เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 8 ตุลาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ความเป็นมาของมุตโตทัย

    [​IMG]


    สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เวลาได้ฟังท่านพระอาจารย์พูดคำใดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นที่พอใจ ผู้เล่าก็จะนำมาเขียนซ้ำ แม้แต่ท่านอาจารย์วิริยังค์ ท่านอาจารย์วัน ก็มีความคิดแนวเดียวกัน ทั้ง 2 องค์ เขียนแล้วก็เอามาวางไว้ให้ข้างที่นอนของผู้เล่า เป็นลักษณะคล้ายๆ กับบันทึกความเข้าใจ หรือบันทึกความจำเพื่อกันลืม

    เหตุที่มาเป็นหนังสือมุตโตทัยนั้น เนื่องจากเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ขณะนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะภาค ท่านมาตรวจราชการ และได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพักอยู่ 3 คืน ที่กุฏิของผู้เล่า ตอนพักกลางวันท่านไปเห็นบันทึกนี้ก็เลยเอามาอ่าน พออ่านเสร็จ เราก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านเจ้าคุณฯ เพราะเคยเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนบาลีให้

    ท่านเจ้าคุณฯ ถามว่า "อันนี้ใครเขียนล่ะ"

    "เขียนหลายคนขอรับกระผม"

    "มีใครบ้าง"

    "มีกระผม ท่านอาจารย์วิริยังค์ และท่านอาจารย์วัน ขอรับกระผม"

    "เออ...ดีมาก เราจะเอาไปพิมพ์"

    "แล้วแต่ท่านเจ้าคุณ ขอรับกระผม"

    ด้วยความเคารพ เพราะท่านมีบุญคุณ

    ท่านจากไปประมาณสักสามเดือน ก็มีห่อหนังสือส่งมา ในนามของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เล่านำไปถวายท่าน

    "อะไรนั่น" ท่านพระอาจารย์ถาม

    "กระผมก็ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้เปิดดู แต่ว่าคล้ายๆ กับหนังสือ"

    "เปิดดูซิ"

    คือ ลักษณะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ถ้ายังไม่ได้ดูเสียก่อน ไม่ให้พูดว่าอะไรอยู่ข้างใน เราจะไปบอกว่า หนังสือ ท่านไม่เอา

    แม้แต่เครื่องใช้ไม้สอยบริขารที่ผู้เล่าเป็นพระภัณฑาคาริก (ผู้มีหน้าที่รักษาคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ -ภิเนษกรมณ์) เวลาพระสงฆ์ไปขอสบง จีวร เพื่อผลัดเปลี่ยนน่ะ

    ท่านจะถามว่า "ว่ายังไง ทองคำ มีไหม"

    ก็ต้องบอกว่า "กระผมยังไม่ได้ดู จะลองไปดูเสียก่อน อาจจะมีก็ได้"

    ต้องพูดอย่างนั้น ถ้าเราจะไปรับโดยตรงอ๋อมี มีถมไป มีเยอะแยะน่ะแหละ เดี๋ยวท่านตะเพิดเอา ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ท่านให้พูดด้วยสติปัญญา ลักษณะคล้ายๆ กับพูดเลียบๆ เคียงๆ ไป ถ้าพูดเลียบเคียง ท่านก็ทราบเองว่า ของนั้นอยู่ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่ามันมี แต่ถ้าเรายังสงสัยว่ามีอยู่ ก็ต้องบอกว่า

    "ขอโอกาส ครูบาอาจารย์ กระผมยังสงสัยอยู่ ขอไปดูเสียก่อน" ต้องบอกว่ายังสงสัยอยู่

    ถ้ามีก็บอก "กระผมยังไม่ได้เปิดดู อาจจะมีก็ได้"

    ที่ท่านให้พูดอย่างนั้นน่ะเป็นคำสอน เพื่อฝึกสติปัญญาของสานุศิษย์ ให้มีสติด้วย ให้มีปัญญาด้วย ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คำที่เราพูดออกไป ถ้าจะเป็นโทษแก่เราถึงขึ้นโรงขึ้นศาล เราก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ เพราะฉะนั้นท่านถึงไม่ให้พูดตรง

    เหมือนอย่างเราพูดว่า "ท่านครูบาอาจารย์ วันนี้ได้ปลานำมาใส่บาตรนะ นิมนต์ท่านฉันลาบ ฉันก้อยนะ"

    พระฉันไม่ได้ ผิดพระวินัย เพราะออกชื่อโภชนะทั้งห้า ท่านคงจะถือหลักนี้แหละ

    หลังจากท่านรับหนังสือมาแล้วจึงเปิดดู

    "เอ เราเคยได้ยินเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดว่า คุณมั่นเธอเทศนาด้วยภาษามุตโตทัย เป็นมุตโตทัย ภาษามุตโตทัยเป็นคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วทำไมจึงมาเป็นชื่อหนังสืออันนี้ล่ะ ได้มาจากไหน"

    ผู้เล่า "ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปค้นพบจากที่นอนของกระผม"

    ท่านฯ "ใครเขียนล่ะ"

    ผู้เล่า "เขียนหลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์วิริยังค์ เพราะท่านเป็นผู้นำในการเขียน พวกกระผมก็ได้เขียน ท่านวันก็ได้เขียน ผิดถูกขอโอกาสครูบาอาจารย์ กระผมยอมรับผิดทุกอย่าง"

    หลังจากท่านฉันจังหันเสร็จ ท่านก็เข้าห้อง ผู้เล่าก็ขึ้นไปปฏิบัติท่าน นำหนังสือขึ้นไปถวาย เป็นเวลาที่ท่านจะต้องพัก แต่ท่านไม่พัก อ่านต่อจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านฉันน้ำชา ผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ท่านก็บอกว่า

    "เออ ดีเหมือนกันนะ เป็นเทศนาคำย่อ ผู้มีปัญญาพิจารณาได้" ท่านว่าอย่างนั้น

    หนังสือมุตโตทัยที่พิมพ์แจกในงานถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ก็มีของท่านอาจารย์วิริยังค์เป็นบทนำ ต่อจากนั้นก็เป็นของหลวงตาทองคำเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 คือ ท่านอาจารย์วัน ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านหนังสือมุตโตทัย ก็คือหนังสือที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตรวจทานแล้ว เป็นของที่ท่านยอมรับแล้วว่า ดีอยู่ เพราะว่าเทศนาเป็นคำย่อ แต่ผู้มีปัญญาก็พิจารณาได้

    ท่านมักจะพูดเสมอเรื่องค่าของศูนย์ ท่านเปรียบถึงพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ พระนิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง

    "ศูนย์ทำไมจึงมีอยู่ ทองคำ ลองเขียนดูซิ"

    1-2-3-4-5-6-7-8-9-0

    ธรรมดาเลขนั้นมีอยู่เก้าตัวใช่ไหม ที่มันนับได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วนเลขศูนย์มันอ่านได้ มันมีอยู่แต่ไม่มีค่า ฉะนั้นเอาไปบวกลบคูณหารกับเลข 1 ถึง 9 ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น แต่ศูนย์ก็ยังมีอยู่ เมื่อนำไปต่อกับเลขอื่น เช่น 1 ก็จะกลายเป็น 10 แต่ศูนย์อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีค่า

    เปรียบเหมือน ฐิติภูตัง คือ จิตดวงเดิมที่มีอยู่เป็นอยู่ แต่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อชำระด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เป็น ฐิติญาณัง จิตคือผู้รู้ว่าสูญจากอาสวะ และรู้ว่าสูญจากอาสวะก็เป็นบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นคู่กันกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ

    พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวก หลายหมื่นหลายแสนองค์ เข้าสู่พระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีที่เต็ม ว่างอยู่ตลอด อย่ากลัวพระนิพพานเต็ม พวกเราจงเร่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกับพระพุทธเจ้าเถิด พระนิพพานไม่เต็มหรอก ท่านว่าอย่างนั้น

    มีแต่พวกขี้เกียจ กุสิโต หีน วิริโย ท่านพูดเป็นภาษาบาลี

    ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคำนำต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มีที่สิ้นสุด

    เหมือนกับศัพท์บาลีที่ว่า สงฺสาเร อนมตฺตคฺเค ในสงสารมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้แล้ว นอกจากพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจะรู้ได้ เพราะอาศัยอะไร เพราะอาศัยอวิชชาตัวนี้แหละหุ้มห่อ จึงไม่รู้

    เวลาท่านมีอารมณ์สนุกๆ ก็จะพูดกับพวกเรา ด้วยภาษาพื้นๆ ธรรมดา ไม่ใช่ว่าท่านจะพูดพร่ำเพรื่อ บางทีท่านอาจจะพิจารณาว่า บุคคล สถานที่ วัตถุ นั่นล่ะ เรายังไม่ได้พูดให้ใครฟัง ท่านก็จะถือโอกาสจังหวะเวลานั้นพูด เกี่ยวกับพระแก้วมรกตเอย เกี่ยวกับพระนครปฐมเอย อะไรทำนองนี้
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การครองผ้า - สีผ้า

    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า การครองผ้าแบบพาดบ่าข้างเดียว แล้วมีผ้ารัดอกนั้น เป็นพระราชบัญญัติชั่วคราว ตราขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกประมาณ 100 ปี สาเหตุมีสงครามติดพัน รบกันบ่อยครั้งกับทหารพม่า พวกจารกรรมพม่าแต่งตัวเป็นพระเข้ามาสืบราชการลับ รบคราวใดแพ้ทุกที ผิดสังเกต พระพม่ามักเข้ามาในกองทัพ ไทยคิดว่าเป็นพระไทยจึงรบแพ้ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้นมา ให้พระไทยห่มอย่างว่านั้น พระพม่าที่เข้ามา ก็คือจารบุรุษนั่นเอง ไม่ใช่พระ เมื่อศึกสงครามเลิกแล้ว ก็ยกเลิกพระราชบัญญัติด้วย แต่สมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวก คำสั่งไม่ทั่วถึง จึงถือกันมาจนบัดนี้

    เรื่องสีผ้านั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สีผ้านั้นพระวินัยกล่าวไว้อย่างชัดเจน คือ สีกรัก สีเหลืองหม่น สีเหลืองคล้ำ และสีอนุโลมอีกสองสี คือ สีเหลืองแก่ และสีมะเขือสุกแก่

    ท่านว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้พม่าประมาณ 100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบกัน
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การฟื้นฟูศาสนาในประเทศไทย

    [​IMG]


    เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นี้ ท่านปรารภหลายวาระหลายสถานที่ ท่านพระอาจารย์เล่าว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงความชราภาพของพระองค์ทั้งสองว่า

    "ตถาคตและพระองค์ก็ย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว ไม่ช้าตถาคตก็จะปรินิพพาน และก็เช่นกัน พระองค์ก็จะเสด็จสวรรคต ตถาคตไม่กลับมาสู่ภพนี้อีก ส่วนพระองค์เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร และเป็นพระสหายของตถาคต ยังต้องกลับมาสร้างบารมีต่อ ถ้าคราวใดศาสนาของตถาคตเสื่อมลง ขอพระองค์ทรงกลับมาฟื้นฟูด้วย"

    ต่อมาไม่นาน พระโอรสวิฑูฑภะก่อการกบฏขึ้นในแผ่นดิน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จหนีไปยังแคว้นมคธ เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอชาตศัตรู แต่พระองค์เสด็จไปไม่ทัน ประตูเมืองถูกปิดลงเสียก่อน ด้วยความชราภาพและเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตอย่างเดียวดาย ไร้ญาติขาดมิตร ที่ศาลาที่พักคนเดินทางนอกประตูเมือง นี่แหละหนอ สังสารวัฏ มีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้

    พระพุทธเจ้าคงจะทรงเห็นเหตุอันนี้ จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลอย่างนั้น ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือ พระเจ้าปเสนทิโกศล นั้นเอง ที่มาทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเมื่อถึงจุดนั้น

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเสริมสร้าง นักฟื้นฟู นักบูรณะ นักปฏิสังขรณ์ ทรงทำสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น ทำสิ่งที่ผิดจากของเดิมให้เข้าสู่ที่เดิม ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนการซ่อมบำรุงวัตถุใช้งานที่เสื่อมสภาพ ให้มีสภาพใช้งานได้เหมือนเดิม ผู้เล่าจะไม่กล่าวโครงสร้างฟื้นฟู เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้มากแล้ว จะกล่าวเฉพาะผลงานด้านการศึกษา การพระศาสนา และการปกครองแผ่นดิน ภาษาอังกฤษก็ตรัสได้เป็นคนแรกของชาวไทย ภาษาบาลีก็เป็นพระมหาเปรียญ ทรงรจนาพระคาถาและพระปริตรต่างๆ ไว้มาก มีอรรถรสอันลึกซึ้ง และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ติดอันดับโลก

    การปรับปรุง เสริมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์ พระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า ทั้งด้านการศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันนี้ มีสาเหตุและปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะภัยแห่งสงครามเป็นภัยใหญ่

    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ก่อนเราจะเสียกรุงให้แก่พม่าประมาณ 100 ปี การรบราฆ่าฟันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป มีพระลักษณะเคร่งขรึม เข้มแข็ง เอนเอียงไปทางดุร้าย ซึ่งหมายถึง ใจของชาวอยุธยาเตรียมพร้อมรับศึกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดมีการรบติดกันเกิดขึ้น ชายทุกคนต้องเป็นทหารออกรบ หญิงทั้งสาวทั้งแก่ก็ต้องร่วมออกรบ ส่งเสบียง ไถนา ดำนาสารพัด แม้แต่พระสงฆ์ก็คงจะระส่ำระสายช่วยอยู่ด้านหลัง จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตก

