แนวทางนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์และการเจริญบารมี ๑๐ รวมคำสอน พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย คนหลงเงา2, 21 มกราคม 2018.

  1. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    เรื่องอารมณ์พระอานาคามี พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

    -----------------------------

    เรื่องอารมณ์พระอานาคามี

    วันพุธที่ ๙ มิ.ย.๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาสอนต่อ เรื่องอารมณ์พระอนาคามี มีความสำคัญดังนี้

    ๑. พยายามรักษาอารมณ์จิตให้สม่ำเสมอ ตรวจสอบดูเมื่อระลึกได้ว่า ขณะนี้จิตทรงอารมณ์อะไรอยู่ ถ้าเศร้าหมองหดหู่ไป จงหมั่นแก้ไขเช่นอย่างเวลานี้ จิตเกาะขันธ์ ๕ ก็จงหมั่นพิจารณาธาตุ ๔ อาการ ๓๒ ว่ามีความไม่เที่ยงเป็นปกติ หากเจ้าจักมายึดถือขันธ์ ๕ ทรงตัว ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเกินไป

    ๒. พยายามพิจารณาเวทนาอันเกิดจากการเกาะขันธ์๕ นั้น เวทนาที่แสดงออกมาเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยงเช่นกัน มันก็เป็นปกติ จักมายึดถือเวทนานี้ ทำความไม่พอใจให้เกิดแก่จิตได้อย่างไร อารมณ์นี้เป็นอารมณ์หนัก ควรจักสลัดทิ้งไปเสียจากจิต เห็นอารมณ์มีความเที่ยงเป็นปกติ อย่าหนักใจ ปล่อยวางอารมณ์นี้ไปเสีย อย่ายึดความกระทบกระทั่งอารมณ์ อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารเสีย จิตจักได้เป็นสุข

    ๓. พยายามซักซ้อมการปล่อยวางอารมณ์ราคะ และปฏิฆะเอาไว้เสมอใหม่ ๆ อาจจะนานช้า สำหรับการปล่อยวางหรือระงับอารมณ์เหล่านี้ แต่นานไปทำบ่อย ๆ ก็จักเกิดความเคยชิน

    ๔. วาระแรกที่ถูกกระทบกระทั่งอารมณ์ อย่าเพิ่งคิดพิจารณาทุกข์หรือโทษ เพราะขณะนั้น แรงราคะหรือปฏิฆะ จักฉุดจิตให้เกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านต่อไป ทางที่ควรจักต้องจับสมถะภาวนาไว้ก่อน ราคะ ก็พึงจับอานาปาควบอสุภะบวกกายคตาและมรณานุสสติ กองใดกองหนึ่ง ปฏิฆะ ก็พึงจับอานาปาควบภาพกสิณพระใน ๔ วรรณะกสิณ กองใดกองหนึ่ง คือ มีความรู้สึกว่า แรงราคะหรือปฏิฆะลดน้อย เจือจางไปจากอารมณ์ของจิต จนมีความรู้สึกสบายใจขึ้นบ้างหลังจากนั้น จึงมาพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของอารมณ์นั้นๆ และพิจารณาถึงต้นเหตุแห่งการเกิดอารมณ์นั้น ๆ จิตจักต้องมีกำลังสูงหน่อย อย่าท้อถอยปล่อยวางขั้นตอนนี้เสียกลางคัน ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ พิจารณา ต้องใช้ความเพียรสูง เพราะอารมณ์นี้เป็นของละเอียด เป็นต้นเหตุให้เกิดร่างกาย ที่ต้องไปขึ้นสวรรค์เป็นพรหม-เทวดา-นางฟ้า วนเวียนลงมาเป็นคน ไปตกนรกเป็นเปรต-อสุรกาย-สัตว์เดรัจฉาน ก็เนื่องจากการเกิดอารมณ์นี้ (สรุป พระองค์ทรงแนะให้ระงับนิวรณ์โดยเฉพาะข้อ ๑ และ ๒ ให้ได้ก่อน ด้วย อานาปาควบกับกรรมฐานแก้จริตก่อน จนอารมณ์สงบแล้ว จึงค่อยใช้อริยสัจเข้าพิจารณาต่อไป)

    ๕. การพ้นเกิด พ้นตายไม่ใช่ของง่าย แต่การเกิดการตายนั้นเป็นของง่าย เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดอารมณ์จักเป็น โมหะ โทสะ ราคะก็ตาม ล้วนเป็นชนวนให้เกิดให้ตายได้ทั้งสิ้น ศึกษากันมาถึงระดับนี้แล้ว ขอพวกเจ้าจงอย่าประมาทในธรรม เวลาทุกขณะจิตมีค่า เพราะพวกเจ้าไม่ต้องการเกิด ไม่ต้องการตายอีก ระมัดระวังจิตกันให้ดี ๆ ถ้าหากพลาดพลั้งไป ก็จักเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

    ๖. เอาไปคิดพิจารณาใคร่ครวญให้ดี ๆ หนทางนี้เป็นทางสายเอก จักต้องปฏิบัติให้เกิดผลด้วยตนเอง จิตดวงเดียวท่องเที่ยวไป หรือหยุดโคจรเมื่อเข้าถึงอมตะนิพพาน ก็อยู่ที่พวกเจ้าจักเลือกปฏิบัติเอา(ก็นึกว่าลูกต้องการพระนิพพาน)

