อุบายภาวนา หลวงปู่จันทา ถาวโร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย MBNY, 15 พฤศจิกายน 2005.

  1. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,860
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,504
    อุบายภาวนา หลวงปู่จันทา ถาวโร

    อสุภะ
    จากเทปเรื่อง การฝึกจิต (๒๐ ก.ค. ๓๕)



    การเจริญวิปัสสนาค้นคว้าในกาย ขั้นเหตุนั้น จงกำหนดคาดหมายเสียก่อนว่า เป็นอย่างโน้น อย่างนี้ก็เราเคยเห็นมาแล้ว มนุษย์เพื่อนร่วมโลกร่วมสงสาร หญิงชายตายแล้ว เห็นแต่เป็นอย่างนี้ เอาไว้วัน ๒ วัน ไม่ฉีดยา ก็เหม็น เหม็นเบื่อหน่าย เหม็นน่าเกลียด เหม็นมนุษย์ร้ายกว่าเหม็นหมานั่นแหละ ทำไมเหม็นเน่าขนาดนั้น

    จึงว่า อสุภะ อสุภัง เป็นของเปื่อยเน่า เป็นของเหม็น น่าเกลียด เหม็นอย่างสุดยิ่ง นั่นแหละ ปฏิกูลน่าเกลียดสกปรกโสโครก มีหนังหุ้มอยู่ ภายนอกดูเกลี้ยงเกลาหลอกเรา หญิง ชาย หนุ่ม สาว ภายในนั้นมีอะไรบ้าง ดิน น้ำ ลม ไฟ หลายอย่าง เอ็น กระดูก ชิ้นน้อย ชิ้นใหญ่ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ทุกอย่าง อาการ ๓๒ ก็ล้วนแล้วแต่ของปฏิกูลทั้งนั้น

    นั่นแหละ เมื่อเอาของภายในออกภายนอกแล้วเป็นอย่างไร ก็มีแต่ของเปื่อยเน่า มีแต่ของปฏิกูลน่าเกลียดทั้งนั้น นั่นแหละทีนี้ ก็เห็นๆ กันมาอย่างนั้น ถึงแม้เรายังไม่เป็น ยังไม่ถึง คนอื่นก็เป็นมาให้เห็นอยู่ บางคนหญิงชายตายแล้ว เก็บไว้คืน ๒ คืน ก็ส่งกลิ่นเหม็นออกมาแล้ว คืนที่ ๓ เอาไปป่าช้าเปิดหีบออก มันขึ้นสีเขียวหมดแล้ว สีเขียว สีดำ หน้าเบ้ อะไรก็ไม่น่าดู เปลี่ยนสภาพหมด มีกลิ่นเหม็น น้ำเน่าไหลออกจมูก ไหลออกปาก หญิง ชาย โอ๋...น่าเกลียด น้ำเน่านั้น เขาเลิกผ้าออกไปถึงทวารหนัก ทวารเบา น้ำเน่านั้นมันก็ไหลออกจากทวารหนัก ทวารเบา

    แพทย์เขาบอกว่า ผู้หญิงมันเน่าทวารเบาก่อน เหม็นเน่า น่าเกลียด ผู้ชายเน่าที่ท้องก่อน เหม็นเน่าน่าเกลียด ปฏิกูลน่าเกลียด แสนที่จะไม่น่าปรารถนา นั่นแหละ เมื่อถึงสภาพนั้น อะไรเป็นเขา เป็นเรา ก็ถามจิตดู

    เคยเห็นมาแล้ว หลายร้อยศพ ผลสุดท้ายก็เผาหรือฝัง เมื่อเผาแล้วเป็นอย่างไร ก็เหลือแต่ร่างกระดูกขาวๆ นั่นแหละ อสุภะ อันละเอียด จากนั้นไฟก็สังหารเป็นเถ้าถ่านจนหมด ถ้าฝังถมดินไว้ ดินก็ดูดกลืนกินหมด เหลือแต่กระดูกธาตุแข็งเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นชิ้นดีหรอก ของเขา ของเรา เมื่อถึงสภาพนั้นแล้ว สิ่งทั้งปวงก็เป็นอย่างนี้

