เปิดข้อมูลรอยเลื่อนไทย อาจมีพลังแผ่นดินไหวใหญ่ได้!?!

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย คือ~ว่างเปล่า!, 18 เมษายน 2012.

  1. คือ~ว่างเปล่า!

    คือ~ว่างเปล่า! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 เมษายน 2008
    โพสต์:
    1,647
    ค่าพลัง:
    +473
    เปิดข้อมูลรอยเลื่อนไทย อาจมีพลังแผ่นดินไหวใหญ่ได้!?!

    วันพุธที่ 18 เมษายน 2555 เวลา 12:00 น.


    [​IMG]












    [​IMG]




    [​IMG]




    [​IMG]




    [​IMG]





    [​IMG]


    จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องหลังจากแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ ลึกลงไปในทะเลประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 55 ที่ประเทศไทยก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น โดยมีจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ในบริเวณ อ. ถลาง จ.ภูเก็ต ความรุนแรงขนาด 4.3 ริกเตอร์ ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยเริ่มกังวลและตื่นตระหนกกับภัยธรรมชาติที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกที


    ส่งผลให้นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวของประเทศไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งหากอ้างอิงจากข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2546) พบว่าประเทศไทยมีรอยเลื่อนกระจายตั้งแต่เหนือจรดใต้ประมาณ 120 แห่ง มีความยาวตั้งแต่ไม่ถึงสิบกิโลเมตร ไปจนนับร้อยกิโลเมตร ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น


    นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ขนาด 8.6 ริกเตอร์ และ 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดตามมานั้น เป็นแผ่นดินไหวคนละเหตุการณ์กันไม่ใช่แผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกตามที่เข้าใจในตอนแรก ซี่งการเกิดแผ่นไหว 2 ครั้งดังกล่าวส่งแรงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเกิดบริเวณแขนงของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ทำให้กรมทรัพยากรธรณีต้องเฝ้าระวังกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยความยาว 150 ก.ม. และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง ความยาว 270 ก.ม. ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงาเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มรอยเลื่อน ถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีการขยับตัวชัดเจน ทั้งยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แม้แผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดจากรอยเลื่อนหลักแล้วจึงส่งผลไปรอยเลื่อนแขนง แต่เมื่อรอยเลื่อนแขนงขยับตัวแล้วก็อาจจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบนตัวรอยเลื่อนหลักได้เช่นกัน



    "จากการที่กรมทรัพยากรธรณีนำตะกอนดินของทั้ง 2 รอยเลื่อนไปตรวจสอบพบว่ามีการยกตัวของชั้นดินชัดเจน และเมื่อ 3,600 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ซึ่งมากที่สุดมาแล้ว และจากวันนี้เป็นต้นไปแผ่นดินไหวที่เกิดจาก 2 รอยเลื่อนดังกล่าวนี้สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ แต่ขนาดจะไม่รุนแรงและเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ แต่รอยเลื่อนในประเทศไทยเป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลก จึงสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น” นายเลิศสิน กล่าว
    ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงแผ่นดินไหว แต่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทยก็ยังปลอดภัยที่สุดกว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ดังนั้นประเทศไทยก็คงต้องเฝ้าระวังตามกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆ ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา พบ 14 รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยที่ต้องศึกษาและเฝ้าระวังประกอบด้วย รอยเลื่อนแม่จัน ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และตาก รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตาก และกำแพงเพชร รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนแม่ยม ครอบคลุม จ.ลำปาง และแพร่ รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงราย และพะเยา
    รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และอุทัยธานี รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคาย และนครพนม รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ พังงา และทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต


    นายเลิศสิน กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันได้มีการเพิ่ม 2 รอยเลื่อนใหม่ที่มีพลังขึ้นมา คือ รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย และ พะเยา และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ แต่ขณะนี้รอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังมากที่สุด ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งล่าสุดที่ประเทศอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบไปถึงรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เท่านั้น โดยอาจจะทำให้เกิดหลุมยุบในบริเวณแนวรอยเลื่อนเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีสภาพเป็นหินปูนและแผ่นดินไหวส่งผลต่อระบบน้ำใต้ดิน แต่ไม่ใช่ตัวเร่งให้เกิดแผ่นดิน ส่วนรอยเลื่อนอื่นที่เหลือไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด


