★ อภิระบบ (Super System)

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย plaspirit, 9 กันยายน 2016.

  1. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    [​IMG]

    อภิระบบ (Super System)

    การฝึกมหาสติจนเข้าถึงมหาสัจจะ จะทำให้เราเข้าใจทุกอย่างในความเป็นอยู่ ระบบ Gods ระบบ Galatic Federation ระบบกรรม ระบบโพธิสัตว์ ระบบพุทธะ จะเข้าใจหมดทุกอย่าง

    คนที่ไม่มีความรู้เหล่านี้ก็จะไม่เข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลายของสิ่งต่างๆ หรือไม่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการต่างๆ เมื่อไม่รู้พอใครว่าอย่างไรก็เชื่อเขาหรือไม่เชื่อเขา เชื่อหรือไม่เชื่อทั้งๆ ที่ตนก็ไม่รู้ไม่เห็นอาการของอวิชชาประการหนึ่ง ซึ่งคนค่อนโลกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วงอย่างนี้ชีวิตพวกเขามีความเสี่ยงที่จะหลงผิดสูงมาก ดังนั้นเราควรเรียนรู้กันตามกำลัง

    ต่อไปลองมาดูว่าจะสร้างมหาสติให้เพียงพอกับการอยู่ในอภิระบบได้อย่างไรบ้าง

    1.เรียนรู้การบริหารระบบโลก
    2.เรียนรู้การบริหารระบบกรรม
    3.เรียนรู้การบริหารระบธรรม

    อภิระบบ คือ supersystem ที่ซ้อนกันอยู่ ใหญ่ๆแบ่งได้สามระบบคือ ระบบโลก ระบบกรรม ระบบธรรม
    ระบบย่อยๆ นั้นแบ่งได้นับไม่ถ้วน
    เราลองมาดูมหาระบบกันก่อน


    ระบบโลก

    ระบบโลกนั้นมนุษย์ได้จัดระบบต่างๆ ขึ้นมาเป็นระบบซ้อนระบบ เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบสังคม ระบบครอบครัว ระบบกฏหมาย ระบบวัฒนธรรม ระบบการศึกษา ระบบเทคโนโลยี ระบบการป้องกันประเทศ เป็นต้น

    ระบบต่างๆ เหล่านี้คือระบบแห่งโลกและเป็นระบบซ้อนระบบ คือมนุษย์คนหนึ่งๆ นั้นจะถูกระบบหลายๆระบบครอบงำพร้อมๆ กัน เช่นเด็กเกิดมาคนหนึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้ทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและอื่นๆ มากมายที่ชีวิตแต่ละชีวิตต้องรับผิดชอบ

    ระบบโลกนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของตัณหา ถูกยึดโยงไว้โดยตัณหาและมีตัณหาเป็นแรงขับเคลื่อนไป ตัณหาทั้งสามประการนั้นแหละ ทั้งกามตัณหา วิภวตัณหา ภวตัณหา

    นี้เป็นรากฐานของระบบโลก จะบริหารโลก จัดทำอะไรกับโลก หรืออยู่กับโลกนั้นก็คือการเข้าไปบริหารตัณหานั้นเอง

    ตัณหาเองนั้นก็มีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์ของมันเช่นว่า ภวตัณหาช่วยในการพัฒนาตัวเราเองและสังคม สัญชาตญาณในการพัฒนาตัวเราเองก็เป็นตัณหาชนิดหนึ่ง การที่เราอยากดีอยากจะบรรลุธรรมนั้นก็เป็นตัณหา แต่เป็นตัณหาที่จะพาหลุดพาละออกจากตัณหาส่วนใหญ่ หรือการที่สังคมมีอุดมคติมุ่งหวังนั่นก็เป็นภวตัณหา

    ดังนั้น เมื่อเราจำเป็นต้องอยู่ในโลก ต้องบริหารตัณหา เราก็ใช้หลักการตามระบบโลกบริหารมัน แต่เราจะเห็นได้ว่าแม้เราจะใช้หลักการบริหารอย่างไร มันไม่เคยสิ้นสุด ไม่เคยจบ ไม่เคยลงตัว ไม่เคยเป็นธรรมที่แท้จริง ไม่เคยให้ประโยชน์สูงสุดด้วยกระบวนการทางโลกอย่างเดียว เราจึงต้องแสวงหาอย่างอื่นว่ามีอะไรเหนือระบบโลกอีกไหม

    เมื่อเราวิเคราะห์วิจัย ศึกษา เรียนรู้ปฏิบัติไป เราก็จะรู้ว่ามีอยู่ระบบหนึ่งมันอยู่เหนือระบบโลก มันครอบงำโลกไว้อีกชั้นหนึ่ง ระบบนั้นคือระบบกรรม

    ระบบกรรม

    กรรมที่มนุษย์ทั้งหลายได้ทำไว้แล้วนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอจินไตย คือนับไม่ถ้วน มันถักสานกันเป็นชะตากรรมของมนุษย์เอง

    หนึ่งความตั้งใจก็คือหนึ่งกรรม วันนี้มีกรรมมากี่ครั้งแล้ว กี่ชุดแล้ว จำได้ไหมวันนี้ตั้งใจมากี่หนแล้ว ปีหนึ่งตั้งใจกี่ครั้ง ชาติหนึ่งละเท่าไหร่ หลายชาติละ.... นับไม่ถ้วน

    ระบบกรรมนั้นเป็นพลังอำนาจที่ถักสานกันเป็นเครือข่ายเป็นสายใย ในแต่ละชุดกรรมเรียกว่าหนึ่งบ่วงกรรม หลายๆ บ่วงถักสานกันเป็นชะตากรรม

    ในชะตากรรมของแต่ละคนมันไม่ได้มีเฉพาะของตนเองล้วนๆ เพราะมันไปทำกับคนโน้น ไว้กับคนนี้ หรือรับการกระทำจากคนโน้นคนนี้ไว้และบังเกิดผลต่อเนื่องไป เลยถักสานกันเป็นกรรมร่วมของประชาชาติ กรรมเหล่านี้มันครอบงำระบบโลกอยู่ แม้เราจะจัดระบบโลกให้ดีแสนดี แต่หากระบบกรรมครอบงำอยู่ก็ไม่พ้นปัญหา เช่นประเทศอังกฤษ ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตย เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาก ว่ากันว่าพระอาทิตย์ไม่ตกดิน เพราะเมื่อไปแอฟริกาใต้ก็มี commonwealth ของอังกฤษ ไปออสเตเลีย นิวซีแลนด์ก็มี ไปอินเดียสมัยก่อนก็ใช่ เพราะฉะนั้นอังกฤษไปที่ไหนก็เจอพระอาทิตย์อยู่เหนือประเทศตนหรือเหนืออาณานิคมเสมอ แต่ปัญหา IRA ในบ้าน แก้ยังไงก็ยังแก้ไม่ได้เพราะระบบกรรมครอบงำเขาอยู่จากการที่เขาได้ไปตีประเทศต่างๆ ไว้

    หรืออย่างเช่นอเมริกาทำตัวเป็นผู้ควบคุมโลก ประเทศใดมีพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่นานาชาติพอใจ อเมริกาก็จะบอมบ์สั่งสอนหรือชวนพันธมิตรไปบอมบ์ ด้วยความชะล่าใจว่าไม่มีใครกล้าแหยมด้วย แต่ปรากฏว่าธรรมชาติ make balance ตามกลไกกรรม

    อเมริกาเป็นประเทศที่เสียหายเพราะพายุมากที่สุดในโลกและประสบปัญหาเป็นประจำ และเรื่องตลกมากคือคนอเมริกันชอบสร้างบ้านด้วยไม้ แม้โรงแรมสี่ชั้นก็สร้างด้วยไม้ เวลาพายุมาทีก็ราบเป็นหน้ากลอง พินาศกันหลายเมือง บริษัทประกันเจ๊งกันเป็นแถว รัฐต้องโอบอุ้มทุกฝ่าย เคยถามเพื่อนชาวอเมริกันว่า เมื่อ you เจอพายุเป็นประจำอย่างนี้ทำไมไม่รู้จักสร้างบ้านด้วยคอนกรีตหรืออิฐ เขาบอกว่ามันเป็นความนิยม ดูซี นิยมรอคอยความหายนะหรืออย่างไร เวลาพายุมากวาดทีก็ไม่ต่างอะไรกับการโดนบอมบ์ครั้งใหญ่เลย แล้วก็โดนกันเป็นประจำ นี่กรรมมันยังครอบงำอยู่