    ความเป็นผู้แพ้มีแต่ทุกข์กับทุกข์ เจ็บป่วยจากการเหน็ดเหนื่อยในสงครามเอย บาดแผลจากคมหอกคมดาบเอย อดอยากเอย ซากศพทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหญิง ทั้งตายเก่าตายใหม่ เรื่องเหล่านี้คือเหตุแห่งความเสื่อมของศาสนา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มมาฟื้นฟู

    ทุกท่านยอมรับผลงานของพระองค์ ว่าตามความจริงในปัจจุบัน การศึกษา การปกครอง การปฏิบัติ ล้วนเป็นผลงานของพระองค์ การศึกษาวิทยาการทางพระพุทธศาสนาก็ดี การปกครองคณะสงฆ์ก็ดี การปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติทรงพระวินัยก็ดี การเจริญแสวงหาวิเวกเดินรุกขมูลธุดงค์ก็ดี พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์ พอเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ แม้ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยอมรับว่าได้แบบอย่างมา รองจากครั้งพุทธกาล ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เป็นแบบฉบับตลอดมา

    เมื่อครั้งพระองค์เสด็จจาริกธุดงค์จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สุโขทัย ไปตามฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักตามชายทุ่งชายป่า ใกล้อุปจารคาม เจริญสมณธรรม หากมีชาวบ้านมาฟังธรรม ก็แสดงธรรมให้ฟัง ให้ได้ประโยชน์ทั้งตน ผู้อื่น และพระศาสนาไปพร้อมๆ กัน

    พอถึงสุโขทัย กำลังหาที่พัก ชาวบ้านก็มากราบถวายพระพรว่า มีดอนแห่งหนึ่งเป็นดอนศักดิ์สิทธิ์ ปกติชาวบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไป เพราะเคยมีพระเข้าไป แล้วแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อสถานที่นั้น ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเดือดร้อน แต่พระองค์ทรงรับรองกับชาวบ้านว่า นี้คือเจ้าของป่าดอนนั้น หากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น พระองค์จะตายแทน ชาวบ้านก็ยินยอม อาราธนานิมนต์พระองค์ไปพัก เดินจงกรมเจริญสมณธรรมที่นั่น พระองค์ได้ไปพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงโดยบังเอิญ ขากลับทรงนำกลับมาไว้ที่กรุงเทพฯ

    นี้คือตัวอย่างการออกจาริกธุดงค์กัมมัฏฐาน ที่ทรงทำเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

    (พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วว่า ภายหน้าจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลำดับที่ 3 เมื่อนับพระเมตไตรย เป็นลำดับที่1 และจะมีพระนามว่า พระธรรมราชา - ภิเนษกรมณ์)
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บุคลิกพิเศษของท่านพระอาจารย์

    [​IMG]


    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบท จนกระทั่งวาระสุดท้าย เรียกว่าครบบริบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ผล คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันนี้เป็นผลของความมักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ท่านพระอาจารย์มั่น ทำได้สม่ำเสมอ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิต จนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

    ธุดงควัตรของท่าน คือ บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้ที่จะไปถวาย ถ้าเป็นจีวรสักผืนหนึ่ง ผ้าสบง ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เรียกว่าผ้าก็แล้วกัน ถ้าจะถวายท่าน เขามักจะไปวางไว้ที่บันไดบ้าง วางใกล้ๆ กุฏิของท่านบ้าง วางตรงทางเดินไปห้องน้ำบ้าง ท่านเห็นก็บังสุกุลเอา บางผืนก็ใช้ บางผืนก็ไม่ได้ใช้ ผู้ไม่รู้อัธยาศัยไปถวายกับมือ ท่านจะไม่ใช้

    ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระนักปฏิบัติ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ในยุค 2,000 ปี เป็นสาวกที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ ด้วยลักษณะภายนอกและภายใน เพราะเหตุนั้นชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เกียรติคุณของท่าน จึงขจรขจายถึงทุกวันนี้ แทนที่จะเป็น 60 ปีแล้วก็เลือนหายไป กลับเพิ่มขึ้นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะบุคลิกของท่านนั้น เป็นบุคลิกที่สมบูรณ์แบบ ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นบุคคลน่าอัศจรรย์ในยุคนี้

    ขอให้ท่านสังเกตดูในรูปภาพ คิ้ว คาง หู ตา จมูก มือ และเท้า ตลอดชีวิตของท่านนั้น ท่านเดินทางข้ามเขาไปไม่รู้กี่ลูก จนเท้าพอง ไม่ใช่เท้าแดงหรือเท้าเหลือง

    คิ้ว ท่านมีไฝตรงระหว่างคิ้ว ลักษณะคล้ายกับพระอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝอันนี้เป็นจุดดำเล็กๆ ไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน 3 เส้น ไม่ยาวมาก และโค้งหักเป็นตัวอักษร ก เป็นเส้นละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น ขณะท่านปลงผมจะปลงขนนี้ออกด้วย แต่จะขึ้นใหม่ในลักษณะเดิมอีก

    ใบหูของท่าน มีลักษณะหูยาน จมูกโด่ง แววตาของท่านก็เหมือนแววตาไก่ป่า บางคนอาจไม่เคยเห็นไก่ป่า คือ เป็นวงแหวนในตาดำ มือของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาจนถึงนิ้วก้อย นิ้วเท้าก็เหมือนกัน

    หลวงปู่หล้าท่านก็เคยเล่าว่า เวลาล้างเท้าหลวงปู่มั่น เห็น ฝ่าเท้าของท่านเป็นลายก้นหอย 2 อัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้า เหมือนกากบาท เวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์จะไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านจะไปมองดู จะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า

    รอยนิ้วเท้าก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก 2 อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน (หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่านาสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้เล่าเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะหลวงปู่จันทร์โสมพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ได้ถวายการนวดหลวงปู่มั่น เมื่อท่านหลับแล้ว หลวงปู่ได้พลิกดูฝ่ามือของหลวงปู่มั่น พบว่า มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง และมือท่านก็นิ่มมาก)

    บุคคลทุกระดับ เมื่อเข้าไปถึงท่านแล้ว ท่านจะเป็นกันเองมาก คุยสนุกสนานเหมือนคนรู้จักกันมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลที่มักจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ท่านจะไม่ค่อยเป็นกันเองเท่าไหร่ ถามคำไหนได้คำนั้น ถ้าไม่ถามท่านก็นั่งเฉย

    ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพูดว่า

    "ผู้ที่จะมาศึกษาธรรมะกับเรา จะเป็นญาติโยมก็ดี หรือเป็นพระสงฆ์ก็ดี ขอให้เก็บหอกเก็บดาบไว้ที่บ้านเสียก่อน อย่านำมาที่นี่ อยากมาปฏิบัติ มาฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้านำหอกนำดาบมา จะไม่ได้ฟังเทศน์ของพระแก่องค์นี้"

    แม้กระทั่งเด็กที่ไม่รู้เดียงสา ป.2-3-4 ท่านก็ทำเป็นเพื่อนได้ ในความรู้สึกของผู้เล่าผู้อยู่ใกล้ชิด เวลาท่านอยู่กับเด็ก กิริยาของท่านก็เข้ากับเด็กได้ดี เพราะฉะนั้นความโดดเด่นของท่าน ใครเข้าไปแล้วกลับออกมาก็อยากเข้าไปอีก ใครได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว กลับออกมาก็อยากฟังอีก

    อันนี้คืออานิสงส์ที่ท่านตั้งปณิธานว่า ข้าพระองค์ขอปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างพระองค์ หลังจากที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาจนจบ จึงได้ตั้งปณิธานเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า คือ องค์สมณโคดมนี้ (ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเสนาบดีแห่งแคว้นกุรุ - ภิเนษกรมณ์) หลังจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดจนชาติปัจจุบันมาเป็นท่านพระอาจารย์มั่น

    ทีนี้ทำไมท่านจึงละความปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพิจารณาแล้ว รู้สึกว่าตัวเรานี้ปรารถนาพุทธภูมิจึงมาสร้างบารมี ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เขาคิดอยู่ในใจเหมือนกับเรานับไม่ถ้วน ผู้ที่ออกปากแล้วเหมือนกับเราก็นับไม่ถ้วน ผู้ที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์แล้วก็นับไม่ถ้วน และผู้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามีอีกหลายองค์ เช่น พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าปเสนทิโกศล กว่าจะถึงวาระของเรา มันจะอีกนานเท่าไหร่ เราขอรวบรัดตัดตอนให้สิ้นกิเลสในภพนี้เสียเลย ท่านพิจารณาเช่นนี้ จึงได้ละความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อริยวาส อริยวงศ์

    [​IMG]


    เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่ผู้เล่าอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ มีชาวกรุงเทพมหานครไปกราบนมัสการ ถวายทานฟังเทศน์ และได้นำกระดาษห่อธูปมีเครื่องหมายการค้ารูปตราพระพุทธเจ้า (บัดนี้รูปตรานั้นไม่ปรากฏ) ตกหล่นที่บันไดกุฏิท่าน พอได้เวลาผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ปฏิบัติท่านตามปกติ พบเข้าเลยเก็บขึ้นไป พอท่านเหลือบมาเห็น ถามว่า "นั่นอะไร"

    "รูปพระพุทธเจ้าขอรับกระผม"

    ท่านกล่าว "ดูสิคนเรานับถือพระพุทธเจ้า แต่เอาพระพุทธเจ้าไปขายกิน ไม่กลัวนรกนะ"

    แล้วท่านก็ยื่นให้ผู้เล่า บอกว่า "ให้บรรจุเสีย"

    ผู้เล่าเอามาพิจารณาอยู่ เพราะไม่เข้าใจคำว่า "บรรจุ" จับพิจารณาดูพระพักตร์เหมือนแขกอินเดีย ผู้เล่าอยู่กับท่านองค์เดียว ท่านวันยังไม่ขึ้นมา

    ท่านพูดซ้ำอีกว่า "บรรจุเสีย"

    "ทำอย่างไรขอรับกระผม"

    "ไหนเอามาซิ"

    ยื่นถวายท่าน ท่านจับไม้ขีดไฟมาทำการเผาเสีย และพูดต่อว่า

    "หนังสือธรรมะสวดมนต์ที่ตกหล่นขาดวิ่นใช้ไม่ได้แล้ว ก็ให้รีบบรรจุเสีย กลัวคนไปเหยียบย่ำ จะเป็นบาป"

    ผู้เล่าเลยพูดไปว่า "พระพุทธเจ้าเป็นแขกอินเดียนะกระผม"

    ท่านตอบ "หือ คนไม่มีตาเขียน เอาพระพุทธเจ้าไปเป็นแขกหัวโตได้"

    ท่านกล่าวต่อไปว่า

    "อันนี้ได้พิจารณาแล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย พระอนุพุทธสาวกในยุคพุทธกาล ตลอดถึงยุคปัจจุบัน ล้วนแต่ไทยทั้งนั้น ชนชาติอื่น แม้แต่สรณคมน์และศีล 5 เขาก็ไม่รู้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ดูไกลความจริงเอามากๆ เราได้เล่าให้เธอฟังแล้วว่า ชนชาติไทย คือ ชาวมคธ รวมรัฐต่างๆ มีรัฐสักกะ เป็นต้น หนีการล้างเผ่าพันธุ์มาในยุคนั้น และชนชาติพม่า คือ ชาวรัฐโกศล เป็นรัฐใหญ่ รวมทั้งรัฐเล็กๆ จะเป็นวัชชี มัลละ เจติ เป็นต้น ก็ทะลักหนีตายจากผู้ยิ่งใหญ่ด้วยโมหะ อวิชชา มาผสมผสานเป็นมอญ (มัลละ) เป็นชนชาติต่างๆ ในพม่าในปัจจุบัน"

    "ส่วนรัฐสักกะใกล้กับรัฐมคธ ก็รวมกันอพยพมาสุวรรณภูมิ ตามสายญาติที่เดินทางมาแสวงโชคล่วงหน้าก่อนแล้ว"

    ผู้เล่าเลยพูดขึ้นว่า "ปัจจุบัน พอจะแยกชนชาติในไทยได้ไหม ขอรับกระผม"

    "ไม่รู้สิ อาจเป็นชาวเชียงใหม่ ชาวเชียงตุงในพม่าก็ได้"

    ขณะนั้นท่านวันขึ้นไปพอดี ตอนท้ายก่อนจบ ท่านเลยสรุปว่า

    "อันนี้ (หมายถึงตัวท่าน) ได้พิจารณาแล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น"

    ผู้เล่าพูดอีกว่า "แขกอินเดียทุกวันนี้คือพวกไหน ขอรับกระผม"

    ท่านบอก "พวกอิสลามที่มาไล่ฆ่าเราน่ะสิ"

    "ถ้าเช่นนั้นศาสน์พราหมณ์ ฮินดู เจ้าแม่กาลี การลอยบาปแม่น้ำคงคา ทำไมจึงยังมีอยู่ รวมทั้งภาษาสันสกฤตด้วย"

    "อันนั้นเป็นของเก่า เขาเห็นว่าดี บางพวกก็ยอมรับเอาไปสืบต่อๆ กันมาจนปัจจุบัน ส่วนพวกเรา พระพุทธเจ้าสอนให้ละทิ้งหมดแล้ว เราหนีมาอยู่ทางนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรก็ทำตาม"

