“วิธีหลุดจากบัญญัติ” พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี) 

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 12 พฤศจิกายน 2014.

  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,800
    “วิธีหลุดจากบัญญัติ” พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี) 

     

    ๑๙ มกราคม ๒๕๔๓ 

     

    นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย 

     

    ต่อไปนี้พึงตั้งใจฟังธรรมะตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เพื่อความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติกรรมฐาน โดยเฉพาะผู้ที่เข้าปฏิบัติกรรมฐานได้ใช้ความเพียรในการประพฤติปฏิบัติผ่านมาสามวัน สามวันผ่านไปแล้วนี่โดยปรกติแล้วก็จะสามารถผ่านนิวรณ์ต่าง ๆ ได้ตามสมควร ความง่วงเหงาหาวนอนก็ดีย่อมจะกระจายไป จิตใจมีความตื่น ตื่นตัวตื่นใจขึ้น บางท่านจึงไม่ง่วงแม้กลางวันกลางคืน กลางคืนก็ไม่ง่วงเพราะว่าจิตมีความตื่นอยู่ 

     

    เป็นธรรมดาของการปฏิบัติถ้าเราเจริญสติมาก ๆ ต่อเนื่องกันก็ทำให้จิตใจตื่นตัว หรือความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็คงคลี่คลายไป ก็อาจจะมีบางท่านที่ยังฟุ้งอยู่แล้ว ก็อาจจะน้อยลงไปบ้าง แต่บางคนก็ไม่แน่เพราะว่าจิตใจเป็นเรื่องไม่เที่ยง บางทีวันนี้จิตใจสงบสบายโปร่ง แต่อีกวันหนึ่งอาจจะฟุ้งก็ได้ ฉะนั้นก็อย่าไปท้อถอยท้อแท้ ก็พยายามฝึกไป เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่มีอะไรคงที่ วันนี้มันฟุ้งได้เดี๋ยวก็คลี่คลายไป 

     

    หรือความทุกข์ บางท่านอาจจะมีทุกข์กายบีบคั้นให้เจ็บให้ปวดให้ไม่สบายเป็นทุกข์ ก็ขอให้ตั้งสติในการที่จะรับรู้ด้วยความปล่อยวาง บางคนก็อาจจะทุกข์มาก การที่จะได้ผ่านหลุดพ้นจากกิเลสนั้นต้องผ่านความทุกข์เต็มที่ บางคนความทุกข์เหมือนกับจะขาดใจเหมือนกับจะจมน้ำ ก็ต้องรักษาจิตให้ปรกติวางเฉย เป็นธรรมดาของบุคคลเมื่อได้ประสบความทุกข์ กระแสจิตย่อมจะดิ้นรนกระวนกระวายกระสับกระส่าย เป็นธรรมดา 

     

    แต่ถ้าหากว่าได้พยายามฝึกหัดมีสติคอยดูคอยรู้พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้จิต รู้ความรู้สึก รักษาจิตอยู่เสมอก็จะเป็นผู้ที่สามารถวางจากความทุกข์ได้ กายเป็นทุกข์แต่จิตใจสามารถวางเฉยได้ ฉะนั้นการปฏิบัติก็จะต้องอาศัยการอบรมการฝึกหัด ดังนั้นระยะสามวันผ่านไปนี้ก็คิดว่านิวรณ์คงจะคลี่คลาย ความง่วง ความท้อถอย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความขัดข้อง มีปฏิฆะความโกรธก็ดี ราคะก็ดี 

     

    ในระยะที่ผ่านมรสุมไปก็เหมือนกับท้องฟ้าที่สว่างไสวขึ้น เหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ที่เมฆหมอกที่ปิดบังได้เคลื่อนออกไปทำให้สว่างไสว สมควรที่จะฝึกอบรมสติให้เข้าสู่ครรลองของวิปัสสนาให้เข้าถึงแนวทางของวิปัสสนาที่แท้จริง เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความเข้าใจในการที่จะดำเนินสติสัมปชัญญะเข้ามาสู่แนวทางของวิปัสสนาที่แท้จริง 