    นี่เป็นการเดินวิปัสสนาค้นคว้าในสกลกาย ธาตุขันธ์ อสุภะ คือ ความแก่ อสุภะ คือ ความเจ็บ อสุภะ คือ ความตาย นี่เป็นประจำอยู่ทุกธาตุ ทุกสังขาร แต่แล้วถ้าเราไม่พิจารณา ไม่ค้นคว้า มันก็ไม่เห็นของจริง ตามที่พระองค์เจ้าทรงบัญญัติไว้


    กระสอบ ๒ ปาก
    จากเทปเรื่อง ป่าช้า ๙ กอง (๑ ก.ย.๓๓)


    กระสอบนั้น มี ๒ ปาก ในกระสอบนั้น มีอะไรบ้าง บุรุษผู้มีสติปัญญาดี แก้เชือกร้อยกระสอบนั้นออกมีอะไรบ้าง มีถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ งา ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด มันแกว หลายประเภทที่เขายัดอยู่ในกระสอบนั้น บุรุษผู้มีตาดีก็ซอกค้นขุดก่นดูในกระสอบนั้นมีอะไรบ้าง เขาก็เปิดออกดู ก็รู้เห็นทุกสิ่งอย่าง ควรที่เขาจะเลือกคัดจัดสรรของนั้น ไปทำอาหาร เลี้ยงชีวิตและครอบครัวได้ นั่นแหละ ถ้าไม่เปิดออกดู ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อยู่ในกระสอบนั้น

    อันนี้ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายก็น้อมนึกว่า สังขารร่างกายทุกตัวท่านนี้นั้น เปรียบเหมือนกระสอบ ๒ ปากนะ มีอะไรบ้างอยู่ในนั้น มีนานาชนิดนะ

    เกสา คือ ผมทั้งหลาย โลมา คือ ขนทั้งหลาย อันนี้อยู่นอกเป็นขนของกระสอบ
    นขา คือ เล็บทั้งหลาย ทันตา คือ ฟันทั้งหลาย ตะโจ คือ หนัง
    มังสัง คือ เนื้อ นะหารู คือ เอ็นทั้งหลาย อัฏฐี คือ กระดูกทั้งหลาย
    อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ม้าม หะทะยัง หัวใจ ยะกะนัง ตับ กิโลมะกัง พังผืด ปิหะกัง ไต บัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่
    อันตะคุณังไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่ กะสีสัง อาหารเก่า ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ
    เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วะสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย
    สิงฆานิกา น้ำมูก ละสิกา น้ำไขข้อ มุตตัง น้ำมูตร

    มันมีอยู่ในกระสอบ กระสอบเดินได้ หมายถึง ร่างกายของเราทุกท่านนั้นแหละ อยู่ภายในนี้มีครบทุกอย่าง ก็รวมเรียกว่า ธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ นี่เรียกว่า ธาตุกรรมฐาน ก็ควรที่จะแยกแยะออกพิจารณาดู ให้รู้เห็นจนสิ้นสงสัย

    ธาตุโย สุญญะโต ปัสสะ ธาตุกรรมฐานนี้นั้นมันก็สูญอยู่ทุกระยะ จงพิจารณาน้อมนึกให้เห็นอยู่อย่างนั้น มันจึงจะมีสติปัญญา ฉลาดรู้ต่อธาตุกรรมฐาน

    กรรม คือ การกระทำ
    ฐาน เป็นที่อยู่ เป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้ง เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นบ่อนฐานอันดีเลิศประเสริฐ สำหรับที่จะลงมือประพฤติปฏิบัติ อาศัยฐานนี้เป็นมูลฐาน เป็นเป้าใหญ่ สำหรับที่จะสู้รบขบกัดกับพญามัจจุราช ผู้มีอำนาจเสนาใหญ่ แล้วจะได้เปลื้องเครื่องร้อยรัดของพญามัจจุราช ออกจากจิตได้ นั่นแหละ ไม่มีฐานใดที่จะดีเลิศประเสริฐไปกว่านี้

    ฉะนั้น จงพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ให้รู้เท่าทันต่อภพชาติฐานอันนี้ เป็นฐานอันดีเลิศ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนโน้นก็มาตรัสรู้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในฐานอันนี้ มิได้ไปรู้ฐานสิ่งอื่น ก็รู้อยู่ในฐานนี้

