เมื่อ 'แผ่นดินไหว' ไม่ไกลเกินตัว โดย ศ.ดร. ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย forest60, 21 เมษายน 2013.

  1. forest60

    forest60 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    447
    ค่าพลัง:
    +4,197
    เมื่อ ' แผ่นดินไหว' ไม่ไกลเกินตัว ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์
    โดย : ชุติมา ซุ้นเจริญ
    วันที่ 5 ธันวาคม 2555 12:38 Life style กรุงเทพธุรกิจ

    ข่าวแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นรอบโลก ทิ้งคำถามสำคัญไว้เบื้องหลัง นั่นคือเราพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับภัยธรรมชาตินี้

    แผ่นดินไหว อาจไม่ใช่ภัยธรรมชาติที่คนไทยให้ความสำคัญมากนัก แต่ทันทีที่แรงสั่นสะเทือนจากการขยับตัวของรอยเลื่อนส่งคำเตือนมาถึงศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร คำถามต่างๆ ก็พุ่งตรงไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว


    "เมืองไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่หรือไม่"


    "กรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน"


    "เราควรเตรียมตัวเพื่อรับมือกับภัยแผ่นดินไหวอย่างไรบ้าง"



    หนึ่งในไม่กี่คนที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้อยู่เสมอก็คือ ศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ นักวิชาการผู้บุกเบิกงานงานวิจัยด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2518 ปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    แน่นอนว่านอกจากภารกิจหลักในการถ่ายทอดความรู้เรื่องการออกแบบอาคารเพื่อต้านแผ่นดินไหวให้กับนิสิตนักศึกษาแล้ว อาจารย์ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง


    ล่าสุดนักวิชาการท่านนี้ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอาคารและสถานที่สาธารณะในเมืองไทย รวมถึงความเสี่ยงของกรุงเทพฯต่อคลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่าเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย

    ที่ผ่านมาบางคนอาจคิดว่าเมืองไทยคงไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง?


    จริงๆ ความรู้สึกอันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากที่เกิดสึนามิ เมื่อปีพ.ศ. 2547 ก่อนหน้านั้นคนส่วนใหญ่แม้กระทั่งนักวิชาการบางคนยังคิดว่าแผ่นดินไหวในเมืองไทยไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องเป็นห่วงกังวล แต่หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย ทางภาคเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ซึ่งทำให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่และเกิดความเสียหายอย่างมากมายในเมืองไทย ทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักว่าภัยแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่แน่นอน เพราะในอดีตคนส่วนใหญ่คิดว่าสึนามิในอันดามันเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นท่าน ดร.สมิทธิ ธรรมสโรช ท่านมีเซนท์ของวิศวกรที่รู้ว่าเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสึนามิมันเป็นไปได้ในฝั่งอันดามัน แล้วท่านก็พูดไว้ก่อนหน้านั้นตั้งสิบกว่าปี แล้วมันก็เกิดจริงๆ


    สึนามิครั้งนั้นก็ทำให้เกิดความตื่นตัวในวงกว้าง ส่วนวงวิชาการเราตื่นตัวเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ.2526 ที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ใกล้เขื่อนศรีนครินทร์ แล้วทำให้ความสั่นไหวเกิดขึ้นในบริเวณกว้าง รวมทั้งที่กรุงเทพ อยู่บนพื้นดินยังเห็นน้ำในบ่อมันกระเพื่อม แสดงว่าคลื่นแผ่นดินไหวที่มาถึงกรุงเทพไม่ได้เบา แต่มันก็ยังน้อย ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง มีรายงานบ้างว่าเกิดความเสียหาย แต่เสียดายที่ไม่มีการบันทึกเป็นกิจลักษณะ เป็นคำบอกเล่ามากกว่า ซึ่งอันนี้ก็เป็นข้อเสียของบ้านเรา


    ฉะนั้นในแง่ของความตื่นตัวก็เกิดขึ้นมาบ้างแล้ว สาเหตุจากบทเรียนจากธรรมชาติที่สอนคนเรา ก็เลยทำให้คนชักจะมีความตื่นตัวว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถจะคาดการณ์ล่วงหน้าจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อม


    การศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวในเมืองไทยมีมานานหรือยังคะ


