เปิดบ้านศรีมโหสถ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 กรกฎาคม 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="100%"><TBODY><TR><TD>เปิดบ้านศรีมโหสถ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา

    พนิดา สงวนเสรีวานิช - เรื่อง สุรินทร์ มุขศรี - ภาพ

    [​IMG]
    </TD><TD vAlign=top align=right>

    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    [​IMG]

    "...อี่แม่คุณเอ๋ย เฮาบ่เคยจะตกยาก ตกระกำลำบาก แสนยากก็นี่นักหนา พลัดทั้งที่ดินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา พลัดทั้งปู่ พลัดทั้งย่า พลัดทั้งตาทั้งยาย พลัดทั้งแม่ลูกเมีย พลัดทั้งเสียลูกเต้า พลัดทั้งพงศ์ ทั้งเผ่า ทั้งลูกเต้า ก็หนีหาย...."

    เสียงปี่พาทย์ ดังไปทั่ววัดสระมรกต ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

    ท่วงทำนองนั้นเหมือนกับเพลง "ลาวแพน" แต่ในส่วนของเนื้อร้องนี่สิ ทั้งโศกทั้งเศร้า ชำแรกลงไปในความรู้สึกของคนฟัง

    สุจิตต์ วงษ์เทศ เจ้าบ้านเฉลยในตอนหลังว่า เพลงที่ว่าก็คือ "ลาวแพน" เนื้อหาแบบดั้งเดิม ที่คนลาวร้องระบายความรู้สึกเมื่อครั้งที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่มาเพียงครั้งเดียว แต่มาเป็นระลอกๆ ส่วนหนึ่งมาปักหลักอยู่ที่ ศรีมโหสถ ตรงนี้ และยังมีที่ไปอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เป็นไพร่ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

    "พระปิ่นเกล้าท่านชอบฝรั่ง แต่ก็ชอบพวกลาว ตกเย็นเอาแคนขี่ม้าไปเล่นแอ่วลาวเป่าแคน ฉะนั้น นักดนตรีผู้ใหญ่ของกรุงรัตนโกสินทร์อยู่กับพระปิ่นเกล้าฯ ก็ถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน..

    ..เพลง "ลาวแพน" นักดนตรีกรมศิลปากรเล่นได้ทุกคน แต่ทุกวันนี้ที่ฟังกันไปเอาเนื้อพระลอมา เพราะสมัยหนึ่งเคยห้ามร้องเพลงนี้ แต่ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ซึ่งท่านตายไปตั้งแต่ พ.ศ.2498 นำมาร้อง"

    กลับมาที่เมือง "ศรีมโหสถ" ที่ว่าส่วนหนึ่งของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาปักหลักอยู่ที่นี่

    "ศรีมโหสถ" นั้นก็ไม่ได้มีแค่คนลาว แต่ประกอบด้วยอีกหลายชาติพันธุ์ ทั้งมอญ เขมร จีน ฯลฯ ผสมผสานกลายเป็นชาวศรีมโหสถในปัจจุบัน

    เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ในอดีตเป็นเมืองชายทะเลที่เป็นเมืองท่าสำคัญ

    รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เล่าถึงชาวบ้านศรีมโหสถ ในงานเสวนาหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ศาสนากับการเมืองและการค้าโลกในสยามประเทศและสุวรรณภูมิ" ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณลานต้นโพธิ์ วัดสระมรกต เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

    "ท้องถิ่นที่นี่มีทั้งเจ๊ก มอญ ลาว ผสมปนเป แล้วมีเขมรอีก นี่คือคนในท้องถิ่นนี้ คนที่มาจากหลายชาติพันธุ์มาเป็นคนศรีมโหสถ

    สิ่งที่ทำให้มีบูรณาการให้คนเหล่านี้เป็นคนศรีมโหสถ คือ ศาสนา เพราะว่าศาสนาเป็นสถาบันสากลที่ทำให้คนอยู่รวมกัน ท่ามกลางความหลากหลาย"

    ทั้งนี้ นอกจากเรื่องที่ว่าคนในท้องถิ่นเดิมนับถือ "ผี" สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ยังมีสิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า "ศาสนาสากล" สามารถข้ามจากท้องถิ่นหนึ่งไปอีกท้องถิ่นหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ใด ไม่เกี่ยวกับบรรพบุรุษ

    หรือถ้าเกี่ยวกับบรรพบุรุษก็ต้องทำให้บรรพบุรุษนั้นกลายเป็นพระเจ้าที่ใครๆ ก็นับถือได้ อาทิ พุทธ คริสต์ อิสลาม ขงจื๊อ ฯลฯ

