♠:เอาบุญมาแบ่งให้:♠

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 20 มกราคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    เอาบุญมาแบ่งให้

    โดย วสิษฐ เดชกุญชร


    [​IMG]


    ผมกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ที่สถานปฏิบัติธรรมเอกชนแห่งหนึ่ง บนเขาในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

    ผมมาถึงสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 10 เดือนนี้ (มกราคม 2552) พร้อมด้วยสหธรรมิก (เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรม) อีก 29 คน เพื่อถือศีล 8 และทำสมาธิ ไปจนกว่าจะถึงวันอาทิตย์ที่ 18 จึงจะเลิก

    ผู้สมาทาน (ถือ) ศีล 8 นั้น นอกจากศีล 5 ที่รู้จักกันดี (แต่ไม่ค่อยถือปฏิบัติ) แล้วก็มีอีกสามข้อ คือข้อ 6 เว้นการกินอาหารในยามวิกาล คือเมื่อพ้นเที่ยงไปแล้ว ส่วนข้อ 7 นั้น เว้นแยะหน่อย คือเว้นการเต้นรำฟ้อนรำ ดูการละเล่น ฟังการร้องเพลง บรรเลงดนตรี ดูหนังดูละครและรายการบันเทิง (รวมทั้งจากจอโทรทัศน์ด้วย) และเว้นการประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทาและเครื่องสำอางทุกชนิด คือเว้นการเสริมสวยนั่นเอง

    ข้อสุดท้ายคือข้อ 8 เว้นการนอนที่นอนสูงที่นอนใหญ่ที่ภายในมีนุ่นมีสำลี

    มีข้อปฏิบัติที่ไม่อยู่ในศีลอีกสองข้อ คือหยุดพูดกันทั้งแปดวัน แถมยังกินอาหารมังสวิรัติด้วย ที่หยุดพูดก็เพราะการพูดกันนอกจากจะเสี่ยงต่อการล่วงศีลข้อ 4 (คือการพูดเท็จ พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด และไร้สาระแล้ว ยังจะเป็นการรบกวนสมาธิของผู้อื่นด้วย ส่วนการกินอาหารมังสวิรัตินั้น เป็นการไว้ชีวิตสัตว์ที่จะถูกฆ่าให้เรากิน ในขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับหลักชีวจิตด้วย

    เราตื่นนอนแต่ตีสี่ครึ่ง นั่งสมาธิกันหนึ่งชั่วโมง หลังอาหารเช้า ตั้งแต่เวลา 08.30 ถึง 11.00 นาฬิกา และหลังอาหารกลางวัน (มื้อสุดท้ายของแต่ละวัน) ตั้งแต่บ่ายสองโมงครึ่งจนถึงห้าโมงก็ทำสมาธิ หยุดพักเพื่อดื่มน้ำผลไม้ตอนห้าโมงเย็น หกโมงเย็นถึงทุ่มหนึ่งฟังการบรรยายธรรม ต่อจากนั้นนั่งสมาธิอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง สามทุ่มนอน

    ผมเป็นคนแนะนำวิธีทำสมาธิและบรรยายธรรมด้วย ผมทำอย่างนี้มาเป็นประจำทุกปี ตั้งปี 2538 เว้นอยู่ปีหนึ่ง เมื่อผมบังเอิญไม่สบาย

    วิธีทำสมาธิที่ผมแนะนำนี้ เป็นแบบของท่านอาจารย์ อูบาขิ่น อุบาสก ชาวพม่า ท่านริเริ่มไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ที่ศูนย์สมาธินานาชาติ (International Meditation Centre) ที่ท่านตั้งขึ้นในนครย่างกุ้ง และได้รับความสนใจและนิยมจนแพร่หลายออกไปทั่วโลก ผมไม่ได้เรียนจากท่านโดยตรง แต่ได้เรียนอีกต่อหนึ่งจากท่านอาจารย์ จอห์น โคลแม็น (John Coleman) เพื่อนรักชาวอเมริกันของผมเอง ท่านอาจารย์โคลแม็นเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์อูบาขิ่น เริ่มมาสอนสมาธิในเมืองไทยเมื่อปี 2537 โดยผมเป็นผู้ช่วย ต่อมาเมื่อปี 2538 ท่านก็มอบหมายให้ผมสอนต่อมาจนถึงปัจจุบัน

    สมาธิแบบของท่านอาจารย์อูบาขิ่นนั้น เป็นแบบเร่งรัดใช้เวลาเพียง กว่าสัปดาห์ (8 -10 วัน) เพื่อผู้ที่มีเวลาน้อยไม่สามารถจะไปบวชและเรียนที่วัดได้ สามวันแรกท่านให้เรียนสมถสมาธิหรือสมถกรรมฐาน (เพื่อให้จิตสงบ) ก่อน พอขึ้นวันที่สี่ไปจนถึงวันสุดท้าย จึงให้เรียนวิปัสสนาสมาธิ หรือวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เข้าใจทุกขเวทนาและวิธีดับ ในภาควิปัสสนานี้ ท่านให้ผู้รับการฝึกบังคับตัวเองให้นั่งไม่เปลี่ยนท่าทั้งชั่วโมง จนทุกขเวทนา (คือความเมื่อย เจ็บหรือปวด) เกิด เพื่อจะได้ศึกษาและเข้าใจทุกขเวทนาจากของจริง