    สังเกตุดูซี ประเทศจักรวรรดิ์นิยมที่ทำชนชาติอื่นๆไว้มาก เจอภัยธรรมชาติหรือการทำลายกันเองภายในรุนแรงทั้งสิ้นไม่เว้นแม้ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น

    ฉะนั้น ระบบกรรมนั้นนอกจากจะครอบงำชีวิตคนแล้ว มันยังครอบงำสังคม ครอบงำประเทศ ครอบงำโลกทั้งโลกไว้ด้วย ถ้าเราสามารถเข้าใจระบบกรรม เราก็สามารถเอาระบบกรรมเข้ามาบริหารระบบโลกได้อีกชั้นหนึ่ง

    กรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงจำแนกไว้เป็นสามส่วนด้วยกันคือ กรรมส่วนที่ให้คุณเรียกว่ากุศลกรรม กรรมในส่วนที่ให้โทษเรียกว่าอกุศลกรรม และกรรมในส่วนที่เป็นกลาง ไม่ได้ให้คุณให้โทษอะไรมีแต่กริยาอาการล้วนๆ

    ดังนั้น ในการบริหารระบบกรรมนั้นต้องเข้าใจว่าตัวกรรมชั่วทั้งหลายนั้นจะเป็นตัวที่ดึงชีวิตเราไปต่ำ ทำใจเราให้วุ่นวาย ทำชีวิตให้หลงทาง อะไรบ้างคือความชั่ว อย่างง่ายๆ พื้นๆ เลย จำบัญญัติสิบประการไว้ก็คืออกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ ใครที่มีอกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ ชีวิตจะตกต่ำ จิตใจจะวุ่นวาย และอกุศลกรรมบททุกตัวเป็นตัวชักนำไปสู่นรก พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดประกอบซึ่งอกุศลกรรมบทแม้ข้อใดข้อหนึ่งย่อมไปสู่นรก เสมือนบุคคลถูกนำตัวไปวางไว้กระนั้น"

    อกุศลกรรมบท ๑๐ ประการมีอะไรบ้าง
    ๑. ฆ่าสัตว์ หรือทำร้ายสัตว์
    ๒. ลักทรัพย์
    ๓. ประพฤติผิดในกาม
    ๔. โกหก
    ๕. ส่อเสียดนินทา เช่นรู้อยู่ว่าคนนี้ทำผิด แต่ไม่ใช่ธุระหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรหรอก แต่ก็เอาไปบอกอีกคนหนึ่ง คนนั้นทำผิดนะ นี่ก็คือการส่อเสียด การนินทาก็คือพออีกคนหนึ่งได้ยินก็ไปพูดกันต่อๆ คือวิพากษ์วิจารณ์ นินทาผสมไข่ใส่สี นี่เป็นอกุศลกรรมบท
    ๖. เพ้อเจ้อ การพูดจาเพ้อเจ้อ ไม่มีมูล ไม่ได้มีเหตุ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่ได้มีที่อ้างอิง ไม่ใกล้เคียงกับความจริง เพ้อเจ้อ คาดหวังไป ชักชวนให้คนเพ้อเจ้อกันไป นี่ก็เป็นอกุศลกรรมบท
    ๗. พูดจาหยาบคาย ด่าทอกัน พูดจากระแทกกระทั้นกันก็เป็นอกุศลกรรมบท
    ๘. มีความละโมบอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน นี่ก็เป็นอกุศลกรรมบท
    ๙. มีความผูกโกรธ โกรธใครเขาไว้ตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้จนตอนนี้เขาเปลี่ยนเป็นคนดีไปแล้ว แต่ความโกรธของเรายังไม่หายไปเลย นี่คือความผูกโกรธ มีอยู่เมื่อไหร่ใจขุ่นมัวเมื่อนั้น นี่เป็นอกุศลกรรมบท
    ๑๐. มีความหลงผิด เห็นสิ่งควรว่าไม่ควร เห็นสิ่งไม่ควรว่าควร เห็นสิ่งที่ดีว่าชั่ว เห็นสิ่งที่ชั่วว่าดี เห็นสุขว่าทุกข์ เห็นทุกข์ว่าสุข ความหลงผิดเหล่านั้นเป็นอกุศลกรรมบท


    ใครก็ตามที่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ชีวิตจะมีความเสี่ยง จะจมอยู่ในกองขยะ อกุศลกรรมบทเองคือขยะของชีวิต

    และอกุศลทุกตัวมันก่อเกิดตัวอื่นๆ ตามมา เหมือนเอาของเน่าไปไว้กับของดีก็พาลเน่ากันไปหมด ลองคิดดูถ้าเราไปฆ่าคนมา เมื่อมีคนถาม จะโกหกไหม หรือเรานินทาคนอื่น ทุกขณะที่นินทาก็เป็นคนไม่มีสัจจะแล้ว คนไม่รู้หรือรู้ไม่ครบหรือครบแต่ไม่เข้าใจจึงนินทากัน พอนินทาก็แต่งเรื่องให้เขาเสร็จ เสียสัจจะแล้ว ใครก็ตามที่ยังนินทาคนอื่นจะเสียสัจจะแน่นอน เพ้อเจ้อแน่นอน เห็นไหมความชั่วมันก็แตกตัวได้เหมือนการแตกตัวของเชื้อโรค

    ดังนั้น การพัฒนาในระบบกรรมก็คือ เราจะต้องออกจากกองขยะนี้ให้ได้ ออกไปไหน ออกไปสู่สิ่งที่ดีที่ตรงกันข้ามกับขยะ ที่สอาดกว่าขยะ

    พอออกไปสู่สิ่งที่ดีแล้ว เราจะเห็นได้ว่าความดีนั้นทำให้เราชื่นใจ ความดีทำให้เรามีความสุขระดับหนึ่ง ซึ่งก็ดีแต่ไม่พอ เพราะหากไปติดดีขึ้นมาก็เป็นทุกข์อีก

    ดังนั้นแม้ไปทำความดีเต็มที่แล้วก็ยังไม่พอ ต้องพัฒนาไปสู่อัพยากตาธรรมด้วย คือกรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทำเพราะอยากดี

    ทำไมจึงต้องพัฒนาเข้าสู่ความเป็นกลาง เพราะถ้าเราติดดีอยู่ คิดว่าเราดีและประกาศดีโด่เด่อยู่ ความชั่วมันจะวิ่งมาอาศัย มันเป็นธรรมชาติของคนชั่วทั้งหลายที่จะอาศัยคนดี เหมือนในอะตอมหนึ่งอะตอมเนี่ย อิเล็กตรอนมันจะเกาะติดโปรตอนเสมอ ความชั่วมันจะอาศัยความดี คนชั่วอาศัยคนดี พอเราแสดงความดีของตนอวดดีขึ้นมา คนก็จะเริ่มหมั่นใส้ พอหมั่นใส้ก็จะเริ่มซุบซิบนินทา พอซุบซิบนินทาเสร็จก็จะเริ่มกล่าวหาโดยไม่เป็นจริง พอกล่าวหาโดยไม่เป็นจริงแล้วเรายังดีอีกเขาก็จะกลั่นแกล้ง เวลาคนชั่วเขาจะโกงเขาก็จะโกงคนซื่อๆ ทั้งหลายที่ไม่มีปากเสียงนั่นแหละ


    นั้นเป็นธรรมชาติของความชั่วทั้งหลายที่ต้องอาศัยความดี เราจึงต้องพัฒนาตนเองให้เหนือความดีไปสู่ความเป็นกลาง ความเป็นกลางมันจึงเหนือความดีความชั่ว

