‘กุสินารา’ น้ำตาไหล

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 23 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b8b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e.jpg

    พระพุทธมหาปรินิพพาน อายุกว่า 1,500 ปี ภายในปรินิพพานวิหาร สาลวโนทยาน กุสินารา

    ตรงข้ามสถานีรถไฟชุมทางโกรัคปูร์ (Gorakhpur Junction) คือบรรดาโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร บริษัททัวร์ และร้านค้าแผงลอยทั่วไป เวลาราวๆ 4 ทุ่มแล้วก็ยังคึกคักอยู่ สถานีรถไฟแห่งนี้ถือว่าใหญ่ติดอันดับต้นๆ ในรัฐอุตรประเทศ กุนเธอร์-ชายชาวเยอรมันวัย 65 ปี มีเงินสดเหลืออยู่ร้อยกว่ารูปีเดินไปหาข้าวกิน ขณะที่ผมไม่เหลือเลยจึงต้องหาตู้เอทีเอ็ม

    ภายในรั้วสถานีรถไฟมีตู้เอทีเอ็มของ 2 ธนาคาร ได้แก่ของธนาคาร State Bank of India ตู้สีฟ้า และธนาคาร Bank of Baroda ตู้สีส้ม ผมเลือกตู้สีส้มเพราะคิวสั้นกว่า แต่พอจะได้กดตู้กลับเสีย จึงต้องย้ายไปต่อตู้สีฟ้า มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรุ่นคุณลุงเฝ้าอยู่หน้าประตู เปิดเข้าไปเจอ 2 ตู้ แต่ใช้การได้เพียงตู้เดียว

    เสียบบัตรเอทีเอ็มเข้าไปรอตั้งหลายวินาทีก็ไม่เห็นว่าหน้าจอจะปรากฏข้อความอะไรจึงดึงบัตรออก ลุงเจ้าหน้าที่เฝ้าดูผ่านประตูกระจกอยู่ก็เปิดเข้ามาบอกให้ผมสอดบัตรเข้าไปใหม่แล้วดึงออกทันที จากนั้นข้อความให้กดรหัสก็โผล่ขึ้นบนจอ ผมกดรหัสเสร็จลุงแกก็กดที่คำสั่ง Cash Withdrawal จากนั้นกด Currency Saving แล้วเดินออกไป ผมกด 16,000 รูปี แต่เงินไม่ออก ลุงเดินเข้ามาใหม่บอกว่ากดได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 รูปี ผมก็ทำตาม เงินไหลออกมา แกบอกให้กดใหม่อีกรอบเพื่อให้ได้เงินครบตามจำนวนที่ต้องการ ผมเกรงใจคนรอคิวและไม่แน่ใจว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มหรือเปล่าจึงพอแค่นั้น รอให้บัตรออกมาก็ไม่ออก นั่นก็เพราะดึงมันออกมาตั้งแต่ก่อนกดรหัสแล้ว

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-1.jpg

    พระพุทธรูปและซุ้มประตูบริเวณหัวถนน Buddha Marg กุสินารา

    เก็บเงินเข้ากระเป๋าอย่างพิถีพิถันโดยไม่ลืมที่จะหันซ้ายหันขวาระวังภัย ก่อนเดินข้ามถนนไปเจอกุนเธอร์นั่งกิน “ถาลี” (Thali) หรืออาหารชุดใน “ถาด” แบบมังสวิรัติอยู่ตรงหน้าเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่ง สภาพของร้านอาหารดูไม่โสภาหลายประการ มีโต๊ะอยู่แค่ตัวเดียวเท่านั้น เขาชวนว่า “กินสิ 50 รูปีเอง” ชาวอินเดียที่นั่งตรงข้ามกับกุนเธอร์ซึ่งเป็นคนในร้านก็ชวนผมอีกคน

    จากนี้ไปผมมีแผนการเดินทางที่กำหนดค่อนข้างตายตัวว่าวันไหนต้องไปถึงเมืองไหน ไม่อยากเสี่ยงท้องเสียอีกแล้ว จึงตอบไปว่าไม่ค่อยหิว ทั้งที่หิวมาก แล้วเดินกลับโรงแรม แม้ว่าจะมีร้านอาหารที่ดูสะอาดอีกหลายร้านในบริเวณนั้น แต่ขอสั่งรูมเซอร์วิสจะดีกว่าเพราะนึกขึ้นได้ว่ามีข้าวผัดที่ห่อมาจากร้านกรุงพาราณสีเมื่อตอนเที่ยงอยู่ด้วย จะได้ไม่ต้องทิ้งให้รู้สึกบาป