    ถอยไปเมื่อ พ.ศ. 2526 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ในสมัยนั้นความรู้สึกนี้ไม่มีเลย นักวิชาการหลายคนก็บอกว่าเรื่องแผ่นดินไหวไม่รู้จะศึกษาไปทำไม ทีนี้ทางจุฬาฯ ผมได้มีโอกาสไปสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ที่อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งส่งผลไปที่อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีอาคารที่มันแตกร้าวแต่ไม่ได้เป็นอันตราย เป็นความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากโครงสร้าง แต่จากเหตุการณ์นั้นทำให้เราคิดว่าแผ่นดินไหวในบ้านเราไม่น่าจะมองข้ามได้ กลับมาก็เลยเริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับผลของแผ่นดินไหวต่ออาคาร แล้วประจวบกับปี 2526 ที่มีแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย เราก็เลยขอมหาวิทยาลัยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิศวกรรมแผ่นดินไหว สามปีต่อมาก็เป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิศวกรรมแผ่นดินไหวที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยในปี 2529 หลังจากนั้นก็มีการทำวิจัยเรื่อยมา ต่อมาก็ได้รับการอัพเกรดให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน เมื่อ 8 ปีที่แล้ว


    หลังจากศึกษาวิจัยมากว่า 20 ปีมีข้อค้นพบที่น่าสนใจอะไรบ้าง


    ศูนย์ของเราก็มีทีมอาจารย์ที่ร่วมงานในหลายๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่การศึกษาความเสี่ยงของอาคารต่อแผ่นดินไหว ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ได้เกิดที่กรุงเทพ อยู่ห่างออกไปร้อยกว่ากิโลเมตร เช่นที่จังหวัดกาญจนบุรี เวลาที่รอยเลื่อนนั้นเคลื่อนตัว คลื่นจะส่งผ่านมาถึงกรุงเทพเท่าไหร่และมีความเสี่ยงภัยแค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่อาจารย์ในทีมของเราศึกษา และทำมา 10 กว่าปีแล้ว และพบว่ากรุงเทพไม่ได้ปลอดจากความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรอยเลื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ขนาดใหญ่พอสมควร ถ้าเปรียบเทียบในเมืองไทยนะ ไม่ได้เปรียบเทียบกับของญี่ปุ่นหรือแคลิฟอร์เนีย


    นักธรณีวิทยาพบว่ารอยเลื่อนนี้สามารถจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวระดับใหญ่ได้ แต่คาบการเกิดซ้ำมันยาวในระดับพันปี ไม่ใช่เกิดบ่อยแบบในญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นความเสี่ยงมันก็น้อยลง แต่น้อยอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะมองข้ามได้ เพราะกรุงเทพเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ถ้าเสียหายขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบสูง


    ทั้งนี้ผลการวิจัยของเรารวมทั้งผลการวิจัยที่สถาบันอื่นและจากบทเรียนในต่างประเทศด้วย ชี้ตรงกันว่าดินอ่อนในกรุงเทพมันขยายคลื่น จริงๆ ถ้ากรุงเทพไม่ได้ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ถ้าชั้นดินในกรุงเทพเหมือนกับชลบุรีคือเป็นหินแข็ง ไม่มีปัญหา เพราะรอยเลื่อนห่างไปตั้งร้อยกว่ากิโลเมตร ถ้าแผ่นดินไหวระดับ 6 ริกเตอร์ขึ้นไป แล้วกรุงเทพเป็นชั้นดินแข็งไม่มีปัญหา แต่นี่เป็นชั้นดินอ่อนมันจะขยายคลื่นประมาณ 3 เท่า ก็เลยทำให้เรามีความมั่นใจว่ากรุงเทพต้องคำนึงถึงภัยแผ่นดินไหวในการออกแบบอาคาร


    เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้านธรณีวิทยา และด้านวิศวกรรมศาสตร์ ได้พยายามผลักดันว่าจำเป็นต้องมีกฎหมาย ใช้เวลาอยู่นานตั้ง 10 กว่าปี จึงเกิดกฎกระทรวงฉบับที่ 49 ซึ่งกำหนดให้ออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในเขตที่มีความเสี่ยง และยกเว้นอาคารบางประเภทที่หากมันเกิดภัยเกิดความเสียหายแล้วไม่กระทบส่วนรวม เช่น ตึกแถวต่ำกว่า 4 ชั้น ก็ยกเว้น ไม่ได้หมายความว่าอาคารเหล่านั้นไม่เสี่ยง แต่เกรงว่าถ้าบังคับทุกอาคารจะมีผลกระทบต่อประชาชนมากเกินไป ก็เลยปล่อยให้เป็นดุลพินิจของเอกชนเอง