    พระพุทธเจ้าพระองค์แรกของกัลป์นี้ พระกกุสันโธท่านตรัสไว้ดีมาก เราใช้ความดีนั้นเป็นเสมือนพลังของจรวดเพื่อขับดันเราออกไปให้พ้นแรงดึงดูดของความชั่ว คือแรงดึงดูดของโลก เมื่อเราพ้นแรงดึงดูดของความชั่วแล้วหรือของโลกแล้ว เราต้องสลัดจรวดนั้นทิ้งไป เห็นไหม ต้องสลัดแม้กระทั่งความดี ไม่เช่นนั้นก็จะแบกดีและเป็นทุกข์เพราะการยึดดีและถูกความชั่วมาอาศัยอีก

    ฉะนั้นขั้นตอนการพัฒนาคือจำเป็นต้องทำดีก่อนเพื่อสละชั่ว พอสละชั่วเสร็จก็อย่าไปแบกดี ทำดีเป็นนิสัยไปเรื่อยๆ โดยไม่ติดดีไปติดดีเดี๋ยวมีความทุกข์ ที่เราเป็นทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะความดีหรอก ความรับผิดชอบนะเป็นความดี เหนื่อยไหม ทุกข์ไหมเพราะความรับผิดชอบน่ะ เพราะฉะนั้นความดีก็ยังให้ผลเป็นทุกข์ได้ ความบริสุทธิ์เท่านั้นที่ไม่เป็นทุกข์ จำไว้นะ

    แต่ความดีนั้นเราต้องสร้างและอาศัยเป็นบาทฐานและพลังขับที่จะส่งไปสู่ความบริสุทธิ์ได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงบอกให้ละชั่ว ประพฤติชอบและชำระจิตให้ขาวรอบ จิตที่ขาวรอบมันจะเหนือดีเหนือชั่ว นั้นคือการบริหารระบบกรรม

    ของพวกเราส่วนใหญ่ก็คงจะอยู่ในช่วงนี้ อยู่กับความดีพอประมาณและก็กำลังพัฒนาเข้าสู่ความเป็นกลาง

    ถ้าเราเริ่มบริหารระบบกรรมได้ด้วยดีนั้น จะเริ่มมีอะไรมหัศจรรย์มากมายในชีวิตของเรา เพราะระบบกรรมนั้นจะสามารถนำไปครอบงำระบบโลกได้อีกชั้นหนึ่ง ครอบงำอย่างไร เช่นว่าถ้าเราประพฤติดีกันมาก พยายามทำใจให้บริสุทธิ์อยู่เหนือดีเหนือชั่วให้มากขึ้นจะเกิดบุญฤทธิ์ขึ้นและจะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

    บุญฤทธิ์ มีหลายประการเช่น
    1.การให้ทานอย่างเหมาะสมย่อมทำให้ได้ทรัพย์โดยง่าย
    2.ความมั่นคงในศีลย่อมทำให้สุขภาพดีวิถีชีวิตราบรื่น
    3.การฝึกจิตภาวนาจะทำให้มีปัญญาดี
    4.การประพฤติอ่อนน้อมจะทำให้ได้อยู่ในฐานะสูงส่ง
    5.การขวนขวายในกิจของผู้อื่นจะทำให้มีบริวารมาก
    6.การมอบผลความดีความชอบให้ผู้อื่นจะมีผู้ภักดีมาก
    7.การยินดีในความดีของผู้อื่นจะทำให้มีเพื่อนมาก
    8.การหมั่นศึกษาสัจจะจะทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยประโยชน์
    9.การแนะนำสัจจะแก่ผู้อื่นจะทำให้แตกฉานในสัจจะ
    10.การดำเนินชีวิตตรงธรรมจะทำให้บรรลุและทรงธรรม

    แต่ละประการยังมีรายละเอียดแห่งผลทันที ผลต่อเนื่อง ผลสะท้อนกลับ (อานิสงส์) ที่แตกต่างกันเช่นในทาน
    หากให้รองเท้าหรือยานพาหนะจะทำให้ชีวิตราบรื่น
    หากให้ผ้าหรือดอกไม้จะทำให้ผิวพรรณงามมีกลิ่นหอม
    หากให้อสังหาริมทรัพย์จะทำให้ได้ทรัพย์
    หากให้บริวารจะทำให้หมู่คณะมั่นคง เป็นต้น

    เคยสังเกตุไหม มีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเข้ามาครอบงำความสำเร็จหรือความล้มเหลวของชีวิต คือกรรมนั้นเอง บางคนทำงานตามระบบตามหลักการทางโลก ตามกฎกติกาทุกอย่างที่เป็นทฤษฎีทางโลกกลับไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าระบบโลกอย่างเดียวมันนำมาซึ่งความสำเร็จได้ คนที่เรียนมากที่สุด รู้เรื่องทางโลกมากที่สุดก็น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่ปรากฏว่าไม่ใช่เลย พวกด๊อกเตอร์ทั้งหลายจนก็เยอะแยะ ด๊อกเตอร์ทั้งหลายยังมีความทุกข์กันเยอะแยะ และบางครั้งก็เป็นตัวก่อปัญหาก็ไม่น้อยเลย

    ดังนั้น ระบบโลกไม่ใช่หลักประกันของความสำเร็จ จะต้องมีระบบกรรมมากำกับระบบโลกอีกชั้นหนึ่ง แต่กระนั้น ระบบกรรมอย่างเดียวก็ยังไม่ถึงที่สุด แม้มันจะยิ่งกว่าระบบโลกแล้วแต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด ยังมีอีกระบบหนึ่งที่ครอบงำระบบกรรมอยู่ นั่นคือระบบธรรม

    ระบบธรรม

    ระบบธรรมนั้นจะครอบงำระบบกรรม ระบบกรรมจะครอบงำระบบโลก ถ้าเรารู้และบริหารทั้งสามระบบได้ก็ยอดเยี่ยมมากเราจะอยู่สบาย

    ระบบธรรมมีอะไรบ้าง

    ธรรมพื้นฐานที่สุด คือสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่อย่างที่มันเป็นอยู่ นั่นคือธรรมชาติ ชั้นแรกเลยของระบบธรรมคือธรรมชาติ ซึ่งเราควรจะเข้าใจ ควรจะคุ้นเคยกับมัน ควรจะบริหารมันและทำความสัมพันธ์กับมันได้

    ที่เรากลับมาที่นี่กันก็คือกลับมาอยู่กับธรรมชาติ ควรจะทำตัวกลมกลืนกับธรรมชาติจริงๆ เพราะมนุษย์แยกตัวออกจากธรรมชาติจนเกิดความแปลกแยกกับธรรมชาติมานาน เมื่อแปลกแยกกับธรรมชาติ พอมาอยู่กับธรรมชาติก็จะกลัวธรรมชาติ ทั้งๆที่เรามาจากธรรมชาตินั้นแหละ แต่เราทำตัวแปลกแยกเอง พอเราคุ้นเคยแล้วเราก็จะไม่กลัว เหมือนพี่น้องเราที่เราคุ้นเคยเราก็ไม่กลัว แต่พอเราห่างพี่น้องไปนานพอกลับมาก็จะรู้สึกห่างเหิน หมางเมินเราจะต้องมาทำความคุ้นเคยกันใหม่

    ดังนั้น ไหนๆ มาอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้แล้ว เห็นกางเต๊นท์และกลดติดๆ กันน่ะไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก

    โน่น คนละมุมเขาเลย แล้วท่านจะได้เรียนรู้อะไรอีกมากเดี๋ยวจะคุยให้ฟังว่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ไปโน่น พักกันคนละมุมเขาอยู่อย่างนี้ละมันจะได้อะไรล่ะ หือ มองเห็นกันอยู่ ไฟฉายส่องก็เห็นกันอยู่ มันไม่ได้รสชาติสักเท่าไหร่ เอากลดของตนเองไปเลย แล้วหามุมใดมุมหนึ่งในเข้าโน้น เยอะแยะ หาต้นไม้เหมาะๆ แล้วอยู่ที่นั่น

