เดินชุมชน-ดนตรี-ศิลปะ บ้านในฝันวันดอกไม้บาน

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย Catt Bewer, 26 พฤศจิกายน 2006.

  1. Catt Bewer

    Catt Bewer เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    3,768
    ค่าพลัง:
    +16,673
    [​IMG]วงโฮปแฟมมิลี่ กลุ่มดินสอสี ร่วมกับชุมชนแพร่งภูธร โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเทศกาลชุมชน ดนตรี ศิลปะ และเยาวชนสร้างสรรค์ "บ้านในฝัน วันดอกไม้บาน" ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2-3 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ที่ลานกลางแจ้งแพร่งภูธร

    เพื่อให้ครอบครัว เด็ก และผู้ใหญ่ วัยรุ่นวัยเรียนร่วมแบ่งปันสร้างสุขกับกิจกรรมศิลปะหลากสีสัน สร้างความรักความเข้าใจให้ครอบครัวแข็งแรง ชุมชนเข้มแข็ง และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำงานอาสาเพื่อสาธารณะตามแนวคิด "คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสังคม"

    "เดินชุมชน เยือนสามแพร่ง" เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่โดดเด่นของงาน "บ้านในฝัน" ซึ่งจัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ได้แก่การพาเดินชุมชน เยือนสามแพร่ง อันได้แก่ แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ แหล่งอาคารเก่า

    รวมทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เช่น โรงละครปรีดาลัย โรงละครแห่งแรกของไทย อาคารสวยด้วยลายฉลุไม้ที่ยังคงมนต์เสน่ห์ หรือขนมเบื้องตำรับชาววัง ที่รับรองความอร่อย หลายครอบครัวที่เคยพาลูกจูงหลานมาร่วมเดินแล้วติดอกติดใจ เพราะนึกไม่ถึงว่ากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรจะมีมุมสงบและเปี่ยมเสน่ห์ซ่อน

    ตัวอยู่กลางมหานคร

    ที่น่าสนใจคือ "มัคคุเทศก์น้อย" ซึ่งเป็นอาสาสมัครนักเรียนจากโรงเรียนรอบๆ ชุมชน ร่วมบรรยายด้วย

    "พวกเราศึกษาข้อมูล ลงพื้นที่ เพื่อเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสามแพร่ง สถานที่สำคัญต่างๆ พาน้องม.5 ที่เป็นอาสาสมัครไปเดินสำรวจกันจริงๆ สอบถามผู้ที่อยู่ในพื้นที่ รับรู้ข้อมูลโดยตรง เพื่อใช้ทำคู่มือแจกผู้มาร่วมเดินชุมชน" น้องกานต์ ฐิรกานต์ บู่สาลี นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนสายปัญญา หนึ่งในทีมงานเดินชุมชนของอาสาสมัครเยาวชนหัวใจเพื่อเธอ เล่าการทำงาน และประสบการณ์ที่ได้รับ

    "รู้สึกสนุกตอนลงพื้นที่ คนในชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก คุณลุง คุณป้า กลายมาเป็นคุณลุงคุณป้าของเราไปแล้ว มีความสุขที่ได้คุยกับเขา"

    เช่นเดียวกับ "ผิง" ภัทราพร จงบุญทรัพย์ น้องอาสาสมัครชั้นม.5 จากโรงเรียนเดียวกัน บอกถึงความประทับใจในครั้งแรกที่ได้รู้จักกับแพร่งภูธร

    "ชอบเพราะครั้งแรกได้ยินชื่อแพร่งภูธร ได้ยินอะไรภูธร ภูธร คิดไปเองว่าต้องอยู่ไกลๆ ต่างจังหวัดแน่เลย แต่พอเดิน อ้าวอยู่ในกรุงเทพฯ นี่นา อยู่กลางเมืองเลย เราอยู่กรุงเทพฯ ผ่านเสาชิงช้าทุกวัน แต่ไม่เคยรู้ว่าใกล้ๆ มีแพร่งภูธร ในแพร่งภูธรมีอะไรตั้งหลายอย่าง เหมือนได้ออกจากกะลา ทำให้ได้เห็นมุมที่แตกต่าง เช่น วิถีชีวิต บ้าน ขนมที่ปัจจุบันไม่ค่อยได้กิน จะกินของที่มาจากต่างประเทศ"

