เรื่องเด่น “…เกาะเกี่ยวกันตั้งแต่อดีตชาติ…”

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 5 กันยายน 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    044-พลังจิต.jpg

    “…เกาะเกี่ยวกันตั้งแต่อดีตชาติ…”


    “…ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์จันทร์ สิริจันโท อายุมากกว่าเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) อายุ ๑๓ – ๑๔ ปี

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเณรได้ ๗ ปี เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต) เป็นเณรของเพิ่นครูอาจารย์เสาร์(กันตสีโล) มาก่อน รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเป็นน้อยเป็นหนุ่ม

    แต่พูดถึงการได้ธรรมะของแต่ละองค์นั้นไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ตื้อ (อจลธมฺโม) ผู้ฟังมาแต่เพิ่นครูอาจารย์มั่น(ภูริทตฺโต) มาเล่าให้ผู้ข้าฯ ฟังว่า

    “ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ธรรมะอริยธรรมตั้งแต่พระโสดาบันเรียงลำดับจนได้พระอริยชั้นสุดท้าย ตั้งแต่อยู่เขาคอก อยู่วัดสุปัฏนาราม อยู่วัดบรมนิวาส แล้วไปได้พระอรหันตผลอยู่จอมยองเชียงตุง แก้ไขตนเอง ปลดเปลื้องออกไปเป็นลำดับ

    สุดท้ายมาติด อนัตตา อยู่ ๑๐ ปี ตอนนี้หล่ะ ตอนที่เพิ่นติดอนัตตานี้หล่ะ เพิ่นครูอาจารย์มั่น(ภูริทตฺโต) กราบเรียนชี้แจงชี้แนะให้จึงแก้ไขโดยลำพังพ้นไปได้

    ที่เพิ่นครูอาจารย์มั่น(ภูริทตฺโต) มาช่วยเหลือบอกแนวทางให้ ก็เพราะเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ได้ธรรมะชั้นที่สาม อนาคามี แต่อยู่ถ้ำสิงโต บวชเป็นพระแล้วได้ ๑๑ ปี แปลว่าเพิ่นครูอาจารยมั่น (ภูริทตฺโต) ได้ธรรมะชั้นที่สามก่อนท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ

    แต่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ธรรมะชั้นต้นก่อนเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) แต่พอมาถึงธรรมะอริยผลชั้นสุดท้าย ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ก่อน

    เหตุที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯดำเนินมรรคปฏิปทาของเพิ่นได้ช้า ก็เพราะไปติดในตัวหนังสือตำรับตำรา จนที่สุดได้อาศัยหนังสือสังขิตโตวาทของเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัส เป็นหนังสือธรรมศึกษามาพินิจพิเคราะห์ตาม จิตใจของท่านจึงละหนีวางออกจากตำราได้ จนที่สุดเชื่อแน่ในการเดินตามไตรสิกขา และที่สุดเป็นอริยปราชญ์ผู้ถึงสุคโตได้ ได้สำเร็จมรรคผลพ้นทุกข์ไปได้

    แต่เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) นั้นเหตุที่เพิ่นถือเอาอุปนิสัยที่หนักทางปฏิบัติมานานหลายภพหลายชาติ จึงแก้ไขตัวเองได้ง่าย แปลว่าเพิ่นนั่งเอาที่เดียวได้ธรรมะสามระดับ เมื่อเพิ่นมั่นใจมั่นคงชัดแจ้งในธรรมแล้วจึงเกาะเกี่ยวพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาพระเณร และผู้คนที่มีนิสสัย เดินธุดงค์เลาะไปมาทางเขตอีสาน เมืองอุบลฯ บ้านห้วยทราย คำชะอี นครพนม เมืองเพ็ญ เมืองอุดร ถ้ำผาบิ้ง เมืองเลย บ้านค้อ บ้านผือ เมืองอุดร ท่าบ่อ หนองคาย สามผง เลาะกลับลงไปเมืองอุบลฯ แล้วก็หนีจากหมู่ลูกศิษย์ลูกหาพระเณรผู้คน เข้าอยู่กรุงเทพวัดสระปทุม กรุงเทพฯ

    เมื่อเข้าอยู่วัดสระปทุมแล้ว ก็เข้าศึกษาแก้ไขสิ่งอันที่ติดอยู่ในภายในกับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เรียกว่าศึกษาสอบถามไล่เลียงตามหลักปริยัติ คือแก้ไขปลดเปลื้อง อนัตตา

    ท่านอาจารย์ตื้อ (อจลธมฺโม) ผู้เคยได้สอบถามกับเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) บอกว่า เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ติดอนัตตาอยู่ ๑๗ ปี เพราะโทษที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับศิษย์หาพระเณรผู้คน โปรดสอนผู้คนพระเณรให้ได้หลักใจหลักปฏิบัติในวงศ์ธรรมยุติในอริยวงศ์

    เมื่อหลบหนีจากลูกศิษย์หมู่มากแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จึงเอาขึ้นไปไว้วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ให้อยู่เป็นหลักทางเมืองเหนือ เมืองเชียงใหม่

    แต่คนเมืองเหนือ เมืองเชียงใหม่ต้องการอยากได้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้อยู่เป็นหลักของพวกเขา ทีนี้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จึงได้ออกอุบายให้เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เทศน์ธรรมกำราบจิตใจของผู้คนหมู่นั้น

    เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) จึงได้เทศน์เรื่องมูลกรรมฐาน มูลของการปฏิบัติ

    แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็สำทับรับรองย้ำความมั่นใจแก่หมู่พวกชาวศรัทธาเมืองเชียงใหม่ ว่า …..

