เนินพุโคลน หรือ ภูเขาไฟในทะเล? ความสับสนของการสื่อสาร"นักวิทยาศาสตร์-สังคม"

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 15 ธันวาคม 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG]

    ในช่วงเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ข่าวคราวทางธรณีวิทยาที่เป็นที่น่าตระหนกของคนไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันคงหนีไม่พ้นข่าวที่ว่ามีการพบ "ภูเขาไฟใต้น้ำ" หรือบางสื่อก็เรียกว่า "โคลนภูเขาไฟ" ในทะเลอันดามัน นอกจังหวัดภูเก็ตประมาณ 200 กิโลเมตร (บางสื่อถึงกับบอกว่าอยู่ห่างจากจังหวัดภูเก็ตเพียง 200 "เมตร" เท่านั้น!)

    ผมในฐานะจำเลยของสังคม เนื่องจากถูกอ้างอิงว่าเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น คงต้องขอชี้แจงเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความกระจ่างว่าความจริงคืออะไร และทำไมข่าวสารเกี่ยวกับผลการสำรวจพื้นท้องทะเลอันดามันจึงได้มีการนำเสนอที่หลากหลายเช่นนั้น

    ประเด็นเบื้องต้นอยู่ที่การค้นพบเนินหรือภูเขาใต้ทะเลจำนวนประมาณ 4 ลูกในพื้นที่สำรวจซึ่งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ซึ่งห่างจากฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตร การสำรวจได้ใช้เทคนิคเครื่องมือหยั่งน้ำแบบหลายความถี่ (Multibeam Echosounder) เพื่อให้ได้ภาพความสูงต่ำของพื้นท้องทะเลแบบ 3 มิติ ที่ให้ความละเอียดของจุดภาพประมาณ 10 เมตร ประกอบกับเครื่องมือศึกษาชั้นตะกอนโดยใช้คลื่นเสียงสะท้อน (Parametric Sediment Echosounder) ที่จะบอกถึงความหนาแน่นของชั้นตะกอนที่ปกคลุมพื้นทะเล เครื่องมือทั้งสองชนิดใช้หลักการของการส่งคลื่นเสียงที่ความถี่ต่างๆ ลงไปจากเรือลงไปยังพื้นทะเลซึ่งอยู่ลึกลงไปประมาณ 600-1,300 เมตร และตรวจจับคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาที่เรือ หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลมาคำนวณให้ออกมาเป็นลักษณะต่างๆ ของพื้นทะเล

    จากรูปทรงและขนาดของเนินใต้น้ำที่ค้นพบ ประกอบกับตำแหน่งที่พบที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนตามแนวระดับ (Strike-slip fault) รอยหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะไม่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้ แต่ก็อาจจะเป็นแหล่งความร้อนใต้พิภพได้ดังเช่น บ่อน้ำร้อนที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีหรือระนอง เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้นักวิจัยบางส่วนในคณะสำรวจสันนิษฐานว่าเนินบางเนินที่พบ อาจจะเกิดจากกระบวนการที่วงการธรณีวิทยาเรียกกันติดปากเป็นภาษาอังกฤษว่า Mud Volcano

    ศัพท์เทคนิคคำนี้กลายเป็นที่มาของความสับสนในทันทีที่สื่อนำไปแปลเป็นภาษาไทย เพราะถ้าแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัว คำคำนี้น่าจะแปลว่า "ภูเขาไฟโคลน" ยิ่งไปกว่านั้นสื่อบางฉบับเลือกใช้คำว่า "โคลนภูเขาไฟ" ซึ่งในสามัญสำนึกของคนไทยโดยทั่วไปแล้วคำทั้งสองนี้ล้วนอ้างอิงหรือเชื่อมโยงกับ "ภูเขาไฟ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    อันที่จริงแล้วถ้าผมรอบคอบกว่านี้โดยแนะนำนักข่าวที่มาขอข้อมูลให้ใช้ศัพท์บัญญัติตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน ที่ให้ใช้คำว่า "เนินพุโคลน" ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติที่ได้ใจความถูกต้องชัดเจนถึงลักษณะทางธรณีวิทยาชนิดนี้ ซึ่งไม่ใช่ภูเขาไฟ แต่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับภูเขาไฟคือมีลักษณะเป็นกรวยคว่ำและมีมวลสารพุออกมาที่ตรงยอดเท่านั้น

