เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 17 สิงหาคม 2022.

  1. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพไปยุ่งกับกรรมครูบาบุญชุ่มมากเกินไป ก็เลยต้องเรียกว่า "บาดเจ็บสาหัส" แต่คราวนี้สิ่งที่เกิดขึ้นมีหลายอย่าง ซึ่งถ้าท่านทั้งหลายสังเกต ก็จะรู้สึกว่ากระผม/อาตมภาพไม่เหมือนกับชาวบ้านเขา

    ประการแรกเลยก็คือ ตกบันไดลงไป ทำไมลงไปยืนตรง ๆ ? นั่นคือลักษณะของการฝึกฝน โดยเฉพาะในเรื่องของศิลปะการต่อสู้ ทำให้ถ้าทุกท่านสังเกตจะเห็นว่า กระผม/อาตมภาพเป็นคนที่ล้มยากมาก เพราะว่าเคยชินกับการที่จะเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย เพื่อที่จะให้ลงโดยที่บาดเจ็บน้อยที่สุด

    ประการที่สองคือ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเจอเหตุการณ์อย่างเดียวกัน ก็คือกระแทกกับต้นเสาจนซี่โครงรวน แถมยังเล็บหัวแม่เท้าหลุดทั้งอัน ก็น่าจะต้องร้องกันบ้าง แต่ท่านจะสังเกตว่าไม่ได้ยินเสียงของกระผม/อาตมภาพเลยนิดเดียว

    ก่อนหน้านี้สมัยที่ยังอยู่ที่เกาะพระฤๅษี กระผม/อาตมภาพตัดหญ้าแล้วเครื่องตัดดีดก้อนหินใส่ตา ต้องบอกว่าโชคดีมากที่เฉียดตาดำไปนิดเดียว แต่ตาขาวแตก เลือดท่วม ตาแดงก่ำอยู่หลายวัน โดนกะทันหันแบบนั้นกระผม/อาตมภาพยังไม่ร้อง แถมยังไม่ได้รีบไปหาหมอด้วย ตัดหญ้าจนเสร็จก่อน จนกระทั่งทุกวันนี้เมื่อตาหายแล้ว กล้ามเนื้อก็ดึงไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น..กระผม/อาตมภาพก็จะมีอาการตาเอียง หรือตาเหล่ในสายตาของคนอื่นเขา

    คราวนี้ถ้าอาการบาดเจ็บหนักที่เกิดขึ้นกะทันหันแบบนั้นแล้วยังไม่ร้อง อย่างอื่นก็คงไม่สามารถทำให้กระผม/อาตมภาพร้องได้ ยกเว้นว่าจะแกล้งร้อง ตรงนี้มีหลายสาเหตุด้วยกัน

    สาเหตุแรกก็คือความที่เป็นทหารมาทุกชาติ ออกรบก็ต้องมีบาดเจ็บเป็นปกติ แต่ที่เคยชินก็คือเจ็บแล้วต้องไม่ร้อง เพราะว่าการร้องด้วยความเจ็บนั้น ประการแรกเลย ศัตรูจะได้ใจ ประการที่สองก็คือ พวกเดียวกันจะเสียขวัญ จึงเคยชินกับการที่ต้องไม่ร้อง

    ถ้าจากที่เคยย้อนอดีตไปดู การออกรบหลายต่อหลายครั้ง บางทีก็ให้เพื่อนร่วมรบ หรือว่าผู้ใต้บังคับบัญชากัดท่อนไม้ไว้ในปาก ลักษณะเป็นไม้ไผ่แบน ๆ ใหญ่กว่านิ้วมือเล็กน้อย ลักษณะอย่างนั้นก็คือจะไม่เผลอส่งเสียงร้อง ไม่เผลอคุยกันให้ข้าศึกได้ยิน
     