    ท่านยังพูดคำแรงๆ ว่า "คุณตาบอดตาจาวหรือ เมืองเรา วัดวา ศาสนา พระสงฆ์ สามเณร เต็มบ้านเต็มเมืองไม่เห็นหรือ" (ตาบอดตาจาว เป็นคำที่ท่านจะกล่าวเฉพาะกับผู้เล่า)

    "แขกอินเดียเขามีเหมือนเมืองไทยไหม ไม่มี มีแต่จะทำลาย โชคดีที่อังกฤษมาปกครอง เขาออกกฎหมายห้ามทำลายโบราณวัตถุ โบราณสถาน แต่ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่มีร่องรอยให้เราเห็น อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลย ตัวเธอเองนั่นแหละ ถ้าได้ไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จ้างเธอก็ไม่ไปเกิด"

    "ของเหล่านี้นั้น ต้องไปตามวาสตามวงศ์ตระกูล อย่างเช่น วงศ์พระพุทธศาสนาของเรานั้น เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยตระกูล เป็นวงศ์ที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติ คุณแปลธรรมบทมาแล้ว คำว่า ปุคฺคลฺโล ปุริสาธญฺโญ ลองแปลดูซิว่า พระพุทธจะเกิดในมัชฌิมประเทศ หรืออะไรที่ไหนก็แล้วแต่ จะเป็นที่อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม ทุกแห่งตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์ ถึงวันนั้นพวกเราอาจจะไปอยู่อินเดียก็ได้"

    "พระพุทธเจ้าทรงวางพุทธศาสนาไว้ จะเป็นระหว่างพุทธันดรก็ดี สุญญกัปปก็ดี ที่ไม่มีพระพุทธศาสนา แต่ชนชาติที่ได้เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยประเพณี อริยนิสัย ก็ยังสืบต่อไปอยู่ ถึงจะขาด ก็ขาดแต่ผู้ได้สำเร็จมรรคผลเท่านั้น เพราะว่าจากบรมครู ต้องรอบรมครูมาตรัสรู้ จึงว่ากันใหม่"

    ผู้เล่าได้ฟังมาด้วยประการฉะนี้แล
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ความเป็นมาของชาวไทย

    [​IMG]


    พระปฐมเจดีย์เป็นเจติยสถานที่ตั้งอยู่ในประเทศสุวรรณภูมิ ที่เรียกว่า "แหลมทอง" คือประเทศไทยในปัจจุบัน

    ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาครั้งที่ 3 นั้น พิเศษคือ มีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถอันกว้างไกล เห็นว่า พระพุทธศาสนามารวมเป็นกระจุกอยู่ที่ชมพูทวีป หากมีอันเป็นไปจากเภทภัยต่างๆ พระพุทธศาสนาอาจสูญสิ้นก็ได้ จึงมีพระประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ สำหรับพระสงฆ์สายต่างๆ ผู้เล่าจะไม่นำมากล่าว จะกล่าวเฉพาะที่มายังสุวรรณภูมิประเทศ ตามที่ท่านพระอาจารย์เล่าให้ฟัง

    ท่านที่เป็นหัวหน้ามาสุวรรณภูมิคราวนั้น ตามประวัติศาสตร์ที่ได้จารึกไว้ คือ ท่านพระโสณะ และท่านพระอุตตระ

    การส่งพระสงฆ์ไปประกาศพุทธศาสนาคราวสังคายนาครั้งที่ 3 นั้น อย่าเข้าใจว่า จัดแจงบริขารลงในบาตรและย่าม ครองผ้าเสร็จก็ออกเดินทางได้ ต้องมีการจัดการเป็นคณะมากพอสมควร รวมทั้งพระสหจร และสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ด้วยเป็นกระบวนใหญ่ การเดินทางรอนแรมระยะไกลไปต่างประเทศ พระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้า และสหจร ท่านคงมีสายญาติ และญาติโยมผู้เคารพนับถือตามไปด้วย คงไม่ปล่อยให้ท่านเหล่านั้น เดินทางไปลำบาก ต้องมีคณะติดตามเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือหุงหาเสบียงอาหารในระหว่างเดินทาง อีกอย่างหนึ่ง หากพบภูมิประเทศที่เหมาะสม ก็ตั้งถิ่นฐานแสวงโชคอยู่ที่สุวรรณภูมิประเทศได้ จึงได้พากันมาเป็นกระบวนใหญ่

    ชนชาติเจ้าของถิ่นเดิม ที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิประเทศมีอยู่แล้ว แต่คงไม่มาก หากมีอันตรายจากสัตว์ร้าย และเภทภัยต่างๆ มาย่ำยีเบียดเบียน การป้องกันก็ลำบาก เพราะกำลังไม่พอ นครปฐมคงเป็นที่รวมชุมชน กระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนักแสวงโชคจากชมพูทวีป คงเอาที่นั้นเป็นจุดเริ่มต้น ชาวสุวรรณภูมิก็คงได้ยินกิตติศัพท์เช่นกัน จึงต้อนรับด้วยความยินดี

    การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ดี การแสวงโชคของญาติโยมที่ตามมาก็ดี ได้รับการสนับสนุนด้วยดี ประกอบกับผืนแผ่นดินก็กว้างใหญ่ไพศาลอุดมสมบูรณ์ ชาวประชาถิ่นเดิมก็ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย และศีล5 มีการสร้างวัดถวาย คงเป็นวัดพระปฐมเจดีย์เดี๋ยวนี้ ส่วนนักแสวงโชคก็คงประกอบสัมมาอาชีพไปตามความสามารถ และปฏิบัติพระสงฆ์ไปด้วยพร้อมๆ กัน นี้คือชนชาวชมพูทวีปที่ได้เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก

    นักแสวงโชคเหล่านั้น เมื่อประสบโชคแล้ว แทนที่จะหยุดอยู่แค่นั้น ก็นึกถึงญาติๆ ทางชมพูทวีป กลับไปบอกข่าวสารแก่ญาติๆ จึงมีการอพยพย้ายถิ่นฐานตามกันมาอีก

    ลุศักราชประมาณ 500 ถึง 900 ปี หลังพุทธปรินิพพาน อาเพศเหตุร้ายก็เริ่มเกิดขึ้น เนื่องจากชนชาติชาวเปอร์เซีย ในปัจจุบัน คือ แถบตะวันออกกลาง เกิดมีลัทธิอย่างหนึ่งขึ้นมา ในปัจจุบันคือ ศาสนาอิสลาม ได้จัดขบวนทัพอันเกรียงไกร รุกรานเข้าสู่ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน อินเดียสมัยนั้น มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งอาศัยของชาวชมพูทวีปทั้ง7รัฐ รวมทั้งชาวศากยวงศ์ของพระองค์ อยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง การเตรียมรบจึงไม่เพียงพอ เมื่อกองทัพอันเกรียงไกรยกเข้ามา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบสิ้นชาติก็เกิดขึ้น การหนีตายอย่างทุลักทุเลของรัฐเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยนาลันทาเอย พระเวฬุวันเอย พระเชตวันเอย บุพพารามเอย รวมทั้งพระสงฆ์เป็นหมื่นๆ ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้แล้ว ตายเป็นเบือราบเรียบเป็นหน้ากลอง

    ชาวรัฐโกศลและรัฐเล็กรัฐน้อย เช่น ลิจฉวี มัลละ ก็ทะลักเข้าสู่ดินแดนชเวดากอง คือ พม่า มอญ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน ชาวมคธรัฐ มีเมืองราชคฤห์เป็นราชธานี ก็หนีตามสายญาติที่เดินทางมาก่อนแล้ว มุ่งสู่สุวรรณภูมิ รวมทั้งรัฐเล็กรัฐน้อย มีรัฐสักกะ โกลิยะ และอื่นๆ ก็ติดตามมาด้วย แยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปทางโยนกประเทศ คือ รัฐฉาน ปัจจุบันอยู่ในพม่า และเลยไปถึงมณฑลยูนนานของประเทศจีน

    รัฐใหญ่ในครั้งพุทธกาล คือ รัฐมคธ เป็นไทยในปัจจุบัน รัฐโกศล คือ พม่า (เมียนมาร์ในปัจจุบัน) ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พม่าและไทย พระพุทธเจ้าทรงโปรดและตรัสสอนเป็นพิเศษ สองประเทศนี้จึงมีพระพุทธศาสนาที่มั่นคงมายาวนาน และจะยาวนานต่อไป แต่พม่าเป็นเมืองเศรษฐีอุปถัมภ์ สมัยเป็นชาวโกศล ก็มีคหบดี คือ ท่านอนาถบิณฑิกะและนางวิสาขาเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่ไทยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พิเศษกว่าพม่า

    ชาวพม่ามีอุปนิสัยทุกอย่าง โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ เหมือนคนไทย เป็นมิตรคู่รักคู่แค้น จะฆ่ากันก็ไม่ได้ จะรักกันก็ไม่ลง ท่านว่าอย่างนี้ สมัยพุทธกาล รัฐมคธมีปัญหาอะไรก็ช่วยกัน บางคราวก็รบกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มาเป็นไทยเป็นพม่า ก็รบกัน ประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้แล้ว

    ส่วนพระปฐมเจดีย์นั้น ผู้เล่ากราบเรียนถามท่านพระอาจารย์ ท่านตอบว่า คงจะสร้างเป็นอนุสรณ์การนำพระพุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก ฟังแต่ชื่อก็แล้วกัน ปฐมก็คือที่หนึ่ง คือ พระเจดีย์องค์แรก ท่านกล่าวต่อไปว่า คงบรรจุพระธาตุพระอรหันต์รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุด้วย เมื่อมีการบูรณะแต่ละครั้ง ผู้จารึกเรื่องราว มักบันทึกเป็นปัจจุบันเสีย ประวัติศาสตร์เบื้องต้นจึงไม่ติดต่อ ขาดเป็นขั้นเป็นตอนว่า คนนั้นสร้างบ้าง คนนี้สร้างบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น

    คำพูดแต่ละยุค มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ย้อนถอยหลังกลับไป คำว่า ประเทศพม่า คนไทยจะไม่รู้จัก รู้จักพม่าว่า เมืองมัณฑะเลย์หรือหงสาวดี และคนพม่าก็จะไม่รู้จักคำว่า ประเทศไทย จะรู้จักไทยว่า เมืองอโยธยา เรื่องราวเหล่านี้ ผู้เล่าได้ฟังมาจากท่านพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ชอบ

    ต่อไปจะได้เล่าเรื่องชนชาวไทย ชนชาวลาว

    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ชาวลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็คือชาวนครราชคฤห์ หรือรัฐมคธ เช่นเดียวกับชาวไทย ไทยและลาวจึงเป็นเชื้อชาติเดียวกัน แต่หนีตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาคนละสาย ลาวเข้าสู่แดนจีน จีนจึงเรียกว่า พวกฮวน คือ คนป่าคนเถื่อนที่หนีเข้ามา โดยชาวจีนไม่ยอมรับ จึงมีการขับไล่เกิดขึ้น (ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้ว่า ไทยมาจากจีน เห็นจะเป็นตอนนี้กระมัง)

    ความจำเป็นเกิดขึ้น จึงมีการต่อสู้แบบจนตรอก ถอยร่นลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ตามสายญาติ คือ ไทย สู่สิบสองจุไทย สิบสองปันนา หนองแส และแคว้นหลวงพระบาง ปัจจุบันก็ยังมีคนไทยตกค้างอยู่

    พอถอยร่นลงมาถึงนครหลวงพระบาง เห็นว่าปลอดภัยแล้ว และภูมิประเทศก็คล้ายกับนครราชคฤห์ จึงได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น และอยู่ใกล้ญาติที่สุวรรณภูมิด้วย คือ นครปฐม เป็นพวกที่มาตั้งอยู่ก่อน และพวกที่เข้ามาตอนหนีตายคราวนั้น

    การสร้างบ้านแปลงเมืองเป็นมาโดยราบรื่น โดยให้ชื่อว่า "กรุงศรีสัตตนาคนหุต" (เมืองล้านช้าง) จนถึงพระเจ้าโพธิสารเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์มีราชโอรส 2 พระองค์ ชื่อเสียงท่านไม่ได้บอกไว้ พอเจริญวัย พระเจ้าโพธิสารทรงเห็นว่า เมืองปัจจุบันคับแคบ มีภูเขาล้อมรอบ ขยายขอบเขตยาก การเกษตรกรรมทำนาไม่เพียงพอ และเพื่อเป็นการขยายอาณาจักรด้วย จึงส่งราชโอรสองค์ใหญ่ ไปตามลำแม่น้ำโขง มาถึงเวียงจันทน์ จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้น มีเมืองหลวงชื่อว่า "กรุงจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต"

    ส่วนพระราชโอรสองค์น้อง ได้ไปตามลำน้ำน่าน มาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่สุโขทัย โดยมีเมืองหลวง ชื่อว่า "กรุงสุโขทัย" ท่านพระอาจารย์แปลให้ฟังด้วยว่า "สุโขทัย" แปลว่า "ไทยเป็นสุข" เหตุที่อยู่ที่นี้เพราะปัจจัยในการครองชีพเอื้ออำนวย และใกล้ญาติทางนครปฐม ไปมาหาสู่ก็สะดวก ท่านว่าอย่างนี้

