“เขาวัง” พระราชวังบนภูเขาแห่งแรก เด่นสง่าคู่เมืองเพชร

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 10 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    Facebook :Travel @ Manager
    0b8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980.jpg
    หากขับรถบนเส้นทางถนนเพชรเกษมที่มุ่งหน้าลงสู่ภาคใต้ เมื่อผ้านเข้าเขตตัวเมือง จ.เพชรบุรี ก็จะเห็นภูเขาสูงที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้านบนมีทั้งวัด วัง และเจดีย์ ที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ซึ่งที่นี่ก็คือ “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” พระราชวังบนภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย

    “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” เดิมเป็นพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มี 3 ยอดติดต่อกัน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเพชรบุรี ยอดที่สูงที่สุดมีความสูง 95 เมตร ภูเขาแห่งนี้เดิมชื่อว่า “เขาสมน” ในภายหลังจึงได้พระราชทานนามว่า “เขามหาสวรรค์” และ “เขามไหสวรรค์”
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-1.jpg
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังและสิ่งก่อสร้างบนพื้นที่ยอดเขาทั้งสามยอด โดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิกและแบบจีนมาใช้ในการออกแบบอาคารต่างๆ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2402 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และ พระเพชรพิไสย ศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นนายงาน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2405 และได้ทรงพระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า “พระนครคีรี”

    ภายหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ได้มีการเสด็จขึ้นมาประทับบนพระนครคีรีอีก จึงทำให้พระราชวังและสิ่งก่อสร้างต่างๆ อยู่ในสภาพทรุดโทรม ในปี พ.ศ.2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์พระตำหนักต่างๆ ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณะอาคารพระที่นั่งต่างๆ พร้อมทั้งรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เครื่องราชูปโภค ซึ่งถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่อื่นกลับมาจัดแสดงภายในพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรค์ และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2522

    สำหรับด้านบนเขาวัง จะเป็นภูเขาทั้งหมดสามยอด เริ่มจาก “ยอดเขาด้านตะวันตก” เป็นที่ตั้งของพระราชวัง ซึ่งมีพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากมาย โดยพื้นที่บางส่วนมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องราชูปโภค
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-2.jpg
    “พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์” เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุดในหมู่พระที่นั่งบนพระนครคีรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนาง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขดัดแปลงใหม่สำหรับเป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะ ปัจจุบันจัดแสดงห้องต่างๆ คือ ท้องพระโรงด้านหน้าเป็นห้องเสวย ท้องพระโรงด้านหลังเป็นห้องบรรทม มุขด้านทิศตะวันออกเป็นห้องทรงพระสำราญ และ มุขด้านทิศตะวันตกเป็นห้องสรง

    “พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรค์” เป็นพระที่นั่งสองชั้นลักษณะคล้ายเก๋งจีน สร้างต่อท้ายกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-3.jpg
    “พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท” เป็นปราสาทจตุรมุขยอดปรางค์ห้ายอด มียอดปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง และยอดปรางค์เล็กที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    “พระที่นั่งราชธรรมสภา” พระที่นั่งชั้นเดียวคล้ายเก๋งจีน ประตูหน้าต่างเป็นวงโค้ง ตกแต่งด้วยเสากลมติดผนัง หัวเสาเป็นศิลปะกรีกแบบไอโอนิค เหนือหัวเสาตกแต่งลวดลายเป็นภาพถังไม้ มีศาสตราวุธประดับธงธวัชปักอยู่ด้านบน พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประชุมบรรยายธรรม และสถานที่สำหรับจัดพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-4.jpg
    “หอชัชวาลเวียงชัย” หรือ “หอตะเกียง” หอทรงกลมสูงคล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนภายในขึ้นข้างบน ชั้นบนรอบนอกเป็นระเบียงประดับลูกกรงแก้ว กระเบื้องเคลือบสีเขียวโดยรอบ หลังคารูปโดม มุงด้วยกระจกโค้ง ภายในโดมห้อยโคมไฟ กลางคืนจะส่องแสงเห็นไปได้ไกลถึงชายทะเล นักเดินเรือได้อาศัยแสงไฟจากโคมนี้เป็นประภาคารที่หมายนำเรือเข้าอ่าวบ้านแหลมในเวลากลางคืน จากหอชัชวาลเวียงชัยชั้นบนสุดสามารถชมวิวทิวทัศน์เมืองเพชรบุรีได้โดยรอบตลอดจนถึงชายทะเล ด้านหน้าหอชัชวาลเวียงชัยมีเสาธงสูงสำหรับชักธงมหาราชขึ้นขณะเสด็จประทับที่พระนครคีรี

