การประเคนของถวายพระ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 16 ตุลาคม 2010.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,186
    ถาม : เรื่องการประเคน ?

    ตอบ : เรื่องของที่จะขาดประเคนน่ะ ต่อให้เราทิ้งเอาไว้แล้วคนอื่นมาหยิบมาจับมาต้อง ถ้าจิตของเราผูกอยู่มันยังไม่ขาดประเคน เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ที่เจตนาว่า เราจะให้ขาดประเคนแล้วให้คนอื่นเขานำไปเก็บ ถ้าบอกเขาอย่างนั้นไป มันขาดประเคน ถ้าเอามา ต้องประเคนใหม่ แต่ถ้าสมมติว่าอาหารเป็นของเรา เช่นว่า ขนมหรือว่าอะไรอย่างนี้ เรายกให้เณรไปโดยบอกว่า เณรไปหยิบเอานะ เอาเท่าไรก็ได้ ที่เหลือทิ้งไว้ให้หลวงพี่นะ นั่นยังเป็นของเราอยู่ ถ้าหากว่าก่อนเพลไม่ต้องประเคนใหม่ แต่ว่าถ้าให้เขาไปหมดแล้ว เขากินไม่หมดเอามาคืน อันนั้นต้องประเคนใหม่เพราะเป็นสิทธิ์ของไปแล้ว

    ถาม : ของที่ขาดประเคนแล้ว เก็บไว้ในกุฏิได้ไหมครับ ?

    ตอบ : จริงๆ แล้ว เก็บในกุฏิมันโดนอาบัติ อย่าลืมว่ามันมี อันโตวุฏฐะ อันโตปักกะ สามปักกะ มันอยู่ที่ว่า หุงต้มเอง เก็บไว้เอง เก็บไว้ภายในกุฏิตัวเอง โดนทั้งหมด เรื่องของพระมันละเอียด คือจริงๆ ท่านป้องกันว่า เก็บไว้ภายในกุฏิจะไปแอบกินซะเอง มันเลยเวลาแล้วโซ้ยเฉยเลย

    ถาม : ในกรณีที่มันไม่มีที่เก็บข้างนอก ?

    ตอบ : ไม่มีที่เก็บข้างนอก ถ้าหากว่ามันไม่ใช่พวกเภสัชไม่ต้องไปเก็บมัน

    ถาม : เป็นพวกเภสัช ๕ แต่ว่าเราเก็บไว้จนขาดประเคน ?

    ตอบ : ถ้าหากว่าขาดประเคนโดยตรง มันจะต้องเสียสละ เพราะฉะนั้นจดวันไว้ดีกว่า สมัยที่พวกผมอยู่ที่วัดท่าซุงนี่ ขีดปฏิทินเขียนไว้เลยว่าประเคนวันไหน พอถึงเวลาวันนั้นก็อย่าให้พระอาทิตย์ตกดิน เรียกเณรมาประเคนใหม่ นับหนี่งใหม่วันนั้น ถ้าพระอาติทย์ตกดินก็ขาด

    เรื่องของการประเคนของน่ะ สาเหตุแรกเริ่มมาจากพระที่ไปพักอยู่ในป่าช้า เมื่อพระไปพักอยู่ในป่าช้า ญาติคนตายเขาเอาอาหารไปเซ่นคนตาย ทำในลักษณะที่เรียกว่า ปุพพเปตพลี คือทำบุญให้คนตายในลักษณะนั้นน่ะ พระเจ้าเห็นของเขาคงไม่ได้เอาแล้ว ก็เลยเอาไปกิน ปรากฏว่าคนที่หวงมันมี ในเมื่อคนที่มันหวงมี ก็เลยอยู่ในลักษณะที่ว่า พอพระไปกินของเขาเข้าเขาไม่พอใจไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็เลยบัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าหากว่าจะไปกินอะไรต้องให้ประเคน

    คือเป็นการแสดงออกซึ่งการให้อย่างแท้จริงก่อน ถ้ายังไม่แสดงออกในลักษณะนั้น ก็อย่าไปแตะต้องของเขา การประเคน องค์ประเคน คือทำอย่างไรถึงจะประเคนได้ถูกต้อง ท่านบอกว่าผู้ประเคนต้องอยู่ใน หัตถบาส คือ เอื้อมมือถึง

    อันดับที่สอง ของที่ประเคนนั้น ต้องไม่ใหญ่เกินไป ต้องสามารถยกได้ด้วยกำลังของผู้มีกำลังปานกลาง แต่เพียงคนเดียว

    อันดับที่สาม ให้ประเคนด้วยความเคารพ คือ น้อมให้ด้วยความเคารพ

    ถ้าถามว่าอันไหนสำคัญที่สุด ตัวจุดให้ด้วยความเคารพสำคัญที่สุด แต่ว่ามันมีข้อแม้ อย่างเช่นว่า สมัยก่อนบ้านเศรษฐีรั้วเขาสูง ประเภทยังไงล่ะ เมียหลวงก็เยอะเมียน้อยก็เยอะ เขาหวงของเขา ถึงเวลาถ้ายังไม่เห็นสมควรเขายังไม่เปิดรั้วให้ แต่พระมาบิณฑบาตแล้ว ท่านบอกว่า ถ้าในลักษณะอย่างนั้น ถ้าเจตนาจะใส่บาตร โยนข้ามรั้วมาก็ถือว่าเป็นการประเคนแล้ว มันต้องดูด้วยว่าอะไรเป็นอะไร คราวนี้ก็อย่างที่ว่า ถ้าหากว่าจิตของเรายังผูกอยู่ สิ่งนั้นยังเป็นของเราอยู่

    ถาม : เวลาประเคน บางทีต่อกันเยอะๆ ถือว่าอนุโลมหรือเปล่าครับ ?

    ตอบ : ก็ถือว่าโดยอนุโลม เพราะว่ายังไงมันก็เอื้อมไม่ถึงอยู่แล้ว ก็ให้จับแตะต่อๆ กันไป ถ้าอย่างทางของพม่านี่เขาจะไม่ใช้คนเดียว เขาจะใช้สองคนสามคนยกประเคนทั้งโต๊ะเลย ลักษณะนั้นจริงๆ มันผิด

    เพราะว่ามันไม่ได้ยกได้ด้วยกำลังของคนคนเดียว แต่ว่าเราดูเจตนาว่าเขาให้ ในเมื่อเจตนาของเขาให้เราแน่นอนแล้ว เสร็จแล้วเขาชอบจัดให้เสร็จทั้งสำรับแล้วก็ยกมา แบบที่ภาษาอิสานเรียก พาข้าว เขาเล่นยกพาข้าวมาทั้งสำรับเลย มันก็ต้องช่วยกันยกเพราะคนเดียวมันเอาไม่ไหว ถ้าลักษณะนั้นก็ต้องอนุโลมให้เขา เพราะท้องถิ่นเขานิยมอย่างนั้น



    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ (ต่อ)
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ





    .
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...