เรื่องเด่น เมื่อครั้งหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ออกจาริกธุดงค์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 8 ตุลาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    “….เมื่อครั้งหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ออกจาริกธุดงค์…”

    333.jpg

    ” ได้ครูผึ้งมาสอนกรรมฐาน ”


    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งลาวได้พักบำเพ็ญเพียรบริเวณนครเวียงจันทน์เป็นเวลาหลายเดือน
    หลวงปู่ตื้อ เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านได้ไปทำความเพียรที่เชิงภูเขาควายอยู่ ๔ เดือนเต็ม

    คืนแรกที่ไปถึงภูเขาควาย ได้ไปนั่งภาวนาภายในถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง เมื่อเริ่มนั่งสมาธิไปได้หนึ่งชั่วโมงเศษ ก็ได้ยินเสียงดังอู้ๆ มาแต่ไกล คล้ายเสียงลมพัดอย่างแรง เมื่อลืมตาดูก็ไม่เห็นอะไร ท่านก็หลับตาทำสมาธิต่อ

    ปรากฏว่ามีผึ้งเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวมาบินวนเวียนเหนือศีรษะท่าน เสียงคล้ายกับเครื่องบิน

    อย่างไม่คาดคิด ทันใดนั้นฝูงผึ้งก็บินลงมาเกาะตามผ้าจีวรของท่านเต็มไปหมด ท่านต้องเปลื้องจีวรออก ถอดผ้าอังสะออก เหลือนุ่งผ้าสบงผืนเดียว รวบชายสบงด้านหน้า เอาลอดหว่างขาแล้วมาเหน็บไว้ที่ขอบเอวด้านหลัง คล้ายนุ่งผ้าโจงกระเบน รัดขอบขาให้ตึงเพื่อกันไม่ให้ผึ้งชอนไชเข้าไปในผ้าได้

    ” เทวดามาบอกที่ซ่อนทองคำ ”


    หลังจากที่ฝูงผึ้งกลับไปหมดแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็นั่งสมาธิต่อ
    เมื่อท่านนั่งไปได้สองชั่วโมงเศษๆ ได้นิมิตเป็นศีรษะคนมีขนาดใหญ่มาก มองเห็นแต่ไกล ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจนเห็นเต็มร่าง ซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตมาก มาหยุดยืนดูท่านอยู่นานพอสมควรโดยไม่ได้พูดจาอะไร หลวงปู่ก็สงบนิ่งดูอยู่

    บุรุษนั้นยืนจ้องท่านนานพอสมควร แล้วก็หันหลังกลับเดินออกไปในทิศทางที่โผล่มา ดูคล้ายกับเดินลึกลงไป ร่างกายส่วนล่างหายไปตามลำดับ แล้วศีรษะอันใหญ่โตก็ลับหายไปอย่างรวดเร็ว
    หลวงปู่ไม่ได้มีอาการหวั่นไหวแต่อย่างใด ท่านนั่งสมาธิภาวนาอยู่ในที่เดิม นั่งอยู่ไม่นานก็ปรากฏเป็นเทวดา ๒ องค์ ใส่มงกุฎสวยงามเข้ามาหาท่าน

    เทวดาองค์หนึ่งพูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ ห่างจากนี้ไม่ไกลนักมีพระพุทธรูปทองคำ ๑๐ องค์ พระพุทธรูปเงิน ๑๕ องค์ฝังอยู่ ขอให้ท่านอาจารย์ไปเอาขึ้นมา เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้สักการบูชา เพราะตอนนี้ไม่มีใครอยู่เฝ้ารักษาแล้ว ”
    พูดบอกเท่านั้น แล้วเทวดาทั้งสองก็หายไป
    หลวงปู่ ไม่ได้ออกค้นหาพระพุทธรูปตามที่เทวดาบอก เพราะท่านไม่มีความประสงค์ที่จะเสาะแสวงหาทรัพย์สมบัติ แต่มุ่งค้นหาสัจธรรม ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ” ภาวนาบนเส้นทางช้างศึก ”

