333 ปีผ่าน รำลึกมหาราชผู้ทรงล้ำหน้ากว่าผู้ใดในสยาม

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 10 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b899-e0b8a3e0b8b3e0b8a5e0b8b6e0b881e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b89ce0b8b9e0b989e0b897.jpg
    พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมัยรัชกาลที่ 5

    ย้อนหลังกลับไปวันที่ 11 กรกฎาคม พุทธศักราช 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในพระราชวังเมืองลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ขณะพระชนมายุได้ 56 พรรษา กว่า 32 ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างความเจริญอย่างรุดหน้าให้กับสยามประเทศ ทัดเทียมกับอารยประเทศอื่นๆ ในซีกโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี พระราชดำริหลายประการล้วนล้ำหน้ากว่าผู้ใดในสยาม

    899-e0b8a3e0b8b3e0b8a5e0b8b6e0b881e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b89ce0b8b9e0b989e0b897-1.jpg
    พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่จังหวัดลพบุรี

    ในปี 2564 นี้ จึงเป็นวาระครบ 333 ปี การรำลึกพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานมรดกให้ไว้

    ว่าด้วยประวัติสังเขปของพระองค์นั้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 27 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199 ถึง พ.ศ. 2231 หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2173-พ.ศ.2198) โดยที่เชื่อกันว่าพระราชชนนีเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระราชสมภพเมื่อราว ปี พ.ศ.2174 หรือ พ.ศ.2175 เพราะพระราชพงศาวดารบันทึกว่าในปี พ.ศ.2199 นั้น ทรงประกอบพระราชพิธีเบญจเพส (พระชนมายุครบ 25 พรรษา) เมื่อแรกประสูตินั้นพระประยูรญาติเห็นเป็น 4 กร จึงขนานพระนามว่า “สมเด็จพระนารายณ์” ทรงมีพระราชอนุชาร่วมพระชนกหลายพระองค์ และมีพระขนิษฐภคินีร่วมพระชนนี 1 พระองค์ ซึ่งต่อมาโปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงโยธาทิพ

    ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงศึกษาเล่าเรียนกับพระภิกษุหลายสำนัก ทั้งทรงชำนาญในศิลปศาสตร์เป็นอย่างดี ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคต ใน พ.ศ.2199 และสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อมาได้ 2 เดือน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะดำรงพระยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ยึดอำนาจและขึ้นครองราชย์ในที่สุด

    หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.2199 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ ทั้งการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาเขต ระหว่าง พ.ศ.2208-2209 โปรดให้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง เพื่อรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์และเป็นการสร้างที่ประทับเพื่อพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ ปรากฏหลักฐานในเอกสารหลายฉบับทั้งไทยและต่างประเทศ ว่า รัชกาลของพระองค์มีความยิ่งใหญ่เหนือรัชกาลอื่นโดยเฉพาะเรื่องการติดต่อกับต่างประเทศอันเป็นเหตุให้ประวัติศาสตร์อยุธยาในช่วงรัชสมัยมีเอกสารมากมายที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

    899-e0b8a3e0b8b3e0b8a5e0b8b6e0b881e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b89ce0b8b9e0b989e0b897-2.jpg
    ประตูชัย ประตูเมืองลพบุรีทางทิศใต้
    899-e0b8a3e0b8b3e0b8a5e0b8b6e0b881e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b89ce0b8b9e0b989e0b897-3.jpg
    ประตูน้ำในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

    การศึกสงครามในช่วงต้นแผ่นดินนั้นมีทั้งสงครามในและนอกพระนคร ทรงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนในพระนครก็เกิดกบฏพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ขึ้น เป็นเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในขุนนางเดิมและทรงเพิ่มความสนิทสนมกับขุนนางชาวต่างชาติมากขึ้น

    ด้านการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ทรงเป็นองค์พุทธมามกะและองค์ศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังอยุธยา หากทรงสงสัยในเรื่องธรรมะก็จะมีพระราชปุจฉาส่งไปเผดียงถามพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรม นอกจากนี้ยังมีวัดตองปุ วัดบันไดหิน วัดปืน วัดเสาธงทอง ในเมืองลพบุรี ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ขณะเดียวกันนั้นก็ทรงให้ความอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ และทรงเรียนรู้จากผู้สอนศาสนานั้นๆ จึงทรงมีความรู้แบบใหม่ ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การวางผังเมือง การศึกษา ฯลฯ