    ๗. ก็จงหมั่นละอารมณ์ตามที่ตถาคตตรัสมานี้ ฝึกจิตจนเที่ยงเมื่อไหร่ จิตเจ้าก็หยุดโคจรเมื่อนั้น อมตะนิพพานก็ปรากฏแก่จิตเจ้าตลอดไป

    ๘. อย่าลืมว่าเจ้ายังเป็นเสขะบุคคลอยู่ การหวั่นไหวของอารมณ์ย่อมยังมีอยู่เป็นธรรมดา อย่าหดหู่เศร้าหมองเพราะเป็นเรื่องปกติ จงหมั่นระงับอารมณ์ให้หวั่นไหวน้อยเข้า ๆ ตามลำดับ ขั้นตอนของการปฏิบัติ ต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจัง เพราะอารมณ์เหล่านี้เกาะจิตเจ้ามานาน จู่ ๆ จักระงับได้โดยง่ายนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้

    ๙. การต่อสู้กับอารมณ์ที่เป็นกิเลส ซึ่งทำปัญญาให้ถอยหลัง (นิวรณ์ ๕) จักต้องใช้สติปัญญาอย่างสูง มีความอดทนมีความเพียรเหมือนพายเรือทวนน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น คำว่าหยุดพาย หรือหยุดการต่อสู้กับอารมณ์ อย่าได้มีเพราะเรือล่มได้ฉันใด การต่อสู้ก็ท้อถอยล่มได้ฉันนั้น มาถึงระดับนี้แล้ว ถ้าขาดการอดทน อธิจิตก็จักเกิดได้ยาก

    ๑๐. แต่ห้ามทำอารมณ์ให้เครียด สู้ด้วยความเบาของอารมณ์ คือ ยึดเอาอานาปนัสสติ ไว้เป็นฐานกำลังของจิตอยู่เสมอๆ หวังว่าเจ้าเข้าใจ

    พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๔

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    ---------------------------
     
  2. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    รำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร พระอริยเจ้าผู้ไม่เกิด ไม่ตายตลอดกาล ตอน ๑

    โดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

    รำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร พระอริยเจ้าผู้ไม่เกิด ไม่ตายตลอดกาล


    ผมสังเกตว่า คนที่เกิดมาในโลกมนุษย์นี้ ส่วนใหญ่มักจะลืมของดี ๆ, คนดี, เรื่องดี ๆ กันง่าย แต่กลับจำแม่นในเรื่องเลว ๆ, คนเลว ๆ และของเลว ๆ ได้อย่างไม่ยอมลืม เจอใครก็มักจะเล่าให้ฟังอยู่เสมอ (เพราะกลัวจะลืม) เล่าแล้วเล่าอีก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประโยชน์และไร้สาระ ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลายที่ท่านสอนไว้ ในขณะที่ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ สอนแล้วสอนอีก, พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเขาซึ่งมาฟังก็ยังจำไม่ได้ หรือจำได้ไม่กี่วันก็ลืม บางคนยังไม่พ้นครึ่งชั่วโมงก็ลืมแล้ว แต่ความชั่ว-ความเลว-ความไม่ดีทั้งหลาย เช่น ข่าวคนทำชั่ว-พูดชั่ว-คิดชั่ว กลับจำแม่นไม่ยอมลืม (มีจิตยินดีด้วยกับกรรมชั่วของผู้อื่น) ยิ่งถูกใครนินทา-ว่าร้าย-กลั่นแกล้ง-ยืมเงินแล้วยังไม่ได้ใช้ด้วยแล้ว จำแม่นเป็นพิเศษ บางคนเป็นสิบ ๆ ปีแล้วก็ยังจำได้ ผมขอเล่าเรื่องจริงให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ดังนี้

    ที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลวงพ่อฤๅษี (พระราชพรหมยานมหาเถระ) ท่านจะเทศน์สอนธรรมะ โดยใช้เสียงมาตามสายทุกวัน วันละ ๔ เวลา คือ ตีสี่ (๐๔.๐๐น.), ๑๐.๐๐ น., ๑๖.๐๐ น.(พระวินัย) และ ๒๑.๐๐ น. (ธรรมะก่อนนอน) วันหนึ่งท่านถามลูกศิษย์ท่านซึ่งเป็นผู้หญิง และเคยเป็นลูกท่านในอดีตชาติ ว่าเมื่อตอนเช้ามืด (๐๔.๐๐ น.) เอ็งฟังข้าสอนหรือเปล่า เธอตอบว่าฟังค่ะ ไหนเล่าให้ข้าฟังหน่อยซิว่าข้าสอนอะไรบ้าง เธอตอบว่าลืมไปแล้วค่ะ หลวงพ่อท่านก็สอนว่า “แหมพระธรรมซึ่งมีคุณค่าสูงสุดในโลกนี้ เอ็งยังลืมได้ลืมดี หากใครมาด่าเอ็ง-นินทาเอ็ง-แกล้งเอ็ง แล้วเอ็งลืมได้เร็วอย่างนี้ก็จะดีไม่น้อย” (อ่านแล้วกรุณาเอาไปคิดพิจารณาด้วย จะเกิดประโยชน์กับตัวท่านเองมาก)

