เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 8 ตุลาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การวินิจฉัยอธิกรณ์

    เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงตามัน นิมฺมโล อยู่วัดวิริยะพล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เป็นศิษย์องค์หนึ่ง เป็นผู้ปฏิบัติดี มีชาวสกลนครนับถือ นิมนต์มารับสังฆทาน โดยพักที่วัดป่าสุทธาวาสเป็นประจำ

    คราวหนึ่ง เธอด่วนจะกลับวัด ฉันเสร็จแล้ว นำโยมไปเอาปัจจัยส่วนแบ่งกับผ้าขาวคนหนึ่งที่เป็นไวยาวัจกร พระที่รับนิมนต์มี 7 รูป ได้ไปรับปัจจัย ปรากฏว่าหายไปส่วนหนึ่ง ไม่ครบพระ ถามผ้าขาว เธอบอกว่า

    "หลวงตามันเอาไปสองส่วน"

    อธิกรณ์ก็เกิดขึ้น มีหลักฐานพยานเพียงพอ คณะสงฆ์จังหวัดตัดสินว่า หลวงตามันละเมิดอทิตตาทานสิกขาบท จำนวนเงินที่ได้รูปละ 2.50 บาท สองส่วนรวมเป็น 5 บาท เธอปฏิเสธ แต่หักล้างหลักฐานไม่พอ คณะสงฆ์ตัดสินวินิจฉัยให้เธอสึก เธอบอกหากจะให้สึก กรุณาพาไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นก่อน คณะสงฆ์พร้อมทั้งเจ้าคณะจังหวัด(ธ) จึงพาหลวงตามันไปวัดป่าบ้านหนองผือ

    พอไปถึงกราบนมัสการ เจ้าคณะจังหวัดยื่นเอกสารถวายท่าน

    พระอาจารย์ท่านว่า "วางไว้นั่นก่อน" ถามว่า "เรื่องอะไร"

    เจ้าคณะจังหวัดกราบเรียนว่า "เรื่องหลวงตามันละเมิดอทินนาทานสิกขาบท คณะวินิจฉัยให้เธอสึก เธออยากให้พระอาจารย์วินิจฉัยอีก"

    ท่านพระอาจารย์ถามว่า "แล้วจะเชื่อผมไหม"

    พากันตอบว่า "เชื่อ"

    "ถ้าอย่างนั้นเอาเอกสารไปเผาไฟเดี๋ยวนี้ เพราะตัวหนังสือเล็กไป เอาตัวหนังสือใหญ่ คือ พวกเรา มาวินิจฉัยกัน" ท่านว่า

    เจ้าคณะจังหวัดจึงจัดการเผาทันที

    ท่านพระอาจารย์ว่า "อันเงินนั้นหลวงตามันไม่ได้เอาไปสองส่วน เอาไปส่วนเดียว คนที่เอาเงินนั้นไป คือ คนที่อยู่ใกล้เงิน ใครอยู่ใกล้ คนนั้นเอา"

    ตาผ้าขาวคนหนึ่งซึ่งนั่งนิ่งอยู่นั้น ก็สารภาพขึ้นต่อหน้าสงฆ์ ที่ท่านพระอาจารย์เป็นประธาน

    ท่านพระอาจารย์ว่า "นั่นเห็นไหม ตัวหนังสือใหญ่แจ้งจางปาง ปานเห็นเสือกลางวัน ลายพาดกลอนเต็มตัว" ท่านว่า

    "หลวงตามันเธอเป็นพระมีศีล ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็ดี ท่านมหาทองสุกก็ดี คณะสงฆ์ก็ดี ทำอะไรให้รอบคอบ จะทำลายพระมีศีลโดยไม่รู้ตัว จะไปตกนรกเปล่าๆ ไม่เสียดายหรือ ประพฤติพรหมจรรย์มานาน หวังมรรคผลนิพพาน ต้องมาตกนรก มันไม่คุ้มค่ากัน อย่าไปทำลายพระมีศีล" ท่านว่า

    เรื่องก็สงบลงโดยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นตัวอย่างแก่คณะพระวินัยธรต่อไป หลวงตามันก็พ้นคดีไป เป็นพระบริสุทธิ์

    ที่ได้เห็นได้ฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นวินิจฉัยอธิกรณ์ มีครั้งนี้ครั้งเดียว
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เทศน์มูลกัมมัฏฐาน

    ท่านพระอาจารย์ได้เทศน์เรื่องนี้ว่า

    ก่อนพระอุปัชฌาย์จะบวชให้กุลบุตรทั้งหลายนั้น จะต้องสอนเรื่อง มูลกัมมัฏฐาน ก่อน

    เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ นี้เป็นอนุโลม

    ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นี้เป็นปฏิโลม

    ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะอธิบาย พอให้ได้ใจความว่า รากเหง้าของพระกัมมัฏฐานทั้งหมด อันผู้ปฏิบัติจะพิจารณานั้น ออกไปจากกัมมัฏฐาน 5 นี้เอง จึงเรียกว่า มูล คือ เค้าเป็นมูลเหตุ อันมูลกัมมัฏฐานนี้ ท่านพระอาจารย์อธิบายได้ละเอียด เป็นอเนกปริยายอย่างมีระบบ ซึ่งผู้เล่าจะนำมาเล่าพอได้ใจความดังนี้

    ท่านแปล เกสา อันว่าผมทั้งหลาย โลมา อันว่าขนทั้งหลาย นขา อันว่าเล็บทั้งหลาย ทนฺตา อันว่าฟันทั้งหลาย ตโจ อันว่าหนัง ท่านไม่ว่าทั้งหลาย ก็มันหนังผืนเดียวนี้ หุ้มห่อร่างกายอยู่ นอกนั้นมันมีมาก ก็ว่าทั้งหลาย

    ผมอยู่บนศีรษะอยู่เบื้องสูง ตามองดูจะเห็นส่วนบนก่อน ต่อจากนั้นจึงเห็นโดยลำดับ รวมลงที่สุด คือ หนัง

    หนังเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด ความนิยมชมชอบ ความสมมติว่า เป็นพระ เณร เถรท้าว รวมไปทั้ง บุตร ภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้หุ้มห่อ หากไม่มีหนังหุ้มห่อ มีแต่เลือด เนื้อ เอ็น ตับ ไต ไส้ พุง สุดท้ายเหลือแต่กระดูกในหม้อในโหล หรือว่าเหลือแต่โครงกระดูก ใครเล่าจะนิยมชมชอบ ว่าบุคคลนี้ เป็นพระเณรเถรท้าว นี้เป็นบุตรภรรยาสามีของเรา มีไหมล่ะ

    ด้วยเหตุนี้เอง พระอุปัชฌาย์จึงได้สอนกุลบุตรผู้จะบรรพชาอุปสมบท ให้เรียนมูลกัมมัฏฐานก่อน เพราะว่า ราคะ ความกำหนัดยินดี อยากจะได้ชมเชย เชยชิด ก็เพราะไอ้เจ้าตามองไปเห็นหนังก่อน ไม่ว่าชายเห็นหญิง หญิงเห็นชาย แล้วอยากได้มาเป็นภรรยา สามี ก็เพราะหนังผืนนี้เอง นอกนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบ หนังเป็นต้นเหตุ หนังก่อทุกข์ หนังก่อภพก่อชาติ ไม่ว่าคนและสัตว์ หมู หมา กา ไก่ ช้าง ม้า โค กระบือ แม้กระทั่งลา ก็หนังผืนนี้แล

    ทำไมพระอุปัชฌาย์จึงสอนให้พิจารณามูลกัมมัฏฐาน

    เพราะว่าเจ้าราคะ เจ้าโทสะ เจ้าโมหะ เจ้ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เกิดจากตาไปกระทบกับเค้ามูลนี้ จึงต้องให้รู้สภาวะที่แท้จริง ที่เกิดลักษณะอาการ กลิ่น สี ให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก เพื่อบรรเทากำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ตามความตั้งใจของกุลบุตร ที่มีศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

    ท่านยกอุทาหรณ์ในเรื่องมูลกัมมัฏฐานไว้ว่า

    แม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าก็ตรัสสอนพระราหุลพุทธชิโนรส เป็นกรณีพิเศษ พระโอวาทนี้เรียกว่า จูฬราหุโลวาทสูตร เป็นการทดสอบความสามารถของพุทธชิโนรสครั้งแรก เพราะพระราหุลทรงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เลิศกว่าสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา

    ครั้งที่ 2 ทรงแสดงแก่พระราหุลก็มูลกัมมัฏฐาน แต่เป็นอเนกปริยายตามอัธยาศัยของพระราหุล ชื่อว่า มหาราหุโลวาทสูตร จบลงจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกับจตุปฏิสัมภิทาญาณอย่างสมบูรณ์ ได้รับสมญาว่า พระมหาราหุล ตั้งแต่บัดนั้น

    หลังจากนั้น พระอุปัชฌาย์ก็คลี่ผ้ากาสาวพัสตร์ เอาอังสะจากผ้าไตรจีวร ห่มเฉวียงบ่าข้างซ้าย อธิบายวิธีครองผ้าเสร็จ มอบผ้ากาสายะให้นำไปครอง

    ครองผ้าเสร็จ เข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ กราบสามหน ถวายดอกไม้ กล่าวคำขอสรณะและศีล พระอุปัชฌาย์ก็ให้สรณะและศีล โดยบทบาลีว่า พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ 1 สามหน ทุติยัมปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ 2 สามหน เป็น 6 ตติยมฺปิ พุทฺธํ ฯ ปฯ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ วาระที่ 3 สามหน เป็น 9 แล้วอาจารย์จะบอกว่า การบรรพชาเป็นสามเณรสำเร็จลงด้วยไตรสรณคมน์เพียงเท่านี้

    ท่านพระอาจารย์ได้อธิบายต่อไปว่า

    สรณะในศาสนามีแค่ 3 แม้ว่าจะถึงวาระที่ 3 เก้าหน ก็ไตรสรณะอันเก่า ไม่มีคำว่า ภูเขาต้นไม้ รุกฺขเจติยา สรณํ คจฺฉามิ ภูติผีปีศาจ เสือสางคางแดง สรณํ คจฺฉามิ ถ้าเพิ่มเข้ามาอย่างนี้ผิด สรณะไม่เป็นสรณะ ไม่เป็นบรรพชิต จะเพิ่มเข้ามาภายหลัง สรณะก็เศร้าหมอง ท่านว่า

    ต่อจากนั้น จะบอกให้สามเณรสมาทานสิกขาบท อันจะพึงศึกษา 10 ประการ ส่วนการอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ไม่ต้องสมาทานศีล 227 เป็นเรื่องของสงฆ์จะยกฐานะให้เป็นพระภิกษุ เมื่อคณะสงฆ์ยินยอมแล้ว ก็เป็นพระสงฆ์โดยสมบูรณ์

    จากนั้นเป็นหน้าที่พระอุปัชฌาย์จะสอนอนุศาสน์ ข้อห้าม และข้ออนุญาต

    การแสดงธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น มิได้สอนพระที่ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ใหม่เท่านั้น แต่ท่านสอนศิษย์ทั้งเก่าและใหม่ เพื่อให้ศิษย์สำนึกเสมอว่า การปฏิบัติตามโอวาทพระอุปัชฌาย์นั้น สามารถบรรลุธรรมวิเศษชั้นใดชั้นหนึ่ง มีพระโสดาบัน เป็นต้น ภายใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี 12 ปี และ 16 ปี เป็นอย่างช้า

    ท่านสอนสลับกันไป ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย อย่างมีระบบ ละเอียด อุปมาอุปไมย เป็นอเนกปริยาย ชนิดผู้ฟังใจจดใจจ่อ อยากฟังตลอดเวลา ท่านเปรียบ พระอุปัชฌาย์เหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดลูก จะสอนลูกทุกอย่าง ให้ทุกอย่างที่เป็นมนุษย์สมบัติ พอกินพอใช้จนวันตาย ไม่มีผู้ใดเทียบได้ จึงได้ชื่อว่า เป็นมิตรในเรือน เป็นพรหมของบุตร เป็นพระอรหันต์ในกระท่อมจนถึงมหาปราสาท ฉันใดก็ฉันนั้น ท่านว่า
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ท่านพระอาจารย์ปฏิบัติต่อสตรีเพศ

    สตรีเพศนั้นเป็นเพศยั่วยวนกามกิเลสของบุรุษเพศ ในขณะเดียวกัน บุรุษเพศก็เป็นที่ยั่วยวนกามกิเลสของสตรี เป็นคู่กันมากับโลกฉะนั้น พระเถระชื่อว่า พระอานนท์ ผู้ทรงคุณสมบัติถึง 5 ประการ ข้อที่ว่า มีนิติ คือ อุบายเป็นเครื่องนำไปของพระเถระนั้น พระอานนท์ได้เล็งเห็นการณ์ไกลต่อพระภิกษุ ผู้จะสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ในกาลต่อมา ในวันที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จึงกราบทูลถาม เรื่องการปฏิบัติต่อสตรีเพศของพระภิกษุ ว่า

    พระอานนท์ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันพระภิกษุในธรรมวินัย จะปฏิบัติต่อสตรีเพศอย่างไร"

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ การไม่รู้ไม่เห็นเป็นการดี"

    พระอานนท์ "ถ้าจำเป็นจำเป็นต้องดูต้องรู้ต้องเห็น ควรทำอย่างไรพระเจ้าข้า"

    พระพุทธเจ้า "ถ้าเห็นไม่พูดเป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ต้องมีสติ พูดพอประมาณ อานนท์"

    ข้อนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอนุโลม คือ ตามไป หรือเป็นอนุวัตร คือ ความกลับ แต่ท่านพระอาจารย์นั้นปฏิบัติเป็นปฏิโลม คือ ถอยหลังกลับ หรือปฏิวัติกลับหลัง เมื่อจำเป็นต้องพูด มีสติพูด เมื่อเห็น ไม่พูดเจรจา เอาข้อแรกที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ ไม่รู้ไม่เห็นเป็นหลัก ท่านว่า คือ ไม่รู้ไม่เห็นเป็นการดีนั้นเอง

    ในการสังเกตของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์จะปฏิบัติข้อไม่รู้ไม่เห็นตลอดมา เสมอต้นเสมอปลาย เพราะท่านไม่คลุกคลีกับเพศหญิงเลย แม้แต่หลานเหลนของท่าน

    ศิษย์สายของท่านจะยึดข้อนี้ตามแนวของท่าน
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การปลูกต้นโพธิ์

    ครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์ไปพักอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง วัดนั้นมีต้นโพธิ์หลายต้น แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางมาก ใบแห้งหล่นเป็นกองพะเนิน ท่านก็เลยบ่นว่า

    "ต้นโพธิ์นี้เอามาปลูกทำไมกัน รกที่ ต้นไม้อื่นก็ขึ้นไม่ได้ นกมาขี้ใส่ ทำลายโบสถ์วิหาร"

    ผู้เล่าคิดในใจ "โพธิ์ตรัสรู้ ใครๆ ก็อยากได้บุญ"

    ขณะนั้นท่านกำลังกวาดใบโพธิ์แห้งอยู่ จึงพูดว่า

    "เหอ...บุญมีแต่ปลูกต้นโพธิ์เท่านี้หรือ อย่างอื่นไม่มีหรือ ต้นโพธิ์พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พระองค์ก็ตรัสรู้ไปแล้ว และต้นโพธิ์ที่ปลูกกันเป็นร้อยๆ พันๆ ก็ไม่เห็นมีใครสักคนเดียวมาตรัสรู้อีก"

    ท่านว่า แต่ละยุคมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้องค์เดียว แล้วจะปลูกให้ใครมาตรัสรู้อีก แต่ละพระองค์ที่มาตรัสรู้ ก็ไม่ใช่ใต้ต้นโพธิ์อย่างเดียว ต้นไม้อื่นก็มี ท่านว่าอย่างนี้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การรับศิษย์ในยุคปลายสมัย

    ลูกศิษย์ทุกท่านที่เข้าไปศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่นในยุคต้นๆ ท่านจะเร่งในเรื่องการทำความเพียร เดินจงกรม และภาวนา อย่างชนิดที่เรียกว่า เอาเป็นเอาตาย ศิษย์ก็มีความเชื่อมั่นกับครูบาอาจารย์ ความเชื่อมั่นต่อพระพุทธเจ้า ว่าไม่ตาย เพราะเราทำถูก แต่อย่าทำผิดพื้นฐาน คือ พระวินัย รับรองไม่ตาย

