อริยะสัจธรรม พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 20 กันยายน 2013.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    อริยะสัจธรรม


    พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)


    วัดป่าเขาน้อย ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์


    ต่อไปนี้ เป็นเวลาที่เราจะนั่งสมาธิ ปฏิบัติ จิตตภาวนาที่เราได้ปฏิบัติมาทุกวันๆ เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนบารมี บุญกุศลราศี สัมมาปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดจิตใจของเราให้มีอำนาจ และละเอียด เพื่อให้เราทั้งหลาย มีสติและปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป

    การภาวนาเป็นงานที่ปฏิบัติเกี่ยวเนื่องด้วยจิตใจกับธรรมะ ที่ปรากฏขึ้นในจิตใจ เป็นสิ่งที่ละเอียด ธรรมะที่เกิดขึ้นในจิตใจนั้น มีหลายอย่างด้วยกัน มีทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สามารถจะเกิดขึ้นในใจได้ สิ่งที่เราไม่ต้องการ ถ้าเกิดขึ้นในใจได้ สิ่งที่เราไม่ต้องการ ถ้าเกิดขึ้นในใจได้ สิ่งที่เราต้องการก็เกิดขึ้นในใจของเราได้เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราไม่ต้องการก็คือ สิ่งที่ไม่ทำให้เกิดความสุขในตัวของเรา สิ่งที่เราต้องการคือ สิ่งที่เกิดความสุขทั้งทางกายและทางจิตใจ ความสุขและทุกข์ย่อมมีประจำอยู่เสมอ ตั้งแต่เราเกิดมา ก็ได้สัมผัสกับธรรมประเภทนี้อยู่ตลอดเวลา เราจะพยายามแก้ไขเท่าใด ธรรมส่วนนี้ก็ย่อมปรากฏอยู่ เราแก้ด้วยวิธีต่างๆ ทำงานหาสะสมข้าวของเงินทองให้มากที่สุด ก็เพื่อว่า ต้องการให้ได้มาสิ่งซึ่งเราต้องการ คือความสุข แต่ถึงอย่างนั้น ทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมตามมาๆ ตามลำดับ เราจะแก้ด้วยวิธีทำงานหาวัตถุด้วยอามิสต่างๆ เมื่อเราใช้ดุลปัญญาพิจารณาแล้ว ก็ได้เป็นชั่วคราว ชั่วครู่ ชั่วขณะเท่านั้น แล้วความสุขนั้นเกี่ยวเนื่องด้วยกายเป็นส่วนใหญ่ เช่นว่า เราแสวงหาอาหารบริโภค ก็เพื่อบำรุงร่างกายให้เป็นอยู่อย่างปกติสุข เราแสวงหาทำบ้านช่อง ก็เพื่อร่างกายได้พักผ่อน เราหาผ้านุ่ง เพื่อร่างกายไม่ให้หนาวเย็นเกินไป ไม่ให้ร้อนมากเกินไป เพื่อปกปิดป้องกันความทุกข์ ที่เกิดขึ้นจากทางกายทั้งนั้น เราหายา ก็เพื่อบำบัดโรคที่เกิดขึ้นจากทางร่างกาย

    เพราะฉะนั้น งานของเราที่ทำอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เพื่อบำรุงให้เกิดความสุข เฉพาะในร่างกายเท่านั้น ยังไม่ได้เข้าถึงจิตใจ แต่ความทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองอย่าง

    ความทุกข์เกิดจากทางกายก็มี ความทุกข์เกิดขึ้นจากทางจิตใจก็มี เช่น บางคนมีเครื่องทำนุบำรุงร่างกายอย่างสมบูรณ์ ถ้าจะพูดถึงที่หลับที่นอน ก็มีทุกอย่างเพื่อพักผ่อนร่างกายได้อย่างสบาย อาหารการบริโภคก็ไม่เคยขาดแคลน แม้แต่เจ็บปวด ยาที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่เคยขาดแคลน ตลอดถึงเครื่องแต่งตัว เครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกาย หรือปกป้องหนาวและร้อน ก็มีพร้อมทุกอย่าง ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ได้รับความสุขสมบูรณ์บริบูรณ์ เพียงพอแก่ความต้องการ ยังมีทุกข์ครอบงำ ทำให้เดือดร้อน เพราะเหตุใด? เพราะทุกข์สามารถที่จะเกิดขึ้นทางจิตใจ เมื่อสิ่งที่ได้ไม่ชอบ กระทบกระเทือนเข้ามาแล้ว ก็สร้างความไม่ดีเกิดขึ้นแก่ตัวของเราได้ เมื่อใจไม่ดี อาจจะทำความไม่ดี ทั้งทางกายก็ได้ ทางวาจาก็ได้ สร้างเวร สร้างภัยขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้น เราเพียงแต่หมกมุ่น หาความสุขมาบำรุงแต่ร่างกายฝ่ายเดียวนั้น จะไม่ได้ความสุขอันสมบูรณ์บริบูรณ์เสมอไป

    เพราะเหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังเป็นฆราวาส ครองราชย์สมบัติอยู่ พระองค์ได้พิจารณาแจ้งชัดแล้วว่า วัตถุหรืออามิสที่สมบูรณ์บริบูรณ์อยู่นี้ ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอตามความต้องการ ที่มีอยู่ในจิตใจของเรา ยังขาดอาหารทางใจ ที่บำรุงทางใจ ทำให้ใจสมบูรณ์บริบูรณ์ไปด้วยความสุข ใจของเรานั้น ถึงแม้ว่าจะมีความสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว มันก็ยังหิวยังบกพร่อง เพราะด้วยอำนาจแห่งความโลภ ด้วยอำนาจแห่งความอยาก ไม่มีที่จะอิ่มที่จะพอ เพราะฉะนั้น ใจจึงได้รับความกระทบกระเทือน เพราะไม่พอ มีสิ่งนี้แล้วยังอยากได้สิ่งนั้นอีก ได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ยังอยากได้สิ่งนี้อีก ไม่มีที่สิ้นสุด

    แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เพียงพอไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่เที่ยง มันทรุดโทรมไปตลอดเวลา ความสุขที่เกิดขึ้นจากสิ่งอันไม่เที่ยง ความสุขนั้นมันก็ไม่เที่ยงอีก เพราะฉะนั้นเราจะไปหาให้เพียงพอ กับสิ่งที่มันหมดไปตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ มันต้องหมดอยู่เสมอ

    พระพุทธเจ้า พระองค์จึงหาวิธีที่หาความสุขให้เพียงพอด้วยวิธีต่างๆ ผลที่สุดพระองค์มาค้นพบ พูดย่อๆ ลัดๆ ด้วยวิธี ทำจิตตภาวนา เมื่อพระองค์มาอบรมจิตของพระองค์ด้วยวิธีภาวนา สร้างความสงบให้แก่จิตใจ พอจิตใจได้รับการอบรม ได้รับความสงบแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายที่เคยมีประจำกาย มันก็ดับไปๆ ตามลำดับ เอ้! นี่ เราก็นุ่งห่มเพียงผ้าชุดเดียวเท่านั้น นอนก็อยู่ในป่า อาหารการบริโภค ก็แล้วแต่จะได้ ทำไมถึงมีความสุข ไม่มีอะไรเลย ถ้ามองจากภายนอกแล้ว เราทุกข์เหลือเกิน แต่ถ้ามองทางจิตใจแล้ว เราไม่มีทุกข์เลย เมื่อใจสงบแล้วไม่มีอะไรทุกข์สักอย่าง ไม่มีอะไรวุ่นวายเลย

    เพราะเหตุนั้น ทางนี้จะเป็นทางที่จะทำให้เราพอ ทำให้เราอิ่ม เพราะเราไม่มีอะไรเลยก็อิ่ม อิ่มเพราะไม่มีอะไร ที่สำคัญมาก เพราะเราไม่ต้องดิ้นรน อิ่มเพราะสละ พอเพราะไม่มีอะไร พระองค์ก็ยิ่งอบรมจิตให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ตามลำดับ สงบไป ละเอียดตามจิต พอจิตสงบเต็มที่ มีสติตามระลึกเต็มที่ มีกำลังมาก พระองค์ก็สามารถระลึกรู้สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย อาศัยให้เกิดทุกข์ต่างๆ โดยแจ้งชัด ไม่สงสัย โอ้! ทุกข์ มันสลับซับซ้อนอย่างนี้ วกเวียนอยู่อย่างนี้ ด้วยอาศัยทุกข์นี่มันหลอกให้มนุษย์ทั้งหลายหลงอยู่ในกองแก่ความทุกข์ทั้งนั้น เราพ้นจากสิ่งที่หลอกแล้วนี้ มันหลอกว่า ถ้าได้สิ่งนั้นจะมีความสุข ถ้ามีสิ่งนั้นมีความสุข ถ้าได้อย่างนั้นมีความสุข แต่พอได้มาก็เปล่าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังอยาก ยังหาอยู่ตราบใด ความท่องเที่ยวเวียนว่ายไม่มีที่สิ้นที่สุด นี่เราไม่ต้องมีอะไร เพียงมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอบรมจิตใจอย่างนี้ มันก็สุขพอ ความหิวก็ดับไป ความอยากก็ดับไป ความดิ้นรนก็สงบไป นี่เราไม่มีอะไรหนัก ไม่มีอะไรวุ่นวาย ไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลย นี่แหละเป็นความสุข เมื่อพระองค์พบความสุขที่แท้จริง พระองค์รู้เหตุปัจจัยอาศัยทุกข์เกิด ของจริงอันประเสริฐ พระองค์เห็นปฏิปทา ที่พระองค์ปฏิบัติสำรวม ตั้งแต่ กาย วาจา จนถึงจิตใจ นี่เป็นทางที่ออกจากทุกข์

