“ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย GIORNADO, 6 พฤศจิกายน 2016.

  1. GIORNADO

    GIORNADO สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +21
    [​IMG]


    การจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ก็ต้องใช้กับการดับความทุกข์ภายในใจ ใช้กับการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ถ้ามีความสามารถมากหรือมีบุญมาก สามารถหาทรัพย์หรือมีทรัพย์มากเกินความจำเป็น ก็อย่าเอาไปใช้กับการเลี้ยงดูกิเลสตัณหา ให้เอามาใช้เพื่อดับความทุกข์ภายในใจ ด้วยการทำทาน ทำให้เต็มที่ไปเลย ทำอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำ พระพุทธเจ้าทรงสละพระราชสมบัติ นี่เรียกว่าทำทานอย่างเต็มที่ ตอนที่ทรงออกจากพระราชวัง ไม่มีสมบัติติดตามพระองค์ไปแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทรงสวมใส่อยู่ ตอนที่ออกไปก็พบกับขอทาน ที่อยากจะได้เสื้อผ้าอาภรณ์ ที่พระองค์สวมใส่ ก็เลยขอแลกเปลี่ยน พระองค์ก็ยินดีสละ ยินดีแลกเปลี่ยน เอาเสื้อผ้าอาภรณ์ของขอทาน มาสวมใส่ สละเสื้อผ้าอาภรณ์ของพระราชโอรสไป นี่แหละคือการกระทำที่จะผลักดันให้ได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การกระทำของขอทาน เป็นการกระทำเพื่อให้เวียนว่ายตายเกิดต่อไป เพราะการกระทำของขอทานนี้ ทำด้วยความโลภ อยากได้ของสวยๆงามๆ เพราะความโง่ ไม่รู้ว่าการกระทำอย่างนั้น เป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหา เป็นการส่งเสริมภพชาติให้มีมากขึ้นไป แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักปราชญ์เป็นคนฉลาด ทรงเห็นว่าการสละเสื้อผ้าอาภรณ์อันสวยงาม เป็นการตัดภพตัดชาติ ตัดกิเลสตัณหาให้น้อยลงไป ไม่ทรงยึดติดกับของสวยๆงามๆ ของราคาแพงๆ ทรงใช้ด้วยเหตุด้วยผล ตามความจำเป็น ตามความต้องการของร่างกายเท่านั้น


    เป็นการกระทำที่พวกเราควรยึดเป็นตัวอย่าง พวกเราเป็นชาวพุทธ มีพุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีสังฆัง สรณัง คัจฉามิ แล้วการปฏิบัติของเรานี้ เป็นไปตามพระพุทธพระสงฆ์หรือเปล่า หรือสวนกัน ปากก็ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ แต่การกระทำนี้ เป็นไปในทางเดียวกับการพูดของเราหรือเปล่า ถ้าเราถือพระพุทธเจ้า ถือพระอริยสงฆ์สาวกเป็นสรณะ การกระทำของเราก็ต้องไปในทางเดียวกัน คือทางแห่งความเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ มักน้อยก็คือเอาเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องการมากไปกว่าความจำเป็น ถ้าไม่ได้ตามเท่าที่จำเป็น ก็เอาเท่าที่ได้ คือยินดีตามมีตามเกิด เรียกว่าสันโดษ ถ้าได้น้อยกว่าความจำเป็น ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ให้คิดอย่างนี้ ถ้าไม่ได้เลยก็แล้วไป ถ้าจะต้องตายไปก็ตายด้วยการฆ่ากิเลสความมักมาก จะไม่ขาดทุน เพราะความทุกข์ภายในใจจะมีน้อยลงไป แต่ถ้าตายด้วยความโลภมาก อยากได้มาก จะตายแบบขาดทุน เพราะจะมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น นี่คือเรื่องของการปฏิบัติของพวกเรา ที่ควรพิจารณาอยู่เนืองๆ