    ยุคหลังนักศึกษาที่สำเร็จนักธรรม สำเร็จบาลีมา ก็เริ่มเข้าไปศึกษา ท่านเหล่านี้ ยกตัวอย่าง ท่านอาจารย์มหาบัว ท่านฯ พูดไม่มาก ได้ฟังแล้วก็เข้าใจ เป็นลักษณะของผู้มีปัญญามาก

    ผู้ที่ผ่านการศึกษานักธรรมบาลีมาแล้ว จึงจะรับให้อยู่ในสำนัก สามเณรก็ต้องอายุถึง 17 ปีเสียก่อน ทำบัตรประชาชนแล้วถึงจะรับ ถ้าเป็นพระ ต้องคัดเลือกทหารก่อน ท่านถึงจะรับ ต้องผ่านการศึกษามาแล้ว เพราะว่าเขาเหล่านี้รู้แบบแผนแล้ว เมื่อมาปฏิบัติจนรู้เห็นด้วย จะเป็นประโยชน์ทั้งสองด้าน สามารถเผยแผ่ศาสนาไปในทางที่ถูกต้อง อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของท่านพระอาจารย์มั่น

    ศิษย์ที่เข้ามาในยุคปลายก็มี ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์วิริยังค์ หลวงปู่หล้า และลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ที่ผ่านนักธรรมบาลีมาแล้วทั้งนั้น เช่น เจ้าคุณมหาเขียน [พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์] เจ้าคุณมหาโชติ [พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา] พระมหาประทิศ เจ้าคุณกง [พระราชศีลโสภิต (กง โฆสโก) วัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร] เป็นต้น
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วินิจฉัยปัจจัยสี่

    วาทะท่านพระอาจารย์มั่นน่าคิด

    เศรษฐกิจนี้ก็คือ ปัจจัย 4 ใช่ไหม

    ปัจจัย 4 เป็น เสฏฺโฐ เสฏฺฐา เสฏฺฐํ ทั้งปุฯ ทั้งอิตฺฯ และนปุฯ ครบทั้ง 3 ลึงค์

    เสฏฺฐ แปลว่า เจริญที่สุด เจริญอย่างไร เจริญเคียงคู่กับคน เศรษฐกิจหรือปัจจัย 4 นี้มนุษย์จะอยู่ได้ เพราะอาศัยความเจริญนี้ไปพร้อมๆ กัน จึงสืบต่อมาได้ ท่านฯ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระวินัยปาฏิโมกข์ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการเศรษฐกิจนี้ เกือบจะทุกสิกขาบท

    บางสิกขาบท ท่านพระอาจารย์ก็วินิจฉัย และเข้าใจความหมาย เช่น สิกขาบทเกี่ยวปัจจัยที่ 4 คือ ยารักษาโรค ความว่า ภิกษุไม่เป็นไข้ ติดไฟเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นติดก็ดี เพื่อจะผิงไฟนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะผิงไฟเป็นนิสัย

    ข้อนี้ทำให้ศิษย์สงสัยกันมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะทำซุ้มไฟติดไฟ ตั้งแคร่นั่งนอนในซุ้มไฟ เทศน์แก่ศิษย์ในซุ้มไฟ ศิษย์ก็ได้ผิงไฟไปด้วย ไม่ต้องหนาวลำบาก ข้อนี้ท่านบอกว่า

    คำว่า ไข้ นั้น หนาวจนทนไม่ไหวก็คือไข้นั้นเอง หรือจะให้เป็นไข้จับสั่น จวนจะตายอยู่แล้วจึงจะผิงไฟได้อย่างนั้นหรือ อย่าไปผิงเลย นอนคอยตายดีกว่า คนหนาวจะตายแล้ว ไฟก็เป็นยา ทำให้ร่างกายอบอุ่น เลือดลมเดินได้สะดวก เจริญสมณธรรมได้ ดีกว่าอดทนหนาวตาย ไม่เกิดประโยชน์อะไร

    ท่านว่า นิสัยที่พระอุปัชฌาย์สอนครั้งแรก ข้อ 4 ว่า อาศัยน้ำมูตรเน่าเป็นยานั้น ตามความเข้าใจของนักวินัยทั้งหลาย หมายเอาผลมะขามป้อม ผลสมอ มาดองด้วยน้ำมูตรเน่าน้ำเยี่ยว อันนั้นก็ถูกต้อง แต่ท่านหมายเอาน้ำปัสสาวะ คือ น้ำเน่าที่ดองในร่างกายคน แก้โรคได้ เพราะ "อันนี้ได้พิจารณาแล้ว" (อันนี้หมายถึงท่านพระอาจารย์มั่น)

    คำว่า เภสัช นั้นหมายถึง ยาทุกชนิดที่แก้โรคได้ แต่ละอย่างต้องการกรรมวิธีด้วยการหมักดองให้เน่าเสียก่อน รวมความแล้ว ยาต้องดองด้วยน้ำมูตรเน่า กินความกว้าง หมายเอายารักษาโรคทั่วไป รวมทั้งยาบำรุงด้วย เช่น เภสัชทั้ง 5 ท่านฯ ว่าอย่างนี้

    ในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นเยี่ยม ท่านพระอาจารย์เน้นในวินัยปาฏิโมกข์ คือ เสขิยวัตรทั้งหมด เป็นเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ รวมทั้งสังคม และมารยาทในสังคมด้วย

    ท่านอธิบายสมณสารูป 26 ว่า สมณสารูป สมณะผู้มีรูปงาม จะนุ่งจะห่มจะยืนจะเดิน ล้วนมีความงามทั้งนั้น นุ่งให้เรียบร้อย ห่มให้เรียบร้อย ทั้งในวัดและในบ้าน จึงเรียกว่า เป็นปริมณฑล ท่านย้ำให้เกิดบรรยากาศแห่งความร่าเริงในธรรมว่า ไม่ใช่ปริมันซังซะ ไปไหนก็ซังซะ มาไหนก็ซังซะ (หมายถึง ไม่เรียบร้อย ไม่งาม ไม่เป็นระเบียบ) ไม่ใช่สมณสารูป

    เศรษฐกิจสัมพันธ์โยงใยไปถึง ธรรมวิภาคที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนา เป็นหลักสูตรนักธรรมตรี แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งธรรมทั้งวินัย เป็นสิ่งผูกพันกับชีวิตมนุษย์ทุกรูปทุกนาม เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในคำนำว่า

    กุลบุตรผู้บวชภายในไตรมาส 3 เดือน ก่อนลาสิกขา ให้ท่องให้จบ คือ เดือนที่ 1 ท่องวินัยบัญญัติ เดือนที่ 2 ท่องธรรมวิภาค เดือนที่ 3 ท่องคิหิปฏิบัติ จบพอดี กุลบุตรลาสิกขาไป จะได้รู้หลักธรรมนำไปปฏิบัติ

    หนังสือนวโกวาท เป็นหนังสือธรรมย่อๆ แต่รวมเศรษฐกิจสัมพันธ์ไปด้วยอย่างสมบูรณ์ เพราะเหตุนี้ท่านพระอาจารย์มั่นจึงย้ำนักย้ำหนา ให้ศิษย์ท่องให้ได้ ผู้เล่าเคยถวายกัณฑ์สังฆาทิเสส พระวินัย และธรรมวิภาคหมวด 10 อภิณหปัจจเวกขณ์ ที่ว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ และคิหิปฏิบัติ เกียจคร้านทำการงาน มีโทษ 6 อย่าง

    ในหมวด 10 ท่านมักจะย้ำ เรื่องกถาวัตถุ 10 ข้อ 1 ข้อ 2 ว่า มักน้อยสันโดษ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐีกถา คือ ความมัธยัสถ์ ใช้สอยพอดีแก่ฐานะของตน ก็ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

    ท่านพระอาจารย์กล่าวเตือนศิษย์เสมอว่า จะสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน ต้องสอนให้อิ่มปากอิ่มท้องเสียก่อน จึงค่อยสอนศีลธรรมทีหลัง สรุปได้ว่า เศรษฐกิจสัมพันธ์และพลานามัยแบบท่านพระอาจารย์มั่น ดูจะสัมพันธ์ผูกพันต่อเนื่องเป็นวงจร ระหว่าง พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม

    ท่านพระอาจารย์ว่า อย่าไปทำตัวเป็นนักการค้าผลิตผลของชาวบ้านเสียเอง เพราะหากทำเช่นนั้น ท่านพระอาจารย์ว่า มหิจฺฉตา อสนฺตุฏฐี สสํคณิกา ไม่เกิดวิเวก มีความเกียจคร้าน จิตก็ห่างจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันควรเป็น ควรมี ควรได้ จากเพศพรหมจรรย์
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เร่งอบรมพระเณร

    คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านพระอาจารย์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ปัจจัยที่เป็นเครื่องดำรงชีพสะดวกสบาย ปัจจัยสี่พอพียง จิตใจของประชาชนไม่สับสนวุ่นวาย สรรพสินค้าเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดการค้า ทั้งของไทยและของต่างประเทศ

    ท่านพระอาจารย์ถือเอาจังหวะนี้ เร่งรัดอบรมสั่งสอนศีลธรรม สมถวิปัสสนา แก่พระสงฆ์และประชาชน หนทางยังกันดารอยู่ เดินทางด้วยเท้าเปล่าเข้ามา เป็นเรื่องสนุกของชาวกรุงเทพฯ ไปแล้ว ทั้งหญิงชายจากกรุงเทพฯ จันทบุรี ชัยนาท สระบุรี เชียงใหม่ เข้าไปถวายทาน กราบนมัสการเป็นระยะ เป็นหมู่เป็นคณะ ตั้งแต่ออกพรรษาตลอดฤดูหนาว 4 เดือน ทั้งใกล้ไกล

    ท่านพระอาจารย์ต้องทำกิจประจำ 5 ประการให้มากยิ่งขึ้น ตอนเช้าเที่ยวบิณฑบาต ตอนบ่ายเทศนาสั่งสอนประชาชน พลบค่ำให้โอวาทแก่พระสงฆ์ เกือบจะไม่มีเว้นวัน อีก 2 อย่าง เป็นเรื่องภายในส่วนตัวของท่าน ผู้เล่าไม่สามารถนำมาเล่าได้

    พระเถระฝ่ายบริหาร ทั้งเป็นเพื่อนเก่าและใหม่ ได้เดินทางข้ามเขา ไปกราบนมัสการหลายรูป เท่าที่จำได้เพื่อนเก่า มีเจ้าคุณปราจีน [คือ พระปราจีนมุนี (เพ็ง กิตติงฺกโร) วัดมะกอก จังหวัดปราจีนบุรี] เจ้าคุณสิงห์บุรี เจ้าคุณลพบุรี [คือ พระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ) วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี ผู้เป็นน้องชายของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจนฺโท) ]

    เจ้าคุณใหม่ มี เจ้าคุณรักษ์ หนองคาย [คือ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย] เจ้าคุณเมืองเลย [คือ พระธรรมวราลังการ (ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) วัดศรีสุทธาวาส จังหวัดเลย] เจ้าคุณพระมหาโชติ [คือ พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา] เจ้าคุณเขียนนครราชสีมา [คือ พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์]
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    แสดงบุพพนิมิต

    ประมาณต้นปี 2492 ปีที่ท่านจะเริ่มอาพาธ มันเป็นลักษณะคล้ายๆ กับเป็นลางสังหรณ์ของชีวิตแต่ละบุคคล ปกติท่านพระอาจารย์มั่นจะมีตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ ส่วนมุ้งนั้นเป็นมุ้งผ้า ชาวบ้านทอเอง ขณะนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศหนาวมากคล้ายภาคเหนือ จุดไฟมาหลายปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    แต่วันนั้นอย่างไรไม่ทราบ ท่านร้องขึ้นประมาณตี 2

    "โอ๊ย โอ๊ย ไฟไหม้ ใครได้ยินมาช่วยด้วย ไฟไหม้ ใครได้ยินมาช่วยด้วย"

    มีกุฏิ 3-4 หลัง อยู่ใกล้ๆ ผู้เล่าได้ยินเสียงท่าน ตื่นขึ้นมาเปิดประตูกระโดดออกไป ไฟข้างในสว่างอยู่แล้ว กำลังจะไหม้มุ้ง ผ้าส่วนหนึ่งมันปิดท่านอยู่ ท่านแก้ไม่ออก ผ้าห่มส่วนหนึ่งแยกออกไปได้แล้ว ท่านก็พยายามหอบผ้าที่แยกออกแล้ว พังออกไป

    ผู้เล่าผลักประตูเข้าไปแรงๆ ประตูก็พังไปเลย แล้วก็ผลักประตูข้างหน้าอีก ผลักประตูหน้าต่างอีก หน้าต่างกับประตูมันมีพื้นฐานเท่ากัน ผลักเข้าไปแล้ว ก็รีบเปิดผ้าออก แล้วประคองท่านออกมาข้างนอก ท่านลุกขึ้น เข้าไปดึงมุ้งลงมา ไฟมันจะขึ้นติดเพดาน กำลังจะไหม้แล้ว ผู้เล่าก็กระโดดเข้าไป ลืมคิดถึงอันตราย บุกตะลุยเลย โยนมุ้งลงไปข้างล่าง เป็นแสงวูบไป พอปลอดภัยแล้ว พระรูปนั้นก็มา พระรูปนี้ก็มา สว่างพอดี จึงกลับไปกุฏิ เตรียมบาตรลงไปศาลา

    ท่านมองดูผู้เล่า มันทั้งดำทั้งแดงไปหมด

    "เจ็บไหมล่ะ" ท่านว่า

    "พอทนได้ มันร้อนก็พอทนได้"

    ท่านมีน้ำมันทำเอง สำหรับใช้ทาริดสีดวงที่เป็นโรคประจำตัวของท่าน เวลาถ่ายแล้วเลือดออก ต้องใช้น้ำมันนั้น

    "น้ำมันเรามี เอาไปทา เอ้า หล้า ช่วยกันทานะ"

    ไม่พอ 2-3 วันก็เป็นปกติ จะเป็นด้วยอานุภาพของท่านก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นอจินไตย

    น้ำมันนี้ ท่านทำใช้เฉพาะองค์เดียว มีน้ำมันมะพร้าว ขี้ผึ้งแท้เป็นส่วนประกอบ นอกจากนั้นก็อะไรที่ไม่ใช่ของแสบร้อน ใช้รักษาแผล เมนทอลท่านไม่เอา ทาเข้าไปเย็นๆ ใช้ 2-3 อย่างเท่านั้น ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ใช้น้ำมันมะพร้าวกับขี้ผึ้งเท่านั้น ใช้ได้นาน 2-3 ปี จึงจะหมด กุฏิที่ไฟไหม้ คือ หลังปัจจุบันที่วัดป่าบ้านหนองผือนั่นแหละ
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สุบินนิมิตบ่งบอก

    สุบินนิมิต (ฝัน) ก็บ่งบอกชะตาชีวิต และอุปนิสัยของบุคคล ที่เคยอบรมสั่งสอนมาแต่ปางก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นับตั้งแต่วันบวชเป็นพระมา (หมายถึง ช่วงบวชในพรรษาแรกๆ - ภิเนษกรมณ์) นอนหลับที่ฝันทุกครั้ง คือ ฝันว่าได้ไปโน่นไปนี่ อยู่ในสภาพที่เป็นพระนี้ และแปลกเพราะบนบ่าสะพายดาบ ที่เท้าทั้งสองข้างมีรองเท้าทำด้วยหนัง

    ภายหลังมาพิจารณาได้ความว่า ดาบ คือ ปัญญา รองเท้า คือ สมาธิ เมื่อปฏิบัติไป หากไม่มีอาจารย์แนะนำ ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ท่านว่า และยังว่าต่อไปว่า บุคคลผู้บริจาควัตถุประเภทโลหะ เช่น บาตร มีดโกน และเข็มเย็บผ้า เป็นการเพิ่มปัญญาบารมี เวลาท่านจะให้ของเบ็ดเตล็ดแก่ลูกศิษย์ มักจะหยิบเข็มออกมายื่นให้สานุศิษย์ ผู้เล่าก็เคยได้รับจากมือของท่าน ส่วนการบริจาคหนัง เช่น หนังรองนั่ง และรองเท้า เป็นการบำเพ็ญเจริญฌาน อธิษฐานบารมี มีผลานิสงส์