    สมาธิแบบนี้ ผมไปเรียนกับท่านอาจารย์โคลแม็น เมื่อปี พ.ศ.2536 ที่เมืองเล็กๆ ชื่อเมืองมอนเตซานโต (Monte Santo) ใกล้นครมิลานในประเทศอิตาลี ทุกครั้งที่ผมทำวิปัสสนาสมาธิ ผมปวดเอว ปวดหลัง และปวดขาขวาแสนสาหัส จนตาลาย กัดฟันทำ และไม่เข้าใจทุกขเวทนา จึงไม่สามารถรู้จักเวทนาอยู่เป็นเวลาสองปี พอถึงปี 2538 ขณะที่กำลังช่วยแปลคำสอนของท่านอาจารย์โคลแม็นอยู่ (และปฏิบัติไปด้วย) ผมจึงทำได้สำเร็จ เข้าใจทุกขเวทนา และสามารถอยู่กับความเจ็บความปวดทุกชนิดได้

    ฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่าก็เป็นความสำเร็จที่ไม่ยิ่งใหญ่หรือน่าตื่นเต้นอะไร แต่ก็ความสามารถที่ได้มานั่นแหละครับ ที่ผมนำมาใช้กับเวทนาทางใจ คือความทุกข์ใจ และอยู่กับมันได้ สามารถดูมันได้เฉยๆ โดยมันไม่ทำให้ผมจนปัญญา จนตรอก หรือบ้า

    เมื่อการฝึกสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ 18 ผมและสหธรรมิกก็จะแยกย้ายกันไปตามยถากรรม หลายคนคงยังไม่เข้าใจทุกขเวทนาและยังไม่สามารถอยู่กับทุกขเวทนาได้ แต่อย่างน้อย ทุกคนก็จะได้สัมผัสและรู้วิธีแล้วที่จะศึกษามัน ถ้ายังศึกษาและปฏิบัติ (สมาธิ) ต่อไปโดยไม่เลิกหรือท้อถอยเสีย อย่างน้อยก็คงจะได้ความสงบของจิต อันเป็นผลของสมถกรรมฐาน มีที่พักใจในขณะที่ทุกข์เกิด ดีกว่าอีกหลายคนที่ไม่เคยเรียน ไม่เคยปฏิบัติ และต้องสู้ทุกข์ไปโดยไม่มีโอกาสจะได้พักใจเลย

    สถานปฏิบัติธรรมที่ปากช่องแห่งนี้มีเนื้อที่กว้างขวางเป็นร้อยไร่ เดิมท่านเจ้าของตั้งใจจะใช้เป็นที่อยู่หลังถึงเกษียณอายุราชการ แต่เผอิญท่านใฝ่ธรรม จึงเริ่มด้วยการสร้างที่พักให้พระภิกษุที่ท่านรู้จักไปอาศัยปฏิบัติธรรมก่อน ต่อมาจึงได้ขยายออกไปจนกลายเป็นศูนย์อบรมและปฏิบัติธรรมใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน ศูนย์นี้สงบร่มรื่น ภายในบริเวณมีต้นไม้ใหญ่น้อยหลายชนิด บางชนิดท่านปลูกเอาไว้ขาย เพื่อเอาเงินมาใช้สนับสนุนการอบรมและปฏิบัติธรรม ตอนที่เรากำลังมาอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่นี้ อากาศหนาวเย็นมาก บางวันอุณหภูมิต่ำถึง 12 องศาเซลเซียส แต่เราก็รู้สึกอบอุ่นเพราะเมตตาและกรุณาของท่านเจ้าของ และเพราะแรงธรรม

    แม้จะมีบริเวณกว้างขวางใหญ่โต มีครบทั้งห้องประชุม บ้านพัก ที่กินอาหาร ห้องน้ำ และครัว เหมือนโรงแรมหรือรีสอร์ต แต่ท่านเจ้าของศูนย์ก็ไม่คิดค่ากินอยู่ แต่ท่านออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ท่านขอร้องผมเอาไว้ มิให้เปิดเผยทั้งที่ตั้งศูนย์และตัวท่านเอง เพราะท่านไม่ประสงค์จะให้ศูนย์แห่งนี้ กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือการประชุมสัมมนานอกธรรม ท่านบอกว่า ลำพังแต่พระที่ท่านรู้จัก และเพื่อนฝูงที่ไปใช้ศูนย์นี้อบรมหรือปฏิบัติธรรมก็พอแล้ว และแม้แต่ผู้ที่พระหรือเพื่อนฝูงแนะนำ ท่านก็เข้มงวดกวดขันกับการกินอยู่และความประพฤติของคนเหล่านั้น ขณะที่เข้าไปใช้ศูนย์ หากไม่เหมาะสม ท่านก็ปฏิเสธไม่รับหรือขอให้ออกไป

    ช่วงเวลา 8 วันของการถือศีลและทำสมาธิหรือกรรมฐานที่ศูนย์นิรนามแห่งนี้ ผมและสหธรรมิกสงบทั้งกาย วาจา และใจ ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำชั่ว เพราะฉะนั้น จึงคงจะได้บุญมาก

    ขอแบ่งบุญให้ท่านผู้อ่านด้วยครับ


    [​IMG]
    http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act03200152&sectionid=0130&day=2009-01-20
     
  2. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,286
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,002
    ฟังเเล้วเหมือนเป็นการบวชพราหมณ์ เเต่ก็ดีครับ น่าสนใจ ผมก็คิดอยากบวชพราหมณ์อยู่เหมือนกัน ขอบคุณครับพี่ /\
     
  3. TUK2800

    TUK2800 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    1,766
    ค่าพลัง:
    +1,161
    [​IMG] อนุโมทนาสาธุ [​IMG]

    ความดีนั้นควรจะทำเป็นนิสัย แต่ไม่ควรติดดี เพราะว่าความดีไม่ได้มีไว้แบก แต่ความดีมีไว้ปูทางเดิน
     

แชร์หน้านี้

Loading...