นจึงควบคุมจิตได้ เมื่อฝึกจิตของตนเธอจึงเข้าถึงจตุตถฌาน ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้ว ก็ลูบคลำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้ด้วยการอธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอให้มือของข้าพเจ้าจงเอื้อมถึงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์" แล้วก็เอื้อมมือไปถึงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้น โยคีนั้นกำลังนั่งหรือกำลังนอน ก็สามารถลูบคลำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้
    ข้อว่า "เธอขยายร่างให้ใหญ่ขึ้นถึงพรหมโลก" หมายความว่า โยคีผู้ได้อิทธิวิธีควบคุมจิตแล้วก็สามารถไปถึงพรหมโลกได้อย่างสะดวกสบาย นี้คืออิทธิบาททั้ง ๔ อย่าง
    ด้วยการฝึกจิตอย่างนี้ เธออธิษฐานขอให้ทางไกลเป็นทางใกล้ หรือทางใกล้เป็นทางไกล เธออธิษบานขอให้มากคนกลายเป็นน้อยคน หรือน้อยคนกลายเป็นมากคน เธอเห็นรูปของพรหมด้วยทิพจักษุ ได้ยินเสียงของพรหมด้วยทิพยโสต และรู้ใจของพรหมด้วยเจโตปริยญาณ โยคีนั้นมีสังขาร ๓ เธอไปพรหมโลกด้วยสังขาร ๒ นี้คือคำสอนอันสมบูรณ์ที่ว่าด้วยอธิษฐานฤทธิ์
    อธิษฐานฤทธิ์จบ

    วิกุพพนาฤทธิ์
    บัดนี้ โยคีนั้น ปรารถนาจะได้วิกุพพนาฤทธิ์เจริญอิทธิบาท ควบคุมจิตได้ชำนาญ ทำจิตให้สบายด้วยกายและอธิษฐานกายด้วยจิต การรับรู้ความสุขและการรับรู้ความเบาย่อมยึดเกาะกับกายของเธอ เธอตั้งมั่นอยู่ในการรับรู้นั้น เมื่อปฏิบัติเช่นนั้นอยู่โยคีย่อมเข้าถึงขีดสุดยอดของความเบา ทำกายของตนให้อ่อนอย่างยิ่งและบรรลุถึงขีดความสามารถสูงสุดของความตั้งใจ อุปมาเหมือนก้อนเหล็กที่ถูกเผาจนร้อนเป็นสีแดง สามารถแต่งเป็นรูปทรงอะไรก็ได้อย่างง่ายดายฉะนั้น เมื่อได้ทำจิตให้อ่อนและสามารถอธิษฐานได้โดยอาศัยการอบรมจิตด้วยประการอย่างนี้ เธอจึงอธิษฐานให้กายของตนเต็มด้วยจิต ถ้าโยคีนั้นปรารถนาจะถือเอาร่างของเด็กชาย เธอละร่างของตน เข้าจตุตถฌาน ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้ว เปลี่ยนเป็นร่างของเด็กชาย ในการกลายร่าง เธออธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอให้ข้าพเจ้าเป็นเด็กชายอย่างครบถ้วน" เธออธิษฐานเช่นนั้นแล้ว จึงกลายร่างเป็นเด็กชายอย่างครบถ้วน ในทำนองเดียวกัน ในการเปลี่ยนร่างเป็นงู ครุฑ ยักษ์ อสูร พระอินทร์หรือพรหม มหาสมุทร ภูเขา ป่า สิงโต เสือ เสือดาว ช้าง ม้า กองพลทหารราบ กองทหารเหล่าต่างๆ เธอก็อธิษฐานด้วยญาณว่า "ขอให้ข้าพเจ้ากลายร่างเป็นกองพลทหารราบอย่างครบถ้วน" เธออธิษฐานเช่นนั้นแล้ว จึงกลายร่างเป็นกองพลทหารราบอย่างครบถ้วย(เป็นต้น)
    ถาม : อะไรคือความแตกต่างระหว่างอธิษฐานฤทธิ์กับวิกุพพนาฤทธิ์?
    ตอบ : ในอธิษฐานฤทธิ์ บุคคลอธิษฐานโดยมิได้เปลี่ยนร่าง ในวิกุพพนาฤทธิ์บุคคลเปลี่ยนร่าง นี้คือ ความแตกต่าง
    วิกุพพนาฤทธิ์จบ

