“กุศลแผ่ไปให้ไพศาล”พุทธศาสน์ ณ พุทธภูมิ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 27 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    e0b988e0b984e0b89be0b983e0b8abe0b989e0b984e0b89ee0b8a8e0b8b2e0b8a5e0b89ee0b8b8e0b897e0b898e0b8a8.jpg

    “ขอตั้งจิตอุทิศผล บุญกุศลแผ่ไปให้ไพศาล สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนามิ”

    เสียงเปล่งอนุโมทนาบุญของภิกษุสงฆ์และฆราวาส 115 รูป/คน ดังตลอดเส้นทางตามรอยบาทพระศาสดาสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ตามโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล ของกองทุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยมี พระครูปลัดเฉลิมชาติ ชาติวโร และพระมหาวินัย สุขเวสโก พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นพระธรรมวิทยากรให้ความรู้ตลอดเส้นทาง


    กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อการสนับสนุนการเดินทางไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ที่ดำเนินกิจกรรมโครงการต่างๆ ในการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาทิ โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และพุทธศาสนิกชนที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งจะก่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ออกไปให้ไพศาล

    ตลอดเส้นทางตามรอยบาทพระศาสดา นับตั้งแต่สถานที่แรก ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถในปัจจุบัน โดยพระพุทธองค์ได้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ นับเป็นปฐมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทำให้พระโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน อุปสมบทเป็นพระสงฆ์รูปแรก มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ และบริเวณนี้มีธรรมเมกขสถูป ซึ่งสร้างขึ้นในราว พ.ศ.1043 สมัยพระเจ้าอโศก ทำจากแผ่นหินแกะสลักเป็นลายดอกบัวและสวัสดิกะ แห่งที่ 2 พุทธคยา สถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เดิมเป็นบริเวณหมู่บ้านอุรุเวลา

    แห่งที่ 3 สาลวโนทยาน สถานที่ดับขันธปรินิพพาน มีปรินิพพานสถูป ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สถานที่แห่งนี้หลายคนที่มาเป็นครั้งแรกถึงกับ “หลั่งน้ำตา” มิทราบสาเหตุ และแห่งที่ 4 ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล อดีตกาลเป็นบริเวณกึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ เมื่อประสูติทรงย่างพระบาท 7 ก้าว ได้เปล่ววาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นใหญ่และประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดของเราครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย การเกิดต่อไปคงไม่มีอีกแล้ว”

    มิเพียงชาวไทยเท่านั้นที่เดินทางไปจะได้รับอานิสงส์จากการไปแสวงบุญ ณ แดนพุทธภูมิ ดังที่ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงพุทธพจน์ตอนหนึ่งถึงการไปไหว้สังเวชนียสถาน 4 ตำบลไว้อย่างชัดแจ้ง คือ “ในอนาคตกาลหากพุทธบริษัท 4 ได้สักการบูชาสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ย่อมประสบบุญและกุศลสูงสุด”
    ทว่า ตลอดเส้นทางจะพบเจอพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกที่ต่างมุ่งหน้ามายังสังเวชนียสถานแดนพุทธภูมิ เพื่อตามรอยพระพุทธเจ้า โดยคนไทยนับว่าเดินทางไปยังอินเดียเป็นอันดับ 5 ปี 2561 ราว 6 หมื่นคน รองจาก เวียดนาม ศรีลังกา ไต้หวัน เมียนมาร์ ญี่ปุ่นอีกทั้ง มีชาวเกาหลีใต้ ทิเบต จีน และชาติตะวันตกเดินทางเข้ามาในเส้นทางสายนี้เช่นเดียวกัน

    นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมจะสนับสนุนงบประมาณให้วัดไทยที่เป็นศูนย์ 9 แห่งในเส้นทางสังเวชนียสถานปีละ 1 แสนบาทต่อศูนย์ เพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เดินทามาแสวงบุญทุกชาติทุกภาษา และหากมีส่วนเหลือก็นำไปพัฒนางานเผยแผ่ต่างๆ ถือเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะศาสนาเป็น 1 ใน 3 ของความมั่นคงของประเทศ ถ้าศูนย์กลางพุทธศาสนาไม่ได้รับการดูแลหรือทิ้งร้าง ผู้คนท้อแท้ที่จะเดินทางมา เมื่อไม่มีศูนย์รวมจิตใจไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งโอกาสที่จะรักษาสิ่งนั้นไว้ก็จะยาก สำหรับโครงการนี้ในอนาคตจะขยายผลในการนำเด็กและเยาวชนที่ชนะการประกวดต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาให้ร่วมเดินทางด้วย เพื่อให้ได้ซึมซับหลักธรรมคำสอนจากสถานที่จริงและนำไปปรับใช้ในชีวิตได้มากขึ้น

