อิทธิบาท 4 คือ ธรรมแห่งความสำเร็จ

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Komodo, 9 กุมภาพันธ์ 2009.

  1. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    อิทธิบาท 4

    คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ


    ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
    ๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
    ๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
    ๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

    ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

    ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ

    วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง

    จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

    วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่



    ที่มา : http://www.learntripitaka.com/scruple/Itibaht4.html


    มาเป็นเพื่อนกันกับชมรมโมทนาบุญ เว็บพลังจิต ใน Facebook ได้นะครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 กันยายน 2011
  2. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    อิทธิบาท ๔ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

    อิทธิบาท ๔

    สมเด็จพระญาณสังวร
    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ได้ทรงเป็นพระภควาที่เราแปลทับศัพท์มาเป็นไทยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีความหมายประการหนึ่งว่าผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน ดังที่ได้ทรงจำแนกธรรมะออกเป็นหมวดธรรมต่างๆ และที่ตรัสรวมเข้าเป็นหมวดโพธิปักขิยธรรม ซึ่งกำลังแสดงอยู่นี้ ได้แสดงมาแล้วในหมวดที่ ๑ คือสติปัฏฐาน ๔ หมวดที่ ๒ คือ สัมมัปปธาน ๔ วันนี้จะแสดงหมวดที่ ๓ คือ อิทธิบาท ๔

    คำว่า อิทธิบาท นั้น อิทธิเราแปลกันเป็นไทยอย่างหนึ่งว่าฤทธิ์ ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธศาสนาเช่น อภิญญา ๖ วิชชา ๘ ซึ่งมีข้อ อิทธิวิธิ การแสดงฤทธิ์ได้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะ คือเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางมีฤทธิ์มาก


    ๏ ทางแห่งความสำเร็จ

    อีกอย่างหนึ่งคำว่า อิทธิ แปลว่าความสำเร็จ ความสำเร็จแห่งการปฏิบัติ ขั้นหนึ่งๆ ก็เป็นอิทธิอย่างหนึ่ง จนถึงเป็นความสำเร็จอย่างสูง คือสำเร็จความรู้ธรรมเห็นธรรม อันเป็นภูมิอริยชน จนถึงความตรัสรู้อันเป็นความรู้สูงสุดในพุทธศาสนา ก็เป็นอิทธิคือความสำเร็จ คำว่า บาท นั้นแปลตามศัพท์ว่า เหตุที่ให้บรรลุถึง เหตุที่ให้ถึง อันได้แก่ปฏิปทาคือทางปฏิบัติ หรือมรรคคือทาง บาท แห่งอิทธิ ก็คือเหตุที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ หรือบรรลุถึงฤทธิ์ ทางปฏิบัติมรรคาคือทางแห่งฤทธิ์ หรือแห่งความสำเร็จ

    พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอิทธิบาทไว้ ๔ ประการ คืออิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีฉันทะคือความพอใจยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีวิริยะคือความเพียรยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วยความเพียรด้วยสมาธิที่มีจิตตะความเอาใจใส่ยังให้บังเกิดขึ้นข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วยความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีวิมังสาความใคร่ครวญไตร่ตรองยังให้บังเกิดขึ้นข้อ ๑ เป็นอิทธิบาท ๔ ประการ

    เพราะฉะนั้น อิทธิบาททั้ง ๔ ที่มาพูดย่อๆ ว่า ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความเอาใจใส่ วิมังสา ความไตร่ตรองพิจารณา จึงเป็นการกล่าวอย่างย่อๆ


    ๏ ปธานะสังขาระ

    แต่เมื่อกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เอง ก็เป็นไปดั่งที่ได้ยกมาแสดงในเบื้องต้นนั้น คืออิทธิบาทนั้นมิใช่มีความสั้นๆ เพียง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ว่าจะเป็นอิทธิบาทได้ต้องประกอบด้วย ความประกอบความเพียร มาจากคำบาลีว่า ปธานะสังขาระ หรือ ปธานสังขาร

    คำว่า ปธานะ ก็คือสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ นั้น สังขาระ คือสังขาร ก็ได้แก่สังขารคือความปรุงแต่ง ในที่นี้ใช้แปลว่าความประกอบ เพราะความประกอบนั้นก็คือปรุงแต่งนั้นเอง อย่างเช่น ประกอบไม้ให้เป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เป็นบ้านเป็นเรือน ก็คือเอาของหลายๆ อย่างมาประกอบกันเข้า ก็มีความหมายตรงกับคำว่าความปรุงแต่ง ซึ่งมีความหมายว่าต้องมีหลายอย่างมาประกอบกันเข้า อย่างปรุงอาหารก็ต้องมีของหลายอย่าง มาต้มมาแกงปรุงเป็นอาหารขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่าความประกอบหรือความปรุงแต่ง จึงมีความหมายเป็นอันเดียวกัน และออกมาจากคำเดียวกันว่า สังขาร หรือ สังขาระ ความปรุงแต่งหรือความประกอบ ปธานสังขาร ก็คือประกอบความเพียร อันได้แก่สัมมัปปธาน ๔ ที่แสดงแล้ว

    เพราะฉะนั้น คำว่าอิทธิบาทนั้นจึงรวมสัมมัปปธาน ๔ เข้ามาด้วย แต่ว่ามีขยายความออกไปว่า ความประกอบปธานะคือความเพียรนั้น ประกอบด้วยสมาธิที่มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยังให้บังเกิดขึ้น ก็คือธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ อันได้แก่ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ยังให้เกิดสมาธิขึ้น คือความตั้งใจมั่น ไม่กลับกลอกคลอนแคลน

    สมาธิคือความตั้งใจมั่นนี้ที่ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนั้นให้บังเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น เพราะฉะนั้นฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา จึงเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่ อันจะนำให้เกิดสมาธิความตั้งใจมั่นเพื่อประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง๔ นั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นปฏิปทาความปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ เป็นมรรคคือมรรคา คือทางแห่งอิทธิความสำเร็จ หรือแห่งฤทธิ์ทั้งหลาย


    ๏ อิทธิบาทเป็นเหตุให้สัมมัปปธานสำเร็จได้

    ในหมวดสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็ได้มีเริ่มตรัสท้าวมาถึงอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ด้วยแล้ว คือดังที่ตรัสไว้ว่า ยังฉันทะคือความพอใจให้เกิดขึ้น พยายามเริ่มความเพียร ประคองจิตตั้งความเพียรขึ้นมา ในการระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ในการละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ในการยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ในการรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว และปฏิบัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์

    เพราะฉะนั้น ครั้นตรัสสัมมัปปธาน ๔ และมีท้าวมาถึงอิทธิบาท อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นด้วยแล้ว จึงมาตรัสถึงหมวดอิทธิบาท ๔ นี้ และก็ได้ตรัสว่าประกอบด้วย ความประกอบปธานะทั้ง ๔ นั้น ที่ตรัสว่า ปธานะสังขาระ ความประกอบความเพียร ด้วยสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาให้บังเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงความให้เนื่องกันแล้วจึงกล่าวได้ว่า อิทธิบาทดังที่ตรัสไว้นี้เองเป็นเหตุให้ประกอบปธานะ คือสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นสำเร็จขึ้นได้ และความต้องการของอิทธิบาทในที่นี้ก็คือว่า เป็นเหตุให้ประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นได้สำเร็จ

    โดยอาศัยฉันทะสมาธิ วิริยะสมาธิ จิตตะสมาธิ วิมังสาสมาธิ คือสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสายังให้บังเกิดขึ้น


    ๏ สมาธิในสัมมัปปธาน

    และเมื่อกล่าวจำเพาะสมาธิก็กล่าวได้ว่า ในการประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้น จะต้องมีสมาธิ คือความตั้งใจมั่นเพื่อที่จะประกอบความเพียร เพื่อประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น ถ้าขาดสมาธิเสียแล้วความประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าจิตใจนี้ไม่ตั้งเพื่อที่จะทำให้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น คือจิตนี้ไม่ตั้งมั่นในอันที่จะระมัดระวัง อันเรียกว่า สังวรปธาน ในอันที่จะละ อันเรียกว่า ปหานปธาน ในอันที่จะปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้น อันเรียกว่า ภาวนาปธาน ในอันที่จะรักษากุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นไว้ไม่ให้เสื่อม และให้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ จึงต้องมีสมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร สมาธิในที่นี้จึงมีความหมายว่าความตั้งจิตมั่นที่จะประกอบความเพียรทั้ง ๔ ข้อนั้น ไม่เปลี่ยนจิตเป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น จึงไม่หมายถึงการที่มานั่งปฏิบัติ ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่เรียกว่าทำสมาธิกันทั่วๆ ไป แต่หมายเอาถึงความที่ตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร เมื่อมีความตั้งจิตมั่นดั่งนี้แล้ว การประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ ซึ่งตรัสเรียกในหมวดอิทธิบาทนี้ว่า ปธานสังขาร ปรุงแต่งความเพียร หรือประกอบความเพียร จึงจะบังเกิดขึ้นได้ แต่ว่าสมาธินั้นก็จำต้องอาศัยความมีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาทั้ง ๔ ข้อนี้ มาทำให้บังเกิดเป็นสมาธิขึ้น ถ้าขาดทั้ง ๔ ข้อนี้ สมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียรก็ไม่บังเกิด