    กุนเธอร์เปิดประตูห้องเข้ามาเห็นผมกินซุปไก่อยู่กับข้าวผัดและมันฝรั่งทอดก็ถามเชิงจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการกินของผมว่า “รู้มั้ยไก่มาจากไหน ?” ผมตอบขุ่นๆ ไปว่า “จากโลกนี้นี่แหละ” เขาอ่านน้ำเสียงของผมออกจึงไม่พูดอะไรต่อ ซึ่งถ้าผมไม่พูดอย่างนั้นเขาอาจจะพล่ามอะไรออกมาอีกยืดยาว

    ผมยอมให้กุนเธอร์นอนเตียงนอกเพื่อเขาจะลุกได้ง่ายๆ และปิดไฟเหลือแค่ดวงเดียวเพราะเขาไม่ชอบแสง ไม่ทราบว่าการไม่ชอบแสงของเขานี้มาจากความเคยชินที่ยุโรปตอนเหนือดวงอาทิตย์ส่องไม่ค่อยถึงหรือเปล่า

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-2.jpg

    Buddha Marg ถนนสู่สังเวชนียสถาน

    เนื่องจากเป็นห้องพัดลมจึงจำเป็นต้องแง้มเปิดหน้าต่างออกรับอากาศ ทำให้เสียงแตรรถดังเข้าหูอยู่ทั้งคืน แต่ผมก็หลับลงได้ไม่ยากเย็นนักราวๆ เที่ยงคืน และตอนเช้าก็ตื่นขึ้นเพราะเสียงเดียวกันนี้ กุนเธอร์ตื่นก่อนแล้ว เขามีเงินเหลืออยู่ 80 รูปี จ้าง 3 ล้อถีบให้พาไปหาร้านแลกเงิน แต่ยังไม่เปิดสักร้าน เพราะยังเช้าเกินไป

    ผมสั่งไข่เจียวและขนมปังแยมสตรอว์เบอร์รีและเนยที่ตัดเสิร์ฟมาแบบแซนวิช 4 ชิ้น บอกให้กุนเธอร์หยิบไปกินตามสบาย ก่อนหยิบเขายังถามว่ามีเนื้อสัตว์ไหม

    เป็นอันว่าข้อเสนอที่ผมบอกเขาเมื่อวาน “พรุ่งนี้เช้าเราแยกกันก็ได้” กุนเธอร์ไม่ตอบรับ แม้ว่าดูๆ แล้วเขาไม่ค่อยอยากจะไปกุสินาราเท่าไหร่ แต่ก็ไม่รู้จะไปไหน และเมื่อเห็นว่าเขาไม่มีเงินรูปีเหลืออยู่เลยผมก็ให้เขายืมไปก่อนจำนวนหนึ่ง

    เราเช็กเอาต์แล้วฝากกระเป๋าไว้กับโรงแรม รีเซ็พชั่นบอกให้วางไว้บนโซฟาข้างๆ เคาน์เตอร์ กุนเธอร์รู้สึกไม่ค่อยไว้ใจเพราะไม่มีห้องเก็บ รีเซ็พชั่นหนุ่มใหญ่หันมาบอกว่า “ปลอดภัย” ผมจึงสำทับดังๆ ว่า “ไม่เป็นไรหรอก ของมีค่าเราไม่ได้อยู่ในนั้นเลยสักชิ้น” กุนเธอร์ยิ้มให้กับวิธีพูดของผม

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-3.jpg

    ปรินิพพานวิหารและปรินิพพานสถูป มองจากทางเข้าฝั่งวัดพม่า

    จากโรงแรมเราเดินไปทางขวา ผ่านหน้าสถานีรถไฟแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนใหญ่อันจอแจ บรรดารถบัสที่ผ่านการใช้งานมาอย่างสมบุกสมบันรอผู้โดยสารเดินทางออกนอกเมืองโกรัคปูร์จอดอยู่เรียงราย ผมไล่ถามว่าคันไหนไปกุสินารา ซึ่งต้องพูดว่า “กุฉินาการ์” (Kushinagar) ก็ได้รับคำตอบว่าให้เดินไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งรถของเราอยู่เหมือนจะท้ายสุด รวมแล้วเกือบๆ 1 กิโลเมตรจากโรงแรม

