"โทษประหารชีวิตของญี่ปุ่น"

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย PalmPlamnaraks, 26 มิถุนายน 2005.

  1. PalmPlamnaraks

    PalmPlamnaraks เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มกราคม 2005
    โพสต์:
    764
    ค่าพลัง:
    +5,790
    "โทษประหารชีวิตของญี่ปุ่น"

    อาหารสมอง วีรกร ตรีเศศ Varakorn@dpu.ac.th มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1295

    การประหารชีวิตเป็นเรื่องน่ากลัวและสยดสยองของมนุษย์มาแต่โบราณกาล ในปัจจุบันความคิดในเรื่องการมีโทษประหารของแต่ละประเทศแตกต่างกัน หลายประเทศได้ประกาศยกเลิก หรือไม่นำมาปฏิบัติ บางประเทศก็ยังประหารชีวิตนักโทษอย่างเมามัน ประเทศหนึ่งที่ลึกลับในเรื่องนี้เอามากๆ ก็คือ ญี่ปุ่น

    โทษประหารชีวิตในภาษาอังกฤษ คือ capital punishment (คำว่า capital มีรากมาจากภาษาละติน คือ caput ซึ่งหมายถึง head เนื่องจากสมัยก่อนใช้วิธีตัดหัวหรือ decapitation) หรือ death penalty

    วิธีการประหารชีวิตก็ "พัฒนาการ" ขึ้นเป็นลำดับ ในอดีตมีตั้งแต่บีบคอ เผา, ต้ม (ขาดแต่นึ่ง), ฝัง, ตัดหัว, ผ่าท้อง, จับกดน้ำ, ทุบด้วยท่อนไม้, ไฟฟ้าช็อร์ต, ฉีดยา ฯลฯ

    วิธีประหารที่มีการกล่าวถึงกันว่าโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตะวันตกก็คือใน ค.ศ.1757 ในฝรั่งเศส Robert-Francois Damiens พยายามลอบปลงพระชนม์พระเจ้า Louis ที่ 15 แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกประหารโดยเผามือที่ได้ใช้ประทุษร้ายพร้อมอาวุธและเอามีดกรีดทั่วร่าง เอาตะกั่ว หลอมเหลวและของเหลวที่เดือดๆ ราดลงไปบนแผล จากนั้นก็ใช้ม้า 4 ตัว วิ่งไปคนละทางฉีกร่างออกเป็นส่วน ๆ (วิธีนี้จึงเรียกว่า Quartering) และเอาเศษอวัยวะ (ถ้ายังมีเหลือ) มาเผา

    ในฝรั่งเศสวิธีการประหารโหดร้ายที่สุดใช้กับคนที่อยู่ในชั้นต่ำสุดของสังคม ชนชั้นขุนนาง หรือเศรษฐีเจ้าที่ดินจะถูกประหารอย่างไม่เจ็บปวดและอย่างมีศักดิ์ศรี โดยทั่วไปใช้ขวานอันใหญ่บั่นคอ ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ทาส ชาวนา จะถูกประหารในที่สาธารณะอย่างเจ็บปวดด้วยการแขวนคอ หรือใช้ล้อขันเชือกดึงอวัยวะให้ฉีกขาดจากร่างกาย เมื่อมีการปฏิวัติในฝรั่งเศสใน ค.ศ.1789 ทุกคนก็ เท่าเทียมกันหมดโดยการตัดคอด้วยกิลโยติน

    โทษประหารเป็นสิ่งอื้อฉาวที่มนุษย์ถกเถียงกันมายาวนานว่าสมควรมีหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่น่าฟัง จนปัจจุบันก็ยังไม่มีความเห็นที่ตรงกันแม้แต่ในสังคมเดียวกัน

    มนุษย์ในประวัติศาสตร์ ตระหนักดีถึงความโหดร้าย และข้อเสียของการประหารชีวิต บุคคลที่โลกจารึกไว้ว่าเป็นผู้ปกครองหัวก้าวหน้าและมีความเป็นมนุษย์สูงยิ่งก็คือ Grand Duke Leopold II แห่ง Habsburg (ซึ่งต่อมาเป็น Emperor of Austria) ผู้ปกครอง Tuscany ซึ่งเคยเป็นรัฐอิสระ (ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอิตาลีเช่นในปัจจุบัน) จนถือได้ว่า Tuscany เป็นรัฐแรกของโลกที่ไม่ให้มีโทษประหารตั้งแต่ ค.ศ.1786