    ๏ ความเนื่องกันของธรรมปฏิบัติ

    เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้จึงมีความสำคัญ อันจะเป็นอุปการะแก่ความประกอบความเพียรทั้ง ๔ หากว่าจะกล่าวให้เนื่องกันมาจากสติปัฏฐาน ก็กล่าวได้ว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเป็นข้อธรรมที่เป็นที่ตั้งของความปฏิบัติตั้งสติ เป็นหลักในการปฏิบัติธรรมทางจิต หรือว่าจิตภาวนา เป็นข้อปฏิบัติทางจิตภาวนาที่เป็นตัวหลัก หลักสำคัญ แต่ว่าจะต้องอาศัยอุปการะธรรมคือสัมมัปปธาน ๔ มาเป็นเครื่องอุปการะ ให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น เป็นไป และก้าวหน้า จนกระทั่งสำเร็จเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ขึ้นได้

    และสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้เล่า ก็ต้องมีอิทธิบาททั้ง ๔ นี้เป็นอุปการะ ถ้าขาดสัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐานก็มีไม่ได้ จึงต้องมีสัมมัปปธาน ๔ ช่วย ถ้าขาดอิทธิบาททั้ง ๔ สัมมัปปธานทั้ง ๔ ก็มีไม่ได้ จะต้องมีอิทธิบาท ๔ ช่วย คือจะต้องมีฉันทะคือความพอใจในความประกอบความเพียร รักที่จะประกอบความเพียร ไม่เกลียดความประกอบความเพียร ไม่รังเกียจความประกอบความเพียร ไม่เฉยๆ ต่อความประกอบความเพียร ต้องมีความพอใจความรักที่จะประกอบความเพียร ข้อ ๑

    ต้องมีวิริยะคือความเพียร คือความกล้าที่จะประกอบความเพียร วิริยะนั้นแปลว่าความกล้า และวิริยะคือความกล้านี้ก็ตรงกันข้ามกับความไม่กล้า คือความย่อหย่อน อันหมายถึงความเกียจคร้าน จะต้องมีความไม่เกียจคร้าน ความขยันลุกขึ้นประกอบความเพียร ก็คือมีจิตใจที่กล้าที่แข็ง ในอันที่จะประกอบกระทำความเพียรนั้นเอง ข้อ ๑

    ต้องมีจิตตะคือมีจิต จิตที่ตั้งคือเอาใจใส่ดูแล จิตใจไม่ทอดทิ้งแต่จิตใจตั้งดูแล ถ้าขาดจิตใจตั้งดูแล จิตใจทอดทิ้งแล้ว ก็เกิดความประกอบความเพียรขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นได้ก็ย่อหย่อน เพราะเมื่อไม่มีจิตเข้าประกอบก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมีจิตเข้าประกอบ จิตต้องตั้งมั่น แน่วแน่ และดูแล ข้อ ๑

    ต้องมีวิมังสาคือจิตที่ตั้งมั่นนั้นจะต้องดูแล ก็คือต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา ให้รู้จักทางและมิใช่ทาง ให้รู้จักการปฏิบัติที่ตั้งขึ้นได้ หรือไม่ตั้งขึ้นได้ ที่ก้าวหน้าหรือถอยหลัง ด้วยเหตุอะไร จะต้องรู้ ในการปฏิบัติประกอบความเพียรของตน โดยเหตุโดยผล โดยถูกทางโดยผิดทาง อะไรที่เป็นเหตุให้ย่อหย่อนเป็นเหตุให้ผิดทาง ก็ต้องรู้ อะไรที่เป็นเหตุให้ความประกอบความเพียรตั้งอยู่และก้าวหน้า เมื่อถูกทางก็ให้รู้ เพื่อว่าความประกอบความเพียรนั้นจะได้ดำเนินขึ้นได้ และเป็นไปโดยถูกต้องไม่ผิดทาง


    ๏ ผลหลายอย่างในการปฏิบัติ

    เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้สำคัญทั้งนั้น เพราะในการประกอบความเพียรนั้น จะต้องประสบกับผลที่บังเกิดขึ้นหลายอย่าง เป็นผลของกิเลสอันปฏิปักษ์ต่อสัมมัปปธาน คือความประกอบความเพียรที่ชอบก็มี เป็นผลของตัวความเพียรก็มี ซึ่งให้ผลปรากฏเป็นสุขก็มี เป็นทุกข์ก็มี และบังเกิดความประสบการณ์ในการปฏิบัติ ซึ่งมีเป็นขั้นตอน อาจจะเห็นนั่นเห็นนี่ในภายนอกก็มี จะต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา ว่าสิ่งที่รู้ที่เห็นในระหว่างปฏิบัตินั้น บางอย่างก็เป็นอุปกิเลส คือเป็นเครื่องเศร้าหมองของปฏิปทาที่ปฏิบัติไปสู่ความตรัสรู้

    ถ้าหากว่าขาดปัญญาที่รู้จักก็ไปสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ บางทีก็ไปเกิดความกลัวเมื่อไปพบนิมิตที่น่ากลัว บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเมื่อได้ประสบกับปีติสุขต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น

    ดังที่มีเล่าถึงว่าท่านที่ปฏิบัติธรรมในป่าบางท่าน เมื่อท่านปฏิบัติไปได้รับความรู้และความสุข จิตใจปลอดโปร่งสะอาด ถึงกับร้องขึ้นว่าเราสำเร็จแล้วดังนี้ก็มี และต่อมาเมื่อถึงวันรุ่งขึ้นจึงรู้สึกว่ายังไม่สำเร็จ เพราะในขณะที่จิตบริสุทธิ์สะอาดนั้นรู้สึกเหมือนไม่มีกิเลส แต่เมื่อพ้นจากการปฏิบัตินั้นแล้ว จิตกลับสู่ภาวะปรกติรับอารมณ์ทั้งหลาย จึงรู้ว่ายังมียินดียินร้าย ยังไม่สำเร็จ อย่างนี้ก็มี จึงต้องมีวิมังสาความใคร่ครวญพิจารณานี้ อันเป็นข้อสำคัญ และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว ก็ทำให้ได้สมาธิคือความตั้งใจมั่น ในอันที่จะประกอบความเพียร ความประกอบความเพียรจึงบังเกิดขึ้นได้

    ดั่งนี้แหละจึงกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิบาท ซึ่งมีฉันทะเป็นใหญ่เรียกว่าฉันทาธิบดี มีวิริยะเป็นใหญ่เรียกว่ามีวิริยาธิบดี มีจิตตะเป็นใหญ่เรียกว่ามีจิตตาธิบดี มีวิมังสาเป็นใหญ่เรียกวิมังสาธิบดี ก็จะนำให้ได้สมาธิในการประกอบความเพียร แล้วก็ทำให้ประกอบความเพียร ซึ่งเป็นสัมมัปปธานะ นำให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นสำเร็จอิทธิ คือความสำเร็จในการปฏิบัติดังกล่าว ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป




    .......................................................

    คัดลอกมาจาก
    เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
    อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

    http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html


    ที่มา : http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=9678
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 17 กุมภาพันธ์ 2017
  3. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    อิทธิบาท 4

    "อิทธิบาท 4" เป็นแนวทางการทำงานที่พระพุทธองค์ได้ทรงสดับไว้อย่างแยบคลาย อันประกอบด้วยแนวปฏิบัติ 4 ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งใครๆก็ท่องได้ จำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ปฏิบัติได้ครบกระบวนความทั้ง 4 ข้อ อันเป็น 4 ขั้นตอนที่ต่อเนื่องหนุนเสริมกัน จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ด้วยว่ามันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกันทั้ง 4 ข้อ จึงจะทำให้เราประสบผลสำเร็จในชีวิตและการงานได้ตามความมุ่งหวัง ผมขออธิบายดังต่อไปนี้

    1) ฉันทะ คือ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ ใจที่รักอันเกิดจากความศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำ จึงจะเกิดผลจริงตามควร เราคงเคยได้ยินคำว่า "ขอฉันทามติจากประชุม" บ่อยๆ หรือ "มีฉันทะร่วมกัน" ก่อนเลิกการประชุมบางอันเป็นเสมือนสัญญาระหว่างกันว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ร่วมกันหรือละเว้นบางสิ่งร่วมกัน ซึ่งความเข้าใจในข้อนี้ผมคิดว่าถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะความหมายของ "ฉันทะ" นั้น ไม่ใช่แปลว่าเป็นสัญญาภาษากระดาษหรือสัญญาที่ให้ไว้กับมวลหมู่สมาชิกเท่านั้น หากแต่เป็นสัญญาใจและเป็นใจที่ผูกพัน เป็นใจที่ศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งนั้นอยู่เต็มเปี่ยม จึงจะเกิดความเพียรตามมา เปรียบได้กับนักวิจัยที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในแนวคิดแนวปฏิบัติของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งอาจมีมากน้อยต่างกัน คงไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวนักวิจัยเองและผลของงานที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน

    การมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก ไม่ใช่ทำใจให้รักเพื่ออะไรสักอย่าง หรือ ห้ามใจไม่ให้รัก มันก็ยากยิ่งพอๆกัน เพราะรักดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความรักความศรัทธาของเราจริงๆ ขืนทำไปก็มีแต่จะทุกข์ทรมานแม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังแล้วก็ตาม ประการสำคัญเป็นการแอบแฝงมาจากความคิดอื่นศรัทธาอื่นหรือความเป็นอื่นที่เราพยายามหาเหตุและผลมาอธิบายว่า มันคือสิ่งเดียวกันเพื่อให้สามารถดำเนินไปได้หรือเพื่อให้ตัวเองสบายใจที่สุด แต่ถ้าเรามีใจศรัทธาอันแรงกล้าแล้ว พลังสร้างสรรค์ก็จะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างมหัศจรรย์ทีเดียว