    มโนมยิทธิ
    บัดนี้ โยคีนั้น ปรารถนาจะได้มโนมยิทธิ เธอควบคุมจิตได้ชำนาญแล้ว เจริญอิทธิบาทเข้าจตุตถฌาน ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้ว เธอเพ่งจิตไปยังภายในของตนด้วยการคิดว่า "เป็นเหมือนหม้อเปล่า" จากนั้น โยคีจึงตั้งจิตว่า "ภายในกายอันว่างเปล่าของเรานี้ เราจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังต้องการ เราจะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จตามความตั้งใจนั้น" เธอพิจารณาดังนี้แล้วจึงเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ โดยวิธีนี้ เธอจึงเนรมิตร่างต่างๆได้มากมาย จากนั้นจึงทำกิจต่าง ๆ ได้มากอย่าง ถ้าโยคีนั้นปรารถนาจะไปพรหมโลก ด้วยกายที่เนรมิต เธอก็เนรมิตรูปของพรหมก่อนเข้าไปยังพรหมโลก ร่างที่เนรมิตขึ้นตามความตั้งใจของตนนี้ ย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทั้งมวลไม่มีความสามารถใดขาดหายไป ถ้าผู้มีอิทธิวิธีเดินไปมา ร่างที่เนรมิตขึ้นก็เดินไปมาด้วย ถ้าผู้มีอิทธิวิธีนั่ง นอน พ่นไอน้ำ และเปลวไฟ ถามคำถาม หรือ ตอบคำถาม ร่างที่เนรมิตขึ้นก็นั่ง นอน พ่นไอน้ำและเปลวไฟ ถามคำถามหรือตอบคำถามด้วย เพราะร่างที่เนรมิตขึ้นนั้นเกิดจากอิทธิวิธี มันจึงทำเช่นนั้น
    มโนมยิทธิจบ

    ปกิณณกกถา
    อะไร คือปกิณณกกถา? ร่างที่อิทธิวิธีเนรมิตขึ้นสามารถปรากฏขึ้นในขณะใดขณะหนึ่งก็ได้ ในขณะที่เธอไม่แสดงให้ปรากฏ เธอย่อมทราบว่าขณะใดไม่ใช่เวลา ในระหว่างเวลาที่เธอปรารถนาจะพูด เธอย่อมทำตัวเองไม่ให้ปรากฏ เธอมิได้ปรากฏในขณะใดเลย ร่างที่เนรมิตขึ้นนั้นไม่มีชีวิตินทรีย์ เครื่องดื่ม อาหาร สิ่งของต่างๆ และความรู้แบบต่างๆ ที่เนรมิตขึ้น ย่อมเป็นไปตามครรลองแห่งอารมณ์ทั้ง ๙ คือ อารมณ์ที่กำหนด อารมณ์ละเอียด อารมณ์ที่ไม่มีกำหนด อารมณ์ในอดีต อารมณ์ในอนาคต อารมณ์ในปัจจุบัน อารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอก อารมณ์ทั้งภายในและภายนอก
    ปกิณณกกถาจบ

