5 โรคยอดฮิตที่ผู้หญิงควรรู้

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย paang, 7 ตุลาคม 2006.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,325
    [​IMG]

    จะว่าไปแล้วในทางกายภาพชายและหญิงมีความแตกต่างกันเกือบจะทุกด้าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัญหาสุขภาพและโรคภัยของชายและหญิงจะต่างกันออกไปด้วย โดยเฉพาะปัญหาของผู้หญิงซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่ต่างออกไป เนื่องจากสภาวะทางร่างกายของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกช่วงวัย

    ดังนั้น ผู้หญิงเราควรจะต้องรู้ไว้ว่ามีภัยสุขภาพใดบ้างที่ตัวเองมีปัจจัยเสี่ยง จะสังเกตอาการเบื้องต้นได้อย่างไร และที่สำคัญคือควรป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ขึ้นได้ ซึ่งต้องขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วยค่ะ

    โรคหลอดเลือดสมอง

    โรคหลอดเลือดสมองดูจะได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นตัวการคร่าชีวิตผู้หญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ และเนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนกว่าจึงได้รับความทรมานจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ชายไปโดยปริยาย โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่หลอดเลือดซึ่งพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดออกซิเจนและเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการพูดและการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง

    อาการบ่งชี้

    อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรงหรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน คุณหมอแนะนำว่าหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อไร แทนที่จะโทรศัพท์บอกคนในครอบครัวหริติดต่อแพทย์ประจำตัว ให้เปลี่ยนเป็นติดต่อแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะความแตกต่างระหว่างรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกับรายที่มีอาการไม่รุนแรงนัก ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

    ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

    แม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองของทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์ เพราะความดันโลหิตจะสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนรวมทั้งผู้ที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิด ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    ป้องกันและรักษา

    การใช้ชีวิตแบบใส่ใจในสุขภาพ เช่น ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

    โรคหัวใจ
    สำหรับทั่วโลกและในประเทศไทย โรคหลอดเลือดแดง รวมถึงภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันและหลอดเลือดสมอง คร่าชีวิตผู้หญิงมากกว่าโรคมะเร็งเสียอีก โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งจะจำกัดหรือตัดการลำเลียงออกซิเจนไปสู่หัวใจ ถ้าปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้



    อาการบ่งชี้

    เกิดอาการปวดเสียดที่หน้าอก หายใจไม่ออก หายใจถี่ ปวดกราม ปวดไหล่ วิงเวียน คลื่นเหียน อาจารและเหงื่อแตก ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรับการตรวจและรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบอาการ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย

    ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

    สำหรับผู้หญิงเรานั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้แก่ ความเครียดเรื้อรัง น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน ที่มักเกิดขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน มีระดับคอเลสเตอรอลและไตกลีเซอไรด์สูง ระดับไขมัน HDL ต่ำกว่าเกณฑ์ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่จัด และครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วย

    ป้องกันและรักษา

    ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาจะลดลงไปได้มาก เพียงแค่งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และถูกต้องตามหลักควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การผ่อนคลายความเครียดก็เป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมความดันโลหิตสูงและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด การฝึกโยคะ นั่งสมาธิ สูดลมหายใจลึกๆ และออกกำลังกายเบาๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการผ่อนคลายความเครียด นอกจากนี้ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่ออายุ 40 หรือ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงความเสี่ยงสูงเนื่องจากหมดประจำเดือน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อนควรตรวจระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

    มะเร็งเต้านม

    มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี และถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรง ซึ่งผู้หญิงหลายคนยังหวาดหวั่นกับโรคนี้อยู่ มะเร็งเต้านมก็คือเซลล์เนื้อร้ายในเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งผู้หญิงหลายคนอาจสังเกตปัญหาในเบื้องต้นได้เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านม (ซึ่งอาจจะไม่ใช่มะเร็งทั้งหมด)

    อาการบ่งชี้

    เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านม รูปร่างและขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป มีก้อนหรือบวมใบริเวณรักแร้ หรือมีของเหลวซึมออกมาจากหัวนม
    ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

    มีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งประวัติการเป็นของสมาชิกในครอบครัว การใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี ภาวะน้ำหนักเกิน การดื่มสุราจัด ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสิ้น