    ทีนี้มาพูดถึงว่า "เราจะสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นได้อย่างไร" พระพุทธองค์เคยสอนไว้ว่า มนุษย์เราต้องเลือกที่จะศรัทธาบางอย่างและหมั่นตรวจสอบศรัทธาของตัวเองว่าดีต่อตัวเองและดีต่อผู้อื่นอันรวมถึงสังคมโดยรวมหรือไม่ เมื่อดีทั้งสองอย่างก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็จงเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ ซึ่งเราต้องเลือก ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนที่สับสนไม่มีแก่นสารและเป็นคนไร้รากในที่สุด เมื่อเป็นคนไม่มีแก่นสารก็จะถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ดีได้ง่ายนั่นเอง

    หากจะฝึกฝนตนเอง อาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราศรัทธาอะไรอยู่ เพราะคนเราเมื่อศรัทธาอะไรก็จะได้พบกับสิ่งนั้นเข้าถึงสิ่งนั้น ศรัทธาในเทคโนโลยีเราก็จะเข้าถึงเทคโนโลยี ศรัทธาต่อชาวบ้านเราก็จะเข้าถึงชาวบ้าน ศรัทธาต่อวัตถุก็จะเข้าถึงวัตถุ ศรัทธาต่อลาภยศสรรเสริญก็จะเข้าถึงลาภถึงยศเข้าถึงตำแหน่ง ศรัทธาต่อความรู้ก็จะเข้าถึงความรู้ หรือศรัทธาต่อหลักธรรมก็จะเข้าถึงธรรม หรือไม่ศรัทธาอะไรเลยก็ไม่เข้าถึงก็ไม่เข้าถึงอะไรเลย เพราะความศรัทธานำมาซึ่งมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราศรัทธานั่นเอง
    ขณะเดียวกันก็ลองตรวจสอบตัวเองดูว่าสิ่งที่เราศรัทธากับสิ่งที่องค์กรของเราศรัทธานั้นตรงกันหรือไม่ หากตรงกันก็เรียรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนหรือหากไม่ตรงกันก็เรียนรู้ที่จะให้โอกาสตัวเองไปสู่แห่งที่ที่เหมาะสมกว่า

    2) วิริยะ คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเท เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ ที่จะเรียนรู้และทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้นเรื่องนั้น ถ้าหากกระทำก็จะทำจนเชี่ยวชาญจนเป็นผู้รู้ ถ้าหากศึกษาก็จะศึกษาให้รู้จนถึงรากเหง้าของเรื่องราวนั้นๆ ดังนั้น คำว่า "วิริยะ" จึงหมายถึงความเพียรพยายามอย่างสูงที่จะทำตามฉันฑะหรือศรัทธาของตัวเอง หากเราไม่มีความเพียรแล้วก็อนุมานได้ว่าเรามีฉันทะหลอกๆ หรือศรัทธาหลอกๆ ทั้งโกหกตัวเองและหลอกผู้อื่น เพื่ออะไรนั้น ผลงานที่เขาทำจะชี้ชัดออกมาเองว่าทำเพื่ออะไร ดังนั้น นักวิจัยท้องถิ่น จึงต้องมีใจที่รักต่อคนท้องถิ่นและรักต่อการทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาคนท้องถิ่น อันเป็นศรัทธาสูงสุด หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ได้แต่เพียงศรัทธาปากเปล่าที่ไร้แม้เงาของความมุ่งมั่นและทุ่มเท หากแต่มีศรัทธาอื่นให้ครุ่นคิดและกระทำอยู่

    วิริยะนี้มาคู่กับความอดทนอดกลั้น เป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นำใจ และเตือนใจ ความอดทนเป็นเครื่องมือสำหรับคนใจเย็นและใจงามด้วย ไม่ใช่มุทะลุดุดันรบเร้าและรุ่มร้อน เพราะมันจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย หรือสูญเสียความอดทนในที่สุด ดังนั้น ความวิริยะอุสาหะ จึงเป็นวิถีทางของบุคคลที่หาญกล้าและทายท้าต่ออุปสรรคใดๆทั้งมวล

    ถามว่า "ความวิริยะมันเกิดจากอะไร" คำตอบก็คือ "เกิดจากศรัทธาหรือฉันทะนั่นเอง" และเป็นศรัทธาที่มั่นคงด้วยไม่ว่าจะมีอุปสรรค์ใดๆมากระทบก็ตามก็จะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจปล่อยวางหรือวางเฉยในบางเวลาบางสถานการณ์บ้าง เพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า ความวิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตายหรือต้องให้ได้เสมอ แต่มันคือความแยบยลและเลือกที่จะทำบางอย่างเพื่อรักษาศรัทธาไว้หรือเพื่อรอวาระที่เหมาะสมอันหมานถึงการบรรลุผลแห่งศรัทธา

    ถ้าจะฝึกฝนเรื่องความวิริยะแล้วคงต้องเริ่มจากความคิดที่ว่า ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองบ่อยๆ หมั่นทำหมั่นคิดหมั่นเขียนหมั่นนำเสนอและอย่าขี้เกียจ อย่ากลัวความผิดพลาดและจงกล้าแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของตัวเอง อย่าท้อต่องานหนักและงานมากให้คิดว่าทำมากรู้มากเก่งมากขึ้น อย่าบ่นว่าไม่มีเวลาเพราะเวลามีเท่าเดิม ฯลฯ

    3) จิตตะ คือ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ เมื่อมีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตาม คำนี้ยิ่งใหญ่มากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มักจะใจแตกบ่อยๆหรือใจแตกยาวนาน มักหลงใหลได้ปลื้มไปกับวัตถุ เทคโนโลยี เที่ยวกลางคืน เรื่องเพศและยาเสพติด เมื่อใจแตกก็มักจะขาดความรับผิดชอบ คิดทำอะไรก็มักทำแบบสุกเอาเผากินพอให้เสร็จไปวันๆ ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่างทำผิดๆถูกๆอยู่อย่างนั้น ชอบเอาดีใส่ตัวเองและให้ร้ายผู้อื่นตามมา อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ตนเองและองค์กร ถ้าอยู่ในวัยเรียนก็จะเสียการเรียนเสียชื่อเสียงของโรงเรียนและพ่อแม่ก็เสียใจ ถ้าอยู่ในวัยทำงานก็จะเสียงานและองค์กรก็จะเสียงานด้วย

    แต่ถ้าเรามีใจที่จดจ่อต่อสิ่งที่เราคิดเราทำและรับผิดชอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการงานก็ตาม ทุกอย่างก็จะดีขึ้นไปเอง เราก็จะมีความรอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆด้วยใจที่จดจ่อตั้งมั่นและใฝ่เรียนรู้ของเรา เมื่อมีความรอบรู้มากขึ้นก็จะเกิดความรอบคอบตามมา เมื่อมีความรอบคอบแล้วการตัดสินใจทำอะไรก็จะเกิดความผิดพลาดน้อยตามไปด้วย

    ความรอบคอบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่รอบรู้ ดังนั้น การที่คนจะรอบรู้ได้นั้น ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นเนื่องนิจ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสืออย่าให้ขาดและหลากหลายโดยไม่ยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประการสำคัญต้องฝึกตั้งคำถามกับตัวเองกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเราพร้อมกับค้นหาคำตอบให้ได้ การฝึกสนทนากับผู้รู้บ่อยๆก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่เข้าใกล้ความรอบรู้ไปโดยปริยาย

    เมื่อเราเข้าใกล้ความรอบรู้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะวิเคราะห์สังเคราะห์เนื้อแท้ของเรื่องราวนั้นๆ ออกมาสู่การตัดสินใจของหมู่คณะหรือแม้แต่เรื่องส่วนตัวของเราเอง ดังนั้น ความรอบคอบจึงแฝงไปด้วยความรอบรู้ตามสภาพจริงของมัน อันเป็นแนวปฏิบัติที่คนรุ่นใหม่ต้องสร้างให้เกิดเป็นนิสัยแก่ตนเอง ไม่ใช่ใช้ความเจ้าเล่ห์เพทุบายคอยหาโอกาสแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้องเหมือนคนในสังคมปัจจุบันที่เราเห็นกันดาดเดื่อน

    ความรอบคอบนอกจากจะดำรงอยู่คู่กับความรอบรู้แล้ว ยังต้องอาศัยความดีงามเป็นเครื่องเตือนสติด้วย ถึงจะสามารถใช้จิตของเราพินิจพิจารณาและตรึกตรองในเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆนั้นได้อย่างเหมาะสม เพราะความดีงามตามแบบอย่างของคุณธรรมตามหลักศาสนาและจริยธรรมของสังคมนั้นเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุข ไม่เช่นนั้นแล้วมนุษย์อาจเข่นฆ่ากันไม่เว้นแต่ละวันแม้ว่ามนุษย์จะอุดมไปด้วยความรู้และความรอบคอบก็ตาม

    4) วิมังสา คือ การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา อันเกิดจาก การมีใจรัก (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดใจจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ จึงนำไปสู่การทบทวนตัวเอง และทบทวนองค์กรหรือทบทวนขบวนการ ทบทวนในสิ่งที่ได้คิดสิ่งได้ทำผ่านมาว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเองและเป็นเรื่องที่ร่วมคิดร่วมทำกับคนอื่น เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

