เลิกรับน้อง... มองต่างมุม

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย PalmPlamnaraks, 26 มิถุนายน 2005.

  1. PalmPlamnaraks

    PalmPlamnaraks เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มกราคม 2005
    โพสต์:
    766
    ค่าพลัง:
    +5,790
    เลิกรับน้อง... มองต่างมุม

    โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มติชนรายวัน วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9965

    พ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้คงโล่งใจกันตามๆ กัน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมรับน้อง รวมทั้งกิจกรรมหน่วงเหนี่ยวให้น้องๆ เข้าเชียร์ข่าวการรับน้องท่า "ปั่นกล้วย" ที่ออกทางหนังสือพิมพ์และทีวีทำให้เสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่ผ่านสื่อขานรับมาตรการนี้อย่างล้นหลาม มีเสียงส่วนน้อย คือ ครูหยุยและผู้นำนักศึกษาออกมาเรียกร้องให้พิจารณาผ่อนปรนให้มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเสียงนกเสียงกาไป

    ที่จริงแล้ว การรับน้องเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมนอกหลักสูตรทั้งหมดของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะตามมาด้วยการประชุมเชียร์ การเข้าร่วมกิจกรรมสโมสรต่างๆ รวมทั้งการแข่งกีฬาภายในมหาวิทยาลัย

    การรับน้อง(ที่ดี) จะเป็นการทำให้นิสิตนักศึกษารู้จักกันเร็วขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันการประชุมเชียร์หรือแม้แต่ระบบ SOTUS ที่ดี ที่เข้าใจ Order ว่าเป็นระเบียบไม่ใช่การใช้อำนาจเป็นการสร้างระเบียบวินัยให้กับสังคมไทยที่มักอ้างว่าทำตามใจคือไทยแท้

    ถ้าจะสังเกตให้ดีจะพบว่าคณะเกษตรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เป็นคณะที่ต้องผลิตบัณฑิตออกไปทำงานกับคนงานไร้ฝีมือจะต้องเข้าใจเรื่องขอบเขตทางกายภาพ (physical limits) ของกำลังมนุษย์ มักจะมีการรับน้องที่เน้นการออกกำลังกาย ความอดทน และระเบียบวินัย ดังนั้น การประชุมเชียร์จึงเป็นการฝึกงานนอกหลักสูตรของนักศึกษารุ่นพี่ไปในตัว

    ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่วนหนึ่งการรับน้องจะมีการซ้อมวิ่ง เพื่อเตรียมวิ่งขึ้นดอยพร้อมกัน อันเป็นประเพณีอันยาวนานซึ่งนับเป็นเรื่องที่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนมากนับเป็นประสบการณ์ที่ดีไปชั่วชีวิต

    ตราบใดที่รุ่นพี่ไม่ก่อกิจกรรมอุบาทว์หรือกิจกรรมที่อาจมีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของรุ่นน้อง ก็น่าที่จะยอมรับได้

    ถ้าไม่ยอมรับก็ลองมาคิดภาพของการที่คนหนุ่มคนสาวเป็นหมื่นคนมารวมกันอยู่ในที่เดียวกัน หากไม่มีกิจกรรมประชุมเชียร์แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เวลาประชุมเชียร์เป็นเวลาที่รุ่นพี่ทุกปีและรุ่นน้องอยู่รวมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการดึงเอาคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ออกจากบาร์เบียร์ คาราโอเกะ มาอยู่ในสถานที่ที่จะปลอดภัย ไม่ลับสายตา

    นอกจากนี้ การรับน้องและประชุมเชียร์ที่ดีเป็นการหล่อหลอมหนุ่มน้อยต่างโรงเรียน ให้มามีความสามัคคีไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้งกันภายใน แทนที่จะไปซิ่งมอเตอร์ไซค์หรือรถแข่ง ไม่ไปเป็นแก๊งซามูไรวัยรุ่นที่เที่ยวเอาดาบไปไล่ฟันคนอื่น หรือตีกันเองภายใน และระหว่างคณะ