    นครปฐมก็มีเมืองหลวง คือ "ทวาราวดีศรีอยุธยา" ที่เรียกว่า ยุคทวาราวดี นั่นเอง เวียงจันทน์จึงเป็นพระเจ้าพี่ สุโขทัยเป็นพระเจ้าน้อง นครปฐม สุโขทัย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ก็คือ ชนชาติชาวราชคฤห์ในครั้งพุทธกาลนั่นเอง

    การอพยพหนีตายคราวนั้น บางพวกลงเรือข้ามทะเล ไปขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราชก็มี ซึ่งมีพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นสักขีพยานว่า ชาวใต้ทั้งหมดก็เป็นชนชาติรัฐมคธในครั้งพุทธกาล เหมือนกันกับชาวพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ก็คือ ชาวโกศล ในครั้งพุทธกาลนั้นเอง
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอรหันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]


    ท่านพระอาจารย์เล่าว่า พระอริยบุคคลในยุครัชกาลที่ 4 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ 4 นั้นเอง เป็นองค์แรก

    ท่านเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระสหาย เพื่อปลดเปลื้องคำปฏิญญาที่พระพุทธเจ้าได้ให้ไว้ เมื่อเสด็จออกผนวชครั้งแรก (พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบพระโพธิสัตว์สิทธัตถะเมื่อทรงออกผนวชแล้ว และได้ตรัสปฏิญญาว่า "ถ้าพระองค์ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงเสด็จมาที่แว่นแคว้นของหม่อมฉันก่อน" พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงรับปฏิญญาของพระเจ้าพิมพิสารไว้ -ภิเนษกรมณ์)

    พระชาติปัจจุบันของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นชาติที่ 7 ชาติสุดท้าย ทรงแตกฉานในจตุปฏิสัมภิทาญาณ อย่างสมบูรณ์แบบในยุคนี้

    ท่านพระอาจารย์ยกตัวอย่าง ความสามารถที่ไม่มีใครเทียบสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า แต่ก่อนพวกบัณฑิตที่เรียนบาลี คือ มูลกัจจายน์คัมภีร์ สนธิ-นาม ต้องเรียนถึง 3 ปี จึงแปลบาลีออก สมเด็จฯ ทรงรจนาบาลีไวยกรณ์ให้กุลบุตรเล่าเรียน ในปัจจุบัน 3 เดือน ก็แปลหนังสือบาลีออก นั่นอัศจรรย์ไหมท่าน

    ท่านพระอาจารย์เล่าต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงรจนาวินัยมุขเล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมตรี จิตของพระองค์กำหนดวิปัสสนาญาณ 3 ที่กล่าวมาแล้ว คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ได้บรรลุชั้นสกิทาคามี

    ต่อมาพระองค์เสด็จประพาสสวนหลวง เมืองเพชรบุรี ทรงรจนาธรรมวิจารณ์ พระหฤทัยของพระองค์ก็บรรลุพระอนาคามี

    พระองค์ทรงมีภาระมาก ดูจะทรงรีบเร่งเพื่อจัดการศึกษา และปฏิบัติสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ประกอบกับสุขภาพของพระองค์ ก็อย่างที่พวกเราเห็นในพระฉายาลักษณ์นั้นเอง ดูจะทรงงานมาก ผอมไป และยุคนั้นการแพทย์ก็ไม่เจริญ แต่พระองค์ก็บำเพ็ญกรณียกิจ จนเข้ารูปเข้ารอย จนพวกเราสามารถจะประสานต่อไปได้ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นสังขารของพระองค์ ว่าไปไม่ไหวแล้ว จึงเร่งวิปัสสนาญาณ สำเร็จพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน

    นี่คือคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่นที่ผู้เล่าได้ฟังมา
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

    [​IMG]


    เรื่องนี้เกิดขึ้นที่วัดป่าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ชื่อ คำดี ซึ่งเป็นน้องชายของพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ท่านเป็นคนช่างพูด มักถามนั่นถามนี่กับท่านพระอาจารย์ ผู้เล่าเป็นผู้ช่วยอุปัฏฐาก ไม่ค่อยพูดจา เพราะขณะนั้นยังใหม่อยู่

    วันหนึ่งท่านคำดีได้พูดปรารภขึ้นว่า "ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ น่าอัศจรรย์ กระผมอ่านพุทธประวัติแล้ว ขนลุกชูชัน"

    ท่านพระอาจารย์ก็รับว่า "จริงอย่างนั้น อันนี้(หมายถึงตัวท่าน)ได้พิจารณาแล้ว และได้อ่านพุทธประวัติที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาไว้เป็นแบบเล่าเรียนศึกษา พระองค์ทรงได้แย้มความมหัศจรรย์เอาไว้ตั้งแต่ทรงออกผนวชครั้งแรก จนถึงวันตรัสรู้ แต่ผู้ศึกษาไม่ซึ้งถึงพระประสงค์ของพระองค์ ว่าเป็นอย่างไร"

    ท่านว่า "อันนี้ได้พิจารณาแล้ว สมเด็จฯ พระองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์แห่งยุคสองพันกว่าปี ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีปราชญ์ใดๆ เทียม"

    ท่านพระอาจารย์มั่น ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์นี้ว่า เป็นพระสาวกผู้ทรงไว้ซึ่งจตุปฏิสัมภิทาญาณสมบูรณ์แบบ ในยุคพุทธศาสนาผ่านมาได้ 2,000 กว่าปี คือ พระองค์เดียวเท่านั้น

    ดูท่านพระอาจารย์จะยกย่องเอามากๆ ขนาดกล่าวว่า พระองค์ทรงรจนาหลักสูตรนักธรรมบาลี ให้กุลบุตรได้รับการศึกษา จากพระไตรปิฎกไม่ผิดเพี้ยน ทั้งย่อและพิสดารได้อย่างเข้าใจ ใช้ภาษาง่ายๆ และไพเราะมาก จะเป็นปัญญาชนหรือสามัญชนอ่าน ก็เข้าใจได้ทันที

    ท่านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพรรณนาความตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา อาการของพระมหาบุรุษปรากฏว่า ขณะที่บรรดาพระสนมทรงขับกล่อม บำเรอ ไม่ทรงเพลิดเพลิน แล้วทรงบรรทมหลับไป เมื่อตื่นบรรทม ทางเห็นอาการวิปลาสของพระสนมว่า บางคนมีพิณพาดอก บางคนตกอยู่ข้างรักแร้ เปลือยกาย สยายผม บ่นเพ้อพึมพำ น้ำลายไหล ปรากฏในพระหฤทัย เหมือนซากศพผีดิบในป่าช้า

    พระอาจารย์มั่นท่านว่า ขณะนั้นพระหฤทัยของพระองค์ พิจารณากิจในอริยสัจ 4 อย่าง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่อริยมรรค ต่อมาภายหลังทรงบัญญัติเรียกว่า อริยโสดาบัน จึงตัดสินพระทัยว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว จึงเสด็จออกผนวชในคืนนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จเข้าสู่มคธรัฐ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

    ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ตอนไปทรงศึกษากับดาบสทั้งสองนั้น จิตของพระองค์ก็บรรลุมรรคที่สอง คือ สกิทาคามี

    ผู้เล่าสงสัยขึ้นในใจว่า แล้วอย่างนั้นการบรรลุธรรมครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า จะไม่สมกับคำว่า "ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง" ดอกหรือ

    แต่ไม่ทันได้เรียนถาม ท่านแถลงก่อนว่า

    "ดาบสทั้งสองได้ฌานสมาบัติ 7-8 อรูปพรหมเท่านั้น แต่ท่านทั้งสองขาดวิปัสสนา ปัญญาญาณ ซึ่งไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์สำหรับพระองค์ จึงเป็นครูของพระองค์ไม่ได้"

    ท่านพระอาจารย์ว่าอย่างนี้

    ท่านพรรณนาถึงพุทธประวัติไว้หลายวาระ จะนำมากล่าวสักสองวาระ

    พระอาจารย์มักพูดพลางหัวเราะด้วยความชอบใจ ในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า ทรงกดพระตาลุด้วยพระชิวหา เมื่อลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เดินไม่สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ในช่องพระกรรณทั้งสอง ทำให้เกิดทุกขเวทนากล้าจนปวดพระเศียร เสียดในพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง ก็ยังไม่สามารถจะตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวาระใหม่ โดยผ่อนพระกระยาหารลงจนไม่เสวยเลย จนพระวรกายผอมโซ ซูบซีด ขุมเส้นพระโลมาเน่า ทรงลูบเส้นพระโลมาก็หลุด เพราะขุมขนเน่า มีกำลังน้อย ทรงดำเนินไปมาก็เซล้ม มีผิวดำคล้ำ จนมหาชนพากันโจษขานกันไปต่างๆ นานา

    ก่อนท่านจะพูดต่อ ก็มีอาการยิ้ม หัวเราะ ออกเสียงพอเหมาะ ดูคล้ายท่านจะพอใจในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า

    "มหาชนบางพวกพอเห็นก็กล่าวขวัญกัน ว่าทรงดำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่าไม่ใช่ดำ คล้ำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่คล้ำ พร้อยไปบ้าง อย่างนี้ จนเหลือกำลังที่บุรุษไหนจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ จึงได้อุปมา 4 ข้อ ในพระหฤทัย ทรงเสวยพระกระยาหาร ทรงมีกำลัง"

    ท่านพระอาจารย์ว่า ตอนพระองค์ทรงเริ่มวิปัสสนาญาณ เป็นคำรบสาม พระหฤทัยของพระองค์ก็ทรงกระทำญาณ 3 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เหมือนสองวาระแรก จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่มรรคที่สาม คือ อนาคามีมรรค

    ท่านเล่าว่า มหาบุรุษอย่างพระองค์ ทรงกระทำอะไรไม่สูญเปล่า

    อา....เรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณนี้ ท่านอธิบายได้ละเอียดวิจิตรพิสดาร มาเชื่อมโยงตั้งแต่ เอเต เต ภิกขเวฯ มัชฌิมา ปฏิปทา ฯ ลฯ จนถึง ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ถึง อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ

    พระมหาบุรุษอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ พระบารมีของพระองค์ทรงบำเพ็ญมาพอแล้ว ด้านปัญจวัคคีย์ก็เบื่อหน่าย หนีจากพระองค์ไป ความวิเวกก็เกิดขึ้น วันเพ็ญ เดือน 6 แห่งฤกษ์วิสาขะก็มาถึง นางสุชาดาจะแก้บน จึงถวายข้าวมธุปายาสในภาชนะซึ่งเป็นถาดทองคำ เพื่อให้มั่นพระทัย พระองค์จึงอธิษฐานลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชราว่า

    "ถ้าจะได้ตรัสรู้ในวันนี้ ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำ"

    คำข้าวมธุปายาสก็มี 49 คำพอดี พอจะรักษาพระวรกายของพระองค์ไปได้ตลอด 49 วัน ท่านพูดอย่างนี้

    เมื่อความพร้อมทุกอย่าง ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นสัพพัญญุตัญญาณ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ก็เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6นี้แล โดยไม่มีใครมาแสดงอ้างว่าเป็นครูหรือเป็นศาสดาของพระองค์เลย

    ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า

    "จู่ๆ มาถึงวันนั้น จะมาตรัสรู้เลยทีเดียวไม่ได้ พระองค์ได้พื้นฐานหลักประกันความมั่นคงแล้ว ตั้งแต่อยู่ในปราสาท วันเสด็จออกผนวชนั้นแล มิฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงกระทบกระทั่งต่อสัญญาอารมณ์ต่างๆ ในระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร คงถอยหลังกลับไปเสวยราชสมบัติอีก เพราะเบื้องหลังของพระองค์ก็พร้อมอยู่ จึงถอยไม่ได้ เพราะมีหลักประกันแล้ว" ท่านอธิบายจนจบ

    ผู้เล่าเฉลียวใจว่า "ถ้าอย่างนั้น ยสกุลบุตร ก็คงสำเร็จมาจากปราสาทล่ะสิ"

    "ยสกุลบุตร เป็นไปไม่ได้ เพราะวิสัยอนุพุทธะ ต้องฟังก่อนจึงจะรู้ได้ ไม่เหมือนสัมพุทธะอย่างพระพุทธเจ้า"

    แล้วท่านยังเตือนผู้เล่าว่า "ปฏิบัติไปหากมีอะไรเกิดขึ้น จงใช้สติกับปัญญา สติกับปัญญา สติกับปัญญา" ย้ำถึง 3 ครั้ง

    "รับรองว่าไม่ผิดแน่ เพราะทุกวันนี้มีแต่ครูคือ พระธรรมวินัย ขาดครูคือ เจ้าของพระธรรมวินัย คือ บรมครู"

    ท่านว่าอย่างนี้
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สู่วงศ์พระพุทธศาสนา

    [​IMG]



    หลังจากการทำสงครามยึดนครจำปาศักดิ์สิ้นสุดลง มีนายทหารท่านหนึ่งมากราบท่านพระอาจารย์มั่น ด้วยความเลื่อมใส มาถึงตอนเช้าก็ถวายทาน ปกติระเบียบของท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าแขกมาอย่างนี้น่ะ ท่านจะให้มาเวลาเช้า เวลานี้ท่านจะต้องให้ต้อนรับ แต่ถ้าเลิกฉันบิณฑบาตแล้วหมดเวลา จนถึงบ่าย 3 โมง และจะต้องมีผู้นำมา ถ้าไม่มีผู้นำ ท่านไม่ให้เข้ามา

