เรื่องเด่น เพิ่มความสดใส!! เมื่อรถไฟไทยเชื่อมลาว-จีน

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 21 กันยายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ รองรับ โครงการรถไฟจีน-ลาวเปิดบริการในวันชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) วันที่ 2 ธ.ค.64 เส้นทางรถไฟลาว-จีน มีระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร (กม.) มี 31 สถานี เริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย โดยในอนาคตประเทศไทยมีแผนการเดินรถจากหนองคายถึงเวียงจันทน์ด้วย ซึ่ง สปป.ลาว อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟจากท่านาแล้ง ไปยัง เวียงจันทน์ แล้ว

    นอกจากนี้ยังเตรียมสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร เป็นสะพานรถไฟที่มีทั้งทางขนาด 1 เมตร และ 1.435 เมตร โครงสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะย้ายการเดินรถไฟบนสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 ปัจจุบันมายังสะพานแห่งใหม่นี้ เพื่อให้เป็นสะพานสำหรับรถไฟโดยเฉพาะ ในการสร้างสะพานจะต้องหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงรายละเอียดการก่อสร้าง รูปแบบการลงทุน และกรอบเวลาการดำเนินงาน ทางจีนอยู่ระหว่างออกแบบสะพานใกล้จะแล้วเสร็จ

    0b884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b8aae0b894e0b983e0b8aa-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b988e0b8ade0b8a3e0b896e0b984.jpg

    0b884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b8aae0b894e0b983e0b8aa-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b988e0b8ade0b8a3e0b896e0b984.jpg


    รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สะพานรถไฟแห่งใหม่นี้จะทำทางรองรับได้ทั้งรถไฟธรรมดา และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ซึ่งประเทศไทยมีแผนขยายการเดินรถไฟไฮสปีดต่อเนื่องจากโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย เพื่อข้ามสะพานแห่งนี้ไปยังเวียงจันทน์ เชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน ในปี 71

    ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดบริการประมาณปลายปี 68 หรือต้นปี 69 ขณะที่โครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 71 โดยทั้ง 2 ช่วงจะเป็นแนวเส้นทางเดียวกันกับทางรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ในปัจจุบัน แต่อาจปรับบางช่วง เพราะรถไฟไฮสปีดต้องพยายามให้เป็นทางตรง เพื่อให้การเดินทางนุ่มนวลมากที่สุด โดยรถไฟไฮสปีดจะวิ่งคนละรางกับรถไฟ

    884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b8aae0b894e0b983e0b8aa-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b988e0b8ade0b8a3e0b896e0b984-1.jpg

    884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b8aae0b894e0b983e0b8aa-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b988e0b8ade0b8a3e0b896e0b984-2.jpg


    สำหรับค่าโดยสารรถไฟไฮสปีดจากกรุงเทพฯ-หนองคายนั้น คิดอัตราที่ประมาณกิโลเมตร (กม.) ละ 2 บาท โดยเฟสที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. ค่าโดยสารประมาณ 500 บาท ขณะที่เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. ค่าโดยสารประมาณ 700 บาท ดังนั้นหากผู้โดยสารใช้บริการรถไฟไฮสปีดจากกรุงเทพฯ-หนองคาย จะต้องจ่ายค่าโดยสารประมาณ 1,200 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที ในอนาคตจะสามารถนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังเวียงจันทน์ เชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีน เพื่อเดินทางไปยังคุนหมิง ประเทศจีนได้

    รายงานข่าวจากรฟท.แจ้งว่า ปัจจุบันมีขบวนรถโดยสารเดินรถจากกรุงเทพฯ-หนองคาย ประมาณวันละ 8 เที่ยว (ไป-กลับ) แบ่งเป็น ขบวนรถด่วนพิเศษ “อีสานมรรคา” วันละ 2 เที่ยว, ขบวนรถเร็ว วันละ 2 เที่ยว และรถดีเซลราง วันละ 4 เที่ยว นอกจากนี้ยังมีเดินรถให้บริการในเส้นทาง หนองคาย-ท่านาแล้ง (สปป.ลาว) วันละ 4 เที่ยว แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงรุนแรง จึงงดให้บริการในทุกขบวน คาดว่าน่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้บางขบวนในเดือน ต.ค.นี้

    884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b8aae0b894e0b983e0b8aa-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b988e0b8ade0b8a3e0b896e0b984-3.jpg

    884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b8aae0b894e0b983e0b8aa-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b988e0b8ade0b8a3e0b896e0b984-4.jpg


    สำหรับประโยชน์ของเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาว มายังชายแดนหนองคายนั้น จะทำให้การค้าไทยสามารถส่งออกสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าอุปโภค บริโภค และโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศจีนนั้นใช้เวลานาน โดยเฉพาะผลไม้ไทยเป็นผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น การขนส่งที่ใช้เวลานานจะทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้า เมื่อเปิดบริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตรไทยให้กระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะเวลาอันสั้น

    นอกจากนี้ยังส่งผลดีด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีน และลาว จะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ อาทิ กลุ่มบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล นวดแผนไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมถึง กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายผ่านแนวเส้นทาง

    ————————————–
    คอลัมน์ มุมคนเมือง
    โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง


    ขอบคุณที่มา

    https://www.dailynews.co.th/articles/290145/
     

แชร์หน้านี้

Loading...