เรื่องเด่น เจตนาในการถวายทาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 17 ตุลาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    เจตนาในการถวายทาน-1.jpg

    เจตนาในการถวายทาน


    การมาของบรรดาท่านพุทธบริษัทในวันธรรมสวนะนี้ รู้สึกว่าเป็นมหากุศล เพราะว่าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีการเตรียมตัวมาก่อน ว่าวันใดที่องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศเป็นวันธรรมสวนะ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ก็เริ่มตั้งใจไว้แต่ก่อนวันนั้นว่า วันพรุ่งนี้หรือวันมะรืนนี้จะเป็นวันพระ เป็นวันธรรมสวนะ คือวันฟังธรรม เราตั้งใจจะไปบำเพ็ญกุศลที่วัดนั้น ในสถานที่นี้เป็นต้น
    การที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนตั้งใจไว้ก่อนอย่างนี้ สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่าเป็น “ปุพพเจตนา”
    คำว่า “ปุพพเจตนา” แปลว่า ตั้งใจไว้ก่อน ว่าเราจะไปทำความดี คือทำบุญ คำว่า “บุญ” นั้นก็แปลว่า ดี
    ถึงวันนั้นก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระชินสีห์ ก็จัดแจงวัตถุทั้งหลายที่มีประโยชน์ในการบำเพ็ญกุศล ตั้งใจไปทำบุญในวันนั้น และการจะทำบุญในครั้งนั้น ก็เต็มไปด้วยความเต็มใจ อย่างนี้เรียกว่า “มุญจเจตนา” คือตั้งใจในปัจจุบันว่าเราจะได้บุญ
    หลังจากที่ทำบุญทำกุศลแล้ว ก็มีความปลื้มใจอย่างนี้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่าเป็น “อปรเจตนา” และ “อปราปรเจตนา” นี้หมายความว่า
    การบำเพ็ญกุศลในพุทธศาสนานี้ ที่สมเด็จพระชินสีห์กล่าวว่าจะมีอานิสงส์มากหรือมีอานิสงส์เลิศ ต้องประกอบไปด้วยเจตนาทั้ง ๔ ประการคือ
    (๑) ก่อนที่จะทำบุญทำกุศล ตั้งใจไว้ก่อนว่าเราจะทำอย่างนี้ เรียกว่าเจตนาในตอนต้นก่อนทำ ที่เรียกว่า “ปุพพเจตนา”
    (๒) ขณะที่ทำอยู่ ก็มีใจเลื่อมใส เรียกว่า “มุญจเจตนา”
    (๓) เมื่อทำไปแล้วมีความปลื้มใจว่า เราได้ทำความดีแล้วใหม่ๆ เรียกว่า “อปรเจตนา”
    (๔) ความปลื้มใจคงอยู่ เมื่อได้ทำดีนานแล้ว เรียกว่า “อปราปรเจตนา”
    การบำเพ็ญกุศล ถ้าพร้อมด้วยเจตนาทั้ง ๔ ประการนี้ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้เคยตรัสกับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ว่า เป็นบุญที่มีอานิสงส์เลิศประเสริฐอย่างยิ่ง
    ความมีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ในขณะนั้น สาวกสำคัญขององค์สมเด็จพระบรมครู ที่มีศรัทธาหนัก มีหลายท่านด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็มี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กับ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ทั้ง ๒ ท่านนี้มีศรัทธาความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดามาก ถึงกับมีประวัติกล่าวไว้ว่า ขณะใดที่พระพุทธเจ้าก็ดี บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี ไปพักในวิหารของท่าน ท่านทั้งสองนี้ ไม่เคยมีมือเปล่าเดินเข้าไปในวัด
    ถ้าเวลาเช้าหรือว่าก่อนเที่ยง ท่านก็ให้คนใช้นำอาหารติดมือเข้าไปทุกวัน ถ้าเวลาท่านไป ถ้าเวลาตอนบ่ายเป็นยามวิกาล ก็นำเภสัชไปถวาย คือของดื่มที่พระฉันได้ เป็นอันว่า ศรัทธาทาน ของท่านทั้งสองนี้ มีศรัทธาใหญ่ยิ่งกว่าบุคคลใดทั้งหมด
    ในกาลวันหนึ่ง ปรากฏว่าเคราะห์กรรมใหญ่เกิดขึ้น มาเกิดกับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ความจริง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นี่มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ที่ดินต่างหาก แต่ว่ามาในครั้งหนึ่ง อาศัยกรรมที่เป็นอกุศลเดิมเข้ามาลิดรอนในระหว่างท่านต้องตกอยู่ในฐานะที่เป็นคนยากจนเข็ญใจอย่างแสนสาหัส เรียกว่าทรัพย์ที่ฝังไว้ใกล้แม่นํ้า ใกล้ชายทะเล ก็ปรากฏว่านํ้าเซาะเอาทรัพย์ลงทะเลไปหมด ไม่มีโอกาสที่จะนำมาใช้ได้ ชาวบ้านที่กู้เงินไปเขาก็พากันโกง คนรับใช้ในบ้านก็พากันขโมยของเอาไปบ้าง
