เรื่องเด่น เปิดคู่มือ ‘เวียนเทียน’ ที่ถูกต้องรับบุญใหญ่ ‘วันมาฆบูชา’

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 7 กุมภาพันธ์ 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    7 กุมภาพันธ์ 2563 | โดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์


    41

    ชวนสายบุญมารู้จักขั้นตอนการ “เวียนเทียน” ที่ถูกต้องพร้อมไปทำบุญใน “วันมาฆบูชา” ที่วัดใกล้บ้าน เพื่อเสริมบุญและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยปีนี้วันมาฆบูชาตรงกับวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563


    ใกล้ถึงวันสำคัญทางศาสนาวันแรกของปี 2563 นั่นคือ “วันมาฆบูชา” ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมออกไปทำบุญ ไหว้พระ และ “เวียนเทียน” กันเป็นประจำทุกปี ส่วนใครที่อาจจะยังไม่มั่นใจว่าการเวียนเทียนต้องทำอย่างไร? หรืออยากรู้ว่าทำไมเราต้องเวียนเทียนใน “วันมาฆบูชา” วันนี้ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักความสำคัญของ “วันมาฆบูชา” ให้มากขึ้นกันอีกนิด..

    วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญของชาวพุทธนิกายเถรวาท โดยคำว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม)

    • เหตุการณ์สำคัญผ่านคัมภีร์เก่าแก่

    วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธโดยชาวพุทธทั่วโลก เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” หรือการแสดงธรรมที่เป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา นั่นคือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา (อ่านเพิ่ม : ‘วันมาฆบูชา’ พร้อมรู้ลึก ‘โอวาทปาฏิโมกข์’ คืออะไร?)

    มีบันทึกใน “คัมภีร์ปปัญจสูทนี” ระบุว่า ในวันมาฆบูชาเมื่อพันกว่าปีก่อนนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

    b8b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ad-e0b980e0b8a7e0b8b5e0b8a2e0b899e0b980e0b897e0b8b5e0b8a2e0b899-e0b897.jpg

    • วันมาฆบูชาในไทย เริ่มในสมัย ร.4

    สำหรับในประเทศไทยแต่เดิมนั้นไม่มีพิธีทางศาสนาในวันมาฆบูชา จนมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในนวันเพ็ญเดือน 3 ว่าเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใสแก่ประชาชนชาวไทย จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น

    โดยการประกอบพระราชพิธีคล้ายคลึงกับพิธีในวันวันวิสาขบูชา คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีการพระราชทาน “จุดเทียนตามประทีป” เป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามฯ และพระอารามหลวงต่างๆ ในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ต่อมาความนิยมจัดพิธีกรรมวันมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักรไทย

    ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชนประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา ที่สำคัญคือ การเวียนเทียน เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” อีกด้วย

    b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ad-e0b980e0b8a7e0b8b5e0b8a2e0b899e0b980e0b897e0b8b5e0b8a2e0b899-e0b897-1.jpg

    • ทำไมต้อง “เวียนเทียน” ในวันมาฆบูชา?

    การเวียนเทียน คือ การเดินเวียนรอบปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานทางศาสนา เช่น พระอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป หรือสามารถใช้อีกคำว่า ประทักษิณ, ทักขิณาวัฏฏ์ หรือ ทักษิณาวัฏก็ได้ อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) แปลว่า “เบื้องขวา” หรือ “การเวียนขวา” โดยการ “เวียนเทียน” นั้น เป็นกระทำเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้นๆ อย่างสูงสุด

    ว่ากันว่าประเทศไทยได้รับคติการเวียนเทียนนี้มาจากอินเดีย ในช่วงที่พระพุทธศาสนาที่เผยแผ่จากอินเดียเข้ามาสู่ไทย โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก เช่น เมื่อครั้งพระสารีบุตรท่านไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อจะกลับไปนิพพานที่แคว้นมคธ พระสารีบุตรท่านก็ได้กระทำประทักษิณ 3 รอบต่อพระพุทธเจ้า อีกทั้งในสมัยทวารวดีก็พบหลักฐานเกี่ยวกับการเวียนเทียนโดยปรากฏข้อความในพงศาวดารว่า…มีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

    สำหรับวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนสามารถร่วมพิธีเวียนเทียนได้ มีเพียง 4 วันใน 1 ปีเท่านั้น นั่นคือ วันวิสาขบูชา, วันมาฆบูชา, วันอาสาฬหบูชา และวันอัฏฐมีบูชา (วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษาไม่มีพิธีกรรมเวียนเทียน)

    แล้วไปเวียนเทียนกี่โมงดี? ตอบง่ายๆ ว่า ตามที่คุณสะดวก โดยส่วนใหญ่นิยมไปเวียนเทียนช่วงบ่ายแก่ๆ ไปจนถึงช่วงค่ำ ประมาณ 16.00 – 20.00 น. แต่ปัจจุบันนี้วัดหลายแห่งก็มีการขยับเวลาการเวียนเทียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนในชุมชนเมืองมากขึ้น บางวัดเปิดให้เข้ามาเวียนเทียนได้ตั้งแต่ช่วงเช้า 06.00 น. ก็มี ซึ่งผลดีที่จะได้รับจากการเวียนเทียนตามความเชื่อของชาวพุทธเถรวาท ได้แก่

    – ช่วยให้ชีวิตสุกสว่าง: ไฟถือเป็นสื่อกลางในการแสดงความศรัทธาต่อศาสนา เปรียบไฟกับความสุกสว่างของชีวิต เป็นความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณตั้งแต่อินเดียถึงเอเชียตะวันออก ที่ใช้ในพิธีเผาเทียนเล่นไฟ การปล่อยโคมลอย พิธีกรรมทางศาสนา ใช้เผาศพ รวมถึงใช้ในการจุดธูปเทียนสำหรับการเวียนเทียนด้วย

    – เตือนสติชาวพุทธ: การเวียนเทียนนอกจากเพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อปูชนียบุคคลหรือปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นเหมือนกุศโลบายเตือนสติให้ตระหนักถึง “วัฏสงสาร” หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ใช้ชีวิตไม่ประมาท

    – ได้อานิสงส์แรง: การเวียนเทียนจะช่วยส่งอานิสงส์ผลบุญให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติ ในทางตรงคือผู้ปฏิบัติจะมีกายที่สำรวมขึ้น มีจิตใจที่สะอาด สงบ สร้างสมาธิระหว่างที่เดินเวียนเทียน และในทางอ้อม(ตามความเชื่อ)คือ จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บุญหนัก หลุดพ้นจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้

    b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ad-e0b980e0b8a7e0b8b5e0b8a2e0b899e0b980e0b897e0b8b5e0b8a2e0b899-e0b897-2.jpg

    • 7 ขั้นตอนการ “เวียนเทียน” ให้ถูกต้อง

    1. ชำระร่างกายและจิตใจ

    ก่อนที่จะไปเวียนเทียน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ งดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น เสื้อสายเดี่ยว ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด กางเกงหรือกระโปรงยาวเลยเข่า

    2. เตรียม 3 สิ่งสำคัญที่ต้องมี!

    สิ่งของสำคัญดังกล่าวก็คือ “ของบูชา” ที่เราจะนำไปสักการะพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของชาวพุทธ นั่นก็คือ ดอกไม้ 1 คู่ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือจะใช้พวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระก็ได้ นอกจากนี้ก็ต้องมีธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม

    3. ไหว้พระประธานก่อน

    เมื่อไปถึงวัด ให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน หัวแถวจะมีพระภิกษุเดินนำ ต่อด้วยสามเณร ท้ายสุดเป็นอุบาสก อุบาสิกา ชายหญิงทั่วไป

    4. เวียนประทักษิณาวัตร

    จากนั้นจุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์

    5. บทสวดมนต์

    รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวดบทอิติปิโส “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ…” รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ สวดบทสวากขาโต “สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม…” รอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวดบทสุปะฏิปันโน “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ…”

    6. ระวังอันตรายจากธูปเทียน

    ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น อาจทำให้บาดเจ็บได้

    7. วางดอกไม้ธูปเทียน

    หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้

    b9e0b988e0b8a1e0b8b7e0b8ad-e0b980e0b8a7e0b8b5e0b8a2e0b899e0b980e0b897e0b8b5e0b8a2e0b899-e0b897-3.jpg



    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865308
     

แชร์หน้านี้

Loading...