เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 29 พฤศจิกายน 2024 at 19:20.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพไม่ได้ออกบิณฑบาต เนื่องเพราะว่ามีงานโครงการปฐมนิเทศครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๘ ที่ วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ถ้าบิณฑบาตแล้วจะไปไม่ทันพิธีเปิด ขนาดนั้นเมื่อไปถึงก็ยัง ๘ นาฬิกาเศษ บรรดาครูพระสอนศีลธรรมของจังหวัดกาญจนบุรี กำลังลงทะเบียนและต่อใบอนุญาตกันอยู่อย่างขะมักเขม้น

    เนื่องเพราะว่าครูพระสอนศีลธรรมนั้น จะต้องมีการส่งรายงานการสอนประจำทุกเดือน เพื่อที่จะรับเงินเดือนครูสอน ซึ่งอยู่ที่ ๒,๕๐๐ บาท ถ้าหากว่าขาดการส่งรายงาน ก็เท่ากับว่าขาดการสอน ทำให้ต้องโดนคัดออก แล้วบุคคลที่สอนครบถ้วน ก็ยังต้องต่อใบอนุญาตกันปีต่อปี ซึ่งลักษณะแบบนี้ก็เป็นความดีอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะว่าทำให้การบริหารจัดการนั้นเป็นไปโดยทันเหตุการณ์ ไม่ใช่ว่าทิ้งการสอนไปเป็นปี ๆ แล้ว แต่ว่ายังได้รับการโอนเงินเดือนให้ทุกปีแบบสมัยก่อน

    เมื่อมีระบบการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น ครูพระหน้าใหม่ ๆ ก็จะสอดแทรกเข้ามาแทนคนเก่าที่หลุดวงโคจรไป แต่กระนั้นก็ตาม..จำนวนโควต้าครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๓๕๐ รูปของจังหวัดกาญจนบุรี ตอนนี้ก็ยังว่างอยู่ ๒๘ รูป สาเหตุที่ว่างก็ไม่มีอะไรมาก ๑.) มรณภาพ ๒.) ลาออก ๓.) โยกย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องสรรหาบุคคลเข้าไปแทน

    เมื่อพิธีเปิดโดยพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ. ๙) ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมพระวิปัสสนาจารย์ซึ่งเข้าอบรมอยู่ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีเมตตาบอกว่า "ช่วยให้โอวาทแก่ครูพระสอนศีลธรรมสักหน่อยครับ ไม่ต้องมากก็ได้"

    กระผม/อาตมภาพจึงใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที ในการเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการที่ครูพระของเราต้องปลูกฝังหลักธรรมต่าง ๆ ให้กับเด็ก ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นภาระหน้าที่อันหนักมาก จำเป็นที่จะต้องเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อเด็กเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าของเรา
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ครูพระทุกรูปจึงต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของความเป็นครู ที่ภาษาบาลีเรียกว่า "กัลยาณมิตรธรรมทั้ง ๗ ประการ" แล้วก็อธิบายคร่าว ๆ ตั้งแต่ปิโย เป็นครูที่น่ารัก นักเรียนอยากจะเรียนด้วย ไปจนถึง โน จัฏฐาเน นิโยชะเย คือไม่ชักนำศิษย์ไปในทางที่เสียหาย นอกจากสอนให้คิดดี พูดดี ทำดีแล้ว ยังต้องระมัดระวังคอยป้องกัน ไม่ให้ศิษย์ไปในทางที่ชั่ว ทางที่ผิดพลาดอีกด้วย

    หลังจากนั้นก็รีบเดินทางไปยังวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) แต่ปรากฏว่าเลยเวลาไปเสียก่อน ถ้าหากว่าอยู่ในช่วงระหว่างฉันเพลและพักผ่อนของพระวิปัสสนาจารย์ ถึงเข้าไปก็ไร้ประโยชน์ ประกอบกับยังมีการประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะจังหวัด ลงไปจนถึงรองเจ้าคณะตำบล และเลขานุการทุกระดับ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ อีกด้วย