    ผมขอวกเข้าหาเรื่องของหลวงปู่บุดดาเสียที เพราะกลัวจะเผลอไปเขียนเอาเรื่องของหลวงพ่อฤๅษีแทนเข้า ผมจำได้ว่าผมเขียนเรื่อง “ หลวงปู่บุดดา ถาวโร (พระสังโฆ อัปปมาโณ) ” ไว้ในหนังสือ ๑ ศตวรรษหลวงปู่บุดดา ถาวโร (อนุสรณ์อายุ ๑๐๐ ปีของท่าน) ผมได้ข่าวว่าบทความนี้ทางวิทยุทหารอากาศเขาเอาไปออกอากาศบ่อย ๆ (ในขณะนั้น) และมีผู้ที่รวบรวมธรรมะของพระสุปฏิปันโนหลาย ๆ ท่านเพื่อพิมพ์จำหน่าย ก็เอาบทความที่ผมเขียนไปลงด้วย บางเล่มลงเกือบทั้งหมด บางเล่มก็ตัดตอนเอาบางส่วนลงก็มี มาครั้งนี้ คุณ สมใจ บัวพึ่งน้ำ ผู้ที่ยังนึกถึงคุณความดีของหลวงปู่อยู่ไม่รู้ลืม ท่านได้รวบรวมพระธรรมของหลวงปู่ที่ท่านเคยฟังจากหลวงปู่ และมาชวนผมให้ช่วยเขียนเรื่องของหลวงปู่ด้วย ผมก็ตกลง เพราะยังนึกถึงท่านทุกวัน วันละประมาณ ๒-๓ ครั้ง บางครั้งก็ได้รับคำสอนของท่านโดยตรงบ้าง โดยผ่านเพื่อนผู้ที่ปฏิบัติร่วมกันบ้าง เพราะพระที่เข้าสู่นิพพานแล้ว หากท่านมีกรรมผูกพันกับใคร เช่น เคยเป็นลูกหลานท่าน และนึกถึงท่าน ท่านก็จะมาสงเคราะห์ผู้นั้นทันที (จิตถึงจิต เพราะจิตไม่มีเวลาเป็นอกาลิโก)

    ดังนั้น การสนทนาธรรมกันกับกัลยาณมิตร, กัลยาณธรรม จึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ผมจึงได้บันทึกคำสั่งสอนของหลวงปู่ไว้ตลอดมาจนถึงปัจจุบันก็ยังบันทึกอยู่ เพราะผมถือว่า “สิ่งที่มีค่าสูงสุดในโลกคือพระธรรม ” และหลวงปู่ท่านไม่ตาย หมายความว่า “ความดีหรือพระธรรมไม่ตาย หรือจิตหรืออาทิสมานกายของท่านไม่ตาย” (กายของจิตเรียกว่า อาทิสมานกาย พระองค์ทรงเรียกว่ารูปในนาม) ความจริงแล้วจิตของทุก ๆ คนเป็นอมตะไม่เคยตาย สิ่งที่ตายคือร่างกายหรือขันธ์ ๕ ที่เรามาขออาศัยเขาอยู่ชั่วคราวเท่านั้นที่ตาย แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด ไปคิดว่าร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา หากยังหลงคิดผิดอยู่อย่างนี้ การหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน และอกุศลกรรม ก็ยังทำไม่ได้ ยังต้องเกิด-ตาย ๆ กันต่อไป

    ดังนั้นการเขียนของผม บางคนอ่านแล้วอาจจะสงสัย เพราะไม่เข้าใจธรรมะในจุดนี้ และหากสงสัยก็ควรจะได้อ่านเรื่องที่ผมเขียน
    หลวงปู่บุดดา ถาวโร (พระสังโฆ อัปปมาโณ) ก่อน จึงจะช่วยคลายความสงสัยลงได้ ผมเลือกเอาเฉพาะบางตอนที่ผมเห็นว่าสมควรจะเปิดเผยและมีประโยชน์กับผู้อ่านเท่านั้น


    : เรื่องแรก คือ “เหม็นภายนอกกับเหม็นภายใน”

    ท่านสอนลูกสาวในอดีตชาติของท่าน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ม.ค. ๓๖ เวลาประมาณ ๑๗.๔๕ น. มีความสำคัญดังนี้

    ๑. “ทุกข์บางอย่างก็ละได้ ทุกข์บางอย่างก็ละไม่ได้ ทุกข์ของกายเกิดก็ละไม่ได้ ต้องหาทางระงับ หรือดับมันไปตามเรื่องตามราว ส่วนทุกข์ของจิตนั้นละได้นะ” (เหตุเพราะขณะนั้นลูกสาวท่านกำลังนั่งขับถ่ายอยู่ ซึ่งเป็นทุกข์ของกาย)

    ๒. ท่านถามว่า ถุงเท้า-เสื้อ-ผ้าที่ใช้แล้วยังไม่ได้ซัก เหม็นไหม?

    ตอบ เหม็นค่ะ

    ท่านถามว่า แล้วขี้ เยี่ยว เหม็นไหม

    ตอบ เหม็นค่ะ

    ท่านถามว่า เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซัก กับขี้เยี่ยวที่อยู่ข้างในอันไหนเหม็นกว่ากัน

    ตอบ ข้างในเหม็นกว่าค่ะ

    ท่านถามว่า แล้วไอ้ขี้ที่อยู่ข้างนอก ตั้งแต่หัวจดเท้าลงมาเหม็นไหม แล้วซักได้ไหม

    ตอบ ซักได้ชั่วคราวค่ะ

    ท่านถามว่า แล้วร่างกายมันมีดีตรงไหน

    ตอบ ไม่มีดีเลยค่ะ

    ในเมื่อกายไม่ดีเหม็นขี้ทั้งตัว แก้ไขระงับได้ชั่วคราว โดยอาศัยความโง่ที่เราไปหลงเกาะติดกาย ทำให้เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ทุกข์ของกายอย่างนี้แก้ไขให้หายเด็ดขาดไม่ได้ จนกว่ากายจะตายไป