    กลับมาอยู่กับธรรมชาติซะ เพราะเราต้องเข้าใจมัน จะต้องกลมกลืนกับมัน และเราจะต้องบริหารมันให้ได้ ถ้ายังทำตัวห่างเหินธรรมชาติอย่างนี้จะรู้จักมันหรือสร้างสัมพันธ์อันดีกับมันและบริหารมันได้อย่างไร

    นั้นคือธรรมะขั้นต้นที่สุด คือการเข้าใจธรรมชาติ มีความสัมพันธ์อันดีกับธรรมชาติ และบริหารธรรมชาติโดยสมควร

    พอบริหารความสัมพันธ์กับธรรมชาติได้ดีแล้ว ขั้นที่สองคือการแทงตลอดธรรมธาตุ

    ธรรมธาตุ คือกฏโครงสร้างแห่งสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ทั้งหมดแห่งสรรพสัจจะในทุกมิติ ถ้าเราสามารถมองทะลุธรรมชาติไปถึงธรรมธาตุได้ เราจะเห็นโครงสร้างความมีอยู่เป็นอยู่ทั้งหมด พอเราเห็นสิ่งนี้ ปัญญามันใหญ่ ใจมันใหญ่ ชีวิตมันใหญ่ มันใหญ่จนไม่กลัวอะไร ธรรมอีกสภาวะหนึ่งคือ ธรรมบริสุทธิ์

    ธรรมบริสุทธิ์ ธรรมที่อยู่เหนือความมีอยู่เป็นอยู่และอยู่เหนือความไร้ด้วยนั้นคือธรรมอันบริสุทธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า พระนิพพาน นั้นเอง นั้นคือสุดยอดแห่งธรรม


    ที่มา : หนังสือมหาสติ การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้นำและผู้บริหาร (อัคร ศุภเศรษฐ์)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 กันยายน 2016
  2. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    ★ ระบบโลก ระบบกรรม ระบบธรรม

    [​IMG]

    ถาม: อยากขอความกรุณาอาจารย์สรุปเรื่องระบบโลก ระบบกรรม ระบบธรรม อีกสักครั้งค่ะ เนื่องจากหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน อยากให้อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นไหมคะที่จะต้องพัฒนาจากระบบโลกไประบบกรรมหรือระบบธรม

    อาจารย์: จับจุดที่ความเป็นก่อนก็ได้ ใครที่ยังไม่เคยเป็นอะไรอย่างที่คนอื่นเขาเป็นกันก็อยากจะเป็นมั่ง เป็นคนรวย เป็นคนเก่ง เป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ เป็นนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนดีหลาย เป็นให้สุดโลกแล้วก็จะพบว่าเป็นอะไรก็ยังไม่อาจทำให้เติมเต็มตนได้ ยังกลวงเสมอ คนรวยทุกข์ไหม คนเก่งทุกข์ไหม คนที่มีตำแหน่งทุกข์ไหม

    ทุกข์เพราะอะไร ระบบโลกทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการดำรงอยู่และพยายามอยู่กันให้ดี ยังไม่มีการพัฒนาที่เหนือกว่านั้น ลองใครไปยึดประเทศใดประเทศหนึ่งสิ มีการต่อสู้ฆ่าฟันกันตายเลย ใครฆ่าข้าศึกได้ชนะเป็นวีรบุรุษอีก แต่มันสร้างกรรมแล้ว กระนั้นจะไม่ทำก็ไม่ได้ ก็จะเดือดร้อน เห็นไหม ไม่ทำก็ทุกข์ ครั้นทำแล้วก็ทุกข์ ระหว่างทำก็ทุกข์ นี่แสดงว่าปัญญาไม่พอ ระบบโลกเป็นปัญญาชั้นต้น

    ยิ่งตำแหน่งสูง เวลาผิดทีก็ผิดยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้อดีตผู้ยิ่งใหญ่ของโลกทั้งหลายอยู่ในนรกกันเป็นแถว พระเจ้าอชาติศัตรูก็อยู่ นโปเลียนก็อยู่ ความยิ่งใหญ่ในโลกนั้นเป็นสิ่งสมมติให้ฝึกตนและให้ใช้โอกาสเกื้อกูลเท่านั้นเอง แต่คนจำนวนมากกลับใช้อำนาจในตำแหน่งเอาเปรียบ เบียดเบียน หรือดูหมิ่นคนอื่น จึงสร้างกรรมชั่ว กดดัน กักขัง หน่วงถ่วงตนเองให้ตกต่ำ นี่แสดงว่าปัญญามันไม่พัฒนา ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีปัญญาที่ยิ่งใหญ่ขึ้นต้องเข้าใจบริหารกรรมด้วย

    ครั้นบริหารกรรมดีมาก เป็นคนดี ก็แล้วคนดีๆ ทั้งหลายเป็นทุกข์ไหม เคยเห็นคนดีทะเลาะกันเพราะเหตุแห่งความดี ยึดดีหรือมีมาตรฐานความดีที่แตกต่างกันไหม

    ดูซีคนดีมากๆในสังคมมักถูกกล่าวหา ถูกทำร้าย หรือถูกฆ่าตายทั้งสิ้น ดูมหาตมะคานธี พระกฤษณะซี ดีไหม แม้จะดีกว่าใครในโลกเมื่อต้องมาอยู่ในโลกที่มีทั้งดีและชั่วก็ต้องกระทบชั่วในที่สุด ยิ่งดีมากก็ยิ่งมีปฏิกิริยากับความชั่วมากแล้วเดือดร้อนไหม ทุกข์ไหม นี่เป็นธรรมดาของ ดีและชั่ว ถูกและผิด ซึ่งตีกันเสมอ เป็นสงครามอมตะคู่โลกเลยล่ะ สงครามทุกสงครามเกิดขึ้นเพราะมีบางคนหรือบางกลุ่มหลงผิดคิดว่าตนดีกว่าคนอื่นนั่นแหละ คนอื่นเลยต้องสู้เพื่อพิสูจน์ว่าข้าไม่ได้แย่ไปกว่าแกนะ ดีกว่าแกด้วย ก็เลยต้องสู้กันจนพินาศไปทั้งคู่ เห็นบ้าดีนี่ทำให้โลกหายนะมามากแล้ว

    ดังนั้นบริหารกรรมด้วยดีนั้นแม้จะแสดงถึงปัญญาที่สูงขึ้นแต่ก็ไม่พอ ต้องพัฒนาไปสู่ระบบธรรมที่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือถูกเหนือผิด เหนือชอบเหนือชัง จึงจะเหนือชั้น

    เมื่อเหนือชั้นจึงจะบริหารสิ่งที่เล็กน้อยกว่าได้ด้วย คนเหนือโลกมากเท่าไหร่ก็บริหารโลกได้มากเท่านั้น คนที่มั่วกับโลก บริหารโลกไม่ได้หรอก เพราะกำลังถูกโลกบริหารอยู่ มันต้องเหนือโลกจึงบริหารโลกได้ แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้ระบบโลกครอบงำระบบอื่นๆ ไว้มากจนเกือบหมด โลกจึงตกต่ำเพราะไม่มีอะไรมาพัฒนามันให้เหนือกว่าที่เป็นอยู่

    สังคมไทยนี่เกือบทำได้ เมื่อ private sector พัฒนาระบบโลก รัฐบาลพัฒนาระบบกรรม ดูว่าอะไรควรไม่ควร กำหนดกติกาอันสมควร สถาบันศาสนาดูแลระบบธรรม ทำให้สังคมไทยน่าจะได้เปรียบสังคมโลกทั้งหลาย เพราะโครงสร้างดูดี แต่เอาเข้าจริงท่านที่ควรดูแลระบบธรรมลงมาเล่นระบบโลก ตั้งยศฐาบรรดาศักดิ์หาเงินแบบคนโลก รัฐบาลที่ควรดูแลระบบกรรมให้แข็งแกร่งก็ซ่านไปทั้งระบบโลกและระบบธรรม เลยทั้งเอาเปรียบทั้งไม่ประสา พวกอยู่ในระบบโลกก็เข้าไปราวีระบบกรรมและระบบธรรม เลยปกครองกันไม่ได้ทั้งทางกฏหมายและทางคุณธรรม