    ถึงจะมีกฎหมายควบคุมอาคาร แต่ในความเป็นจริงเคยมีการสำรวจหรือไม่ว่าอาคารส่วนใหญ่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้หรือไม่


    กรุงเทพมหานครมีอาคารทั้งเล็กและใหญ่รวมกันราวๆ สองล้านหลัง เป็นไปไม่ได้ที่จะไปสำรวจอย่างนี้ ต้องใช้งบประมาณมาก อีกอย่างหนึ่งอาคารของเอกชนถ้าไม่มีกฎหมายบังคับเขาไม่ยอมให้หน่วยงานเข้าไปสำรวจ นี่ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่อื่นก็เหมือนกัน ยกเว้นบางประเทศอย่างในนิวซีแลนด์ กฎหมายเขาเข้มงวด เขาก็มีการประเมินว่าอาคารของเขาจะมีความสามารถในการต้านแผ่นดินไหวระดับไหน แต่เราทำไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เหตุผลเรื่องงบประมาณ เหตุผลเรื่องกำลังคน แล้วก็ไม่มีกฎหมาย..แน่นอนทำไม่ได้อยู่แล้ว พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการสำรวจ มีบ้างก็คือเอาอาคารตัวอย่างไปลองจำลองด้วยวิธีการทางวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมแผ่นดินไหว แต่อันนั้นเป็นเรื่องทฤษฎี


    ทีนี้ถ้าจะดูเรื่องความปลอดภัยของอาคาร ต้องแบ่งเป็น 2 พวก อาคารที่ออกแบบก่อสร้างได้มาตรฐานกับอาคารที่ไม่ได้ออกแบบก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน อาคารที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ต้องพูดถึง ไม่มีแผ่นดินไหว มันก็พังได้ เราก็เคยเจอมาแล้ว เพราะฉะนั้นพวกนี้ไม่มีใครตอบได้ แต่แนวโน้มก็คือถ้าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหน่อย โอกาสที่มันจะพังมีมาก ส่วนอาคารที่มีมาตรฐาน อาคารเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานแผ่นดินไหวในระดับหนึ่ง แต่จะแค่ไหนก็ไม่สามารถตอบได้ เหมือนกับคน คนเรามีภูมิคุ้มกันต่างๆ กัน แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ถ้าเกิดโรคระบาดคนที่มีภูมิคุ้มกันมากก็รอดตายไม่เป็นอะไร คนที่มีภูมิคุ้มกันน้อยหน่อยก็อาจไม่สบาย แต่ฟื้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันก็อาจเสียชีวิต อาคารก็คล้ายกัน


    ทีนี้ภูมิคุ้มกันมีแค่ไหนอันนี้ตอบไม่ได้ เพียงแต่บอกได้คร่าวๆ อย่างนี้ว่า ถ้าแผ่นดินไหวเป็นไปตามที่มีการศึกษาคือระดับไม่เกิน 7 ริกเตอร์ แล้วเกิดขึ้นห่างออกไปร้อยกว่ากิโลเมตร กรุงเทพจะเกิดการสั่นไหวที่พื้นดินด้วยอัตราเร่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเร่งจากแรงโน้มถ่วงของโลก ถามว่าเยอะมั้ย ถ้าเป็นอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานก็พังได้ แต่ถ้าอาคารได้มาตรฐาน โอกาสพังมีน้อย แต่บอกไม่ได้ว่าไม่พังเลย แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ ไม่มีใครบอกได้ว่า ระดับรุนแรงที่สุดที่จะเกิดมันเป็นเท่าไหร่ อีกอย่างหนึ่งถึงแม้จะเกิดระดับ 7 แต่แผ่นดินไหวระดับเดียวกันที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นความไม่แน่นอนมันอยู่ที่ตรงนั้น


    แล้วที่มีข่าวว่าในกรุงเทพมีอาคาร 1 ล้านหลังที่ไม่ปลอดภัย?