    ๓. ท่านถามว่า แล้วปาก-วาจาของเอ็งเหม็นไหม

    ตอบ ยังเหม็นอยู่ค่ะ

    ท่านถามว่า แล้วจิตของเอ็งเหม็นไหม

    ตอบ ยังเหม็นอยู่ค่ะ

    นั่นน่ะซิ ถ้าจิตเหม็นเสียอย่างเดียว วาจาก็เหม็นด้วย ถ้าเอ็งหมั่นชำระจิตให้หายเหม็น วาจาก็หายเหม็นได้ ส่วนกายนั้นแก้ไม่ได้ มีแต่ขี้ทั้งนั้น จิตนั้นแก้ได้ต้องแก้ที่จิต ทุกข์-สุข-เกิด-ดับ ต้องแก้ที่ตรงจิตนี้ สิ้นทุกข์-สุข รู้เกิดดับเมื่อไหร่จิตก็หายเหม็นเมื่อนั้น

    ๔. อย่ามัวแต่ท่องจำ ศีล-สมาธิ-ปัญญา ๆ ๆ แบบนกแก้วนกขุนทองนั้นแก้ไม่ได้ หากจะแก้ให้ได้จริง จะต้องรู้ว่า ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร

    ๕. แล้วไอ้ประเภทที่รู้ว่าศีล-สมาธิ-ปัญญาคืออะไร แต่ดันเอามือหรือจิตไปซุกหีบ กูไม่ทำ กูไม่เพียร ตัวเหม็นก็หายไปจากจิต-จากวาจาไม่ได้ รู้แล้วต้องหมั่นทำ หมั่นเพียรด้วย ตัวเหม็นมันจึงจักหายไปจากจิตจากวาจาได้

    : เรื่องที่ ๒

    “การวางเฉย หรืออุเบกขา หรือการปล่อยวาง”

    (๒๘ ม.ค. ๓๖ ตอนใกล้ ๐๔.๐๐ น.)

    ลูกสาวในอดีตของท่านกำลังคิดว่า ขณะนี้เรากำลังถูกคนทำคุณไสย แต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้ หากเราพบบุคคลเหล่านั้นอีก เราจะไม่ปรุงแต่งจิตของเรา แม้เขาจะมุ่งประทุษร้าย เราก็จะปล่อยวางหรือวางเฉยจะดีไหม คิดเพียงแค่นี้ หลวงปู่บุดดาท่านก็มาแล้วสอน มีความว่า

    ๑. “เฉยอย่างนั้นก็โง่นะซิ บางอย่างต้องต่อสู้ แก้ได้ต้องแก้ไป ไม่ใช่เขาใช้ให้ไปตายก็ยอมไปตายแหงแก๋ สิ่งที่ให้วางเฉยก็คือ กิเลสที่มากระทบอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวธรรมล้วน ๆ คือ ไม่ปรุงแต่งในธรรมที่เข้ามากระทบสัมผัสนั้น ๆ เช่น ใครคิดร้ายต่อเราก็ช่างเขา แต่ถ้าถึงขั้นเอาไม้หวดตีกายเรา ถ้าเรารู้จักเมตตาตัวเองก็ต้องหลบซิ เพราะถ้าให้เขาตีกายเรา จิตเราอาศัยมันอยู่ก็ต้องเจ็บไปด้วย แต่ถ้าเขาแค่คิดยังไม่ได้ทำ ก็กรรมของเขา เขาทำแล้วเราหลบ เราแก้ไข ไม่ได้ต่อกร ก็กรรมของเขาอีกนั่นแหละ มันคนละกรรมกัน อย่าไปยุ่งให้จิตวุ่นวาย

    ๒. “กรรมใครกรรมมันนะอย่าลืม ใครเขาอยากจะตีให้เขาตีไป เราหลบได้เราหลบ หลบอยู่ในธรรม” ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวมีตน หลบพ้นนะลูก ถ้าหลบไม่พ้นก็ให้รับอย่างพระโมคคัลลานะ รับอย่างคนฉลาด อย่ารับอย่างโง่ ๆ รับแล้วไปนิพพาน คือ รับด้วยจิตผ่องใสบริสุทธิ์ ไม่ใช่รับด้วยความขัดข้องหมองใจ จิตไม่บริสุทธิ์ การไปของจิตก็บริสุทธิ์ไม่ได้ อย่ารับอย่างคนโง่เพราะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป

    ๓. “เรามันประกาศตัวเป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องเชื่อท่านซิ ” เชื่อพระพุทธ-พระธรรม-พระอริยสงฆ์ ท่านว่าอย่างไร เราก็ว่าอย่างนั้นจึงจะได้ดี จึงจะไปพระนิพพานได้ตามท่าน


    รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๒ ตอนรำลึกถึงหลวงปู่บุดดา ถาวโร

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    ----------------------
     
  3. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    ให้ตามรู้อารมณ์ไปตลอด คิดชั่วก็รู้ คิดดีก็รู้

    พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

    -------------------------

    อารมณ์ใจร้อนเป็นปฏิฆะกับการบรรลุของพระอานนท์

    เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ พ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ ไว้ดังนี้