    ทีนี้ท่านมาคนเดียว ขึ้นไปกราบนมัสการแล้ว ท่านก็รายงานตามแบบทหาร ชื่อนั้น ชื่อนี้ ยศท่าน เท่านี้ ท่านพระอาจารย์มั่นก็เทศนาเกี่ยวกับ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออกจากกาม โทษของกาม หลังจากท่านเทศน์จบก็ลากลับ

    พอตกค่ำ หลังจากอบรมพระเณรเสร็จแล้ว ผู้เล่าได้เข้าไปปฏิบัติท่าน ถวายการนวด ท่านก็ปรารภเปรยๆ ขึ้นว่า

    "อันนี้ได้เหตุล่ะนะ" (อันนี้หมายถึงตัวท่าน) วันนั้นตอนเช้าใกล้จะสว่าง ท่านกำลังทำสมาธิอยู่ ก็มีนิมิตปรากฏว่า มีนายพันคนหนึ่ง มารายงานตัวว่า ผมมาจากวอชิงตัน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้พิจารณาอะไรไรอก บังเอิญมาพบนายพันทหารไทยคนนี้ ท่านก็จึงหวนพิจารณา

    ได้ความว่า นายพันทหารไทยคนนี้น่ะ สมัยสงครามโลกครั้งที่1 ไปรบอยู่ที่ประเทศเยอรมัน มียศเป็นนายพันทหารเหมือนกัน เป็นคนอเมริกัน และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ส่งทหารไทยไปรบอยู่ที่เยอรมันนั้นเอง อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

    สมัยนั้น เวลาพักรบน่ะ พักจริงๆ ขนาดทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารเยอรมันจุดบุหรี่ด้วยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ หลังจากพักรบแล้ว นายพันทหารไทยก็มานอนอ่านหนังสืออยู่ที่เปล นายพันทหารอเมริกันก็เข้ามาถาม

    "อ่านหนังสืออะไร"

    นายพันทหารไทย

    "อ่านหนังสือเรื่อง เบญจศีล เบญจธรรม เขียนโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส"

    "ผมอยากรู้ อธิบายให้ผมฟังได้ไหม"

    นายทหารไทยก็อธิบายให้ฟัง แกก็เลื่อมใส พูดว่า "ผมถือคริสต์ ผมจะปฏิบัติอย่างนี้ได้ไหม"

    "ขึ้นชื่อว่าความดีนี้ ไม่เลือก จะนับถืออะไรก็ทำได้" ทหารไทยตอบ

    แกก็เลยสมาทานศีล 5 กลับไปอเมริกา ไปสิ้นชีวิตลงที่นั่น

    ด้วยอานิสงส์ของการรักษาศีล 5 นี้ ก็พลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนา พอพลัดเข้ามาแล้ว ก็ยังได้มาเป็นนายพันทหารอีกเหมือนกัน คือ ท่านพันเอก นิ่ม ชโยดม คนที่มาเมื่อเช้านั่นแหละ เธอต้องการอยากจะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน

    เธอพูดกับท่านพระอาจารย์ว่า "จะได้ปิดประตูอบายภูมิ จะเป็นไปได้ไหมท่านอาจารย์"

    ท่านตอบว่า "สำหรับผู้ปฏิบัติ ก็คงจะได้กระมัง"

    เธอก็ยังสงสัยลังเลอยู่ ยังไม่มั่นใจ พอกลับไปกราบท่านพระอาจารย์ ครั้งที่ 2 ก็ถามอีก ครั้งที่ 3 ก็ถามอีก ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเหมือนเดิม

    หลังจากนายพันเอกนิ่มกลับไปแล้ว ขณะผู้เล่าถวายการนวดอยู่ ท่านพูดว่า

    "เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะบารมียังอ่อน เขาเป็นพาหิราศาสนา ศาสนาภายนอก มาหลายภพหลายชาติ ด้วยอานิสงส์ที่รักษาศีล 5 ในพระพุทธศาสนา จึงพลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนา ต้องมาเกิดในประเทศไทยนี้ถึง 2 ชาติเสียก่อน จึงจะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน เพราะบารมียังอ่อน"

    (พันเอกนิ่ม ชโยดม เกิดเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2440 ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2460 สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จออกรับราชการ ในปี พ.ศ.2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นขุนนิมมานกลยุทธ

    ประมาณปีพ.ศ. 2490-2492 ย้ายไปรับราชการเป็นผู้บังคับการทหารบกอุบลราชธานี ในโอกาสออกตรวจเยี่ยมหน่วยทหาร ท่านได้ถือโอกาสเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

    ครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว มีคนมาต้อนรับและนำไปพักยังศาลาที่จัดเตรียมรอไว้ โดยมีที่นอนเตรียมไว้พอดีกับจำนวนคนที่ร่วมคณะทั้งหมด ซึ่งมี 8 คน พอสอบถามก็ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งเตรียมไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่กลางวันแล้วว่า จะมีคณะมาพัก 8 คน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านพักเอกนิ่มอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก

    เมื่อเกษียณแล้ว ท่านมักไปถือศีลปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ฯ ลฯ เรื่อยมาจนชราภาพมากจึงหยุดไป และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2531

    -เรียบเรียงโดยภิเนษกรมณ์ จากประวัติพันเอกนิ่ม ชโยดม และบทสัมภาษณ์คุณณรงค์ ชโยดม บุตรชายคนโตของ พันเอกนิ่ม ชโยดม )
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คนไทยเป็นบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลก

    [​IMG]


    คืนหนึ่ง หลังจากเทศน์อบรมพระเณรจบลง ท่านพระอาจารย์เข้าพักผ่อน ผู้เล่าถวายการนวด เรื่องพันเอกนิ่ม ชโยดม คล้ายกับค้างอยู่ยังไม่จบ ความเป็นคนไทย นับถือพระพุทธศาสนา เข้าสู่พุทธวงศ์ (หรือเข้าสู่วงจรชาวพุทธ) มิใช่เป็นของได้ง่ายๆ ท่านเลยยกพุทธภาษิตที่มาจากคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกายว่า

    กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ

    ภาษิตที่ยกมานั้น ท่านเอามงคลสูตรมากล่าว ตั้งแต่อเสวนาเป็นต้นไป จนถึง ผุฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ ฯ ลฯ เป็นอวสาน มงคลที่ท่านย้ำเป็นพิเศษ คือ บท 2 ปฏิรูปเทสวาโส ฯ ลฯ บท 3 และ 4 ทานญฺจ ฯ ลฯ อนวชฺชานิ กมฺมานิ เพราะ 4 บทนี้ เป็นพื้นฐานของมงคลทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปเทสนี้ สำคัญมาก ท่านดูจะหมายเอาประเทศไทยโดยเฉพาะ

    พอท่านอธิบายจบแต่ละมงคล ก็จะย้ำเป็นบาลีว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถึง 3 ครั้ง และเป็นภาษาไทยว่า เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ ถึง 3 ครั้ง

    ครั้งสุดท้าย พอขึ้น ผุฏฺฐสฺ โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นั่นละ ถึงเป็นมงคลถึงที่สุด คือ พระนิพพานเลย

    ท่านพูดต่อว่า "ความเป็นคนไทย...พร้อม"

    พร้อมอย่างไร

    ท่านจะอ้างอิงตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎกพร้อมมูล ประเทศไทยไม่เคยอดอยากหิวโหย ตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทุกยุคทุกสมัย ชาวไทยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถวายจตุปัจจัยพระสงฆ์ทุกวัน นับมูลค่าไม่ได้

    ทำไมคนไทยจึงมีกินมีใช้ มิใช่บุญหรือ บุญมีจริงไหม มีข้าวกล้าในนางาม ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ในป่ามีไม้ มีปลาในน้ำ มีสัตว์บนบก มีนกในอากาศ มิใช่บุญเกิดจากการถวายทานพระสงฆ์ในแต่ละวันหรือ

    ธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่น มักจะยกการทำนามาเป็นเครื่องอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบเกือบจะไม่ว่างเว้นเลย และอธิบายเรื่องการทำนาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก คงจะได้พบในมุตโตทัย

    ผู้เล่าจะนำมาเล่าเท่าที่จำได้ เช่น การปฏิบัติธรรมถูก ก็ถูกมาแต่ต้น ท่านหมายถึง ผู้ปฏิบัติ คือ ไม่ลืมคำสอนที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้แต่วันบวช การทำนาก็เหมือนกัน

    "ถูกมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าจึงมี ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี"

    "คำเหลืองสร้อยซิเป็นฮอยหิห่ำ ข้าวก่ำเป็นข้าวพั้ว งัวสิให้ต่อควาย"

    คำนี้ท่านเปรียบผู้เรียนรู้มากแล้วลาสิกขาออกไป เปรียบด้วยข้าวในนาจวนจะสุกอยู่แล้ว เลยถูกหนอนคอรวงกัดกินเสียหายหมด เลยไม่ได้กินสูญเปล่า
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พุทธภาษา

    มคธภาษาหรือบาลีภาษา เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาโดยเฉพาะ เรียกว่า "พุทธภาษา"

    วันหนึ่งผู้เล่ากลับบ้านถิ่นกำเนิด เพื่อทำบุญให้มารดาผู้บังเกิดเกล้า กลับมานมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ได้โอกาสขอนิสัยตามวินัยกรรม กล่าวคำขอนิสัย จบประโยคว่า "นิสฺสาย อสฺสามิ"

    "ผิด เป็น 'วจฺฉามิ' จึงจะถูก"

    ท่านเตือน

    ผู้เล่าคิดว่า พวกชาวมคธเวลาเขาพูดกัน เขาพูดอย่างนี้ แสดงขั้นสูงหรือคำสูง นิเทศ แสดงออกเป็นอุเทศ เป็นพุทธภาษา นิเทศแสดงแก่ชาวมคธก่อน ปฏินิเทศแสดงเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก อย่างกว้างขวาง อุปมาอุปไมย เพื่อให้ชาวโลกเข้าใจเนื้อหาแห่งพระธรรมนั้นๆ

    เมื่อพระพุทธศาสนานี้หมดลง ภาษานี้ก็จะอันตรธานไปด้วย จนกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาตรัสรู้ ก็ตรัสรู้ด้วยภาษานี้ มิฉะนั้นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะภาษาชาติต่างๆ ใครก็พูดได้ เหตุนี้จึงเรียกว่า มคธภาษา เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเผยแพร่แก่ชนชาวมคธเป็นครั้งแรก

    ชาวมคธ คือใคร ก็คือ ชาวไทยนี้แหละ ดูแต่ภาษาที่เราพูดกันแต่ละคำ ทั้งภาษาสามัญ และภาษาทางการ ล้วนแต่พุทธภาษาทั้งนั้น ฉะนั้นไม่มีชาติไหนจะพูดเขียนภาษานี้ได้ถูกต้องที่สุด พร้อมทั้งอักขรฐานกรณ์ ทั้งภาคพยางค์ เพราะชาวมคธยอมรับนับถือนำมาใช้ก่อน จึงเรียกว่า มคธภาษา

    จำเป็นต้องคงพุทธภาษานี้ไว้ เพราะทรงไว้ซึ่งพุทธวจนะหรือพระไตรปิฎก ถ้าใช้ภาษาของชาติต่างๆ ที่แปลออกมาแล้ว ผู้ปฏิบัติเห็นแก่ง่าย จะตีความเข้าข้างตนเองมากขึ้น พุทธวจนะก็วิปริตได้ จะแปลเป็นภาษาของชาติไหนๆ แต่พุทธภาษาก็ยังคงกำกับไว้อยู่ เช่น ภาษาไทยฉบับบาลี หรือ ชาติอื่นๆ เช่น อังกฤษ ก็มีบาลีภาษากำกับ

    ทุกชาติจึงเรียก บาลีภาษา คือ รักษาไว้ซึ่งพุทธวจนะนั่นเอง

    พุทธภาษา เป็นภาษาที่มีอักขระ คือ สระ และ พยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ไม่ขาดไม่เกิน ไม่เหมือนภาษาสามัญ เช่น อักษรไทยเกินไป อักษรอังกฤษไม่พอ

    จึงเรียกว่า "ตันติภาษา" ภาษาที่มีระเบียบแบบแผน สืบทอดกันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ บัณฑิตนักบาลีไวยากรณ์รู้ดี เพราะบัณฑิตเหล่านี้เป็นบัณฑิตโดยเฉพาะ "ตสฺสตฺโถ ปณฺฑิเตน เวทิตพฺโพ" ภาษานี้เป็นภาษาท่องจำ สังวัธยาย สวดมนต์ และบันทึกลงเป็นอักษร ทั้งกระดาษ ใบลาน และวัสดุที่ควรต่างๆ ไม่ใช่ภาษาที่ชาติใดๆ ใช้พูดกันในโลก

    พุทธภาษานี้มีความมหัศจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสได้ 8 คำ พระอานนท์พูดได้ 1 คำ พระอานนท์พูดได้ 8 คำ สามัญชนพูดได้ 1 คำ

    อุทาหรณ์ ประเทศไทยเป็น "ปฏิรูปเทส" พระพุทธเจ้าตรัสว่า

    ปฏิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา

    อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

    สามัญชนพูดได้คำเดียวนี้ คือ ความมหัศจรรย์ของพุทธภาษา หากเป็นภาษาสามัญชน ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นของมหัศจรรย์

    นี่คือคำพูดของท่านพระอาจารย์มั่น ที่ผู้เล่าได้ฟังมา
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บำบัดอาพาธด้วยธรรม

    ปกติท่านพระอาจารย์มั่นจะจากวัดที่อยู่จำพรรษา จาริกสู่ที่เป็นที่เที่ยวไป ก็ต้องสิ้นฤดูกาลกฐินเสียก่อน เมื่อท่านพระอาจารย์ปรารภจะเปลี่ยนสถานที่ เพราะอยู่บ้านนามน บ้านโคกศรีสุพรรณมานานแล้ว มีหลายสำนักที่ศิษย์ไปจัดถวายไว้ แต่ท่านปรารภจะไปสำนักป่าบ้านห้วยแคน ห่างไม่เกิน 10 ก.ม.