    ป้องกันและรักษา

    ผู้หญิงทุกคนควรตรวจหาก้อนเนื้อที่เต้านมด้วยตนเอง และควรไปตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอุลตร้าซาวน์ด์เป็นประจำทุกปี สำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 40 ขึ้นไป ปัจจุบันวิธีการรักษามะเร็งเต้านมได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น การตัดเต้านมทิ้งทั้งหมดไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป แพทย์สามารถผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออกโดยไม่ต้องเสียเนื้อเยื่อส่วนที่ยังดีอยู่ วิธีดังกล่าวเรียกว่า Lumpectomy

    มะเร็งรังไข
    ในบรรดาโรคร้ายทั้ง 5 ที่นำมาบอกเล่ากันในวันนี้ มะเร็งรังไข่มักเป็นโรคที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า และท้ายสุดส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิตได้ งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่าร้อยละ 94 ของผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เริ่มมีอาการของมะเร็งมานานแล้ว นานที่สุดคือ 1 ปี ก่อนที่จะพบแพทย์

    อาการบ่งชี้

    ถ้าคุณพบว่าตนเองมีอาการดังต่อไปนี้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ควรพบแพทย์ทันที

    * ช่องท้องบวมหรือขยายตัวเร็ว
    * อ่อนเพลีย เมื่อยล้า
    * เจ็บบริเวณกระดูกเชิงกรานและช่องท้อง
    * ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ และการขับถ่ายผิดปกติ
    * ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    * น้ำหนักเพิ่มหรือลดอย่างรวดเร็ว

    ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

    การตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกมีความสำคัญเพราะอาจช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ ในระยะแรกโรคจะจำกัดวงอยู่เฉพาะภายในรังไข่ แต่หลังจากนั้นจะแพร่ขยายอย่างรวดเร็วไปยังส่วนต่างๆ โดยเฉพาะช่องท้อง ผู้หญิงร้อยละ 95 มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี น่าเสียดายที่ส่วนมากมักจะเข้ารับการตรวจและพบเนื้อร้ายในระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งสัดส่วนในการมีชีวิตต่ออีก 5 ปี ก็ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

    ป้องกันและรักษา

    สำหรับการตรวจหามะเร็งรังไข่มีหลายวิธี ได้แก่การตรวจช่องคลอดและทวารหนัก การตรวจอุลตร้าซาวน์ด์อุ้งเชิงกรานและการตรวจเลือดวัดระดับ CA-125 ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ไม่แตกต่างจากมะเร็งทั่วไปในเรื่องของประวัติครอบครัว รวมทั้งความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีบุตรแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ลดลง

    โรคกระดูกพรุน

    แม้โรคกระดูกพรุนอาจไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่คุกคามคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทยหลายล้านคนเลยทีเดียว ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนคงยืนยันได้ถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดและการมีข้อจำกัดทางกายภาพซึ่งเป็นธรรมชาติของโรคนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้โรคกระดูกพรุนยังเป็นสาเหตุของอาการกระดูกสะโพกร้าวซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก

    ความเสี่ยงสำหรับผู้หญิง

    ผู้หญิงสูงอายุที่มีโครงร่างเล็กมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเป็นโรคกระดูกพรุน และผู้หญิงเอเชียยังเป็นโรคกระดูกพรุนสูงกว่าผู้หญิงเชื้อชาติอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้การสูบบุหรี่ การใช้สารสเตียรอยด์ การดื่มสุราจัด และการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีต่ำ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคให้สูงขึ้น

    ป้องกันและรักษา

    โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ทำให้กระดูกเสื่อมและเปราะ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการบริโภคแคลเซียมอย่างเพียงพอ ประกอบกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะกระดูกจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 30 ปี และเริ่มเสื่อมลงอย่างช้าๆ ดังนั้นยิ่งกระดูกเราแข็งแรงมากเท่าไรในช่วงที่พัฒนาเต็มที่ ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพกระดูกต่อไปเท่านั้น

    สำหรับการวินิจฉัยโรค แพทย์จะใช้เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไรก็ยิ่งป้องกันการเปราะแตกของกระดูกได้มากขึ้นเท่านั้น ในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินเสริมและออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้กระดูกได้ซ่อมแซมและเสริมสร้างตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกทำงานประสานกันได้ดี ช่วยให้การทรงตัวดีขึ้นป้องกันการบาดเจ็บและการล้มที่อาจเกิดอันตรายได้ ในกรณีที่ร้ายแรงแพทย์จะสั่งยาเสริมสร้างกระดูกและป้องกันกระดูกเปราะให้แก่ผู้ป่วย[​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...