เรื่องเด่น โลกมีวงจรทางธรณีวิทยาคล้ายกับชีพจรของมนุษย์ ขยับเต้นตึกตักทุก 27.5 ล้านปี

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 27 มิถุนายน 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    e0b887e0b888e0b8a3e0b897e0b8b2e0b887e0b898e0b8a3e0b893e0b8b5e0b8a7e0b8b4e0b897e0b8a2e0b8b2e0b884.jpg

    ที่มาของภาพ, Getty Images



    นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวัฏจักรการเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ และวงจรความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาครั้งรุนแรงของโลก ซึ่งอุบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดช่วงเวลาอย่างน้อย 260 ล้านปีที่ผ่านมา โดยวงจรนี้มีลักษณะคล้ายกับชีพจรหรือจังหวะการเต้นของหัวใจมนุษย์อย่างมาก


    “ชีพจรโลก” ที่ว่านี้ จะเกิดความเคลื่อนไหวเหมือนหัวใจที่ขยับเต้นตึกตักทุก 27.5 ล้านปี ซึ่งตัวเลขนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยาที่มองย้อนไปในอดีตหลายร้อยล้านปีด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ จนพบว่าเหตุการณ์รุนแรงขนาดใหญ่เช่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว ภูเขาไฟระเบิด ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง หรือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ มักจะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันเป็นระลอก


    ศาสตราจารย์ไมเคิล แรมปิโน จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยที่ค้นพบวัฏจักรดังกล่าวบอกว่า “ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์บางรายเคยสันนิษฐานไว้นานแล้วว่า โลกมีวงจรทางธรณีวิทยาที่ใช้เวลาหมุนเวียนรอบละประมาณ 30 ล้านปี ซึ่งผลการศึกษาของเราก็ยืนยันเช่นนั้น”


    รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geoscience Frontiers ระบุว่า ที่ผ่านมาการตรวจวัดและบันทึกเวลาที่เกิดเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาต่าง ๆ ในอดีต ไม่มีความชัดเจนและแน่นอน ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า เหตุการณ์ทางธรณีวิทยาในประวัติศาสตร์โลกนั้น เกิดขึ้นแบบสุ่มและกระจัดกระจายโดยไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด


    b887e0b888e0b8a3e0b897e0b8b2e0b887e0b898e0b8a3e0b893e0b8b5e0b8a7e0b8b4e0b897e0b8a2e0b8b2e0b884-1.jpg

    ที่มาของภาพ, RAMPINO ET AL. / GEOSCIENCE FRONTIERS

    คำบรรยายภาพ,
    แผนภูมิแสดงจำนวนครั้งและเวลาที่เกิดเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาทั่วโลกในอดีต ซึ่งดูคล้ายกับกราฟแสดงชีพจรมนุษย์



    อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทีมวิจัยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า Fourier analysis วิเคราะห์ลำดับและความถี่ของเหตุการณ์รุนแรงทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้น 89 ครั้ง ตลอดช่วง 260 ล้านปีที่ผ่านมา พวกเขาพบว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกาะกลุ่มกันอุบัติขึ้นเป็นระลอก โดยสามารถแยกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ถึง 10 ครั้ง เหตุการณ์แต่ละระลอกจะทิ้งช่วงห่างกันโดยเฉลี่ย 27.5 ล้านปี


    งานวิจัยนี้มีค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ 96% ซึ่งหมายความว่าผลวิเคราะห์ที่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด ส่วนศ. แรมปิโนนั้นเชื่อว่า หากมีข้อมูลที่ย้อนไปในอดีตได้ไกลกว่านี้อีก ก็จะสามารถตรวจพบแบบแผนความเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยา ที่คล้ายชีพจรได้อีกเช่นกัน ดังตัวอย่างในกรณีความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลที่ย้อนไปในอดีตได้ไกลถึง 600 ล้านปี แต่ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะมีแบบแผนเดียวกันกับชีพจรทางธรณีวิทยาของโลกด้วย


    สำหรับโลกยุคปัจจุบันในช่วงชีวิตของเรานั้น ได้ผ่านพ้นการเต้นของชีพจรธรณีวิทยาโลกครั้งล่าสุดไปเมื่อ 7-10 ล้านปีก่อน แต่วัฏจักรนี้กำลังจะเวียนมาครบรอบอีกครั้งในราว 15-20 ล้านปีข้างหน้า


    b887e0b888e0b8a3e0b897e0b8b2e0b887e0b898e0b8a3e0b893e0b8b5e0b8a7e0b8b4e0b897e0b8a2e0b8b2e0b884-2.jpg

    ที่มาของภาพ, NASA


    ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติเป็นระลอกนี้ แต่ศ. แรมปิโนสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากกระบวนการธรณีแปรสัณฐาน (plate tectonics) หรือความเปลี่ยนแปลงในชั้นเนื้อโลก รวมทั้งอาจเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างการโคจรของโลกกับวัฏจักรทางดาราศาสตร์ของระบบที่ใหญ่กว่า อย่างเช่นระบบสุริยะ กาแล็กซีทางช้างเผือก หรือกลุ่มก้อนของสสารมืด ซึ่งอิทธิพลทางดาราศาสตร์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาบนโลกเป็นรอบ ๆ ตลอดช่วงเวลาที่ยาวนานหลายล้านปีได้


    ขอบคุณที่มา
    https://www.bbc.com/thai/features-57628343
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 27 มิถุนายน 2021

แชร์หน้านี้

Loading...