    พอได้เวลาก็ออกเดินทาง พระไปส่งหลายรูป ท่านส่งกลับหมด ผู้เล่าโชคดีได้อยู่ 2 องค์กับท่าน มีตาปะขาวอีกคนหนึ่งชื่อแดง ความเป็นอยู่ก็สะดวกสบายตามอัตภาพ แม้ชาวบ้านยากจน แต่เขาก็ไม่ให้ท่านพระอาจารย์ยากจนด้วย จึงมีเหลือฉันทุกวัน มิหนำโยมที่ไปถวายบิณฑบาต ขาไปเต็มกระติบ ขากลับก็ยังเหลือเต็มกระติบ เพราะหมู่บ้านใกล้เคียงได้ข่าว ก็มาใส่บาตรบ้าง บ้านนั้นบ้าง บ้านนี้บ้าง มีอาจารย์วิริยังค์ อาจารย์เนตร อาจารย์มนู นำมาบ้าง

    บางวันมีกิจกรรมบูรณะ หรือซักสบงจีวร ท่านเหล่านั้นก็ช่วยกันทำให้เสร็จก่อนจึงกลับ หากเป็นวันลงอุโบสถ พระลูกศิษย์ที่พำนักในที่ต่างๆ จะมารวมกัน รูปที่อยู่ไกลหน่อยก็มาพักแรม นำญาติโยมหาบเสบียงมาพักแรม ทำอาหารบิณฑบาตถวายด้วยเสมอมา จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเจริญสมณธรรม

    หนึ่งเดือนผ่านไป อากาศเริ่มหนาวจัด ท่านพระอาจารย์ปรารภจะทำซุ้มไฟ ผู้เล่าบิณฑบาตได้ มาฉันกับท่านแล้ว ช่วยกันทำกับชาวบ้าน วันสองวันก็เสร็จ

    ประมาณเริ่มเดือนยี่ ท่านเริ่มไม่สบาย มีอาการคอตั้ง เอียงซ้ายขวายาก โรคนี้คล้ายเป็นโรคประจำ แต่ไม่เป็นบ่อย มาสกลนครหลายปีก็เพิ่งจะเป็นครั้งนี้ ก็เช่นเคย ท่านบ่นถึงพระมหาทองสุก ผู้เล่าเลยให้โยมไปนิมนต์ท่านๆ พักวัดป่าบ้านห้วยหีบ และท่านอาจารย์สอ สุมงฺคโล ด้วย ท่านอยู่บ้านนามน ท่านทั้งสองก็เดินทางมาวันนั้นเลย

    พอมาถึง ทั้งชาวบ้านและผ้าขาวแดง ระดมกันหายา มีเปลือกแดง เปลือกดู่ ใบเป๊า ใบพลับพลึง (ใบหัวว่านชนอีสาน) ใบการบูร (ใบหนาดโคกอีสาน) มาสับมาโขลกละเอียดดีแล้ว ตั้งหม้อห่อยาวางบนปากหม้อ ร้อนแล้วเอาผ้ารองวางประคบบนบ่า ไหล่บ้าง หลังบ้าง หน้าอกบ้าง บนศีรษะบ้าง

    6 วันผ่านไป ท่านก็ยังออกบิณฑบาตทุกวัน ผู้เล่านอนพักที่ซุ้มไฟกับท่าน ตั้งแต่เริ่มไม่สบาย

    พอรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 7 ท่านตื่นเวลา 03.00 น. เป็นปกติ ปลุกผู้เล่าลุกขึ้นสุมไฟ เพราะไฟอ่อนแสงแล้ว ท่านล้างหน้า ครองผ้า สวดมนต์ แล้วก็นั่งสมาธิต่อ จะต้มยาถวายเหมือนทุกวัน ท่านไม่เอา ผู้เล่าก็ไหว้พระนั่งภาวนา จะนอนก็อายท่าน ตลอด 6 วันที่ผ่านมา มีเวลานอนไม่พอ นั่งสัปหงกตลอดรุ่ง หลับๆ ตื่นๆ พอสว่างจัดบริขารออกบิณฑบาต พระพยาบาลที่มาพักค้างด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่องบิณฑบาต เพราะพระที่อยู่ในรัศมีใกล้ จะพาญาติโยมมาอังคาส (ดูแลการถวายภัตตาหาร) เต็มที่

    ตกตอนเย็นหลังจากเดินจงกรมแล้ว ท่านเข้าซุ้มไฟ ผู้เล่าเข้าไปก่อน เตรียมปูเสื่อสำหรับหมู่คณะ พอได้เวลาจะต้มยา ท่านว่าไม่ต้อง ค่อยยังชั่วแล้ว ต่อจากนั้นท่านก็เริ่มอธิบายธรรมะ ยกเป็นภาษาบาลีแรกว่า "อฏฺฐ เตรส" แล้วท่านถามท่านสอ (ท่านอาจารย์สอ สุมงฺคโล ต่อมาท่านมรณภาพที่วัดป่าบ้านหนองผือ)

    "แปลว่าอะไร"

    ท่านสอว่า "กระผมไม่รู้ภาษาบาลี"

    "หือ" ท่านมหาทองสุก เข้าให้แล้ว

    ท่านมหาก็อ้ำๆ อึ้งๆ ด้วยความเกรงว่าจะเป็นการอวดฉลาด

    "แปลให้ฟังก่อนนา ท่านมหาเรียนมาแล้ว กลัวทำไม"

    ท่านมหาตอบ "อฏฺฐ แปลว่า 8 เตรส แปลว่า 13 ขอรับกระผม"

    "ถูกต้อง สมเป็นมหาจริงๆ " ท่านว่า

    ท่านอธิบายว่า "อาพาธคราวนี้ บำบัดด้วย มรรค 8 และธุดงค์ 13 เป็นมรรคสามัคคีกัน"

    ต่อจากนั้นธรรมเทศนาใหญ่ก็เกิดขึ้น พระที่อยู่ในรัศมีใกล้ยังไม่กลับ ประมาณ 15 รูป ซุ้มไฟบรรจุเต็มที่จะนั่งได้ 20 รูป ท่านอธิบายมรรค 8 สัมพันธ์กับธุดงค์ 13 อย่างมีระบบ เป็นวงจรเหมือนลูกโซ่ ซึ่งผู้เล่าและพระในนั้นก็ไม่เคยฟัง 2 ชั่วโมงเต็ม พอเลิกต่างก็พูดกันว่า โชคดี เพราะไม่เคยฟัง

    เดือน 3 ย่างเข้ามา ท่านพระอาจารย์ก็หายเป็นปกติ เพื่อนบรรพชิตต่างก็ทยอยกันกลับสำนักเดิม ทั้งนี้เพื่อท่านพระอาจารย์จะได้วิเวกจริงๆ คงมีผู้เล่าและผ้าขาวแดงเท่านั้น ก็สะดวกดี เพราะทั้งผู้เล่าและผ้าขาว ก็เป็นบุคคลสัปปายะของท่านอยู่ ซุ้มไฟยังไม่รื้อ อากาศยังหนาวอยู่

    (เรื่องนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นเมื่อ ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคกและบ้านนามนติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีแล้ว คือ พ.ศ. 2485-2487 เมื่อออกพรรษาแล้วปลายปี พ.ศ.2487 ท่านจึงย้ายมาอยู่ที่วัดป่าบ้านห้วยแคน ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านโคกและบ้านนามน ไม่เกิน 10 ก.ม. และพักอยู่ที่นี่ติดต่อกันประมาณ 4 เดือน จึงเดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ - ภิเนษกรมณ์)
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จากบ้านห้วยแคน

    [​IMG]


    วันหนึ่งประมาณ 20.00 น.เศษๆ กำลังนั่งอยู่ในซุ้มไฟกับท่านพระอาจารย์ เสียงเครื่องบินกระหึ่มขึ้น บินผ่านหัวไป ท่านบอกให้ผู้เล่าพรางไฟ ผู้เล่าหาอะไรไม่ทันก็เอาจีวรคลุมโปง สองมือกางออกยืนคร่อมกองไฟไว้ จนกว่าเครื่องบินจะบินผ่านไป วนไปวนมา 2-3 ครั้ง ช่างนานเสียเหลือเกิน

    ตื่นเช้าไปบิณฑบาต จึงรู้ว่ามีการจัดตั้งกองโจร ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไป เครื่องบินนำเอาอาวุธยุทธปัจจัยมาให้ฝึกพลพรรค การเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์จึงเกิดขึ้น เช่น เกณฑ์คนไปฝึกอาวุธ เกณฑ์เสบียง รู้กันอยู่ว่าปีนั้นฝนแล้ง ข้าวมีน้อย แต่ถูกเกณฑ์ไปให้พลพรรค แม่บ้านต้องหาขุดกลอยขุดมันกินแทนข้าว พระเณรก็ฉันอย่างนั้น ทุกข์แทบเลือดตากระเด็น แต่ผู้มีอำนาจและพลพรรคเหลือกินเหลือใช้ เพราะส่งมาจากต่างประเทศโดยเครื่องบิน สงคราม คือ การเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง บังคับขู่เข็ญ

    เดือน 3 ผ่านไป ซุ้มไฟถูกรื้อถอน เพราะอากาศอบอุ่นขึ้นแล้ว พอเดือน 4 มีชาวบ้านหนองผือประมาณ 5 คน ได้ขึ้นมาที่ศาลาที่ท่านพักอยู่ กราบนมัสการแล้วยื่นจดหมายถวาย ท่านยื่นให้ผู้เล่าอ่านให้ฟัง


    พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร

    เนื้อความในจดหมาย ขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ไปพักที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านตอบรับทันที สั่งให้เตรียมข้าวของ

    ชาวบ้านเขาบอก "ไม่ใช่ให้ท่านพระอาจารย์ไปวันนี้ จะกลับไปบอกพระอาจารย์หลุย (พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร) เสียก่อน แล้วท่านจะจัดคนมารับ พระอาจารย์หลุยสั่งอย่างนี้"

    "เออ ดีเหมือนกัน เราก็ยังไม่ได้บอกหมู่ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เพ็ญ หมู่จะมาลงอุโบสถกัน บอกหมู่แล้วก็ให้โยมมาวันนั้น พักแรมหนึ่งคืน วันแรมค่ำหนึ่งเราก็ออกเดินทางกัน"

    ผู้เล่าไม่เคยคิด เพิ่งรู้ว่าวิสัยสัตตบุรุษ ไม่ยอมละทิ้งหมู่ เช่น ตอนที่ท่านอาพาธหนัก จะจากพรรณานิคมไปสกลนคร (พักวัดป่าสุทธาวาส) ยังพูดกับโยมที่มารับว่า

    "หมู่ล่ะ จะไปกันอย่างไร"

    คุณวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ กราบเรียนว่า "ได้เตรียมรถรับส่งตลอด มีเท่าไหร่เอาไปให้หมด"

    ท่านพระอาจารย์ว่า "ถ้าอย่างนั้นเอาพวกเราไป"

    หลังทำอุโบสถแล้ว ท่านบอกว่า

    "อีกไม่นานถิ่นนี้จะมีแต่ทหารเต็มไปหมด ใครจะอยู่ ใครจะไป ก็ตามใจ"

    (ปี พ.ศ.2487 ท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้นปี พ.ศ.2488 ได้ส่งโยมไปกราบอาราธนานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่ได้เดินทางย้ายไปจำพรรษาที่อื่นอีกเลยตลอด 5 พรรษา จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2492 ท่านอาพาธหนัก จึงพากันหามท่านเดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านภู่ (วัดกลางโนนภู่ในปัจจุบัน) ประมาณ 10 วัน แล้วนิมนต์เดินทางต่อโดยรถไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส และท่านก็ได้มรณภาพในคืนวันนั้นเอง - ภิเนษกรมณ์)
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เมตตาชาวบ้านห้วยแคน

    4 เดือนให้หลังแห่งการอยู่บ้านห้วยแคน ท่านได้แนะนำชาวบ้านว่า ข้าวเกิดจากดิน ไถคราดแผ่นดิน หว่านลงบนดิน ปักดำลงบนดิน บุกเบิกชำระดินให้เตียนดี ไถดิน ดินแล้วดินเล่า ก็คนนี่แหละทำ บ้านอื่นเขาก็คน เราก็คนเหมือนกัน เขามีข้าวกิน เราอดข้าวกิน มันอะไรกัน ทำนองนี้แหละที่ท่านพระอาจารย์สั่งสอน

    วันจากบ้านห้วยแคนสู่บ้านหนองผือ ผู้หญิงร้องไห้ ผู้ชายบางคน เช่น ผู้ใหญ่ฝันก็ร้องไห้ คร่ำครวญว่า

    "เป็นเพราะพวกเรายากจน ท่านจึงไม่อยู่ด้วย"

    ท่านก็ว่า "เราอยู่มาแล้ว 4 เดือน พวกท่านอดอยาก แต่พระก็ได้ฉันทุกวัน อยู่แผ่นดินเดียวกัน คิดถึงก็ไปเยี่ยมยามถามข่าวกันได้" ท่านว่า