    ทิพโสต
    ถาม : ใครเป็นผู้ฝึกทิพโสต? ทิพโสตเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : บุคคลผู้เข้าจตุตถฌาน พร้อมทั้งมีวสี (ความชำนาญ) ในกสิณ ๘ และกสิณ ๒ ทำให้เกิดทิพโสตได้โดยอาศัยอวัยวะสำหรับฟังของร่างกาย
    ถาม : รูปธาตุของจตุตถฌานเป็นอิสระได้อย่างไร?
    ตอบ : มันเกิดขึ้นในขณะนั้น
    ถาม : ทิพโสตเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : โยคีใหม่เจริญอิทธิบาท ๔ อย่างแล้วควบคุมจิตของตนได้คล่องแคล่ว เข้าฌานที่สี่ออกจากฌานนั้นอย่างสงบแล้วเพ่งจิตไปยังสัญญาณเสียงโดยอาศัยอวัยวะสำหรับฟังของร่างกาย เมื่อได้ยินเสียงจากที่ไกล หรือได้ยินเสียงจากที่ใกล้ เธอก็ใส่ใจต่อนิมิตแห่งเสียงนั้น เมื่อได้ยินเสียงหยาบหรือได้ยินเสียงละเอียด เธอก็ใส่ใจต่อนิมิตแห่งเสียงนั้น เมื่อได้ยินเสียงจากทิศตะวันออก เธอก็ใส่ใจต่อนิมิตแห่งเสียงนั้น เป็นเช่นนี้สำหรับทิศทั้งปวง ด้วยการเจริญความบริสุทธิ์ของจิตและการชำระโสตธาตุให้บริสุทธิ์ โยคีนั้นย่อมทำสังขารให้เข้มแข็ง โยคีนั้นได้ยินเสียงที่อยู่เหนือการได้ยินของหูมนุษย์ด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ เธอได้ยินเสียงทั้ง ๒ คือ เสียงเทวดาและเสียงมนุษย์ รวมทั้งเสียงไกลและเสียงใกล้ โบราณจารย์กล่าวไว้ว่า "เริ่มแรกโยคีใหม่ได้ยินเสียงของสัตว์ทั้งหลายภายในตนเอง หลังจากนั้น เธอจึงได้ยินเสียงของสัตว์ทั้งหลายภายนอกตัวเอง จากนั้น เธอย่อมได้ยินเสียงของสัตว์ทั้งหลายในที่ต่างๆ เธอทำความใส่ใจให้เข้มแข็งโดยลำดับด้วยประการอย่างนี้" อีกนัยหนึ่ง กล่าวกันว่า "เริ่มแรก โยคีใหม่ไม่อาจได้ยินเสียงของสัตว์ทั้งหลายภายในตนเองเพราะว่าเธอไม่สามารถได้ยินเสียงละเอียดได้ เธอไม่อาจเข้าถึงเสียงระดับนี้ได้ด้วยหูของกายมนุษย์ แต่โยคีใหม่นั้นสามารถได้ยินเสียงของสังข์ กลองและ อื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ด้วยหูของกายมนุษย์"
    เสียงละเอียดหรือเสียงหยาบ เสียงไกลหรือเสียงใกล้ ก็สามารถได้ยินด้วยทิพโสตและอารมณ์ภายนอก ถ้าบุคคลสูญเสียการได้ยินของร่างกาย เธอก็จะสูญเสียทิพโสตไปด้วย ในพระศาสนานี้ พระสาวกผู้ไดวสี(ในการเจริญ)สามารถได้ยินเสียงของพันโลกธาตุพระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมสามารถได้ยินมากกว่านั้น อำนาจของการได้ยินของพระตถาคตไม่มีขีดจำกัด
    ทิพโสตจบ