    แถวใกล้นครเวียงจันทน์ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ไปปักกลดภาวนาบนเส้นทางช้างศึกของเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ในประวัติศาสตร์ของลาว
    ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์ในอดีต หลวงปู่ได้ปักกลดภาวนาอยู่บนเส้นทางนั้นหลายคืน ไม่ทราบว่าท่านมีจุดประสงค์ภายในใจอะไร ความจริงพอจะเดาได้ แต่ไม่อยากเดา
    หลวงปู่เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า มีคืนหนึ่ง ท่านได้นิมิตว่ามีวิญญาณหลงทางมาหามากมายจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นทหารหนุ่มๆ ทั้งสิ้น เดินผ่านมาทางที่ท่านพักปักกลดอยู่
    ที่ท่านเรียกว่าวิญญาณหลงทาง ก็คือ เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักกราบพระไหว้พระ บางคนก็ยืนมองพระเฉยๆ บางคนก็สนุกสนานเฮฮาไปตามเรื่อง
    หลวงปู่ ได้แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลไปให้ ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้พวกเขาสามารถระลึกและคลายมานะทิฏฐิได้เลย วิญญาณเหล่านั้นได้แต่มาปรากฏให้เห็นเท่านั้น ก็ได้แสดงกริยาอะไรกับท่านเลย คล้ายกับเป็นวิญญาณที่มืดบอดจากคุณธรรมความดี ท่านจึงเรียกว่าเป็นวิญญาณหลงทาง ยังไม่สามารถชี้แนะในทางดีได้ ท่านก็ปล่อยให้วิญญาณเหล่านั้นผ่านไป

    ” เดินธุดงค์ไปทางหลวงพระบาง ”

    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ปักกลดภาวนาในที่ต่างๆ แถวนครเวียงจันทน์อยู่ ๔ เดือนเศษ มีโยมมาขอให้ท่านพักอยู่นานๆ พวกเขาจะสร้างกุฏิถวาย แต่ท่านไม่รับนิมนต์ บอกชาวบ้านเหล่านั้นว่า ท่านตั้งใจจะเดินธุดงค์ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เป้าหมายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนถิ่นนั้นรู้จักเชียงใหม่ว่าเป็น “ เมืองเหนือของไทยใหญ่ ”
    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ตั้งใจจะไปเสาะหาและฟังคำสอนของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่พำนักอยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายในขณะนั้น

    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า การออกธุดงค์ครั้งนั้นไปกัน ๖ องค์ แต่ไม่ได้เดินทางไปด้วยกัน ต่างแยกย้ายกันไปแสวงหาที่บำเพ็ญภาวนาตามนิสัยของตน หลายๆ วันจึงจะพบปะกันบ้าง ไต่ถามเรื่องราวกันและกัน แล้วแยกกัน ต่างองค์ต่างไป
    นอกจากพระไทยแล้ว บางครั้งก็พบกับพระพม่าซึ่งท่านเหล่านั้นก็ออกท่องเที่ยวธุดงค์ไปเหมือนกัน
    ออกจากเวียงจันทน์ หลวงปู่ ธุดงค์ไปทางหลวงพระบาง หนทางเดินลำบากที่สุด สภาพทั่วไปเป็นป่าทึบและภูเขาสูงๆ มากมาย บางวันเดินขึ้นเขาสูงๆ แล้วเดินลงไปอีกด้านหนึ่งใช้เวลาทั้งวันก็มี พอตกเย็นค่ำมืด ท่านก็ปักกลดพักผ่อน ทำความเพียรภาวนา เมื่อได้อรุณก็ตื่นและออกเดินทางต่อไป
    บางวันหลวงปู่ ไม่ได้บิณฑบาตและไม่ได้ฉันอาหารเลยเพราะไม่พบบ้านเรือน ต้องเดินทางไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่านบอกว่าถนนหนทางแถวนั้นยากที่สุด รถยนต์ไม่มีโอกาสเข้าไปได้เลย แม้จะเดินเท้าก็ยังยาก รถราไม่เคยมีในถิ่นนั้น

    ” พบชีปะขาวพาไปดูสมบัติในถ้ำ ”