    กระสอบมี ๒ ปาก ปากหนึ่งไหลเข้า อีกปากหนึ่งไหลออก ได้แก่ ร่างกายของเราท่านทั้งหลายนี้นั้น นั่นแหละ จงพิจารณามูลฐานนี้เป็นที่ยับยั้งเป้าหมายสู้รบขบกัดกับเจ้าตัวกิเลส สิ่งเป็นเหตุ คือ ข้าศึกใหญ่รบราฆ่าฟัน ทำชาติภพสมบัติสังขารให้ย่อยยับ แตกดับลงนอนทับแผ่นดิน อยู่ทุกภพทุกชาติ ไม่มีวันจบสิ้น อันนี้เป็นมูลฐานใหญ่ ควรจะพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า จะไปพิจารณาอยู่ที่อื่นก็ไม่เห็น ไม่ใช่ทางออกจากโลก

    ทางออกจากโลก ก็อยู่ในมูลฐานนี้ คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้นั้น นั่นแหละ ดวงแก้วอันประเสริฐ เกิดขึ้นที่นี่ ก็เกิดขึ้นที่จิตนี่แหละ เพราะจิตอาศัยมูลฐานนี้มาเจริญสมณธรรมกรรมดี เพื่อว่าจะนำจิตเข้าสู่ความสงบ ดวงธรรมจะเกิดขึ้นจะรู้สว่างกระจ่างแจ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างจากมูลฐานนี้นั้น

    นี่แหละ สังขารร่างกายของเราท่านทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบมี ๒ ปาก ปากหนึ่งไหลเข้า ปากหนึ่งไหลออก มีอะไรบ้างอยู่ในนั้น นั่นแหละ เป็นฐานให้พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ได้พิจารณาให้มันสิ้นสงสัย อันนี้เป็นการฝึกจิตให้มีสติปัญญาฉลาดรู้

    นายโคฆาต
    จากเทปเรื่อง ป่าช้า ๙ กอง (๑ ก.ย.๓๓)


    การฝึกจิตให้มีสติปัญญาฉลาดรู้ ก็ต้องมาพิจารณาร่างกายนี้นั้น เปรียบเหมือน นายโคฆาต นายเพชฌฆาตฆ่าโค เมื่อฆ่าโคลงไปแล้ว เขาก็ปาดหนังไว้กองหนึ่ง หัวไว้กองหนึ่ง กระดูกน้อยใหญ่ไว้อีกกองหนึ่ง ตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ปอด พุง เอาไว้คนละกอง ๆ ชิ้นเนื้อไว้คนละกอง ๆ นั่นแหละ ลูกมือเขาก็แยกแยะเป็นอย่าง ๆ ไป จำหน่ายซื้อจ่ายขายกิน นั่นแหละ เขาก็ต้องทำอย่างนั้น

    ทีนี้ พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ก็จงแยกแยะพิจารณาร่างกาย เปรียบเหมือนตัวโคนะ ใจเปรียบเหมือนนายเพชรฆาตผู้ฆ่าโคนั่นแหละ เราก็ต้องแยกแยะออกเป็นส่วน ๆ ให้มันเป็นอัน ๆ เป็นชิ้น ๆ ให้มันรู้อะไรเป็นอะไร กำหนดแยกแยะออกด้วยการเอามีดถาก เถือ สับ ฟัน นั่นแหละ กำหนดคาดหมายไปเสียก่อนตอนแรก ก็เพื่อว่าเป็นการศึกษา เป็นการฝึกจิตให้รู้ต่อซากโค คือ ร่างกายนี้

    จิต คือเรา เราคือจิต กับสติปัญญาวิชาความรู้นั้น นั่นแหละ สติเป็นผู้ยังจิตให้อยู่กับฐานนั้น ๆ ไม่ลดละ

    เมื่อขยายออก เรียกว่า ปาดออกแล้ว ตกไป จากชื่อว่าโคแล้ว มาเป็นเนื้อของโค กองนั้นเป็นกองตับ กองนั้นเป็นกองปอด กองนั้นเป็นพุงใหญ่ กองนั้นไส้น้อยไส้ใหญ่ กองนั้นศีรษะ กองนั้นหนัง กองนั้นขา เขาเอาไว้เป็นกองๆ เราก็จงพิจารณาแยกแยะ เป็นอย่างนั้น แล้วก็รวบรวมเข้า เรียกว่า โค นั่นแหละ