    ผู้เล่าเคยตัดรองเท้าหนังถวายท่าน และพระเถระหลายองค์ รองเท้าที่เป็นฝีมือของผู้เล่า คือ คู่เล็ก ส่วนคู่ใหญ่เป็นฝีมือของท่านอาจารย์วิริยังค์ ดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น อยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

    หมายเหตุ เครื่องรองนั่งทุกชนิด เช่น ผ้าปูนั่ง พรมปูนั่งมีในจัมมขันธ์ ผู้บริจาคมีอานิสงส์ ทำจิตให้รวมเร็ว
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เมตตาผู้เล่า

    ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นผู้รู้จักอัธยาศัยของบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านเคยพูดเสมอว่า

    "คุณทองคำนี้เป็นบุคคลที่มีสติปัญญาอ่อน และวาสนาน้อย ถ้าจะอุปมาเปรียบสานุศิษย์ทั้งหลาย เหมือนเหล็กซึ่งถูกหลอมเป็นแท่งมาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อถูกไฟเผา เนื้อเหล็กอ่อน ก็ต้องตีด้วยฆ้อนแปดปอนด์ มันไม่เสียหายอะไร แต่คุณทองคำนี้ เปรียบเหมือนเนื้อเหล็กผสมอยู่กับหินที่มันเกิดทีแรก ถ้าเราใช้ฆ้อนทุบก็จะแหลกละเอียดหมด"

    ตอนที่ท่านพระอาจารย์เริ่มอาพาธ ได้เมตตาผู้เล่าว่า

    "ทองคำเอย เราก็สงสารเธอ ไม่มีอะไรจะให้ ขอให้เธอจงจดจำไว้ อันนี้เป็นคำสั่งสำหรับคุณโดยเฉพาะ ครั้งสุดท้ายเมื่อเราตายไปแล้ว จะไม่มีใครสั่งสอนคุณ เหมือนดังเราสั่งสอน ขอให้คุณปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์ ที่สอนครั้งแรกตั้งแต่วันบวช คือ การตั้งศรัทธาความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยอย่างแน่วแน่"

    "ต่อจากนั้นก็พิจารณาองค์กัมมัฏฐาน 5 คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ขอให้ยึดมั่นอย่างนี้ เพราะว่า นอกเหนือจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูแล้ว ก็มีครูคนที่สองรองจากพระพุทธเจ้า คือ พระอุปัชฌาย์นี้เอง"

    พระอุปัชฌาย์จะสอนตั้งแต่สรณคมน์ จนกระทั่งถึงพระนิพพาน ให้ตั้งศรัทธาต่อพระรัตนตรัย ให้พิจารณากัมมัฏฐาน 5 คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ให้ยึดมั่นในหลักนี้ รับรองไม่ผิด ท่านว่าอย่างนั้น นี้เป็นการสั่งสมวาสนาบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถึงไม่รู้ชาตินี้ ชาติต่อไปก็สามารถรู้ได้

    ผู้เล่ามาคิดเฉลียวใจว่า "เราปฏิบัติไปอย่างนี้ เกิดเป็นบ้าเป็นอะไรขึ้นมา จะทำอย่างไร"

    ท่านบอกว่า "อย่าไปนึก เป็นบ้าอะไรไม่ต้องห่วง เพราะว่าถ้าคุณไปเพ่งออกนอก คุณจะเป็นบ้า หากมีอะไรเกิดขึ้น คุณมาเพ่งในนี้ คือ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มันจะแก้ของมันไปเอง" ท่านว่าอย่างนั้น

    "แล้วก็ทำให้มันต่อเนื่องเป็น ภาวิตา พหุลีกตา เจริญให้มาก ถ้าหากว่าบุคคลที่มีวาสนาบารมีแล้ว อย่างเร็ว 7 วัน หรือ 7 เดือน ต้องได้บรรลุคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง มีพระโสดาบันเป็นต้น แต่วาสนาพอปานกลาง อบรมต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง ก็ไม่เกิน 7 ปี ต้องได้บรรลุคุณวิเศษ ผู้ที่อบรมต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง ย่อหย่อนไป แต่ว่าไม่ท้อถอย มีความเชื่อมั่นอยู่ในคำสอนของพระอุปัชฌาย์ อย่างช้าก็ 16 ปี"

    ท่านพระอาจารย์ว่าเป็นไปได้ทุกคนนั้นแหละ ถ้ายึดมั่นในคำสอนของพระอุปัชฌาย์ได้ รับรองไม่มีผิด ท่านว่างั้น และมรรคผลในธรรมวิเศษนั้น เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ ทำไมจึงว่าเป็นของคนไทยโดยเฉพาะ เพราะเราได้ปฏิบัติสืบธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นพันๆ ปีแล้ว ความพร้อมของคนไทยจึงมี เพราะฉะนั้นผู้ที่ประสงค์จะได้บรรลุคุณธรรมวิเศษนั้น มีโอกาสทุกคน
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อัครฐานเป็นที่ตั้งแห่งมรรคผลนิพพาน

    เทศน์กัณฑ์นี้เกิดที่วัดปทุมวนาราม ความเดิมมีว่า หลังจากท่านพระอาจารย์มั่นไปเจริญสมณธรรมอยู่ที่ ถ้ำสิงห์โต หรือเรียกอีกชื่อว่า ถ้ำไผ่ขวาง ท่านพักอยู่พอสมควรแล้ว ก็กลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) มีโอกาสก็ไปนมัสการ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เล่าความเป็นไปในการปฏิบัติบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ตามประสาศิษย์และครู

    ได้ปรารภถึงการแนะนำสั่งสอนหมู่คณะเชิงปรึกษาว่า ท่านมีวาสนาทางนี้ไหม

    ท่านเจ้าคุณก็รับรองว่า มี

    พอกลับมาวัดสระปทุม ท่านก็พิจารณาเรื่องการแนะนำหมู่คณะ เกิดความรู้ขึ้นมาจากภายในว่า

    อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺต วิสุทฺธิยา

    ได้ความว่า ฐานะอันเลิศมีอยู่ในหมู่มนุษย์ มีแต่หมู่มนุษย์เท่านั้น ที่จะดำเนินไปสู่หนทางเพื่อความดับทุกข์ได้ ท่านพิจารณาได้ความว่า การแนะนำหมู่คณะเป็นไปได้อยู่ ธรรมเทศนาเรื่องนี้ ท่านอธิบายอ้างอิงคัมภีร์เป็นพิเศษ

    ท่านว่า ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกก็ดี ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น ทั้งอดีตนับด้วยแสนเป็นอเนกก็ดี ปัจจุบันก็ดี ในกาลอนาคตอันจะมาถึงก็ดี ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกก็ดี มีแต่มนุษย์เท่านั้น ส่วนเทพ อินทร์ พรหม และอบายภูมิทั้งสี่ ก็ไม่สามารถจะมาตรัสรู้ได้ เพราะว่ากายของเทพละเอียดเกินไป กายของอบายภูมิสี่ก็หยาบเกินไป ส่วนมนุษย์อยู่ท่ามกลางแห่งภพทั้งสาม โดยเฉพาะกามภพ 11 คือ นับขึ้นข้างบน 6 นับลงข้างล่าง 4 รวมเป็น 10 มนุษย์อยู่ตรงกลาง รวมเป็น 11

    มนุษย์นี้ คือ อัครฐาน มีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบพร้อมทุกอย่าง มนุษย์ผู้เลิศ มนุษย์ผู้ประเสริฐ มนุษย์ผู้มีความสามารถ ทำได้ทั้งโลกียปัญญา และโลกุตรปัญญา มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง จะขึ้นข้างบนก็ได้ จะลงข้างล่างก็ได้ นักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทรงแนะนำไว้ทั้งสองทาง โดยยกสรณะ 3 ศีล 5 ธรรม 5 มงคลสูตร ธรรมบท ขุททกนิกาย มหาสมัยสูตร และสูตรอื่นๆ อีก