    สองปีผ่านไป ขบวนเกวียนลำเลียงข้าวเปลือก และข้าวสาร พร้อมวัตถุอันบุคคลพึงบริโภค ก็ลำเลียงจากบ้านห้วยแคนสู่วัดป่าบ้านหนองผือ ดินแดนท่านพระอาจารย์มั่น พักเกวียนไว้ริมทาง ใกล้หมู่บ้านริมทุ่ง ผูกล่ามวัวให้อาหารวัว หาฟืนหุงหาอาหารเลี้ยงดูกัน

    เวลาเช้า ถวายบิณฑบาตท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมพระสงฆ์ ฟังเทศน์เสร็จแล้ว ถวายข้าวเปลือกหลายกระสอบและข้าวสาร อันเป็นผลผลิตจากน้ำมือชาวบ้าน

    ท่านถาม "อะไรกันนี่"

    เขาตอบ "พวกกระผมชาวบ้านห้วยแคน แต่ก่อนอดอยาก เดี๋ยวนี้ไม่อดแล้ว เพราะฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์ว่า ให้เอาข้าวกล้าหว่านดำลงบนดิน บัดนี้พวกกระผมได้ทำลงบนดิน ได้ข้าวมาถวาย ตอบแทนบุญคุณท่านที่สอนพวกกระผม ให้ได้กินได้ใช้ ไม่ต้องเอาลึมกระบอง (ขี้ไต้มัดรวมกัน 10 อัน) ไปแลกบ้านอื่นอีกแล้ว"

    พักอีกหนึ่งคืน ถวายทานเสร็จ ชาวบ้านห้วยแคนก็กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นยกขบวนเกวียนกลับ
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เทพบอกใส่บาตร

    เมื่อท่านพระอาจารย์ออกเดินทาง จากวัดป่าบ้านห้วยแคน สู่วัดป่าบ้านหนองผือ เริ่มออกเดินทางเดือน 4 แรมค่ำหนึ่ง

    วันแรก พักวัดบ้านนากับแก้ วันที่สอง พักวัดบ้านโพนนาก้างปลา สองคืนแรก เดินทางปกติไม่มีเหตุการณ์ วันที่สาม พักศาลากลางบ้านของกรมทางหลวง ศาลานี้ตั้งอยู่บ้านลาดกะเฌอ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ขณะนั้นยังไม่เป็นหมู่บ้าน เป็นปางเลี้ยงวัวเลี้ยงควายของชาวสกลนคร ทำเลเหมาะแก่การพักของคนเดินทาง มีบ่อน้ำให้ดื่มให้ใช้

    ท่านพระอาจารย์ไปถึงก็แวะพัก ขณะไปถึงนั้นเป็นเวลาประมาณ 13.00 น. มีพระและผ้าขาวติดตาม ชาวบ้านหนองผืออีก 12 คน รวมทั้งท่าน เป็น 21 คน พระช่วยกันปัดกวาด ญาติโยมนำน้ำมาไว้ดื่มไว้ใช้ ปูที่พักถวายท่านเสร็จ

    หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ท่านพระอาจารย์ก็นั่งเฉย เอนนอนเฉยอยู่ ชาวบ้านหนองผือผู้เป็นหัวหน้าไปรับ เป็นคนใจร้อน คิดว่า ถ้าท่านพระอาจารย์พักอยู่นี้ จะฉันอะไร คนตั้งมากมาย จึงเข้าไปกราบนมัสการ ขอนิมนต์เดินทางต่อไปพักบ้านโพนงาม ระยะทางประมาณ 7-8 ก.ม. จะได้ทันเวลา

    ท่านบอกว่า "เราไม่ไป เขาเป็นชาวบ้านป่าชาวเขา เราพักอยู่นี้ เขาจะได้กินได้ทาน" หากท่านพระอาจารย์ว่า "ไม่" แล้วอย่าได้พูดซ้ำอีก

    ตอนเย็น ชาวบ้านก็นำอาหารมาเลี้ยงแขกโยม พอเช้าได้เวลา ท่านพระอาจารย์และพระสงฆ์เที่ยวบิณฑบาต มีคนนำไปเพราะเป็นปางควายปางวัว บ้านแต่ละหลังมีทางลัดแคบๆ พอสมควรแล้วคนก็นำกลับ ขณะกำลังถวายน้ำล้างเท้าท่านพระอาจารย์ ก็ได้ยินเสียงรถยนต์กำลังตรงเข้ามา

    ท่านและคณะกำลังนั่งจัดบาตร ชาวลาดกะเฌอ ดูจะเป็นผู้ชายมากกว่า เพราะไปรักษาสัตว์ ไม่ใช่ไปตั้งบ้านเรือน ก็มาถึงประมาณ 5-6 ครอบครัว ท่านแขวงกรมทางหลวงขึ้นมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ว่า

    "พวกกระผมชวนกันมากินข้าวป่า เป็นบุญของพวกกระผม ที่ได้มาพบท่านพระอาจารย์"

    เขาไม่รู้หรอกว่า นั่นคือ พระอาจารย์มั่น แต่เขาเป็นผู้ดีไทย กราบเรียนว่า

    "พระคุณท่านไม่ต้องหนักใจว่า มาพักที่กระผม มารบกวนพวกกระผม เป็นบุญของพวกกระผมแท้ๆ "

    แล้วสั่งลูกน้องเอาหม้อข้าว หม้อแกง ปิ่นโต นำถวายท่านพระอาจารย์ร่วมกับชาวบ้าน

    มีเนื้อสัตว์ป่าทุกชนิด นับตั้งแต่เนื้อกวาง จนถึงตะกวด กระรอก กระแต อีเห็น ไก่ป่า สารพัดเนื้อสัตว์ ชาวสกลนครเขาเป็นคนมีมารยาทอ่อนน้อม น่ารัก และพูดจาก็เหมือนผู้ดี คอยแนะนำ นี่เนื้อนั้น นั่นเนื้อนี้ มีทั้งต้มทั้งแกง แต่ส่วนมากแล้วเป็นเนื้อปิ้ง

    ยถา สพฺพี ฯ ลฯ ฉันเสร็จแล้ว ท่านแขวงฯ ขึ้นไปกราบนมัสการพร้อมคณะว่า

    "ความจริงพวกกระผมไม่ได้ตั้งใจมา พอดีผู้ช่วยไปยืนบอกหน้าบันไดตอนมืดแล้ว จำได้แต่เสียงว่า พรุ่งนี้เราไปกินข้าวป่าที่ลาดกะเฌอกัน ผมนัดชาวปางเขาไว้แล้ว ก็เลยตกลง"

    ฝ่ายผู้ช่วยก็บอกว่า "ท่านแขวงฯ ให้เด็กไปบอกว่า พรุ่งนี้เราไปกินข้าวป่าที่ลาดกะเฌอกัน ผมเลยให้แม่บ้านจัดอาหารแต่เช้า เสียงเอ็ดตะโรทั้งพ่อบ้านแม่บ้านว่า คนนั้นไปบอก คนนี้ไปบอก แซดกันไปหมด ไม่ได้ขึ้นไปบอกข้างบน ได้ยินแต่เสียงอยู่ข้างล่าง ว่าเป็นเสียงคนนั้นคนนี้ พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว ต่างคนปฏิเสธลั่นว่า ผมไม่ได้ไปบอก ดิฉันไม่ได้ไปบอก เลยงงไปตามๆ กัน"

    ท่านแขวงฯ ก็เลยพูดว่า "ถ้าอย่างนั้นใครไปบอก" แล้วมองไปที่ท่านพระอาจารย์

    ท่านพระอาจารย์ตอบว่า "ถ้าไม่มีใครไปบอก ก็คงเป็นเทพนั่นซิ"

    เท่านี้เรื่องก็เป็นอันยุติ

    เลี้ยงอาหารกันต่อทั้งคณะแขวงการทาง คณะท่านพระอาจารย์ และชาวบ้านทั้งหมด รับประทานกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ท่านแขวงฯ บ่นเสียดาย ไม่มีถนนไปโพนงาม ถ้าไปสกลฯ หรือสร้างค้อ ท่านจะนำส่งตลอด จากนั้นต่างอำลาแล้วก็เดินทางต่อ

    คืนที่สี่ นอนพักบ้านวัดบ้านกุดน้ำใส ตำบลนาใน (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอกุดบาก) ฉันเช้าเสร็จเดินทางต่อถึงบ้านหนองผือ ก่อนท่านพระอาจารย์จะไปถึง พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร สั่งพระเณร แม้ทั้งหมาและแมว ให้หนีออกจากวัด ว่างไปประมาณ 2 วัน แต่วัตถุใช้สอยครบและหาง่าย

    ที่พักของท่าน เป็นกระท่อมเล็กๆ ไม่สะดวก ท่านพระอาจารย์อยู่กระท่อมเล็กๆ จำเพาะองค์ได้เสียเมื่อไร ไหนพระอุปัฏฐาก ไหนญาติโยม จะไปนั่งเบียดท่านหรือ

    หญ้าคา ไม้ไผ่ไม่ทุบเปลือกไม่อด ช่วยกันทำแค่ 10 วัน ได้ถึง 5 ห้อง ยังดูท่านลำบากตลอดพรรษา พระใกล้ชิดและผ้าขาว ช่วยกันต่อห้องถวาย พอพระอุปัฏฐากนั่งได้

    พอออกพรรษา ท่านเลยไปพักอยู่มุมศาลา ช่วยกันทำผ้ากั้น แต่ก็ลำบาก เพราะต้องใช้เป็นที่ฉันด้วย ทำสังฆกรรมด้วย ดีหน่อยตรงที่เวลามีกิจกรรม ได้ที่พอเท่านั้น
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เป็นอยู่ระหว่างสงคราม

    ปวารณาออกพรรษาแล้ว คำว่ากฐินผ้าป่าไม่ต้องกล่าวถึง เพราะอยู่ในภาวะสงคราม ผ้าพื้นบ้านมีอยู่ แต่จำกัด เป็นผ้าด้ายหยาบธรรมดาๆ ในความรู้สึกของพระสงฆ์ ไม่มีค่านิยม แต่ท่านพระอาจารย์ทำเป็นตัวอย่าง นำมาทำเป็นสบงขันธ์ ทำเป็นจีวรใช้ แต่ไม่ทำเป็นสังฆาฏิ

    ท่านบอกว่า "แต่ก่อนเราก็ใช้ผ้าอย่างนี้ ไม่มีผ้าเจ๊กผ้าจีน เรายังสืบทอดศาสนามาได้"

    ตั้งแต่นั้นมา พระเลยไม่อดจีวรใช้กัน

    ไม้ขีดไฟก็ต้องแบ่งก้านกัน กลักเปล่าเก็บไว้ เทียนไข แบ่งเล่มเวลาจะใช้ จะจุดบุหรี่ก็นับดูว่ามีถึง 5 คนไหม ถ้าไม่ถึงก็จุดไม่ได้ ไม่คุ้มค่า เวลาไปห้องน้ำ ได้ท่าดีแล้ว ต้องดับเทียนไว้ก่อน หรืออยู่ในห้องนอน สงสัยว่าจะมีสัตว์อันตราย จึงจุดไฟไปดู เป็นต้น
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ไม่หยุดจะหนี

    เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณครึ่งเดือน ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หน่วยกองโจรพลพรรคก็ยกเข้าไปตั้งค่าย อยู่ห่างประมาณกิโลเมตรเศษๆ เสียงปืน เสียงระเบิด ไม่มีหูเข้าหูออก ทั้งกลางวันกลางคืน ผู้รักสันติอย่างท่านพระอาจารย์ สู้ด้วยวิธีการดังผู้เล่าจะเล่าต่อไปนี้

    เข้าพรรษาผ่านไปแล้วประมาณ 17 วัน วันนั้น ดูท่าทางท่านขรึม เวลาไปบิณฑบาต ปกติท่านจะชี้นั่นชี้นี่ อธิบายไปด้วย วันนั้นเงียบขรึม จุดที่รับบิณฑบาตมีม้านั่งยาวสำหรับนั่งให้พร ยถา สพฺพี ฯ เสร็จ ท่านเอ่ยถามชาวบ้านว่า

    "ป่านี้ข้าศึกศัตรูก็ไม่มี เขายิงอะไรกัน"

    ชาวบ้านตอบ "ไม่ทราบครับกระผม"

    ท่านว่า "ป่านี้มันเป็นดงเสือ ป่าเสือ หรือว่าเขาอยากยิงเสือ"

    ว่าแล้วก็ลุกขึ้นไปบิณฑบาต ตลอด 4 แห่งก็พูดอย่างนั้น

    ตกตอนเย็น พอสิ้นแสงอาทิตย์ ทั้งเสียงปืน ทั้งเสียงระเบิด ก็ดังสนั่นกึกก้องตลอดทั้งคืนจนกระทั่งรุ่งสาง มีพลพรรคเป็นไข้ตายในบังเกอร์ 2 คน อีก 3 คน กระเสือกกระสนออกไปตายอยู่บ้านตนเอง 3 ศพ รวมเป็น 5 ศพ

    ครูอุทัย สุพลวณิชย์ ชาวหนองผือ มาเล่าให้ฟังว่า พอสิ้นแสงอาทิตย์ มองไปทิศไหนก็มีแต่เสือทั้งนั้น ชนิดลายพาดกลอน ทั้งแยกเขี้ยว คิ้วขมวดใส่ เป็นร้อยๆ พันๆ ถ้าเสียงระเบิดเสียงปืนซาลงเมื่อไร เสียงเสือยิ่งเข้ามาใกล้ เลยหยุดยิงไม่ได้ ยิงปืนจนรุ่งสาง พอสว่างเสือตัวเดียวก็ไม่มีแม้แต่รอย