    เนื้อโคทั้งหมด เมื่อทำลายแยกแยะออกแล้ว กระจัดกระจายออกไปคนละแห่ง ทีนี้จะเอาคืนมาสู่ฐานเดิมให้เป็นตัวโคขึ้นอีก ก็ไม่ได้เพราะถูกทำลายแล้ว

    อันนี้ฉันใด ร่างกายของเราท่านทั้งหลายก็ให้พิจารณาแจ้งชัดเปรียบเหมือนเนื้อโค ที่นายโคฆาตฆ่าแล้ว นั่นแหละ เมื่อมันถูกทำลายลงไปแล้ว หมดภพชาติน้อยใหญ่ ถูกพญามัจจุราช ผู้มีอำนาจเสนาใหญ่สังหารแล้ว ย่อยยับดับสิ้นไปหมดทุกสิ่งอย่าง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นแตกสามัคคีกันแล้ว ก็พลอยที่จะทำงานไปคนละหน้าที่ ต่างคนต่างก็จะไปตามหน้าที่

    ธาตุดิน ก็พลอยที่จะดับไปเป็นดิน ธาตุน้ำ ก็ดับไปเป็นน้ำสูญไป ธาตุลม ก็ไปเป็นลม ธาตุไฟ ก็ดับไปตามเยี่ยงอย่างของธาตุนั้น นั่นแหละ ให้เราแยกแยะ ให้พิจารณาดูให้แจ้งสิ้นสงสัยในภพชาติ นี่ ธาตุกรรมฐาน

    ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เรียกว่า ธาตุกรรมฐาน ให้เราศึกษาอบรมเล่าเรียนอย่ทุกวันคืน ยืน เดิน นั่ง นอน พิจารณาแยกแยะให้มัน เห็นเป็นอย่างนั้นอยู่เป็นนิจ มันจึงจะเป็นไป ในไตรวัฏฏ์ และโลกธาตุ ไม่มีสิ่งใดหนอที่ปราชญ์เจ้าทั้งหลายผู้ฉลาด จะรื้อฟื้นตนออกจากหลุมลึก คือ กิเลสได้ มีแต่มาพิจารณามูลฐานกรรมฐานนี่ให้เห็นจริงแจ้งชัด แล้วก็น้อมลงสู่ไตรลักษณ์

    อนิจจตา มูลฐานนี้ไม่เที่ยง แต่เดิมมันก็รวมสามัคคีกันเป็นรูปนามธาตุขันธ์ แม้โคก็ดี ตัวของเราก็ดีก็ฉันนั้น เมื่อถูกทำลายแล้ว ต่างคนก็ต่างเป็นรูปนามสัณฐาน เป็ฯคนละอย่าง นั่นแหละ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์อนิจจตา ไม่เที่ยง ทุกขตา ก็เป็นทุกข์ อนัตตา ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงสภาพอยู่อย่างนั้น

    นั่นแหละ จงใชัปัญญาวิจัยหาเหตุผล เราจะรู้แจ้งเห็นจริงแจ้งชัด ในภพชาติสังขารว่าเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ เหตุใดโลกคือหมู่สัตว์ มันจึงหลงยึดมั่นถือขันธ์ว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุกรรมฐานนี้เป็นเรา เราเป็นธาตุ ธาตุมีในเรา เรามีในธาตุ

    เพราะเหตุใด จึงว่าหลงยึดมั่นถือมั่น ก็เพราะว่าอินทรีย์อ่อน บารมีธรรมก็อ่อน การฝึกซ้อมอบรมในธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นั้นมีน้อย บ่มอินทรีย์บารมีธรรมมาน้อย จึงเป็นเหตุให้หลงยึดมั่นถือมั่นพิทักษ์รักษา ประเล้าประโลมอยู่ทุกวันคืน ไม่ลดละ

    ท่านผู้มีอินทรีย์แก่ บารมีแก่มาแล้ว ท่านก็พิจารณามูลฐานนี้เดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ ก็แตกกระจัดกระจายทำลายสูญ ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา ท่านผู้ฉลาดรื้อฟื้นดวงจิต ออกจากหลุมลึก คือ กิเลสได้หมดแล้ว ก็พ้นไปจากเครื่องจองจำ พ้นไปจากเครื่องร้อยรัด พ้นไปจากการสังหารของพญามัจจุราช ผู้มีอำนาจเสนาใหญ่

