“วัด-พระสงฆ์” ไม่ทิ้งประชาชน

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 7 เมษายน 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    โรงทานตามพระดำริ “สมเด็จพระสังฆราช” ช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

    หนังสือจาก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ส่งถึง นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 ระบุว่า

    0b8b0e0b8aae0b887e0b886e0b98c-e0b984e0b8a1e0b988e0b897e0b8b4e0b989e0b887e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88a.jpg
    ด้วย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวัน และฐานะทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความยากลำบากในหมู่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องปรับรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างกะทันหัน พร้อมทั้งมีพระดำริว่า วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคู่กับสังคมไทยมานับแต่โบราณตราบจนปัจจุบัน วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนด้วย จึงสมควรที่จะให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบาก ดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตกาล

    การนี้ สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาสั่งการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ประสานงานกับวัดทั่วราชอาณาจักรซึ่งมีศักยภาพเพียงพอ จัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ มิใช่การบังคับ แต่เป็นการกำหนดแนวทางประสานความร่วมมือ โดยให้คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละวัด ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในชุมชนนั้นๆเป็นสำคัญ

    8b0e0b8aae0b887e0b886e0b98c-e0b984e0b8a1e0b988e0b897e0b8b4e0b989e0b887e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88a-1.jpg
    อีกทั้งให้ประสานภารกิจร่วมกับหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขซึ่งมีประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่ ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงทาน และการแจกจ่าย ให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย โดยต้องไม่มีการจัดพิธีการ พิธีกรรม กิจกรรม หรือการบริหารจัดการใดๆ ที่ต้องให้บุคคลจำนวนมากมารวมตัวกัน กับทั้งให้ปฏิบัติตามคำสั่ง มาตรการ และคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

    จากนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มี.ค. แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและเจ้าคณะ จังหวัดทั่วประเทศ เรื่องประทานพระดำริให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส

    โคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อให้ดำเนินการประสานวัดที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือฯ หรือโรงทาน ทั้งยังกำชับว่า วัดที่จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือฯ ให้ปฏิบัติตาม คำสั่ง มาตรการ และคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัดด้วย

    8b0e0b8aae0b887e0b886e0b98c-e0b984e0b8a1e0b988e0b897e0b8b4e0b989e0b887e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88a-2.jpg
    โดยขณะนี้มีวัดที่ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แล้ว มากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เช่น วัดยานนาวา, วัดอรุณราชวราราม, วัดระฆังโฆสิตาราม, วัดลาดปลาเค้า, วัดบำเพ็ญเหนือ, วัดสะพาน, วัดนิมมานรดี, วัดบางนาใน, วัดบางบอน, วัดนายโรง, วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่, วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ วัดไร่ขิง จ.นครปฐม, วัดสว่างอารมณ์ จ.นครปฐม, วัดสามัคคีบรรพต จ.ชลบุรี, วัดคุณหญิงส้มจีน จ.ปทุมธานี, วัดทรงเสวย จ.ชัยนาท, วัดเขาพระทอง จ.นครศรีธรรมราช, วัดมงคลวนาราม จ.สระบุรี, วัดจำศีล จ.สระบุรี เป็นต้น ทั้งกำลังมีอีกหลายศูนย์ฯ ที่กำลังทยอยจัดตั้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามพระดำริของ สมเด็จพระสังฆราช

    นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามพระดำริของ สมเด็จพระสังฆราช นั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ตกงาน เป็นต้น ซึ่งนอกจากแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่มแล้ว บางวัดมีการนำจีวรของพระสงฆ์ที่ยังไม่ได้ใช้มาตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้า แจกจ่ายให้ประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ด้วย

    ขณะที่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยืนยันว่า โรงทานแต่ละแห่งจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น ประชาชนที่เดือดร้อนแล้วมาที่โรงทานไม่ต้องกังวล

    8b0e0b8aae0b887e0b886e0b98c-e0b984e0b8a1e0b988e0b897e0b8b4e0b989e0b887e0b89be0b8a3e0b8b0e0b88a-3.jpg
    พร้อมกันนี้ นายเทวัญ ยังทำความเข้าใจไปยังวัดต่างๆทั่วประเทศถึงกรณีการฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด-19 และการจัดกิจกรรมของวัดในช่วงการระบาดของโรคนี้ ว่า การปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์รวมทั้งการฌาปนกิจศพของผู้ป่วยโควิด-19 ประชาชนและวัดไม่ต้องเป็นห่วง เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีขั้นตอนที่ปลอดภัย พระสงฆ์ไม่ต้องสัมผัสศพ ทั้งยังมีการฆ่าเชื้อแล้วด้วย ส่วนกิจกรรมต่างๆของวัด ไม่ควรจัดงานให้คนมารวมตัวกันมาก ถ้างดได้ ควรงด และหากพระสงฆ์มีข้อสงสัยสามารถสอบถาม ได้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ทั่วประเทศ

    “ทีมข่าวศาสนา” มองว่า ศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 นับเป็นงานด้านสาธารณสงเคราะห์ ที่เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะสงฆ์ ใน การช่วยเหลือประชาชนยามที่เกิดภัยต่างๆ อาทิ ภัยธรรมชาติ อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย โรคระบาด ปัญหาสังคม คนไร้ที่พึ่ง เป็นต้น

    และนับเป็นอีกครั้งที่คณะสงฆ์แสดงให้สังคมไทยเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนในประเทศไทยเดือดร้อน ตกระกำลำบาก

    วัดและพระสงฆ์จะอยู่เคียงข้างและไม่มีทางทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน…

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/news/local/1813531
     

แชร์หน้านี้

Loading...