    เห็นไหม ถ้าระบบไม่มีระเบียบ มันจะมั่วในที่สุด

    เมืองไทยนี้ถ้าทำดีๆ ควรจะเป็นสังคมอุดมคติได้ แต่ที่ผ่านมายังทำกันไม่ได้ เพราะคนแต่ละระดับอาจจะยังไม่เข้าใจฐานะหน้าที่ของตนดี เลยปีนป่ายก่ายเกลียวกันอย่างที่เป็นอยู่ จึงค้างภาวะกันอยู่อย่างนี้ หมุนก็ไม่เข้า คลายก็ไม่ออก

    พวกเราลองพิจารณาดูด้วยความเป็นกลาง สังคมเรากฎเกณฑ์ทางศีลธรรมเยอะแยะไปหมด แต่คนทำผิดเยอะไหม ญี่ปุ่นเขามีกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมน้อยกว่าเรา แต่คนทำผิดก็น้อย เอาง่ายๆ แค่การขับรถบนท้องถนนและความปลอดภัยในเมือง ต่างกันมากใช่ไหม แม้การใช้เครดิตการ์ด ที่ญี่ปุ่นถ้าเงินไม่ถึง 1000 เยนไม่ต้องเซ็นชื่อ ถ้าถึงจึงต้องเซ็น แสดงว่าความเชื่อถือซึ่งกันและกันได้ของเขามีมากใช่ไหม

    หรืออย่างอเมริกา กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมเขาไม่มาก แตะประชาชนธรรมดาสามารถใช้เช็คซื้อของตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปได้ บ้านเราทำได้ไหม เพราะอะไร

    ด้วยเหตุนี้ แม้พวกเราจะเป็นคนมีจิตใจสูง แต่ยังขาดจิตสำนึกต่อวินัย เพื่อส่วนรวมและเพื่อกันและกัน ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป

    ถาม: เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้นครับ ถ้าจิตใจสูง จิตสำนึกนา่จะสูงด้วย

    อาจารย์: น่าจะเป็น แล้วเป็นไหม สาเหตุก็คือสังคมไทยนิยมการมีอภิสิทธิ์ ใครมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่นถือว่าดี เมื่อใครเริ่มเป็นนายคนขึ้นมา ฉันต้องมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นนะ นี่เป็นส่วนเกินที่กระทบสิทธิพื้นฐานของผู้อื่น คนที่ไม่มีตำแหน่งก็เลยใช้เงินซื้ออภิสิทธิ์บ้าง คนมีพวกก็ใช้อภิสิทธิ์บ้าง ระบบที่สร้างกันขึ้นมาจึงไม่ work เมื่อใช้อภิสิทธิ์กันแพร่หลาย ระบบก็พัง

    ถาม: นั่นคือสรุปทบทวนนะคะ ถ้าทุกคนในโลกนี้มีธรรมะปัญหาก็คงจะไม่มี แต่ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบอกว่า เราทำให้คนเป็นคนดีไม่ได้ทั้งหมด ที่น่าจะทำได้คืออย่าให้คนชั่วครองอำนาจ และถ้าเราได้คนดีมีคุณธรรมปกครองแผ่นดิน โลกคงจะดีกว่านี้แน่

    อาจารย์: จะมีก็ปัญหาเดียว ผู้มีธรรมะสูงๆ จะไม่อยากมายุ่งกับทางโลกมากนัก เพราะระบบโลกมันหยาบ ในขณะที่ระบบธรรมนั้นละเอียดมาก ผู้ทรงธรรมเวลาอยู่ในโลกนั้นจึงอาจจะเห็นว่าเป็นการเสียเวลาที่จะมาประนีประนอมกิเลสตัณหาของมนุษย์

    แต่สังคมก็มีทางแก้ คือเชิญท่านเหล่านี้เป็นที่ปรึกษา
    เหมือนกษัตริย์สมัยโบราณมีโหราจารย์เป็นที่ปรึกษา กษัตริย์สมัยนี้ก็มีองคมนตรี เป็นต้น แต่ที่ปรึกษานักการเมืองมักเป็น ส.ส.สอบตกมากกว่าเป็นผู้ทรงธรรมในสังคม นั่นแหละคือการที่ระบบทั้งสามไม่ได้เชื่อมกันหรือเอื้ออำนวยต่อกัน



    ที่มา: หนังสือมหาสติ การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้นำและผู้บริหาร (อัคร ศุภเศรษฐ์) หน้า 206-209
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 กันยายน 2016
  3. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    ★ การวางตำแหน่งตนเองให้เหมาะสมและประพฤติโดยเหมาะสม

    [​IMG]

    เมื่อเราจะสร้างความสำเร็จ เราก็ควรเลือกว่าระบบใดที่เราควรจะเกี่ยวข้อง
    ระบบใหญ่ๆในโลกเลยก็จะมีอยู่สี่ระบบใหญ่ คือ

    1.ระบบที่เป็นไปโดยสัญชาติญาน ได้แก่ระบบครอบครัว เพื่อนฝูง
    2.ระบบธุรกิจ ได้แก่ระบบแสวงหาประโยชน์ แลกเปลี่ยนประโยชน์ ประสานประโยชน์
    3.ระบบอาสาสมัคร ได้แก่ระบบเกื้อกูล เช่นการเมือง เช่น NGO ทั้งหลาย
    นั่นคือระบบเกื้อกูล
    4.ระบบศรัทธา คือระบบการพัฒนาจิตใจตนเองให้เหนือทั้งสามระบบแรกแล้ว นี่เป็นพวกศาสนาทั้งหลาย

    เราก็ควรเลือกดูว่าเราควรจะอยู่ตรงไหน หรือจะคร่อมอยู่สองระบบ สามระบบ
    หรือทั้งหมดก็แล้วแต่ศักยภาพของแต่ละคน

    ตรงนี้สำคัญ เราต้องวางตำแหน่งตัวเราในระบบอย่างเหมาะสมกับระดับศักยภาพและระดับธรรมของเรา
    ถ้าไม่เหมาะสมจะเกิดความไม่พอดีในชีวิตและจิตใจมากมาย

    พอเราวางตำแหน่งตนเองในระบบต่างๆ เช่นเราจะทำธุรกิจเราก็พิจารณาต่อไปว่าเราจะ
    ประกอบธุรกิจอะไรเพื่อเกื้อกูลจึงจะยังระบบกรรมให้มันสมบูรณ์
    และเราจะดำเนินธุรกิจหรือบริหารธุรกิจโดยธรรมอย่างไร
    ถ้าเราไปเป็นนักการเมืองเราก็ต้องดูว่าเราจะเป็นนักการเมืองอย่างไร
    จึงจะยังกรรมที่ประเสริฐที่สุดให้เกิดต่อตน ต่อสังคม และเราจะบริหารงาน
    การเมืองโดยธรรมอย่างไร

    ในขั้นนี้ต้องประพฤติธรรมโดยธรรม คือเหมาะสมกับภาวะแห่งตน
    ธรรมะสำหรับการครองเรือนโดยธรรมเป็นอย่างหนึ่ง ธรรมะสำหรับประกอบ
    ธุรกิจโดยธรรมเป็นอย่างหนึ่ง ธรรมะสำหรับการปกครองโดยธรรมเป็นอย่างหนึ่ง
    ธรรมะสำหรับนักบวชและการปฏิบัติสมณกิจโดยธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง
    ซึ่งมีบางส่วนร่วมกัน บางส่วนไม่สอดคล้องกัน

    ส่วนที่ร่วมกันเช่น ประโยชน์สุขทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน ความเป็นธรรม
    และมาตรฐานศีลธรรมพื้นฐาน

    บางส่วนที่ไม่สอดคล้องกันเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
    มลทินของคฤหัสถ์คือการไม่ขวนขวายหาทรัพย์ มลทินของสมณคือการไม่
    ขวนขวายในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา"