    การทบทวนเรื่องราวจากภายในของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มสับสนวุ่นวายอย่างเข้มข้น ทบทวนความคิดเพื่อตรวจสอบความคิดและการกระทำของเราว่าเราคิดหรือทำจากความคิดอะไร? พร้อมกับถามตัวเองว่าเราคิดอย่างนั้นเพื่ออะไร? เราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร? เพื่อความสุขของตัวเองหรือเพื่อความสงบสุขของสังคม? ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะอยู่ ณ จุดไหนของสังคมหรือเปลี่ยนแปลงตนอย่างไรไปสู่การสร้างสรรค์ตนเองและสังคมที่งดงาม

    ในการวิจัยและการพัฒนานั้นเรามักจะใช้คำว่า "สรุปบทเรียน" เป็นการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูว่าสิ่งที่คิดและทำมานั้นมันดำเนินไปในแนวทางที่วาดหวังหรือไม่ หรือว่าคิดไว้อย่างทำอีกอย่าง หรือคิดไว้แต่ไม่ได้ทำเลย หรือทำไปแล้วแต่ไม่ได้อย่างที่มุ่งหวัง ทั้งนี้จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ที่มันสำเร็จมันเป็นเพราะอะไร และที่มันล้มเหลวมันเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขหรือหาทางหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

    การสรุปบทเรียนนั้น คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า สรุปเมื่องานเดินทางมาได้ครึ่งทางหรือสิ้นสุดการทำงาน หรืออย่างดีที่สุดมีการทำแผนงานรายไตรมาส คือทุก 3 เดือน จึงสรุปบทเรียนครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วการสรุปบทเรียนควรจะทำให้อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการพูดคุยกันหลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมทุกครั้ง หรือหลังเลิกงานแต่ละวัน หรือใช้วิธีการแบบไม่เป็นทางการ เพื่อสรุปบทเรียนของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด หรือพูดคุยกับตัวเองบ้าง แต่ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงที่รู้สึกว่างและปลอดโปร่งจากเรื่องราวทั้งปวง ซึ่งควรทำให้เป็นนิจสิน

    ดังนั้น "อิทธิบาท 4" จึงมีความหมายกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเดินทางไปในสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงาน เพราะหากทำได้ตามกระบวนความแล้ว สังคมความรู้ ชุมชนความรู้ และปัจเจกชนความรู้ คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ประการสำคัญ "อิทธิบาท 4" ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวจากหลักธรรมข้ออื่นๆอันเป็นองค์รวมและเชื่อมโยงถึงกัน เพียงแต่อธิบายคนละบทบาทเท่านั้น สิ่งสำคัญ เราได้ใคร่ครวญในเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เพราะ ในโลกปัจจุบัน โลกที่สั่งสมอวิชชามามากจนเกินล้น จึงกลายเป็นโลกที่ฉาบฉวยและวุ่นวายสูงสุด นั่นแปลว่าเราต้องฝึกฝนตนเองหลายเท่าตัวเพื่อจะเข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมที่ก่อกำเกิดการพัฒนาที่จุดเริ่มต้นของตนเองอย่างแท้จริง

    เขียนโดย Woman

    ที่มา : http://thaifamilymental.blogspot.com/2007/10/4.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กุมภาพันธ์ 2009
  4. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    <CENTER>[​IMG]</CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER> </CENTER><CENTER></CENTER><CENTER>ทำไงจะเอาอิทธิบาท 4 ไปใช้กับลูกน้องได้</CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER><CENTER></CENTER>
    โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)​






    <HR>

    การจะให้พนักงานสักคน มี อิทธิบาท 4 กับงานนั้น คงต้องเริ่มจาก เราทำตัวเป็นต้นแบบก่อนครับ เพราะเมื่อลูกน้องเห็นเราเป็นต้นแบบแล้ว เขาถึงจะสามารถรับรู้ได้ว่า การทำงานจริงๆ นั้นควรจะทำเช่นใด

    จากนั้น ก็พยายามสอนเขาทีละขั้น ทีละตอน การสอนงาน เป็นหน้าที่หนึ่งของหัวหน้างาน การสอน อิทธิบาท 4 ให้กับเขา ก็เพื่อจะให้เขาทำงานได้ดีที่สุด และ ได้ผลงานมากที่สุด ซึ่งการกระทำทั้งหมดของหัวหน้างาน ก็ควรจะมุ่ง และ สื่อไปทางพัฒนาลูกน้องให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานครับ ถ้าใจเราสะอาด ใส และ มุ่งประเด็นสำหรับประโยชน์สำหรับลูกน้อง ก็ค่อยๆทำดังนี้ครับ

    ฉันทะ = ความพึงพอใจในการทำงานนั้น หรือ เต็มใจทำงานนั้น
    ต้องแยกความรู้สึกของคนให้เห็นก่อนว่า การมีความพึงพอใจ หรือ เต็มใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เกิดจากเหตุใด ซึงความคิดเห็นของผมนั้น คิดว่า การจะทำให้ใครเกิดความพึงพอใจ หรือ เต็มใจในการทำงานนั้น คนๆนั้นต้องมองเห็นคุณประโยชน์ของการทำงานเสียก่อน อย่างเช่น ทำแล้วได้ผลงาน ทำแล้วมีคนเห็น ทำแล้วมีคนอนุโมทนา สิ่งเหล่านี้ บางคนมองไม่ออกว่า การทำงานนั้นๆของเขาแล้วจะได้ผลอะไรตอบแทน เพราะคนเราต่างกัน ความคิดก็ต่างกัน ปัญญาก็ต่างกัน ดังนั้น หัวหน้างาน ต้องชี้แจงให้เห็นถึงคุณดังกล่าวที่บอกมาครับ

    หรือ งานนั้น เป็นงานที่คนๆนั้นถนัด หรือ มีนิสัยพื้นฐานตรงกับงานนั้น ก็ต้องเปลี่ยน หรือ ต้องสอนพื้นฐานในการทำงานนั้นๆ ให้เขาเสียก่อน ที่เขาจะงานั้นได้จริงๆ หรือ อาจจะต้องช่วยกำกับ หรือ สอนงานนั้นอย่างละเอียดในช่วงแรก เพื่อให้เขามีความมั่นใจในการทำงานเหล่านั้นมากขึ้น และเมื่อมีความมั่นใจในการทำงาน เขาก็จะสามารถทำงานเหล่านั้นได้อย่างดีเช่นกัน
    วิริยะ = พากเพียรในการทำงาน
    ความเพียรในการทำงานนั้น เกิดจาก การประพฤติตนตามมงคลสูตรบทที่ว่า ทำงานไม่คั่งค้าง ซึ่งคนที่จะทำลักษณะนี้ได้ ก็คงต้องเป็นคนที่เคยสร้างบารมีทางด้านนี้มาก่อน แต่ถ้าลูกน้องไม่เป็นเช่นนี้ ก็คงต้องสร้างให้มี ให้เกิดขึ้น ถ้าทางธรรม ก็กำหนดเวลาในการนั่งสมาธิ ถ้าทางโลก ก็อาจจะต้องฝึกให้เขาทำงานอย่างพากเพียรครับ

    การฝึกให้ลูกน้องมีความเพียรอย่างง่ายๆ คือ การนั่งข้างๆ หรือ ต้องนั่งให้มองเห็นลูกน้อง หรือ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า เรากำลังดูเขาอยู่ เพราะลูกน้องส่วนใหญ่ เวลาเห็นหัวหน้างานมองอยู่จะทำงาน เช่นนั้นอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เห็นผลงานของตน หรือ ทำให้เจ้านายเห็นว่าตนทำงานเต็มที่ การทำเช่นนี้ สามารถทำให้เกิดนิสัยกับเขาได้ โดยการชมเชยเขาอย่างจริงใจ กับการทำงานที่เป็นผลสำเร็จของเขา จะทำให้ลูกน้องเห็นคุณค่าของการทำงานอย่างเต็มที่นั้นๆได้

    บางครั้ง ก็ต้องตั้งรางวัลเพื่อให้เขามีกำลังใจทำงานด้วย แต่จะตั้งในงานแรกๆ เพื่อดูศักยภาพของพวกเขาว่า เขามีความสามารถนะ และ ถ้างานเป็นงานอย่างเดิมๆ แล้วเขาทำงานตกลง ก็ให้นำเอางานที่เขาทำได้ดีแล้วในครั้งแรกมาเปรียบเทียบ เพื่อทำให้เข้าเห็นว่า เขาตั้งใจทำงานน้อยลง อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเดียวกัน งานเดียวกัน ตอนที่ตั้งรางวัลเขาสามารถทำงานได้ดี และ เต็มที่กว่า เป็นต้นครับ
    จิตตะ = การมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงาน
    การจะมีจิตใจที่จดจ่อต่อการทำงานได้นั้น ต้องศึกษาองค์ประกอบสิ่งแวดล้อมของลูกน้อง รวมทั้งงานเหล่านั้น เป็นงานที่ลูกน้องถนัดในการทำหรือไม่

    สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงานนั้น ก็จะเหมือนกับ สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เรานั่งสมาธิ ได้ดี ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ และ บรรยากาศเอื้อต่อการทำงาน อย่างเช่น ถ้าคนทำงานทางด้านความคิด แต่เขาต้องนั่งในที่ร้อน เหงื่อตก เขาจะมีสมาธิในการทำงานน้อยลง จิตใจที่จดจ่อกับงานก็น้อยลง หรือ คนที่ทำงานต้องใช้ความละเอียด แต่กลับมีเสียงเพลงคลอไปเบาๆ ก็หวังดีว่าเสียงเพลงจะทำให้ความรู้สึกผ่อนคลายลง แต่จะใช้ได้ไม่ดีกับคนที่ต้องการความละเอียด คนที่ทำงานละเอียดได้ จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ เหมือนนั่งสมาธิในที่สงบ เพื่อทำให้จิตใจได้จดจ่อกับงานเหล่านั้นให้มากที่สุด

    ถ้าสิ่งแวดล้อมของเขาดี แต่เป็นงานที่เขาไม่ถนัด หรือ ไม่สามารถทำได้ ก็จะไม่สามารถทำให้เขามีใจจดจ่อต่องานได้เช่นกัน ดังนั้น ควรมอบหมายงานที่แต่ละคนถนัดในด้านนั้นๆ หรือ ต้องสอนงานให้กับลูกน้องจนสามารถทำงานเหล่านั้นได้

    ถ้าไม่มีใจจดจ่อต่อการทำงาน จนบางครั้ง การละทิ้งการงานกลางคันได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากคนที่ไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ หรือ ไม่รู้ว่าทำไปจะสำเร็จไม๊ หรือ ไม่มีความรู้ในการทำงาน ดังนั้น การสอดส่องลูกน้องอยู่เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหัวหน้างานที่ดี ต้องรู้ภาวะจิตใจของเขาด้วยว่า ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เขากำลังมีความรู้สึกเช่นใดกับงานนั้นๆ เมื่อรู้ถึงภาวะจิตใจของลูกน้อง ก็ต้องปรับความรู้สึกเหล่านั้นให้กลับมาเป็นปกติในการทำงานดังเดิม ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่เคสครับ
    วิมังสา = การพินิจ วิเคราะห์ และ เข้าใจในการทำงานนั้นๆ
    การทำงานที่ได้ผลดีนั้น ต้องมีเรื่องนี้เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ต้องใช้ปัญญาในการ พินิจ พิจารณา วิเคราะห์ หาเหตุ หาผล ของการทำงานต่างๆ ซึ่ง คนที่จะทำเช่นนี้ได้ดีมีน้อย ผมจำไม่ได้ว่า หลวงพ่อทัตตชีโว หรือ หลวงพ่อธรรมชโย ของพวกเรา เคยบอกแนวทางวิธีง่ายๆ ที่จะสร้าง วิมังสาให้เกิดขึ้นกับตัวเรา มันเป็นคำง่ายๆ แต่ลึกซึ้งมาก ท่านแค่ให้โอวาทในการทำงานว่า





    <CENTER>"ทำให้ดี กว่าดีที่สุด"</CENTER>

    นั่นหมายถึง เวลาเราทำงานแล้ว คิดว่าดีแล้ว ให้สังเกตุ และ วิเคราะห์งานที่ทำว่า เราสามารถทำได้ดีกว่านี้อีกหรือไม่ มีวิธีการใดที่จะทำได้ดีกว่านี้ หรือ ถ้าทำในครั้งต่อไป เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลดีกว่านี้ เป็นต้น ซึ่งถ้าทุกคนสามารถนำเอาคำหลวงพ่อมาใช้ ก็จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีวิมังสาให้เกิดกับตนเองได้อย่างน่าอัศจรรย์

    และ อีกโอวาทหนึ่ง ที่ผมได้รับจากหลวงพ่อฯ คือ





    <CENTER>"ไม่ได้ ไม่ดี ไม่มี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องได้"</CENTER>

    คำว่า "ไม่ได้ ไม่ดี ไมมี ไม่ได้" เป็นคำที่บ่งบอกให้ใจของเรามุ่งมั่นว่าสิ่งที่จะทำนั้นในเมื่อรับงานมาแล้ว การจะบอกว่า ทำไม่ได้ นั้น ต้องไม่มี เพราะก่อนที่เจ้านายจะสั่งงานนั้น ก็ต้องคิดก่อนแล้วว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องแสวงหาหนทางเพื่อที่จะทำในหนทางอื่นๆอีก ไม่ใช่ว่า คิดว่าทำไม่ได้ก็จบกันไป หรือบางคนมักจะอ้างว่า ไม่มีสิ่งนั้น ไม่มีสิ่งนี้ ทั้งๆที่ตนเองยังไม่ได้พยายามหาเลยก็มี ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ต้องให้เขาคิด ว่า ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะหาสิ่งอื่นๆมาทดแทนได้หรือไม่ หรือ จะสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร และ เมื่อเริ่มทำแล้วก็ต้องทำให้ดี หากต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยๆ "ทำให้ดี กว่าดีที่สุด" ไง...

    ส่วนประโยคหลังนั้น ผมก็ดัดแปลงสอนลูกน้องผมว่า "ต้องง่าย ต้องดี ต้องมี ต้องได้" เพื่อสร้างให้ลูกน้องของผม เชื่อในสิ่งที่จะทำ และ สร้างผลงานออกมาให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้ใช้ ต้องดีไม่มีปัญหา ต้องมีสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สิ่งเหล่านี้ต้องทำได้ถ้าเราได้ทำ เพราะลูกค้าหวังว่าต้องได้จากเรา ดังนั้น เราก็ต้องตอบสนองให้ลูกค้าเห็นว่า เราก็ต้องทำได้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อความต้องการ กับสิ่งที่เราทำให้กับลูกค้านั้นตรงกัน ก็จะสร้างมูลค่าให้กับงานของเราเพิ่มมากขึ้น และ สามารถนำไปใช้งานได้จริงอีกด้วย เมื่อสิ่งที่เราทำนั้น กลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าใช้งานได้อย่างดี และมีการชื่นชม ก็จะกลายมาเป็นแรงใจให้กับคนทำงานกลับมาเช่นกัน

    ความเข้าใจในการทำงานนั้นๆ ก็กล่าวไว้แล้วว่า การรับรู้ภาวะจิตของลูกน้องนั้นสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตุ และ การทดสอบความรู้สึกของพวกเขาบ่อยๆ เช่นอาจจะถามถึงปัญหาของงานต่างๆว่า เขามีปัญหาอะไร อย่างไร ก็ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หรือ ชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น คนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่เราคิดได้ อาจจะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนอื่นก็ได้ เราจึงต้องสังเกตุ และ ทดสอบลูกน้องว่า เข้าใจการงาน หรือ คำสั่งหรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่ง บางครั้งอาจจะต้องให้ลูกน้องทวนคำสั่งให้ฟังเสียด้วยซ้ำ เพื่อให้รู้ว่า เขารับรู้คำสั่งต่างๆของเราจริงๆ ก่อนที่จะลงมือด้วย


    ที่มา : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=wbj&month=05-2007&date=14&group=24&gblog=2
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มีนาคม 2012
  5. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระสังฆราช


    [​IMG]


    สมัยหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสให้ท่านไปประสานงานนิมนต์พระสงฆ์ทรงภูมิธรรมในภาคอีสานบางรูปมารับพระราชทานฉันที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถประสานงานนิมนต์ได้ เพราะพระสงฆ์เหล่านั้นได้ออกธุดงค์ไปก่อนแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ว่าออกธุดงค์อยู่ ณ แห่งหนใด

    จึงมีกระแสพระราชดำรัสให้ไปกราบนมัสการสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งขณะนั้นยังมีสมณศักดิ์ที่ “พระศาสนโสภณ” ให้ช่วยนิมนต์แทน

    พล.ท.อมรรัตน์ จินตกานนท์จึงเดินทางไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร และแจ้งพระราชประสงค์ให้ทราบ สมเด็จพระสังฆราชขอเวลาให้มาฟังผลอีกชั่วยามหนึ่ง ท่านก็นั่งรออยู่ที่กุฏิชั้นล่าง ไม่ถึงชั่วยามก็ได้รับคำตอบว่า...

    นิมนต์ให้เรียบร้อยแล้ว...ให้นำรถไปรับที่จุดนัดหมายตามวันเวลาที่กำหนด.....