    "อยากให้คนที่มาร่วมเดินชุมชนได้ความรู้เหมือนกับที่เราได้รับ ที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ ไม่เคยมองอีกมุมก็ได้มอง ได้เห็นมุมมองหลายด้าน ตอนแรกที่เลือกเดินชุมชน เพราะว่าอยากหาอะไรที่น่าสนใจ อย่างของกิน แต่พอได้มาเดิน ไม่ใช่แค่ของกิน แล้วก็อยากให้เขาประทับใจการทำงานของพวกเรา อยากให้ประทับใจเหมือนที่เราได้เดินชุมชน ได้ฟังพี่วิทยากร เดินแล้วไม่อยากกลับเลย อยากเดินต่อ" น้องผิงเล่าอย่างประทับใจ

    ไฮไลต์สำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรพลาด "โขนเด็ก ลิเกจิ๋ว" มาเป็นแขกรับเชิญพิเศษ สร้างความหรรษาสำหรับทุกวัย ยกคณะกันมาจาก จ.เพชรบุรี แม้จะเป็นวัยเด็กรุ่นจิ๋ว แต่แสดงโขนเล่นลิเกไม่แพ้ผู้ใหญ่

    "คณะสืบสานศิลปวัฒนธรรมเยาวชนต้นกล้าน้อย" มีจุดเริ่มต้นจาก "แม่ครูสมทรง บุญวรรณ" เปิดบ้านสอนเด็กๆ เรียนรำเรียนโขนกันฟรีๆ จนกระทั่งมีเด็กๆ มารวมกลุ่มกันมากมาย ขยับขยายมาใช้สถานที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ด้วยความเอื้อเฟื้อของเจ้าอาวาส เมตตาเด็กได้กินข้าววัด พร้อมทั้งรับงานแสดงภายในพื้นที่จนเป็นที่รู้จักไปทั่ว

    "หัดรำหัดละครมาตั้งแต่ตอนอายุ 7 ขวบ จากครูบุญเชื่อม และแม่ครูสุทิน เขาไม่สอนเหมือนเดี๋ยวนี้หรอก กว่าจะได้วิชาต้องช่วยเลี้ยงหมูก่อน ฝึกให้ขยันอดทน สับหยวกกล้วย ตำครกกระเดื่องทุกวัน ตั้งแต่ 4 โมงเย็น ไปจน 6 โมงเย็นถึงจะได้เริ่มเรียน พอ 2 ทุ่มพ่อถึงมารับกลับบ้าน"

    "พอตอนอายุ 14 เริ่มหัดเรียนกับป้าเจือ อยู่กรมศิลป์แต่งงานแล้วมาอยู่เพชรบุรี เราก็ไปขอเรียน เริ่มจากหัดรำฉุยฉาย แม่บทต่างๆ ต้องเสียค่าเรียนอาทิตย์ละ 1,500 บาท ต้องหัดรำแม่บท เพื่อจะได้เล่นโขน ต้องหัดตีทวนถึงจะรำละครชาตรีได้ ทุกอย่างต้องหัดพื้นฐานให้เชี่ยวชาญถึงจะได้ดี" แม่ครูสมทรงย้อนอดีต

    "พอถึงตอนนี้ไม่ได้แสดงแล้ว เสียดายความรู้ที่ติดตัวอยู่ หน้าบ้านก็ยังมีที่ สมัยที่ยังไม่ถมถนน ยังไม่กั้นกำแพง พ่อแม่เด็กอยากให้เด็กหัดเรียน เราก็อยากสอน เลยมาให้อยู่กับเรา หัดฟรีอยู่ฟรี ทีแรกก็ไม่รู้ทำไปทำไม พอหัดแล้วเด็กติด พ่อแม่ก็เอามาทิ้งไว้ บางคนพ่อแม่ลำบากหาเช้ากินค่ำ ขณะที่เราใกล้ชิดกับเด็ก เลยกลายเป็นความผูกพัน ไม่อยากให้ไปมั่วสุม หรือไปทำอะไรไม่ดี ตอนนี้เริ่มมีเด็กรุ่นใหม่ๆ ทยอยมา มีรุ่นพี่ๆ มาช่วยหัด สืบต่อๆ กันไปจนกว่าเราจะตาย เพราะเสียดายศิลปวัฒนธรรมเมืองเพชร อยากให้สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน" แม่ครูสมทรงเล่าอย่างภาคภูมิใจ

    ในงานครั้งนี้แม่ครูสมทรงยกคณะโขนเด็กลิเกจิ๋ว พร้อมปี่พาทย์ครบวงกว่า 30 สิบชีวิตมาแสดงในงานบ้านในฝัน

    เตรียมแสดงชุดพิเศษ 2 ชุด โขนเด็กจะเป็นชุด "ศึกกุมภัณฑ์" ส่วนลิเกจิ๋วจะเป็นเรื่อง "ผู้ชนะใจนาง" โดยมีดาวเด่นขณะนี้คือ "น้องหมิว"

