อารมณ์ของใจ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Oatto81, 26 กันยายน 2005.

  1. Oatto81

    Oatto81 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    114
    ค่าพลัง:
    +399
    อารมณ์ของใจมี ๒ ประการ คือ บางครั้งอยากสงบ และ บางครั้งอยากคิด พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ ๒ แบบ สุดแล้วแต่อารมณ์ใจในเวลานั้นต้องการอะไร ถ้าอารมณ์ใจอยากคิดเราบังคับให้ภาวนาก็ไม่นิ่งอยู่ได้ ถ้าบังคับจะเกิดอารมณ์กลุ้ม ต้องปล่อยให้คิด แต่ต้องคิดในขอบเขต ถ้าอารมณ์ซ่านจริงๆเอาไม่อยู่ ต้องเลิกไปเสียก่อน อย่าฝืน

    ที่เขาพูดกันว่าทำกรรมฐานบ้า ก็เพราะบังคับใจมากเกินไป มีอารมณ์กลุ้ม โรคประสาทก็เกิด ในที่สุดก็บ้า จึงไม่ควรหักโหมใจ ใช้เวลาพิจารณาไม่ต้องนาน เอาแค่พอจิตสบาย เมื่อจิตเริ่มไม่สบายก็เลิก ทำเสมอๆ ไม่ช้าก็ถึงจุดหมายปลายทาง

    เมื่อใช้อารมณ์คิดไม่ถูกใจก็ภาวนา การภาวนามีผลคือ ขณะเมื่อภาวนาอยู่จิตก็ว่างจากกิเลส ทั้งนี้เพราะ การทำกรรมฐานพระพุทธเจ้าต้องการให้จิตว่างจากกิเลส ว่างไม่มาก ว่างสักประเดี๋ยวเดียวก็ดีกว่าการที่จิตเป็นทาสของกิเลสตลอดเวลา เมื่อว่างนิดๆ หน่อยๆ ไม่ช้าก็มีอารมณ์ชินจนจิตว่างนานเข้าเป็นลำดับ ในที่สุดก็ว่างตลอดเวลาที่เราต้องการ เมื่อถึงระยะนั้นท่านเรียกผู้ที่มีอาการอย่างนี้ว่า "ผู้ทรงฌาน" คือใช้จิตให้มีอารมณ์ว่างจากกิเลสได้ตามต้องการของเวลา และได้ทุกขณะที่ต้องการใช้ เมื่อฝึกถึงขั้นนี้ จะฝึกวิชชาสาม หรือ อภิญญาก็ไม่ยากและใช้งานได้ดีมาก

    "ภาวนา" แปลว่า เจริญ คือ ทำให้จิตใจเจริญจากความเป็นทาส มาเป็นอิสระ คำแนะนำการภาวนาในที่นี้ ทำเฉพาะกิจคือหักล้างสังโยชน์ ๓ ประการ ฉะนั้นการภาวนาขั้นนี้ก็ให้อยู่ในขอบเขต เพราะพูดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ให้ใช้คำภาวนาว่า "พุทโธ" หรือ "ธัมโม" หรือ "สังโฆ" อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะภาวนาต้องระวังใจให้อยู่ในขอบเขตจริงๆ เมื่อตั้งใจภาวนาว่า "พุทโธ" ก็ต้องอยู่แค่ "พุทโธ" อย่าให้เลยไปถึง "ธัมโม" หรือ "สังโฆ" ถ้าเผลอไปก็เป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน เป็นเหยื่อของกิเลส ถ้าบังคับไม่ไหวให้พักเสียก่อนเอาแค่พอคุมได้ อย่าหักหาญเกินไปจะไร้ผล

    เมื่อทำ สมาธิ ท่านให้ภาวนควบคู่ไปกับลมหายใจ คือหายใจเข้า นึกตามว่า "พุท" หายใจออกนึกตามว่า "โธ" เมื่อหลับตาภาวนาบางทีอารมณ์ฟุ้งมากไปให้ลืมตาก็ได้ ทางที่ดีอยู่หน้าพระพุทธรูปจะดีมาก ลืมตาดูตอนไหน หรือดูทีเดียวหมดองค์ก็ได้ ขณะที่ดูใจอยู่ที่พระก็ถือว่าเป็นสมาธิที่ถูกต้อง เพราะ "สมาธิ" แปลว่า "ตั้งใจ" เมื่อตั้งใจจดจ่ออยู่ที่พระพุทธรูป จิตก็ว่างจากกิเลส อารมณ์ก็มีความสุข ถ้าจิตเริ่มคลายสุขเป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน จงรีบหยุดเสียก่อนขืนฝืนทำไป โรคประสาท หรือ โรคบ้า จะมาเยือน

    เมื่อภาวนาหรือพิจารณาในอนุสติส่วนนี้ ถ้ามีความมั่นคงอย่าง ท่านสุปปะพุทธะกุฏฐิ ก็ถือว่าจบตอนอนุสติส่วนนี้ เพราะไม่ยอมปรามาสหรือไม่ยอมแม้แต่จะพูดเล่นๆ ว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ ก็เป็นตัวอย่างที่ชนะสังโยชน์ข้อที่ ๒

    คนที่ตาย ที่เขาไปนรกไปสวรรค์ไปพรหมโลก ไปนิพพาน เขาเอาอะไรไป เอาตัวไปรึป่าว ไอ้ที่ไปนี่คือ ใจ ใช่ไหม ถ้าใจของเรายึดหัวหาดคืออารมณ์ของพระโสดาบันไว้ได้ มั่นตรงเฉพาะพระนิพพานนี่ จิตมันตั้งไว้แล้วว่าไปนิพพาน แล้วก็รู้แล้วว่าเวลาที่จะไปจริงๆ เอาจิตไป ทีนี้เวลาตายจริงๆ มันก็ไปนิพพานเลย ไม่ยาก ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มโนปุพพังคมา ธัมมังมโนเสฏฐา มโนมายา" แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จด้วยใจ

    ในเมื่อใจตั้งไว้เพื่อพระนิพพาน ตายแล้วก็ไปนิพพาน มีเยอะแยะไปที่เขาทำกันอย่างนี้ อย่าลืมว่าอารมณ์ที่ตั้งไว้เพื่อพระนิพพานนี่น่ะมันเป็นอารมณ์พระอรหันต์นะ ทีนี้อารมณ์พระโสดาบันนี้เรายันนรกไว้ต่างหาก แล้วก็ ยามปกติคิดไว้เสมอว่า ร่างกายนี้น่ะมันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ เมื่อเราไม่ต้องการร่างกายของเราแล้ว ชาติหน้ากายเราก็ไม่มี นี่ตัวตัดจริงๆ มันอยู่ตัวนี้นะเบาๆ ไม่ยาก ใช่ไหม...



    โดย... หลวงพ่อพระราชพรหมยาน จาก หนังสือ "พ่อสอนลูก" [​IMG]
     
  2. KomAon11

    KomAon11 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    4,810
    ค่าพลัง:
    +18,982
    โมทนาครับ

    ขอให้มีความตั้งใจว่า เรามีจิตเพื่อพระนิพพาน อย่างแรงกล้า
     
  3. aphichaiy

    aphichaiy เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    85
    ค่าพลัง:
    +149
    สาธุ ถ้าคนไทยดูเวบแบบนี้ คนดีเกิดขึ้นได้ครึ่งประเทศ
     

แชร์หน้านี้

Loading...