     

    สิ่งที่จะต้องคัดออกไปก็คือสมมุติบัญญัติ เพราะวิปัสสนานั้นสติต้องระลึกตรงต่อปรมัตถธรรม สติต้องระลึกตรงต่อปรมัตถธรรมอย่างสุดส่วน คือรู้เฉพาะปรมัตถ์ให้มากที่สุดให้ยิ่งที่สุด เรียกว่าคัดสมมุติออกไปจากใจให้มากที่สุด ให้คงเหลืออยู่กับสภาวปรมัตถ์ 

     

    ฉะนั้นการที่มีความจงใจในการใช้สมมุติบัญญัติเช่น คำบริกรรมต่าง ๆ ต้องละออกไปทั้งหมด คำบริกรรม เช่น พุทโธก็ดี พองหนอยุบหนอก็ดี ขวาย่างหนอหรือว่าคำว่ารูปคำว่านามก็ดี หรือคำใด ๆ ก็ตามที่เป็นคำพูด ที่เป็นภาษา จะต้องคัดออกไปให้เหลือแต่สติสัมปชัญญะล้วน ๆ ที่ทำหน้าที่รับรู้รับทราบต่อสภาวธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏ 

     

    โดยปรกติแม้จะไม่ได้ตั้งใจจะใช้ภาษา ไม่ได้ตั้งใจจะใช้คำพูดมาบริกรรม จิตเขาก็คอยจะนึกถึงภาษาอยู่แล้ว นึกถึงคำพูดอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่สังเกตจิตใจตัวเองเป็นก็จะพบว่าจิตคอยมีภาษาอยู่ คอยมีคำพูดอยู่ เรียกว่าจิตคอยไหลไปสู่บัญญัติไปสู่สมมุติอยู่ตลอด ในขณะที่จิตไหลไปสู่สมมุติก็คือจิตกำลังถูกปรุงแต่ง 

     

    จิตกำลังถูกปรุงแต่งด้วยสัญญาความจำได้หมายรู้ วิตกคือตัวตรึกนึก วิจารเคล้าไปในอารมณ์นั้น สิ่งเหล่านี้เป็นต้นที่กำลังปรุง ปรุงแต่งจิตอยู่ อารมณ์ของจิตก็จึงต้องเป็นสมมุติเป็นภาษาขึ้น จากที่เคยจดจำไว้ ชำนาญในภาษาไทยมันก็คอยจะผุดเป็นภาษาไทย ชำนาญในภาษาอื่นมันก็ผุดเป็นภาษาอื่น นี้คือสัญญามันได้ปรุงในจิต มีตัวตรึกนึก อารมณ์ของจิตก็เป็นบัญญัติ 

     

    เพราะฉะนั้นการที่จะให้จิตหลุดจากบัญญัติหลุดจากสมมุติ สติจะต้องระลึกเข้ามาที่การปรุงแต่ง จำไว้ สติจะต้องระลึกเข้ามาที่การปรุงแต่ง คือระลึกที่ความจำก็ดี ระลึกที่การตรึกก็ดี การนึกก็ดี ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะที่จิตมีกระแสแล่นไปสู่บัญญัติอารมณ์ หรือพูดง่าย ๆ ว่า รู้สึกว่ามันมีคำพูดขึ้นในใจ มีภาษาขึ้นมาในใจ ขณะนั้นน่ะมีการปรุงแต่ง สติก็ระลึกเข้ามาที่ความปรุงแต่งในกระแสจิต 

     

    แทนที่จะไปนึกถึงคำพูด แทนที่จะไปนึกถึงความหมาย แทนที่จะไปนึกที่เรื่องราวอันเป็นบัญญัติ แต่หันมุมมองมาสู่แหล่งผลิตคำพูดก็คือการปรุงแต่งนั่นเอง ถ้าสติระลึกเข้ามาที่ปรุงแต่ง เรียกว่าสติระลึกปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ จิตเขาก็จะเปลี่ยนหรือทิ้งออกจากบัญญัติมาเป็นปรมัตถ์ เพราะจิตรับได้ทีละอารมณ์ เมื่อจิตอันประกอบด้วยสติมาระลึกถึงจิตที่กำลังถูกปรุงแต่ง เขาก็ทิ้งจากบัญญัติ ฉะนั้นคำพูดก็จะหลุดไป ภาษาจะหลุดไป นี้โดยเหตุผลมันจะต้องเป็นอย่างนั้น 

