เลือกทางเดิน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NUI, 7 สิงหาคม 2013.

  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    เลือกทางเดิน
    ท่านพุทธทาสภิกขุ

    จิตของคนเราตามธรรมดาสามัญนั้น มันมีทางของมันเองอยู่ทางหนึ่ง เป็นทางของกิเลสตามธรรมชาติ คือว่าเมื่อมีการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผัสสะแล้วมันไม่หยุดอยู่แค่ผัสสะ มันย่อมปรุงแต่งเป็นเวทนา รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา

    พอมันเป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว มันไม่หยุดแค่เวทนา มันปรุงเป็นตัณหา คืออยากอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่รู้สึกต่ออารมณ์นั้นอย่างไร เช่น ดี สวย ก็อยากได้ ไม่ดีก็อยากตีให้ตาย ครั้นมีตัณหาแล้ว มันต้องมีความรู้สึกว่าตัวเรา คือตัวข้าพเจ้าเป็นผู้อยาก และมีสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้าตามความอยาก มันจึงมีตัวกู ของกูอย่างรุนแรงขึ้นมา นี่เรียกว่าเป็นอุปาทาน

    ตัณหาย่อมทำให้เกิดอุปาทาน มันแสดงออกมาทางทวารของใจเป็นมโนกรรมที่เด่นชัดเจนขึ้น เป็นการสมบูรณ์ที่ทำให้เห็นเป็นกรณีหนึ่งแล้วเรียกว่า"ภพ" เมื่อมันแสดง ออกมาให้เห็นโดยชัดเจนคือเป็นตัวกู ของกู อย่างสมบูรณ์ สำเร็จที่สุดในการยึดมั่นถือมั่นต่ออารมณ์นั้นๆเป็นไปตามความรู้สึกว่าตัวกู ของกูโดยสมบูรณ์แล้วเรียกว่า"ชาติ"

    ชาติหรือความเกิด แล้วมีทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆ ตามแบบของมันโดยเฉพาะเป็นกรณีๆไป ทางนี้อาจสรุปได้ว่าจากผัสสะเป็นเวทนา จากเวทนาเป็นตัณหา จากตัณหาเป็นอุปาทาน จากอุปาทานเป็นภพ จากภพเป็นชาติ จากชาติเป็นทุกข์ เป็นทางสายใหญ่ที่จิตของสัตว์โลกเดินอยู่เป็นนิจสายหนึ่ง เพื่อไปสู่ความทุกข์อยู่เป็นประจำตามวัฏสงสาร

    ส่วนทางอริยมรรคนั้น หมายความว่า พอกระทบเป็นผัสสะแล้ว สามารถวกมาเสียทางสติปัญญา คือมีสติสัมปชัญญะทันท่วงที ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆว่าเป็นเราของเรานั่นเอง

    ถ้าวกไม่ทันในระยะผัสสะ ก็วกให้ทันในระยะของเวทนาอย่าให้ปรุงเป็นตัณหา เป็นอุปาทานขึ้นมาได้ แต่ให้วกมาทางสติปัญญาว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวกูของกู หรือยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู แล้วจิตจะไม่ปรุงเป็นกิเลสตัณหาได้ แต่จะเป็นสติปัญญาชนิดหนึ่งที่จะรู้ว่า ควรจัดการอย่างไรกับสิ่งที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย ทางใจดังนี้เสมอไป

    และมันจะไม่เป็นทุกข์เพราะการที่จะต้องจัดการทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งที่มากระทบนั้นต่อไป นี่เรียกว่าเดินมาตามทางของอริยมรรคอย่างนี้ อย่าเดินไปตามทางของปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ทำให้เกิดทุกข์อย่างนั้น

    คนโบราณเขาผูกเป็นคำสั้นๆไว้ว่า"ทางใหญ่อย่าพึงจร"นี่ก็คือ อย่าปล่อยกระแสจิตมันไหลไปตามทางใหญ่ที่มันลื่นแล้ว ที่เดินกันมากี่กัปป์กี่กัลป์แล้ว คนทั้งหมดนั้นล้วนเดินไปสู่ทางทุกข์ทั้งนั้น จงวกมาหาทางอริยมรรค ซึ่งเป็นทางพิเศษเฉพาะผู้มีปัญญา คือสาวกของพระพุทธเจ้า การเดินทางนั้นไม่เป็นไปในทางทุกข์ แต่ไปสู่ที่สุดทุกข์ ซึ่งเรียกว่า" นิพพาน"
     

แชร์หน้านี้

Loading...