    “ ท่านอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เทศน์ธรรมมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย เป็นธรรมที่เป็นแดนเกิดของความพ้นทุกข์ได้ แจ่มแจ้งดีมาก ใครปฏิบัติตามก็ได้ความเท่านั้นเอง ”

    เหตุที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กล่าวชมเชยไว้เช่นนี้ก็เพื่อปลดเปลื้องความไม่พอใจของชาวศรัทธาออกไป

    เพราะเขาไม่พอใจว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็มีลูกศิษย์ที่เป็นพระมหาเปรียญก็มากรูปหลายตน ทำไมเอาพระทางอีสานนักธรรมก็ไม่ได้สักนักธรรม ศึกษาเล่าเรียนก็ไม่มาก มาอยู่เป็นเค้าหลักวัด จนบางคนแสดงความไม่พอใจออกมาก็มี

    แต่เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) แล้ว ก็เป็นอันกำราบจิตใจของเขาให้ลดพยศ ทิฐิ มานะ ลงได้

    เมื่อชาวศรัทธาเมืองเชียงใหม่วัดเจดีย์หลวง เขาเคารพเลื่อมใสศรัทธา ยินดี พออกพอใจแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ได้เป็นพระครูวินัยธร บวชพระบวชเณรได้

    ส่วนภายในจิตใจของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ของเพิ่นอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) นั้นรู้ถึงกันอยู่ว่ากิจของเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ยังอยู่ และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็รู้อยู่แก่ใจภายในว่าเหมือนกับการปล่อยเสือเข้าป่า

    เพราะธรรมชาติของเสือต้องอยู่ป่า เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เป็นพระธุดงคกรรมฐานก็ต้องเข้าป่าแน่นอน เหตุนี้ท่านจึงได้บอกว่า….

    “ ท่านมั่น (ภูริทตฺโต) เห็นตัวเองมาแล้ว แต่ยังไม่แจ้งในตนเอง แล้วอย่าได้กังวลกับผมนะ เพราะผมนี้อายุมากแล้ว ผมรักษากาย วาจา ใจ ของผมได้ถึงสุขแล้ว ”

    เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) อยู่จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง กับท่านอาจารย์ลี(ธมฺมธโร) วัดอโศการาม อยู่รักษาวัดเจดีย์หลวง บวชให้ปลัดเกตุ คนเมืองจันท์ รูปเดียวเท่านั้น (พระปลัดเกตุ วณฺณโก)

    ออกพรรษาแล้วก็หนีเข้าดอยเข้าป่าไปอยู่ แม่ริม บ้านป่ง เจดีย์เบี้ย เวียงป่าเป้า ปางเมี่ยง ทุ่งบวกข้าว ปางเมี่ยง แม่สาย พร้าว แม่งัด แม่ทองทิพย์ แม่สรวย ลงมาอยู่แม่กอย มาปลดสายบำเพ็ญบารมีกับคู่บำเพ็ญบารมีของเพิ่นให้หลุดไปได้แล้วไปได้

    แล้วตัวเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) จึงได้แก้ไขตนเองได้หมดจดเป็นธรรมะที่สุดแห่งอริยะเจ้า

    นี้หล่ะ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กับเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เกาะเกี่ยวเกี่ยวพันกันมาอย่างนี้แม้ก่อนบวชก็รู้จักคุ้นเคยกันมาเป็นหมอร้องหมอลำ ลำพื้นลำเรื่องโต้กลอนต่อสาว

    แม้แต่ก่อนเก่าหลายภพหลายชาติก็เกาะเกี่ยวกันมาตลอด

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เก่งปริยัติ เก่งปฏิบัติสัมภิทา ติดอยู่กับปริยัติตำรา
    เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เก่งปฏิบัติ เก่งธุดงค์ แต่มาติดอยู่กับการที่ยังหมางคู่บำเพ็ญปลดปลงแก้ไขยังไม่ได้

    แม้ไม่ติดในภพแต่ยังติดในวิภพคือสายบุญสายธรรมที่ได้ประกอบดีชั่วร่วมกันมา พอธุดงค์ไปปะอยู่บ้านแม่กอย จึงได้ปลดเปลื้องแก้ไขออกไปได้