    จากสถิติที่ผ่านมาพบว่ารอยเลื่อนมีพลังที่ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในประเทศไทยแล้วมี 9 แห่งด้วยกันคือ รอยเลื่อนเชียงแสน วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนสุดของประเทศ มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากแนวร่องน้ำแม่จันไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอแม่จัน แล้วตัดข้ามด้านใต้ของอำเภอเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวลำน้ำเงิน ทางด้านเหนือของอำเภอเชียงของ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ตามแนวรอยเลื่อนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 21 ความรุนแรง 4.9 ริกเตอร์

    รอยเลื่อนแพร่ อยู่ทางด้านตะวันออกของแอ่งแพร่ และวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มต้นจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเด่นชัย ผ่านไปทางด้านตะวันออกของอำเภอสูงเม่น และจังหวัดแพร่ ไปจนถึงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอร้องกวาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 115 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริกเตอร์ เกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้กว่า 20 ครั้ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รอยเลื่อนแม่ทา มีแนวเป็นรูปโค้งตามแนวลำน้ำแม่วอง และแนวลำน้ำแม่ทาในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 55 กิโลเมตร

    รอยเลื่อนเถิน อยู่ทางทิศตะตกของรอยเลื่อนแพร่ โดยตั้งต้นจากด้านตะวันตกของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานกับรอยเลื่อนแพร่ไปทางด้านเหนือ ของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับรอยเลื่อนแพร่ ไปทางด้านเหนือของอำเภอวังชื้น และอำเภอลอง รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 90 กิโลเมตร เคยมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์ บนรอยเลื่อนนี้ รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายเขตแดนพม่ามาต่อกับห้วยแม่ท้อ และลำน้ำปิงใต้จังหวัดตาก ต่อลงมาผ่านจังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์ จนถึงเขตจังหวัดอุทัยธานี รวมความยาวทั้งสิ้นกว่า 250 กิโลเมตร เคยมีรายงานแผ่นดินไหวความรุนแรง 536 ริกเตอร์ที่รอยเลื่อนนี้เมื่อปี 2518


    รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ อยู่ทางด้านตะวันตก ของรอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี โดยมีทิศทางเกือบขนานกับแนวของรอยเลื่อน อยู่ในร่องน้ำแม่กลองและแควใหญ่ ตลอดขึ้นไปจนถึงเขตแดนพม่า รวมความยาวทั้งหมดกว่า 500 กิโลเมตร เป็นรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงที่สุดบนพื้นดินประเทศไทยขนาด 5.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 22 เม.ย.26 รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ อยู่ในลำน้ำแควน้อยตลอดสาย และต่อไปจนถึงรอยเลื่อนสะแกง ในประเทศพม่า ความยาวของรอยเลื่อนช่วงที่อยู่ในประเทศไทยยาวกว่า 250 กิโลเมตร

    รอยเลื่อนระนอง วางตัวตามแนวร่องน้ำของแม่น้ำกระบุรี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 270 กิโลเมตร เคยมีรายงานแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์เกิดขึ้นที่รอยเลื่อนนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.21 และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ตัดผ่านด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต เข้าไปในอ่าวพังงา และตามแนวคลองมะรุย คลองชะอุน และคลองพุมดวงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งไปออกอ่าวบ้านดอน ระหว่างอำเภอพุนพินกับอำเภอท่าฉาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 150 กิโลเมตร

    ภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด การเตรียมตัวป้องกันอย่างมีสติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เพราะถ้าทุกคนไร้ซึ่งสติและเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกเมื่อเกิดปัญหา สติสัมปชัญญะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็จะลดน้อยลง ส่งผลให้สถานการณ์ที่อาจไม่รุนแรงมากนักกลับกลายเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลแก่ชีวิตและทรัพย์สินก็เป็นได้



    ขอบคุณที่มาข้อมูล :::
    ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
    เปิดข้อมูลรอยเลื่อนไทย อาจมีพลังแผ่นดินไหวใหญ่ได้!?! | เดลินิวส์



    .
     

แชร์หน้านี้

Loading...