เหตุผลของการทำบุญ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย guawn, 8 ตุลาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    เหตุผลของการทำบุญ

    คอลัมน์ ร้อยเหลี่ยมพันมุม



    [​IMG]มีเสียงแว่วมาจากรายการทีวีรายการหนึ่งว่า วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงมานานจากการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ ขอเชิญชวนผู้คนร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้างหอระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีทั้งระฆังประจำตัว ประจำตระกูล มีการจารึกชื่อ และตระกูลของผู้บริจาคไว้ที่ระฆังแต่ละใบ ซึ่งผู้ที่มีชื่อจารึกอยู่นั้นจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือเป็นผู้มีชื่อเสียง อันเป็นผลจากการบริจาคครั้งนี้

    ทางวัดบอกอีกว่า กิจกรรมนี้ดำเนินไปภายใต้การร่วมเฉลิมฉลองการมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550 ซึ่งหอระฆังนี้จะสร้างเสร็จพอดี และเงินที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ทางวัดรับภาระในการดูแลอยู่เป็นจำนวนมาก

    เหตุผลต่อเนื่องอีกอย่างหนึ่งของการสร้างหอระฆังใหญ่ที่สุดในโลกก็คือ เพื่อให้เป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้มาทำบุญที่นี่ในระยะยาว ทางวัดจะได้มีทุนทรัพย์ในการดูแลผู้ป่วยต่อไป

    เมื่อดูจากวัตถุประสงค์ และผลในปลายทางแล้ว แน่นอนว่าควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะกิจธุระของวัดพระบาทน้ำพุนั้น ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากสังคมมานานแล้ว ว่ามีความจริงใจต่อภารกิจที่ทำเพื่อผู้ป่วยจริงๆ ไม่มีใครแคลงใจในประเด็นนี้

    หากแต่ในรายละเอียดของการเชิญชวนให้คนร่วมบริจาคนี่สิ เราควรจะรู้สึกอย่างไรดี กับการอ้างถึงสวรรค์มาเป็นสินรางวัลของการทำบุญ เพื่อสร้างวัตถุที่จะได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก

    คล้ายๆ กับที่หลายคนยังไม่แน่ใจว่า ควรจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง หรือเฉยๆ หรือควรจะวางใจไว้ตรงไหนกับการทำรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

    มองเห็น "ผล" ที่ดี แต่ "เหตุ" ของผลยังรับไม่ได้สนิทใจ-ว่าอย่างนั้น

    กรณีของวัดพระบาทน้ำพุนั้น เข้าใจได้แน่ว่ามันเป็นกุศโลบายของการชักชวนคนให้ร่วมสละทรัพย์ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าแผนการประชาสัมพันธ์นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อเรื่องการทำบุญเพื่อให้ "ได้" สิ่งตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งนั้นคือ "สวรรค์"

    บุญในความหมายทางพุทธแล้ว ไปสวรรค์อย่างนั้นหรือ หรือหากจะมีสวรรค์จริงๆ ในความหมายที่เป็นนามธรรม สัมผัสได้ในชีวิตนี้ ก็เป็นสวรรค์ในใจที่ต้องหมั่นเพียรปฏิบัติทางใจให้รู้รสด้วยจิตที่ผ่านการฝึกแล้ว

    การทำบุญเป็นสิ่งที่ดีแน่ และอยากสนับสนุนให้คนร่วมทำบุญกับทางวัดพระบาทน้ำพุ แต่จะดีกว่าไหมถ้าไม่ต้องหลอกล่อด้วยทางที่ดูจะขัดๆ กับเนื้อแท้ของพุทธ เพราะการบริจาคทรัพย์แล้วได้ไปสวรรค์เลย ดูจะเป็นการชี้ชวนให้คนใช้เส้นทางลัดมากไปหน่อย

    หากจะพินิจกันอีกมุมหนึ่ง คำเชิญชวนของวัดพระบาทน้ำพุก็สะท้อนภาพของสังคมไทยให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนในบ้านเราเป็นเช่นไร มักจะเลือกทำ หรือไม่ทำอะไรด้วยเหตุผลแบบไหน

    เช่นที่ท่านพุทธทาสภิกขุพูดไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ว่า สังคมไทยในยุคสมัยใหม่นั้นขาด ปรมัตถธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมระดับสูง ที่เป็นเหตุผลในทางที่ถูกที่ควรของมนุษย์ว่าควรจะทำสิ่งใดเพราะอะไร

    ท่านบอกว่า คนไทยนั้นมีศีลธรรม แต่ยังขาดปรมัตถธรรม

    "ปรัชญาของศีลธรรมนั้นคือ ปรมัตถธรรม ศีลธรรมบอกว่า อย่าทำอย่างนั้น จงทำอย่างนี้ เป็นต้น แต่ไม่ได้บอกว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น หรือต้องไม่ทำอย่างนั้น นั้นมันเป็นหน้าที่ของปรัชญาของศีลธรรม คือ ปรมัตถธรรม นั้นเอง"

    เมื่อไม่ได้บอกว่า ควรทำ หรือไม่ควรทำอะไรเพราะเหตุใด จึงเปิดโอกาสให้การกระทำต่างๆ เป็นไปตามเหตุผลที่คนทั้งหลายคิดกันเอาเองตามกิเลสของแต่ละคน ซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในชีวิต

    "ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ต้องใช้การบังคับ ชี้ชวนต่างๆ นานา จะกำจัดความทุกข์ได้ก็เป็นเพียงชั้นผิวนอก ซึ่งหยาบหรือตื้น หรือต่ำกว่า ส่วนปรมัตถธรรมนั้น ไม่ต้องใช้การบังคับชี้ชวน แต่เป็นการแสดงให้เห็นชัดแจ้งด้วยตนเอง ลึกซึ้ง แก้ความทุกข์ได้ถึงรากเหง้าของความทุกข์ เป็นของละเอียด เป็นของสูง"

    อาจจะเพราะว่าเป็นของสูง หลายคนจึงยังเอื้อมไม่ถึง ทั้งที่ไม่ได้เป็นของสูงเกินเอื้อม เพราะปรมัตถธรรมก็คือ การดำเนินไปของสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย หรือในคำที่ท่านพุทธทาสชอบใช้ก็คือคำว่า อิทัปปัจจยตา นั่นเอง

    หากเลือกทำ หรือไม่ทำอะไรตาม "ธรรม" ไม่ใช่ตาม "กิเลส" ก็คือมีปรมัตถธรรมแล้ว

    ในอดีตนั้นสิ่งนี้เคยมีอยู่ในสังคมไทยมาก่อน แล้วนับวันก็ลดน้อยลงตามความเจริญของวัตถุ ท่านพุทธทาสจึงบอกว่า

    "ถ้าปรมัตถธรรมกลับมา โลกาก็สว่างไสว คือ จิตใจของคนนั้นสว่างไสว รู้ได้เองว่า ควรทำอะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ทำเท่าไร ล้วนแต่ถูกต้องพอดีไปทั้งหมด เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา จิตของผู้มีปรมัตถธรรมอย่างนี้ย่อมสว่างไสว เมื่อจิตของคนสว่างไสวแล้ว โลกนี้ก็สว่างไสว"

    ทำอะไร ไม่ทำอะไร ด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามธรรม เป็นโจทย์ที่ท้าทายจิตสำนึกอย่างยิ่ง
     

แชร์หน้านี้

Loading...