    แม้จะเป็นการประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting Online ก็ตาม แต่ว่าพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ก็เมตตามาเป็นประธานในการประชุมทุกครั้ง กระผม/อาตมภาพจึงต้องละทิ้งการเดินทางเข้าไปยังวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ตรงไปยังที่พักวัดอุทยาน ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อที่จะได้รีบเข้าระบบ Zoom Meeting Online ให้ทันการประชุม

    ในการประชุมนั้นส่วนที่น่าหนักใจก็คือบรรดาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ของเรา
    ไม่ว่าเราจะทำสิ่งที่ดีที่งามขนาดไหนก็ตาม แต่ว่าแทบจะไม่ปรากฏเป็นข่าวคราวต่อสาธารณชนเลย นอกจากในส่วนประชาสัมพันธ์ของทางคณะสงฆ์เท่านั้น อย่างในปัจจุบันนี้ ก็มีโครงการปฐมนิเทศครูพระสอนศีลธรรมของจังหวัดกาญจนบุรี โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพพระวิปัสสนาจารย์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) โครงการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งโครงการทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อพุทธศาสนิกชนบ้าง เป็นไปเพื่อเยาวชนของเราบ้าง เป็นไปเพื่อพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่มีใครคอยดูแลบ้าง

    แต่โครงการดี ๆ เหล่านี้ เขาไม่เอาไปออกข่าว เนื่องเพราะว่าออกข่าวไปแล้วคนก็ไม่สนใจ หากแต่ว่าไปสนใจในเรื่องไม่ดีไม่งามเสียหมด เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จึงทำไปเท่าไรก็ไม่ปรากฏออกสู่สาธารณชน แต่ถ้าหากว่ามีพระภิกษุสามเณรประพฤติบกพร่องในพระธรรมวินัยบางอย่าง ก็จะมีการออกสื่อออกข่าวกันแทบจะทุกช่องทาง..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ปัจจุบันนี้ในส่วนที่น่าหนักใจก็คือ ส่วนที่ญาติโยมทั้งหลายมักจะกล่าวว่า คณะสงฆ์ของเราล้าสมัย มีการสอนลักษณะเดิม ๆ ไม่ทันสมัย ไม่น่าสนใจ ไม่ตื่นเต้น ทำให้ทุกคนห่างวัดออกไปเรื่อย แต่ถ้าหากว่ามีบุคคลที่ตั้งใจทำคอนเทนต์ สร้างความตื่นเต้นให้ก็แห่กันไปหา..!

    เรื่องพวกนี้ต้องบอกว่า บุคคลที่อยู่ในลักษณะนั้นยังเป็น "ผู้ถือมงคลตื่นข่าว" ก็คือที่ไหนเขาว่าดีก็แห่กันไปที่นั่น เป็นบุคคลที่ไม่มีความมั่นคงในตนเอง เพราะว่าถ้ามีความมั่นคงในตนเอง ยึดหลักธรรมการปฏิบัติได้ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปเพื่อให้เกิดผลดีแก่ตนเอง


    ในส่วนนี้ทางคณะสงฆ์ของเราก็จำเป็นที่จะต้องพัฒนา แต่ว่าต้องเป็นการพัฒนาที่เรายึดแก่น ก็คือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา เอาไว้ให้มั่น ไม่เช่นนั้นแล้วในส่วนอื่นถ้าพัฒนาตามไป ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค วิธีการ หรือว่าเทคโนโลยีอะไรก็ตาม มีแต่จะพาให้เราเป๋ออกนอกทาง

    เหมือนอย่างกับที่บางประเทศ ถึงขนาดพระภิกษุของเขาไปเล่นดนตรี ไปร้องเพลงแร็ป เพื่อที่จะสร้างความสนใจให้กับวัยรุ่น แล้วจะได้มาสนใจในพระพุทธศาสนา กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่า บุคคลที่สนใจนั้นก็ได้เป็นแค่สะเก็ดติดเปลือกไม้เท่านั้น แม้กระทั่งเปลือกก็ยังเข้าไม่ถึง แล้วจะไปเอากระพี้เอาแก่นธรรมได้ที่ไหน ?