    รวมความว่า ท่านมหาเศรษฐี ในสมัยหนึ่งเป็นมหาเศรษฐี มียศใหญ่ มีทรัพย์มาก ในตอนนี้ทรัพย์ที่มีอยู่มันสลายตัวไป กลายเป็นคนจนที่สุดในฐานะที่เรียกว่า “ยอดของความจน” แม้แต่ข้าวที่มีเม็ดหัก หรือว่าข้าวที่มีเต็มเม็ดท่านก็ไม่มีจะบริโภค ต้องบริโภคปลายข้าวที่มีความละเอียดมาก ที่เรียกว่า “ข้าวปลายเกวียน” ความยากจนมีถึงขนาดนี้
    แต่ว่าวันหนึ่ง องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปที่เมือง ราชคฤห์มหานคร สมเด็จพระชินวรทรงประทับอยู่ใน พระเวฬุวันมหาวิหาร ตอนนั้นท่านมหาเศรษฐีทราบว่า องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ถึงแม้ว่าท่านจะจนแสนจนขณะใดก็ตามที แต่ว่าศรัทธาของท่านมหาเศรษฐีไม่ได้จนไปด้วย เพราะว่าท่านเป็นพระโสดาบัน จึงเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาที่ เวฬุวันมหาวิหาร
    ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบ วันนั้นท่านก็อาราธนาบรรดาภิกษุทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้เข้าไปฉันภัตตาหารที่บ้านของท่าน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบว่ามหาเศรษฐี เวลานี้กลายไปเป็น “มหาทุคคตะ” คือคนจนเข็ญใจ แต่อาศัยที่ท่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงถือ ถืออย่างเดียวว่าท่านเจ้าภาพถวายด้วยความเต็มใจเพียงใด พระพุทธเจ้าก็ทรงรับ
    ฉะนั้น วันนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าก็ดี บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ไปบ้านของท่านมหาเศรษฐี ในฐานะที่ท่านเป็นมหาเศรษฐี มาตั้งแต่ต้นตระกูลใหญ่ บ้านก็ใหญ่โตตามเดิม แต่ว่าใหญ่แต่ข้างนอก ข้างในกลวง ทรัพย์สินไม่มี
    เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์เสด็จไปพร้อมไปด้วยพระสงฆ์ ท่านก็สั่งคนในบ้านให้นำปลายข้าวที่มีเนื้อละเอียด มันมีเท่านั้น ข้าวดีกว่านั้นไม่มี นำเอาปลายข้าวละเอียดมาต้มเป็นข้าวต้ม แล้วก็ใช้นํ้าผักดองเป็นกับข้าวต้มถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระอรหันต์ทั้งหลาย องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ดี และบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี รับประเคนแล้วก็ฉันตามปกติ ไม่มีพระองค์ไหนแสดงอาการรังเกียจว่าข้าวต้มนี้มันเละเทะละเอียดมาก กับข้าวก็แสนจะเลว คือใช้นํ้าผักดอง พระท่านไม่ได้คิดอย่างนั้น
    พระจริงๆ ท่านคิดอยู่ว่า ถ้าผู้ใดถวายด้วยศรัทธาอันแท้จริง จะเป็นมนุษย์ผู้ชายหรือผู้หญิง จะเป็นคนจน หรือคนรวยก็ตามที พระย่อมฉันตามศรัทธาของบรรดาท่านพุทธบริษัทเป็นการฉลองศรัทธา สร้างบุญสร้างกุศลให้เกิดขึ้น
    ฉะนั้น ในการฉันข้าวในวันนั้น ท่านมหาเศรษฐีก็นั่งสังเกต สังเกตตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงไปถึงบรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายทั้งหมด ก็ปรากฏว่าทุกองค์ฉันตามปกติ ไม่ได้แสดงอาการรังเกียจถึงกับข้าวหรือข้าวซึ่งละเอียด แต่ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จ บรรดาพระสงฆ์ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาจะทรงแสดงโมทนา การโมทนาในคราวนั้นเขาก็ใช้การเทศน์ หรือการแนะนำท่านผู้ฟัง ไม่ใช่ ยถา สัพพี เหมือนสมัยนี้ เมื่อท่านเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระชินสีห์แล้วจึงกราบทูลว่า
    “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ทานของข้าพระพุทธเจ้าเศร้าหมองเสียแล้วพระเจ้าข้า”
    สมเด็จพระบรมศาสดาทรงมีพุทธฎีกาตรัสถามว่า
    “มหาเสฏฐิ ดูก่อนมหาเศรษฐีที่ท่านกล่าวว่า ทานของท่านเศร้าหมองน่ะ ท่านมีความหมายว่าอย่างไร?”