    พระองค์จึงได้บัญญัติ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ขึ้นมา เพื่อสอนผู้อื่น เพื่ออบรมผู้อื่นให้เข้าใจ ชี้แจงแสดงทุกข์ ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ ด้วยอาศัยตัณหา ความหลง อยากไม่รู้จักเพียงพอ อาศัยมรรค ความรู้ ไม่หลงตัณหาเหล่านั้น พิจารณาตัณหา รู้ตามความเป็นจริงแจ้งชัด เกิดความนิพพิทา เบื่อหน่ายนี้เป็นมรรค ความปล่อยวางดับตัณหาเหล่านี้ได้ เพราะมองเห็นเป็นทุกข์ เป็นโทษไม่ควรยึดถือ ปล่อยวางได้ เป็นนิโรธ เป็นอริยสัจธรรม แจ้งประจักษ์ในพระองค์ พระองค์ได้ปฏิญาณว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะเกิดอีก รวบรวมขันธ์เป็นกองอีก ไม่มีแล้ว สังขารที่เคยปรุงแต่งไปสู่ภพต่างๆ เราได้ทำลายเครื่องมือแล้ว เพราะฉะนั้น ความทุกข์ไม่มีในพระองค์อีกแล้ว เกิดคราวเดียวเท่านี้ พระองค์สิ้นสงสัยนี่เป็นทางหมดจด เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรพินิจพิจารณา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ได้บรรลุธรรมอันสูงสุด คืออริยสัจธรรมทั้ง ๔ ชองจริงอย่างประเสริฐ สามารถจะมองเห็นการเกิด ที่สลับซับซ้อนด้วยความทุกข์ ที่มีอยู่ตลอดเวลา ที่เราท่านทั้งหลายได้รับอยู่เวลานี้ ที่ใครผู้ไม่ได้สดับตรัสฟังคำสอนพระพุทธเจ้า ผู้ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลที่ไม่รู้ตามธรรม อาศัยการปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เข้าใจผิดมัวเมาหมกมุ่นอยู่ นึกว่าจะเป็นความสุขที่แท้จริง ผลที่สุด เป็นอนัตตาด้วยกันทั้งนั้น เปล่าทั้งนั้น ทั้งชีวิต ทั้งจิตใจ ยศฐา บรรดาศักดิ์ ทั้งวัตถุที่เราเคยยึดมั่นว่า อันนี้ของเรา อันนี้เป็นของเรา เรามีสิ่งนั้น เราได้สิ่งนี้ ผลที่สุดเปล่าด้วยกัน ไม่มีใครได้อะไรสักอย่าง แล้วเวียนว่ายหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์จึงเกิดความเบื่อหน่าย คลายความยินดี พระองค์มาเห็นความสงบ เพียงจิตใจสงบเท่านั้น มันอิ่มหมดทุกอย่าง พอหมดทุกอย่าง พระองค์สามารถจะรู้เหตุที่ก่อกวนไม่ให้สงบ คือ ทำให้จิตมีภาระจะต้องทำ ก็คือ ขันธ์ห้านี้เอง เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายควรพิจารณา เมื่อจิตสงบสะอาดดี มีโอกาสแล้ว พิจารณาขันธ์ คือ รูป เป็นต้น แยกรูปของเรา เหมือนกับเราสวดทุกวันๆ พิจารณาทุกวันๆ ไม่ใช่คราวเดียว ไม่ใช่ครั้งเดียว ชรา ธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโต พฺยาธิ ธมฺโมมฺหิ พฺยาธึ* อนตีโต มรณ ธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโต นี่ส่วนกาย นี่ส่วนทุกข์ทางกาย

