ไม่มีพุทธศาสนา ถ้าไร้พระไตรปิฎก

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย อธิมุตโต, 25 ธันวาคม 2007.

  1. อธิมุตโต

    อธิมุตโต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    4,741
    ค่าพลัง:
    +13,087
    [​IMG]

    ไม่มีพุทธศาสนา ถ้าไร้พระไตรปิฎก

    วรธาร ทัดแก้ว - [​IMG]

    พระไตรปิฎกคือคัมภีร์สูงสุดของพุทธศาสนา ที่ได้รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาไว้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการศึกษาค้นคว้า เป็นคัมภีร์ที่บอกเราว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร และสอนว่าอย่างไร



    เมื่อใดก็ตามที่คนเรายังศึกษาเล่าเรียน อ่าน แปล ค้นคว้าพระไตรปิฎก และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกอยู่อย่างแพร่หลาย พุทธศาสนาก็จะยังดำรงอยู่สืบไป แต่หากวันใดไม่มีคนสนใจ คำสั่งสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า รวมถึงของพระสาวกที่อยู่ในพระไตรปิฎกก็เปรียบเหมือนคัมภีร์เปล่า ที่ไร้คุณค่าและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย และเมื่อนั้นเอง พุทธศาสนาก็คงถึงกาลอวสานไปจากโลก




    **มีอะไรในพระไตรปิฎก

    หากเปรียบพระไตรปิฎกเหมือนภาชนะใส่ของ ก็คงประกอบด้วย ตะกร้า 3 ใบ (ปิฎก = ตะกร้า) ที่ใช้สำหรับใส่สิ่งของสำคัญและเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก


    สิ่งสำคัญที่ว่าคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ธรรม (คำสอน) และวินัย (คำสั่ง)

    ส่วนที่เป็นธรรมก็ยังแยกออกเป็น 2 ส่วน เนื่องเพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้มากมาย คือ พระสูตร หรือเรียกอีกอย่างว่า พระสุตตันตะ และพระอภิธรรม


    ธรรมะต่างจากวินัยที่ตรัสในวงจำกัด คำว่าแคบกว่าก็คือ เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทสำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับฆราวาส ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนทั้งสองคือภิกษุและภิกษุณีดำรงอยู่ด้วยดี เป็นระเบียบงดงาม และเป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่มหาชน


    ธรรมหรือเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลในโอกาสต่างๆ ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยการเสด็จไปโปรดคนโน้นคนนี้ เช่น พรานป่า ชาวนา กษัตริย์ ชาวบ้าน ภิกษุ เป็นต้น ด้วยการแสดงธรรม หรือตอบข้อซักถามของเขาเหล่านั้นจนหายสงสัย บางครั้งไม่ได้เสด็จไปไหนก็มีผู้มาทูลถามปัญหาก็มีมากมายหลายครั้ง เช่น เทวดามาถามปัญหาพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวัน พาวรีพราหมณ์อยากรู้คำสอนในพุทธศาสนาก็ส่งศิษย์ 16 คน มาถามปัญหา เป็นต้น


    ธรรมที่พระองค์แสดงหรือตรัสสนทนากับบุคคลในสถานการณ์และสถานที่ต่างๆ แต่ละเรื่องจบไปเรื่องหนึ่งๆ นี้ เรียกว่า สูตร เช่น ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุชื่อเมฆิยะ ก็เรียกว่า เมฆิยสูตร


    เมฆิยสูตร เป็นเรื่องของพระเมฆิยะที่ทำความเพียรในป่ามะม่วง แต่ไม่อาจบรรลุธรรมได้ เนื่องจากถูกวิตก 3 ครอบงำ จึงทำให้จิตของท่านดิ้นรน กวัดแกว่ง ไม่มีสมาธิ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปแสดงธรรมให้ฟัง โดยแสดงเป็นอุปมาอุปไมยให้ท่านเข้าใจว่า ปลาที่ถูกซัดขึ้นบก เมื่อไม่ได้น้ำก็ย่อมดิ้นรนไปมา เหมือนกับจิตยินดีในกามคุณ 5 เมื่อภิกษุยกขึ้นจากที่อยู่คือ กามคุณ 5 แล้วซัดไป (มุ่งสู่) ในวิปัสสนากรรมฐาน เผาด้วยความเพียรทางกายและทางจิต ก็ย่อมดิ้นรน คือไม่อาจที่จะติดอยู่ในกามคุณ 5 นั้นได้ (เพราะถูกอำนาจวิปัสสนากวัดแกว่ง)