    ควรถามตัวเองว่าวันเวลาผ่านไป ผ่านไป เรากำลังทำอะไรอยู่ เพราะเวลาเป็นเหมือนงู ที่ค่อยๆเขมือบเหยื่อเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย เวลาก็ค่อยๆกลืนกินสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายไปทีละเล็กทีละน้อย ชีวิตของเราตอนนี้ก็ถูกเวลาค่อยๆเขมือบไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนนี้ถึงท้องถึงหน้าอกถึงศีรษะหรือถึงที่ไหนแล้ว ควรพิจารณาดู อย่าไปคิดว่าเราอยู่อย่างยาวนาน ขอให้คิดว่าเราได้ไปหาหมอมา แล้วหมอก็บอกว่าเป็นโรคร้าย มีเวลาเหลือไม่มากแล้ว รักษาไม่ได้แล้ว นอกจากเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมทำสิ่งที่ควรจะทำ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะทำบุญกัน เวลาเข้าโรงพยาบาลนี้ จะถวายผ้าบังสุกุลกัน หรือเวลาตายไปแล้ว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับผู้ตาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ที่ทำให้ผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ได้รับประโยชน์ เพราะไม่ได้ทำ


    ประโยชน์จะเกิดกับผู้กระทำ ไม่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น ถ้าจะได้ก็ได้เพียงบุญอุทิศ ซึ่งถ้าเรามีบุญอยู่แล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อยู่ดี เพราะบุญอุทิศเป็นเหมือนเงินที่ให้ขอทาน ถ้าเรามีเงินติดตัวไป เราก็จะมีเงินใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เงินที่อุทิศก็จะไม่มีความหมายอะไร เพราะเป็นจำนวนน้อยมาก นอกจากว่าไม่มีเงินติดตัวไปเลย ต้องไปขอข้าวเขากินเป็นเหมือนขอทาน ถ้าอย่างนั้นบุญอุทิศก็จะเป็นประโยชน์บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยให้มีเงินซื้อข้าวกินไปเป็นระยะๆ ดังที่หลวงตาสอนอยู่เรื่อยๆว่า ตอนเราตายแล้วอย่ามากุสลาให้เรา เพราะคำว่ากุสลาก็คือความฉลาด ให้สร้างความฉลาดในขณะที่มีชีวิตอยู่ ความฉลาดก็คือปัญญา การที่จะเกิดปัญญาได้ ก็ต้องเกิดจากทานศีลภาวนา ต้องทำทานก่อนแล้วก็รักษาศีล แล้วก็เจริญสมถภาวนา แล้วถึงมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ถึงจะได้กุศลคือความฉลาด ความฉลาดก็คือการมีดวงตาเห็นธรรม เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคภายในใจ ไม่ใช่เห็นภายนอก เช่นเห็นในหนังสือ หรือเห็นจากการได้ยินได้ฟัง อย่างที่ได้ยินได้ฟังในขณะนี้ อย่างนี้ยังไม่ได้เห็นอย่างแท้จริง จะต้องเห็นภายในใจ เห็นเวลาเกิดความทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจ ว่าเกิดจากความอยาก แล้วก็เห็นการดับของความเศร้าโศกเสียใจด้วยปัญญา ที่เห็นว่าสิ่งที่เราเศร้าโศกเสียใจนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดแล้วต้องมีดับไปเป็นธรรมดา เศร้าโศกเสียใจไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำให้สิ่งที่ดับไปกลับคืนมา พอเห็นอย่างนี้ก็จะหยุดความอยากให้สิ่งที่ดับไปกลับมาอีก ความเศร้าโศกเสียใจก็จะหายไป นี่คือการเห็นธรรม นี่คือกุสลา ธัมมา


    ที่ให้ปฏิบัติกันก็เพื่อให้มาถึงจุดนี้ ให้มาเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจ เกิดจากความอยาก อยากจะให้สิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดแล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เกิดแล้วดับไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่คือกุสลา ธัมมา ต้องทำตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นตอนนี้พวกเราก็กำลังมาทำ กุสลา ธัมมากัน ในเบื้องต้นก็ต้องฟังก่อน เรียกว่าสุตมยปัญญา การฟังธรรมะจะทำให้เกิดปัญญา ความรู้ความฉลาด เป็นกุศลอันดับที่ ๑ ที่จะนำไปสู่กุสลาอันดับที่ ๒ และที่ ๓ ต่อไป กุสลาอันดับที่ ๒ ก็คือจินตามยปัญญา ก็คือการพินิจใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติด ต้องไม่อยากให้เขาเป็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง คือต้องไม่อยากให้เขาเที่ยง ไม่อยากให้เขาให้ความสุขกับเรา ไม่อยากให้เขาเป็นของเรา เพราะเป็นไปไม่ได้ ใคร่ครวญพิจารณาไปเรื่อยๆ เป็นการเตือนใจสอนใจไว้รับกับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น เรียกว่าจินตามยปัญญา ปัญญาขั้นที่ ๑ และ ๒ ยังไม่ใช่กุสลาที่แท้จริง