    อุปมาขันธ์ ๕

    วัน คืน ปี เดือน ล่วงไป ๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่นะ อริยสมบัติ หมายถึง บุญกุศลนั้น ทาน ศีล ภาวนา พุทธโธ ธัมโม สังโฆ เราได้เจริญแล้วหรือยัง ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเมื่อพญามัจจุราชมาถึงแล้ว เราจะได้ไม่เดือดร้อนอาทรใจ ไม่หลงไหลไปตามธาตุขันธ์ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ มีแต่ความร่าเริงบันเทิง อยู่ด้วยวิบากของขันธ์ทั้งนั้น นั่นแหละ มีแต่สุขกับสุข หาทุกข์ไม่มี

    ถ้าเราไม่เจริญแล้วเป็นอย่างไร ติดอยู่ด้วยกิเลสกาม วัตถุกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั้น ได้เท่าไรไม่พอ กินไม่อิ่มไม่พอ สำคัญว่าจะเป็นของเราแท้ ตะเกียกตะกายขวนขวาย อันนั้นแหละ เปรียบเหมือนกับคนตาบอด หูหนวก เดินทางไม่รู้อะไร วกหน้าเวียนหลัง ผลสุดท้ายก็ตกบ่อ ตกหลุม คอหัก แขนหักตาย เท่านั้นแหละ

    อันนี้ฉันใด ผู้เจริญสมณธรรมก็ไม่เป็นอย่างนั้น อยู่ดีไปดี มีโชคชัย สุคโต ไปดีมาดี สุคตัสสะ จะเป็นผู้ไม่มีภัยและเวร เรียบร้อย สะอาดดี เป็นของดีเลิศประเสริฐสุด

    ฉะนั้น จงตั้งใจเจริญให้พร้อมอยู่เป็นนิจ จงรักตน อย่าเพิ่งเกลียดชังตน อย่างเพิ่งเอาคนอื่น จงเอาตนนี่ดีกว่า หมายความว่า มาเจริญสมณธรรมนี่แหละ ขยำเสียซึ่งกิเลส กอบโกยซึ่งอริยทรัพย์ คือ บุญใส่ตนให้พร้อมทุกเมื่อ ได้ชื่อว่าเป็นผู้รื้อฟื้นตนออกจากหลุมลึก คือ กิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะเป็นผู้ผ่านพ้นไปจากทุกข์ได้ ทุกข์ภัยน้อยใหญ่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่มันเป็นมหันตทุกข์โทษภัยใหญ่ กรรมชั่วช้าลามกก็ดี นั่นแหละ เปรียบเหมือนศัตรูร้าย

    สำหรับผู้เห็นภัยอย่างนี้ นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายก็รีบเร่งฉวยโอกาสเจริญสมณธรรมอยู่เป็นนิจ ไม่หวั่นไหวในชีวิตสังขาร กลัวย่านอยู่ทั้งวันคืน ตื่นเต้นตระหนกตกใจอยู่อย่างนั้น เพราะภัยใหญ่นี้ ไหนๆ ก็หนีไปไม่พ้นเสียแล้ว สิ่งที่ไปพ้นนั้น ก็มีแต่การเจริญสมณธรรมเท่านั้น อันนี้ข้อสำคัญ

    นกในกรง

    ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก เปรียบอุปมาเหมือนบุรุษคนหนึ่งนั่นแหละ บุรุษคนนั้นผู้เจริญธรรม ทำจิตใจไม่ให้สนิทสนมกับธาตุขันธ์ หาทางออกจากโลกวัฏฏทุกข์ อยู่เป็นนิจ เปรียบเหมือนนกคุ่ม นกกระทา ที่เขาขังไว้ในคอกในกรงนั้น ถึงจะมีอาหารและน้ำให้กินอิ่มหนำสำราญก็ไม่ยินดี เพราะนกคุ่ม นกกระทานั้น มันอยู่ในที่คุมขังคับแคบ จะบินไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ มีความหวั่นไหวอยู่เป็นนิจว่า เมื่อไหร่หนอที่เจ้าของจะหิวอาหาร จะมาเอาไปฆ่าทำลาบใส่หยวกกล้วยกินเท่านนั้นแหละ