    เจโตปริยญาณ
    ถาม : ใครเจริญเจโตปริยญาณ? เจโตปริยญาณเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : บุคคลผู้เข้าถึงจตุตถฌาน มีอาโลกกสิณเป็นอารมณ์ และได้วสีในฌานนั้น ย่อมได้ทิพจักษุและทำให้เกิดเจโตปริยญาณ
    เจโตปริยญาณนั้นเจริญได้อย่างไร โยคีใหม่ผู้ได้อิทธิบาทและควบคุมจิตได้อย่างคล่องแคล่ว เข้าอาโลกกสิณซึ่งบริสุทธิ์และไม่คลอนแคลน ออกจากฌานที่สี่นั้นอย่างสงบแล้ว เริ่มแรกเธอทำให้กายของตนเต็มด้วยแสงสว่าง เธอเห็นสีของหัวใจตัวเองด้วยทิพจักษุ ด้วยสีนี้เธอจึงทราบสภาวะจิตของตนและรู้ความเปลี่ยนแปลงในจิตของตนด้วยการเปลี่ยนแปลงในสีนี้ว่า "สีนี้เกิดมาจากโทมนัสสินทรีย์ สีนี้มาจากอุเบกขินทรีย์ หัวใจก็จะมีสี(เหมือนสี)ของนมเปรี้ยวและเปรียง ถ้าจิตที่ประกอบด้วยโทมนัสเกิดขึ้น หัวใจก็มีสีม่วง ถ้าจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขา หัวใจก็จะมีสี(เหมือนสี)ของน้ำผึ้ง ถ้าจิตที่ประกอบด้วยกามฉันทะเกิดขึ้น หัวใจก็จะมีสีเหลือง ถ้าจิตที่ประกอบด้วยความโกรธเกิดขึ้น หัวใจนั้นก็จะมีสีดำ ถ้าจิตที่ประกอบด้วยอวิชชาเกิดขึ้น หัวใจก็จะมีสีเหมือนโคลน ถ้าจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาและปัญญาเกิดขึ้น หัวใจก็มีสีบริสุทธิ์ โยคีนั้นเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสีโดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองด้วยประการฉะนี้
    บัดนี้ เธอจึงแผ่ความสว่างไปยังกายผู้อื่นและเห็นสีของหัวใจผู้อื่นด้วยทิพจักษุ เธอเข้าใจสีที่เปลี่ยนไปโดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงในหัวใจของชนเหล่านั้น และเขาใจความเปลี่ยนแปลงในใจของชนเหล่านั้นโดยอาศัยสีที่เปลี่ยนไป เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว โยคีนั้น จึงทำเจโตปริยญาณให้เกิดขึ้น เมื่อทำเจโตปริยญาณให้เกิดขึ้นแล้ว เธอจึงละความใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสี และยึดมั่นอยู่ที่ใจในฐานะเป็นเพียงอารมณ์ โยคีนั้นปฏิบัติด้วยประการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น จิตของเธอจึงบริสุทธิ์
    ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีหัวใจอันประกอบด้วยความเมตตา เธอ(โยคีนั้น)ย่อมรู้ว่าบุคคลนั้นมีหัวใจอันประกอบด้วยเมตตา ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีใจอันประกอบด้วยโทสะ เธอย่อมรู้ว่าบุคคลนั้นมีใจอันประกอบด้วยโทสะ เธอย่อมรู้ใจทั้งหมดด้วยประการอย่างนี้
    เจโตปริยญาณย่อมดำเนินไปในอารมณ์ ๘ อย่าง คือ อารมณ์ที่มีกำหนด มหัคคตารมณ์ อารมณ์ในมรรค อรมณ์อันหาประมาณมิได้ อารมณ์ในอดีต อารมณ์ในอนาคต อารมณ์ในปัจจุบันและอารมณ์ภายนอก
    การรู้จิตของพระขีณาสพไม่อยู่ในอำนาจ(ความสามารถ)ของปุถุชน จิตของสัตว์อรูปภพมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบได้ ถ้าพระสาวกบรรลุวิมุตติ เธอย่อมรู้จิต(ของสัตว์ทั้งหลาย)ในพันโลกธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมทราบมากกว่านี้ไม่มีขีดจำกัดสำหรับญาณของพระตถาคต
    เจโตปริยญาณจบ