    ท่านมหาเศรษฐีจึงได้กราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า
    “ในสมัยก่อน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี ถ้ามาในบ้านของข้าพระพุทธเจ้านี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยถวายข้าวที่มีรสเลิศ ๕ อย่าง นั่นคือ ข้าวมธุปายาส จัดว่าเป็นข้าวที่มีรสเลิศมาก เพราะมีราคาสูงสุด แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ แต่เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้า มีความยากจนเข็ญใจลงไปมาก ข้าวที่เป็นเม็ดดีๆ ก็ไม่มีจะบริโภค แม้แต่ข้าวหักก็ไม่มี วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าต้องถวายข้าวปลายเกวียน คือปลายข้าวที่ละเอียดต้มเป็นข้าวต้ม กับข้าวอย่างดีมันก็ไม่มี มีแต่นํ้าผักดองพระเจ้าข้า อาหารทั้ง ๒ ประการคือ ข้าวก็ดี กับก็ดี ถือว่าเป็นอาหารชั้นเลวที่สุด”
    ตัง สุตวา เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสดับแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า
    “ดูก่อนท่านมหาเศรษฐี ตถาคตอยากจะถามท่านว่า กับข้าวก็ดี ข้าวของท่านก็ดี ที่กล่าวว่าวันนี้มีความเศร้าหมอง คือเป็นของที่ไม่ดี ข้าวที่ละเอียดก็ปรากฏว่าต้มข้าวต้มเป็นเนื้อข้าวสำหรับฉัน กับข้าวนั้นท่านใช้นํ้าผักดองเป็นกับ เป็นเครื่องร่วมบริโภค แต่เรื่องนี้ขอยกไว้ กำลังใจของท่านมีความรู้สึกอย่างไรในการถวายทาน?”
    ท่านเศรษฐีก็กราบทูลองค์สมเด็จพระพิชิตมารว่า
    “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า สำหรับกำลังใจของข้าพระพุทธเจ้าเป็นไปตามปกติ คือในสมัยก่อนอยู่ในฐานะมหาเศรษฐีฉันใด เวลานี้ถึงแม้ว่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพากันยากจนเข็ญใจในขั้นถึง มหาทุคคตะ ก็ตามที แต่ว่าเจตนาของข้าพระพุทธเจ้านี้ ในการให้ทานสมบูรณ์แบบตามเดิม พระพุทธเจ้าข้า”
    สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า
    “คำว่ามีความสมบูรณ์แบบ ในเจตนามีความรู้สึกอย่างไร?”
