เรื่องเด่น อยู่ใกล้กับคนพูดลบทุกวัน ทำใจอย่างไร?

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 4 มิถุนายน 2018.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,387
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    anger and sati.jpg
    รายการดังตฤณวิสัชนา
    วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

    อยู่ใกล้กับคนพูดลบทุกวัน ทำใจอย่างไร?
    ดังตฤณ:

    อย่าทำใจ
    คำถามนี้เป็นคำถามที่มีมาบ่อยในระยะหลังๆ เหตุก็เพราะว่าเราอยู่ในโลกที่อยู่ยาก แต่ละคนรู้สึกอยากเอาเข้าตัว อยากให้คนอื่นเห็นใจ เรียกร้องความเห็นใจจากคนอื่นเข้าตัว แต่ตัวเองไม่เคยเห็นใจคนอื่นเลย อยากให้คนอื่นพูดดีๆกับตัวเอง แต่ตัวเองพูดแย่ๆกับคนอื่นได้ มันมีสารพัดที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัว หรือแสดงถึงความมีจิตใจที่เริ่มแปรปรวนมากขึ้นกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

    ยุคของเราเนี่ย สมองคนมันต่างไปจากเดิมมาก คือ มันมีแต่อะไรร้ายๆอยู่ในหัว ที่จะให้คิดดีหรือเชื่ออะไรดีๆเนี่ย ยากนะ ยากกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก่อนเนี่ย คนยังพูดเรื่องความดี ยังพูดเรื่องอะไรที่สอนเด็ก สอนเด็กว่าธรรมะชนะอธรรมอะไรแบบนี้ แต่ปัจจุบันนะ พ่อแม่เองคล้ายๆว่าจะทำใจว่าเป็นไปตามกระแสโลก โลกเป็นอย่างไร ก็สอนลูกไปแบบนั้น ขึ้นต้นมา ชีวิตคนคนหนึ่ง เอาเด่น เอาดี เอาดังก่อน เรียกร้องความสนใจจากคนอื่นก่อน เรื่องอื่นไม่สน ที่จะไปเห็นอกเห็นใจคนอื่น เนี่ย ก็เลยปลูกฝังคนรุ่นใหม่ๆ คนยุคใหม่ คนยุคเราเนี่ย เห็นใจตัวเองก่อน

    แล้วมันจะมีเสียงด่าอยู่ข้างใน มีจิตใจที่มืดบอด อย่างน้องเปรี้ยวฆาตกรฆ่าหั่นศพเนี่ย ถ้าเราดูสภาพจิตใจ คือดำมืดเลย แล้วก็จะไม่มีความรู้สึกผิดใดๆทั้งสิ้น ที่ไม่มีความรู้สึกผิดนี่แหละ มันดำมืด แล้วที่น่าตกใจไม่ใช่เรื่องของน้องเปรี้ยวนะ มันคือเรื่องที่ว่ายังมีคนประเภทนี้ ที่โตขึ้นมา วัยรุ่นแบบนี้ที่โตขึ้นมาอีกมาก แต่ยังไม่ได้ทำคดีขึ้นมาเท่านั้นเอง อาจจะรอเวลา เป็นระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดอยู่

    เอาล่ะ กลับมาที่คำถาม คือ ทำยังไงเราจะอยู่กับคนที่ลบๆได้?

    เพราะว่าทุกวันนี้ มันต้องเจอกันทั้งนั้นเลย เรียกว่าสิบบ้านนี่ มีสักหกบ้านเจ็ดบ้านมั้งที่เหมือนกับกลับเข้าบ้าน เหมือนกลับมาอยู่ในคุก กลับมาเจอคำพูดทิ่มแทง กลับมาเจอกับการรบราฆ่าฟันกันด้วยปาก การจามขวานในปากใส่กัน ใส่แก้วหูกัน

    ตรงนี้ ผมบอกเลยว่าวิธีที่เราจะเจริญสติอย่างถูกต้องนะ ก่อนอื่น ถ้าพูดถึงนักเจริญสติจริงๆที่มีชั่วโมงบินสูงระดับหนึ่งแล้วเนี่ย จิตใจเนี่ยจะมีความเข้มแข็งอยู่ เข้มแข็งในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงว่ามีอาการฮึดสู้ ไม่ใช่มีอาการที่แข็งกร้าว ไม่ใช่มีอาการกระด้าง แต่หมายความว่ามีกำลังที่จะ “รู้”