    ธรรมที่มาในรูปนี้มีมากมาย เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง ตามแต่พระองค์จะตรัสแก่บุคคลประเภทใด มีความรู้และมีสติปัญญาระดับไหน ซึ่งนอกจากเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป ทั้งพระเถระ พระเถรี ตลอดถึงภาษิตของเทวดาที่ทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิตอีกจำนวนมาก เช่น สังคีติสูตร ก็เป็นสูตรที่ว่าด้วยการทำสังคายนา ที่พระสารีบุตรได้แสดงวิธีการทำสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวด 1 ไปจนถึงหมวด 10

    ธรรมประเภทนี้ เรียกว่า พระสูตร และเมื่อนำมาใส่ในปิฎก ก็เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก


    ธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ ธรรมที่แสดงตามเนื้อหาของธรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลหรือสถานที่ ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาเนื้อหาเป็นหลัก ยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายเรื่องนั้นให้ชัดเจนไปเลย เช่น ยกจิตขึ้นมา ก็อธิบายไปเลยว่า จิตคืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีทั้งหมดกี่ดวง ความเป็นไปแต่ละดวงเป็นอย่างไร จิตถูกกิเลสครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น

    ธรรมประเภทซึ่งเป็นวิชาการล้วนๆ นี้ เรียกว่า พระอภิธรรม และเมื่อนำมาใส่ในปิฎกก็เรียกว่า พระอภิธรรมปิฎก


    ส่วนที่เป็นคำสั่งคือวินัยนั้น เป็นส่วนที่ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ที่บอกว่าภิกษุ ภิกษุณี ทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง และการที่ทำไม่ได้หรือห้ามทำนั้น หากภิกษุ ภิกษุณี ละเมิดก็มีโทษปรับที่เรียกว่าอาบัติ ตั้งแต่สถานเบาไปถึงสถานหนัก สูงสุดคือขาดจากความเป็นภิกษุ ภิกษุณี


    นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่ของสงฆ์ ตลอดถึงระเบียบวิธีปฏิบัติของสงฆ์ ที่เรียกว่าสังฆกรรมต่างๆ เช่น การบรรพชา อุปสมบท เรื่องอุโบสถ กฐิน การคว่ำบาตร การลงโทษภิกษุที่ประพฤติผิดธรรมผิดวินัย เป็นต้น เมื่อนำมาใส่ในปิฎก เรียกว่า พระวินัยปิฎก และเมื่อรวมแล้วจะครบ 3 ปิฎก เรียกว่าพระไตรปิฎก




    **พระไตรปิฎก...สำคัญไฉน

    หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพระไตรปิฎกนี่แหละที่รวบรวมพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นศาสดาแทนพระองค์ของชาวพุทธ ดังนั้น เราจึงถือกันมาเป็นหลักถึงทุกวันนี้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจากไปแล้วสิ่งสำคัญคือจะต้องรักษาคำสั่งสอนนั้นไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป โดยการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎกด้วยความนับถือจริงๆ


    พระไตรปิฎกจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือ และการประพฤติปฏิบัติตนของชาวพุทธว่า ความเชื่อและการปฏิบัตินั้นถูกต้องตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามคำสอนที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก หรือคลาดเคลื่อนผิดแปลกจากนั้นก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามนั้นก็เป็นพระพุทธศาสนา


    เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา การเที่ยวบิณฑบาต การใช้ไตรจีวรของภิกษุ สังฆกรรมต่างๆ เช่น การบวช การกรานกฐิน การลงอุโบสถ สวดปาติโมกข์ การลงโทษพระที่ประพฤติไม่ยำเกรงพระธรรมวินัย การแสดงอาบัติ เป็นต้น หรือการที่ชาวบ้านต้องการทำบุญทำทานอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องทาน ศีล ภาวนา รวมทั้งหลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า เช่น ขันติ โสรัจจะ รัตนะ ไตรลักษณ์ อริยสัจ อิทธิบาท พละ โพชงค์ มรรค ปฏิจจสมุปบาท พระนิพพาน เป็นต้น ล้วนมาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น