    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
    ถาม : ใครเป็นผู้เจริญปุพเพนิวาสานุสสติญาณ? ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมีอยู่กี่ชนิด? ปุพเพนิวาสานุสสติญาณเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : บุคคลผู้เข้าถึงฌานสี่มีวสีในกสิณ ๘ และกสิณ ๒ เป็นผู้สามารถทำให้เกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
    อีกอย่างหนึ่ง ถามว่า รูปฌานชั้นไหน?
    ฌานที่สี่ของรูปฌานซึ่งมีความหลุดพ้นแห่งจิต
    อีกอย่างหนึ่งถามว่า ในฌานที่สี่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมีกี่ชนิดสามารถเกิดขึ้นได้?
    ตอบ : ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๓ ชนิด
    ถาม : ด้วยฌานที่สี่ มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นไปได้กี่ชนิด
    ตอบ : ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมีอยู่ ๓ ชนิด คือ การระลึกชาติได้หลายชาติ การระลึกชาติได้โดยกำเนิด การระลึกชาติได้โดยการปฏิบัติ
    ข้อว่า "การระลึกชาติได้หลายชาติ" หมายความว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณที่เกิดได้ด้วยวิธี ๔ อย่าง คือ บุคคลทำนิมิตให้เจริญดีแล้ว จากนั้นเธอจึงกำหนดนิมิตทางใจ ทำอินทรีย์ให้สงบแล้วทำความสามารถนั้นให้เจริญ วิธีทั้ง ๔ นี้ทำให้เกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ บรรดาการระลึกชาติในอดีตชนิดนี้ การระลึกชาติในอดีตได้ ๗ ชาติถือว่าดีที่สุด
    ข้อว่า "การระลึกชาติได้โดยกำเนิด" หมายความว่า เทวดา นาค(อมนุษย์) ครุฑ ย่อมระลึกชาติในอดีตของตนได้โดยธรรมชาติ บรรดาการระลึกชาติในอดีตชาตินี้ อย่างดีที่สุดคือ ระลึกชาติในอดีตได้ ๑๔ ชาติ
    ข้อว่า "การระลึกชาติได้ด้วยการปฏิบัติ" หมายถึงการทำให้เกิด(ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) โดยอาศัยพื้นฐานของอิทธิวิธีทั้ง ๔
    ถาม : ปุพเพนิวาสานุสสติญาณเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : โยคีใหม่เมื่อได้เจริญอิทธิบาททั้ง ๔ แล้ว ควบคุมจิตได้คล่องแคล่ว ด้วยศรัทธาย่อมเป็นผู้ไม่คลอนแคลนและเป็นผู้บริสุทธิ์ เธอนั่งลงแล้ว ย่อมระลึกถึงสิ่งที่ตนได้ทำแล้วในตอนกลางวัน หรือทุกอย่างที่ตนได้ทำแล้วทั้งกาย ทางใจ และทางวาจา ที่เกี่ยวกับการกระทำในตอนกลางคืนก็เช่นเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน เธอย่อมระลึกถึงทุกอย่างที่ตนได้ทำแล้วในระหว่าง ๑ วัน ในระหว่าง ๒ วัน และโดยทำนองนี้ย้อนหลังไปถึง ๑ เดือน ในทำนองเดียวกัน เธอย่อมระลึกถึงทุกอย่างที่ตนได้ทำแล้วในระหว่าง ๒ เดือน ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ๑๐๐ ปี ขึ้นไปจนถึงชาติล่าสุดของตน ถึงตอนนี้จิตกับเจตสิกของชาติก่อนและจิตกับเจตสิกของชาติต่อมาย่อมปรากฏเนื่องจากจิตและเจตสิกของชาติก่อน เธอจึงได้ชาติต่อมา เนื่องจากความสืบต่อของจิต เธอจึงสามารถเห็นเหตุและปัจจัยต่างๆ และระลึกถึงความเป็นไป(ย้อนหลัง)ของจิต ชาติก่อนและหลังทั้ง ๒ ชาติมิได้แยกออกจากกัน และเกิดขึ้นในชาตินี้เพราะได้เกิดมาแล้วในชาติก่อนนั้น ด้วยการฝึกจิตอันได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เช่นนั้นแล้ว โยคีนั้นย่อมระลึกเรื่องราวต่างๆ มากมายในอดีตของตน (เธอระลึกได้) ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ เป็นต้น ด้วยประการอย่างนี้ โยคีใหม่ย่อมระลึกถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาตินี้ได้ ถ้าโยคีคนใดคนหนึ่งไม่สามารถระลึกถึงอดีตชาติของตนได้ เธอก็ไม่ควรเลิกบำเพ็ญเพียร ควรเจริญฌานซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ในการเจริญฌาน เธอควรทำใจให้บริสุทธิ์ด้วยการกระทำคล้ายกับวิธีขัดกระจกที่ถูกต้อง เมื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์แล้ว เธอย่อมระลึกถึงอดีตของตนได้อย่างชัดแจ้ง ถ้าเธอระลึกถึงอดีตต่อไปโดยเริ่มด้วย ๑ ชาติ เธอย่อมยินดีเกินเปรียบ เมื่อพบวิถีทางแล้ว เธอไม่ควรคำนึงถึงสภาพชีวิตของเธอในภูมิสัตว์เดรัจฉาน และในอรูปภูมิ กำเนิดในภพของอสัญญีสัตว์ พระโสภิตเถระจัดว่าเป็นเอตทัคคะในปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้
    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณย่อมดำเนินไปในอารมณ์ ๗ อย่าง อารมณ์เหล่านั้นได้แก่ อารมณ์ที่กำหนด มหัคคตารมณ์ อารมณ์อันหาประมาณมิได้ อารมณ์ในอดีต อารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอก และอารมณ์ทั้งภายในและภายนอก