    "พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ชายทะเลมาก่อน เป็นท่าสำคัญ มีทั้งการป้องกันข้าศึกศัตรู มีกำแพง คันดิน คูน้ำกว้างขวาง กระจายพื้นที่ทำมาหากินทางเกษตรกว้างขวาง บริเวณศรีมโหสถ ไม่ได้เฉพาะตัวที่เป็นเมืองอย่างเดียว กระจายไปถึง 5-6 เมตรรอบๆ มีเมืองเล็กๆ และการกระจายนำมาซึ่งคนหลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีตที่เข้ามาอยู่บริเวณนี้"

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริเวณสระมรกต รศ.ศรีศักรบอกว่า แต่เดิมเป็น "พุทธ" ทั้งนี้ รอยพระบาทคู่ที่พบที่นี่เป็นคติการทำพระยืน ค่อนข้างเป็นรูปแบบเดิม มีธรรมจักรอยู่ตรงกลาง ส่วนมากพบในเขตทวารวดีรุ่นแรกๆ แต่ในอมราวดีของอินเดียมีเสาและสวัสดิกะด้วย

    "รอยพระบาทคู่ที่วัดสระมรกตมีรอยกากบาทอยู่ตรงกลาง เป็นกากบาทที่หักงอคล้ายสวัสดิกะ ซึ่งไม่แตะต้องรอยธรรมจักรเลย เป็นลักษณะที่เก่ามาก ไม่เกี่ยวกับลังกาวงศ์แล้ว คือมีมาก่อนหน้า"

    รวมทั้งต่อมาก็พบจารึกเนินสระบัว เป็นการอธิบายความหมายของพุทธสถานที่ตรงนี้ว่าเป็น เถรวาท ไม่ใช่ ฮินดู

    ถ้ามองอย่างนี้ในยุคแรกเริ่มมีการติดต่อค้าขายทางทะเลทั้งพุทธและพราหมณ์อยู่ในเขตนี้ แต่พุทธอาจจะเป็นกลุ่มเล็ก และส่วนมากสถานที่ที่เป็นพุทธอยู่ตรงนี้ อยู่โดยคนที่เป็นปราชญ์

    ฉะนั้น พวกที่สร้างบ้านแปงเมืองไม่ใช่กษัตริย์ ส่วนมากจะเป็นฤๅษีชีไพร อาจจะเป็นนักพรตที่อยู่ตรงนี้และสร้างที่นี่เป็นสำนักสงฆ์ แต่เป็นพุทธแบบเก่าๆ อาจจะค่อนไปทางลังกาก็ได้ และสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมของพุทธที่อยู่แถบนี้ และสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 13-14-15 ก็มีพราหมณ์เข้ามา และต่อมาก็มีการสร้างฮินดูทับลงไป และถัดมาก็คือ เรื่องของมหายานที่เข้ามาเป็น 3 ยุคด้วยกัน แต่ศรีมโหสถเป็นเขตการค้าสากลที่แต่ละกลุ่มเข้ามา ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีคติความเชื่อของตน

    "เราไม่พบกษัตริย์ในดินแดนอุษาคเนย์ที่จะทำลายศาสนาอื่น ยกเว้นครั้งเดียวเท่านั้น คือที่พบในจารึกที่ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ทำลายมหายานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการทุบพระพุทธรูปแตกไปเลย แต่ที่นี่ไม่ใช่ มันมีการผสมผสานกัน เพราะเป็นแหล่งที่เป็นคนยุคก่อนประวัติศาสตร์มารวมกลุ่มกัน และเป็นเมืองการค้าทางทะเล

    เราจะเห็นว่าในท้องถิ่นนี้มีพัฒนาการของคนหลายกลุ่มเหล่า หลายชาติพันธุ์เข้ามา"

    "ตอนที่คนจีนเข้ามา จีนเน้นผี ทำให้ต้นโพธิ์เป็นต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ที่นี่ก็เน้นผีเรือน ผีเจ้าพ่อ ผีต้นไม้ต่างๆ เกิดการผสมผสาน ซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องสิ่งเหนือความตาย ยังเกิดสิ่งที่เรียกว่าบุคลาธิษฐาน คือนำสิ่งที่เป็นคุณความดีมาผสมกับสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณ เหมือนอย่างจตุคามรามเทพ ที่นี่ก็มีดวงตราที่พูดถึงความมั่งคั่งคือ ท้าวกุเวร แต่ตอนนี้ตกสมัยแล้ว คนหันมาพึ่งพระพิฆเณศแล้ว