    ๑. "อย่าฝืนอารมณ์ของจิต ให้ตามรู้อารมณ์ไปตลอด คิดชั่วก็รู้ คิดดีก็รู้ ให้ตามแก้ไขอารมณ์ชั่วที่ถูกกิเลสครอบงำด้วยกรรมฐานแก้จริตหากคิดดีอยู่แล้วก็หาทางส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น อย่างที่เจ้าทำเมื่อเย็นนี้นั้นถูกต้องแล้ว แม้ผลจักยังไม่ทรงตัวเท่าที่ควร ก็ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ อย่าท้อถอย"

    ๒. "การเข้าสู่สัจธรรมอยู่เสมอ ๆ นั้นเป็นของดี เพราะจักทำให้จิตยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ค่อยๆ ทำไปอย่าใจร้อน ทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีเป้าหมาย ดีกว่าใจร้อนทำไปด้วยอารมณ์ตัณหาทะยานอยาก หวังมรรคผลจนเกิดความเศร้าหมองแห่งจิต ทำเช่นนั้นไม่สมควร"

    ๓. "ให้ใจเย็นเข้าไว้ เป็นการฝึกสมาธิจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบเยือกเย็น เป็นการละได้จากอารมณ์ใจร้อน ซึ่งเป็นปฏิฆะตัวหนึ่งเช่นกัน ถ้าหากเจ้ารักษาอารมณ์ใจไปอย่างนี้เรื่อย ๆ อารมณ์ใจร้อนก็จักคลายลงไป ขอให้ดูท่านพระอานนท์เป็นตัวอย่าง ที่ท่านเคร่งเครียดรีบเร่ง จักให้มรรคผลบังเกิดขึ้นฉับพลัน ตลอดคืนยันรุ่งก็ไม่บรรลุ พออารมณ์เย็นลง ความเครียดผ่อนคลาย จิตเริ่มมีความสบาย ตั้งใจจักเอนกายลงพักผ่อน ก็บรรลุพระอรหันต์ที่ตรงนั้นเอง"

    ๔. "ที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เจ้าได้เข้าใจถึงสภาพจิตในจิต ต้องอาศัยหลักมัชฌิมาปฏิปทา เป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ของจิต ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ทำให้พอสบาย ๆ ใจเย็น ๆ เกี่ยวกับมรรคผลไปเรื่อย ๆ ก็จักถึงจุดหมายปลาทางได้เอง"

    ๕. "อย่าลืม เจ้าไม่ใช่บุคคลประเภท อุคคติตัญญู จักใจร้อนให้บรรลุมรรคผลเร็วมิได้ แม้อุคคติตัญญู การบรรลุมรรคผลก็มิใช่ได้เพราะความใจร้อน อาศัยบารมีธรรมที่บำเพ็ญมาเต็มแล้วแต่กาลก่อน จึงบรรลุได้เร็วตามนั้น"

    ๖. "พวกเจ้าเป็น วิปจิตัญญู ก็พึงจักต้องศึกษาและปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนก่อน อีกทั้งมีการเวียนว่ายตายเกิดมานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วนเยี่ยงนี้ จู่ ๆ จักให้เคาะกิเลสหลุดไปได้อย่างฉับพลัน ย่อมเป็นการยาก เพราะฉะนั้น จักต้องใจเย็น ๆ แต่มิใช่เย็นแบบมีความประมาทในชีวิต จักต้องคิดถึงความตาย ควบกับความเพียรในความใจเย็นอยู่เสมอ อุปสมานุสสติ กายคตานุสสติ ควบอสุภกรรมฐานตั้งมั่น ควบคู่กับอานาปานัสสติ ไว้เสมอ กันความไม่ประมาทในชีวิต จิตสงบยอมรับความเป็นจริงในกฎของกรรมหรืออริยสัจ แล้วก็ปฏิบัติไปตามแนวคำสั่งสอนโดยไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่งข้างหน้า ก็ย่อมจักถึงจุดหมายปลายทางได้"

    ๗. "อนึ่ง การคิดถึงหนทางระงับอารมณ์ปฏิฆะโดยเอาจิตตนเองเป็นเครื่องวัดว่า ถ้าใครด่าเรา นินทาเรา เราไม่ชอบใจแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ควรด่าใคร นินทาใคร เราไม่ชอบให้ใครมาแสดงอารมณ์โกรธ เราก็ไม่ควรที่จักแสดงอารมณ์โกรธเขา นั่นเป็นการคิดตามคำสั่งสอนของตถาคต ที่ท่านฤๅษีนำมากล่าวในพรหมวิหาร ๔ กรณีนี้เป็นการที่ถูกต้อง เจ้าควรจักคิดทบทวนอยู่เสมอ ๆ ซ้ำ ๆ จิตจักยอมรับตามความเป็นจริง เห็นโทษของอารมณ์โกรธ เพราะจักเป็นเหยื่อของอบายภูมิได้โดยง่าย"

