เรื่องเด่น อุบายบรรเทาความวิปโยค พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 21 กันยายน 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    อุบายบรรเทาความวิปโยค


    พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก)

    วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

    [​IMG]


    นับเป็นบุญกุศลราศีอันดียิ่งของท่านทั้งหลายที่ได้ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านได้กระทำมาแล้วเป็นอันดี


    จึงจัดได้ว่าเป็นความกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ เป็นธรรมเครื่องหมายของคนดี อันดับต่อไป จักได้แสดงถึงเรื่อง "ความตาย" ขอยกเอานึกเขปบทเบื้องต้นนั้นว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งมวล ย่อมต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ! กาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไม่มีเวลาหยุด ย่อมนำชีวิตสัตว์ทั้งหลาย หมดไปสิ้นไปตามกาล มนุษย์เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีความชรา ความแก่เฒ่า ขับไล่ไปอย่างเงียบ ๆ ในที่สุด ก็ต้องแตกสลายย่อยยับ เข้าไปสู่อำนาจแห่งความตาย ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง หรือต่อสู้แต่ประการใด ๆ แม้พระพุทธชินวรเจ้าของเราทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ประกอบด้วยความประเสริฐสุด คือ พระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ เมื่อถึงคราวแห่งจุดจบของชีวิต พระองค์ก็ต้องเข้าสู่พระปรินิพพานเหมือนกัน....


    เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลาย ควรพิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ความตายเป็นของธรรมดา เป็นธรรมชาติล้วน ๆ จึงไม่ควรเศร้าโศกเสียใจ พิไรรำพันให้เสียกำลังใจ


    เตรียมตนก่อนตาย


    ญาติโยมทั้งหลาย เราควรนึกถึงตัวเราว่า จักต้องตายเหมือนกันอย่างนี้ ! ควรสังเวชและสลดใจ แล้วหันมาประกอบขวนขวายทำแต่คุณงามความดีแต่ต้นมือ....เมื่อมีผู้อื่นตายอย่างนี้ จึงเป็นโอกาสดี และเหมาะสมที่สุด ที่เราจักได้พิจารณา นึกคิดถึงตัวเรา แล้ว จงเตรียมตัวให้พร้อมก่อนหน้าความตายที่ยังไม่ทันถึง นะโยมทั้งหลาย อันนี้แหละเป็นทางที่ถูกต้องที่ดี มีความเข้าใจ เมื่อถึงคราว จะได้มีความอดกลั้น บรรเทาความวิปโยคโศกเศร้าไปได้


    พวกเราทั้งหลาย ทั้งชายและหญิง และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เคยได้ยินได้ฟังธรรมะของสัตบุรุษผู้ดีมามากซ้ำยังได้อบรมบ่มนิสัยมาดี จงมีจิตใจตั้งมั่น ทำจิตใจว่าง เสียจากความยึดถือว่า...ตัวกู ของกู โดยเฉพาะ ท่านก็ได้เจริญภาวนากรรมฐาน จงนึกถึงความตาย ด้วยจิตใจซาบซึ้ง ติดเป็นนิสัยเสียเถิด จึงจะได้ชื่อว่า เป็นบุคคลที่มีสติปัญญา พิจารณาจนมองเห็นความเป็นจริง จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ด้วยประการใด ๆ ฉะนั้น ควรที่ญาติโยมทั้งหลาย จงถือเอาเป็นคติสอนจิตใจตนเอง เราชาวพุทธ ควรพิจารณาให้รอบคอบ จะทำอะไร ขอให้มีสติ มีปัญญา ควบคู่กันไป


    อาตมาได้แสดงพระธรรมเทศนา อันเป็นเหตุแห่งความตายมาพอสมควรแก่เวลา เอวํ.....ก็มีด้วยประการฉะนี้


    ใจของเรามันเคยอยู่ในกรงนอกจากนี้แล้ว ในกรงเดียวกัน มันยังมียักษ์มาร คอยอาละวาดอยู่ทุกเวลา (กิเลส) ฉะนั้น เราต้องฝึกจิตฝึกใจของเรา ที่อยู่ในกรงนั้น จนแก่กล้า....ไม่หวาดหวั่นกับยักษ์มารอีกต่อไป....