    พล.ท.อมรรัตน์ จินตกานนท์มีความแปลกใจว่า ติดต่อกันโดยทางใด ในที่สุดก็ได้ทราบว่าสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้นั่งสมาธิติดต่อทางจิตหรือ “โทรจิต” ติดต่อกับพระสงฆ์ทรงภูมิธรรมนั้น

    นับเป็นเรื่องอัศจรรย์มากเรื่องหนึ่ง

    ต่อประเด็นนี้นะครับ ควรทราบว่าทราบว่า วัตรปฏิบัติของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯในวัยหนุ่มนั้น เมื่อทราบว่ามีพระสงฆ์ทรงภูมิธรรมอยู่แห่งหนตำบลไหน ยามใดมีโอกาสอันควร ก็จะเสด็จไปสนทนาธรรมด้วย แม้เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็ยังทรงครองวัตรปฏิบัตินี้อยู่เหมือนเดิม

    ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นพระสงฆ์ทรงภูมิธรรมรูปหนึ่ง ที่พระองค์ทรงเสด็จไปสนทนาธรรมถึงวัดสวนโมกขพลาราม

    ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงประชวร มีพระอาการหนักมาก มีข่าวลือทั่วไปว่าทรงสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นเหตุให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารซึ่งกำลังเดินทางไปประชุมที่กัมพูชาต้องรีบเดินทางกลับ เมื่อถึงกรุงเทพฯแล้วจึงได้รู้ว่ากลุ่มคนชั่วปล่อยข่าวลือ เพราะพระอาการดีขึ้น

    และเมื่อทรงฟื้นจากประชวรครั้งนั้น ก็ทรงเล่าให้ฟังว่าความจริงครั้งนั้นประชวรหนักมาก เตรียมใจที่จะละสังขารอยู่แล้ว ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อไปทรงเยี่ยม ณ ที่ประทับรักษาพระองค์

    คณะแพทย์ได้ถวายรายงานว่าทรงประชวรอาการมาก และสิ้นหวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปถึงเตียงที่บรรทม

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระหัตถ์ทั้งสองจับพระพาหา (ต้นแขน) ของสมเด็จพระองค์ แล้วกราบทูลว่า พระอาจารย์ พระอาจารย์! พระอาจารย์ หม่อมฉันและสมเด็จพระราชินีมาเยี่ยม ทรงตรัสอย่างนี้อยู่ 2 - 3 ครั้ง สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงฟื้นพระสติ และทรงพยักหน้า

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า คราวนี้ทรงประชวรหนัก คณะแพทย์บอกว่าเกินกำลังแล้ว หม่อมฉันเองก็ได้ใช้ความพยายามเต็มที่ หมอที่ไหนดีก็หามารักษา ยาอย่างไหนดีก็หามาถวาย แต่พระอาการไม่มีใครจะช่วยได้แล้ว พระอาจารย์ต้องช่วยพระองค์เองแล้วนะ พระอาจารย์ต้องช่วยพระองค์เองแล้วนะ

    สมเด็จพระสังฆราชทรงพยักหน้ารับคำอาราธนา

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จกลับ โดยมิได้ตรัสประการใดอีก

    สมเด็จพระสังฆราชทรงประทานเล่าว่า เมื่อได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า พระอาจารย์ต้องช่วยพระองค์เองแล้ว ก็ทรงระลึกถึงคำสอนในพระบรมศาสดาเรื่องอิทธิบาท 4 ได้ว่า เป็นธรรมโอสถที่เมื่อเจริญแล้วสามารถดำรงพระชนม์ให้ยืนยาวได้ดังปรารถนาถึงกัลป์หรือเกินกว่ากัลป์

    เมื่อทรงระลึกได้ดังนี้จึงทรงเข้าสมาธิดำรงพระจิตอยู่ในวิหารธรรมที่มีชื่อว่าอิทธิบาทตามคำสอนของพระบรมศาสดา และในไม่ช้าพระอาการก็ทุเลา

    แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกทรงมีภูมิธรรมขั้นสูงที่สามารถเจริญอิทธิบาท 4 กำหนดอายุสังขารได้เสมอด้วยพระอริยเจ้าในอดีตกาล

    เหมือนกับเมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสรับอาราธนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าอย่าเพิ่งดับขันธ์ แล้วใช้อำนาจแห่งสมาธิจิตเป็นธรรมโอสถรักษาอาการป่วยเจ็บจนหายเป็นปกติ

    และยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเจริญด้วยภูมิธรรมอันสูงในพระพุทธศาสนา ทรงเป็นธรรมิกมหาราชา

    จึงทรงสามารถรู้ได้ว่าจะทรงใช้ธรรมโอสถใดในการรักษาเยียวยาพระอาการ

    ที่มา : http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=1344
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กุมภาพันธ์ 2009
  6. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    อิทธิบาท 4

    ธรรมอันเป็นเครื่องยังความสำเร็จสมประสงค์
    อิทธิบาทเป็นเครื่องนำความ

    สำเร็จ
    เป็นข้อเท็จจริงแจ้งแถลงไข
    เมื่อจะทำกิจการงานใดใด
    จะฉับไวได้ผลสมจินตนา
    มีฉันทะพอใจในการงาน
    ให้เบิกบาน

    สมใจแม้หนักหนา
    เป็นทางสู่ความสำเร็จไม่ระอา
    มีศรัทธาเต็มหัวใจด้วยใฝ่ดี
    อุปสรรคงานการนั้นมีทั่ว
    อย่าหวั่นกลัวพากเพียรไม่

    หน่ายหนี
    คือวิริยะหมั่นขยันในสิ่งดี
    มิได้มีท้อแท้แก้ไขไป
    อีกจิตตะเอาใจใส่สม่ำเสมอ
    ไม่พลั้งเผลอว่างเว้นให้เหลวไหล
    มุ่ง

    ประกอบความดีด้วยตั้งใจ
    เรื่องเล็ก-ใหญ่สำเร็จได้ไม่ยากนาน
    หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผล
    เรื่องสับสนแก้ได้มิร้าวฉาน
    วิมังสา

    หลักธรรมคำโบราณ
    จะเกื้อกูลกิจการสำเร็จพลัน
    มีชีวิตเป็นมนุษย์สุดประเสริฐ
    ยึดหลักธรรมล้ำเลิศไม่แปรผัน
    อิทธิบาทนำชีวิต

    สำเร็จครัน
    มิไกลฝันสุขสงบพบสิ่งดี นงลักษณ์

    ที่มา : http://onknow.blogspot.com/2005/07/4.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กุมภาพันธ์ 2009
  7. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    ธรรมะกับชีวิตประจำวัน


    เรื่อง


    หนทางสู่ความสำเร็จ






    หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า Where there is the will, there is the way. ที่ใดมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่นั่นย่อมมีหนทางเสมอ ขอเพียงแต่ให้มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆให้ได้ ด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ย่อมมีหนทางนำเราไปสู่ความสำเร็จได้เสมอ


    วิธีที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆที่เราต้องการ คือ การนำ อิทธิบาท 4 ไปปฏิบัติ


    อิทธิบาท 4 (path of accomplishment; basis for success)
    คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มี 4 ประการดังนี้ คือ

    1. ฉันทะ (will; aspiration)
    ความพอใจในสิ่่งนั้น ปรารถนาที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ - ไม่ว่าสิ่งที่เราพอใจ สิ่งที่เราปรารถนานั้น จะเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่แล้ว กำลังดำเนินการอยู่แล้ว หรือเป็นสิ่งที่เราเพียงแต่คิดอยากจะทำ ความพอใจ ชอบในสิ่งนั้น เป็นคุณธรรมข้อแรกที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

    2. วิริยะ (energy; effort; exertion)
    ความเพียรพยายาม ที่จะทำสิ่งนั้นอย่างไม่ท้อถอย ไม่เลิกล้มความตั้งใจเสียก่อน - เมื่อเราชอบในสิ่่งนั้นแล้ว ถ้าเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราต้องทำไปด้วยความขยันหมั่นเพียร ใช้ความพยายามทุ่มเททำในสิ่งนั้นให้สำเร็จ หรือถ้าเป็นสิ่งที่เราเพียงแต่คิดอยากจะทำ เราก็ต้องเพียรพยายามหาหนทางที่จะทำสิ่งที่เราปรารถนาให้ได้เสมอ เป็นคุณธรรมข้อที่สองที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

    3. จิตตะ (thoughtfulness; active thought)
    ความคิดฝักใฝ่ เอาใจใส่อยู่กับสิ่งที่ทำ หนักแน่น มั่นคง ไม่โลเล - ในขณะที่เรากำลังทำงานนั้นๆอยู่ เราต้องดูแลเอาใจใส่จดจ่ออยู่กับงานที่เราทำนั้น ไม่วอกแวก ทำงานด้วยสมาธิ ไม่สะเพร่า หรือถ้าเป็นสิ่งที่เราปรารถนาอยากจะทำ เราก็ต้องมุ่งมั่น เตรียมตัวเราทุกวิถีทางที่จะได้ไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นให้จงได้

    4. วิมังสา (investigation; examination; reasoning; testing)
    ความไตร่ตรอง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง - ในขณะที่เราทำงานชิ้นนั้นๆ นอกจากจะทำด้วยความชอบ ทำอย่างต่อเนื่องด้วยความอุตสาหะพยายาม มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำ ดูแลเอาใจใส่งานที่เราทำให้ดีแล้ว เรายังต้องหมั่นทบทวนดูว่า งานที่เราทำอยู่นั้น มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับงานของเราบ้าง สาเหตุของปัญหานั้นมาจากอะไร เราจะหาหนทางแก้ไขได้อย่างไร ถ้างานของเรา ไม่บกพร่อง ไม่มีปัญหา เราก็ยังต้องคิดไตร่ตรองให้ดีว่า เราจะมีหนทางปรับปรุงและพัฒนางานของเราให้ดีขึ้นได้ไหม ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอีกได้ไหม เท่าไร เมื่อไร มีการวัดผลการทำงาน และมีการวางแผนขยายงาน



    ถ้าเป็นแต่เพียงสิ่งที่เราใฝ่ฝันอยู่ มุ่งมั่นที่จะได้ทำในสิ่่งนั้น อยากประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆให้ได้ เราก็ต้องหมั่นไตร่ตรองดูว่า จะมีวิธีใดบ้าง ที่จะทำให้เราได้ทำงานนั้นสมใจปรารถนา เราต้องวางแผนให้ดี และทำทุกวิถีทาง ที่จะไปสู่สิ่งที่เราปรารถนาสิ่งที่เราต้องการให้จงได้ ถ้ายังทำไม่สำเร็จ เราก็ต้องหาวิธีใหม่ ทบทวนดูว่า วิธีที่เราใช้อยู่นั้น เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ ต้องปรับปรุงแก้ไขวิธีการอย่างไร จึงจะได้ทำในสิ่งที่เราใฝ่ฝันไว้