     

    โดยเหตุผลโดยหลักการจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าวิธีการวิธีปฏิบัติเราจะทำได้หรือไม่ก็อยู่ที่ปัญญาของแต่ละคน ความเข้าใจความฉลาดในการที่จะเฟ้นในการที่จะมุมมองให้ถูก ฟังแล้วก็ไปปรับให้ถูก เรียกว่า โยนิโสมนสิการ จูนให้ถูก ปรับให้ตรง 

     

    แทนที่จะไปดูแต่คำพูดหรือไปดูแต่ความหมายหรือไปดูที่เรื่องราว แต่หันปรับสติสัมปชัญญะมาระลึกรู้ที่กระแสจิตที่กำลังปรุงแต่ง กำลังตรึกกำลังนึก กำลังวิจัยวิจารณ์ก็ดี กำลังจดจำอยู่ก็ดี ที่มันผุดขึ้น ๆ นี่ ถ้าสติระลึกรู้มาที่ตรงนี้บัญญัติย่อมอันตรธานไป จิตจะหลุดจากบัญญัติ หลุดจากคำพูด หลุดจากภาษา ตลอดทั้งความหมายเรื่องราว รูปร่างสัณฐาน 

     

    คำสอนการแสดงตรงนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับท่านที่ปฏิบัติเข้าใจ ปฏิบัติมาตรงนี้ ถ้าใครยังก้าวไม่ถึงก็ฟังไม่ออก ยังมัวสาละวนอยู่กับคำบริกรรมอยู่ ยังกำหนดแต่กายอยู่ ดูแต่กายยังไม่พอเพียงต้องระลึกถึงจิตถึงใจถึงความรู้สึกในจิตใจ ดูที่กายก็หมายถึงว่าดูแต่ลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนั้น 

     

    หรือดูแต่ท่าทางของกายที่นั่งอยู่อย่างนั้น ยิ่งมีคำบริกรรมติดเข้ามาดวยก็เรียกว่าเราอยู่ในขั้นต้น ขั้นดำเนินอยู่ ควรที่เราจะพัฒนาขึ้น คือ หนึ่ง ปล่อยคำบริกรรมออกไป สอง ไม่รู้เฉพาะความรู้สึกที่กายเท่านั้น ให้ระลึกให้สังเกตพิจารณาเข้าสู่กระแสของจิตใจด้วย 

     

    ถ้าหากว่าระลึกจิตใจไม่เป็นการปฏิบัติก็จะตันอยู่อย่างนั้น มันจะตันตรงที่ว่ามีสมาธิเกิดขึ้นลมหายใจไม่มี กายว่างเปล่า มีแต่ความว่าง แล้วจะอยู่อย่างนั้นแหละ อยู่กับความว่าง ๆ นี่คือตัน เพราะว่าเมื่อมีสมาธิกายจะละเอียดลมหายใจละเอียดก็ไม่รู้สึกการไหวความตึงความปวดเจ็บ ไม่รู้สึกเพราะมันมีสมาธิขึ้น มีสมาธิแล้วกายก็ไม่ปวดไม่เจ็บไม่ตึงไม่รู้สึก มีแต่ความเบาความว่าง จิตก็จะไปจ่ออยู่กับความว่าง มีความสงบจริง มีความสุขจริง มีสมาธิจริง 

     

    แต่ไม่เกิดปัญญาไม่เกิดวิปัสสนาปัญญา คือไม่เกิดความรู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เลย ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา มันก็เห็นเที่ยงอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะอะไร เพราะว่าความว่างเปล่านั้นมันไม่ใช่ของจริง มันเป็นบัญญัติ สิ่งที่เป็นบัญญัติย่อมจะไม่มีความเกิดดับ เมื่อไม่มีการเกิดดับ มันก็ไม่มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของไม่มีน่ะ 