    นึก ๆ ดู ก็เหมือนนักโทษตลอดชีวิต ที่ได้แอบหนีออกจากคุกตะรางซึ่งถูกกักขังมาตั้งหลายสิบปี นี่นับว่าเป็นโชคดีของเรา ที่เราจะได้ปฏิบัติดำเนินตามรอยบุคลบาทของพระพุทธองค์ ทันใดนั้น จิตใจก็เต็มตื้นไปด้วยปีติ เกิดขึ้นท่วมท้นหัวใจ


    ลำดับแห่งการปฏิบัติธรรม


    จัดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่คุณโยมทั้งหลาย มีความสนใจในธรรมะ บางคนก็สละเวลาอันมีค่าได้พากันเดินทาง มาจากกรุงเทพมหานคร เพื่อแสวงบุญ แสวงหาโมกขธรรม คือธรรมที่พ้นจากทุกข์ เป็นบรมสุขในพระพุทธศาสนา ธรรมะที่จะให้พ้นจากทุกข์จะให้ได้ถึงบรมสุขที่ถึงพระนิพพาน พระพุทะองค์ได้ทรงตรัสเทศนาไว้หลายประการ โดยเฉพาะก็คืออัฏฐังคิกมรรค มรรคมีองค์แปด ย่อลงมาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา


    สำรวมดี คือมีศีล


    ศีล คือการสำรวม รักษากาย รักษาวาจาให้เรียบร้อย ให้สงบเสงี่ยม ให้บริสุทธิ์สะอาด การที่บุคคลมาสำรวม รักษาศีล ด้วยรักษากาย วาจา ของตนให้เป็นปกติภาพ ให้สงบระงับเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีโทษที่จะเกิดแก่กาย วาจา จัดว่าเป็นศีล


    ศีลมีอยู่ที่กาย วาจา ศีลไม่มีที่อื่นหรอก มีอยู่ที่กาย วาจาของเรา ที่เราได้สำรวม รักษา ชำระให้บริสุทธิ์สะอาดแล้ว ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นศีล ศีลอยู่ในตัวของเรา


    สติดี สมาธิมั่นคง


    ทีนี้ สมาธิ คือความตั้งใจมั่น ความตั้งใจมั่นก็อยู่ในตัว หรืออยู่ในสันดานของเรา บุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะระลึกได้ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะคู้ จะเหยียด จะเหลียวซ้าย แลขวา จะกระดุกกระดิก พลิกแพลงไปมา แห่งกายของเรา หรือรูปของเรา ก็มีสติกำหนด รู้สึกตัว กระทั่งถึงหายใจเข้าออกก็มีสติกำหนดลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ยาวก็รู้ สั้นก็รู้


    อีกประการหนึ่ง ก็กำหนดความเคลื่อนไหวของจิตใจ หรือของลม เราหายใจเข้า ความเคลื่อนไหว อยู่ที่ท้องของเรา จะรู้สึกว่าท้องมันพองขึ้นมา ก็มีสติ กำหนดว่า พองหนอ หายใจออก ท้องของเรายุบลงไป ก็มีสติกำหนดจดจำที่ท้องของเราว่า ยุบหนอ เอาสติไปผูกไว้ที่ท้อง ถ้ากำหนดหายใจเข้าออกยาวสั้น เอาสติไปผูกไว้ที่ปลายจมูกของเรา กำหนดไป ๆ นี่เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 21 กันยายน 2012
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    เทวธรรมนำสุข