    โยคีควรระลึกถึงเรื่องเกี่ยวกับประเทศและหมู่บ้านของตนในอดีต การระลึกอดีตได้ เป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกถึงความต่อเนื่องของขันธ์ด้วยญาณได้ จัดเป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คนนอกพุทธศาสนาย่อมระลึกได้ ๔๐ กัลป์ พวกเขาไม่อาจระลึกได้มากกว่านั้นเพราะกำลังอ่อน พระอริยสาวกย่อมระลึกได้ ๑ หมื่นกัลป์ พระอัครสาวกย่อมระลึกได้มากกว่านี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมระลึกได้มากกว่านี้ และพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสามารถระลึกถึงชาติการกระทำภูมิและสิ่งอื่นทั้งปวงในอดีตของพระองค์และของผู้อื่นได้ ย่อมทรงระลึกได้มากกว่านี้ ชนที่เหลือย่อมระลึกได้เพียงอดีตของตนเอง และอดีตชาติเพียงไม่กี่ชาติของผู้อื่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงระลึกทุกสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนาจะระลึกถึงได้ ชนเหล่าอื่นย่อมระลึกได้ตามลำดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ว่าจะทรงเข้าสมาธิหรือไม่ทรงเข้าสมาธิ ก็ทรงสามารถระลึกได้ตลอดเวลา ชนที่เหลือย่อมระลึกได้ด้วยการเข้าสมาธิเท่านั้น
    ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    ทิพจักษุ
    ถาม : ใครเป็นผู้เจริญทิพจักษุ? ทิพจักษุมีกี่ชนิด? ทิพจักษุเจริญได้อย่างไร?
    ตอบ : (คือ) บุคคลผู้เข้าฌานที่สี่อันมีอาโลกกสิณเป็นอารมณ์และได้วสีในฌานนั้น และเป็นผู้มีสายตาตามปกติ (เป็นผู้เจริญทิพจักษุ)
    ถาม : ทิพจักษุมีกี่ชนิด?
    ตอบ : ทิพจักษุมี ๒ ชนิด คือทิพจักษุที่เกิดด้วยกรรมดีและที่เกิดด้วยกำลังของการเจริญความเพียร ในทิพจักษุทั้ง ๒ ชนิดนี้ ทิพจักษุอันเป็นกรรมที่สั่งสมมาย่อมเกิดจากวิบาก(ของกรรม) ด้วยทิพจักษุนี้ บุคคลจึงสามารถเห็นว่ามีอัญมณีอยู่ในคลังหรือไม่ ข้อว่า "ที่เกิดด้วยกำลังของการเจริญความเพียร" หมายความถึงทิพจักษุที่ทำให้เกิดด้วยการเจริญอิทธิบาท
    ทิพจักษุเจริญได้อย่างไร? เมื่อเจริญอิทธิบาทและควบคุมจิตได้คล่องแคล่วแล้ว โยคีใหม่ผู้บริสุทธิ์และไม่คลอนแคลนย่อมเข้าอาโลกกสิณ เธอเข้าฌานที่สี่แล้วทำไว้ในใจและอธิษฐานความหมายรู้ในแสงสว่างและความหมายรู้ในกลางวันว่า "กลางวันนี้เป็นเหมือนกลางคืน กลางคืนนี้เป็นเหมือนกลางวัน" เมื่อจิตของเธอเป็นอิสระจากอุปสรรคและความยึดติดทั้งปวง เธอจึงสามารถทำจิตของตนให้มีพลังและทำความสว่างให้เพิ่มขึ้น สำหรับโยคีผู้มีจิตที่มีพลังและทำความสว่างให้เพิ่มขึ้น ไม่มีสิ่งใดที่ปกปิด และเธอมีความสว่างล้ำดวงอาทิตย์ โยคีนั้นปฏิบัติอย่างนี้แล้วแผ่ความสว่างไปทั่วกายของตน และใส่ใจต่อสีและรูป ด้วยทิพจักษุอันหมดจดซึ่งก้าวล่วงการเห็นของมนุษย์ โยคีนั้น "ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้ดับไป และผู้เกิดขึ้นใหม่ หยาบและละเอียด สวยงามและน่าเกลียด เจริญหรือเสื่อมตามกรรมของสัตว์เหล่านั้น ถ้าบุคคลปรารถนาจะทำให้ทิพจักษุเกิด เธอควรกำจัดกิเลสเหล่านี้คือวิจิกิจฉา การไม่มีมนสิการ ถีนมิทธะ มานะ ความยินดีที่ผิด การกล่าวให้ร้าย การทำความเพียรมากไป การทำความเพียรน้อยไป การพูดเพ้อเจ้อ นานัตตสัญญา การหมกมุ่นในรูปมากเกินไป ถ้ากิเลสเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏในระหว่างการเจริญทิพจักษุ สมาธิย่อมเสื่อม ถ้าสมาธิเสื่อม ความสว่างย่อมหายไป การมองเห็นอารมณ์ย่อมเสียไป เพราะเหตุนั้นกิเลสเหล่านี้ จึงควรกำจัดให้สิ้น ถ้าเธอกำจัดกิเลสเหล่านี้ได้ แต่ไม่ได้วสีในสมาธิ ทิพจักษุของเธอย่อมมีอำนาจจำกัดเพราะยังไม่ได้วสี โยคีนั้นย่อมเห็นความสว่างอันจำกัดด้วยทิพจักษุอันจำกัด การมองเห็นรูปของเธอย่อมจำกัดไปด้วย ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงสอนว่า "ในสมัยที่สมาธิของเราจำกัด ตาของเราย่อมจำกัดและด้วยตาอันจำกัด เราย่อมรู้ความสว่างอันจำกัด และเห็นรูปอันจำกัด ในสมัยที่สมาธิของเราหาประมาณมิได้ ตาของเราย่อมมีทิพจักษุอันหาประมาณมิได้ และด้วยทิพจักษุอันหาประมาณมิได้ เราย่อมรู้ความสว่างอันหาประมาณมิได้และเห็นรูปอันหาประมาณมิได้"
    โยคีใหม่ในพระศาสนานี้ไม่ควรยึดติดกับรูปหรือกลัวรูป ความผิดเหล่านี้ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ดังในคำอธิบายที่ให้ไว้แล้วก่อนหน้านี้
    ทิพจักษุย่อมดำเนินไปในอารมณ์ ๕ คือ อารมณ์ที่มีกำหนด อารมณ์ในปัจจุบัน อารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอก และอารมณ์ทั้งภายในและภายนอก
    ญาณ ๔ ชนิด ย่อมเกิดจากทิพจักษุ (คือ) อนาคตังสญาณ กัมมัสสกตาญาณ ยถากัมมูปคญาณ กัมมวิปากญาณ บรรดาญาณเหล่านี้ด้วยอนาคตังสญาณเธอย่อมเห็นการเกิดขึ้นของรูปในอนาคต ด้วยกัมมัสสกตาญาณบุคคลย่อมรู้จักกรรมที่ผู้อื่นทำ ด้วยกรรมนั้น เธอย่อมรู้ว่า บุคคลนั้นๆ จะไปสู่โลกนั้นๆ ด้วยยถากัมมูปคญาณเธอย่อมเห็นโลกที่สัตว์ทั้งหลายจะไปอุบัติ และเธอย่อมรู้ว่า บุคคลนั้นๆ จะบังเกิดในโลกนั้นๆ ด้วยกรรมนั้นๆ ด้วยกัมมวิปากญาณเธอย่อมรู้กาลเป็นที่มาถึง ณ ที่นี้ เธอย่อมรู้ภาวะที่ตนจะเข้าถึง ณ ที่นี้ เธอย่อมรู้กิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดการมา ณ ที่นี้ เธอย่อมรู้หนทางมา ณ ที่นี้ เธอย่อมรู้ว่ากรรมนั้นๆจะสุกงอม เธอย่อมรู้ว่ากรรมนั้นๆยังไม่สุกงอม เธอย่อมรู้ว่ากรรมนั้นๆจะให้ผลมาก และ เธอย่อมรู้ว่ากรรมนั้นๆจะให้ผลน้อย
    พระสาวกในพระศาสนานี้ผู้ได้วิมุตติ ย่อมเห็นพันโลกธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้าย่อมเห็นมากกว่านั้น และไม่มีขีดจำกัดสำหรับการเห็นของพระตถาคต
    ทิพจักษุจบ