    ยกตัวอย่างเช่น เราชอบกิจการร้านอาหาร เราเปิดร้านอาหารของเราเอง เราจัดหาแม่ครัวฝีมือดีมาทำอาหารที่ร้านของเรา มีรายการอาหารหลายอย่างให้ลูกค้าเลือก ราคาอาหารสมเหตุสมผล เราดูแลร้านอาหารของเราให้สะอาด จัดร้านให้ดูดี สวยงาม พนักงานบริการลูกค้าดี รวดเร็ว สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส บางวันมีลูกค้ามาที่ร้านมาก บางวันมีลูกค้ามาที่ร้านน้อย เราต้องหมั่นสังเกตว่า เพราะอะไร จึงมีลูกค้าเยอะ เพราะอะไรจึงมีลูกค้าน้อย ลูกค้าเหล่านั้นเป็นลูกค้าขาจร หรือ ขาประจำ เป็นคนที่ทำงานอยู่ใกล้ๆละแวกนั้น หรือเป็นคนที่แวะมาเที่ยวแถวนั้น ลูกค้าพอใจกับสินค้าและบริการหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน วัตถุดิบที่เราใช้ปรุงอาหาร เหลือมากไหมในแต่ละวัน หรือหามาไว้ไม่พอแก่ความต้องการ อาหารอะไรที่ลูกค้าสั่งบ่อย อาหารอะไรที่ลูกค้าไม่ค่อยสั่ง ควรเพิ่มจำนวนแม่ครัวหรือไม่


    ถ้ากิจการไปได้ดี มีลูกค้าจำนวนมากแล้ว เราก็ยังต้องทบทวนดูว่า เราน่าจะขยายกิจการไหม หรือน่าจะเปิดสาขาต่อไปหรือไม่ ที่ไหนดี เปิดเมื่อไรดี ฯลฯ นี่คือการนำเอาหลักธรรม อิทธิบาท 4 มาใช้ในการทำงานทุกอย่าง ด้วยความชอบและพอใจในงานนั้น ขยันหมั่นเพียรในงานนั้น เอาใจใส่ดูแลงานนั้นให้ดี และ หมั่นทบทวน วัดผลงานของเราด้วย


    อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ถ้าเราปรารถนาอยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ เราก็ต้องมุ่งมั่นหาหนทางที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศให้ได้ ด้วยการเตรียมตัวให้พร้อมด้วยคุณสมบัติต่างๆ เช่น ผลการเรียนของเราต้องดีพอ ภาษาต่างประเทศของเราต้องดีพอ ฐานะการเงินของเราต้องดีพอ หรือถ้าฐานะการเงินไม่ดีพอ เราก็ต้องเลือกหาทุนอุดหนุน หรือหางานพิเศษทำเพื่อสะสมเงินไว้ให้เพียงพอกับค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ


    เลือกประเทศที่เราอยากไป เลือกมหาวิทยาลัยที่เราอยากเรียน เลือกสาขาวิชาที่เราอยากศึกษาต่อ ดูคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเรียนในสาขาวิชานั้นว่ามีอะไรบ้าง เราขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น มีอะไรบ้าง มีทุนการศึกษาให้หรือไม่ นักศึกษามีสิทธิทำงานพิเศษหารายได้ด้วยหรือไม่ ใช้เวลาในการศึกษานานเท่าไร เราจะไปพักอาศัยที่ไหน


    หรือ เราอาจใช้วิธี หมั่นอ่านประกาศเรื่องทุนการศึกษาต่่างๆ แล้วสมัครขอทุนไป ซึ่งอาจจะมีทุนการศึกษาให้ในสาขาวิชาที่เราต้องการจะศึกษาต่อ


    เมื่อเรานำหลักธรรม อิทธิบาท 4 มาใช้เป็นหนทางนำไปสู่ความสำเร็จแล้ว เราต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน


    ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้ทำในสิ่่งที่ใจรักใจชอบ และประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ และในสิ่งที่ปรารถนากันถ้วนหน้านะครับ

    ที่มา : http://www.oknation.net/blog/pimahn/2008/04/20/entry-1
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กุมภาพันธ์ 2009
  8. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    วันนี้วันพระใหญ่ ผมไม่มีอะไรจะมอบให้กัลยาณมิตรทุกท่าน นอกจากธรรมทานที่ผมพยายามรวบรวมจากแหล่งต่างๆ และผมมั่นใจว่า หลักอิทธิบาท 4 มีความสำคัญสำหรับทุกท่านในการไปถึงซึ่งความสำเร็จในชีวิต

    ขอให้กัลยาณมิตรชาวพลังจิตทุกท่านเบิกบานในธรรม และไปถึงที่สุดแห่งความดีที่ทุกท่านปรารถนาไว้ รวมทั้งขออโหสิกรรมที่เคยทำมากับทุกท่านในอดีต และขอให้ทุกท่านโมทนาบุญทั้งปวงในอดีตที่ผมได้กระทำมาด้วยเถิด สาธุ

    ขอให้เราทุกคนมาอโหสิกรรมให้กันและกัน และโมทนาบุญของกันและกันด้วยนะครับ

    หากท่านเห็นด้วย โปรดระลึกในใจ หรือ จะพิมพ์ ว่า

    "เราขออโหสิกรรมให้ทุกๆท่านที่เคยล่วงเกินเรามา และขอให้ทุกๆท่านโมทนาบุญที่เราเคยทำมาเช่นเดียวกัน"

    โมทนาครับ

    นายชยาคมน์ ธรรมปรีชา
    เขียนไว้ ณ วันมาฆบูชาที่ 9 ก.พ.2552
     
  9. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    วันมาฆบูชานี้ ผมไปซื้อปลาจากตลาดสด ประกอบด้วย

    1. ปลาช่อน (กำลังตั้งท้อง) ประมาณ 6 ตัว
    2. ปลาดุก 4 ตัว กำลังจะโดนทุบเพื่อไปทำปลาดุกฟู
    3. หอยขม 7 กิโลกรัม

    รวมเป็นเงิน 1,000 บาท

    ขอทุกท่านโมทนาบุญตามอัธยาศัยครับ
     
  10. ถนอม021

    ถนอม021 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กันยายน 2008
    โพสต์:
    2,098
    ค่าพลัง:
    +3,163
    ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธุ

    ขอเป็นกำลังใจให้ท่านมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ในการทำความดีต่อไป
    และขอผลบุญทั้งปวงเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระนิพพานในภพภูมินี้ด้วยเทอญ

    ถนอม สุพัตรา ถกนธ์
     
  11. trirut

    trirut เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2008
    โพสต์:
    1,420
    ค่าพลัง:
    +1,499
    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
     
  12. Komodo

    Komodo หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    11,612
    กระทู้เรื่องเด่น:
    145
    ค่าพลัง:
    +104,605
    ฟังธรรมจากกระทู้นี้ด้วยนะครับ ดีมากๆ

    หลวงพ่อ ฤาษีลิงดำ - เริ่มฝึก อิทธิบาท ๔ และ บารมี ๑๐
    http://audio.palungjit.org/showthread.php?p=8300
     
  13. ธูปหอม

    ธูปหอม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2006
    โพสต์:
    66
    ค่าพลัง:
    +291
    วันมาฆบูชานี้ ผมไปซื้อปลาจากตลาดสด ประกอบด้วย

    1. ปลาช่อน (กำลังตั้งท้อง) ประมาณ 6 ตัว
    2. ปลาดุก 4 ตัว กำลังจะโดนทุบเพื่อไปทำปลาดุกฟู
    3. หอยขม 7 กิโลกรัม

    รวมเป็นเงิน 1,000 บาท

    ขอทุกท่านโมทนาบุญตามอัธยาศัยครับ


    ขออนุโมทนาด้วยค่ะ
     
  14. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,661
    ค่าพลัง:
    +9,236
    ขออนุโมทนาค่ะ
    ได้เข้าใจในหลายมุมมองมากขึ้น
     
  15. วิศวนันต์

    วิศวนันต์ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    34
    ค่าพลัง:
    +35
    อนุโมทนาสาธุครับ
    ขอนำไปเผยแพร่ต่อด้วยนะครับ

    คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ เป็นแนวทางการทำงานที่พระพุทธองค์ได้ทรงสดับไว้อย่างแยบคาย อันประกอบด้วยแนวปฏิบัติ ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขั้นตอนจะมีความต่อเนื่องสนับสนุนและเชื่อมโยงกันทั้ง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้

    • ฉันทะ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ
    • วิริยะ ความมุ่งมั่นทุ่มเท
    • จิตตะ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ
    • วิมังสา การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา
    ขยายความ