    นักปราชญ์ทั้งหลาย เห็นเพียงแค่นั้น ก็ทำจิตใจหาทางออกจากที่คุมขังใหญ่ คือ โลกวัฏฏทุกข์อยู่เป็นนิจ ไม่ติดไม่คา ไม่ข้องอยู่ในอะไรทั้งปวงนั้น รีบแสวงหาทางพ้นทุกข์อยู่เป็นนิจ

    งูเห่าน้ำ

    เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่ง หนีลงไปในหนองน้ำ งมมือลงไปในหนองน้ำ ไปถูกคองูเห่าน้ำพิษมาก กำได้คิดว่าเป็นคอปลา ยกขึ้นมาดูศีรษะก็รู้ว่างูเห่าน้ำพิษมาก บุรุษนั้นทำอย่างไร ก็ยกขึ้นให้พ้นจากน้ำ แล้วแกว่งตวัดไปมา ๒ - ๓ ครั้ง จนกระดูกมันลั่น ป๊วด ๆ อ่อนกำลังแล้วก็ขว้างไปที่ไกล บุรุษนั้นก็กระโดดขึ้นบก งูเห่าน้ำนั้นก็หมดแรง จะทำลายไม่ได้ พอกระโดดขึ้นสู่บนบก ก็พ้นจากความตาย ภัยร้ายก็มาไม่ถึง

    อันนี้ฉันใด ปราชญ์เจ้าทั้งหลาย เปรียบร่างกายเหมือนกับงูเห่าน้ำ เป็นอสรพิษใหญ่ขบกัดอยู่อย่างนั้น น้ำนั้นได้แก่ น้ำโอฆะ น้ำกิเลส น้ำตัณหา อวิชชา นั้น มันลึกแสนลึกแสนกว้าง โลกคือหมู่สัตว์นั่นแหละ เป็นทาสของน้ำตัณหาลึกแสนลึก อยู่อย่างนั้น

    บุรุษทั้งหลาย ปราชญ์หญิง ชาย ท่านก็รีบเร่งเจริญสมณธรรม อยู่เป็นนิจ ขยำเสียซึ่งกิเลส รื้อถอนออกจากดวงจิตหมดแล้ว เหมือนกับขว้างงูเห่าน้ำไปไกลนั่นแหละ กระโดดขึ้นสู่บนบกได้แก่ จิตสิ้นกิเลส ก็สุขสบายเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรที่จะตามสังหารได้

    บุรุษหนีโจร ๔ คน

    เปรียบอีกนัยหนึ่ง บุรุษคนหนึ่งหนีโจร ๔ คน นะ โจร ๔ คน ไล่ติดตามอยู่เสมอ บุรุษนั้นก็วิ่งหนีโจรไปถึงแม่น้ำ แม่น้ำใหญ่แสนใหญ่ กว้างมหึมา ไหลเชี่ยวหนัก บุรุษนั้นก็เหลียวซ้ายแลขวา เรือแพที่จะขี่ข้ามก็ไม่มี ไม่นานก็มีซากผีตายไหลร่องน้ำมา หนอนเจาะเหม็นปฏิกูลน่าเกลียด บุรุษนั้นก็เห็นท่าไม่ไหว เพราะโจร ๔ คน ก็วิ่งตามใกล้เข้ามาทุกที บุรุษนั้นก็อดกลั้นทนทานลงไปกอดเอาซากผีเน่า ว่ายน้ำคงคาวารีไปด้วยความเพียร ความอดทน ความชนะตนไปถึงฟากฝั่งโน้น ก็ชำระกายอินทรีย์ให้หมดจากของเปี่อยเน่า แล้วก้าวขึ้นสู่บนบกก็สบาย ซากผีเน่าก็วางทิ้งไว้กับน้ำคงคานั้น