    ก่อนขึ้นผมก็ถามค่าโดยสารกับกระเป๋ารถ เขาตอบ “Sixty One” ผมนึกว่า 60 รูปีต่อ 1 คน ตอนที่เขามาเก็บเงินปรากฏว่าราคา 61 รูปีจริงๆ รับเงินแล้วเขาก็กดจำนวนเงินลงในเครื่องปรินต์สลิปแบบพกพา ใบเสร็จค่อยๆ คืบออกมาอย่างว่าง่าย

    กุนเธอร์ต้องการนั่งข้างๆ ผม แต่ระยะทาง 50 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ผมไม่อยากฟังเขาบ่นเพ้อเรื่องการเปลี่ยนโลกไปตลอดทางจึงบอกให้เขาไปนั่งเบาะหลัง “เผื่อว่าคุณจะได้มีเพื่อนใหม่” เขาเห็นด้วย แต่หาคนคุยภาษาอังกฤษกับเขาได้ยากเต็มที กุนเธอร์คงยังหิวอยู่ ตอนที่มีคนขึ้นมาขายเนื้อมะพร้าวแก่ตัดเป็นชิ้น 3 เหลี่ยมซ้อนกันเป็นทรงเจดีย์ เขาซื้อมากินชิ้นหนึ่ง

    รถบัสวิ่งไปบนถนน Kasia – Gorakhpur ผมย้ำกับกระเป๋ารถ 2 รอบว่าให้ช่วยเตือนก่อนถึง Buddha Site เพราะเคยอ่านพบว่าหลายคนนั่งเลยไปยังตัวเมืองกุสินาราต้องหารถย้อนกลับมาใหม่ ชายหนุ่มที่นั่งเบาะหน้าถัดไป 2 แถวพูดภาษาอังกฤษได้ หันมาบอกผมว่า “เหลืออีก 5 กิโลเมตร” ก่อนจะถึงเขาหันมาบอกอีกรอบ คนอื่นๆ ในรถก็ล้วนดูเป็นมิตร และคล้ายจะถือเป็นธุระของพวกเขาว่าเราจะนั่งเลยไม่ได้

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-4.jpg

    พระพักตร์ของพระพุทธมหาปรินิพพาน เสมือนว่าพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์อย่างหมดกังวล

    รถจอดตรง 3 แยก เราเดินข้ามถนนไปทางขวา พระพุทธรูปนั่งในศาลา 6 เหลี่ยมประดิษฐานอยู่ตรงหัวถนน Buddha Marg ถัดไปคือซุ้มประตูคอนกรีต มีคาน 3 ชั้น ธรรมจักรอยู่บนปลายสุด ถนนที่นำไปสู่ปรินิพพานสถานเป็นถนนลาดยาง 2 เลนสภาพดี ไม่มีฝุ่นควันคละคลุ้งอย่างพุทธคยา ร้านรวงแบบห้องแถวชั้นเดียวตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง มอเตอร์ไซค์และจักรยานจอดอยู่ริมบาทวิถีอย่างเป็นระเบียบ มีออโต้และ 3 ล้อถีบให้บริการแต่ไม่มีใครมาคะยั้นคะยอ ไม่มีคนเรียก “เฮลโล่ มาย เฟรนด์” แต่ก็เป็นไปได้ว่าความสงบที่ประสบอยู่นี้เหตุเพราะยังไม่ถึงฤดูท่องเที่ยว

    กุนเธอร์แวะซื้อน้ำอ้อยที่รีดคั้นจากเครื่องมือหมุน ผมเข้าไปคุยกับหนุ่มน้อยรถเข็นขาย “เบล์ปุรี” ที่กำลังปรุงส่งกลิ่นหอมฉุย พอขอถ่ายรูปเขาก็เขินอายหลบไปข้างๆ รถ เด็กผู้หญิงชั้นมัธยม 3 คนกำลังรอให้เบล์ปุรีสุกขยับเข้าเฟรมแทน พวกเธอพูดคุยคิกคักทักทายอย่างเป็นกันเอง โรงเรียนของพวกเธออยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 เมตร