     

    ถ้าของมีคือของจริง ๆ จะต้องมีความเกิดดับ เรียกว่าสภาวะ สภาวะคือสิ่งที่มันมีเป็นอยู่จริง ๆ สภาวะจะมีความเกิดดับ เมื่อมันมีความเกิดดับมีความเสื่อมสลายอยู่ มันก็ย่อมจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็น แสดงความเป็นทุกข์ให้เห็น แสดงความเป็นอนิจจังให้เห็น ว่าไม่เที่ยง ก็คือมันเปลี่ยนแปลง เกิดมาแล้วมันก็เปลี่ยน แปรเปลี่ยนไป ทุกข์คือดับไป เกิดแล้วดับไป เรียกว่าทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรียกว่าทุกข์ อนัตตามันก็ปรากฏคือบังคับไม่ได้ 

     

    เมื่อมันมีการเกิด มันมีการดับ มันมีเกิดมีดับนี่ มันบังคับไม่ได้ มันจะเกิดมันก็เกิด มันจะดับมันก็ดับ บังคับอย่าให้ดับมันก็ดับ อย่าให้เกิดมันก็เกิด อนัตตามันจึงปรากฏ ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาก็คือปัญญาที่เข้าไปเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ไม่ใช่คิดเอา ต้องเข้าใจน่ะไม่ใช่คิดเอา เพราะมันคิดเอาก็ได้ อนิจจังทุกขังอนัตตานี่ ความรู้อย่างนี้เขาเรียกว่ารู้โดยสัญญา คิดเอาจำเอา คาดคะเนเอา ใคร่ครวญเอา เอาอดีตอนาคตมาเป็นข้อมูลมันก็บอกได้ว่าไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตน นั้นไม่ใช่วิปัสสนา 

     

    วิปัสสนานี้ต้องเห็นอนิจจังเฉพาะหน้า คือรูปนามแตกดับให้เห็น แล้วก็รู้ชัดขณะแวบเดียวขณะนั้น ๆ เห็นอนิจจังช่วงขณะที่รูปนามแตกดับ เห็นทุกข์ก็กำลังแตกดับให้ดู เห็นอนัตตาก็คือขณะปัจจุบัน ชั่วขณะแว้บหนึ่ง ไม่ได้คิด ไม่มีการนึกคิด 

     

    ฉะนั้นผู้เจริญวิปัสสนานั้น สติต้องระลึก หนึ่งต้องตรงต่อปรมัตถ์ คือต้องตรงต่อรูปนาม สอง จะต้องเป็นปัจจุบัน ต้องดูรูปนามที่เป็นปัจจุบัน ต้องตรงด้วย ถ้าไม่ตรงก็ไม่เห็นอนิจจังเพราะว่าเมื่อไม่ตรงรูปนามมันก็ไปดูบัญญัติ เช่น ไปดูความว่างอย่างนี้ มันจะเห็นเกิดดับไม่ได้ เพราะความว่างมันไม่ใช่ของจริง 

     

    ความว่างมันเป็นบัญญัติ คือเป็นความหมายชนิดหนึ่ง ความไม่มีอะไร มันก็ป้อนอนิจจังทุกขังอนัตตาไม่ได้ ก็ได้แต่ความสงบเรียกว่าได้แค่สมถะ คือความสงบ นั่นเพราะอะไร เพราะว่ารู้เพียงแค่ทางกายสนใจแค่เฉพาะทางกาย พอมีสมาธิกายไม่รู้สึก ลมหายใจไม่มี กายไม่มี สิ่งที่มีอยู่ขณะนั้นคือจิต แต่ไม่เห็น 

     