    จะขอกล่าวแค่ 8 สูตร คือ สุกฺกธมฺมสูตร สูตรนี้เป็น เทวธมฺมสูตร ในพระธรรมบท มหลฺลกภิกฺขุ พหุภณฺทิกภิกฺขุ พวกเทพเรียกเทวธรรมว่า สุกฺกธรรม ผู้เล่าจะยกมาพอเป็นอุทาหรณ์ เนื้อความพิสดาร ท่านพระอาจารย์เปิดกว้าง ให้บัณฑิตอธิบายเพิ่มเติมได้ โดยไม่ผิด ว่าเป็น มนุสฺสธมฺ เกิดเป็นมนุษย์มีความสามารถ

    ผู้ไม่มีสรณะ 3 ถือลัทธิอื่นเป็นสรณะ

    ละเมิดศีล 5 ข้อ 1 ตายแล้วลงข้างล่าง เกิดเป็นมนุษย์อายุสั้น

    ละเมิดข้อ 2, ข้อ 4 ตายแล้วลงข้างล่าง เกิดเป็นเปรตอสุรกายท้องโต ปากเท่ารูเข็ม เพราะฉ้อราษฎร์บังหลวง เงินเหล่านี้เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของมนุษย์ด้วยกัน รังแกข่มเหง เอาเปรียบ จึงไปเกิดเป็นเปรต กินไม่อิ่ม หิวเป็นนิจ เพราะรูปากเล็ก

    ละเมิดข้อ 3 ลงข้างล่าง เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน

    ละเมิดข้อ 5 ลงข้างล่าง สุราเมรัย ยาเสพติดทุกชนิด ตกโลหกุมภี ดื่มน้ำทองแดง ตับไตไส้พุงทะลุ เกิดใหม่กินอีก ไม่กินก็ไม่ได้เพราะหิว ไม่มีอะไรจะกิน พ้นแล้วได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์ นับชาติไม่ถ้วน นี้มีส่วนลงข้างล่าง

    ส่วนขึ้นข้างบนนั้น ท่านอ้างคัมภีร์หนึ่ง คือ มงคลสูตร ตั้งแต่ อเสวนาฯ เปฯ ผุฏฺฐสฺสโลก ธมฺเมหิ ฯ เปฯ ว่าเป็นยอดมงคลอันอุดมเลิศ ท่านย้ำมาก คือ ปฏิรูปเทสวาโส จ ฯ ลฯ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เพราะคนไทย ประเทศไทย เป็นปฏิรูปเทส มีคุณสมบัติ และ องค์ประกอบสมบูรณ์แบบ ไม่มีชาติไหนเหมือน

    ภูมิประเทศไทย มีลักษณะ 4 คือ ภูเขา แม่น้ำ ทุ่งกว้าง สาวงาม ลักษณะ 4 อย่างนี้ มีในประเทศใด ประเทศนั้นจะพัฒนาตัวของมันโดยไม่หยุดยั้ง ถ้ามีปัจจัยภายนอกเข้าไปเสริม ก็จะพัฒนาไปได้เร็ว หากไม่มี เขาก็พัฒนาของเขาได้ ท่านว่าอย่างนี้
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    คำผญาสอนศิษย์

    บทโคลง กาพย์ กลอน หรือ ผญา (อ่านว่า "ผะ-หยา" - ภิเนษกรมณ์) นั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านจะนำมาพูดมาสอน สลับกับพระธรรมเทศนา เช่น คราวใดที่จิตของผู้ฟังส่วนมาก มีอาการตามกระแสธรรมของท่าน เมื่อท่านกำหนดดูจิตว่า ขณะนี้ จิตของผู้ฟังเกิดปีติเพลิดเพลินเกินไปจนลืมทุกข์ คิดว่าจะยินดีพอใจในอารมณ์นั้น ท่านก็จะสลับเป็นผญาหรือร่ายออกมา

    "เออ เอ้า อย่าพากันลืมทุกข์เน้อ"

    เหมือนคำว่า

    "ทุกข์ตั้งแต่ในขันธ์ห้า โฮมมาขันธ์สี่ ทุกข์ตั้งแต่ในโลกนี้ โฮมข่อยผู้เดียว"

    เมื่อมีความเพลินจนลืมตัว ต่อไปก็จะลืมไตรลักษณ์ นี้เป็นความรู้สึกของผู้เล่า ผู้ปฏิบัติเกิดปีติสุข เอกัคคตา อันเกิดจากฌานสมาธิสมถะ เป็นที่พักเอากำลังปัญญา เลยไปติดในนั้น ท่านจึงให้เอาไตรลักษณ์แก้ หรือเพื่อความร่าเริง อาจหาญ บันเทิงบ้าง ตามแต่จิตของผู้ฟังจะมีอาการ ที่ท่านแสดง เป็นอาเทศนาปาฏิหาริย์ของท่าน

    คำว่า "มะหับมะหายไป" เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนธิดามารมาล่อลวงพระพุทธเจ้า เหมือนมีตัวมีตนแล้วก็จางหายไป หรือเหมือนพยับแดดมองดูไกล เหมือนมีตัวมีตน พอเข้าใกล้ก็จางหายไป

    "สาระพัดเกี้ยวขา สาระพาเกี้ยวแข้ง สายต่องแต่งเกี้ยวคอ นั่งก่อส่อเหมือนลิงติดตัง"

    ความหมาย "ตัณหารักลูกเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักเมีย (ผัว) เหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของเหมือนปลอกใส่ตีน (เท้า) นั่งคอตกจนปัญญาคาความคิด เหมือนลิงติดตัง"

    ผญาบางบท เป็นของนักปราชญ์แต่ปางก่อนแต่งไว้บ้าง ที่เข้ากันได้กับธรรมที่ท่านแสดง ธรรมดาพระอริยเจ้าชั้นใดชั้นหนึ่ง ท่านมีวาสนาในนิรุตติ (นิรุกติศาสตร์) ปฏิสัมภิทาญาณ เวลาท่านแสดงธรรม คำเหล่านี้จะขึ้นมาจากญาณของท่าน อันเป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ของพระอริยเจ้า
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เหตุที่ทำให้ฝนแล้ง

    ปีนั้นฟ้าฝนไม่ค่อยดี แต่ไม่ถึงกับแล้ง นาลุ่มพอได้เกี่ยว นาบกเฉาตาย ชาวบ้านก็บ่นต่างๆ นานา บางคนถามท่านพระอาจารย์ซื่อๆ ด้วยความเคารพและกันเองว่า

    "ทำไม อัญญาท่าน"

    "อัญญาท่าน" เป็นภาษาสกลนคร ที่ถวายให้เกียรติอย่างสูง แก่พระเถระที่ประชาชนเคารพนับถือมาก ทั้งจังหวัดจะได้สมญานี้น้อยมาก

    อัญญาท่าน ตอบ

    "ฝนตกบ่ชอบ เมื่อนักปราชญ์เบื่อครองธรรม

    คนบ่ยำนักบวช เพราะนักบวชละสิกขาวินัย

    เมื่อหน้าหากซิมีแลฯ "

    นั่นได้ยินไหม ฟังเอา ไม่อยากให้ฝนแล้ง ก็อย่าให้เป็นอย่างนั้นซิ นี่คือคำตอบ
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ก่อนนิพพานที่วัดป่าบ้านภู่

    [​IMG]
    ขบวนอัญเชิญพระอาจารย์มั่นจากวัดป่าบ้านหนองผือ
    มาพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ และไปวัดป่าสุทธาวาส


    หลังจากออกพรรษาแล้ว (พ.ศ.2492-ภิเนษกรมณ์) อาการป่วยของท่านดูจะหนักขึ้นทุกวัน บรรดาศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านได้ประชุมกัน จะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร โดยแวะพักที่วัดป่าบ้านภู่ก่อน (วัดป่าบ้านภู่ คือ วัดป่ากลางโนนภู่ ในปัจจุบัน - ภิเนษกรมณ์) ผู้เล่าจะขอเล่าเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายที่จำได้ดังนี้


    ขบวนอัญเชิญพระอาจารย์มั่นจากวัดป่าบ้านหนองผือ
    มาพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ และไปวัดป่าสุทธาวาส