    สัพเพหิ เม ปิเยหิ มนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว

    อันนี้ส่วนทุกข์ทางใจ ใจที่มันอุปาทานในสิ่งเหล่านั้นแล้วจึงยึดถือ เมื่อมันพลัดพรากจากสิ่งที่อุปาทานยึดถือ ที่หลงเข้าใจผิด ก็ทุกข์เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงแสดงทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ ให้พิจารณาทุกวันๆ ถ้าเราพิจารณารู้เห็นแจ้งชัดเท่าไร เห็นทุกข์ชัดเท่าไร ใจยิ่งมีความสุข ไม่เหมือนว่าเห็นทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น เราลองพิจารณาให้มันเห็นเป็นธรรม แต่เห็นแบบโลก มันทุกข์ แต่เห็นแบบธรรมะ มีสติพิจารณา แยกพิจารณาให้เข้าใจให้ละเอียด โดยฐานเป็นของไม่สะอาด เราก็ดูตามความเป็นจริง ว่าเป็นสิ่งไม่สะอาด

    เหมือนกับเราสวดอาการ ๓๒ ที่เราสวด อยํ โข เม กาโย กายของเรานี้แล คือกายของเรานี้ ไม่ใช่กายที่อื่น แล้วท่านก็กำหนด ตั้งแต่เบื้องบนเบื้องต่ำ มีพื้นเท้า มีศีรษะ มีหนังห่อหุ้ม

    ปูโร นานปฺปการสฺส อสุจิโน ท่านว่า เต็มไปด้วยของไม่สะอาด อตฺถิ อิมสฺมึ** กาเย มีอยู่ในกายนี้ ความไม่สะอาดมีอยู่ในกายนี้ พิจารณาแต่ละอย่าง ทำไมพระพุทธเจ้าว่าไม่สะอาด แต่ละอย่างๆ พิจารณาเห็นจริง เหล่านี้ไม่สะอาด ความเป็นจริง ทั้งสี ทั้งกลิ่น ทั้งอะไรต่างๆ ที่เราอยู่ได้เพราะเราปฏิบัติเอาสิ่งอื่นที่สะอาด มาสะสาง มาคอยชำระอยู่เสมอ ค่อยอยู่ได้ ถ้าตามลำพังของมัน ปล่อยทิ้งตามลำพังแล้ว จะเข้าใกล้กันไม่ได้เลย เป็นความจริงแน่นอน ลองดูก็ได้ มีหลวงตาองค์หนึ่ง อยู่ที่สกลนคร มีวัดใกล้ๆ กัน เป็นมหานิกาย ไม่อาบน้ำเลย เว้นไว้แต่ฝนตก ก็ได้อาบ อาบน้ำฝนเท่านั้น ฝนไม่ตก ไม่อายน้ำ

    ทีนี้ เวลาไปบิณฑบาต ถ้าหลวงตานั้นไปก่อน วันไหนฟ้าครึ้ม มันอับ เดินประมาณสักเส้นหนึ่ง เราเดินตามหลังก็ได้กลิ่น ห่างกันสัก ๒๐ วา ก็ได้กลิ่นมาถึง ร่างกายของคนเราเป็นอย่างนี้แหละ

    เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายพิจารณารู้ความเป็นจริง เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่สะอาด มากเท่าไหร่ จิตใจของเรายิ่งสะอาด สำหรับผู้เห็น ทดลองดูก็ได้ พิจารณาเห็นชัดตามความเป็นจริง ละเอียดลงไป เพราะมันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่พระองค์พูดลอยลม ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทีรูปตัวตนที่ให้เรารู้เราเห็น เช่นว่า ชราก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี ในตัวของเราก็ชราทุกวัน ความเจ็บปวดก็มีอยู่ทั่วตัวของเรา ตรงไหนไม่เจ็บไม่มี มันก็มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ธรรมะเลื่อยลอยที่ปราศจากสิ่งไม่มี สิ่งที่เห็นไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เราเห็นได้ รู้ได้ มรณะความตาย ถ้าเราพิจารณา เราก็เห็นได้ ด้วยตาธรรมดานี้แหละ ด้วยจิตใจธรรมดานี้แหละ เพราะมันมีอยู่ให้เราเห็นแสดงอยู่ ให้เราปรากฏ ให้เรารู้เป็นทางที่ถูกต้อง เราสามารถรู้ความจริง รู้อริยสัจจธรรม ตั้งแต่ปัญญาธรรมดา จนถึงวิปัสสนา ละเอียดตามลำดับ ที่เราปฏิบัติให้เกิดสมาธิ ละเอียดไปตามลำดับ ถ้าจิตใจของเรารวม สงบละเอียดตามลำดับ ความรู้ของเราก็ยิ่งละเอียดไปตามลำดับ ซึ้งไปตามลำดับ แม้แต่ความเคลื่อนไหวที่มาจากเหตุ ก็สามารถที่จะตามรู้ได้ ที่เราเห็นผล ส่วนชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ ตลอดถึง มรณะ ความตาย นี่เป็นผลมาจากเหตุ ส่วนเหตุที่ให้เกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็คือ ชาติที่ขันธ์มาประชุมรวมกัน ที่เกิดมาเรียกว่า ชาติ ที่ให้เกิดชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามรู้เห็นมาจากจิต ที่มันหลง ที่ไม่ฉลาด ที่ไม่ได้รับการอบรมนี้เอง เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เมื่อจิตไม่รู้แล้ว มันก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้คิดนึก ปรุงแต่งต่างๆ ในทางดีทางชั่ว ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร ในทางนี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย อาศัยนี่แล้วก็ เป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ เป็นเหตุให้เกิดนามรูป สฬายตะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน จนถึง ภพ ชาติ ชรา พยาธิ นั่น

    เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาอบรมจิตใจให้ฉลาด ให้รู้สภาวะความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะยึดมั่น ถือมั่น ควรจะปล่อยวางในขันธ์ห้า เมื่อเราสามารถรู้ในขันธ์ห้า ตามความเป็นจริง ปล่อยวาง รู้ลักษณะของขันธ์ห้าคือ อนิจจัง รู้ลักษณะของขันธ์ห้าคือ ทุกขัง รู้ลักษณะของขันธ์ห้าคือ อนัตตา ทั้ง ๓ อาการนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว จิตก็ปล่อยวางขันธ์ห้าได้แล้ว ก็ได้ความสุข ไม่มีอะไรที่จะหิวโหยต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย พึงอบรมจิตตภาวนา ให้มีกำลัง ให้มีปัญญา มีกำลัง สามารถรู้เห็นเหตุปัจจัย อาศัยการเกิด แล้วเราก็จะได้ดับสิ่งเหล่านั้น เราก็จะได้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ด้วยวิธีการปฏิบัติจิตตภาวนา ที่เราทั้งหลาย กำลังอบรมอย่างถูกต้องแล้ว ควรปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป บรรดางานทุกประเภท ต้องลำบากในเบื้องต้นทุกอย่าง แม้เราเรียนหนังสือ แต่เมื่อเราหัดไปๆ แล้วมันก็คล่อง อ่านหนังสือก็อ่านผิดๆ ถูกๆ กว่าจะอ่านออก เขียนหนังสือก็เอนซ้ายขวาล้มทางโน้นทางนี้ กว่าจะเขียนได้เป็นตัว คล่องแคล่วทุกประเภท

    เราเกิดมาแรกๆ การยืน นั่ง นอน ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่เราฝึก เราอย่าเพิ่งรีบร้อน อยากให้บรรลุไวๆ อยากจะได้ทางลัด ทางลัดหรือไว อยู่ที่สติปัญญาของเรา สามารถ เหมือนกับเราเรียนหนังสือ ถ้าสติปัญญาดี เราก็เรียนจบเร็ว สติปัญญาของเราไม่ดี มันก็นานจบ อันนี้เหมือนกัน ถ้าสติดี ความเพียรดี สมาธิดี ปัญญาดี เรารู้ความจริงได้เร็ว รักษาจิตใจของเรา ปล่อยวาง ตัดขาดได้เร็ว ไม่มีความสงสัยได้เร็ว ตัดความสงสัยได้ มันก็ได้บรรลุเร็ว ได้ความสุขเร็ว พ้นจากทุกข์เร็ว ขึ้นอยู่กับเรา ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนอื่น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับวิธีการ เหมือนหลักที่อื่น มันอยู่กับเราทำจริง ปฏิบัติจริง แล้วแก้ไขได้ถูกต้อง จิตของเราสามารถตกลงกันได้เร็ว ในธรรมที่เป็นจริงอย่างประเสริฐ เราก็ได้บรรลุเร็ว

    เพราะฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลาย ได้ยินได้ฟังแล้ว กำหนดจดจำในใจ ตั้งใจภาวนาอบรม ทำจิตใจของเรา ให้สงบละเอียดไปตามลำดับ ทำอยู่อย่างนี้ เราก็จะได้ประสพพบเห็นความสุขความเจริญ ดังกล่าวมา ยุติเพียงเท่านี้


    คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_suwat/lp-suwat_09.htm
     
  2. อินทรบุตร

    อินทรบุตร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    2,511
    ค่าพลัง:
    +7,320
    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
     

แชร์หน้านี้

Loading...