    “การที่พุทธศาสนิกชนได้มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและมีโอกาสได้มาเห็น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ศาสนามั่นคง เพราะฉะนั้นการเปิดโอกาสให้ไปประกอบศาสนกิจในสถานที่สำคัญ ซึ่งก็จะเห็นว่าหลายๆ ประเทศก็เดินทางมาเช่นเดียวกัน ทั้งพุทธที่เป็นเถรวาท มหาชน และวัชรยาน ทำให้ได้สร้างศาสนิกสัมพันธ์ในหลักเชื่อหลักใหญ่เดียวกัน เหล่านี้จะได้ประโยชน์ในหลายมิติทั้งในเรื่องความภาคภูมิใจคณะสงฆ์ และประชาชนในประเทศที่อาจจะไม่ได้มาแต่รู้ว่ารัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุนพุทธศาสนาให้คงอยู่ อีกทั้ง เมื่อวัดไทยในเส้นทางได้มีโอกาสให้การดูแลคณะผู้แสวงบุญจากนานาประเทศ โดยเฉพาะการเป็นจุดบรรเทาทุกข์ โดยมีห้องน้ำในวัดไทยตามเส้นทางเพราะอินเดียหาห้องน้ำได้ยากยิ่ง หรือการดูแลอื่นๆ ก็เป็นการสร้างเกียรติภูมิให้แก่ประเทศไทยด้วย” นายกิตติพันธ์กล่าว

    นอกจากนี้ วัดไทยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เส้นทางสังเวชนียสถาน อาทิ วัดไทยลุมพินี วัดไทยพุทธคยา และวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ มิเพียงแต่เผยแผ่หลักคำสอนตามแนวทางพุทธศาสนา แต่ยังดำเนินงาน “ศาสนสงเคราะห์” บริการแก่ชาวอินเดียในพื้นที่และคนทุกชาติที่เดินทางไปแสวงบุญด้วย วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ อินเดีย เปิดสถานพยาบาลกุสินาราคลินิก ให้บริการตรวจรักษาโรคแก่คนอินเดียจากราคาเดิม 3 รูปี ปัจจุบันขยับเป็น 10 รูปี และรักษาฟรีทุกวันพระ หรือวันพระจันทร์เต็มดวง มีการจ้างแพทย์และเภสัชกรชาวอินเดีย รวมถึง มีแพทย์อาสาจากเมืองไทยมาให้บริการ และมีการเปิดสอนหนังสือภายในวัดทุกวันอาทิตย์ด้วย เช่นเดียวกับ วัดไทยพุทธคยา ที่ตั้งโรงพยาบาลพระพุทธเจ้า เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคเช่นเดียวกัน และวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล จะมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาให้แก่ชาวอินเดียในพื้นที่ต่างๆ และมีการให้บริการเฉพาะทางเป็นบางครั้ง เช่น การผ่าตัดตาแก่ชาวเนปาลที่เป็นต้อกระจก

    พระสมโภช ตอรมย์ วัดดักคะนน อ.เมือง จ.ชัยนาท กล่าวว่า บวชมา 10 พรรษา ปัจจุบันอายุ 35 ปี การเดินทางมาสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเป็นครั้งแรกนี้ ประทับใจ เพราะเราเป็นเสมือนลูกเสมือนหลานของพระพุทธเจ้า โดยบรรยากาศที่ได้รับจากสถานที่จริงทำให้เมื่อนับกลับไปอธิบายธรรมกับเณรลูกศิษย์ จะเข้าใจแจ่มแจ้งมากขึ้น นอกจากนี้ จะบอกเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของอินเดียให้พระลูกศิษย์ได้รับทราบด้วย เนื่องจากที่วัดทำโครงการศึกษาพระปริยัติธรรมบวชเณรภาคฤดูร้อนมีเณรบวชเรียน 40 รูป พระจึงเป็นเหมือนผู้ปกครองของเณรอีกคน

    ขณะที่ น.ส.กษมา สุขสารพันธ์ อายุ 30 ปี นักบัญชีปฏิบัติการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีโอกาสเดินทางมาแสวงบุญที่ 4 สังเวชนียสถานเป็นครั้งแรก แม้จะรับรู้จากรุ่นพี่ที่เคยมาว่าเส้นทางค่อนข้างทรหด แต่ก็อยากจะมาเห็นสถานที่จริงที่ปรากฏตามพุทธประวัติสักครั้งในชีวิต อีกทั้งด้วยวัยที่มากขึ้นและการทำงานที่ค่อนข้างยุ่ง ทำให้ไม่ค่อยได้ประกอบศาสนกิจมากนัก และหลงลืมไปบ้างแล้วเกี่ยวกับพุทธประวัติ เมื่อได้มาเห็นสถานที่จริง ยิ่งกว่าที่คิดไว้ น่าศรัทธาและมีความขลัง โดยเฉพาะบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ เมื่อสวดมนต์แล้วน้ำตาซึมอย่างอธิบายไม่ได้

    “ปกติจะใส่บาตรและเข้าวัดทำบุญนานๆ ครั้ง และด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ก่อนเดินทางมานมัสการไม่ได้เชื่อมั่นมากนัก แต่เมื่อมาจริงแล้วได้รับความรู้มากมาย ล้วนแต่สามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการมีสติ สมาธิในการดำเนินชีวิต จากนี้จะตั้งใจจะสวดมนต์มากขึ้น เพื่อสร้างสมาธิให้แก่ตนเอง และการได้เห็นพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเดินทางมายังศูนย์กลางแห่งนี้ รู้สึกว่าพุทธศาสนาจะมีการสืบทอดต่อไปอย่างยาวนาน” น.ส.กษมากล่าว

    การที่พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาลได้ดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ และการเดินทางไปแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนในเส้นทางตามรอยบาทพระศาสดา ณ แดนพุทธภูมิ นับเป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาออกไปให้ไพศาล

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.komchadluek.net/news/edu-health/367126
     

แชร์หน้านี้

Loading...