    จิตนี้มีอยู่ตลอด จิตเกิดดับ เกิดดับๆๆ อยู่ตลอด แล้วก็สิ่งที่ปรุงอยู่ในจิตหรือว่าเจตสิกที่ประกอบอยู่กับจิตก็มีอยู่ตลอด เกิดร่วมกัน เกิดดับ รับอารมณ์เปลี่ยนไป รับอารมณ์ดับไป รับอารมณ์ แม้ขณะที่กำลังไปดูความว่างอยู่จิตก็เกิดดับ จิตที่ไปรู้ความว่างนั้นน่ะดับอยู่เรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่ามันคงที่ 

     

    แต่ทำไมผู้ปฏิบัติไม่เห็น ไม่เห็นเพราะว่าดูไม่ตรงมุม ดูมุมมองมันไม่ถูก เรียกว่าโยนิโสมนสิการไม่ถูก ปรับมุมมองไม่ตรง ปรับคลื่นวิทยุไม่ตรงก็ไม่ดัง ปรับมุมมองไม่ถูก กระแสจิตมันมุมมองออกไปข้างนอก มันมองไปที่ความว่างแต่มันไม่มองเข้ามาที่จิต มันไม่หันมามองที่จิตใจ 

     

    เอาอะไรเป็นตัวที่จะไปมองหรือจะไปดูหรือไปรู้ ก็คือจิตด้วยกัน จิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะนั่นจะต้องเป็นตัวมอง เป็นตัวดูเป็นตัวรู้ เป็นตัวพิจารณา เรียกว่าจิตต้องรู้จิต จิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันก็อยู่ที่สภาพรับรู้อารมณ์ อย่างเช่นเวลาที่กำลังว่างอยู่ 

     

    จิตก็อยู่ที่ตัวที่ไปรู้ความว่าง คือตัวที่กำลังรู้ว่างน่ะคือจิต ก็ระลึกเข้ามาที่สภาพของกำลังรู้ว่างนั้นแหละ อย่างนี้เรียกว่าดูรู้เข้ามาตรงตัวของจิตใจจึงจะเห็นจิตนั้นเขาดับ เกิดหมดไป คือเป็นสภาพรู้ รู้ในที่นี้หมายถึงรู้อารมณ์ รับรู้อารมณ์ มันจะมีกระแสของการรู้ หาย รู้ หายลง รู้แล้วก็หายอย่างรวดเร็ว 

     

    นี่อย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่ปฏิบัติมามีสมาธิความว่าง สำหรับผู้ที่มีปัญญาดีมีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ปรมัตถธรรมอยู่ได้ตลอด คือจะเห็นว่ามันไม่ว่างเว้นเลย มีสภาวะให้รู้อยู่ตลอด ตึงหย่อนไหว เย็นร้อน แข็งอ่อน สบายไม่สบาย รู้สึกมีความรู้สึกที่กายก็ดี ที่ใจก็ดีที่ตัวรู้สภาพรู้ มีอยู่ตลอดเวลา 

     

    ถ้าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจระลึกตรง ถูก เป็น จะมีสภาวะให้รู้อยู่ตลอดเวลา ถ้ามองตรง หันมุมมองที่ถูกตรงก็จะมีสภาวะให้รู้อยู่ตลอด สภาวะนั้นคือปรมัตถธรรม คือรูปนาม เขาก็จะแสดงความหมดไป เกิดหมดไป สิ้นไป สลายไป อย่างที่รูปที่กายเขาก็จะแสดงความสลายตัวๆๆ ไม่ใช่เป็นภาพ การเข้าไปรู้รูปนามนี่ไม่ใช่เป็นภาพ ไม่ใช่เป็นมโนภาพ 

     

    ความสลายตัวความแตกดับของรูปนามก็เป็นเพียงความรู้สึก เช่น รู้สึกมันไหว ความไหวนั้นน่ะแตกดับ ความกระเพื่อม ๆ น่ะ มันมีความสลายตัว ไม่ใช่กระเพื่อมตลอดเวลา มันกระเพื่อมแล้วก็สลาย กระ เพื่อมแล้วก็ดับ แต่ละอันของมัน รูปแต่ละรูปที่มันกระเพื่อม มันจะมีความแตกดับ ผู้ปฏิบัติจึงจะรู้สึกว่ามันมีความกระเพื่อมอยู่ทั่ว ๆ กาย หรือว่ามันมีความสั่นสะเทือน หรือว่ามันพริ้วอยู่ มันไหวอยู่ อย่าไปจดจ้องเพ่งเล็งเกินไป มิฉะนั้นมันก็จะเป็นรูปร่างขึ้นมา 