    เหตุการณ์ในระหว่างเดินทางจากหนองผือสู่พรรณานิคม ระยะทางจากหนองผือ มีบ้านห้วยบุ่น นาเลา คำแหว (อ่านว่า หะแว) ทิดไทย โคกเสาขวัญ กุดก้อม และพรรณาฯ นาเลา คำแหว หมู่บ้านห่างออกไป ต้องเดินอ้อมเขา คนสมัยนั้นมีไม่มาก แต่คนมาจากไหนมากมายเกินกว่าสมัยนั้น ทั้งหญิงทั้งชายทั้งเด็ก ที่อ้อมห้วยมาทางลัด ทั้งช่องเขา ท่าน้ำ ช่องป่าไม้ คนมากันทุกทิศทุกทาง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าท่านพระอาจารย์จะออกเดินทางวันนั้น เพราะพูดตกลงวันนั้น ทำเสลี่ยงเสร็จ วันที่สองก็นำท่านออกมาเลย มีคนแบกคานหาม 4 คน ล้วนแต่เป็นชายฉกรรจ์ทั้งนั้น

    พอเดินไปได้ประมาณครึ่งกิโลเมตร ผู้รอเปลี่ยนคานหามก็บอกว่า

    "เธอออกไป เราจะเข้าหามแทน"

    คนหามก็บอกว่า "มายังไม่ถึง 10 วา จะมาแย่งแล้ว"

    "อ้าว เธอหามไกลแล้วต้องให้เราซิ"

    ทะเลาะกันมาตลอดทาง พระอาจารย์ฝั้นต้องติดตามใกล้ชิด คอยห้ามทัพ ไม่ให้ทะเลาะกัน

    พอคนนั้นออกมา ผู้เล่าถามว่า "ทำไมหามไปไกลแล้ว ยังว่าหามไปไม่ถึง 10 วา"

    เขาบอกว่า "เวลาแบกเสาแบกฟืน หามนั้นหามนี้ มีแต่หนัก แต่หามอัญญาท่านมั่น เบาเหมือนกับว่าเท้าไม่ติดดิน" นี้คือคำบอกเล่าของคนหาม

    จากบ้านคำแหว ถึงบ้านโคก ก่อนถึงบ้านโคก มีลำห้วย น้ำเย็นไหลใสสะอาด คนหามขอพักล้างมือ ลูบไล้แขนขา เพื่อเข้าสู่หมู่บ้าน ท่านพระอาจารย์ก็อนุญาต และท่านก็ล้างหน้าด้วย ศิษย์เช็ดตัวถวาย ขณะนั้นตัวท่านร้อนอยู่ คล้ายๆ จะมีไข้ พร้อมแล้วก็หามท่านเดินทางต่อ จนกระทั่งอีกไม่เกิน 10 ก.ม. จะถึงพรรณาฯ เลยบ้านกุดก้อมออกมา มีทางแยกสองแพร่ง แพร่งหนึ่งไปพรรณาฯ แพร่งหนึ่งไปบ้านม่วงไข่ จึงเอาท่านวางลง

    ที่วัดป่าบ้านภู่ พรรณาฯ ท่านอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม เตรียมรับพร้อม ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เตรียมรับพร้อม เลยเจรจากัน แต่ยังตกลงกันไม่ได้

    ได้ยินถึงท่านพระอาจารย์ เลยถามว่า "ถึงหรือยัง"

    ตอบ "ยังไม่ถึง"

    "เออ ไม่ถึงจะอยู่นี้หรือ"

    "กราบเรียน ท่านอาจารย์อ่อนจะนำไปม่วงไข่ ท่านอาจารย์ฉลวยจะนำไปพรรณาฯ "

    "บ้านม่วงไข่เราไม่ไป เราจะไปวัดโยมอ่อน รู้แล้วหรือยัง รู้แล้วก็ไป"

    พอถึงทุ่งนาหมดทางเกวียนแล้ว ชาวบ้านต้องเดินตามคันนา กว้างไม่เกิน 50 ซ.ม. ข้าวแก่ก็มี กำลังจะแก่ก็มี แต่คนหามรวมทั้งคนเอามือประคองเป็นสิบสิบ เลยหยุดยืน กลัวจะเหยียบย่ำข้าว เจ้าของนาทุกคนที่ติดตามไป เขาไปยืนอยู่บนคันนา ประกาศขึ้นว่า

    "ข้าวเอ๋ยข้าว บัดนี้ความจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ขอย่ำขอกรายด้วย"

    แล้วก็หันมาบอกพวกหามว่า "ไปได้เลย"

    แล้วก็พากันเดินเอาคันนาไว้กลาง ย่ำไร่นาไปเลย ผู้เล่าเดินตามหลัง ไม่เห็นมีข้าวล้มแม้แต่กอเดียว เพราะคนหามก็คือชาวนานี่เอง เขาต้องระวังเป็นพิเศษ ข้าวก็เลยปลอดภัย

    [​IMG]
    ศาลาที่พักอาพาธท่านพระอาจารย์มั่น
    ณ วัดป่าบ้านภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


    ถึงวัดป่าบ้านภู่ ประมาณ 16.00 น.เศษๆ ทำเวลาได้เร็วกว่าปกติ ส่วนหมู่คณะทั้งพระเถระอนุเถระ ติดตามท่านมาเกือบหมดวัด เดินตามก็มีมาก เดินลัดเขามาก็มี ผู้ไม่ค่อยมีกำลังก็เดินลัดเขา เพราะใกล้กว่า

    เป็นเวลา 11 วัน ที่ท่านได้พักอยู่วัดป่าบ้านภู่ อันเป็นวัดที่ โยมอ่อน โมราราษฎร์ เป็นผู้สร้าง โยมอ่อน เป็นผู้มีศรัทธารับส่งสิ่งของต่างๆ ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี โดยทางพัสดุไปรษณีย์บ้าง ฝากคนมาบ้าง ส่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ตลอด 5 ปี ผู้เล่าคิดว่าท่านพระอาจารย์คงเป็นอุปการะส่วนนี้ อันเป็นวิสัยของนักปราชญ์ จึงมาพักฉลองศรัทธาของโยมอ่อน

    บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ ทั้งพระเถระอนุเถระ ทั้งไกลทั้งใกล้ ได้มาดูแลปฏิบัติเป็นจำนวนร้อย ต่างพักหมู่บ้านใกล้เคียง มีหนองโดก ม่วงไข่ บะทอง เป็นต้น ส่วนป่าบ้านภู่ไม่ต้องกล่าวถึง นอกกุฏิ ตามร่มไม้ ริมป่า ปักกลดเต็มไปหมด

    ทางราชการ มีท่านนายอำเภอพรรณานิคม เป็นประธาน ก็ได้ประกาศเป็นทางการให้ชาวพรรณาฯ ทุกตำบล หมู่บ้าน ขอให้มาช่วยกันดูแล เพื่อความสะดวกสบายแก่พระสงฆ์เป็นจำนวนร้อยๆ นั้น อาหารบิณฑบาต ที่พัก นำปานะ เพียงพอ ไม่มีบกพร่อง อาการเจ็บป่วยของท่านพระอาจารย์ ดูจะทรุดลงเรื่อยๆ ตัวร้อนเป็นไข้ ไอจะสงบก็เป็นครั้งคราว พอให้ท่านได้พักบ้าง

    บรรดาศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ได้มีการประชุมกัน มี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นประธาน ความว่า จะให้ท่านมรณภาพที่นี่ หรือที่สกลนคร มติในที่ประชุมเห็นว่า ให้ท่านมรณภาพที่นี่ก่อน แล้วค่อยนำไปสกลฯ โดยให้พระมหาทองสุกไปจัดสถานที่คอย ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร

    คืนวันที่ 11 ที่มาพักวัดกลางบ้านภู่ เวลาตีสามเห็นจะได้ ท่านพระอาจารย์มีอาการไม่สบายมาก ท่านโบกมือขวา บอกว่า ไปสกลฯ ไปสกล จนอาการทุเลาลง คณะคิลานุปัฏฐากก็ทำการเช็ดตัว ถวายน้ำล้างหน้า เช็ดหน้า ห่มผ้า ก็รุ่งสว่างพอดี