    ท่านมหาเศรษฐีจึงได้กราบทูลองค์สมเด็จพระจอมไตรว่า
    “ก่อนที่ข้าพระพุทธเจ้าจะนิมนต์องค์สมเด็จพระชินวร มาที่บ้านนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความเต็มใจว่า โอกาสนี้จะได้มีโอกาสถวายทานแด่องค์สมเด็จพระชินสีห์ แก่บรรดาพระอริยสงฆ์ทั้งหลายแล้ว ตั้งใจแล้วด้วยความเต็มใจ เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้านำข้าวต้มที่ทำด้วยปลายเกวียนก็ดี มีกับข้าวที่แม้จะมีแต่นํ้าผักดองก็ดีเป็นกับ ไอ้นํ้าผักดองนั้นมันเปรี้ยวๆ เค็มๆ พอจะกินกับข้าวต้มได้ กำลังใจในตอนนี้ของข้าพระพุทธเจ้า ทำไปด้วยความเต็มใจ ไม่บกพร่อง เวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี บรรดาพระอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลายก็ดี ฉันภัตตาหารเสร็จ ข้าพระพุทธเจ้าก็มีความปลื้มใจ ว่าทานที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายแล้วในฐานะอันเลิศประเสริฐที่ทำแล้ว สำเร็จลุล่วงตามความประสงค์พระพุทธเจ้าข้า”
    สรุปง่ายๆ ก็รวมความว่า ก่อนที่จะให้ท่านมหาเศรษฐีก็ตั้งใจว่าจะถวายทาน ขณะที่นำไปเข้าไปประเคนพระ ก็เต็มใจในการประเคน ในการให้ทาน เมื่อพระฉันทานแล้ว ท่านมหาเศรษฐีก็มีความปลื้มใจ ดีใจว่าทานเราแม้จะเป็นของเลวก็ตาม ของดีก็ตาม พระพุทธเจ้าก็ดี บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี ไม่ได้มีความรังเกียจ เต็มใจฉัน ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้ท่านมหาเศรษฐีปลื้มใจ
    ตัง สุตวา เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาได้ทรงสดับในการนั้นแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
    “มหาเสฏฐิ ดูก่อนมหาเศรษฐี ลูขัง วา ปณีตัง วา”
    คำว่า “ลูขัง” นี่แปลว่า ของเลว
    ไอ้วานี่ก็แปลว่าของเลวก็ตาม ลูขัง วา ของเลวก็ตาม ปณีตัง วา ของดีเลิศก็ตาม หรือของปราณีตก็ตาม ถ้าบุคคลผู้ใดผู้บำเพ็ญกุศล อันนั้นไม่มีความสำคัญ มีความสำคัญอยู่เพียงว่า เจตนาของบุคคลว่าให้พร้อมกับเจตนาทั้ง ๓ ประการไหม
    (๑) ก่อนที่จะให้ก็เต็มใจว่า เราจะให้ทานหรือถวายทาน
    (๒) ขณะที่ให้แล้วก็มีความปลื้มใจ ว่าเราเวลานี้ได้ให้ทานแล้ว
    (๓) เมื่อให้ไปแล้ว เมื่อขณะที่ให้ก็เต็มใจในการให้ ให้แล้วก็มีความเลื่อมใสว่า โอหนอ..ทานเราให้แล้ว เป็นการตัดกิเลส มีโลภะเป็นต้น
    สมเด็จพระทศพลตรัสว่า
    “ดูก่อนท่านมหาเศรษฐี วันนี้ความจริงอาหารของท่านกล่าวว่าเลว คือว่าข้าวทำด้วยข้าวละเอียด ปลายข้าวละเอียดต้มเป็นข้าวต้ม สำหรับกับข้าวเป็นนํ้าผักดอง ชาวบ้านเขาตำหนิกันว่าเลว แต่พระก็ไม่เคยตำหนิ พระมีความรู้สึกอย่างเดียวว่า การบริโภคอาหารทุกครั้ง ต้องพิจารณาเป็น “อาหาเรปฏิกูลสัญญา”
    นั่นก็มีความทราบอยู่ว่า อาหารทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมา จะมีต้นพืชก็ดี หรือว่าสัตว์ก็ดี มันเต็มไปด้วยความสกปรก มีเชื้อสายมาจากความสกปรก ก็หมายความว่า ต้นพืชจะมีปุ๋ยเป็นเครื่องเลี้ยง อาหารของต้นพืชก็ของสกปรก สัตว์ทุกประเภทในร่างกายของเธอก็เต็มไปด้วยความสกปรก นี่การกินของที่สกปรก ก็ไปสร้างให้ร่างกายเกิดขึ้น ร่างกายทั้งหมดของบุคคลก็เต็มไปด้วยความสกปรก