    ปกิณณกกถา
    ในเรื่องอภิญญานี้ มีปกิณณกกถาดังนี้ ถ้าบุคคลเจริญสมาธิอย่างหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเห็นรูปด้วยทิพจักษุ เธอย่อมเห็นรูปเท่านั้น เธอย่อมไม่ได้ยินเสียง ถ้าเธอเจริญสมาธิย่างหนึ่ง เพื่อที่จะได้ยินเสียงด้วยทิพโสต เธอย่อมได้ยินเสียงเท่านั้น เธอย่อมไม่เห็นรูป ถ้าเธอเจริญสมาธิด้วยหวังจะเห็น ได้ยิน และรู้ใจผู้อื่น เธอย่อมสามารถเห็น ได้ยินและรู้ใจผู้อื่น ถ้าเธอเจริญสมาธิด้วยหวังจะเห็นในทิศหนึ่ง เธอย่อมไม่สามารถเห็นในทิศอื่น เธอย่อมไม่สามารถได้ยินและไม่สามารถรู้ใจผู้อื่น ถ้าเธอปฏิบัติสมาธิมาก เธอสามารถเห็นในทิศทั้งปวง เธอย่อมสามารถได้ยิน และรู้ใจผู้อื่น อิทธิวิธี ๕ อย่าง เป็นโลกิยญาณ อิทธิวิธีเหล่านี้เป็นของสัตว์ในรูปภูมิผู้มีกิเลส และเป็นปุถุชนผู้มีสังโยชน์ ญาณอันเป็นกุศลเป็นของพระเสขบุคคล และปุถุชน ญาณของพระอรหันต์ย่อมกำหนดลักษณะมิได้ อภิญญา ๕ อย่าง ย่อมไม่บังเกิดในอรูปภูมิ
    อภิญญาปริจเฉทในวิมุตติมรรคจบ