  3. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    สาเหตุต่อไปที่เจ็บแล้วไม่ร้อง เกิดจากการฝึกกรรมฐานมามาก โดยเฉพาะในส่วนของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน รู้สึกก็ทำเป็นไม่รู้สึก ถ้าเป็นท่านทั้งหลาย ขนาดเล็บหลุด เดินเลือดหยดไปตลอดทาง ก็คงจะไม่มีอารมณ์เดินมาจนถึงหอฉัน แล้วค่อยทำความสะอาดแผล ขณะเดียวกันก็คงจะไม่ฉันจนเสร็จ แล้วก็นั่งรอน้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) นับเงินจนเสร็จ แล้วค่อยออกไปหาหมอ ไม่ต้องดูใครมาก ดูแค่หลวงตาปรีชา (พระปรีชา อกิญฺจโน) เป็นตัวอย่าง ประตูหนีบนิ้วมือหน่อยเดียว ก็ต้องถึงมือหมอแล้ว รบกวนเพื่อนพระทั้งวัด..!

    ก่อนหน้านี้สมัยที่ยังธุดงค์อยู่ กระผม/อาตมภาพไปขาหักที่น้ำตกทีลอซู ยังต้องเดินออกมาอีก ๓ ชั่วโมงครึ่ง..! เพราะว่าสั่งช้างเอาไว้ แต่ปรากฏว่ามีฝรั่งลื่นล้มขาแพลง เจ้าของช้างก็คงคิดว่ากระผม/อาตมภาพไม่เป็นอะไร ไปรับทีหลังก็ได้ โดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอุบัติเหตุ ขาหักไปเรียบร้อยแล้ว

    ในเมื่อเอาช้างไปรับฝรั่งที่ลื่นล้มขาแพลง กระผม/อาตมภาพคนขาหักก็ต้องเดินออกมาเอง แล้วช้างกับคนก็มาทันกันที่บ้านโคทะ ปรากฏว่าฝรั่งที่หกล้มขาแพลง แค่เขียว ๆ ช้ำ ๆ นิดหน่อย เห็นกระผม/อาตมภาพที่ขาบวมเป็นลูกฟุตบอล ก็ทำท่าสยองขวัญ จะขาดใจตายแทน แต่ว่าจากตรงนั้นก็ยังต้องเดินออกมาบ้านปะละทะอีก

    ที่ตลกก็คือขาเข้า..แข้งขาดี ๆ ใช้เวลาเดิน ๔ ชั่วโมง ขาออก..ขาหักไปเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาเดิน ๓ ชั่วโมงครึ่ง เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเวลาขาหักแล้วโดนพื้น จะเจ็บชนิดน้ำตาเล็ด ก็เลยต้องใช้วิธีแตะพื้นนิดเดียวแล้วก็รีบก้าวพรวด ๆ ไป ทำให้เดินเร็วกว่าปกติ..!

    ในเมื่อสาเหตุทั้งหลายมีแบบนี้ ท่านทั้งหลายจะลองฝึกฝนดูบ้างก็ได้ ส่วนตอนที่ไปถึงมือหมอแล้วเลือดก็ยังไม่หยุด หมอต้องทำความสะอาดแผล ฉีดยาชา โดยที่ย้ำว่า "ตอนฉีดเจ็บนะครับ" กระผม/อาตมภาพทำอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา ก็คือออกจากตัว ไปยืนเป่าหัวตัวเองด้วยคาถาพระยายมราช ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ดีมาก ลองทำดูบ้างก็ได้

    ก็คือนึกขอบารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรหม เทวดา ครูบาอาจารย์ทั้งหมด มีพระยายมราชเป็นที่สุด ขอให้ช่วยบรรเทาอาการเวทนาที่เกิดขึ้นนี้ด้วย แล้วก็ว่า "นะโมพุทธายะ" เป่าหัวให้คนป่วย แต่คราวนี้ถ้าจะเป่าหัวตัวเองก็ต้องไปยืนข้างนอก..!

    น่าสนุกเหมือนกัน
    กระผม/อาตมภาพก็เลยยืนดูหมอทำงานไปเรื่อย จนกระทั่งถอดเล็บออกไปทั้งอัน แต่ว่าโยมที่ไปด้วยบอกว่าจะเป็นลมตาย เพราะว่าหมอแทงเข็มเข้าไป แล้วก็ควานซ้ายควานขวาทั่วไปหมด โดยให้เหตุผลว่ายาชาจะได้ไปทั่วถึง จะลองดูก็ได้ รสชาติของชีวิตดีมาก...!