    ฉะนั้น การบริโภคอาหารของพระจึงไม่ติดอยู่ในรส จะไม่ติดอยู่ในสี ไม่ติดอยู่ในฐานะของอาหาร อาหารจะดีหรืออาหารจะเลวประการใดก็ดี พระย่อมมีความรู้สึกอย่างเดียวว่า เรากินอาหารคราวนี้ กินเพื่อจะยังชีวิตให้ทรงอยู่ เป็นการระงับทุกขเวทนาที่เกิดจากความหิว เมื่อชีวิตทรงอยู่ด้วยประการใดก็ตาม นี่เราจะสร้างความดีให้ถึงที่สุดของความดีได้
    แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้ตรัสว่า
    “ดูก่อนมหาเศรษฐี อาหารของท่านวันนี้ พระไม่ถือว่าเป็นอาหารเลว ถือว่าเป็นอาหารดี เพราะสามารถจะยังชีวิตของพระให้ทรงได้ตลอดวันเพราะอาหารของท่าน จนกระทั่งจะถึงวันพรุ่งนี้ จนกว่าจะได้อาหารใหม่ อาหารวันนี้มีประโยชน์มาก”
    แล้วองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า การถวายทานของท่านวันนี้ ครบเจตนาทั้ง ๓ ประการคือ
    (๑) ก่อนจะให้ตั้งใจด้วยความเต็มใจ
    (๒) ขณะที่ให้ก็ให้ด้วยความเต็มใจ
    (๓) เมื่อให้แล้วก็เกิดความเลื่อมใส
    อย่างนี้ถือว่าเป็นทานที่มีอานิสงส์เลิศ มีอานิสงส์ประเสริฐ คืออานิสงส์ของทานจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่เจตนาทั้ง ๓ ประการ ไม่ใช่หมายความว่า ถ้าแกงไก่ แกงหมู แกงนกกระยาง แกงพญาหงส์ แกงช้าง มีอานิสงส์เลิศ นํ้าพริกกับผักดองจะมีอานิสงส์ตํ่า ไม่ใช่อย่างนั้น อานิสงส์ของอาหารนี้มันอยู่ที่เจตนาของบุคคลผู้ให้ อาหารจะเป็นนํ้าพริก ผักต้มก็ตาม จะเป็นนํ้าผักดองกับข้าวต้มก็ตาม หรือจะเป็น ข้าวมธุปายาส อาหารเลิศก็ตาม แต่ว่าเจตนาของผู้ให้ไม่ครบทั้ง ๓ ประการ ผลที่จะพึงได้รับก็ย่อหย่อนไป แต่ว่าอาหารเช่นใดจะเป็นอาหารชั้นตํ่าที่สุด ที่บรรดาทาสกรรมกรเขากินกัน แต่ว่าเจตนาของผู้ให้นั้นครบเจตนาทั้ง ๓ ประการ จัดว่าเป็นอานิสงส์เลิศ
    ท่านจึงกล่าวว่า
    “ดูก่อนท่านมหาเศรษฐี อาหารทานของท่านในวันนี้ นี่จัดว่าเป็นทานอันมีอานิสงส์เลิศประเสริฐที่สุด เพราะว่ามีเจตนาครบทั้ง ๓ ประการ”
    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน การบำเพ็ญกุศลทุกประการ จะถวายทานกับพระก็ดี ให้ทานกับยาจก วณิพก คนยากจนเข็ญใจก็ดี หรือจะมีความเมตตาปรานีให้แก่สัตว์ผู้ยากก็ดี ให้สัตว์ผู้อดอยากก็ดี ถ้าหากว่าบรรดาท่านทั้งหลาย ก่อนที่จะให้มีเจตนาความดีให้ครบ คือ
    (๑) ก่อนจะให้ ให้ด้วยความเต็มใจ ให้ด้วยจิตเมตตา
    (๒) ขณะที่ให้ ก็เต็มใจในการให้ ไม่ใช่สักแต่ว่าให้ หรือให้ด้วยความจำใจ
    (๓) ให้แล้วจิตใจก็มีความผ่องแผ้ว ว่าความดีชั้นเลิศประเสริฐอย่างยิ่งที่เราทำกล่าวคือ การให้ทานนี้เป็นการตัดโลภะ ความโลภ เป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานส่วนหนึ่ง
    ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททำตามนี้ละก็ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นทานที่มีอานิสงส์เลิศ สวัสดี*

    โพสโดย: achaya
    ภาพจากคุณสุพัฒน์



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     

แชร์หน้านี้

Loading...