    รู้เท่าทันว่ามีสิ่งกระทบเข้ามา
    แล้วก็รู้เท่าทันว่า มีปฏิกิริยาทางใจสวนออกไปอย่างไร

    นี่เรียกว่าความเข้มแข็งของสติ ความเข้มแข็งของสติแบบนั้นเนี่ย จะช่วยให้รู้สึกไม่เป็นทุกข์มากเกินไป พอมีอาการจี๊ดๆ พอมีอาการที่เหมือนกับปึงปัง ตึงตัง ขึ้นมาข้างในเนี่ย มันเห็น แล้วก็รู้สึกขึ้นมาว่า

    นั่นสักแต่เป็นภาวะของปฏิกิริยาทางใจ
    ที่โต้ตอบเสียงกระทบที่ไม่น่าชอบใจ
    มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาวูบนึง
    แล้ววูบนั้นจะทำให้ใจกลับมาเป็นปกติทันที
    นี่เรียกว่า สติมีความเข้มแข็ง

    แต่ถ้ายังไปไม่ถึงตรงนั้น เราจะบ่มเพาะความเข้มแข็งหรือว่ากำลังของจิตขึ้นมาอย่างไร กำลังของสติขึ้นมาท่าไหน มันถึงจะไปถึงจุดนั้นได้?

    ก่อนอื่น สำคัญที่สุด สำคัญมากๆ จำไว้นะ หลักการสำหรับคนที่รู้ตัวว่าสติยังไม่แข็งแรงพอ อย่าแกล้งคิด อย่าแกล้งทำเป็นรู้สึกว่า ไม่เป็นไร ฉันมีความสุข ฉันอยู่เหนือโลกแล้ว ลอยตัวอยู่เหนือเสียงด่า ลอยตัวอยู่เหนือเสียงอะไรที่มันเป็นลบๆ อย่าไปแกล้งคิดเด็ดขาด!

    เพราะว่าถ้าแกล้งคิด คุณอยู่ในทิศทางที่มันผิดแล้ว มันผิดจากการเจริญสติแล้ว เพราะคำว่าสติ คือ การรับรู้ตามจริง ไม่ใช่การแกล้งที่จะสร้างภาวะที่เป็นมายาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา บางคนเข้าใจว่าการไม่โกรธเลย การไม่มีปฏิกิริยาทางใจสวนกลับไปเลย คือสิ่งดี คือสิ่งที่เท่ คือสิ่งที่วัดความสำเร็จในการเจริญสติ บอกว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องไม่โกรธ ต้องทำหน้าเฉยๆเหมือนพระอิฐ พระปูน

    พอทิศทางตั้งต้น มีความเข้าใจแบบนี้เนี่ย ผลก็คือมันจะอัดๆๆเข้ามา มีแต่แรงดันกดๆๆๆ แกล้งกดให้ตัวเองต้องระเบิดปุ้งออกมาในวันนึง โดยที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ แล้วก็พอปุ้งออกมาก็เสียอกเสียใจ พอเสียอกเสียใจ โล่งอกไปแป๊บนึง กลับมาตั้งท่าเป็นนักปฏิบัติธรรมใหม่ คือเก็บอีก กดอีก กดดันเข้าไปแล้วเดี๋ยวก็ระเบิด มันก็เข้าวงจรรอบแล้วรอบเล่า ไม่ได้สติจริงสักที

    การที่เราจะไปแกล้งบอกตัวเองว่า
    ฉันไม่โกรธ ฉันไม่ถือสา
    ทำเป็นหน้านิ่งๆเนี่ย
    นอกจากจะไม่ได้รู้ตามจริง ไม่ได้เกิดสติแล้ว
    มันยังเกิดแรงดันของโทสะ อัดๆๆเข้าไป

