เรื่องเด่น “วิธีระงับดับความคิดฟุ้งซ่าน” พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 30 ตุลาคม 2017.

  1. อกาลิโก!

    อกาลิโก! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    609
    กระทู้เรื่องเด่น:
    531
    ค่าพลัง:
    +3,731
    “วิธีระงับดับความคิดฟุ้งซ่าน”

    _107_122.jpg


    ความคิดฟุ้งซ่าน คิดเรื่อยเปื่อย คิดแล้วก็ทำให้เกิดความวุ่นวาย ความวิตกกังวลอะไรต่างๆ ขึ้นมา อารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมาก็เพราะเกิดจากการเผลอสติปล่อยให้ใจคิดไปก็ต้องใช้การเจริญสติ จำเป็นจะต้องเจริญสติตลอดเวลา เพราะความคิดนี้เขาทำงานตลอดเวลา เขาจะหยุดก็ต่อเมื่อมีสติมาระงับไว้ เหมือนกับรถยนต์ที่วิ่งอยู่ ถ้าต้องการให้รถยนต์หยุดวิ่งก็ต้องใช้เบรค เหยียบเบรคไปเรื่อยๆ เหยียบไปจนกว่ารถยนต์จะหยุดวิ่งถึงจะปล่อยเบรคได้ การเจริญสตินี้ก็เป็นเหมือนกับการใช้เบรค หยุดความคิดปรุงเเต่งต่างๆ ถ้ามีสติแล้วความคิดปรุงเเต่งจะสงบตัวลงได้ ถ้าความคิดปรุงเเต่งหยุดสงบตัวลงได้ เราก็หยุดบริกรรมได้ เช่น เราใช้คำบริกรรมพุทโธๆ เวลาที่ใจยังคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ เราก็ต้องใช้คำบริกรรมพุทโธๆเพื่อหยุดความคิดเหล่านั้น เวลาที่เราเริ่มต้นใหม่ๆนี้ ความคิดเขาจะไม่หยุดไปทันทีทันใด เวลาที่เราบริกรรมพุทโธๆ มันเหมือนจะต้องเเข่งกันความคิดเขาก็ยังคิดอยู่ เราก็ต้องใช้พุทโธมาแข่งกับเขา เราไม่ต้องไปสนใจกับความคิดที่เรายังมีอยู่ที่เรายังดับไม่ได้ ให้เราสนใจอยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ หรือถ้าเราใช้การดูร่างกายเป็นการสร้างสติ เราก็คอยเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าร่างกายกำลังทำอะไรก็ให้เฝ้าดูไป อย่าไปสนใจกับความคิดต่างๆ ที่ยังอาจจะมีคิดอยู่ ให้สนใจอยู่กับงานที่ร่างกายที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำอาบท่า ล้างหน้า แปรงฟัน หวีเผ้าหวีผม แต่งเนื้อแต่งตัวหรือทำภารกิจการงานต่างๆ ให้เฝ้าดูงานที่เรากำลังทำอยู่

    ส่วนความคิดนั้นเขาจะคิดก็ปล่อยเขาคิดไปอย่าไปสนใจ ถ้าเราไม่ไปสนทนากับความคิด เดี๋ยวความคิดเหล่านั้นมันก็จะจางหายไปแล้วหมดไปเอง แต่ถ้าเรายังไปสนทนาหรือยังอยากให้มันหาย เราก็จะเกิดความหงุดหงิดเกิดความรำคาญใจขึ้นมาได้ เราต้องทำความเข้าใจว่า ความคิดเหล่านี้ก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เรายังห้ามไม่ได้ เมื่อยังห้ามไม่ได้ก็ปล่อยเขาคิดไป สติของเรายังมีกำลังน้อย เหมือนรถที่แตะเบรคเพียงครั้งแรกนี้ยังไม่สามารถทำให้รถหยุดอย่างสนิท ก็ต้องเหยียบเบรคไปเรื่อยๆ เหยียบไปจนกว่ารถจะหยุดสนิทในที่สุด เราก็บริกรรมพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ หรือเฝ้าดูการกระทำของร่างกายไปเรื่อยๆ อย่าไปกังวลอย่าไปสนใจกับความคิดปรุงเเต่งที่ยังคิดอยู่ บริกรรมพุทโธ เฝ้าดูการกระทำต่างๆไป เดี๋ยวไม่นานความคิดปรุงเเต่งมันก็จะจางหายไป

    นี่ก็คือวิธีระงับดับความฟุ้งซ่านต่างๆ ต้องใช้สติเป็นเบื้องต้น ถ้าเราไม่รู้จักการใช้ปัญญา ถ้าเรารู้จักใช้ปัญญา รู้จักคำว่า ไตรลักษณ์ เรานี้สามารถที่จะใช้ไตรลักษณ์นี้มาระงับความคิดปรุงเเต่งที่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ได้ เพราะเรื่องราวต่างๆ นั้นมันเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมดนั่นเอง มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่มีการเกิด การดับ มีการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีขึ้นมีลง มีเจริญ มีเสื่อม เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมบังคับได้ เวลาที่เราฟุ้งซ่านกับเรื่องราวต่างๆก็เพราะว่า เราไม่เห็นไตรลักษณ์ เราจึงเกิดความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ขึ้นมา พอไม่สามารถทำให้มันเป็นตามที่ต้องการได้ ใจก็จะฟุ้ง ใจก็จะคิดหาวิธีการต่างๆ คิดอย่างไรมันก็จะไม่สามารถที่จะไปทำให้เป็นไปตามความอยากได้ แต่ถ้ามองเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ยอมรับความเป็นจริงว่ามันเหนือวิสัยที่เราจะไปทำให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ ใจของเราก็จะหยุดคิด หยุดอยาก แล้วใจก็จะกลับมาเป็นปกติไม่ฟุ้งซ่านแล้วก็จะสามารถเจริญสติ เพื่อให้ใจเข้าสู่ความสงบได้ นี่ก็คือการแก้ปัญหาที่เรียกว่า ความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ

    ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘

    “นิวรณ์ ๕”

    พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
    วัดญาณสังวรารามฯ จ.ชลบุรี

    กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน

    ขออนุโมทนาบุญและขอขอบพระคุณทุกๆท่าน ที่เข้ามาเยี่ยมชมและกด likeให้





    ที่มา เมตตาธรรม ศิษย์พระธุดงค์กรรมฐาน สายหลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่น
     

แชร์หน้านี้

Loading...