    "อายุน้อยสุด 3 ขวบ ปกติจะฝึกเด็กอายุ 9-10 ขวบ แรกๆ น้องหมิวทำเป็นไม่สนใจ ขี่จักรยานไปมา เราก็เรียกเขามาเล่น ปรากฏว่าเขาออกโรงแบบพลิกล็อกเลย ร้องได้จำได้ จำกลอนคนอื่นได้ อยู่อนุบาล 2 เอง และเขาก็ชอบ น้องหมิวบ้านอยู่อยุธยา แม่เอามาจ้างเลี้ยง ตอนนี้จะรับกลับไม่ยอมไปแล้ว" แม่ครูเล่าถึงลูกศิษย์ตัวน้อย

    "เวลาหมิวเล่นลิเกจะน่ารัก ร้องกลอนต่อกัน คนดูชอบ ร้องเองเล่นเอง เล่นโขนก็ได้ด้วย เป็นเมียทศกัณฐ์ ตอนเล่นเรื่องขุนช้าง หมิวเล่นเป็นนางสร้อยฟ้า เราเห็นเด็กมีความสามารถ ก็หยุดไม่ได้นะ ต้องดิ้นรนกันไป"

    เป็นอีกหนึ่งรายการที่เติมสีสันวันดอกไม้บานให้กับงานบ้านในฝันปีนี้

    แต่ยังมีกิจกรรมและรายการน่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นละครหุ่น สานของเล่นใบตาล ดอกไม้กระดาษทำมือ และกิจกรรมศิลปะจากกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ ที่ชวนแต่งเติมจินตนาการ สานความรักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

    จะเป็นอีกงานที่เพลิดเพลินสุขใจ พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ คุณค่าการให้และแบ่งปัน ไปสู่หัวใจทุกดวงโดยไม่รู้ตัว



    เทศกาลชุมชน ดนตรี ศิลปะ และ เยาวชนสร้างสรรค์ "บ้านในฝัน วันดอกไม้บาน"

    วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2-3 ธ.ค. ลานกลางแจ้งแพร่งภูธร ใกล้เสาชิงช้า

    เวลา 14.00 น. เดินชุมชน เยือนสามแพร่ง แหล่งประวัติศาสตร์ อาคารเก่าที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ย่านอาหาร และขนมอร่อยตำรับดั้งเดิม

    เวลา 16.00 น. ซุ้มศิลปะ "ดอกไม้แห่งกาลเวลา" จากกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ ย่ำดิน สร้างบ้าน กับกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ระยอง, ผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้ป่าชายเลน กับกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าชายเลน โรงเรียนบางตะบูนวิทยา เพชรบุรี, เรียนรู้ธรรมชาติโดยศิลปวิธี ศิลปกรรมใบไม้ โดยมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์, ปักผ้าลายม้งและลัวะ โดยโครงการเรียนรู้กู้บ้านเกิด, มหกรรมเล่นเพื่อการเรียนรู้ ถนนเด็กเล่น โดยอาสาเด็กช่วยเด็กจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, เพนต์กระถาง และเข็มกลัดแบบเดียวในโลก จากกลุ่มเยาวชนอาสาหัวใจเพื่อเธอ

    เวลา 17.00 น. การแสดงหุ่นล่อแสง เรื่องกระต่ายกับเต่า โดยเด็กๆ จากชุมชนสามพระยา และบ้านศิลปะรชฏ, เล่นเกม เล่าเรื่อง "นิทานปลาดาว" โดยพี่กั๊ก กับเพื่อน, โขนเด็ก ลิเกจิ๋ว จากศิลปินเยาวชนต้นกล้าน้อย จ.เพชรบุรี, สานของเล่นใบตาล, และดอกไม้กระดาษทำมือ

    เวลา 17.30 น. คอนเสิร์ต "วันดอกไม้บาน" โดย วงโฮปแฟมมิลี่, ดนตรีชิโน่ เสภาลาเต้ โดย ศุ บุญเลี้ยง กวีซีไรต์ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และศิลปินอินดี้ บรรณ สุวรรณโณชิน, บทเพลง พระจันทร์ ความฝัน การเดินทาง โดยเจี๊ยบ วรรธนา วีรยวรรธน

    ร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เฉพาะเดินชุมชน ค่าลงทะเบียน ผู้ใหญ่ 100 บาท นักศึกษา 50 บาท เด็กฟรี)

    สอบถามรายละเอียดที่ กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9 หรือ www.homeindream.th.gs จอดรถฟรีที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร


    http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03hap01261149&day=2006/11/26
     

แชร์หน้านี้

Loading...