    สำหรับผู้เขียนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด(ซึ่งมีนักศึกษาพักในมหาวิทยาลัยหลายพันคน) คิดว่า คำสั่งที่ยกเลิกทุกอย่างเป็นความคิดที่ออกจะเป็นความคิดของ "คนกรุงเทพฯมากไปหน่อย"

    คนกรุงเทพฯอยากให้ลูกเลิกเชียร์กลับบ้านไวๆ เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีหอพัก อีกทั้งรถก็ติดบ้านก็อยู่ไกล แต่ต่างจังหวัดอาจจะอยากให้ลูกอยู่ในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมในที่สาธารณะมากกว่าจะไปซุกๆ ซ่อนๆ พรอดรักกันใต้ต้นไม้

    คำสั่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องใช้ไม้บรรทัดอันเดียวมาตัดสินมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ

    หากไม่มีการรับน้อง การเชียร์ การระดมพลเพื่องานสาธารณประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและของจังหวัดก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เช่น งานแห่เทียนหรืองานลอยกระทง ก็ล้วนแต่อาศัยรุ่นพี่รุ่นน้องควบคุมกันไปทั้งนั้น

    รวมทั้งการเลิกระบบรุ่นพี่รุ่นน้องอาจจะทำให้สมาคมนักศึกษาเก่า (ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังจะพัฒนาให้มาเป็นกองกำลังสนับสนุนที่สำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ) อ่อนแอลงไปในที่สุด

    ที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อสารก็คือ การรับน้องและการประชุมเชียร์เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สำคัญ ถ้าจะคิดเลิกก็ต้องหากิจกรรมอย่างอื่นมาแทน(และต้องเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาอยากทำด้วย) หรือมิฉะนั้นก็ควรยกเครื่องการรับน้องทั้งระบบให้เป็นการรับน้องที่อารยะ

    มหาวิทยาลัยจะต้องถือโอกาสทำให้การรับน้องและระบบเชียร์เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่ฝึกทักษะการอยู่ในสังคมของทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง ควรมีการอบรมสตาฟฟ์เชียร์ของแต่ละคณะ ควรให้เข้าใจถึงความสำคัญของการรับน้องว่าเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สร้างความเป็นคนเต็มคนที่มีศักดิ์ศรี มีการเสียสละประโยชน์เพื่อส่วนรวมระบบรับน้องที่อนาจารและอุบาทว์ต้องเลิกไป

    มหาวิทยาลัยควรนำเอาเทคนิคสมัยใหม่ของการละลายน้ำแข็ง(ice-breaking) ที่ใช้ใน Business Game หรือในการจัดการความรู้(Knowledge management) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมรับน้องให้มีความสุขสนุกสนาน มีความรู้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกิดการสร้างเครือข่ายอย่างกว้างขวาง

    การเลิกรับน้อง อาจจะทำให้มีนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะเหงาได้เหมือนกัน เพราะมีปัญหาการปรับตัวของนักศึกษาในสภาพแวดล้อมใหม่

    ดังนั้น การเลิกรับน้องต้องตามด้วยระบบกิจกรรมนอกหลักสูตรที่หลากหลายและดึงดูดใจ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาอยู่ในหอพักเป็นพัน ว่าแต่ว่าอาจารย์จะยอมเสียสละเวลาส่วนตัวมาดูแลลูกศิษย์เหมือนรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการทดแทนระบบ "รับน้อง" ต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิใช่ว่าประกาศเลิกแล้วก็สบายใจได้

    สำหรับผู้เขียนอยู่มหาวิทยาลัย(ที่ยินดีจะอ้างว่า) มีบรรยากาศโรแมนติคที่สุดในประเทศไทย ขอเตือนผู้ปกครองว่า อย่าคิดว่าเลิกรับน้องแล้วปัญหาวัยรุ่นจะหมดไป ถ้าไม่มีกิจกรรมอื่นให้วัยรุ่นใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์(และสนุกสนาน) มาทดแทนละก็ ผู้ปกครองอาจจะปวดหัวยิ่งกว่านี้อีก

    ขอสรุปอย่างวัยรุ่นว่า "คิดเลิกนะง่ายป๋า แต่คิดแก้ ซิยากกว่า"


    ที่มา : www.nidambe11.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...