    จากบันทึกของลูกศิษย์บอกว่า ในช่วงที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เดินธุดงค์จากหลวงพระบาง ไปใกล้จะถึงเมืองแมด เมืองกาสี ท่านเดินออกจากเขาลูกหนึ่ง บริเวณเชิงเขาเป็นป่าละเมาะ มีต้นไม้เตี้ยๆ เดินทางไม่ลำบากเหมือนช่วงที่ผ่านมา
    หลวงปู่ เดินไปเรื่อยๆ ไม่นานก็มองเห็นเขาอีกลูกหนึ่งข้างหน้า ไกลออกไปท่านมองเห็นชีปะขาวนั่งสมาธิอยู่บนก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง ท่านจึงเดินตรงเข้าไปหา
    พอหลวงปู่เดินเข้าไปใกล้จะถึง ก็มองเห็นชีปะขาวนั่งสมาธิอยู่ไกลออกไปเช่นเดิม ท่านก็เดินเข้าไปหาอีก นึกแปลกใจว่าทำไมหินก้อนนั้นจึงเคลื่อนที่ออกไปได้ ท่านเพ่งมองแล้วก็เดินเข้าไปหาต่อไป
    เมื่อเข้าไปใกล้ ปรากฏว่าไม่ใช่ชีปะขาว แต่กลายเป็นก้อนหินที่มีรูปร่างเหมือนคนนั่งสมาธิอยู่ ใกล้ๆ กันนั้นมีแอ่งน้ำธรรมชาติ มีน้ำใสไหลเย็น ประกอบกับเป็นเวลาเย็นใกล้ค่ำ หลวงปู่ จึงตัดสินใจกางกลดเพื่อพักบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้น เพราะท่านรู้สึกเหนื่อยอ่อนมาหลายวัน
    ตกกลางคืน ขณะที่ท่านนั่งสมาธิกำหนดจิตอยู่ ได้เกิดนิมิตเห็นชีปะขาวเหมือนที่พบเมื่อตอนกลางวัน เข้ามาหา แล้วบอกหลวงปู่ว่า
    “ขอนิมนต์ท่านอยู่ที่นี่นานๆ ข้าน้อยจะสอนวิชาเดินป่าที่ไม่รู้จักอดอยากให้ และจะพาไปดูสมบัติต่างๆ ภายในถ้ำ ท่านอยากได้อะไรก็จะมอบให้หมด ”
    หลวงปู่ ได้ถามชีปะขาวว่า “เมื่อกลางวัน โยมนั่งสมาธิอยู่บนก้อนหินนั้นใช่ไหม? ”
    ชีปะขาวกราบเรียนว่าใช่ แต่ที่ทำหายตัวห่างออกไปเรื่อยๆ นั้นเพราะ “ ต้องการให้ท่านได้มาหยุดพักผ่อนตรงนี้ พวกข้าน้อยนี้เป็นพวกกายทิพย์ มีวิมานอยู่ในสถานที่นี้ ”
    หลวงปู่ได้กล่าวขอบใจ และอนุโมทนากับความหวังดีของชีปะขาวแล้วท่านบอกเขาว่า…
    “ อาตมาเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า กำลังปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์ ไม่ต้องการสมบัติทั้งหลายที่ท่านจะมอบให้หรอก ขณะนี้เราต้องการรู้เพียงว่า จะเดินไปทางไหนจึงจะถึงบ้านคนได้ง่าย เพระเราไม่ได้ฉันอะไรเลยเป็นเวลา ๕ วันมาแล้ว ”
    ชีปะขาวตอบว่า “ สิ่งที่ท่านต้องการยังอยู่ไกลมาก แต่ถ้าท่านพยายามเดินทางให้เร็ว ก็จะถึงเร็ว ”
    กราบเรียนดังนั้น แล้วชีปะขาวก็หายไป

    ” ได้ฉันอาหารวันแรกหลังออกจากหลวงพระบาง ”

    เมื่อภาพนิมิตชีปะขาวหายไปแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็ยังอยู่ในสมาธิต่อไป พอลืมตาขึ้นท้องฟ้าก็สว่างได้อรุณวันใหม่
    หลวงปู่ รีบออกเดินทางตามที่ชีปะขาวบอก เดินไปไม่ไกลก็พบหมู่บ้านชาวป่า มีประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน เมื่อท่านหาที่พักบริขารได้แล้วก็เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
    มีคนมาใส่บาตรท่าน ๕-๖ คน แสดงว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีพระธุดงค์มาโปรดสั่งสอนแล้ว แม้พูดกันไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็ยังรู้จักใส่บาตรพระ
    นับเป็นวันแรกที่หลวงปู่ได้ฉันอาหาร นับตั้งแต่เดินทางออกจากหลวงพระบางเมื่อ ๕ วันที่แล้ว
    พวกชาวบ้านป่าเรียกตนเองว่า “พวกข้า” พวกเขาได้แสดงอาการขอให้หลวงปู่พักอยู่ด้วยนานๆ แต่ท่านก็แสดงอาการให้รู้ว่า ท่านขอบอกขอบใจ และไม่สามารถอยู่ด้วยได้ ท่านมีกิจต้องเดินธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ
    เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ ก็ออกธุดงค์ต่อไป

    ” ธุดงค์เข้าไปในเขตพม่า ”

    เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ฉันอาหารจากการบิณฑบาตในวันนั้นแล้ว ท่านก็เดินทางต่อไป ท่านเดินไปตามภูเขาและดงไม้เข้าถึงเมืองทั้งห้าทั้งหก แล้วเข้าสู่เขตพม่า ในบริเวณเมืองเชียงตุง
    ในสมัยนั้น ประชาชนชาวพม่าเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระสงฆ์องคเจ้าก็มีมากและได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูจากประชาชนเป็นอย่างดี
    หลวงปู่ออกธุดงค์ตามป่าเขา หลีกเร้นจากการเข้าพักบริเวณบ้านผู้คน นอกจากเข้าไปบิณฑบาตพอได้อาศัยเท่านั้น
    หลวงปู่ ได้พบปะกับพระพม่าอยู่บ่อยๆ พระเถระผู้เฒ่าก็มี สามเณรก็มี พวกท่านเหล่านั้นกางกลดบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขาห่างไกลบ้านผู้คน
    บางครั้งหลวงปู่ได้ปักกลดภาวนาด้วยกันกับพระพม่าก็มี ท่านเล่าว่าชนชาวพม่าก็สนใจในธรรมกรรมฐานมากพอสมควร พระสงฆ์และสามเณรชาวพม่าบางท่านได้ออกเดินธุดงค์กรรมฐาน ชนิดไม่กลับวัดเลย คือหายสาบสูญไปเลยก็มีมาก
    หลวงปู่ บอกว่า พระพม่านี้เก่งในทางคาถาอาคมมาก บางครั้งเมื่อพบกัน พระชาวพม่ามักสอนคาถาต่างๆ ให้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร

    ” เดินทางกลับประเทศไทย ”

    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า ช่วงเดินธุดงค์ในเขตพม่านั้นเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุด รวมทั้งไม่สะดวกหลายอย่างเกี่ยวกับการถือเคร่งตามพระวินัย
    เส้นการเดินทางที่สบายๆ ไม่มีเลย ถ้าวันไหนได้เดินไปตามเชิงเขาแล้วก็รู้สึกสบายบ้าง แต่มักจะเป็นระยะสั้นๆ แค่ ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนมากมีแต่ขึ้นเขา เข้าป่ารก เฉลี่ยการเดินทางในวันหนึ่งๆ ได้เพียง ๗-๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าหากสุขภาพไม่แข็งแรงและจิตใจไม่เข้มแข็งจริงๆ แล้ว ก็คงต้องอาพาธป่วยไข้ ทำให้ลำบากและทุกข์ทรมานมากขึ้น

    หลวงปู่บอกว่า การภาวนาตามป่าเขานั้น จิตสงบดีมาก แม้การเดินทางจะลำบาก แต่ก็สัปปายะดี สำหรับเรื่องสัตว์ร้าย ผีสางเทวดานั้นไม่มีปัญหาอันใดเลย กลับได้อารมณ์กรรมฐานดีเสียอีก ได้ประโยชน์ในการบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างมาก
    อุปสรรคสำคัญในการเดินธุดงค์ในเขตพม่าได้แก่ ความไม่สะดวกเกี่ยวกับเรื่องพระวินัยบางข้อ หลวงปู่จึงได้ธุดงค์มุ่งกลับมาเมืองไทย ท่านเข้ามาทางจังหวัดน่าน ลงไปเขตเมืองแพร่ แล้วเดินธุดงค์ไปบริเวณจังหวัดเลยตอนเหนือ ระยะการเดินทางนับร้อยๆ กิโลเมตร พบที่ใดเหมาะสมก็ปักกลดภาวนาที่นั่น บำเพ็ญเพียรอย่างไม่มีการลดละเลย เป็นช่วงที่บำเพ็ญเพียรได้ดีมาก สุขภาพก็แข็งแรงไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย…”

    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดป่าอริญวิเวก บ้านข่า หมู่ ๑ ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ในยุคปัจจุปัน

    ๗ ตุลาคม ๒๕๖๐

    กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมคำสอนนี้ ทุกๆ ท่าน



    ที่มา เมตตาธรรม ศิษย์พระธุดงค์กรรมฐาน สายหลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 8 ตุลาคม 2017
  2. นายธนาคาร

    นายธนาคาร Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 มกราคม 2017
    โพสต์:
    129
    ค่าพลัง:
    +111
    เหมือนจะเคยอ่านครั้งหนึ่งในบอร์ดนี้ครับ แต่พอมาใหม่อีกครั้งก็เพลินดีครับ :)
    สาธุครับ....
     

แชร์หน้านี้

Loading...