    เรื่องพวกนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่าในสมัยก่อน ๆ นั้น เรื่องของสื่อต่าง ๆ ไม่ได้ไปทั่วโลกในพริบตาเดียวเหมือนกับสมัยนี้ การที่พระภิกษุสามเณรกระทำในสิ่งที่ผิดพลาด เพราะว่าเป็นปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส จึงไม่ได้ออกข่าวไปทั่ว จนกระทั่งกลายเป็นที่เอือมระอาของพุทธศาสนิกชนเหมือนอย่างในปัจจุบัน

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นมี ๒ สาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกก็คือพุทธศาสนิกชนในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง แยกแยะออกว่าอะไรเป็นเปลือก อะไรเป็นแก่น อะไรเป็นเพียงกาฝากที่มาอาศัยเกาะพระพุทธศาสนา จึงให้การสนับสนุนแก่นแท้โดยที่ไม่หลงผิดทาง ไม่ใช่เหมือนกับสมัยนี้ที่ไปหลงสนับสนุนบุคคลบางประเภทที่คิดว่าเป็นแก่น แต่ถ้าพิจารณาจริง ๆ แล้วก็เป็นแค่สะเก็ดติดเปลือกไม้เท่านั้น

    ประการต่อมาก็คือ ปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสในปัจจุบันนี้มีจำนวนมากมายมหาศาล ตั้งแง่เรียกร้องจากคณะสงฆ์ต่าง ๆ นา ๆ แถมยังรู้ไม่จริงเสียด้วย ก็เลยเอาเรื่องของพระภิกษุสามเณรปุถุชนไปปะปนกับพระภิกษุสามเณรที่เป็นพระอริยเจ้า ไปเรียกร้องให้ปุถุชนกระทำตนแบบพระอริยเจ้า ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    โดยเฉพาะตนเองเป็นปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าพระอริยเจ้านั้นมีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร อยู่ในลักษณะที่ว่า เมื่อมืดบอดก็มองไม่เห็นว่าความจริงแท้เป็นอย่างไร ครั้นไปเจอบุคคลที่มืดบอดด้วยกัน อยู่ในระดับชั้นเดียวกัน กิเลสใกล้เคียงกัน พูดอะไรออกมาตรงกับกิเลสของตนเอง ก็ไปคิดว่าใช่..!

    ถ้าอยู่ในลักษณะแบบนี้ พระพุทธศาสนาของเราก็จะอยู่ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงเป็นภาระ เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือว่าเจ้าอาวาส จำเป็นที่จะต้องกวดขัน เข้มงวดกับพระภิกษุสามเณรของตน โดยเฉพาะบรรดาท่านที่เป็นครูพระสอนศีลธรรม จะต้องอดทนอดกลั้น รู้สำนึกในสมณสารูปของตน มีสมณสัญญา รู้ว่าต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่เสียหายต่อตนเอง ไม่เสียหายต่อครูบาอาจารย์ และไม่เสียหายต่อพระพุทธศาสนา

    ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เหมือนอย่างกับปล่อยให้บุคคลที่เพิ่งจะฝึกหัดทหาร ได้แค่ท่าบุคคลมือเปล่าเท่านั้น แต่ไปออกรบในแนวหน้า โอกาสที่จะรอดกลับมานั้นมีน้อยเหลือเกิน แต่ว่าท่านทั้งหลายก็ไม่ย่อท้อ อุตส่าห์ไปต่อสู้ฟันฝ่าในสนามจริง จนกระทั่งหลายต่อหลายท่านสามารถยืนหยัดเป็นธรรมเสนา คือทหารผู้แกร่งกล้าในกองทัพธรรมได้อย่างแท้จริง

    ต้องขอชื่นชมต่อท่านทั้งหลายที่สละตนเองเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อเยาวชนของเรา แล้วก็ใช้การสั่งสอนเด็ก ๆ นั่นแหละ เป็นการขัดเกลาตนเองไปในตัวด้วย จนกระทั่งสามารถที่จะยืนหยัดเป็นหลักหนึ่งในพระพุทธศาสนาของเราได้ ต้องกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ไม่ทอดทิ้งภาระในตรงนี้ ถ้าพวกเราร่วมด้วยช่วยกันในลักษณะอย่างนี้ พระพุทธศาสนาของเราก็ยังสามารถที่เจริญมั่นคงต่อไปได้อย่างแน่นอน

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...