    จากนั้น ให้มีความนึก ความคิด ให้เป็นไปในหิริโอตตัปปะ คือ ให้มีความละอาดต่อบาป ให้มีความเกรงกลัวต่อบาป ขึ้นชื่อว่า บาป หรือ อกุศลแล้ว แม้เล็กน้อยเท่าไร ก็ให้มีความละอาย มีความเกรงกลัวเป็นที่สุดตลอดจนให้นึกถึง ผลของบาปที่ผู้ทำบาปแล้ว จะต้องได้รับ ต้องเสวยผล อันนี้เป็นเทวธรรม เป็นธรรมของเทวดา เป็นธรรมะที่จะทำให้บุคคลเป็นเทวดา


    หิริโอตตัปปะ อย่าเข้าใจว่าเป็นธรรมะเล็กน้อย เป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง


    หิริโอตตัปปะ สองประการนี้ เป็นโลกบาล เป็นธรรมที่คุ้มครองโลกไว้ โลก คือ จิตของเรา เมื่อบุคคลผู้ใด มีหิริโอตตัปปะอยู่ในจิตในใจเป็นประจำแล้ว แน่นอน ที่ไม่ต้องไปตกนรก เพราะธรรมะสองประการนี้คุ้มครองไว้ เป็นของแน่นอนที่ว่า บุคคลผู้ไม่ทำบาป ผู้มีความละอาย ความเกรงต่อบาปแล้ว บาปก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อบาปไม่เกิดขึ้น ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ทั้งกาย วาจา ใจแล้ว นรกในปัจจุบันก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี ไม่มีนรก เพราะบุคคลผู้นั้นมีเทวธรรม คือธรรมของผู้ดี ผู้มีอารมณ์เลิศ จะอยู่ที่ไหน จะเป็น จะตาย จะอุบัติเกิดขึ้นในที่ใด ๆ ก็ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปทั้งนั้น


    สำรวมอินทรีย์


    จากนั้น ก็ให้สำรวมอินทรีย์ทั้งหก โดยกำชับใช้สติ ระมัดระวังอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


    อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ อินทรีย์ทั้งหกนี่ เป็นใหญ่ในตัวของเรา อาทิเช่น ตาเป็นใหญ่ ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทวาร ทวารทั้งหก ทวารคือประตู หรือทวารคือช่องทาง ช่องทางทั้งหกคือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายา มโน บาปมันจะเกิด ก็เกิดขึ้นที่อินทรีย์ หรือทวารทั้งหกนี้ บุญมันจะเกิด ก็เกิดขึ้นที่ทวารทั้งหกนี้ เหตุอะไร ๆ ดีหรือชั่ว มันจะเกิด ก็เกิดขึ้นที่นี่ มันจะดับ ก็ดับที่นี่ ฉะนั้น การสำรวมอินทรีย์ทั้งหก จึงจัดว่าเป็นการดี เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่จะให้ศีลบังเกิดขึ้น


    ศีลเป็นเยี่ยม


    ข้อต่อไปก็คือศีล ดังได้กล่าวแล้ว ศีลคือปกติภาพแห่งกาย วาจา บุคคลผู้แสวงบุญ บุคคลผู้แสวงหาโมกขธรรม คือธรรมพ้นทุกข์ ต้องมั่นใจ ต้องเลื่อมใส ต้องเชื่อว่าศีลนี่ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นเยี่ยมในโลกนี้ ดังพระพุทธองค์ท่านตรัสว่า สีลํ โลเก อนุตฺตรํ ศีลคือปกติภาพแห่งกาย วาจาเป็นเยี่ยมในโลกนี้ เยี่ยมอย่างไร ? โยมทั้งหลาย ผู้ใดมีศีลแล้ว ย่อมจัดว่าเป็นคนดี จะเป็นที่นิยมนับถือของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีศีลแล้ว จะมิได้ไปตกนรกทั้งนรกในปัจจุบัน และนรกในชาติหน้า