    อย่างสมัยก่อนเนี่ยจะมี ไม่ว่าจะพระ ชี หรือว่า ที่จะต้องตั้งกัณฑ์เทศน์บ่อยๆ จะมีประเภทนึงที่เหมือนแกล้งเทศน์นิ่มๆ ทำเสียงเหมือนคนใจดีอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีคนหมู่มากเนี่ยจะดูเป็นพ่อพระแม่พระ แล้วก็เหมือนกับหน้าตาสงบใส ชอบพูดอะไรดีๆ แล้วก็น้ำเสียงฟังรื่นหูมาก แต่พอพ้นจากหน้าตาของคนหมู่มาก เหลือคนแค่ไม่กี่คนที่ใกล้ตัว เปลี่ยนเลยนะ คือพลิกจากเทวดากลายเป็นอีกอย่างนึงไปเลย จากนางฟ้ากลายเป็นเขี้ยวงอก มีเขาขึ้นมาเลย เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา คนใกล้ชิดจะเห็นอะไรแบบนี้กันเยอะ นี่เป็นเพราะว่าการแกล้งเก็บกดต่อหน้ามหาชน เป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ฝังเข้ามาในตัว อัดแน่นมากขึ้นๆ แล้วพอเวลาระเบิดขึ้นมาที บางทีเนี่ยมันเหมือนกับความดีหรือภาพสงบอะไรเย็นๆที่สะสมมาตลอดชีวิตหายไปหมด พังครืนเลย

    บางคนนึกว่านี่เป็นพระอรหันต์แล้ว ที่แท้พออยู่กับคนใกล้ตัวที่หลังฉาก กลายเป็นดินระเบิด นั่นก็เพราะว่าเราไปตั้งใจหรือว่าสร้างภาพอะไรผิดๆขึ้นมา ตั้งแต่ต้นว่าการไม่โกรธเลยเป็นของดี

    จริงๆแล้วการเจริญสติที่ถูกต้อง
    ตามวิธีที่พระพุทธท่านเจ้าสอน
    ท่านสอนไว้ในสติปัฏฐานเลยนะว่า
    โกรธให้รู้ว่าโกรธ

    เมื่อจิตหายโกรธก็รู้ว่าจิตหายโกรธ

    ความโกรธมีอยู่ในจิต..รู้

    โทสะมีอยู่ในจิต..รู้

    พอโทสะหายไปจากจิตก็รู้

    เปรียบเทียบว่ามันต่างกันอย่างไร

    อย่าไปทำเป็นเก่งบอกฉันจะไม่โกรธเลย พอทำเป็นเก่งฉันจะไม่โกรธเลยมันจะมีความรู้สึก ทำหน้าผ่องๆ เย็นๆ แต่ข้างในอึดอัด แล้วพอครั้งต่อไป มีอีกก็อึดอัดมากขึ้นอีก นี่อย่างนี้เรียกว่าเป็นการแกล้งทำ เป็นการสร้างภาพเปล่าๆ

    แต่ถ้าเรามีสติรู้ว่ากำลังโกรธ มันจะมีความรู้สึกเป็นธรรมชาติขึ้นมา ร้อน รู้สึกจุกแน่น รู้สึกจุกเสียด รู้สึกอยากด่า เนี่ย ตัวนี้ ตัวที่ยอมรับตามจริงว่าเกิดอะไรขึ้น มันมีสติโผล่ขึ้นมาแล้ว

    แล้วพอเราพิจารณาไว้ก่อน เราตั้งมุมมองไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ความโกรธเนี่ย ถ้าหากว่าเราไม่ได้เล่นตามน้ำ ถ้าหากว่าเราเก็บไว้ไม่ด่า แล้วเห็นความอึดอัดแน่นนอกที่มันจวนระเบิดรอมร่อว่า อันนี้มันชัดดีนะ มันเกิดขึ้นเนี่ย ร้อน แล้วมันจะเปรี้ยงปร้างๆเหมือนฟ้าผ่าอยู่ข้างใน เกือบจะออกละ แต่มันไม่ออกไป เพราะว่าเรามีสติเห็นว่าตอนนี้มันกำลังมีความโกรธอยู่ ที่ลมหายใจนี้กำลังโกรธแค่นี้ มันเห็น แล้วมันเห็นแบบไม่เก็บไม่กด ไม่พยายามไปปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น

    จากนั้นเนี่ยลมหายใจต่อมา ถามตัวเองว่ามันยังเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า ถ้ามันยังเท่าเดิมก็ยอมรับว่าเท่าเดิม ยอมรับว่าเท่าเดิมก็คือมีสติรู้แล้วว่ามันยังเท่าเดิม แต่ถ้ามันต่างระดับไป จะน้อยลงหรือกระทั่งมากขึ้น นี่ก็คือมีสติรู้ว่า โทสะ ระดับความโกรธนี้มันเปลี่ยนแปลง มันแปรปรวนไปแล้ว