    จะเห็นได้ว่าถ้าคฤหัสถ์เกียจคร้านไม่ขวนขวายแสวงหาทรัพย์โดยชอบ
    เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อชีวิต ดังนั้นคฤหัสถ์ต้องขยันทำมาหาทรัพย์และใช้ทรัพย์
    โดยธรรม แต่ถ้าสมณะมาขวนขวายหาทรัพย์ไม่ไปขวนขวายในการประพฤติศีล
    ฝึกจิตและพัฒนาปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นก็เป็นมลทินของชีวิตสมณะ

    และสังคมของเราสับสนกันมากในเรื่องนี้ พระจำนวนมากมัวมาหาเงินสร้าง
    โน่นสร้างนี่ ทำโครงการนี่นั่นซึ่งไม่ใช่กิจของสมณะ ส่วนคฤหัสจำนวนไม่น้อย
    ก็เกียจคร้านด้วยอ้างสันโดษ ไม่ขวนขวายหาทรัพย์ สังคมก็เลยสับสน เพราะ
    พระต้องละแล้วซึ่งทรัพย์และไปพัฒนาระบบธรรมให้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้นำทางจิต
    วิญญาณให้แก่มนุษย์ชาติ แต่กลับมาหาทรัพย์แข่งกับคฤหัสถ์
    โดยเอาอุปกรณ์ทางศาสนาธรรมมาเป็นสินค้าและบริการต่างๆ พระที่เป็น
    เช่นนั้นจะไม่บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ ส่วนคฤหัสถ์มีหน้าที่หาทรัพย์และบำรุง
    เลี้ยงพระและทนุบำรุงศาสนาแต่กลับไม่ขวนขวายหาทรัพย์ บางคนอยากจะ
    หลุดพ้นแล้ว ปล่อยวางแล้ว สันโดษแล้วจนขี้เกียจ การพัฒนาระบบโลก
    จึงช้าหรือถอยหลังไปเลย และเมื่อไม่มีทรัพย์ก็ไม่อาจบำรุงพระหรือศาสนา
    ให้ดีได้

    เห็นไหม ผู้นำจิตวิญญาณควรจะนำระดับบน แต่ดันลงมาเล่นระดับล่าง ผู้ตาม
    ระดับล่างควรส่งเสริมด้วยปัจจัยพื้นฐานแต่กลับไปเล่นระดับบน ในที่สุด
    ก็เลยไม่มีใครประสบความสำเร็จสูงสุดในฐานะหน้าที่ของตน นี่เพราะ
    ปฏิบัติธรรมไม่เหมาะสมกับภาวะหรือฐานะ สังคมจึงกลับหัวกลับหาง
    คือหางไปเป็นหัว หัวไปเป็นหาง อย่างที่เห็นกัน แล้วมันจะพากันไปไหน
    พากันไปกันมามันก็หมุนกลับมาที่เดิมทุกที สังคำจึงเป็นอยู่อย่างที่เห็น

    และนักบวชบางท่านไม่เข้าใจระดับธรรม พอตนไปศึกษาธรรมเพื่อการ
    หลุดพ้น พอได้สภาวะบ้างก็เอาธรรมะของนักบวชมาสอนให้คฤหัสถ์
    ทั่วไปปฏิบัติ ซึ่งเขาอยู่คนละฐานะ มีหน้าที่ไม่เหมือนท่าน ถ้าเป็นคนที่
    พร้อมจะบรรลุก็โอ.เค. แต่ถ้าเป็นการสอนทั่วไปเลยเกิดความไม่ค่อยเข้าใจกัน
    เลยคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องยากเป็นเรื่องไกลตัวเป็นของสำหรับคนต้องการ
    หลุดพ้น ไม่ใช่เรื่องของพวกเขา เลยไม่ปฏิบัติธรรม จึงยิ่งห่างไกลศาสนา
    ทั้งๆ ที่ธรรมะเป็นสัจจะสำหรับทุกคน ดังนั้น การสอนธรรมะนั้นต้องจำแนก
    ธรรมสั่งสอนตามระดับบุคคลหรือกลุ่มชนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ

    พระพุทธเจ้าจะสอนธรรมแก่ใครนั้นทรงตรวจดูก่อนว่าคนนี้จะบรรลุได้ระดับใด
    ก็ทรงสอนตามระดับของเขา จึงมีความแม่นยำและได้ผลมาก

    ฆราวาสบางคนเคยชินกับชีวิตหยาบๆ ทางโลกอย่างไรก็เอาสิ่งที่เป็น
    ทางโลกหยาบๆ ที่ตนเคยชินไปถวายพระ ทั้งๆ ที่ท่านอยู่คนละภาวะ
    มีหน้าที่แตกต่างกับเขา ต่างคนต่างพยายามเย่อเข้าหาสิ่งที่ตนเคยชิน
    ระบบสังคมเลยกระจุกตัวอยู่ตรงกลาง หัวไม่เป็นหัว หางไม่เป็นหาง
    กระบวนการพัฒนาสังคมจึงไม่เป็นเส้นตรงพุ่งขึ้นสู่ที่สูง

    คนที่ประพฤติธรรมไม่เหมาะสมกับระดับตน ตัวเองก็จะสับสนด้วย เช่น
    เมื่ออยากหลุดพ้นแต่ยังต้องอยู่ในระบบโลก โดยมากยังต้องแสวงหาก็จะมีภาระความรับผิดชอบ
    และปัญหาสารพัดจากกิเลสตัณหาของตนและ
    ของคนอื่น ทำให้ไม่อาจบรรลุได้หรือได้ก็ยากเข็ญ ครั้งจะทำธุรกิจแต่
    ก็อยากจะปล่อยวาง จึงไม่กล้าเรียกร้องประโยชน์ซึ่งอาจทำให้เจ๊งได้

    การจะหลุดพ้นได้นั้นต้องมีระบบรองรับเพื่อส่งไปด้วยดี พระพุทธเจ้าจึง
    ได้จัดให้นักบวชเลิกแสวงหา ละการครองสมบัติส่วนตัว ไม่ทำงานอื่นใด
    นอกจากการปฏิบัติธรรมวินัยเพื่อหลุดพ้นเท่านั้น โดยสังคมจะเลี้ยงดู
    ด้วยปัจจัยจำเป็นพื้นฐานเพื่อการยังชีพและการปฏิบัติธรรม ดังนั้น
    ถ้าอยากหลุดพ้นควรไปบวช ซึ่งจะเป็นฐานะและภาวะที่เหมาะที่สุดและ
    จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

    และหากเป็นนักบวชแต่ยังแสวงหา เอาโน่น ทำนี่ ที่ไม่ใช่การหลุดพ้น
    ก็หลุดพ้นไม่ได้เพราะกิเลสตัณหามันยังซ่านอยู่ ครั้นจะไปลุยทำอะไรแบบ
    โลกๆ ให้มันยิ่งใหญ่ก็ทำไม่ได้เพราะรูปแบบไม่เหมาะสม ผิดธรรมวินัย
    สังคมไม่ยอมรับ

    บุคคลทั้งสองประเภทนั้น ตนก็จะสับสนในตน สังคมก็จะสับสนในตัวเขา
    และนานไปสังคมก็จะสับสนกันเอง เลยไม่มีใครได้ประโยชน์แท้จริงจากระบบ
    ต่างๆ อย่างเต็มที่ ดีไม่ดีระบบต่างๆ ก็จะค่อยๆบิดเบี้ยวไปทุกทีจนไม่อาจ
    เอื้ออำนวยต่อกันและกันอย่างที่ควรจะเป็น