    พื้นฐานของสมาธิ


    เมื่อบุคคลผู้ใด มาตั้ง สติสัมปชัญญะ คือรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ มีความระลึกได้ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ มีหิริโอตตัปปะละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปอยู่เสมอ มีความสำรวมอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา มีศีลบริสุทธิ์การทำอะไร การพูดอะไร ตั้งอยู่ในปกติอันดี เป็นสุภาพชน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นความดี ความชอบ ที่ผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นเบื้องต้นจักได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ประมาทในปฏิปทา อันเป็นเครื่องดำเนินของจิตใจ ที่จะให้ได้ ซึ่งสมมติธรรมจะให้ได้ซึ่งวิปัสสนาปัญญา อันเป็นทางพ้นทุกข์ต่อไป เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีสติ มีหิริโอตตัปปะ มีความสำรวมอินทรีย์ดี มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ก็จัดว่า ได้สร้างหลักฐานหรือพื้นฐาน อันบริสุทธิ์สะอาดขึ้น ให้เป็นบาทของสมาธิ หรือสมถภาวนาต่อไป


    ก่อนจะเป็นสมาธิ


    สมถภาวนา คือการเอากรรมฐานบทใดบทหนึ่ง เป็นต้นว่าพุทโธ พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก หรือพองหนอ ยุบหนอ เป็นอารมณ์อยู่อย่างนั้น มีกำหนดพองหนอ ยุบหนอเป็นอารมณ์ หรือ กำหนดหายใจเข้า หายใจออก ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ เป็นอารมณ์ คือเป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ อยู่ตลอดเวลาแล้ว เมื่อทำไป ๆ ด้วยการมีสติคอยกำหนด พร้อมกับมีความรู้ ความเห็น ประจักษ์ในการปฏิบัติคือชอบซึ่งการปฏิบัติธรรม ทำไป ๆ นานเข้า ๆ จิตของเราก็จะใส ใจของเราก็จะบริสุทธิ์ขึ้น จากนั้น ปราโมทย์ คือความร่าเริง บันเทิงใจก็จะเกิดขึ้น จะรู้สึกร่าเริงบันเทิงใจ เมื่อปราโมทย์ คือความร่าเริงบันเทิงใจเกิดขึ้นแล้ว จากนั้น ปีติ คือความอิ่มใจ ก็จะเกิดขึ้น จะรู้สึกอิ่ม - เต็มใจ คือความรู้สึกที่เราได้มาเจริญกรรมฐานภาวนา อิ่มอย่างไร บอกกันไม่ถูก ไม่ใช่อิ่ม อย่างที่เรารับประทานอาหารที่นี้มันอิ่มอก อิ่มใจ


    เมื่อปีติ ความอิ่มใจเกิดขึ้นแล้ว ปัสสัทธิ ความสงบระงับของกาย ของใจ ของเราก็จะเกิดขึ้น จะรู้สึกทั้งกาย ทั้งใจสงบระงับ ไม่มีการกระดุกกระดิกพลิกแพลงอะไร เมื่อปัสสัทธิ ซึ่งเป็นองค์ธรรมเกิดขึ้น ๆ แล้ว สุขะ คือความสบายของกาย ของใจ ก็จะเกิดขึ้น เราจะรู้สึกสบาย ทั้งกาย ทั้งใจของเรา รู้สึกว่า ตั้งแต่เราเกิดมา ไม่เคยเจออย่างนี้ รู้สึกสบายเป็นที่สุด นี่คือความสุข สุขกาย สุขใจจะเกิดขึ้น เมื่อสุขะ คือความสบายกาย สบายใจ เกิดขึ้นแล้ว เราจะรู้สึกเยือกเย็น เย็นเฉื่อย ใจของเรา เมื่อสุขเกิดขึ้น ๆ สมาธิ คือความตั้งใจมั่น ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้น ก่อตัวขึ้น ก่อขึ้น ใจของเราก็จะบริสุทธิ์ ใจของเราจะสะอาด ต่อจากนั้น ใจของเราจะหยุดตั้งมั่น นี่คือตัวสมาธิ