    สิ่งที่มีอยู่เป็นบุคลาธิษฐาน และมีการสร้างเทพตลอด อย่าง กวนอูคือความซื่อสัตย์สุจริต กวนอิมคือความเมตตาธรรม ฯลฯ"



    ตอนนี้ผมว่าลาวไม่มี ไม่เห็นลาว เห็นแต่ไทย เพราะเป็นเมืองด่าน ลาวมีสมัยรัชกาลที่ 3 มีลาวหลายกลุ่ม ลาวพวน ลาวเวียง พวกลาวเข้ามาอยู่ ต่อมาจีน มาทางน้ำ เอาของมาขายเกิดบ้านโคกปีบ ม่วงขาว บ้านด่าน มันก็เกิดผสมผสานกัน กลายเป็นชาวศรีมโหสถ

    แต่วัฒนธรรมใหญ่วัฒนธรรมลาว ซึ่งผมว่าค่อนข้างสากล เพราะมันเชื่อมโยงคนได้ โดยเฉพาะบั้งไฟ ซึ่งเป็นบูรณาการสมัยใหม่ ตอนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมาที่นี่ แถวนี้มีหลายชาติพันธุ์ แต่จะมาจุดบั้งไฟกันที่ต้นโพธิ์ ตรงต้นโพธิ์จึงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม

    นอกจากนี้ ยังมีปราชญ์ท้องถิ่นบอกว่า "ต้นโพธิ์" ที่ว่ามาจากอินเดีย คือเอาต้นโพธิ์เป็นศูนย์กลาง ต้นโพธิ์ที่นี่จึงเป็นต้นโพธิ์ของภูมิภาค เอาไปเชื่อมโยงกับกษัตริย์ เหล่านี้คือ การเกิดของการผสมผสานกันขึ้น

    การผสมผสานกันตามความหมายของอาจารย์ศรีศักร จึงสรุปได้ว่า เมืองศรีมโหสถสมัยแรกๆ นั้น นับถือทั้งศาสนาพรามหณ์และศาสนาพุทธ เพราะพบหลักฐานเป็นซากเทวสถานและพุทธสถานทั้งในและนอกเมืองกระจายอยู่ทั่วไป

    นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปและเทวรูปอีกจำนวนมาก รูปพระนารายณ์ที่พบในเมืองนี้แสดงว่าชาวอินเดียจำนวนหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวร เป็นชุมชนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 บรรดาเทวรูปพระนารายณ์ที่พบได้รับการยกย่องว่าเป็นประติมากรรมชิ้นเยี่ยมที่มีฝีมือช่างในระดับสูง

    ส่วนพระพุทธรูปที่พบที่เมืองมโหสถนั้น เป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีความงดงามยิ่ง และรู้จักกันอย่างดี คือพระนิรันตราย



    สถาพร ขวัญยืน

    ผอ.สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

    ผอ.สถาพร เล่าถึงการดูแลโบราณสถานของสำนักศิลปากรที่ 5 ว่าที่อำเภอศรีมโหสถนั้น ศรีมโหสถ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2478 ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 มีการดำเนินการขุดแต่งบูรณะมาโดยตลอด จน พ.ศ.2530 มีการบูรณะครั้งใหญ่และมีการขุดรอยพระพุทธบาทคู่

    ขณะที่ในส่วนของตัวเมืองก็มีโบราณสถานอีกหลายแห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิของชาวบ้าน จึงมีถูกบุกรุกทำลายอยู่บ้าง

    ผอ.สถาพรบอกอีกว่า เนื่องจากสำนักศิลปากรที่ 5 ต้องดูแลโบราณสถานครอบคลุมถึง 7 จังหวัด นอกจากปราจีนบุรี ยังมีฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว จึงมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลโบราณสถานในที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง เหตุนี้จึงได้มีการจัดทำโครงการร่วมกับชุมชนหลายโครงการ

    ตัวอย่างเช่น "โครงการอาสาสมัครท้องถิ่นในดูการแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม" (อสมส.) นำชุมชนในท้องถิ่นอำเภอละ 20 คน มาเป็นเครือข่ายช่วยในการดูแลโบราณสถาน โดยทางสำนักโบราณคดีที่ 5 ทำหน้าที่อบรมให้ความรู้