    กุสลาที่แท้จริงจะเกิดในขณะที่ได้เผชิญกับความจริง เผชิญกับการดับของสิ่งที่เราไม่ต้องการให้ดับ เกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างรุนแรงภายในจิตใจ แล้วก็ใช้สติปัญญาที่ได้ฝึกได้ซ้อมมาจากการได้ยินได้ฟัง และจากการใคร่ครวญพินิจพิจารณาอยู่อย่างเนืองๆนี้ มาใช้กับเหตุการณ์จริง มาสอนใจให้ยอมรับความจริงว่า สิ่งใดที่เกิดแล้วย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอใจยอมรับได้แล้วก็จะหยุดความอยาก ที่จะให้สิ่งที่ดับไปนั้นกลับคืนมา พอรับความจริงได้ ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์ใจที่รุนแรงก็จะหายไป จะรู้ขึ้นมาภายในใจว่า รู้แล้วหนอ ฉลาดแล้วหนอ เข้าใจแล้วหนอ ในคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ว่าธรรมทั้งหลายมีเกิดย่อมมีดับเป็นธรรมดา ธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา นี่คือกุสลา ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มที่การให้ทาน ถ้าให้มากก็จะมีเวลาปฏิบัติมาก ถ้าให้น้อยก็แสดงว่ายังมีความผูกพัน กับการใช้เงินกับการหาเงินอยู่ เวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีไม่มาก ถ้าอยากจะมีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่ ก็ต้องให้อย่างเต็มที่ ไม่ใช้เงินใช้ทองไม่หาเงินหาทอง หาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียว นี่คือการสร้างประโยชน์ให้กับเรา พอจิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว ก็สามารถสอนให้คนอื่นหลุดพ้นตามได้อย่างไม่มีจำนวนจำกัด มีเวลาที่จะเป็นตัวจำกัดว่าจะสอนได้มากน้อยเพียงไร


    อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนวันละ ๔ รอบ รอบบ่ายก็สอนฆราวาสญาติโยม รอบค่ำก็สอนพระภิกษุสามเณร รอบดึกก็สอนเทวดา ตอนเช้ามืดก่อนที่จะทรงออกบิณฑบาต ก็ทรงเล็งญาณดูว่า จะไปสอนให้กับผู้ใดเป็นกรณีพิเศษในวันนั้น นี่คือการทำหน้าที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นของพระพุทธเจ้า หลังจากที่ได้ทรงทำประโยชน์ของพระองค์ได้สำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว ทรงทำอยู่ถึง ๔๕ ปีด้วยกัน ประโยชน์ของพระองค์ใช้เวลาเพียง ๖ ปี เพราะฉะนั้นอย่าหวั่นไหวเวลาถูกว่าเห็นแก่ตัว เวลาเราออกไปปฏิบัติ ไปทำประโยชน์ให้กับตัวเรา เพราะหลังจากที่เราทำประโยชน์ของเราเสร็จแล้ว เราจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากกว่า เพราะประโยชน์ที่เราทำให้กับผู้อื่นในขณะนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่แท้จริง เป็นประโยชน์ชั่วคราว เช่นช่วยเหลือให้ร่างกายของผู้อื่นให้อยู่ต่อไป ไม่ตายไปก่อนเวลาอันสมควร หรือไม่เช่นนั้น ก็จะไปสร้างโทษให้แก่ผู้อื่น ด้วยการทำประโยชน์ให้แก่กิเลสตัณหาของผู้อื่น จึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออย่างแท้จริง เพราะไม่ได้ช่วยทำให้จิตใจมีความทุกข์น้อยลงไป มีภพชาติน้อยลงไป กลับส่งเสริมให้มีภพชาติเพิ่มมากขึ้นไป