    สมาธิดับนิวรณ์


    เมื่อใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว นิวรณ์ทั้งห้า คือธรรมที่กั้นจิตของเราไว้ ไม่ให้รู้แจ้งเห็นจริงกันจิตของเราไว้ ไม่ให้บรรลุความดี คือ


    กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ต่าง ๆ จะหายไปจากจิตจากใจ


    พยาปาทะ พยาบาท คือความปองร้ายคนอื่นก็จะหายไป ความโกรธก็จะหายไปด้วย


    ถีนะมิทธะ คือความง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนก็จะหายไป จะรู้สึกสว่างไสว ไม่ง่วงนอน ถ้าถีนะมิทธะยังไม่หาย มันจะง่วง มันจะสัปหงก ที่นี้เมื่อสมาธิเกิดขึ้น ถีนะมิทธะจะสงบระงับก็จะหายไป ๆ


    อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ก็จะสงบระงับไป


    วิจิกิจฉา ความสงสัย ลังเลใจ ในคุณของพระรัตนตรัย และในศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ ก็จะหายไปจากจิตจากใจ จิตใจของเรา ที่ถูกหุ้มห่อด้วยนิวรณ์ธรรม ถูกกีดกัน ไม่ให้เราได้บรรลุความดีนั้น ก็จะสว่างไสวขึ้น เหมือนหม้อไห ที่สมัยแต่ก่อนมีฝาปิดบังไว้ ถ้าจิตของเราเป็นสมาธิแล้วกิเลส คือนิวรณ์ธรรมก็จะเปิดออกจากจิตจากใจของเรา เหมือนเราเปิดฝาหม้อฝาไหออกไป ฉันใดก็ฉันนั้น อะไรมีอยู่ในหม้อในไหก็จะเห็นได้ชัดดี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 21 กันยายน 2012
  3. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    องค์ของสมาธิ


    เมื่อจิตของเรามีสมาธิ คือ จิตบริสุทธิ์สะอาด เรียกว่า ปริสุทโธ เป็นอันดับหนึ่ง จิตตั้งมั่นเป็นสมาหิโต เป็นอันดับสอง จิตคล่องแคล่ว จะนึก จะคิด อารมณ์อันใดเกี่ยวกับกรรมฐานภาวนาแล้ว ย่อมคล่องแคล่วเรียกว่า กัมมนิโย


    ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนิโย ทั้งสามนี้ เรียกว่าเป็นองค์ของสมาธิ เมื่อสมาธิประกอบด้วยองค์ดังกล่าวแล้ว เราก็จะมีความรู้ ความเห็น ขึ้นในจิตในใจ รู้นึกรู้คิดสภาวธรรม คือตัวเรา ใจเรา หรือ รูป - นาม ว่าเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน เป็น ทุกขัง คือเป็นสิ่งที่ทนได้ยาก ไม่ตั้งอยู่ตามสภาพเดิม โลกของเราตั้งอยู่ เป็นอย่างนี้ ๆ เป็น อนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด ก็จะเกิดขึ้นมีขึ้น ๆ จากสมาธิ อาศัยซึ่งธรรมะทั้งหลายแหล่ ตั้งแต่สติสัมปชัญญะ เป็นเบื้องต้นมา


    สติ และ สัมปชัญญะ นี้ เป็นอัปปมาทธรรม มีอยู่ในผู้ใดแล้ว ผู้นั้นเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ในพระศาสนานี้ เป็นอันกล่าวได้ว่า เมื่อผู้ใดมีสติ สัมปชัญญะแล้ว หิริโอตตัปปะก็จะมีขึ้น เมื่อผู้ใดมีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีอินทรียสังวร เมื่ออินทรียสังวรมีขึ้นแล้ว ศีลสังวรก็จะบังเกิดขึ้น เมื่อศีลมีขึ้นแล้ว บริสุทธิ์ดีแล้ว ก็เป็นทางที่มาแห่งสมาธิ สมาธิคือใจตั้งมั่น ดังที่กล่าวมาแล้วก็จะเกิดมีขึ้น นี่คือเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ ได้แก่ศีล สมาธิ เป็นขั้นที่หนึ่ง ที่สอง