    • ฉันทะ คือ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ
    ข้อนี้เป็นกำลังใจจุดแรก ที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ
    การมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก ไม่ใช่ทำใจให้รักเพื่ออะไรสักอย่าง หรือ ห้ามใจไม่ให้รัก มันก็ยากยิ่งพอๆกัน เพราะรักดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความรักความศรัทธาของเราจริงๆ ขืนทำไปก็มีแต่จะทุกข์ทรมานแม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังแล้วก็ตาม ประการสำคัญเป็นการแอบแฝงมาจากความคิดอื่นศรัทธาอื่นหรือความเป็นอื่นที่เรา พยายามหาเหตุและผลมาอธิบายว่า มันคือสิ่งเดียวกันเพื่อให้สามารถดำเนินไปได้หรือเพื่อให้ตัวเองสบายใจที่ สุด แต่ถ้าเรามีใจศรัทธาอันแรงกล้าแล้ว พลังสร้างสรรค์ก็จะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างมหัศจรรย์ทีเดียว
    "เราจะสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?"
    พระพุทธองค์เคยสอนไว้ ว่า มนุษย์เราต้องเลือกที่จะศรัทธาบางอย่าง และหมั่นตรวจสอบศรัทธาของตัวเองว่าดีต่อตัวเองและดีต่อผู้อื่นอันรวมถึง สังคมโดยรวมหรือไม่ เมื่อดีทั้งสองอย่างก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็จงเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ ซึ่งเราต้องเลือก ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนที่สับสนไม่มีแก่นสาร เมื่อเป็นคนไม่มีแก่นสารก็จะถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ดีได้ง่ายนั่นเอง
    หากจะฝึกฝนตนเอง อาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราศรัทธาอะไรอยู่ เพราะคนเราเมื่อศรัทธาอะไรก็จะได้พบกับสิ่งนั้นเข้าถึงสิ่งนั้น เพราะความศรัทธานำมาซึ่งมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ เราศรัทธานั่นเอง ขณะเดียวกันก็ลองตรวจสอบตัวเองดูว่าสิ่งที่เราศรัทธากับสิ่งที่องค์กรของเรา ศรัทธานั้นตรงกันหรือไม่ หากตรงกันก็เรียรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนหรือหากไม่ตรงกันก็เรียนรู้ที่จะให้ โอกาสตัวเองไปสู่แห่งที่ที่เหมาะสมกว่า

    • วิริยะ คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเท
    เป็น ความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ ที่จะเรียนรู้และทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้นเรื่องนั้น ถ้าหากกระทำก็จะทำจนเชี่ยวชาญจนเป็นผู้รู้ ถ้าหากศึกษาก็จะศึกษาให้รู้จนถึงรากเหง้าของเรื่องราวนั้นๆ ดังนั้น คำว่า "วิริยะ" จึงหมายถึงความเพียรพยายามอย่างสูงที่จะทำตามฉันฑะหรือศรัทธาของตัวเอง
    วิริยะนี้มาคู่กับความอดทนอดกลั้น เป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นำใจ และเตือนใจ

    "ความวิริยะมันเกิดจากอะไร?"
    คำตอบก็คือ "เกิดจากศรัทธาหรือฉันทะนั่นเอง" และเป็นศรัทธาที่มั่นคงด้วยไม่ว่าจะมีอุปสรรค์ใดๆมากระทบก็ตามก็จะไม่ เปลี่ยนแปลง แต่อาจปล่อยวางหรือวางเฉยในบางเวลาบางสถานการณ์บ้าง เพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า ความวิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตายหรือต้องให้ได้เสมอ แต่มันคือความแยบยลและเลือกที่จะทำบางอย่างเพื่อรักษาศรัทธาไว้หรือเพื่อรอ วาระที่เหมาะสม
    ถ้าจะฝึกฝนเรื่องความวิริยะแล้วคงต้องเริ่มจากความคิดที่ว่า ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองบ่อยๆ หมั่นทำหมั่นคิดหมั่นเขียนหมั่นนำเสนอและอย่าขี้เกียจ อย่ากลัวความผิดพลาดและจงกล้าแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของตัว เอง อย่าท้อต่องานหนักและงานมากให้คิดว่าทำมากรู้มากเก่งมากขึ้น อย่าบ่นว่าไม่มีเวลาเพราะเวลามีเท่าเดิม


    • จิตตะ คือ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ
    เมื่อ มีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตามมา เราก็จะมีความรอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆด้วยใจที่จดจ่อตั้งมั่นและใฝ่เรียนรู้ของ เรา เมื่อมีความรอบรู้มากขึ้นก็จะเกิดความรอบคอบตามมา เมื่อมีความรอบคอบแล้วการตัดสินใจทำอะไรก็จะเกิดความผิดพลาดน้อยตามไปด้วย
    ความรอบคอบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่รอบรู้ ดังนั้น การที่คนจะรอบรู้ได้นั้น ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นเนื่องนิจ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสืออย่าให้ขาดและหลากหลายโดยไม่ยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประการสำคัญต้องฝึกตั้งคำถามกับตัวเองกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว เราพร้อมกับค้นหาคำตอบให้ได้ การฝึกสนทนากับผู้รู้บ่อยๆก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่เข้าใกล้ความรอบรู้ไปโดยปริยาย
    เมื่อเราเข้าใกล้ความรอบรู้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะวิเคราะห์สังเคราะห์เนื้อแท้ของเรื่องราวนั้นๆ ออกมาสู่การตัดสินใจของหมู่คณะหรือแม้แต่เรื่องส่วนตัวของเราเอง ดังนั้น ความรอบคอบจึงแฝงไปด้วยความรอบรู้ตามสภาพจริงของมัน อันเป็นแนวปฏิบัติที่คนรุ่นใหม่ต้องสร้างให้เกิดเป็นนิสัยแก่ตนเอง
    ความรอบคอบนอกจากจะดำรงอยู่คู่กับความรอบรู้แล้ว ยังต้องอาศัยความดีงามเป็นเครื่องเตือนสติด้วย ถึงจะสามารถใช้จิตของเราพินิจพิจารณาและตรึกตรองในเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆนั้น ได้อย่างเหมาะสม เพราะความดีงามตามแบบอย่างของคุณธรรมตามหลักศาสนาและจริยธรรมของสังคมนั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุข

    • วิมังสา หมายถึง การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา
    เกิดจาก การมีใจรัก (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดใจจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ จึงนำไปสู่การทบทวนตัวเอง และทบทวนในสิ่งที่ได้คิดสิ่งได้ทำผ่านมาว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเองและเป็นเรื่องที่ร่วมคิดร่วมทำกับคนอื่น เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

    ในการวิจัยและการพัฒนานั้นเรามักจะใช้คำว่า "สรุปบทเรียน" เป็นการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูว่าสิ่งที่คิดและทำมานั้นมันดำเนินไปในแนวทางที่วาดหวังหรือไม่ หรือว่าคิดไว้อย่างทำอีกอย่าง หรือคิดไว้แต่ไม่ได้ทำเลย หรือทำไปแล้วแต่ไม่ได้อย่างที่มุ่งหวัง ทั้งนี้จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ที่มันสำเร็จมันเป็นเพราะอะไร และที่มันล้มเหลวมันเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขหรือหาทางหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
    การสรุปบทเรียนนั้น คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า สรุปเมื่องานเดินทางมาได้ครึ่งทางหรือสิ้นสุดการทำงาน หรืออย่างดีที่สุดมีการทำแผนงานรายไตรมาส คือทุก 3 เดือน จึงสรุปบทเรียนครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วการสรุปบทเรียนควรจะทำให้อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการพูดคุยกันหลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมทุกครั้ง หรือหลังเลิกงานแต่ละวัน หรือใช้วิธีการแบบไม่เป็นทางการ เพื่อสรุปบทเรียนของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด หรือพูดคุยกับตัวเองบ้าง แต่ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงที่รู้สึกว่างและปลอดโปร่งจากเรื่องราวทั้ง ปวง ซึ่งควรทำให้เป็นนิสัย

    ดังนั้น "อิทธิบาท 4" จึงมีความหมายกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเดินทางไปในสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงาน เพราะหากทำได้ตามกระบวนความแล้ว สังคมความรู้ ชุมชนความรู้ และปัจเจกชนความรู้ คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ประการสำคัญ "อิทธิบาท 4" ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวจากหลักธรรมข้ออื่นๆอันเป็นองค์รวมและเชื่อม โยงถึงกัน เพียงแต่อธิบายคนละบทบาทเท่านั้น สิ่งสำคัญ เราได้ใคร่ครวญในเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เพราะ ในโลกปัจจุบัน โลกที่สั่งสมอวิชชามามากจนเกินล้น จึงกลายเป็นโลกที่ฉาบฉวยและวุ่นวายสูงสุด นั่นแปลว่าเราต้องฝึกฝนตนเองหลายเท่าตัวเพื่อจะเข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมที่ ก่อกำเกิดการพัฒนาที่จุดเริ่มต้นของตนเองอย่างแท้จริง
    เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่


    เครดิต : http://www.learntripitaka.com/scruple/Itibaht4.htmlเครดิต : เว็บบอร์ด พลังจิต ดอทคอม
     
  16. veget_1

    veget_1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    75
    ค่าพลัง:
    +1,006
    อนุโมทนาบุญด้วยครับ..สาธุ
     
  17. ๏VIOS๏

    ๏VIOS๏ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    7
    ค่าพลัง:
    +0
    อ่านแล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้เลยนะครับ

    ขออนุโมทนา ครับ
     
  18. poonpoon55

    poonpoon55 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 กันยายน 2007
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +0
    ขอบคุณธรรมดีๆที่มอบให้ครับ
     
  19. makcloud

    makcloud เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มกราคม 2009
    โพสต์:
    424
    ค่าพลัง:
    +535
    ผมอ่านแล้วและจะปฏิบัติตามครับ
    ขอบคุณครับ
     
  20. VikingsX

    VikingsX ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    700
    ค่าพลัง:
    +4,668
    อนุโมทนา สาธุ...
    อนุโมทนา สาธุ...
    อนุโมทนา สาธุ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...