    หากไม่มีพระไตรปิฎก เราชาวพุทธก็ไม่สามารถที่จะรู้จักถ้อยคำ เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่กล่าวมาได้เลย แม้ภิกษุเองก็ไม่มีมาตรฐานที่จะวัดว่าที่ตนเองประพฤติปฏิบัตินั้น อย่างไรผิด อย่างไรถูก อะไรเป็นอาบัติ อะไรไม่เป็นอาบัติ อะไรเป็นอาบัติหนัก อะไรเป็นอาบัติเบา เป็นต้น ได้
    เห็นแล้วใช่มั้ย? ถ้าไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นหมดกัน คือ หมดสิ้นพระพุทธศาสนา !! นั่นเอง

    จาก [​IMG]
     
  2. อธิมุตโต

    อธิมุตโต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    4,741
    ค่าพลัง:
    +13,087
    [​IMG]
    เมฆิยสูตร

    [๒๐๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกา ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้

    ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ท่านพระเมฆิยะเดินเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ ครั้นเห็นแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า อัมพวันนี้ช่างน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอ ควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควร

    ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อข้าพระองค์เดินเที่ยวพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ ครั้นเห็นแล้ว ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อัมพวันนี้น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอ ควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญ เพียร เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่าน พระเมฆิยะว่า ดูกรเมฆิยะจงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุ รูปอื่นมาแทนตัว ฯ

    แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสม อริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสม อริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึง ไปยังอัมพวันเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ จงรอ อยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมาแทนตัว ฯ

    แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญความเพียร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ เราจะพึงว่าอะไรเธอผู้กล่าวอยู่ว่า บำเพ็ญเพียร ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้ ฯ
    ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยังอัมพวัน อาศัยอัมพวันนั้น นั่งพักกลางวันอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระเมฆิยะพักอยู่ ณ อัมพวันนั้น อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก
    ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก ลำดับนั้น ท่านพระเมฆิยะได้มีความคิดดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาก็ยังถูกอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสา
    วิตกครอบงำ ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์อยู่ในอัมพวันนั้น อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก ข้าพระองค์นั้นได้มีความคิดเห็นดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ก็ยังถูก
    อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำ


    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ๕ ประการเป็นไฉน

    ดูกรเมฆิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้า
    แห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อับปิจฉกถาสันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถาปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า ฯ
    ดูกรเมฆิยะ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ คือตนจักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ตนจักได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนกถา ตนจักปรารภความเพียร ฯลฯ ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม ตนจักมีปัญญา ฯลฯ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรเมฆิยะ ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แลพึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้น คือ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ ดูกรเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว ฯ
    จบสูตรที่ ๓

    หมายเหตุ พระสุตตันตปิฎก ออนไลน์ นี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ
    การแสดงผลหรือลำดับพระสูตร หากพบข้อผิดพลาดกรุณาแจ้งได้ที่
    phaisarn_pt@yahoo.com

     
  3. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,431
    ไม่มีพุทธศาสนา ถ้าไร้พระไตรปิฎก

    สาาาาา...ธุ
    สาาาาา...ธ
    สาาาาา...ธุ

    ถูกต้องแล้วครับ
     
  4. อธิมุตโต

    อธิมุตโต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    4,741
    ค่าพลัง:
    +13,087
    พระไตรปิฎก บันทึกเรื่องราวของพระพุทธศาสนา
     
  5. แจ้งให้ทราบ

    แจ้งให้ทราบ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +691
    ไม่มีพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎก ไม่มีพระธรรม

    หากไร้ซึ่งผู้ปฏิบัติตามหลักคำสอนแล้ว พระธรรมก็ไม่คงอยู่ พระไตรปิฎกก็เป็นแค่เศษกระดาษ ศาสนาก็เหลือเพียงแค่ชื่อเพื่อไว้กล่าวขานกัน

    อนุโมทนาสาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...