    รู้จริง ทิ้งอุปาทาน


    เมื่อศีล สมาธิ บังเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นได้ซึ่งปัญญา คือ วิปัสสนา สมดังที่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงตรัสไว้ว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ความว่า เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริง ดังนี้ ความรู้ตายเป็นจริง คือ รู้สภาวธรรม ได้แก่ รูปนาม ตัวของเรา ใจของเรา ทั้งหมดนี้ เป็นของไม่จีรัง ยั่งยืน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน นี่เป็นเรื่องของวิปัสสนาปัญญา เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น ๆ แล้ว บุคคลผู้นั้น ก็จะมีความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายในตัวของเรา ในใจของเรา ว่าเป็นของไม่สะอาดเป็นของปฏิกูล


    เมื่อมีความเบื่อหน่ายในตัวของเราแล้ว ใจก็จะคลายจากความยึดมั่น ถือมั่นว่า ตัวกู ของกู อะไร ๆ ก็กูทั้งนั้น ใจจะถอนจากกิเลส ชนิดที่ยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ของกู ลูกกู เมียกู สามีของกู อะไร ๆ ของกู ๆ ออกจากจิต จากใจ ใจก็จะรู้สึกเบา จิตไม่ส่าย เกิดขึ้น ๆ


    เมื่อใจไม่มีความยึดมั่น ถือมั่น ไม่มีความเกาะเกี่ยวเหนี่ยวแน่นอะไร มาผูกพันจิตใจอยู่แล้ว ใจก็จะหลุดพ้น ไปจากกิเลสสวะธรรม คือธรรมที่เศร้าหมอง ธรรมที่หมักดองอยู่ในสันดาน ให้หมดไปสิ้นไป ตามกำลังของวิปัสสนาปัญญา และตามกำลังของอริยมรรค บุคคลผู้ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว จักได้ชื่อว่า เป็นผู้บริสุทธิ์สุดสูงยิ่งกว่าสามัญชน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปิดประตูอบายทั้งสี่ เป็นผู้เปิดไปแล้ว ซึ่งสวรรค์นิพพาน


    จงจำ แล้วทำตาม


    วันนี้ อาตมาได้นำเอาธรรมะเกี่ยวกับลำดับแห่งการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ มาแสดงให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง จึงขอให้ญาติโยมทั้งหลาย จำใส่ใจไว้ เพื่อนำไปนึกไปคิดได้ปฏิบัติตาม ก็จักเป็นผลานิสงส์ อันยิ่งใหญ่ไพศาล สามารถจะนำชีวิตจิตใจทั้งหมดนี้ ให้ได้สำเร็จ ซึ่งมรรคผลนิพพาน เที่ยงแท้แน่นอน อาตมานำเอาธรรมะ ที่เป็นข้อปฏิบัติ เรียกว่า ลำดับแห่งการปฏิบัติธรรม มาแสดงโดยย่อ เพื่อเป็นการสนองเจตนาของญาติโยมทั้งหลาย ที่ได้สละเวลา มานอนแรมพักผ่อน ณ ที่นี้ และได้น้อมนำไทยธรรมมาถวาย


    เมื่อวานนี้ ก็ได้มาถวายแล้วครั้งหนึ่ง บัดนี้วันนี้โยมทั้งหลายก็ได้นำปัจจัยไทยธรรมมาถวายอีก นับเป็นเจตนาอันดี เป็นมหากุศลทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น อาตมาจึงขอแสดงความอนุโมทนาสาธุ กับด้วยญาติโยมทั้งหลาย


    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/kb-bhroma-03.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 21 กันยายน 2012

แชร์หน้านี้

Loading...