    เรื่องนี้มันมาจากที่ผมไปบรรยายให้มูลนิธิ ดร.สุรพล สุดารา ก็ไปให้ข้อมูลว่ากรุงเทพมีอาคารเล็กบ้างใหญ่บ้างราวๆ 2 ล้านหลัง อาคารที่ไม่ได้ออกแบบต้านแผ่นดินไหวมีเยอะมาก มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเสริมความแข็งแรงของอาคารทั้งหมด ผมยังไม่ได้บอกว่ามีอาคารจะพังลงมากี่ล้านหลังหรือกี่แสนหลัง ผมเพียงแต่ให้ข้อมูลที่เป็น Fact ก็ไปลงข่าวว่าอาคาร 1 ล้านหลังเสี่ยง มันก็ทำให้เกิดภาพอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนอาจหวาดวิตก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากมากว่าจะทำอย่างไรให้มันได้สมดุล เพราะถ้าเราบอกว่าไม่เป็นไรเลย ประมาทมันก็ไม่ดี แต่ถ้าไปหวาดวิตกมาก ก็ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นต้องพอดีๆ


    ทีนี้ผมก็พูดต่อไปว่า เนื่องจากเราไม่สามารถจะไปเสริมความแข็งแรงของอาคารทุกหลังได้ เพราะฉะนั้นด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และด้วยสภาพของแผ่นดินไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเหมือนญี่ปุ่น เรามีเวลาเตรียมตัว แล้วเราก็ควรจะใช้งบประมาณที่มีอยู่จำกัดในทางที่ถูก ไปมุ่งเน้นให้ความสนใจอาคารสาธารณะ ไม่ได้บอกว่ามันจะพัง ไม่ใช่ แต่อาคารสาธารณะมันสำคัญ เพราะว่าถ้าทางด่วนเกิดพังลงมา แน่นอน..การขนส่งมันทำไม่ได้ จะไปช่วยเหลือคนป่วย จะไปส่งกำลังบำรุงก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ความสำคัญ นี่คือสิ่งที่ผมให้ข้อมูล


    ถ้าอย่างนั้นมีอาคารลักษณะไหนบ้างที่มีความเสี่ยงสูงในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว



    เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างเทคนิค แต่ถ้าดูตัวอย่างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในต่างประเทศ เราเห็นโครงสร้างสะพาน ตัวคานตัวพื้นมันหลุดลงมา การออกแบบก่อสร้างสะพานในถิ่นที่คิดว่าแผ่นดินไหวไม่รุนแรง หรือว่าไม่ได้ออกแบบเผื่อแผ่นดินไหว อาจจะออกแบบให้พื้นหรือคานสะพานตั้งอยู่บนฐานรองรับเท่าที่จำเป็น แต่แค่นั้นมันอาจจะไม่พอเวลาสั่นไหวรุนแรง มันอาจจะสั่นแล้วหลุดลงมา ซึ่งวิธีแก้ก็ไม่ได้ยากและไม่สิ้นเปลืองมาก ซึ่งสะพานแบบนี้ที่ไม่ได้มีการยึดรั้งพื้นสะพานหรือคานสะพานเข้ากับฐานรองรับมีอยู่ทั่วไปในเมืองไทย เพราะไม่ได้ออกแบบต้านแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกนี้จะพังลงนะ ไม่ใช่ ต้องไปประเมินแล้วดู ถ้าไม่เพียงพอก็ใส่ตัวยึดรั้ง ป้องกันเวลามันสั่นรุนแรงไม่ให้ตกหล่นลงมา สามารถจะทำได้


    อาคารอีกแบบหนึ่งที่มองเห็นได้ทั่วไปก็คือ โรงเรียน อาคารพวกนี้มักจะทำข้างล่างให้มันโล่ง พอชั้นสองขึ้นไปก็จะมีผนังกั้นห้องมีอะไรก็จะแข็ง โยกตัวน้อย แต่ว่าข้างล่างเนื่องจากว่าเป็นโถงโล่งๆ มันก็โยกตัวมาก อย่างนี้ถือว่าเป็นลักษณะอาคารที่เห็นชัดๆ ว่ามีโครงสร้างที่มันเสี่ยง ซึ่งอาคารโรงเรียนนี่ไม่ยุ่งยากสามารถจะปรับปรุงสมรรถนะให้ดีขึ้นได้ และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทางการน่าจะพิจารณา แล้วก็จัดสรรงบประมาณ ทยอยปรับปรุงอาคารเหล่านี้ให้มันแข็งแรงขึ้น เพราะอาคารโรงเรียนถ้าปรับปรุงให้ดีมันได้ประโยชน์หลายต่อ หนึ่งปลอดภัยสำหรับเยาวชนของชาติ สองเนื่องจากอาคารโรงเรียนมีพื้นที่เยอะ เมื่อเกิดภัยพิบัติสามารถใช้เป็นอาคารพักพิงได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างอาคารที่มองดูแล้วรู้ว่าเป็นจุดอ่อน อาคารของเอกชนที่มีลักษณะอย่างนี้ก็ควรที่จะหาวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญมาประเมิน


    อาคารที่เป็นจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งก็คืออาคารที่ก่อสร้างด้วยวิธีทำสำเร็จรูปแล้วมาประกอบ ด้วยเหตุที่ว่าในปัจจุบันเรายังไม่มีมาตรฐานว่าชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาประกอบอย่างไรแล้วจะทำตรงที่เป็นรอยต่อให้ต้านแผ่นดินไหวได้เพียงพอ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้คิดถึงในจุดนี้แล้วไปออกแบบก่อสร้างแบบที่เคยทำกันมาในอดีต อาจจะไม่ปลอดภัยเพียงพอ "อาจจะ"นะ หมายความว่าจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญไปดูก่อน แต่ในขณะนี้ซึ่งยังไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับการออกแบบระบบโครงสร้างสำเร็จรูปให้ต้านทานแผ่นดินไหว ก็อยากจะแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงระบบนี้ก่อน หรือถ้าไม่หลีกเลี่ยงก็ควรให้วิศวกรเอาใจใส่รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่มาประกอบกัน


    ความสูงของอาคารเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยหรือไม่



    ความสูงไม่เป็นประเด็น บางทีตึกสูงจะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่บอกเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับอาคารอยู่ใกล้รอยเลื่อนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความถี่ธรรมชาติของแผ่นดินไหวเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก จะมาเหมารวมไม่ได้


    ในส่วนของสะพานหรือโรงเรียนซึ่งมีความสำคัญ ปัจจุบันมีการแก้ไขปรับปรุงไปบ้างหรือยัง



    ที่ผ่านมาอาจารย์ในคณะวิศวะก็ได้ทำโครงการวิจัยประเมินความสามารถในการต้านแผ่นดินไหวของสะพานลอยข้ามแยก แล้วได้ยินว่าได้เสนอให้มีการปรับปรุง ใส่ตัวยึดรั้งเหนี่ยวรั้งไม่ให้พื้นสะพานมันหลุดจากฐานรองรับ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณหรืออะไรไม่ทราบก็ยังไม่ได้ทำ เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐควรจะเริ่มวางแผน ทำการศึกษา จัดลำดับความสำคัญ อันไหนสำคัญที่สุดก็ควรจะเร่งทำก่อน ไม่งั้นถ้าโชคร้าย มันเกิดขึ้นมาเราทำไม่ทัน แก้ไขไม่ได้ ก็เกิดความเสียหาย แต่การเสริมความแข็งแรงแน่นอนต้องมีงบประมาณที่ต้องลงทุน เรื่องการลงทุนเพื่อความปลอดภัย ป้องกันสิ่งเลวร้ายความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เมืองไทยไม่ค่อยทำ หรือไม่ก็ทำไม่ถูกจุดไม่ถูกวิธี อย่างน้ำท่วมก็เหมือนกัน ซึ่งมันไม่ได้


    เราจะพัฒนาอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงภัยธรรมชาติไม่ได้ เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปควบคู่กับการลงทุนเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่มองไม่เห็นด้วย แต่เป็นภัยธรรมชาติที่มันน่าจะเกิดขึ้นได้ เราคงไม่ไปลงทุนเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเสียหายจากลูกอุกาบาตที่ตกลงมาใส่ อันนี้ไม่มีใครทำแน่นอน


    สำหรับคนทั่วไปที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหวอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไร


    ถ้าเป็นต้นตำรับทั้งญี่ปุ่นและอเมริกาแนะนำตรงกันว่าเวลาเกิดแผ่นดินไหวให้หลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง และไม่ใช่หลบเข้าไปอย่างเดียวต้องจับยึดไว้ด้วย เผื่อโต๊ะมันขยับไป เขาบอกว่า drop ลง Hold ยึด cover ก็ให้มันคลุมเราไว้ จุดประสงค์คือไม่ให้อะไรทั้งหลายที่ไม่แข็งแรงหล่นลงมาทับ ทีนี้พอรู้สึกว่ามันเริ่มจางลงก็ควรจะออกจากอาคาร แต่อย่างว่าแหละต่างประเทศเขามั่นใจในอาคารของเขา เขาจึงไม่แนะนำให้ออกไปจากอาคาร แต่ถ้าเราไม่มั่นใจก็แล้วแต่วิจารณญาณ สัญชาตญาณของแต่ละคน ถ้ามันสั่นนานๆ อยู่ในอาคารมันก็เสี่ยง แต่ถ้าจะออกไปมันก็เสี่ยงอีกแบบหนึ่ง เพราะคนไทยไม่มีวินัย รับรองว่าเวลาออกไปต้องไปแย่งทางลงกันแน่นอน