    ด้านงานวรรณกรรม ปรากฏว่า ได้รับความนิยมและเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกวีด้วยพระองค์หนึ่ง พระราชนิพนธ์สำคัญคือ สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนต้น) พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต 3 เรื่อง คือ โคลงพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดิ์ และในรัชกาลยังมีกวีอีกหลายท่านที่ฝากผลงานไว้ในประวัติวรรณคดีไทย

    สำหรับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เป็นการเปิดโลกทัศน์ของสยามออกสู่ตะวันตกมากขึ้น ทรงติดต่อกับประเทศในภูมิภาคตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น ญวน และประเทศในดินแดนตะวันตกนับแต่อินเดีย เปอร์เซียจนถึงประเทศในทวีปยุโรป ช่วงต้นรัชกาลมีกลุ่มบาทหลวงมิชชันนารีเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและสืบทอดภารกิจของคริสต์ศาสนา ซึ่งพระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์ที่ดินให้ปลูกสร้างอาคาร และพระราชทานเสรีภาพในการเผยแผ่ศาสนา การที่สังคมอยุธยามีพ่อค้าและบาทหลวงต่างชาติเดินทางเข้ามามากเช่นนี้ ทำให้บทบาทของชาวต่างชาติมีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงของ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ หรือ คอน สแตนติน ฟอลคอน ซึ่งเข้ารับราชการเป็นลำดับจนถึงตำแหน่งว่าที่สมุหนายกและกำกับดูแลพระคลัง ทั้งยังมีบทบาทในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะบทบาทของออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) ที่เดินทางไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และได้รับชื่อเสียงเลื่องลือไปไกล

    ในปลายรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวร สมเด็จพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ พระโอรสบุญธรรมร่วมกับขุนนางอีกจำนวนหนึ่งยึดอำนาจ ด้วยเกรงว่าอำนาจของชาวต่างชาติจะมีมากเกินไปและเป็นอันตรายต่อราชอาณาจักร ที่สุดแล้วเมื่อขุนนางเช่นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ พระปีย์ ถูกสำเร็จโทษไปแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในบริเวณพระราชวังเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับส่วนพระองค์ ที่ทรงตั้งพระทัยสร้างให้วิจิตรงดงามตามแบบศิลปะตะวันตก-เปอร์เซีย นั่นเอง

    899-e0b8a3e0b8b3e0b8a5e0b8b6e0b881e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b89ce0b8b9e0b989e0b897-4.jpg
    แผนผังเมืองลพบุรีที่ชาวฝรั่งเศสวาดไว้สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

    ความก้าวล้ำทางความคิดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงเห็นความสำคัญและการเรียนรู้แบบตะวันตก ที่เป็นของใหม่ในสยามในช่วงเวลานั้น เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองหลายประการ เช่น การสร้างป้อมปราการ ค่ายคูประตูหอรบในเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีของพระราชมรดกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้พระราชทานไว้ เพราะโบราณวัตถุสถานที่หลงเหลือค่อนข้างเป็นรูปธรรม แม้บางส่วนจะเปลี่ยนสภาพไปบ้างก็ตาม อีกทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์ก็มีหลากมิติ ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ก้าวหน้าไปจากเดิม

    กว่า 300 ปี ที่มหาราชพระองค์นั้นสวรรคตไปแล้ว สิ่งสำคัญคือการที่คนลพบุรีต้องเป็นหลักในการเผยแพร่พระเกียรติยศในทุกด้านของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ต้องตระหนักถึงความสำคัญว่าทุกตารางนิ้วในเมืองลพบุรีคือสิ่งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานไว้ให้เป็นมรดกทำกิน ทั้งผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนในประเทศไทยก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องราวรัชสมัยอย่างไม่มีอคติ และอนุรักษ์ ต่อยอดสร้างสรรค์ สิ่งที่หลงเหลือในปัจจุบันไว้เท่าที่พึงจะกระทำได้ตามหลักวิชา ซึ่งเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนที่สุด

    รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
    คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2818672
     

แชร์หน้านี้

Loading...