     

    นี่ปฏิบัติมามาก ๆ แล้วก็ต้องรู้เฉพาะปรมัตถ์ แล้วพยายามคัดบัญญัติออกไป สำหรับคนที่เคยบริกรรมมามากมันจะติด ก็มีปัญหามีภาระที่จะมาแก้ความติดคำบริกรรม เช่น เราเคยกำหนดหนออยู่เรื่อย อะไรก็บอกชื่อสิ่งเหล่านั้นเรื่อยๆๆๆ ก็จะติด เมื่อติดก็ต้องมีภาระในการแก้ แต่สำหรับคนเจริญวิปัสสนานั้นการแก้ไขนั้นมันแก้กันในปัจจุบัน แก้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็แก้กันเป็นขณะๆๆๆ 

     

    มันจะไปแก้อย่างอื่นไม่ได้ มันต้องแก้กันในปัจจุบันๆๆ หมายถึงว่าขณะที่พยายามระลึกรู้ปรมัตถ์อยู่แต่มันก็เผลอไปบริกรรมไปพูด ในขณะที่พูด สติมันก็ระลึกเข้ามาที่ความตรึกนึก มันก็แก้ไขกันได้ขณะหนึ่ง เรียกว่าแก้กันไปได้ขณะหนึ่ง สติก็พยายามระลึกจิต รู้ตัวรู้สภาพรู้ อ้าว มันเผลอพูด ขณะที่มันพูดขึ้นมาในใจว่าหนอก็ดี ว่าอะไรต่ออะไรเป็นชื่อ สติก็ไม่ต้องไปทำอย่างอื่น ก็ต้องแก้กันที่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นมาก็รู้ ระลึกรู้ ๆ 

     

    นี่ก็ขอให้พยายามฟังให้เข้าใจ ถ้าฟังไม่เข้าใจมันก็ไม่สามารถจะไปปฏิบัติได้ พอฟังเข้าใจแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติได้ทั้งหมด ฟังแล้วก็ต้องไปฝึกหัดอีก มันอยู่ที่การฝึกหัด ฝึก ฝึกหัด ฝึกไปฝึกมา ที่นี้ปัญหาว่า ไม่รู้จักจิตใจ กำหนดจิตใจไม่เป็นไม่รู้ ก็เป็นเรื่องยากของหลายๆท่านที่ไม่สามารถจะกำหนดจิตใจได้ ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ตรงไหนอย่างไร หาไม่เจอเลย ไม่เคยหาจิตได้เจอ ไม่เคยกำหนดจิตเลย บางท่านก็เป็นปัญหาอย่างนั้น ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าจิตมันเป็นอย่างไร 

     

    จิตนี้คืออะไร จิตก็คือสภาพที่รับรู้อารมณ์ อารมณ์คืออะไร อารมณ์ก็คือสิ่งที่ถูกรู้ของจิต จิตนี้เป็นตัวผู้รู้อารมณ์ อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิต เรื่องราวต่าง ๆ เรื่องคน เรื่องสัตว์ เรื่องบ้าน เรื่องอะไรต่าง ๆ นั้น เรียกว่าอารมณ์ เรียกว่าธรรมารมณ์ในส่วนบัญญัติ 

     

    แต่ตัวที่ไปนึกถึงเรื่อง ตัวที่ไปนึกถึงบ้านนึกถึงคนนั้นน่ะเรียกว่าจิต เรียกว่าไปรู้อารมณ์คือ มันไปรู้บ้าน รู้เรื่อง รู้นั้น รู้นู้น รู้นี้ ความหมายของจิตว่ารู้อารมณ์เป็นอย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่าอารมณ์ทางมโนทวาร ถ้าอารมณ์ทางหู เสียงน่ะเป็นอารมณ์ ได้ยินนั่นคือจิต เพราะว่าได้ยินมันไปรู้เสียง ดังนั้นได้ยินก็คือจิต เห็นก็เป็นจิต ไปรู้อะไร ก็ไปรู้สีต่าง ๆ นี่อย่างนี้จิต 