    คัดลอกจากหนังสือ "วิมุตติมรรค" (พระอุปติสสเถระ รจนา)
    พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ
    ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ

    ปล.เผื่อจะเป็นประโยชน์กับบางท่านที่มีจริตมาทางนี้และมีบารมีสูงพอที่จะปฏิบัติให้เกิดผลได้ ควรอ่านและพิจารณาอย่างละเอียด อภิญญานี้เป็นเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นพระสัพพัญญู(ผู้รอบรู้ทุกสรรพสิ่ง) สิ่งที่พระองค์นำมาสั่งสอนให้แก่พวกเราทุกคนก็ได้มาจากญาณและอภิญญาของท่าน โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือหรือได้ยินเรื่องราวต่างๆเหล่านี้จากไหนมาก่อน เป็นสิ่งที่พระองค์ทราบและตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองครับ

    [b-wai]
     
  2. torelax9

    torelax9 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    167
    ค่าพลัง:
    +527
    ขอบคุณครับ ที่หามาให้อ่าน ได้แล้ว สอนบ้างนะครับ
     
  3. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,682
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,012
    คุณ wit<SCRIPT type=text/javascript> vbmenu_register("postmenu_101578", true); </SCRIPT>
    เอามาจากไหน ครับ มีแหล่งอ้างอิงไหม ?
     
  4. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439
    คัดลอกจากหนังสือ "วิมุตติมรรค" (พระอุปติสสเถระ รจนา)
    พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะ แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ

    ของพระเอฮารา พระโสมเถระ และพระเขมินทเถระ
     
  5. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,682
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,012
    Thank wit
    วิมุตติมรรค

    have you got website ?
     
  6. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439
    <!-- / message --><!-- sig -->


    หมายถึงเวปของหนังสือหรือว่าเวปส่วนตัวครับ เนื้อหาผมพิมพ์มาจากในหนังสือ ส่วนเวปส่วนตัวไม่มีครับ มีแต่ของพระอาจารย์(เคยนำมาลงในนี้ตั้งนานแล้ว) แต่ในนั้นไม่มีผมหรอกนะครับมีแต่รูปญาติและพี่สาวครับ
    ปล.เพราะจริงๆตอนนี้ผมหันมารู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้วล่ะครับ
     
  7. Star Platinum

    Star Platinum เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    355
    ค่าพลัง:
    +1,152
    อธิบายดีครับ ขอบคุณคุณ wit ครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...