    อันนี้แหละ บุรุษนั้นข้ามไปพ้นแล้ว ขึ้นสู่บนบก ได้แก่ ผู้สิ้นอาสวะ ผู้เจริญธรรม น้ำโอฆะ ได้แก่ น้ำกิเลสทุกประเภทน้อยใหญ่ ซากผีตาย ได้แก่ สังขารร่างกายของเรานี่แหละ ว่ายลอยน้ำเสมอ เปี่อยเน่า หนอนเจาะกินอยู่ทั่วสารพางค์กาย ก็เปื่อยเน่าปฏิกูล น่าเกลียด สกปรกโสโครก บุรุษทั้งหลาย คือ ปราชญ์หญิงชายผู้ฉลาด อดกลั้นทนทานกอดซากผีเน่าว่ายข้ามน้ำ นั่นแหละ อาศัยซากผีเน่า มาบำเพ็ญตปะธรรม เป็นเครื่องแผดเผาอยู่เป็นนิจทั้งวันทั้งคืน เห็นว่าเปื่อยเน่าปฏิกูล น่าเกลียดสกปรกโสโครกอยู่เสมอ

    บุรุษนั้น ก็ได้แก่ใจนี่แหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน ได้แก่ ใจ คือ เรานั่นเอง นี่แหละ ปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย ก็จงรีบเร่งเจริญอยู่เป็นนิจ ทำอย่างบุรุษหนีโจร ๔ คนนั้น โจรที่ ๑ ได้แก่ เกิด โจรที่ ๒ ได้แก่ แก่ โจรที่ ๓ ได้แก่ เจ็บ โจรที่ ๔ ได้แก่ ตาย นี่แหละ นอกบ้านในบ้านโจรตามสังหารอยู่อย่างนั้น จะสำคัญมั่นหมายอะไร

    นายเรือสำเภา

    หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่งว่า นายเรือสำเภาผู้ฉลาด เอากามาเลี้ยงไว้ ตั้งแต่มันฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ เลี้ยงไว้แต่โน้น จนฝึกซ้อมได้ พ่อค้าเรือสำเภาใหญ่ ก็เอากาลงสู่เรือสำเภาไปค้าขาย ท้องมหาสมุทรมันกว้างแสนกว้าง ขับเรือสำเภาไปถึงกลางมหาสมุทร ไม่เห็นฝั่งแล้ว ท่าอยู่ไหนหนอ ก็ปล่อยกาไป กาบินไปหาฝั่งน้ำอยู่ไหน กาก็บินไปจนหมดวิสัย ไม่เห็นฝั่ง ก็กลับมาอีกเกาะอยู่เสากระโดงเรือ ขับเรือสำเภาไปอีก ไม่นานก็ปล่อยกาไปอีก กาก็บินไปจนหมดกำลังก็กลับมาอีก ก็ขับเรือไปใกล้เข้าๆ จวนจะถึงฝั่งแล้ว ก็ปล่อยกาไป กาก็บินวับ ๆ ไปนะ เข้าสู่ฝั่งได้ นายเรือสำเภาก็ขับเรือตามหลังกานั้นไปถึงท่าจอดเรือได้ นั่นแหละ นายเรือสำเภาก็ขนของขึ้นขายหมด ก็สบายได้กำไร ร่ำรวยดี

    กานั้น ได้แก่ สติ กับ ปัญญา เรือสำเภา ได้แก่ ร่างกาย นายเรือสำเภา ได้แก่ ใจ นั่นแหละ ขนของขายหมดแล้ว ว่ายข้ามโอฆะ มหาสมุทรใหญ่ ได้แก่ เจริญสมณธรรม ศีลธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ขยำเสียซึ่งกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หมดแล้วก็สบาย หมดจากทุกข์ โทษภัยน้อยใหญ่ในวัฏฏสงสาร

    ซากช้างใหญ่

    ร่างกายสังขารเราท่านนั้น เปรียบเหมือนซากช้างใหญ่นะ ซากช้างใหญ่มันตาย เขาก็ลากลงสู่น้ำคงคาใหญ่มันก็ล่องลอยไหลลงสู่มหาสมุทร ซากช้างใหญ่นั้น มันก็อืดพองขึ้นเหม็นเน่า นั่นแหละ อีแร้ง อีกาทั้งหลายเห็นซากช้างใหญ่ เป็นอาหารดีก็หลั่งไหลไปกินนะ กินแล้วก็นอนอยู่ที่นั่น เพราะติดรส บางฝูงกินแล้วก็พิจารณาว่า

    โอ้...ซากช้างใหญ่นี้ นานเข้ามันก็เปื่อยเน่า ข้างล่างปลาก็กิน ข้างบนเราก็กิน นานเข้ามันก็จะจมน้ำนะ กินอิ่มแล้ว ก็บินขึ้นสู่ต้นยางใหญ่ ๓ ต้น ไปอยู่นั่น นอนนั่นสบาย