    ดังนั้นถ้าช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ในตอนนี้ จะไม่ได้ช่วยให้เขาได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าช่วยทางร่างกายก็จะได้ประโยชน์เพียงชั่วคราว ร่างกายจะได้อยู่รับความทุกข์ต่อไปอีก ถ้าไปช่วยกิเลสตัณหาของเขา ก็ยิ่งทำให้เขามีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่นไม่กล้าทิ้งสามี ไม่กล้าทิ้งภรรยา เพราะกลัวเขาจะเหงา อยู่คนเดียวไม่ได้ อย่างนี้เป็นการช่วยสร้างความทุกข์ให้กับใจของเขา ไม่ได้ช่วยให้ทุกข์ของเขาน้อยลงไป ถ้าเราจากเขาไปในวันนี้ เขาก็จะต้องทำใจ อยู่คนเดียว ถ้าอยู่คนเดียวได้ ก็จะมีความทุกข์น้อยกว่าเวลาอยู่กับคู่ครอง เพราะว่าเวลามีคู่ครองก็จะเกิดความอยาก เวลาไม่ได้ทำตามความอยาก ก็จะเกิดความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แต่ถ้าต้องอยู่คนเดียว ก็ต้องทำใจให้สงบ พอทำใจให้สงบได้ ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ก็จะไม่เกิด การจากไปของเรากลับเป็นประโยชน์กับเขาเสียอีก ถ้าเขามีปัญญา คือถ้าสูญเสียคนที่รักไป แล้วก็ไม่หาแฟนใหม่ เพราะเห็นโทษของการมีแฟนมีคู่รัก ว่ามีทุกข์มากกว่าสุข จะเข็ดหลาบไม่กล้ามีคนใหม่ แล้วก็จะน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ทำใจให้สงบ เจริญอสุภกรรมฐาน เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย จะได้ดับราคะตัณหา อยู่คนเดียวได้เป็นโสดได้ การจากไปของเรานี้ กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเขา เพราะถ้าไม่จากเขาไป ก็จะไม่มีเหตุให้เขาต้องแก้ปัญหา ดังที่มีคำพูดว่า ทุกข์บ่มี ปัญญาบ่เกิด ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็จะไม่ใช้สติปัญญามาแก้ พอมีความทุกข์ก็จะต้องใช้ปัญญา เพราะปัญญาจะเป็นผู้ดับความทุกข์ภายในใจ ปัญญาที่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตานี่แหละ ที่เห็นว่ามีเกิดย่อมมีดับไปเป็นธรรมดา
    ถ้าไปยึดไปติดกับสิ่งที่มีเกิดมีดับก็จะต้องทุกข์ ให้คิดอย่างนี้ แล้วก็จะทำแบบพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าทรงคิดอย่างนี้ ทรงคิดว่าตอนที่พระองค์จากเขาไป จะได้ทุกข์ใจกัน จะได้ทำใจกัน หลังจากที่พระองค์ได้บรรลุแล้ว ก็ทรงกลับมาช่วยเหลือเขา เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มีพระญาติออกบวชตามพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ลูกก็ได้บวชเป็นพระอรหันต์ แม่เลี้ยงก็ได้บวช พ่อก็ได้บรรลุธรรม นี่แหละคือการทำประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เริ่มที่ความไม่ประมาทนี้ ต้องสมมุติว่าเราได้ไปหาหมอมาเมื่อวานนี้ แล้วหมอบอกว่าจะต้องตายวันนี้พรุ่งนี้ อย่างวันนี้หมอคนนี้ก็ได้บอกแล้วว่า พวกคุณอาจจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะไม่มีใครรับรองได้ ถ้าคิดอย่างนี้จะได้รีบทำประโยชน์ของตน เพราะโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์อย่างนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ.


    กัณฑ์ที่ ๔๕๑ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖ (จุลธรรมนำใจ ๓๒)
    “ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง”
    พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
    https://www.facebook.com/pagesharedhamma/posts/369456466724804:0?ft
     

แชร์หน้านี้

Loading...