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ปฏิบัติไปแล้วมาติดอยู่กับปฏิจจสมุปบาทอวิชชาของอนัตตา

    เพิ่นครูอาจารย์มั่น(ภูริทตฺโต) มาติดอยู่กับไตรลักษณญาณตัวสุดท้ายอนัตตาวิภัช”

    “ ท่านเจ้าคุณอุบาลี (คุณูปมาจารย์ จันทร์ สิริจนฺโท) เพิ่นเป็นตัวอย่าง แก่พระสายปฏิบัติได้อย่างหาที่ติไม่ได้ เพราะเพิ่นปฏิบัติตรง มักน้อยสันโดษ ยกสัลเลขปฏิบัติขึ้นมาเป็นเครื่องประกอบ ธุดงควัตรออกป่าหาอยู่รุกขมูลมาตลอด ขึ้นเขาลงห้วยเข้าป่าไม่เหน็ดไม่เหนื่อยแต่กลับเป็นกำลังให้กับตัวเพิ่นเอง รักษาธรรม รักษาพระวินัย การปกครองหมู่คณะก็มิได้ละทิ้ง

    ขนบธรรมเนียมประเพณีของนักบวชเพิ่นก็ทรงไว้ได้เป็นแบบอย่าง เป็นผู้ปฏิบัติถึงผลได้ ปฏิสัมภิทา ๔ ข้อ เพิ่นได้ครบหมดทุกข้อรอบคอบไม่หวั่นไหว ได้สุขเกษม

    ผู้ข้าฯ ไปพักภาวนาอยู่วัดบ้านป่ง แม่แตง เพิ่นมาสอนทุกคืน ก็อัศจรรย์ใจอยู่เพราะชีวิตนี้ไม่เคยได้พบปะกับเพิ่น ได้แต่ศึกษาจากหนังสือประวัติหนังสือธรรม แต่ทำไมคุ้นเคยรู้จักกับเพิ่นได้ ก็กังขาอยู่นานหลายวัน

    พอรู้จักเหตุผลได้ในภายหลังว่าโอ…. มันเป็นเรื่องสืบมาแต่ภพชาติหนหลังต่างหาก เพิ่นเคยเป็นพ่อ, เคยเป็นปู่, เคยเป็นอาจารย์ อย่างชีวิตที่แล้วมานี้เกิดอยู่กรุงเทพฯ ก็ได้พบปะยินดีต่อกันอยู่

    อย่างชีวิตที่เกิดอยู่เมืองนครวัด ตัวเพิ่นเป็นกษัตริย์

    เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เป็นราชโอรส

    ผู้ข้าฯ กับท่านอาจารย์ลี (ธมฺมธโร) เป็นเศรษฐีคอยช่วยเหลือดูแลในการคลังการหาใช้รายได้รายจ่าย

    ชีวิตที่เกิดอยู่เมืองเชียงใหม่ ตัวเพิ่นเป็นประมุขของพระสงฆ์สามเณรเป็นสังฆนายก ชื่อ สิริมังคลาจารย์

    ผู้ข้าฯ เป็นกษัตริย์ ท่านอาจารย์ตื้อ (อจลธมฺโม) เป็นโจร มาบุกจับเอาตัวเพิ่นกับพระอุปัฏฐากไปกักตัวไว้ทำบุญทำทานอยู่ที่ถ้ำในป่าลึก เมืองฝาง

    พระอุปัฏฐากของเพิ่นในคราวนั้นก็คือท่านอาจารย์แหวน (สุจิณฺโณ), สมเด็จอ้วน (ติสฺโส) ในชีวิตนี้เคยเป็นลูกคนใหญ่ ท่านอาจารย์ลี (ธัมมธโร) วัดอโศการาม เป็นลูกคนน้อยของตาโจรคนนั้น

    อย่างนี้แหละการเกิดการตายมันหมุนไปหมุนมา เกาะเกี่ยวกันอยู่กับกรรมดีบ้างกรรมชั่วบ้าง วัฏฏโก เวียนมา วัฏฏกา เวียนไป จิตกับใจไปกับ กัมมุนา จึงเป็นโลกเป็นสงสาร หาที่จบที่จอดมิได้

    มาถึงชีวิตนี้ ต่างคนก็ต่างหนีไปตามทางของใครของมัน เพราะมันเต็มที่พอดีแล้วในตนของตน เป็นมรรคเป็นผลไปแล้ว เหลือแต่ผู้ข้าฯ ผู้เป็นหลวงตาบ้านนอกคอกนา งมๆ ซาวๆ ไปตามเรื่องของตนเอง ไปตามยถากรรมของธรรม …”

    ธรรมะประวัติองค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (วัดหนองน่อง) บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

    ๙ สิงหาคม ๒๕๖๐

    กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุก ๆ ท่าน

    [​IMG]
    [​IMG]

    ที่มา พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น
     

แชร์หน้านี้

Loading...