    ส่วนฝูงอีแร้ง อีกา ที่ติดรสก็กินนอนอยู่กับซากช้างใหญ่ไปอย่างนั้น จนล่วงถึงท้องมหาสมุทรใหญ่ ไม่เห็นฝั่งเสียแล้ว ไปถึงท้องมหาสมุทรใหญ่นั้น ทางข้างล่างปลาก็กิน ข้างบนตัวก็กิน ทีนี้ผลสุดท้ายก็หมด กินเต็มท้องแล้วมันก็หนัก บินไม่ไหว ซากช้างใหญ่จมลงท้องมหาสมุทร อีแร้ง อีกา ฝูงนั้นก็จมไปด้วย ถูกปลากินเป็นอาหารหมดสิ้น

    นี่แหละ ท้องมหาสมุทรใหญ่ ได้แก่ โอฆสงสาร นี้มันลึกเปรียบเหมือนท้องมหาสมุทรใหญ่ คือ น้ำโอฆะ นั่นแหละ ติดอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ซากช้างใหญ่ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นอาหารของคนชั่ว คือ ฝูงอีแร้ง อีกา ที่ติดรสกิเลสนั้นได้แก่ โอฆสงสาร ลาภ ยศ สรรเสริญสุขทุกอย่าง นั่นแหละ ก็จมตาย จมตาย จมตาย ฉลามกินเป็นอาหาร

    ส่วนอีแร้งฝูงที่มีปัญญาฉลาด รีบกินอิ่มก็ชำระปีกหางดีแล้ว มันก็บินขึ้นสู่ปลายยางใหญ่ ๓ ต้น ไปสู่ที่นั่น ก็พ้นจากอันตราย สบายได้แก่ นักปราชญ์เจ้าทั้งหลาย พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายนั้น มาอาศัย ซากผีตาย ร่างกาย เปรียบเหมือน ซากช้างใหญ่ ล่องลอยในแม่น้ำ มหาสมุทร นั่นแหละ ท่านก็รีบกิน พุทโธ ธัมโม สังโฆ ศีลธรรม ขยำเสียซึ่งกิเลสหมดแล้ว ท่านก็เป็นผู้อิ่ม ไม่ขาดตกบกพร่อง รื้อถอนสิ่งที่ทำให้จิตใจบกพร่องออกหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ที่ใจของท่าน ก็หลุดพ้นไปจากความจองจำ ก็บินโฉบผ่านขึ้นไปสู่ต้นยาง ๓ ต้น ได้แก่ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เกิดขึ้นแล้วที่จิตของนักปราชญ์ผู้รู้ดีทั้งหลายนั้น

    ฉะนั้น เราท่านทั้งหลาย จะเอาอย่างไร จะเป็นฝูงแร้งฝูงกา ติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นหรือ ก็จมไปตามซากผีตายลงสู่ท้องมหาสมุทรไม่มีความหมายอะไร เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งชาติ ก็อย่าให้มันจมตายเสียเปล่า จงรีบฉวยโอกาสสะสมคุณงามความดี บารมีธรรม บาระ เปรียบเหมือนฝั่งแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง น้อยใหญ่ น้ำจะมากเท่าไรฝั่งก็ต้านทานได้ อินทรีย์ธรรม เป็นเครื่องตักตวงซึ่งมรรคผล ธรรมวิเศษ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่อินทรีย์ธรรม บารมีธรรม ทั้ง ๒ จงตั้งใจบำเพ็ญให้พร้อมทุกเมื่อ อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เป็นเครื่องตักตวงซึ่งมรรคผลธรรมวิเศษ หมดกิเลสปัจจัยไปนิพพาน แล้วก็หมดทุกข์โทษในวัฏฏสงสารเท่านั้นแล

    [​IMG]


    *******************************
    คัดลอกบางส่วนจาก : อุบายภาวนา
    หลวงปู่จันทา ถาวโร




    ที่มา : เว็ปธรรมดี.com http://www.dhamdee.com/board/index.php?showtopic=210&st=0&#entry437
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. varanyo

    varanyo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    925
    ค่าพลัง:
    +3,373
    ให้ข้อคิดดีมากครับ...ขออนุโมทนา...
     

แชร์หน้านี้

Loading...