     

    การรู้อารมณ์นี่มันมีสามแบบ คือ แบบสัญญาแบบปัญญาแล้วก็แบบวิญญาณ แบบสัญญาก็คือรู้แบบจำได้หมายรู้ ความรู้แบบจำได้ที่เราฟังมาเราจำได้ จำก็เป็นความรู้แบบหนึ่ง ความรู้ที่เป็นปัญญาก็เป็นความรู้ที่มันเป็นความเข้าใจ โดยเฉพาะวิปัสสนานี่เป็นปัญญาแบบแจ่มแจ้ง มันเป็นปัญญาที่ประจักษ์เฉพาะหน้า ชัด รู้พร้อมรู้ชัด ประจักษ์เฉพาะหน้าทันที่ทันใดนั้น 

     

    ส่วนความรู้ที่เป็นวิญญาณหรือจิตก็เป็นความรู้ชนิดที่ว่ารับรู้ คำว่า “รู้” ในลักษณะของจิต คือรับรู้อารมณ์ มันไม่ใช่เป็นความรู้แบบปัญญานะ ความรู้ของจิตไม่ใช่เป็นความรู้แบบสัญญาหรือแบบปัญญา แต่มันเป็นลักษณะการรับรู้อารมณ์ เช่น ได้ยินนี่ก็ไปรับเสียง อย่างนี้เรียกว่ารู้อารมณ์ เห็นก็ไปรับสีต่าง ๆ อย่างนี้เรียกว่ารู้อารมณ์ คิดนึกก็ไปรู้เรื่องราวต่าง ๆ เรียกว่ารู้อารมณ์ 

     

    ในปฏิสัมภิทาบาลีมหาวรรคท่านแสดงจิตมีชื่อเรียกถึงสิบชื่อด้วยกัน เรียกว่าจิต เรียกว่ามโน เรียกว่าหทัย เรียกว่ามานะ เรียกว่าปัณฑระ เรียกว่ามนายตนะ เรียกว่ามนินทรีย์ เรียกว่าวิญญาณ เรียกว่าวิญญาณขันข์ เรียกว่ามโนวิญญาณธาตุ นี่คือธรรมชาติอย่างเดียวกัน มีชื่อเรียกกันไปหลาย ๆ อย่าง แต่โดยสภาวะแล้วคืออย่างเดียวกัน จะเรียกว่าจิตก็ได้ เรียกว่ามโนก็ได้ เรียกว่ามนัสก็ได้ มนายตนะก็ได้ วิญญาณก็ได้ วิญญาณขันข์ก็ได้ 

     

    ท่านแสดงว่าธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต ธรรมชาติใดที่มันมีสภาพคิด คิดไป ๆ นี่เรียกว่าจิต ฉะนั้นกำหนดจิตก็คือกำหนดที่มันคิดน่ะ ธรรมชาติใดที่น้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่ามโน เวลามันคิดนี่มันก็น้อมไปหาอารมณ์ใช่ไหม น้อมไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ หาอารมณ์นั้น นั่นแหละคือจิตดูมาที่สิ่งเหล่านี้ ธรรมชาติฉันทะคือความพอใจที่มีอยู่ในใจนั้นชื่อว่ามนัส ธรรมชาติที่ผ่องใสชื่อว่าปัณฑระ จิตนี่ปรกติมันผ่องใส ถ้าพื้นเพของจิตจริงๆ มันผ่องใส 

     