    "โครงการอบรมให้ความรู้พระสังฆาธิการ" ซึ่ง ผอ.สถาพรบอกว่า เพราะโบราณสถานส่วนใหญ่อยู่ภายในวัด ที่วัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ ก็เหมือนกัน จึงมีการนำพระสังฆาธิการมาถวายความรู้ว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุเป็นอย่างไร การอนุรักษ์เบื้องต้นควรจะทำอย่างไร เพื่อเป็นอีกแรงที่ช่วยดูแลอนุรักษ์โบราณสถาน

    นอกจากนี้ ก็มีการให้ความรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะในส่วนของเทศบาลก็ดี ส่วนของนายก อบต.ก็ดี ปลัด อบต.ก็ดี รวมทั้งช่างของ อบต.มาให้ความรู้เรื่องโบราณสถาน ซึ่งในส่วนของช่างใน อบต.นับเป็นส่วนสำคัญ เพราะในกรณีที่ทางกรมศิลปากรมีเจ้าหน้าที่ไม่พอ ฝ่ายช่างของ อบต.สามารถเข้ามาช่วยงานได้ในทันที

    "อีกเครือข่าย อันคือโครงการประกวดโรงเรียนรักษามรดกทางวัฒนธรรมดีเด่น โดยเมื่อปีที่แล้วเราเลือกโรงเรียนในพื้นที่มาให้ความรู้ ซึ่งนักเรียนก็จะมีการทำโครงการยุวมัคคุเทศก์บ้าง ทำโครงการทำความสะอาดวัดต้นโพธิ ตอนนี้ในเครือข่ายของเรามีโรงเรียนที่เข้าร่วมอยู่ 5 โรงเรียน ซึ่งปีนี้จะมีการจัดประกวดในระดับประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นเยาวชนทั่วประเทศตระหนักถึงความสำคัญประวัติศาสตร์ในชุมชนของตน"



    @ พระนิรันตราย

    พบที่เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ.1300 ยุคทวารวดี

    เป็นพระพุทธรูปทองคำ สูง 8.20 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 6 เซนติเมตร น้ำหนัก 7 ตำลึง 11 สลึง

    กำนันอิน แขวงเมืองปราจีนบุรี ขุดพบเมื่อ พ.ศ.2399 ที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ยุคต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทูลเกล้าฯถวาย แล้วโปรดเกล้าฯให้เก็บไว้ ณ หอเสถียรธรรมปริตร ในพระบรมมหาราชวัง

    ต่อมา พ.ศ.2403 ถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำนี้ว่า พระนิรันตราย หมายถึงปราศจากอันตราย แล้วสร้างพระพุทธรูปองค์ใหม่ครอบไว้ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

    @ ศรีมโหสถ

    มโหสถ เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต 2 คำ คือคำว่า "มหา" แปลว่า ใหญ่ ยิ่ง มาก กับคำว่า "โอสถ" แปลว่า ยารักษาโรค

    ส่วน "ศรี" เป็นภาษาสันสกฤต (บาลีว่า สิริ) แปลว่า มิ่ง สิริมงคล ความดีงาม ความเจริญ ความสว่างสุกใส

    ศรีมโหสถ แปลเอาความรวมๆ ได้ว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งยารักษาโรคขนานใหญ่สำคัญยิ่ง อันดีงามวิเศษ และยิ่งใหญ่ ถ้าจับความหมายได้ว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งสติปัญญาสูงส่ง

    @ ปราจีนบุรี

    จังหวัดปราจีนบุรี เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำบางปะกง บริเวณที่ลุ่มดอนฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทยมีหลายจังหวัด เช่น นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

    ปราจีนบุรี หมายถึง เมืองฝ่ายตะวันออก ประกอบขึ้นจากคำสันสกฤต 2 คำ คือ

    ปราจีน แปลว่า ตะวันออก

    ปุรี แปลว่า เมือง

    คำบาลีมีรูปใกล้เคียงกันว่า ปาจีน และ ปุร

    เมืองปราจีนบุรี สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปราจีนที่ตำบลบางคาง เรียกเมืองบางคาง มีในเอกสารเก่า เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารละแวก (ฉบับพระองค์เอง) ฯลฯ

    ต่อมาเรียกชื่อว่า เมืองประจิม แปลว่าเมืองฝ่ายตะวันตก รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชาธิบายว่าเป็นชื่อเขมรเรียก เพราะเป็นเมืองปลายแดนตะวันตกของเขมรเมืองพระนครหลวง (นครธม) จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองปราจีนบุรี หมายถึงเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ

    -------------
    ที่มา:มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/...g=01pra01270750&day=2007/07/27&sectionid=0131
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    :cool:
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...