    ลองคิดถึงคำพูดของท่านพระอาจารย์ดูซิ ว่าข้าศึกศัตรูก็ไม่มี เขายิงอะไร ที่นี่มีแต่ดงเสือ เขาอยากยิงเสือหรือ และได้ยิงจริงๆ ด้วย สู้กองพลเสือไม่ได้ แตกหนีตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ กองโจรพลพรรคก็ไม่เห็นหน้ากลับมาอีก

    การฝึกพลพรรค ใครๆ ก็กลัวตาย มาขอร้องกำนัน ให้มากราบเรียนท่านพระอาจารย์ ขอให้ทำหลอดตะกรุดและผ้ายันต์ ท่านทำอยู่ 15 วัน ก็สั่งหยุดอย่างกะทันหัน ยังบอกกำนันว่า ท่านหยุดแล้ว หากกำนันไม่หยุด ท่านจะหนีกลางพรรษา ถือว่าเป็นภัยทางพระวินัย เป็นอันยุติแต่วันนั้น

    ผู้เล่าไม่รู้ไม่เฉลียวใจ จนผ่านมาหลายปี กองโจรพลพรรคได้กลายมาเป็นกองโจรคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ จึงรู้ว่าท่านเล็งเห็นแล้วว่า พวกนี้เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ผู้เป็นสัตตบุรุษ จึงไม่สนับสนุน
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สร้างกุฏิ

    [​IMG]


    ปี พ.ศ.2488 สงครามโลกเพิ่งยุติลง แต่อะไรๆ ก็ยังหายากอยู่ ผ้าก็ยังคงใช้ผ้าพื้นบ้านตามปกติ ท่านพระอาจารย์ก็ยังคงพักที่ศาลา (ที่วัดป่าบ้านหนองผือ - ภิเนษกรมณ์) ความบกพร่อง ความไม่พร้อม ยังคงมีอยู่ แต่ท่านพระอาจารย์ก็ทนได้ สิ่งที่พร้อม คือ เสนาสนะ เพราะไม้มีมาก แต่คนไม่พร้อม

    ทั้งพระทั้งชาวบ้านกินง่ายๆ อยู่ง่ายๆ แต่หากฉุกคิดสักหน่อยว่า ควรจะทำกุฏิถวายท่านให้ดีกว่าที่เห็น มีห้องพักฤดูร้อน มีลมโกรก มีที่นั่งดื่มน้ำร้อน มีที่พักกลางวัน ฤดูหนาวติดไฟได้น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ขาดผู้นำที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ ขนส่งก็ลำบากจึงอดเอา

    กว่าจะได้มาเป็นกุฏิหลังเล็กๆ 2 หลัง ที่เห็นก็เกือบตาย ผู้เล่าเที่ยวชักชวนชาวบ้านนำออกเลื่อยไม้ในป่า ได้คนเข้าเป็นคู่ พอได้ไม้โครงเสร็จ จะนำเข้าวัดก็ไม่ง่าย เด็กเลี้ยงควาย ความรู้ประถม 2 อายุ 22 พรรษา 2 ทำไมอาจหาญชาญชัยนักก็ไม่รู้

    การนำไม้เข้าวัด หากไม่มีความคิด ไม่มีหวัง การจะสร้างกุฏิถวายท่าน โดยไปปรารภให้ท่านฟังก่อนก็ไม่มีทางเป็นไปได้ การนำไม้เข้า ต้องมีใบรับรองจากป่าไม้อำเภอ และอย่าพูดว่าจะเอามาสร้างกุฏิ ต้องบอกว่า ชาวบ้านคนหนึ่งเขาสร้างบ้าน มีไม้เหลืออยากถวายวัด

    ท่านก็ว่า "ศรัทธามีก็เอามา"

    หากท่านถามหาใบอนุญาต ก็ต้องเอาให้ท่านดู โชคดีวันนั้น กำนันนำใบอนุญาตมาให้ เหน็บอยู่ที่ประคดเอวผู้เล่า ท่านขอดูก็เอาให้ดูได้ทันที ท่านดูแล้วก็ส่งคืน

    ความเกียจคร้านของคนสมัยนั้น ขนไม้เข้าวัดแล้ว มีแต่ไม้โครง แต่ไม่มีเสา ทิ้งไว้วันแล้ววันเล่า ผู้เล่าจะชักชวนวิ่งเต้นอย่างไร ก็บอกกันแต่ว่า พรุ่งนี้ก่อนๆ ไม่สิ้นสุดสักที

    วันนั้นมาถึงเข้า ท่านฉันเสร็จ เดินลงมาจะไปห้องน้ำ ยืนดูกองไม้ ขณะนั้นมีโยม 3-4 คน พร้อมผู้เล่าติดตามไป พอเห็น ท่านก็พูดแรงๆ ว่า

    "ใครเอาไม้มากองไว้นี่ มันรกวัด จะทำอะไรก็ไม่เห็นทำ เสาก็ไม่มี เอาคนหรือเป็นเสา คนนั้นไปยืนนั่น คนนี้ไปยืนนี่ อย่างนั้นหรือ รีบขนออกไป ใครจะเลื่อยเอาไปแบ่งกันก็เอาไป"

    ท่านว่าแล้ว ก็ทั้งรู้สึกกลัว ทั้งขบขัน เอาคนมาเป็นเสา 5-6 วันให้หลังก็ได้เสามา พุทโธ่เอ๋ย ช่างไร้สติเสียจริงๆ ทีนี้เสามาแล้ว ไม่มีใครทำ อ้างแต่ว่า ทำไม่เป็นๆ ทั้งพระทั้งโยม

    เด็กเลี้ยงควายประถม 2 ผู้กล้าหาญชาญชัยเหมือนเดิม ตัดสินใจให้โยมเอาต้นหญ้าสาบเสือมา เอาตอกมัดโครงสร้างขึ้น พระอาจารย์เดินมาเห็น ท่านถามว่า

    "จะทำอะไร"

    เรียนท่านว่า "จะสร้างกระต๊อบด้วยไม้ที่มีอยู่ กระผม"

    "นี้หรือแบบ"

    "กระผม"

    "เออ ใช้ได้" ท่านว่า ฟังแล้วก็แสนจะดีใจ

    "ปลูกที่ไหนเล่า"

    "ปลูกที่นี่ขอรับกระผม"

    ที่ๆ มีผู้ไปนมัสการเห็นอยู่ตอนนี้ล่ะ แต่ก่อนมีต้นหว้าอยู่ข้างหลัง เวลาบ่ายมีนกเขามาขันทุกวัน เรียนว่า

    "นกเขามาขันที่ต้นหว้านี้ทุกวัน จะได้ฟังเสียงนกเขา"

    ท่านว่า "เออดี ปลูกก็ปลูก"

    เริ่มโครงสร้างได้ 2 วัน พระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ มาพอดี ผู้เล่าโล่งอก เราไม่ตายแล้ว พรุ่งนี้ฉันเช้าเสร็จ พระอาจารย์พรหมก็ไปสั่งการ ใช้แกนถ่ายไฟฉายขีดเส้น เจาะตรงนั้น ผ่าตรงนี้ ทั้งโยมทั้งพระระดมกันใหญ่เลย ประมาณ 10 วัน ก็เสร็จเรียบร้อย

    ชาวบ้านขอนิมนต์ท่านพระอาจารย์ขึ้นไปอยู่ ท่านบอกว่า

    "ไม้ยังใหม่อยู่ ยังไม่คลายกลิ่น หมดกลิ่นไม้ก่อนค่อยไป"

    ตั้งแต่วันท่านพระอาจารย์ไปอยู่จนบัดนี้ ไปกราบนมัสการคราวใด ขนหัวลุก ทั้งละอาย คิดไม่ถูก ควรทำให้ลักษณะดีกว่านี้ นี่พอเป็นรูปโกโรโกโส ทั้งสลดทั้งสังเวชตัวเอง เด็กประถม 2 เด็กเลี้ยงควายบ้านนอก ทำไมแกมาอาจหาญชาญชัยให้ผู้ดีมีเกียรติมาดูหัวคิดฝีมือของแกได้ เป็นจิตสำนึกมาจนบัดนี้
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การสรรหาเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะจังหวัด

    [​IMG]
    พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) แถวหน้า ซ้าย
    พระธรรมเจดีย์ (จูมพนฺธุโล) แถวหน้า ขวา


    เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลหมากแข้ง และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ว่างลง ความทราบถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สถิต ณ วัดราชบพิธฯ ให้สรรหาผู้สมควร แต่ควรเป็นคนทางภาคอีสาน ไม่มีใครนอกจากพระจันทร์ (จันทร์ เขมิโย) กับพระมหาจูม (จูม พนฺธุโล) วัดเทพศิรินทร์ โปรดให้นำตัวเข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นตรัสว่า

    "พระจันทร์ มีวุฒิแค่นักธรรมตรี อายุพรรษาก็มากอยู่ แต่วุฒิการศึกษาไม่เข้าเกณฑ์ จะเป็นเจ้าคณะมณฑล เป็นเจ้าคณะจังหวัดได้ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครพนม"

    "ส่วนพระมหาจูม เปรียญ 3 นักธรรมโทเข้าเกณฑ์ แต่อายุแค่ 28 พรรษา 8 อายุพรรษายังน้อยนัก จะไหวหรือ"

    นี้คือพระดำรัส แต่ไม่มีตัวเปลี่ยน จึงนำตัวพระทั้ง 2 รูป เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในขณะนั้น

    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงปรึกษาเรื่องพระมหาจูม กับพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับรองอย่างแน่พระทัย ตรัสว่า

    "ส่งไปได้เลย หม่อมฉันรับรอง พระมหาองค์นั้นไม่มีทางเสียหาย มีแต่ทางดี"

    สมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็สนองพระประสงค์ พระจันทร์ เขมิโย และพระมหาจูม พนฺธุโล เคยออกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเห็นว่า ไม่เป็นวิสัย จึงนำฝากเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเทพศิรินทร์ (ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ธรรมเนียมการส่งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ไปดำรงตำแหน่งวัดสำคัญ จะต้องนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราช และองค์พระมหากษัตริย์ก่อน)

    มณฑลหมากแข้ง ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม สกลนคร และอุดรธานี เป็นวัดคณะธรรมยุต จัดการศึกษาทั้งด้านบาลีและนักธรรม การปฏิบัติธรรมวินัย เป็นไปอย่างมีระเบียบดียิ่งมากขึ้นทุกจังหวัด มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ แม้ต่างมณฑลยังส่งมาเรียนที่นี่

    สามสี่ปีให้หลังผลงานออกมาเป็นที่ยอมรับ ได้พระราชทาน ตำแหน่งพระครูสัญญาบัตรทั้ง 2 องค์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงชมเชยพระเจ้าอยู่หัว ต่อหน้าพระพักตร์ว่า ทรงมีสายพระเนตรไกล มองดูบุคคลออก พระพรรษาน้อยอย่างพระมหาจูม พอพระทัยส่งไปเป็นเจ้าคณะมณฑลได้ นี้คือผู้เล่าได้ฟังจากท่าน
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ได้รับจดหมายใหญ่

    คงจะเป็นความผูกพันระหว่างศิษย์กับอาจารย์อย่างแน่นแฟ้น เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์ส่งพระจันทร์ ซึ่งภายหลัง คือ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) และ สามเณรจูม ซึ่งภายหลัง คือ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาทางราชการได้ส่งพระทั้งสองรูป มาปฏิบัติศาสนกิจทางภาคอีสาน เป็นศิษย์ของท่าน ท่านพระอาจารย์ส่งไปศึกษาเอง เวลามาทำงานที่ภาคอีสาน นักปราชญ์อย่างท่านพระอาจารย์จะไม่เอาธุระช่วย คงเป็นไปไม่ได้ คล้ายๆ กับว่ามีอะไรผูกพันกันอยู่อย่างนั้น

    ครั้งท่านพระอาจารย์จำพรรษาอยู่ภาคเหนือ ทุกปีท่านเจ้าคุณพระมหาจูมส่งจดหมายไปกราบนมัสการนิมนต์กลับภาคอีสาน ปีแล้วปีเล่าท่านพระอาจารย์ก็เฉยๆ ปีนั้นท่านเจ้าคุณฯ จึงไปกราบนมัสการด้วยตนเอง ขอนิมนต์กลับภาคอีสาน ท่านตอบรับทันที แล้วยังเร่งด้วยว่า

    "จะกลับวันไหนกลับด้วยกัน ทุกปีเห็นแต่จดหมายเล็กเลยไม่กลับ ปีนี้จดหมายใหญ่มาแล้ว ต้องกลับ" ท่านว่า

    ท่านเจ้าคุณฯ จึงกราบเรียนท่านว่า "นิมนต์พักอยู่ก่อน กระผมจะไปอุดรธานี จัดที่พักเรียบร้อยแล้ว จะส่งคนมารับทีหลัง"

    ท่านเจ้าคุณฯ ได้จัดวัดป่าโนนนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถวายให้ท่านพำนักเป็นวัดแรก หลังจากท่านไปจำพรรษาที่ภาคเหนือ ถึง 11 ปี (พ.ศ.2472 - 2482) ท่านได้มาช่วยศิษย์ทั้งสองเต็มกำลัง ดังผลงานที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...