    “หอพิมานเพชรมเหศวร์” หอนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็กๆ ด้านหน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ สร้างไว้เป็นอาคารเล็กๆ 3 หลัง หอกลางมีขนาดใหญ่กว่าสองหอด้านข้าง มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายใน และเป็นห้องทรงศีลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หอด้านขวามือเป็นศาลพระภูมิ หอด้านซ้ายเป็นที่ประโคมสังคีต ยังมี เสาสะดึงไม้ สำหรับแขวนฆ้องชัยปรากฏอยู่ หน้าหอด้านข้างทั้งสองมีฐานเสาธงข้างละต้น
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-5.jpg
    “ยอดกลาง” เป็นที่ตั้งของ “พระธาตุจอมเพชร” เป็นเจดีย์ทรงระฆังสีขาว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทับเจดีย์เดิมสมัยอยุธยา
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-6.jpg
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-7.jpg
    “ยอดเขาด้านตะวันออก” เป็นที่ตั้งของ “วัดพระแก้ว” ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานคร มีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ “พระวิหาร” ผนังอาคารประดับด้วยหินอ่อน ด้านหน้าบันเป็นงานปูนปั้นพระมหาพิชัยมงกุฎ “พระสุทธเสลเจดีย์” ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์หินสีเทาอมเขียวซึ่งนำมาจากเกาะสีชัง “หอระฆัง” อยู่ด้านหน้าพระวิหาร เป็นหอระฆังจตุรมุข ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม “พระปรางค์แดง” ตั้งอยู่ด้านหน้าตรงข้ามกับพระวิหาร เป็นพระปรางค์จตุรมุขสี่เหลี่ยมย่อมุม ทาสีแดงทั้งองค์ ภายในโปร่ง ประดิษฐานพระพุทธรูป “หอจตุเวทย์ปริตพัจน์” เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสดับพระธรรมเทศนา และพระปริตรในวันธรรมสวนะ
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-8.jpg
    ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมเขาวังได้ 2 วิธี คือ การเดินขึ้น หรือ โดยสารรถรางไฟฟ้า เมื่อขึ้นถึงด้านบนแล้วก็ยังมีเส้นทางเดินลัดเลาะไปตามหมู่พระที่นั่ง อาคารต่างๆ แล้วเส้นทางระหว่างยอดเขาทั้งสาม โดยระหว่างเดินชมนั้นจะมีลิงอยู่ตลอดเส้นทาง จึงมีข้อควรระวังคือห้ามให้อาหารลิง ไม่ยุแหย่ หรือจับต้องลิง เนื่องจากอาจถูกลิงทำร้ายได้ และควรระวังกระเป๋าหิ้ว แก้วน้ำ ถุงอาหาร เพราะอาจถูกลิงแย่งได้
    8b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-9.jpg
    b1e0b887-e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8a7e0b8b1e0b887e0b89ae0b899e0b8a0e0b8b9e0b980-10.jpg
    * * * * * * * * * * * * * * * * *

    “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. (พิพิธภัณฑ์ด้านบนปิดเวลา 16.00 น.) ค่าเข้าชม 20 บาท นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีได้โดยการเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า แบบขึ้น-ลง 50 บาท แบบเที่ยวเดียว 30 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-3240-1006 www.phranakhonkhiri.com
    สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/travel/detail/9610000122611
     

แชร์หน้านี้

Loading...