    อาคารใหญ่ๆ ของราชการ ธนาคาร และโรงแรมอยู่ด้านซ้ายมือของถนน เราเดินผ่านวัดเวียดนาม จากนั้นก็มาถึงวัดพม่า แผนที่กูเกิลจากโทรศัพท์มือถือบอกว่าสามารถเดินเข้าวัดพม่าแล้วไปทะลุเข้าทางด้านข้างของสาลวโนทยานได้ ผมจึงเดินเข้าไป มีวัยรุ่นชาวอินเดียหลายคนเข้ามาทักทายและขอถ่ายรูปเซลฟี่ตามระเบียบ

    สองหนุ่มนักศึกษาอาสาจะเดินไปส่ง ด้านหลังทางเข้ามีลุงเจ้าหน้าที่นั่งที่โต๊ะตัวหนึ่งสำหรับให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนเข้าอุทยาน สองหนุ่มบอกให้ผมเดินผ่านไปเลย ผมหันไปบอกกุนเธอร์ว่าช่วยลงไว้หน่อย เขาก็ทำตาม

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-5.jpg

    พระพุทธมหาปรินิพพาน ฝีมือช่างเมืองมถุรา ออกทุนโดยหริพละสวามี

    เดินถึงหน้าวิหารปรินิพพานกุนเธอร์บอกว่าจะไม่เข้าไป เขาขอนั่งรอใต้ต้นสาละต้นหนึ่ง ดูเหมือนว่าเขาจะทนอากาศร้อนไม่ได้ และอยู่ข้างนอกนี่เขาก็จะได้หาคนคุยด้วย ส่วนนักศึกษาที่เดินมาส่งหายตัวไปแล้ว

    ผมถอดรองเท้าไว้ตรงหน้าบันไดแล้วเดินขึ้นไปยังวิหาร ภายในประดิษฐานพุทธปฏิมาหินทรายปางปรินิพพาน อายุกว่า 1,500 ปี ความยาว 6.1เมตร พระเศียรอยู่ทางทิศเหนือ พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตก บนฐานด้านนี้สลักรูปผู้ศรัทธาเลื่อมใส 3 รูป เว้นระยะห่างเท่าๆ กันในลักษณะโศกเศร้าอาลัย

    พื้นที่ภายในวิหารนี้ค่อนข้างเล็กแคบ จุคนได้ไม่น่าจะเกิน 50 คน รู้สึกถึงความปกติธรรมดาและคิดว่าดีแล้วที่เขาไม่สร้างให้ใหญ่โตอลังการซึ่งอาจจะทำให้พระพุทธองค์ดูห่างไกลและเกินเอื้อม ผมก้มลงกราบแล้วน้ำตาไหลออกมาด้วยความตื้นตันในพุทธคุณ คงเหมือนที่หลายท่านเคยเป็นเมื่อได้มาอยู่ตรงนี้

    เงยหน้าขึ้นก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องให้อยู่ที่มุมฝั่งพระพักตร์ หันไปดูก็รู้ว่าเป็นคนไทย มากับสามีฝรั่งที่กำลังถ่ายรูปอยู่ เธอพูดออกมาไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำนัก ไม่แน่ใจว่าเป็นคนพูดไม่ชัดหรือเพราะกำลังร้องให้ ผมได้ยินถนัดแค่ประโยคที่ว่า “อาจจะเจอกันอีกที่ลุมพินีวันนะคะ”

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-6.jpg

    มหาปรินิพพานสถูปและวิหาร รวมทั้งซากสถูปน้อยใหญ่ที่มีผู้ศรัทธาสร้างขึ้นภายหลัง

    ผมอยู่ในวิหารได้สักพักก็กลับออกมา โดยลืมเดินไปสักการะปรินิพพานสถูปความสูง 20 เมตรทางด้านหลังที่อยู่บนฐานเดียวกับวิหารนี้ สถูปเดิมพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ครอบตำแหน่งที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานระหว่างต้นสาละ 2 ต้น ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จารึก พระพุทธรูป และสิ่งของสำคัญต่างๆ ลักษณะของวิหารและสถูปที่เห็นในปัจจุบันได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อคราวฉลองพุทธชยันตีครบ 2,500 ปี