    สถิติในรายงานประจำปี 2004 ของ Amnesty International ระบุว่าในปี 2004 มีการประหารชีวิต 3,797 ราย ใน 25 ประเทศทั่วโลก โดยจีนมีการประหารชีวิตมากที่สุดถึง 3,400 ราย (ระหว่างปี 1990 ถึง 2001 จีนประหารชีวิตไป 20,000 ราย) อิหร่าน 159, เวียดนาม 64, สหรัฐอเมริกา 59, ซาอุดีอาระะเบีย 33, ปากีสถาน 15, คูเวต 9, บังกลาเทศ 7, อียิปต์ 6, สิงคโปร์ 6, เยเมน 6, เบลารุส 5 (ไทยมีนักโทษรอประหารอยู่ในปัจจุบันเกือบ 1,000 คน)

    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลึกลับมากในเรื่องการประหารชีวิต ถึงแม้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีโทษประหารเหมือนสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบัน ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเกือบทั้งหมดไม่มีโทษประหาร ประเทศเหล่านี้ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกือบทั้งหมดของยุโรป (EU มีเงื่อนไขบังคับว่าประเทศที่เป็นสมาชิกต้องไม่มีโทษประหารชีวิตหรือถึงมีกฎหมายก็ต้องไม่นำมาใช้) และหลายประเทศในอเมริกาใต้

    สรุปว่าถ้านับทั้งโลก 89 ประเทศไม่มีโทษประหาร 28 ประเทศ ถึงมีโทษประหารแต่ก็ไม่มีการประหารในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และ 9 ประเทศระบุว่าโทษประหารใช้เฉพาะกรณีพิเศษจริงๆ

    ประเทศประชาธิปไตยในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น, ไทย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, ไต้หวัน ยังคงมีโทษประหารชีวิต (ไต้หวันกำลังอยู่ในกระบวนการยกเลิกโทษประหารชีวิต)

    ข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวเสาะหามาได้จากญี่ปุ่นชี้ว่าการประหารชีวิตนักโทษไม่มีการบอกกล่าวก่อน บอกเดี๋ยวนั้นก็ประหารเลยและไม่บอกญาติพี่น้องก่อนประหารด้วย ไม่มีการให้ข่าวหรือแถลงข่าวอย่างเป็นทางการแก่สื่อแต่อย่างใดทั้งสิ้น ไม่มีสื่อหรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาที่เคยร่วมเป็นพยาน ทุกอย่างดำเนินไปอย่างลึกลับดำมืด โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดกล้าให้ข่าวหรือเล่าว่าประหารชีวิตกันอย่างไร ปัจจุบันที่รู้ก็เพราะมีข้าราชการคนกล้าจากสำนักงานอัยการชื่อ Tamaki Mitsui ออกมาให้ข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้

    Mitsui เล่าว่าข้าราชการที่เป็นพยานการประหารชีวิตถูกบังคับโดยกฎหมายไม่ให้เปิดเผยสิ่งที่เห็น (การเปิดเผยครั้งนี้มีส่วนทำให้เขาเจ็บตัวในเวลาต่อมาด้วยข้อหารับสินบน) เขากล่าวว่าโลกควรจะรู้ว่าเขาประหารชีวิตนักโทษญี่ปุ่นกันอย่างทารุณอย่างไร นักโทษที่ Mitsui ไปเป็นพยานการประหาร (ณ เมืองนาโกยา 1 ใน 7 แห่งของสถานที่ประหารของญี่ปุ่น) คือหัวหน้าแก๊งโจรที่ฆ่า 3 ศพ เขาเล่าว่ามีข้าราชการ 4 คนเป็นพยานนั่งเป็นแถวอยู่หลังกระจกใสที่กั้นขึ้นไปจนติดเพดาน มองทะลุออกไปคือสถานที่ประหารซึ่งเป็นห้องว่างโล่ง ไฟสว่าง กำแพงทาสีขาว มีพื้นที่ประมาณ 18 ตารางฟุต (เกือบ 2 ตารางเมตร) พื้นเป็นไม้ไซปรัสของญี่ปุ่น

    จากเพดานมีเชือกเป็นห่วงสำหรับผูกคอห้อยลงมายาว มีเสียงสวดเบาๆ จากเทปของ เมื่อถึงเวลาฝาที่เป็นประตูก็จะหมุนเปิดออก การ์ดสองคนนำนักโทษที่มีผ้าปิดตา มือสองข้างมัดไขว้หลัง เท้าเปล่าและอยู่ในชุดผ้าฝ้ายขาวเดินเข้ามา และให้ไปยืนตรงกลางห้องที่มีกากะบาด การ์ดคนหนึ่งเอาห่วงเชือกคล้องคอ นักโทษดูจะอยู่ในสภาพจิตที่สงบ การ์ดถอยออกไป ทิ้งให้ยืนอยู่ในห้องพร้อมห่วงคล้องคอคนเดียว