    ฟังดูเหมือนยังมีความไม่พร้อมในหลายด้าน รัฐควรมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่


    เรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จริงๆ ก็มาจากประชาชนเขาถามมาว่า เวลาไปซื้อคอนโด เจ้าของบอกต้องเพิ่มสองแสนบาทเพราะต้องออกแบบก่อสร้างต้านแผ่นดินไหว คนซื้อก็ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาทำจริงหรือเปล่า หรือทำแล้วได้มาตรฐานหรือเปล่า แล้วภาครัฐจะดูแลคุ้มครองเขาได้อย่างไรบ้าง คำตอบคือ ตอนนี้ภาครัฐไม่ได้ดูแลในเรื่องมาตรฐานของการออกแบบก่อสร้าง กฎหมายในบ้านเราเป็นลักษณะที่ว่าโยนสิ่งนี้ให้เป็นหน้าที่ความรับผิดขอบของวิศวกรแต่ละคน วิศวกรที่ออกแบบไม่ได้มาตรฐาน ถ้าอาคารไม่เกิดปัญหาอะไร ก็เหมือนโจรขโมยแล้วตำรวจจับไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่มันเกิดพังขึ้นมาก็ค่อยไปไล่เบี้ยวิศวกรที่ออกแบบ แต่ถึงตอนนั้นมันก็สายเกินไป ประชาชนก็เสียผลประโยชน์ แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อกฎหมายเราไม่เหมือนในต่างประเทศที่เวลาเจ้าของโครงการยื่นแบบขออนุญาตสร้างคอนโดจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจว่าออกแบบต้านแผ่นดินไหวหรือเปล่า ถูกต้องมั้ย แต่บ้านเราไม่มี ทำอย่างไร

    ผมก็ได้แนวความคิดอันหนึ่งมาซึ่งได้คุยกับเพื่อนวิศวกรและเห็นตรงกันว่าถ้ามีก็น่าจะเป็นประโยชน์ คือถ้าบ้านเรามีการออกระเบียบหรือออกกฎหมายให้เจ้าของโครงการเปิดเผยแบบก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ต้านทานแผ่นดินไหว ถ้ามีกฎหมายนี้ข้อดีก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งวิศวกร เจ้าของโครงการจะไม่กล้าทำชุ่ยๆ ไม่ได้มาตรฐาน เพราะการเปิดเผยแบบจะทำให้ใครๆ ก็ตรวจสอบได้ ส่วนผู้ซื้อก็สามารถจะหาคนที่รู้เรื่องไปดูแบบได้ สุดท้ายเมื่อเปิดเผยแบบแล้ว เวลาก่อสร้างเจ้าของโครงการไม่กล้าที่จะไปลดเหล็กลดขนาดเสา ทุจริตไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจะมีข้อดีหลายอย่าง แค่เปิดเผยแบบก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรง อันนี้อยากจะฝากให้ภาครัฐพิจารณาในส่วนนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างด้วย

    ในส่วนของประชาชนต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยแผ่นดินไหวอย่างไร


    ประชาชนควรหาความรู้เรื่องภัยธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งเมื่อคราวที่เกิดสึนามิในบ้านเราก็ฟ้องชัดเจนว่าคนไทยค่อนข้างจะไม่มีความรู้รอบตัว แพ้นักเรียนอังกฤษอายุแค่ 10 ขวบด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้ก็ตื่นตัวดีขึ้นและก็ต้องไม่ตื่นตระหนก เพราะอย่างในญี่ปุ่นประชาชนก็อยู่กับภัยแผ่นดินไหวได้ แต่ทั้งสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ทำสิ่งแวดล้อมให้มันปลอดภัย


    ที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก วิศวกร เจ้าของโครงการ ต้องตระหนักว่าอาคารสิ่งปลูกสร้างถ้ามันไม่มั่นคงแข็งแรง มันอันตราย ทำให้คนตายได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งในมหาวิทยาลัยเราก็พยายามปลูกฝังเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย มันต้องลงไปถึงระดับเยาวชน เพราะมันคือเรื่องคอรัปชั่นทั้งระบบ ซึ่งสำคัญมาก มันมีอยู่ในทุกวงการ เมื่อมีคอรัปชั่นแล้วก็ทำให้ปัญหาของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในส่วนนี้ก็ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ

    ที่มา http://www.bangkokbiznews.com
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 เมษายน 2013

แชร์หน้านี้

Loading...