    อาหารบิณฑบาตพระป่วยก็นำมา ผู้เล่าตักถวาย ท่านอาจารย์วันประคองข้างหลัง อาหารช้อนแรก ท่านเริ่มเคี้ยว พอกลืนได้ครึ่งหนึ่ง ก็มีอาการไอ ไอ ไอติดต่อกัน อาหารช้อนแรกยังไม่ได้กลืน ก็ต้องคายออก

    ตักถวายช้อนที่สอง ท่านยังไม่ได้เคี้ยว เกิดไอ ไอใหญ่ ท่านคายลงกระโถน แล้วบอกว่า

    "เรากินมา 80 ปี แล้ว กินมาพอแล้ว"

    ผู้เล่าถวายน้ำอุ่นให้ดื่มเพื่อระงับอาการไอ

    ท่านบอกว่า "เอากับข้าวออกไป"

    ผู้เล่าอ้อนวอนท่านอีก

    "เอาอีกแล้ว ทองคำนี้พูดไม่รู้จักภาษา บอกว่าเอาออกไป มันพอแล้ว"

    ก็จำใจนำออกไป

    พอท่านบ้วนปากเสร็จ จึงเข้าไปประคองแทนท่านอาจารย์วัน

    ท่านบอกว่า "พลิกเราไปด้านนั้น ทางหน้าต่างด้านใต้" แล้วบอกว่า "เปิดหน้าต่างออก"

    ผู้เล่ากราบเรียนว่า "อากาศยังหนาวอยู่ สายๆ จึงค่อยเปิด"

    "เอาอีกแล้ว ทองคำนี้ไม่รู้ภาษาจริงๆ บอกว่าให้เปิดออก หูจาวหรือ จึงไม่ได้ยิน"

    พอเปิดหน้าต่างออกไป อะไรได้ คนเต็มไปหมดทั้งบริเวณ ประมาณได้เป็นร้อยๆ คน ทุกคนที่มาจะเงียบหมด ไม่มีเสียงให้ปรากฏ ถ้าเราอยู่ที่ลับตา จะไม่รู้ว่ามีคนมา ทุกคนก้มกราบ นั่งประนมมือ

    ท่านพระอาจารย์กล่าวว่า

    "พวกญาติโยมพากันมามาก มาดูพระเฒ่าป่วย ดูหน้าตาสิ เป็นอย่างนี้ละ ญาติโยมเอ๋ย ไม่ว่าพระ ไม่ว่าคน พระก็มาจากคน มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน คนก็เจ็บป่วยได้ พระก็เจ็บป่วยได้ สุดท้ายก็คือ ตาย ได้มาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญก็เจริญให้พอเสีย จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ด้วยความไม่ประมาท นั่นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน เท่านี้ละ พูดมากก็เหนื่อย"

    นี้คือ โอวาทที่ท่านให้ไว้แก่ชาวพรรณานิคม ตั้งแต่นั้นจนวาระสุดท้าย ท่านไม่ได้พูดอีกเลย

    ประตูที่พักด้านหน้าเปิดอยู่ ท่านบอก “หันตัวเราไปทางประตู”

    พอหันเสร็จ ก็เห็นคนแต่งตัวผู้ดี 3-4 คน นั่งบนเสื่อที่ปูอยู่ข้างล่าง สำหรับให้แขกนั่ง ท่านเพ่งดูแล้วถามว่า

    "ใคร"

    แขก "กระผม วิเศษ ลูกเขยแม่นุ่ม (คือ คุณวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ ลูกเขยของคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ - ภิเนษกรมณ์) เอารถมารับท่านอาจารย์กลับสกลฯ ท่านมหาทองสุกบอกเมื่อวานนี้ กระผมเลยนำรถมารับ ขอรับ"

    "เออ ไปซิ เราอยากไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เอ้า วัน ทองคำ แต่งของเร็ว"

    "เราจะไปอย่างไร รถจอดบนทางหลวง นี่มันมีแต่ทางเกวียน"

    นายวิเศษ "ไม่ยาก กระผมได้นำเปลพยาบาลมา เป็นผ้าใบ เบาๆ นิ่มๆ นิมนต์นอนพักไปสบายๆ "

    "คนหามเล่า"

    นายวิเศษ "ท่านแขวงฯ ได้เตรียมคนมาพร้อมแล้ว รถก็สบาย ไม่กระเทือน เพราะเป็นรถประจำตำแหน่งของท่าน"

    พอแต่งของเสร็จ หมอก็ถวายยาให้ท่านนอนหลับไปสบายๆ ก่อนไป

    ท่านเอ่ยขึ้นว่า "ก็หมู่เล่า จะไปกันอย่างไร"

    นายวิเศษ "ไม่ยากกระผม ท่านแขวงฯ ได้เตรียมรถบรรทุกคนงานมาพร้อมแล้ว บรรทุกได้เป็นสิบๆ รูป จะขนถ่ายให้หมดวันนี้"

    จึงนำท่านไปขึ้นรถ สมัยนั้นรถหายาก รถประจำตำแหน่งท่านแขวงฯ ไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไร ได้ยินเขาพูดกันว่า แลนด์โรเวอร์ ส่วนรถบรรทุก เขาว่า รถดอดจ์ หรือฟาร์โก้นี้ละ

    จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ 12 นาฬิกา เพราะทางหินลูกรัง กลัวท่านจะกระเทือนมาก ท่านก็หลับมาตลอด นำท่านขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่าน ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอน ท่านจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางผินศีรษะของท่าน

    เวลาประมาณ 1.00 น.เศษ ท่านรู้สึกตัวตื่นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ

    เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า (พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่าน ก็เลยหยุด ท่านก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ

    เป็นอันว่า อวสานแห่งขันธวิบากของท่านได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางศิษย์จำนวนมาก ในเวลาประมาณ 02.00 น.เศษๆ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เหลือไว้แต่ผลงานของท่านมากมายเหลือคณานับ

    การเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ได้ยุติลงแล้ว เช่นเดียวกับการนำเสนอเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของท่าน จากหนังสือ "รำลึกวันวาน" ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ก็เห็นสมควรจะยุติลงเช่นเดียวกัน ในวันมงคลดิถีเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 7

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่นำเสนอนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้เร่งปรารภความเพียร ดำเนินตามรอยที่ท่านพระอาจารย์มั่นเดินนำไปแล้วนั้น จนถึงฝั่งแห่งความพ้นทุกข์โดยทั่วกันทุกท่าน

    ตมหํ สงฆํ อภิปูชยามิข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งซึ่งพระสงฆ์นั้น

    ตมหํ สงฆํ สิรสา นมามิข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์นั้น…ด้วยเศียรเกล้า



    ภิเนษกรมณ์

    12 มิ.ย. 49


    ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก
    http://www.dharma-gateway.com
     
  15. ปันแสน

    ปันแสน สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 สิงหาคม 2015
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +2
    หนังสือรำลึกวันวาน

    ได้รับฟังจากปากของพระสงฆ์ที่ติดตามใกล้ชิด พระผู้ใหญ่ที่หลวงตาทองคำท่านเขียนและถวายให้เป็นกรรมสิทธิ์นะคะ
    ทั้งสองท่านทราบเรื่องราวของหนังสือรำลึกวันวานมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น
    พระสงฆ์ผู้ติดตามใกล้ชิดพระผู้ใหญ่ เล่าให้ฟังว่า ได้นำหนังสือรำลึกวันวาน ถวายหลวงตามหาบัวเพื่อตรวจเช็ค หลวงตาท่านก็ไม่ได้ว่าหรือห้ามแต่อย่างใดค่ะ
    และ ยังเล่าว่า ได้นำถวายพระองค์หนึ่งที่เคยเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ก่อนหน้าหลวงตาทองคำ
    ท่านบอกว่า เป็นหนังสือที่ดี น่าจะพิมพ์เยอะ ๆ
    นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ ก็ได้ถวายหลวงปู่หลอดด้วยค่ะ
    เมื่อหลวงปู่หลอดท่านอ่านแล้ว ได้เมตตาเขียนเถรัมภกถาให้ตีพิมพ์ในหนังสือ
    ข้อความของหลวงปู่หลอดมีอยู่ในหนังสือค่ะ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 กุมภาพันธ์ 2016

แชร์หน้านี้

Loading...