    แต่ที่มันมาเศร้าหมองขุ่นมัวเพราะกิเลสมันจรมา ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง หงุดหงิดบ้าง นี่มันเป็นแขกจรเข้าไปกลุ้มรุมจิตให้เศร้าหมอง ถ้ามาปฏิบัติไร้เอาสิ่งเหล่านี้ค่อยออกไปน้อยไป จิตเราจะเริ่มผ่องใส กิเลสหมดไปนี่จิตจะผ่องใสเต็มที่ จึงได้ชื่อว่าปัณฑระ มนะที่เป็นอายตนะเครื่องต่อชื่อว่ามนายตนะ จิตนี่เป็นธรรมชาติที่ต่ออารมณ์อยู่ ที่เป็นอินทรีย์ก็เรียกว่ามนินทรีย์ จิตที่เป็นมนินทรีย์ความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ แล้วก็ธรรมชาติใดที่รู้อารมณ์ก็เรียกว่าวิญญาณ คำว่าวิญญาณนี่ก็คือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ เช่น เห็นเรียกว่าจักขุวิญญาณ ได้ยินเรียกว่าโสตวิญญาณ วิญญาณที่เป็นขันธ์ก็เรียกว่าวิญญาณขันธ์ 

     

    วิญญาณถ้ามาจัดเป็นขันธ์ก็คือธรรมชาติมาจัดเป็นกลุ่มเป็นก้อน ธาตุรู้สภาพรู้นี่เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ถ้าเป็นส่วนที่เป็นความจำได้หมายรู้เรียกว่าสัญญาขันธ์ ส่วนใดที่เสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ก็เรียกว่าเวทนาขันธ์ ส่วนใดธรรมชาติใดที่มีแต่เสื่อมสลายเรียกว่า รูปขันธ์ ส่วนใดที่ปรุงแต่งจิตอย่างนั้นเขาเรียกว่าสังขารขันธ์ ถ้ารับรู้อารมณ์เรียกว่า วิญญาณขันธ์ 

     

    ตานี้มนะที่เป็นธาตุ คำว่าธาตุก็คือทรงไว้ คำว่า ธา-ตุ คือธาตุนี่คือธรรมชาติที่ทรงไว้ ซึ่งลักษณะของตน ๆ ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ก็เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ จิตที่รวบรวมไว้ภายในนั้นชื่อว่า หทัย ก็คือจิตภายในที่หทัยวัตถุ อย่างนี้ก็มีชื่อเรียกหลาย ๆ อย่าง 

     

    ท่านแสดงว่า จิตนี้เกิดดับรวดเร็วมาก ชั่วลัดนิ้วมือนี่แสนโกฏิขณะ โดยลักษณะของจิตแล้วบาลีท่านแสดงว่า “ วิชานนลกขณํ ” คือมีลักษณะเป็นการรู้อารมณ์ “ ปุพพํคมรสํ ” มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ จิตนี่เป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นหน้าที่ คำว่ากิจก็เป็นหน้าที่ ตามที่ทรงตรัสเป็นบาลีว่า “ มโน ปุพพํคมา ธมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ” ว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ 

     

    ถ้าบุคคลใดมีใจชั่วแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งใดที่นำแอกไปอยู่ฉันนั้น หมายถึงล้อเกวียนที่หมุนไป ใจนี้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วด้วยใจ ฉะนั้นถ้าบุคคลใดถ้ามีจิตใจไม่ดี มีจิตใจชั่วแล้ว พูดมันก็พูดชั่วไปด้วย ทำก็ทำชั่ว แล้วเมื่อพูดชั่วทำชั่ว ผลของมันก็คือความทุกข์ ความทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจล้อที่หมุนตามรอยเท้าแห่งโค คือโคมันลากเกวียนไป ล้อก็ตามทับรอยเท้าโคนั้นไป...


    14 กรกฎาคม 2013 เวลา 2:32 น. · สาธารณะ
     
  2. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,800
  3. ตั้งฉาก

    ตั้งฉาก เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 เมษายน 2013
    โพสต์:
    495
    ค่าพลัง:
    +573
    หัวข้อ เยี่ยม

    หลุดบัญญัติ +++

    ทำไม ไม่ยอม หลุด กัน หละ เนี่ย ???
     

แชร์หน้านี้

Loading...