    ๘. "จุดนี้ ขอให้คิดถึงท่านฤๅษีสอนในเทป โทษละเมิดพระธรรมวินัยที่กบิลภิกษุเมื่อขึ้นจากอเวจีมหานรก มาเกิดเป็นปลาเกล็ดสีทอง ต้องตายลงเพราะอารมณ์ปฏิฆะและโทสะ น้อยใจในกฎของกรรม มีความคับแค้นใจในกรรมที่ตนทำมาในอดีต จึงเอาศีรษะฟาดเรือตายไปอเวจีมหานรกก็ด้วยอารมณ์นี้ พวกเจ้าก็จักสามารถศึกษาโทษแห่งอารมณ์โทสะ-โมหะ-ราคะได้จากพระสูตรต่าง ๆ เพราะล้วนแล้วแต่มีตัวอย่างให้ดูมาแล้วทั้งสิ้น ถ้าหากเข้าใจถึงโทษแห่งอารมณ์นั้น ๆ จิตก็จักคลายจากการเกาะติดอารมณ์นั้น ๆ ลงได้ เสมือนหนึ่งบุคคลผู้หลงดื่มยาพิษมานาน พอรู้จริงว่านี่คือยาพิษ อันทำให้เราตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เขาก็จักไม่ยอมหลงดื่มยาพิษนั้นอีกต่อไป ข้อนี้อุปมาฉันใด จิตของผู้รู้จริงก็จักเป็นฉันนั้น ขอให้ใช้ปัญญาศึกษากันให้ดีๆ จักปล่อยวางอารมณ์ที่เสมือนหนึ่งยาพิษที่ฆ่าตัวให้ตายได้"

    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖ ตอนอารมณ์ใจร้อนเป็นปฏิฆะกับการบรรลุของพระอานนท์

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    -------------------------
     
  4. คนหลงเงา2

    คนหลงเงา2 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มิถุนายน 2016
    โพสต์:
    83
    ค่าพลัง:
    +57
    ศีลและปัญญา เท่านั้นเป็นเลิศในโลก


    สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงตรัสไว้ดังนี้

    ๑. ปัญญาอบรมศีลให้บริสุทธิ์ ศีลอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์ ศีลต้องอาศัยปัญญา ปัญญาต้องอาศัยศีล ศีลและปัญญาเป็นของคู่กัน ศีลและปัญญาเท่านั้นเป็นเลิศในโลก

    ๒. “ปัญญาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นโดยการถาม (ปุจฉา) ตอบ (วิสัชนา) ภายในใจของตน (อย่าไปยุ่งกับกายและใจของผู้อื่น) โดยใช้หลักอริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา (ทั้งทางโลกและทางธรรม) อริยสัจ แปลว่าความจริงที่พระองค์ทรงพบด้วยพระองค์เอง เมื่อพบความจริงแล้ว ให้ยอมรับนับถือความจริงนั้น ๆ อย่างจริงใจและด้วยความเคารพ หมายถึงให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย เพราะจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด “พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ และพระสาวกของพระองค์ทุกองค์ต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจทั้งสิ้น มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ”

    ๓. พระพุทธองค์ทรงตรัสยกย่องศีลไว้มากมาย ดังตัวอย่างเช่น

    ๓.๑ ศีลเป็นมารดา (แม่) ของพระพุทธศาสนา

    ๓.๒ ศีลเป็นมารดา (แม่) ของพระธรรม

    ๓.๓ ศีลเป็นรากฐานที่จะรองรับพระธรรมในพุทธศาสนา

    ๓.๔ การบวชเป็นพระภิกษุ จะต้องรับศีลจากพระอุปัชฌาย์ก่อนทุกองค์ แม้พวกอุบาสก-อุบาสิกาจะเข้าสู่พระพุทธศาสนา พระท่านก็ให้ศีลก่อนทั้งสิ้น

    ๓.๕ การปฏิบัติพระกรรมฐาน และพิธีกรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาก็ต้องอาราธนาศีลก่อนทั้งสิ้น

    ๓.๖ ในพระไตรปิฎก ก็เริ่มต้นด้วยศีล ( คือ พระวินัยมีรายละเอียดอยู่มากถึง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์)

    ๔. เรื่องขอศีลที่หลวงพ่อฤๅษี (พระราชพรหมยานมหาเถระ) ท่านสอนลูกศิษย์ไว้มาก ซึ่งพิมพ์ลงในหนังสือธัมมวิโมกข์หลายเล่ม หลายตอน จะขอรวบรวมไว้ในตอนหลัง

    ๕. ตัวอย่างที่ทรงเน้นถึงความสำคัญของศีลในพระสูตร

    ก) เรื่องโจร ๕๐๐ มีความโดยย่อดังนี้

    โจร ๕๐๐ ปล้นฆ่าเป็นอาจิณ หนีการตามจับของทางการมาเจอพระรูปหนึ่งกำลังจงกรมอยู่ในป่า ก็เข้าไปขอพระรูปนั้นเป็นที่พึ่ง เพราะพวกตนกำลังถูกตามฆ่าจากทางการ พระรูปนั้นกล่าวว่า “ที่พึ่งอื่นใดนั้นไม่มี ที่จะพึ่งได้นั้นมีแต่ศีลเท่านั้น” เมื่อพวกโจรเกิดศรัทธา คือ เชื่อท่านโดยยอมปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ ท่านก็ให้ศีลและเน้นความสำคัญว่า “จงรักษาศีลด้วยชีวิต แม้ตัวจะตายก็จงอย่าคิดละเมิดศีล” คือท่านเน้นศีลชั้นละเอียดถึงมโนกรรมก็ต้องบริสุทธิ์ ที่สุดโจร ๕๐๐ ก็ถูกจับและถูกฆ่าตายหมด โจรทั้ง ๕๐๐ ไม่แม้แต่จะต่อสู้ ไม่ร้องขอชีวิต จิตไม่คิดอาฆาต-พยาบาท และจองเวรแต่อย่างใด เมื่อกายตายจิตก็ไปจุติ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวโลก เพราะอานิสงฆ์ของศีล ตั้งใจรักษาศีลอย่างเคร่งครัดในพุทธันดรนี้ เทวดาทั้ง ๕๐๐ องค์ ก็ลงมาเกิดเป็นลูกชาวประมงได้พบพระสารีบุตร เกิดศรัทธาขอบวชกับท่าน และในที่สุดก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ องค์