    แล้วอีกอย่างกระผม/อาตมภาพไม่ฉันยาแก้ปวด สภาพร่างกายของเราสามารถที่จะฟื้นตัวได้ ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ก็ตาม เมื่อถึงเวลาร่างกายจะเยียวยารักษาตัวเอง ถ้าเอะอะเราเอาแต่กินยา เอาแต่ฉันยา ร่างกายจะกลายเป็นขี้เกียจ แล้วต่อไปก็จะไม่ฟื้นตัวเอง หากแต่คอยอาศัยยาช่วยเท่านั้น
     
  4. iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ดังนั้น...บุคคลที่เคยชินกับความเจ็บปวด สภาพร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ามาก ถ้าท่านทั้งหลายถามว่าเจ็บแค่ไหน ? เหมือนกับมีหัวใจอีก ๑ ดวงอยู่ที่นิ้วโป้งเท้า เต้นตึ้ก ๆ ๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจจริง ๆ เลย เป็นรสชาติของชีวิตดีมาก ถ้าอยากจะรับรู้ว่าปวดแค่ไหนก็คลายสมาธิออกมา ถ้าไม่อยากจะรับรู้ ก็เข้าสมาธิต่อไป

    เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักปฏิบัติธรรม เพราะจะทำให้เห็นว่าเรามีต้นทุนเท่าไร โดยเฉพาะเวลาที่ฉุกเฉิน เกิดอะไรขึ้นกะทันหัน เราจะรู้ชัดว่าสติ สมาธิของเรามีเท่าไร สภาพจิตของเรามีความเร็วสูงมาก เร็วกว่าแสงอีก..! แสงเดินทาง ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที ใช้เวลาประมาณ ๘ นาทีเดินทางจากดวงอาทิตย์มาถึงโลก แต่ใจของเราแค่คิดก็ไปถึงแล้ว

    ในเมื่อจิตมีสภาพเร็วขนาดนั้น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เราจะเห็นว่าทุกอย่างเหมือนกับช้า หลายคนอาจจะมีประสบการณ์ตรงนี้ ก็คือช้าจนกระทั่งเราสามารถที่จะกำหนดสติได้ว่าจะแก้ไขอย่างไร สถานการณ์ถึงจะออกมาดีที่สุด

    ถ้าหากว่าสภาพจิตไม่เร็วขนาดนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะต่อต้านกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสเกิดเร็วมาก เร็วเท่า ๆ ความคิดของเรา การต่อต้านกิเลสจึงต้องเร็วในระดับที่เท่ากัน ทำอย่างไรที่มีสติรู้ตัว แล้วหยุดคิดให้ทัน กิเลสก็จะเกิดไม่ได้ ก็แปลว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ท่านจำเป็นจะต้องฝึกฝนให้มากเข้าไว้

    ประโยชน์ใหญ่สูงสุดก็คือ ป้องกันกิเลสไม่ให้กินใจของเราได้ทัน ประโยชน์รองลงไปก็คือระงับกายสังขาร ถ้าจิตเราอยู่กับการภาวนา ร่างกายจะเจ็บแค่ไหนก็เป็นเรื่องของร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับเรา

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็แปลว่า เราท่านทั้งหลายยังต้องใช้ความเพียรพยายามในการฝึกฝนตนเองให้มากกว่านี้ ถ้าหากว่าหาใครเป็นตัวอย่างไม่ได้ ก็ดูกระผม/อาตมภาพที่เป็นตัวอย่างให้เห็น ๆ อยู่ เพียงแต่ว่าระยะนี้คงจะต้องเป็นคนหยิ่ง คุกเข่าให้ใครไม่เป็น เพราะว่าเล็บหัวแม่เท้าหลุดหายไป ไม่สามารถที่จะนั่งคุกเข่าได้ ต้องอยู่ในลักษณะของการนั่งในท่าที่ตนเองถนัดแทน

    สำหรับวันนี้ก็มีเรื่องที่จะเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     

แชร์หน้านี้