    หรือแม้แต่นักการเมืองที่อาสามาเกื้อกูลสังคม พัฒนาสังคมไปสู่อุดมคติ
    ที่เป็นไปได้ แต่ดันเอาระบบแลกเปลี่ยนประโยชน์ระดับธุรกิจมาใช้ ก็จะมี
    แต่เรื่องคอรัปชั่นและความไม่เป็นธรรมนานา แล้วสังคมอุดมคติจะเกิดขึ้น
    ได้อย่างไร เมื่อมีการคอรัปชั่นและความไม่เป็นธรรม ความสงบสุขความ
    รุ่งเรืองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่มีอยู่แล้วบ้างก็จะพลอยอันตรธานหายไป
    พวกนี้แทนที่นักการเมืองทำหน้าที่สร้างเมืองพัฒนาชาติ เลยกลายเป็น
    นักกินเมืองทำลายชาติ เพราะประพฤติธรรมไม่เหมาะกับฐานะหน้าที่
    ทางการเมือง

    ถ้าใครอยากแสวงหาประโยชน์ และเปลี่ยนประโยชน์ก็ไปเป็นนักธุรกิจ
    ถ้าอยากเกื้อกูลและพัฒนาชาติเมื่อไหร่ค่อยมาเป็นนักการเมือง

    ดังนั้นการประพฤติธรรมนั้นต้องประพฤติให้เหมาะสมกับภาวะ ฐานะและ
    หน้าทีของตน ระบบต่างๆ ในชีวิตและสังคมจึงจะเจริญรุ่งเรืองโดยเร็ว

    ในทุกระดับนั้นมีธรรมะสำหรับทุกภาวะและฐานะแล้วนักธุรกิจก็มีธรรมะ
    สำหรับนักธุรกิจ นักการเมืองก็มีธรรมะสำหรับนักการเมือง นักปกครอง
    ก็มีธรรมะสำหรับนักปกครอง

    เช่นระดับการครองเรือน คนที่มีครอบครัวก็ต้องเจริญคารวะหก การบริหาร
    รายได้โดยธรรม และมงคลชีวิต

    และแม้เป็นนักธุรกิจก็เป็นโดยธรรมได้ เช่นการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรม
    ความซื่อตรง ไม่ฉ้อโกงกัน ความรับผิดชอบต่อสินค้าบริการ และสังคม
    ของตน เป็นต้น

    นักการเมืองนักปกครองก็ต้องเจริญอิทธิบาทสี่ พรหมวิหารสี่ บารมีสิบ
    ทศพิธราชธรรม เป็นต้น ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ทรงประพฤติ
    ตนให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว

    นักบวชก็มีธรรมะสำหรับนักบวช เช่นปาฏิโมกข์สังวร อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
    บุญสิบ กรรมฐานสี่สิบ มรรคแปด โพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ด เป็นต้น


    เห็นไหมทุกระบบย่อมมีมาตรฐานแห่งธรรมกำกับอยู่ ถ้าสังคมอยู่ในระบบ
    ระเบียบอย่างนี้ โอ รุ่งเรืองมาก จะรุ่งเรืองมาก สงบสุขและได้ประโยชน์
    ทุกฝ่าย โลกจะเป็นระเบียบพร้อมเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน และชีวิตแต่ละคน
    จะประสบความสำเร็จได้

    ที่สำคัญคือต้องเข้าใจจริง ตั้งใจจริง ทำจริงและประพฤติธรรมอย่างเหมาะสม
    กับภาวะฐานะหน้าที่ของตนทางโลก

    แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าเราอยู่ในระดับใดในโลกก็จะต้องอยู่ระดับนั้น
    จนตาย เราสามารถยกระดับตนได้โดยยกระดับกรรมและ ยกระดับธรรมให้สูงขึ้น ระดับทางโลกก็จะขยับตามมา

    ที่มา : หนังสือมหาสติ การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้นำและผู้บริหาร (อัคร ศุภเศรษฐ์)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 กันยายน 2016
  4. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    ★ การพัฒนาประเทศของชนชาติต่างๆ

    [​IMG]

    ★ การพัฒนาประเทศของชนชาติต่างๆ

    ถาม: ขอประทานโทษค่ะ น้องที่นั่งข้างๆ อยากขอให้อาจารย์เปรียบเทียบคนในชาติต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร คือเผื่อจะพัฒนาอย่างเขาบ้าง

    อาจารย์: พัฒนาอย่างเราดีกว่า อย่าพัฒนาอย่างเขาเลย แต่อย่างเรานั้นหมายความว่าเราต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่หยุด การดูของคนอื่นนั้นดูเพื่อเป็นบทเรียนเพื่อหาหลักการ ไม่ใช่เพื่อเอาอย่าง ถ้าอย่างนี้ควรจะดู
    เวลาจะพิจารณาพัฒนาการของประเทศอื่นนี่ต้องดูทั้งห้าส่วนพร้อมๆ กันคือ

    1) คน
    2) ทรัพยากร
    3) ระบบ
    4) เทคโนโลยี
    5) แรงขับ

    • อย่างคนญี่ปุ่นนี่ คนของเขาทั้งอดทั้งทน ขยันมาก ระเบียบวินัยยอดเยี่ยม อ่อนน้อมเสมอ ทรัพยากรเขาจำกัดมาก ไม่พอเพียง จึงต้องบริหารอย่างดี ระบบเขาดีมาก ทั้งระบบการบริการประชาชนในด้านต่างๆ และระบบการนำของรัฐ ระบบการพัฒนา เขาผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมงดงามอันเก่าแก่และความทันสมัยได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง สังคมเขาจึงมีสวัสดิภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
    เรื่องเทคโนโลยีเป็นที่รู้กันว่าญี่ปุ่นไม่น้อยหน้าใครในโลก ญี่ปุ่นใช้การแข่งขันภายใต้ความจงรักภักดีเป็นแรงขับ ดังนั้นคนญี่ปุ่นทำอะไรก็เพื่อองค์กร แข่งกันสร้างอาณาจักรธุรกิจให้เกรียงไกร เรื่องที่ขึ้นโรงขึ้นศาลก็เป็นคดีด้านลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ทางการค้าและการครอบครองเป็นส่วนใหญ่ การแข่งขันจึงดุเดือดมาก มากจนคนของเขาเครียด คนญี่ปุ่นจึงดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่กันเยอะ เยอะมากโสเภณีก็เยอะ เพราะความเครียดของคนในสังคมสูง

    • ส่วนคนจีน ขยัน อดเก่งแต่ไม่ค่อยทน ชอบโวยวาย ระบบของเขาเด็ดขาด ยกเทิดผู้นำเป็นหลัก ระเบียบวินัยจึงใช้ได้แต่การสร้างสรรค์ต่ำ ทรัพยากรของเขามากพอดีๆ กับคน พึ่งตนเองได้เรื่องทรัพยากร เทคโนโลยีก็พัฒนามากขึ้นโดยลำดับแต่ช้ากว่าญี่ปุ่นและอเมริกา สิ่งที่น่าสนใจของจีนคือวิทยาการการพัฒนาศักยภาพคน ซึ่งเขาให้ความสำคัญมาก จีนใช้ความผูกพันเป็นแรงขับ คนจีนจะทำอะไรก็มักเป็นไปเพื่อความรับผิดชอบต่อครอบครัว วงศ์ตระกูล พวกพ้องและเชื้อชาติ ใครไม่รักวงศ์ตระกูลหรือหมู่บ้าน หรือประเทศชาติ หรือชนชาติถือว่าผิดใหญ่หลวง ครั้งหนึ่งเคยได้รับเชิญไปจีน นายทหารชั้นผู้ใหญ่จัดเลี้ยงต้อนรับ เขาเชิญญาติทั้งหมดมาร่วมงานมีญาติคนหนึ่งมาช้า โดนว่าต่อหน้างานเลี้ยงเลย สังคมจีนจึงอบอุ่นแต่อึดอัด ความเป็นตัวของตัวเองต่ำแต่ความเหนียวแน่นในสายสัมพันธ์สูง เรื่องที่ทะเลาะกันส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องภายในเครือญาติและระหว่างคระกูลเป็นสำคัญ