    ข) เรื่อง พระนางสามาวดีและคณะ ๕๐๐ มีความโดยย่อที่เกี่ยวกับศีลดังนี้

    พระนางสามาวดีและบริวาร ๕๐๐ ได้ฟังเทศน์จาก นางขุดฉุตรา ซึ่งเป็นพระโสดาบัน เพราะได้ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเพียงครั้งเดียว ก็บรรลุมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อนางมาเทศน์ให้พระนางสามาวดีและบริวารอีก ๕๐๐ ฟัง ฟังเพียงครั้งเดียวก็มีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันทั้งหมด เมื่อกรรมที่เป็นอกุศลให้ผลกับพระนางและคณะ ถูกพระนางมาคัณทิยากับญาติวางแผนวางเพลิงพระตำหนักที่พัก โดยปิดทางออกไว้ทั้งหมด จนถูกไฟครอกตายทั้งหมด ก่อนจะตายพระนางสามาวดีสั่งให้บริวารทั้งหมดทำจิตให้สงบและบริสุทธิ์ถึงขั้นมโนกรรม คือ ให้อภัยทาน-ไม่โกรธ-ไม่พยาบาท อาฆาตและจองเวรในพระนางมาคัณทิยาและญาติแต่อย่างใด เมื่อกายตายจิตก็ไปจุติ ณ สวรรค์ ทุกคน

    : วิจารณ์ หรือธัมมวิจยะ เรื่องโจร ๕๐๐

    ก) ก่อนจะตายมีมรณานุสสติ และยอมรับว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องตาย แต่ขอตายอย่างผู้มีปัญญา (ฉลาด) คือ เอาศีลเป็นที่พึ่ง (ศีล คือพระธรรมหรือเป็นมารดาของพระธรรมในพุทธศาสนา)

    ข) จิตมั่นคงในพระรัตนตรัย ไม่สงสัยในพระธรรม (ศีล) และคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

    ค) มีศีล ๕ บริสุทธิ์ ขั้นมโนกรรม ซึ่งเป็นศีลขั้นที่ ๓



    ศีลมี ๓ ขั้น

    ขั้นที่ ๑ ไม่เอากายไปกระทำผิดศีล พวกนี้ตายแล้วไม่ตกนรก แต่ยังต้องเกิดอีก ๗ ชาติ จึงจะไปพระนิพพานได้

    ขั้นที่ ๒ ปากไม่พูดให้ผู้อื่นกระทำผิดศีลเพื่อตน ตายแล้วต้องเกิดอีก ๓ ชาติ จึงจะไปพระนิพพานได้

    ขั้นที่ ๓ จิตไม่ยินดีด้วยเมื่อเห็นผู้อื่นกระทำผิดศีล ตายแล้วต้องเกิดอีก ๑ ชาติ จึงจะไปพระนิพพานได้

    ผล โจรทั้ง ๕๐๐ จึงไม่ตกนรก เพราะมีศีลละเอียดขั้นที่ ๓ เทียบเท่ากับพระโสดาบันขั้นที่ ๓ หรือขั้นละเอียด หรือเป็นพระสกิทาคามี เมื่อลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพียงชาติเดียวก็พบพระสารีบุตร ขอบวช ฟังเทศน์จากพระสารีบุตร ก็จบกิจในพุทธศาสนาเป็นพระอรหันต์ทุกองค์



    เรื่อง พระนางสามาวดี และคณะ ๕๐๐ ก็เช่นกัน

    ทุกท่านเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว แต่ก่อนตายทุกท่านก็ยอมรับความจริงเรื่องคนเราเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีความตายไปได้ จิตของทุกท่านมั่นคงในพระรัตนตรัย ศีล ๕ ข้อของทุกท่านเต็มขั้นมโนกรรมทุกท่าน ทุกท่านให้อภัยทานแก่ผู้ที่มาปองร้ายหมายเอาชีวิตโดยการใช้ไฟครอกให้ตาย จิตทุกท่านไม่โกรธ ไม่พยาบาท อาฆาตและจองเวรแต่อย่างใด เมื่อกายตายจิตจึงไปจุติ ณ แดนสวรรค์ ซึ่ง มิได้กล่าวไว้ชัดว่าชั้นใด แต่ความดีขนาดนี้ ควรจะไปชั้นสูง ๆ อย่างแน่นอน ธัมมวิจยะ หรือการยกธรรมะขึ้นมาพิจารณาเป็นตัวทำให้เกิดปัญญา หากใครไม่ปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงชี้แนะ ปัญญาก็ไม่เกิด

    ๖. พระองค์ทรงตรัสเรื่องมูลเหตุของศีล ได้ดังนี้

    ๖.๑ " ศีลทุกข้อมีมูลเหตุ คือ การมีกิเลส การเกิดกิเลสของแต่ละประเภท ทำให้จิตที่ถูกครอบงำแล้วเกิดอุปาทาน ทำไปตามกิเลสนั้น สร้างกรรมให้เกิดไปตามกิเลส ไม่ว่าทางมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม "

    ๖.๒ " จงจำไว้ว่า กรรมที่เกิดแม้แต่มโนกรรมก็เป็นกรรม ผู้ที่บริสุทธิ์จะบริสุทธิ์แม้แต่มโนกรรม มโนกรรมนั้นจะไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนแม้แต่ตนเอง จึงไม่มีทางจะเบียดเบียนผู้อื่นได้เลย "

    ๖.๓ " เมื่อกิเลสทำให้เกิดอาบัติ การบัญญัติศีลจึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำซึ่งอาบัตินั้น ศีลจึงเป็นข้อห้ามที่ตถาคตห้ามไม่ให้สาวกของตถาคตทำชั่วในอาบัตินั้น ๆ "

    ๖.๔ " การไม่ละเมิดศีล แต่ไม่ได้เจตนารักษาศีล ก็ไม่ได้ชื่อว่ามีศีล ดูตัวอย่างท่านอนันทเศรษฐี ศีลไม่ละเมิด แต่ไม่ได้รักษาศีล ทานก็ไม่ให้ ท่านไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่มุสา ไม่ดื่มสุราเมรัย กรรมชั่วไม่ได้ทำ ก็เลยไม่ตกนรก แต่ในขณะเดียวกัน ไม่รักษาศีล ไม่ให้ทาน จึงไม่มีกรรมดี ทำให้ไม่มีอานิสงส์ที่จะนำไปเกิดยังสวรรค์ได้ ลงท้ายก็ต้องไปเกิดเป็นคนที่ไม่มีบุญ ไม่มีทาน ไม่มีศีล คนที่ไม่มีบุญก็ไปสู่สถานที่คือกลุ่มขอทาน ไม่มีทานก็ทำให้ไม่ได้รับทานคือการให้ เพียงเข้าปฏิสนธิในครรภ์มารดาเท่านั้น มารดาและคนกลุ่มนั้นพลอยไม่มีใครให้ทานด้วย ความที่เป็นคนไม่มีศีล พอเกิดมารูปจึงไม่สวย มีสภาพเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น "

    ๖.๕ "คนที่รู้ศีล แต่ไม่ยอมรักษาศีล ก็ไม่ต่างจากคนที่ไม่ละเมิดศีล แต่ไม่รักษาศีล"

    ทรงตรัสถาม ปุจฉา “แล้วตถาคตบัญญัติศีลเพื่อใคร”

    วิสัชนา ก่อนจะตอบ ผู้ตอบนึกถึงท่านพระสุรจิต (ท่านพระครูสังฆรักษ์ สุรจิต สุรจิตโต) ซึ่งเคยพูดเรื่องนี้ไว้ในอดีต มีความว่า ครั้งหนึ่งมีพระรูปหนึ่งมาปรารภให้ฟังว่า ท่านรู้สึกรังเกียจพระบางรูปในวัดที่ไม่ยอมรักษาศีล ท่านพระสุรจิตก็แนะนำว่า

    ก) “พระพุทธเจ้าบัญญัติศีลเพื่อตัวเราเอง มิใช่เพื่อผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าผู้ใดประพฤติ-ปฏิบัติในศีลได้ อานิสงส์ของศีลย่อมได้กับตัวเอง คือ ผู้ประพฤติ-ปฏิบัตินั้น ๆ”

    ข) “ศีลย่อมเป็นของตัวเราผู้ทำศีลให้ปรากฏแก่กาย วาจา ใจ ของตนเอง จึงได้ชื่อว่าศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติก็เพื่อตัวเราเอง จึงมิใช่บัญญัติเพื่อผู้อื่น”

    ค) “ในเมื่อคนอื่นเขาไม่เอาศีล เราจึงไม่มีอำนาจบังคับให้คนอื่นเขาปฏิบัติศีลได้ ” การนึกก็คือการตอบ (วิสัชนา) นั่นเอง

    ๖.๖ “ทรงตรัสสอนเพิ่มเติมว่า”

    ก) “อันนี้หมายถึง ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตนด้วย และหมายถึงไม่เพ่งโทษบุคคลอื่นด้วย และไม่สนใจในจริยาของผู้อื่นด้วย”

    ข) “ดังนั้นบุคคลที่เจริญแล้ว ย่อมจะทำความเจริญในศีลให้เกิดแก่กาย-วาจา-ใจของตนเองเท่านั้น เป็นหลักสำคัญเบื้องต้น เพราะศีลปฏิบัตินั่นแหละจะนำไปซึ่งการตัดกิเลสที่ครอบงำจิต ไม่ปาณาติบาต ก็ตัดโทสะ ไม่ลักทรัพย์ ก็ตัดโลภะ ไม่กาเม ก็ตัดกาม ราคะ ดังนี้เป็นต้น”

    ค) “ศีลจึงมีอานิสงส์มาก ธรรมของตถาคตจึงมีเหตุมีผลประกอบกันอยู่เสมอ และทุก ๆ บทธรรมเป็นพุทธบัญญัติ คือ สมมุติบัญญัติขึ้นมาให้พุทธสาวกผู้รับฟัง ฟังแล้วนำไปเป็นเหตุ เป็นผลปฏิบัติให้เกิดมรรคเกิดผลได้ตามบัญญัตินั้น ๆ”

    รวบรวม โดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

    ข้อมูลจาก

    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๒ ศีลและปัญญาเท่านั้นเป็นเลิศในโลก

    ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่าน

    --------------------
     

แชร์หน้านี้

Loading...