    การที่มีสติเห็นความไม่เที่ยงอย่างเมื่อกี้ที่ให้ดูคลิป ถ้าเราเห็นสิ่งใดไม่เที่ยง ใจเราจะถอยออกมาแล้วก็วางสิ่งนั้น วางสิ่งนั้นไว้ตรงที่ที่มันอยู่นั่นแหละ ไม่เอากลับมากับจิตด้วย ไม่เอาติดมือกลับมาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ถูกต้องว่า โกรธแล้วให้รู้ว่าโกรธ ยอมรับว่าโกรธ

    ที่ลมหายใจนี้รู้ว่ากำลังโกรธอยู่
    ลมหายใจต่อมามันต่างไปแค่ไหน ก็รับรู้
    รู้ตามจริงอย่างเดียวไม่ต้องไปพยายามทำอะไร

    เมื่อใดที่เราเห็นว่าความโกรธ ว่าความรู้สึกเกลียดชัง ว่าความรู้สึกรำคาญ ว่าความรู้สึกเหม็นเบื่อ ว่าความรู้สึกว่าแหม เมื่อไหร่มันจะพ้นจากภาวะนี้สักที เมื่อไหร่จะได้เป็นอิสระสักที มันล้วนแล้วแต่เข้าข่ายโทสะ ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายว่ามีอาการเปรี้ยงปร้างขึ้นมาชั่วคราวที่ลมหายใจนึง แล้วต้องต่างไปเป็นธรรมดาที่อีกลมหายใจนึง

    อย่างนี้มันจะเกิดความเคยชินที่จะเห็นความไม่เที่ยงของโทสะ
    ยิ่งถ้าหากว่าเราเจอคำลบๆทุกวัน
    ก็แปลว่าเรามีโอกาสสังเกตความจริงข้อนี้ทุกวันเช่นกัน
    ได้ปฏิบัติธรรมทุกวันมันดีไหมล่ะ?

    ถ้าหากเราเห็นข้อดี เราเห็นวิกฤตในโอกาส เราจะรู้สึกขอบคุณ เราจะรู้สึกว่า นี่ก็เป็นสนามจริงที่เราจะลงไปปฏิบัติ ไม่ใช่แค่อ่านๆมาเฉยๆว่าหลักสูตรวิธีกำจัดความโกรธ วิธีละลายความเครียดจากการอยู่กับคนที่มีแต่คำพูดลบๆอะไรแบบนี้ คุณอ่านไปเถอะเป็นร้อยเป็นพันเล่ม แล้วก็ลืม แต่ถ้าหากว่าได้ทำ มันจะจำมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน มันจะเข้าใจ มันจะซึ้งเข้าไปข้างในถึงจิตถึงใจ จนกระทั่งใจเนี่ยมันไม่เอาโทสะออกมาจากข้างในจริงๆ

    คือยังมีความโกรธอยู่ แต่ว่ามันไม่เอา มันมีแต่ความรู้ไว้ล่วงหน้าว่าเดี๋ยวฉันจะดูมันยังไง ดูยังไง? ดูตรงที่ว่าลมหายใจนี่โกรธมากหรือโกรธน้อย อีกลมหายใจนึงต่างไปแค่ไหน นี่แหละ แค่นี้ มันดูเหมือนง่ายๆ แต่อาจต้องใช้เวลาฝึกสักนิดนึง บางคนอาจจะไม่กี่วัน บางคนเป็นเดือน บางคนหลายปี แต่ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาไปทั้งชีวิตเพื่อที่จะฝึกให้ได้ มันก็คุ้มชีวิตนี้แล้ว เพราะว่าความโกรธเป็นเครื่องแสดงความไม่เที่ยง เครืองแสดงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราได้ชัดที่สุด แล้วมันเกิดบ่อยมาก หลายคนเริ่มต้นได้ดีจากการปฏิบัติธรรมก็จากการสังเกตความโกรธนี่แหละ!
    ขอบคุณที่มา :- http://dungtrinanswer.blogspot.com/search/label/โทสะ และการอภัย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 6 มิถุนายน 2018
  2. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
  3. รัศมีสุริยา

    รัศมีสุริยา สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มีนาคม 2018
    โพสต์:
    82
    ค่าพลัง:
    +53
    โมทนาสาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...