    แต่ทั้งนี้กระบวนการเกิดและการพัฒนาต่างๆ ของเนินพุโคลน หรือ Mud Volcano นี้แตกต่างจากภูเขาไฟ หรือ Volcano โดยสิ้นเชิง ศัพท์บัญญัติคำนี้ต้องถือว่าเป็นคำหนึ่งที่สื่อความหมายได้ดีกว่าคำต้นแบบในภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ ซึ่งสำหรับผู้ที่สนใจคำศัพท์เทคนิคทางธรณีวิทยาเหล่านี้ ผมขอแนะนำให้เข้าไปหาดูได้ที่เว็บไซต์ของชุมนุมนักศึกษาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ http://web.geol.science.cmu.ac.th/gs/GSSC/Dictionary/gsscdic.htm



    เนินพุโคลนจะมีความแตกต่างจากภูเขาไฟแท้ในหลายประเด็น ซึ่งโดยทั่วๆ ไปอาจจะสรุปได้ ดังนี้

    "เนินพุโคลน" สามารถก่อให้เกิดภัยพิบัติได้หรือไม่?

    เนินพุโคลนไม่มีพลังมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการปะทุหรือการระเบิดอย่างรุนแรง ซึ่งแตกต่างจากภูเขาไฟมาก เนินพุโคลนในทะเลนั้นก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิหรือทำให้เกิดน้ำเดือดเป็นบริเวณกว้างดังเช่นที่บางคนจินตนาการ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องตกใจหรือกังวลในเรื่องของเนินพุโคลนทั้งบนบกและในทะเล เนินพุโคลนในทะเลก็เปรียบเสมือนบ่อน้ำร้อนในทะเลที่ห่างจากฝั่งกว่า 200 กิโลเมตร



    เนินหรือภูเขาในทะเลที่พบจะเป็นเนินพุโคลนได้หรือไม่

    ข้อมูลสำคัญที่มีอยู่ในมือ ณ ปัจจุบัน ที่สามารถใช้ประกอบการสันนิษฐานในประเด็นนี้คือข้อมูลการตรวจวัดชั้นตะกอนโดยใช้คลื่นเสียงสะท้อน อย่างไรก็ตาม เนินที่ตรวจพบมีขนาดกว้างที่สุดเพียงประมาณ 700 เมตร และที่เหลืออีก 3 ลูกก็ล้วนมีขนาดเล็กกว่า 500 เมตร ในขณะที่ระยะห่างระหว่างแนวสำรวจแต่ละแนวคือประมาณ 3,000 เมตร

    โอกาสที่แนวสำรวจชั้นตะกอนจะพาดผ่านตรงกลางเนินซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญโดยเฉพาะตำแหน่งของการพุของโคลนที่ยอดเนินพอดีนั้นจึงเป็นการยากมาก การที่จะด่วนสรุป ช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม 2550 จะเก็บตัวอย่างตะกอนจากเนินเขาเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพิ่มเติม



    ไม่ว่าเนินหรือเขาใต้น้ำที่พบจะเป็นเนินพุโคลนหรือเป็นเนินประเภทอื่น เช่น สันหรือกองหินโผล่ (outcrop) หรือเป็นการสะสมของเศษซากจากสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการังหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ เป็นต้นก็ตาม เราก็คงต้องมีการศึกษาและสำรวจพื้นที่ทะเลลึกเหล่านี้เพิ่มเติม ทั้งในด้านธรณีวิทยาและด้านอื่นๆ ทางกายภาพและชีวภาพ และต้องไม่ลืมที่จะส่งผ่านองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นซึ่งมักจะประกอบด้วยศัพท์เทคนิคเฉพาะด้านที่ใช้เฉพาะวงการให้กับสังคมและสาธารณชนทั่วไปด้วยภาษาที่ชัดเจน ไม่กำกวมหรืออาจจะชี้นำไปในความหมายอื่นโดยไม่เจตนา
     
  2. satan

    satan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    5,045
    ค่าพลัง:
    +17,915
    สาระดีดีมีมาให้ศึกษากันอีกแล้วครับทั่นผู้ชม
     

แชร์หน้านี้

Loading...