    กุนเธอร์กำลังนั่งคุยอยู่กับบรรดาเด็กหนุ่ม ผมเดินชมซากโบราณสถานที่ได้รับการขุดพบพร้อมๆ กับสถูปและวิหาร รวมถึงต้นสาละที่รายรอบ แล้วกลับมาบอกกุนเธอร์ว่าจะไปสถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระต่อ มีชายคนหนึ่งอาสาจะพาไปแต่สักพักเขาก็ไม่รู้หายไปไหน คงเพราะขี้เกียจรอเนื่องจากมีวัยรุ่นเข้ามาขอถ่ายรูปเซลฟี่กับผมคนแล้วคนเล่า และตอนจะออกจากอุทยานผมก็ขอแวะลงทะเบียนกับลุงคนเดิม พอถึงช่อง Purpose of Visit -จุดประสงค์การมาเยือน ผมกำลังนึกคำอยู่ ลุงแกบอกให้เขียนว่า Puja ซึ่งก็คือ “บูชา” ลงไป

    กว่าจะผ่านวัดพม่าออกมาได้ผมต้องสวมวิญญาณดาราดังถ่ายรูปเซลฟี่กับชาวอินเดียอีกหลายนาที กุนเธอร์ไม่ขอตามไปยังมกุฏพันธนเจดีย์ ผมบอกให้เขากลับไปตรงหัวถนน หาอะไรเย็นๆ กินและหาที่แลกเงินรูปี รวมถึงแลกเงินเหรียญสหรัฐฯ เตรียมไว้ด้วย เพราะตอนจะข้ามไปเนปาลเราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคนละ 25 ดอลลาร์ ส่วนผมเดินไปบนถนน Buddha Marg ผ่านทางเข้าด้านหน้าของสาลวโนทยาน แวะซื้อไอศกรีมวอลล์จากมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่แล้วเดินกินไปตามทาง

    b2e0b8a3e0b8b2-e0b899e0b989e0b8b3e0b895e0b8b2e0b984e0b8abe0b8a5-e0b984e0b897e0b8a2e0b982e0b89e-7.jpg

    ประตูเข้าสาลวโนทยานด้านหน้า ฝั่งถนน Buddha Marg

    แผนที่กูเกิลระบุว่าเป้าหมายอยู่ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตร ให้เลี้ยวขวาตรง 3 แยก แม้ว่าทางที่เลี้ยวซ้ายดูเหมือนจะเป็นถนนหลัก และคนบริเวณ 3แยกทำสีหน้าแปลกที่ผมเลี้ยวมาทางนี้ แต่ผมก็ยังเดินต่อไป ทางบังคับให้เลี้ยวซ้ายอีกครั้ง ทางเล็กลง ผมเดินไปเรื่อยๆ ข้ามสะพานเล็กๆ มีคนนั่งๆ ยืนๆ อยู่กลุ่มหนึ่ง หนุ่มใส่เชิ้ตสีเขียวอ่อน อายุราว 20 ต้นๆ บอกว่ามาผิดทางแล้ว ให้เดินกลับไปทางเดิม ผมพิจารณาแล้วก็น่าจะผิดทางจริงๆ คงมีคนมือบอนปักหมุดในแผนที่หลอกไว้

    หันหลังกลับเดินออกมาได้ไม่เท่าไหร่ หนุ่มเชิ้ตเขียวก็ปั่นจักรยานมาเทียบ ส่งสัญญาณให้ขึ้นซ้อนท้าย ผมไม่เห็นว่าจะเสียหายอะไร และได้เตรียมงบไว้แล้ว 100 รูปี

    ฉบับหน้าหนุ่มเชิ้ตเขียวจะโชว์อะไรให้ดูครับ.

    //////

    1. พระพุทธมหาปรินิพพาน อายุกว่า 1,500 ปี ภายในปรินิพพานวิหาร สาลวโนทยาน กุสินารา

    2. พระพุทธรูปและซุ้มประตูบริเวณหัวถนน Buddha Marg กุสินารา

    3. Buddha Marg ถนนสู่สังเวชนียสถาน

    4. ปรินิพพานวิหารและปรินิพพานสถูป มองจากทางเข้าฝั่งวัดพม่า

    5. พระพักตร์ของพระพุทธมหาปรินิพพาน เสมือนว่าพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์อย่างหมดกังวล

    6. พระพุทธมหาปรินิพพาน ฝีมือช่างเมืองมถุรา ออกทุนโดยหริพละสวามี

    7. มหาปรินิพพานสถูปและวิหาร รวมทั้งซากสถูปน้อยใหญ่ที่มีผู้ศรัทธาสร้างขึ้นภายหลัง

    8. ประตูเข้าสาลวโนทยานด้านหน้า ฝั่งถนน Buddha Marg

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thaipost.net/main/detail/24822
     

แชร์หน้านี้

Loading...