อิทธิพลของสื่อออนไลน์กับมาตรการคุมเข้มของ-คปค.

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 กันยายน 2006.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,488
    'อิทธิพลของสื่อออนไลน์'กับมาตรการคุมเข้มของ-คปค.

    อิทธิพลของสื่อออนไลน์ กับมาตรการคุมเข้มของ คปค.

    เมื่อปี่กลองเพลงปฏิวัติเริ่มบรรเลงกลางดึกคืนวันที่ 19 ก.ย.2549 ที่ผ่านมา ข่าวการรับข้อมูลหลักอย่างวิทยุและโทรทัศน์ก็เข้าสู่โหมดเดียวกันหมด สร้างความงุนงงให้กับประชาชนที่กำลังนั่งอยู่หน้าจอทีวี หรือฟังวิทยุขณะขับรถกลับบ้านโดยทั่วกัน

    โทรศัพท์มือถือ โปรแกรมแชตต่างๆ และอินเทอร์เน็ตจึงแปรสภาพกลายเป็นเครื่องมือหลักของประชาชนในการพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเว็บไซต์มีการตั้งกระทู้สอบถามข้อมูล และแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าเมื่อข่าวสารยังคลุมเครือ การส่งต่อข้อมูลบนโลกไซเบอร์สเปซ หรือแม้แต่การพูดคุยกันแบบปากต่อปากผ่านโทรศัพท์มือถือจึงเต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวปล่อย รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อนสำหรับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ในเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะที่มีเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

    โดยรายงานจากทรูฮิตระบุว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมียอดการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทันทีเกือบ 400% !!! เพราะว่าสื่ออย่างทีวียังถูกปิดกั้นอยู่

    และจนเมื่อมีความชัดเจนในช่วงเที่ยงคืนว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ควบคุมสถานการณ์แล้ว เว็บไซต์ต่างๆ ก็เริ่มทยอย เซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น ชุมชนไซเบอร์ยอดฮิตอย่าง "พันทิปดอทคอม" ดำเนินการปิดห้องราชดำเนิน หรือ "สนุกดอทคอม" ที่ปิดการตั้งกระทู้โดยสิ้นเชิง

    ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้ชัดเจนถึงความสำคัญของอินเทอร์เน็ตในฐานะสื่อใหม่ที่ทรงพลัง และเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภายหลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว คณะปฏิรูปฯจะต้องเข้ามาควบคุมสื่อออนไลน์ด้วย จากเดิมที่ปฏิบัติการรัฐประหารในอดีตจะเน้นการยึดกุมสถานีโทรทัศน์และวิทยุในฐานะจุดยุทธศาสตร์เท่านั้น

    แต่ปัจจุบันสื่อออนไลน์กลายเป็นช่องทางการการเข้าถึงประชาชนแบบไร้ขีดจำกัด นอกจากนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ต่อต้าน ที่พยายามสร้างความวุ่นวายขึ้นมา

    วันที่ 20 ก.ย. 2549จึงมีคำสั่งจากคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 5 ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินการควบคุมยับยั้งสกัดกั้นและทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวงที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    โดยมอบหมายให้ นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ควบคุมและกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และผู้ดูแลเว็บไซต์ (web master) ในการเสนอข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความ "ไม่สงบเรียบร้อย" และ "ความขัดแย้งในบ้านเมือง" ได้อย่างเข้มงวดและรีบด่วน

    ก่อนที่จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลของปลัดไอซีทีให้ดูโทรทัศน์ วิทยุ และโทรศัพท์มือถือเพิ่มเติมในวันที่ 21 ก.ย. 2549 ด้วย

    พลันที่ได้รับคำสั่ง นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ก็จัดการเรียกผู้ประกอบการอิน เทอร์เน็ต, ผู้ดูแลเว็บ, ผู้ให้บริการมือถือ, สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุต่างๆ มาประชุมร่วมกัน เพื่อแจ้งต่อที่ประชุมถึงแนวทางของไอซีทีในการ กำกับดูแลเว็บไซต์ว่า ต้องการขอความร่วมมือ

    ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต, เว็บมาสเตอร์ในการดูแลการตั้งกระทู้ หรือโพสต์ข้อความที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกในสังคม

    "เราไม่ถึงขนาดปิดกั้นไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เว็บมาสเตอร์ต้องควบคุมดูแลด้วย เพราะบางความคิดเห็นก็ไม่สร้างสรรค์ ให้ช่วยลบให้หน่อย แนวทางปฏิบัติคือเราให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหมือนเดิม แต่คนโพสต์ข้อความ และเว็บมาสเตอร์ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำด้วย เช่น ถ้ามีข้อความไม่เหมาะสมก็อาจต้องปิดเว็บเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้วัน เป็นต้น ส่วนคนโพสต์ข้อความก็อาจเชิญไปสอบถามถึงแรงจูงใจ หรือเหตุผลในการโพสต์ข้อความนั้น นอกจากนี้การกลั่นกรองข้อความควรหลีกเลี่ยงการพาดพิง หรือพูดถึงสถาบัน และกระทบต่อความสงบมั่นคงของประเทศด้วย เพราะเว็บไซต์เป็นเจ้าบ้าน คนโพสต์เป็นลูกบ้าน เจ้าบ้านต้องดูแลลูกบ้าน เพราะขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ" นายไกรสรกล่าว

    ความเหมาะสมของเนื้อหาว่าข้อความแบบใดโพสต์ได้ ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเว็บมาสเตอร์ ซึ่งประเด็นนี้เล่นเอาบรรดาเว็บมาสเตอร์ปวดหัวไปตามๆ กัน โดย "วันฉัตร ผดุงรัตน์" ผู้บริหารเว็บไซต์ "พันทิปดอทคอม" ตั้งข้อสังเกตว่า การให้ผู้ประกอบการกลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ตามวิจารณญาณของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป จะทราบได้อย่างไรว่า วิจารณญาณของใครสอดคล้องกับวิจารณญาณของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนายไกรสรไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ซึ่งก็เป็นเหตุให้บรรดาเวบไซต์ทั้งหลายอาจจะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดที่สุดไปก่อน

    "ช่วงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราปิดห้องราชดำเนินตั้งแต่ตี 2 และห้ามการตั้งกระทู้การเมืองในโต๊ะอื่นๆ เพื่อป้องกันการสร้างความแตกแยก ซึ่งการปิดของเรานั้นไม่ได้มีคำสั่งจากใคร แต่เป็นการปิดด้วยตัวเอง" นายวันฉัตรกล่าว

    ขณะที่ "นายปรเมศร์ มินศิริ" ผู้บริหารเว็บไซต์ "กระปุกดอทคอม" กล่าวว่า ภารกิจแรกของเว็บมาสเตอร์ขณะนี้คือการเตือนผู้บริโภคก่อนว่าให้ระมัดระวังการตั้งกระทู้ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และอาจเป็นภัยแก่ตัวเอง ขณะที่ตัวเว็บมาสเตอร์เองก็มีการกลั่นกรองดูแลกันเองอยู่แล้ว

    ด้าน "นายบัณฑิต ว่องวัฒนสิน" กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด (ISSP) ให้ความเห็นว่า บทบาทของสื่อทางเลือกอย่างอินเทอร์เน็ตมีสูงมาก เพราะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และมีความรวดเร็ว ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลอะไร เพราะตามธรรมชาติของสื่ออินเทอร์เน็ตไม่มีความเป็นกลาง มีการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เช่น เว็บของคนรักและคนไม่ชอบทักษิณ เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นจึงเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองของเว็บไซต์ฝ่ายทักษิณ ที่เหลืออยู่ก็มีแต่คนที่เห็นด้วยกับการปฏิวัติทั้งนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปควมคุม และถึงต้องการควบคุมก็คุมไม่ได้แน่นอน

    ขณะทีการควบคุมดูแลวิทยุ โทรทัศน์ และการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือนั้น คณะปฏิรูปฯก็มีมติ ให้งดการส่ง SMS, MMS หรือตัววิ่ง และงดการโทรศัพท์จากทางบ้านเข้ามาแสดงความเห็นผ่านรายการโทรทัศน์และวิทยุโดยสิ้นเชิง ขณะที่ ผู้ให้บริการข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือต้องใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ด้วย หากไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบความถูกต้องกับกระทรวงไอซีทีก่อนเผยแพร่ข่าว

    และสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามข้อมูลประกาศและคำสั่งของคณะปฎิรูปฯก็ให้ติดตามได้ที่ www.ict.go.th





    ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
    http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0109250949&day=2006/09/25
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...