    • อเมริกา คนเขา โอเค ทรัพยากรเหลือเฟือ มีทุกอย่างที่ชีวิตต้องการ ระบบเขาดี แคร์คน ทำเพื่อประชาชนอย่างเป็นธรรมเป็นสำคัญ เทคโนโลยีเขาล้ำหน้ามากเพราะบริษัทเอกชนเขาส่งเสริมกันวิจัยกันมาก แต่ข้อเสียก็อยู่ที่อเมริกาใช้เงินเป็นจุดหมุนเป็นแรงขับ จึงทำให้คนค่อนข้าวกระด้าง ความสัมพันธ์ไม่สู้แน่นแฟ้น คดีความที่ฟ้องร้องกันนั้น 90% มีเหตุจูงใจมากจากเงิน

    นั่นเฉพาะประเทศหลักๆ การสร้างชาตินั้นต้องสร้างทุกองค์ประกอบพร้อมกัน ถ้าคนดีหรือทรัพยากรดีแต่ระบบไม่ดีก็ไม่รุ่งเรือง เช่นประเทศซาอีร์น่าจะรวยมากเพราะมีเพชรมากที่สุดในโลก แต่ปรากฏว่าจนติดอันดับหนึ่งในสามของโลก ทั้งนี้เพราะระบบการจัดการไม่ดี

    ส่วนไทยเรา ดูกันเอาเองก็แล้วกัน ทุกชนชาติทุกประเทศจะมีทั้งข้อดีและข้อด้อยเสมอ แต่ไม่ว่าจะเป็นอยู่อย่างไร จำไว้ว่าเราสามารถพัฒนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้เสมอ เพียงแค่ประกอบให้ถูกส่วนขับให้ตรงทางด้วยแรงที่พอเหมาะพอดีเท่านั้น

    ที่มา : หนังสือมหาสติ การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้นำและผู้บริหาร (อัคร ศุภเศรษฐ์) หน้า 258-260
     
  5. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    ★ การสร้างชาติ



    [​IMG]

    ★ การสร้างชาติ

    ถาม: อาจารย์คิดว่าการสร้างชาติด้วยภูมิปัญญาไทย เป็นอย่างไรครับ จะได้ผลไหม

    อาจารย์: การสร้างชาตินั้นไม่อาจสร้างได้ด้วยภูมิปัญญาของใครเฉพาะ แต่สามารถสร้างได้ด้วยภูมิปัญญาสากลที่เข้าถึงกฏธรรมชาติและอุดมคติแห่งสังคมที่รอบด้านร่วมยุค โลกนี้เป็นโลกาภิวัตน์หลายด้านแล้ว จะยึดอย่างใดเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

    การพยายามรื้อฟื้นภูมิปัญญาไทยขึ้นมานั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ของดีหลายประการที่ไทยเคยมีแต่ถูกลืม ไปเอาขึ้นมาใช้ใหม่พัฒนาใหม่
    เอามาพัฒนานะไม่ใช่แค่อนุรักษ์เฉยๆ ถ้าแค่อนุรักษ์เฉยๆ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นกรุของเก่าไป แล้วตลาดของเก่าที่ไหนจะรุ่งเรืองบ้าง ขืนอนุรักษ์อย่างเดียวก็จะพาประเทศถอยหลัง ดังนั้นทุกอย่างต้องพัฒนา

    เราควรเอาภูมิปัญญาแห่งบรรพชนมาวิจัยหลักการของท่านให้ได้ เมื่อได้หลักการแล้วต้องพัฒนาต่อให้เป็นเทคโนโลยีแห่งยุค

    จะสังเกตุได้ว่าประเทศที่สร้างชาติได้เร็ว ทั้งญี่ปุ่น และอเมริกา จะผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมของเขากับภูมิปัญญาแห่งโลกใหม่ที่เขาเปิดรับเต็มที่ ชนชาติที่ทำอย่างนั้นจึงจะรุ่งเรืองในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่ให้หลงตนกันไปวันๆ หรือหลงยุคกันเป็นสมัยๆ

    ถ้าเป็นประเทศที่เอาแต่อนุรักษ์ ไม่พัฒนาและไม่ยอมรับของใหม่ก็ดักดานไป แทบจะยืนอยู่ด้วยตนเองไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน

    หรือพวกจะเอาแต่ของใหม่ ไม่รักษาของเก่าก็เหมือนกับพวกที่ไม่รู้จักใช้ทุนเดิมของตนให้เป็นประโยชน์ มุ่งสร้างไม่รู้จบ พวกนี้เหนื่อยมากได้ผลน้อย
    การสร้างชาติต้องสร้างเชิงระบบ ครบทุกกระบวนการ ไม่อาจสร้างได้ด้วยอย่างใดอย่างเดียว ถ้าจะใช้อย่างเดียวเฉพาะที่ตนชอบนั่นเป็นการสร้างฝัน ไม่ใช่สร้างชาติ

    ที่มา : หนังสือมหาสติ การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้นำและผู้บริหาร (อัคร ศุภเศรษฐ์) หน้า 195-196
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 กันยายน 2016
  6. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    ★ การแสวงหาทรัพย์ของนักปฏิบัติที่เหมาะสม

    [​IMG]

    ★ การแสวงหาทรัพย์ของนักปฏิบัติที่เหมาะสม

    ถาม: พอเรามาปฏิบัติธรรมแล้ว บางครั้งเวลาหาเงิน เกิดความรู้สึกขัดแย้ง ไม่ทราบว่าที่ควรจะเป็นอย่างไรครับ

    อาจารย์: ถ้าเรายังไม่ใช่พระ ยังควรแสวงหาทรัพย์โดยชอบ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มลทินของสมณะคือการไม่ขวนขวายในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา มลทินของคฤหัสถ์คือการไม่ขวนขวายหาทรัพย์"

    ดังนั้น ถ้ายังไม่บวชต้องขวนขวายหาทรัพย์โดยชอบ
    ทรัพย์นั้นไม่ได้มีความดีความชั่วใดๆ ในตัวมัน ความดีความชั่วขึ้นอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งทรัพย์นั้น วิธีการรักษา และวิธีการใช้ทรัพย์

    ถ้าได้มาโดยชอบก็ดี
    ถ้าได้มาโดยเบียดเบียนก็ชั่ว
    ถ้ารักษาได้โดยความหลงไม่กำเริบก็ดี
    ถ้ารักษาไปกิเลสกำเริบไปก็ชั่ว
    ถ้าใช้ไปเพื่อบำรุงธรรมก็ดี
    ถ้าใช้ไปเพื่อบำรุงกิเลสตัณหาก็ชั่ว

    ดังนั้นเมื่อหาทรัพย์มาโดยชอบแล้วพึงรักษาและใช้ทรัพย์เพื่อประโยชน์สองส่วนคือ บำรุงตนสร้างบารมีต่อไป

    สร้างบุญคือใช้ทรัพย์เพื่อความบริสุทธิ์แห่งตนโดยใช้ทรัพย์เพื่อบำรุงอวัยวะ ใช้อวัยวะเพื่อบำรุงชีวิต ใช้ชีวิตเพื่อบำรุงจิตใจ ใช้จิตใจเพื่อบำรุงธรรม ใช้ธรรมเพื่อความบริสุทธิ์

    สร้างบารมีคือใช้ทรัพย์เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นให้บังเกิดกุศลแก่เขาในกระบวนการเดียวกัน

    จริงๆ แล้วนักปฏิบัติธรรมควรจะรวย อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ศีลโภคสัมปทา" แค่ทำงานด้วยศีลอันมั่นคงก็ทำให้มีโภคทรัพย์ได้รวยได้นั่นเอง

    อย่าไปรังเกียจความร่ำรวยแต่ก็อย่าไปพิศวาสมัน ทุกอย่างในโลกมีทั้งคุณและโทษในตัวมันเอง เราต้องมีเทคนิคการบริหารทุกสิ่งเพื่อให้ได้คุณเสมอ

    ถ้าเข้าใจมันด้วยได้แล้วก็ รวยโลด

    ที่มา: หนังสือมหาสติ การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้นำและผู้บริหาร (อัคร ศุภเศรษฐ์) หน้า 188-189
     

แชร์หน้านี้

Loading...