    ทันใดนั้นพื้นไม้ที่นักโทษยืนอยู่ก็เปิดออกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ตัวนักโทษตกหายลงไปในประตูกลนั้น เชือกที่สวมคออยู่ถูกดึงให้ตึงขึ้นมาทันที คอของนักโทษหักในบัดดล ตัวของเขาห้อยต่องแต่งอยู่ในห้องข้างล่าง (ผู้ประหาร 5 คน กดสวิตซ์ไฟพร้อมกันโดยอันที่เป็นของจริงมีอยู่เพียง 1 อัน ไม่มีใครรู้ว่าสวิตซ์ตัวใดเป็นของจริงที่ทำให้พื้นเปิดทั้งนี้เพื่อลดความเครียดของเจ้าหน้าที่ประหาร)

    Mitsui มั่นใจว่านักโทษตายแล้ว แต่ก็แปลกใจที่ไม่มีการลดหรือตัดเชือกให้ร่างเคลื่อน ลงสู่พื้น เมื่อถามก็ได้คำตอบว่ากฎหมายญี่ปุ่นบังคับให้ห้อยอยู่เช่นนั้นไม่ต่ำกว่า 5 นาที เวลาผ่านไป 30 นาที เขาจึงได้ลงไปดูศพของนักโทษ และเห็นว่าศพนอนอยู่บนพื้นคอนกรีตธรรมดาอย่างไม่พิถีพิถัน ศพถูกพลิกให้ดูว่าไม่มีรอยฟกซ้ำบนร่างกายยกเว้นที่คอเท่านั้น

    คำถามก็คือ ทำไมทุกอย่างจึงลึกลับดำมืดถึงแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะสนับสนุนการมีโทษประหารชีวิตมากว่าคนอเมริกัน และการแขวนคอก็ไม่ใช่เรื่องที่สังคมญี่ปุ่นสนใจนัก (ญี่ปุ่นใช้โทษแขวนคอแทนตัดคอตั้งแต่สมัยเมจิ ใน ค.ศ.1873)

    ค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นเห็นว่าการตายเช่นนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย ซึ่งต่างจากการฆ่าตัวตาย (ฮาราคีรี) ซึ่งเป็นหนทางของการรักษาเกียรติตนเองจึงทำให้ไม่อยากให้ความสำคัญแก่การประหารชีวิต จนทุกอย่างเป็นเรื่องดำมืด ?

    เครื่องเคียงอาหารสมอง

    มีข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

    ๐ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนเป็นคนมีค่าก็คือ ความรู้ในการทำบัญชี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่คนไทยในสมัยนั้นไม่รู้จัก ความรู้ของฟอลคอนในเรื่องนี้ทำให้การดูแลผลประโยชน์ของพระคลังข้างที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไม่เคยมีมาก่อน

    ๐ หรือ Phi หรือฟี เป็นเลขมหัศจรรย์ ในหลายลักษณะ ๐ มีค่าเท่ากับ (1 + )/ 2 หรือ 1.6180339887...ในด้านความงามพบว่า สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านยาวเท่ากับ 1.618 และด้านกว้างเท่ากับ 1 จะมีความงามอย่างเหมาะสมกว่าสัดส่วนอื่นๆ ตัวเลข 1.618 นี้ยังเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พีระมิดในอียิปต์ ดนตรีของ Mozart จำนวนเกลียวตาสัปปะรด ฯลฯ

    ๐ ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเก้าอี้ไฟฟ้า ในทศวรรษ 1880 เพื่อเอาไว้ประหารชีวิตคือ Thomas Edison นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

    ๐ เชื่อกันว่ามนุษย์กินหมากกันมาไม่ต่ำกว่า 1,600 ถึง 2,000 ปีแล้ว ปัจจุบันประชากรไม่ต่ำกว่า 600 ล้านคน หรือร้อยละ 10 ของประชากรโลกกินหมากกันเป็นอาจิน ไม่ว่าในอินเดีย, พม่า, คนจีนใต้หวัน, เนปาล, ศรีลังกา, ปากีสถาน, ไทย, เวียดนาม, ปาปัวนิวกีเนีย, ลาว, มาเลเซีย, อินโดนีเชีย, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ

    น้ำจิ้มอาหารสมอง

    To be content with what we possess is the greatest of all riches.

    (จาก San Francisco Museum of Arts)

    การพอใจในสิ่งที่เรามีคือ สุดยอดแห่งความร่ำรวย



    ที่มา www.nidambe11.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...