คณาจารย์เรื่องเวทย์ตอนสมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอนกำเนิดมหาปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 11 เมษายน 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444

    คณาจารย์เรื่องเวทย์โดย จิเจรุนิ ตอนสมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอนกำเนิดมหาปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    [​IMG]
    ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั้น ครั้นส่งเสด็จแล้ว จึงจัดกองทัพออกติดตามสกัดจับพม่าตีรุกหลังพม่าแตกฉานเป็นหลายทัพ จับได้รี้พลช้างม้าเป็นอันมาก ทั้งตัวเจ้าพระยาจักรีเองก็ยกทัพหนุนไปด้วย จนถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วจัดการพิทักษ์รักษาเมืองโดยกวดขัน ส่วนตัวท่านเจ้าพระยาเองก็ออกขี่ม้าสำรวจตรวจตรากองทัพน้อยๆทั่วไป เพราะใส่ใจต่อหน้าที่ราชการจนพม่าไม่กล้าหาญชิงเอาเมืองเหนือใต้ ต้องหนีออกไปทางด่านชั้นนอก พ้นเขตแดนสยาม กองทัพไทยไล่จับพม่าที่ล้าหลังได้ไว้เป็นกำลังราชการเป็นอันมาก ทัพอะแซหวุ่นกี้ล่าทัพออกพ้นประเทศอาณาเขตสยามในคราวนี้ตามกำหนดมีว่าเดือน ๗ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี

    ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรี ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร เวลาเช้าวันหนึ่งออกลาดตระเวนกองทัพทั้งปวงเพื่อบัญชาการ และชักม้าวกลัดเพื่อตัดทาง ม้าก็เลยพาท่านเข้าป่าฝ่าพงจำเพาะมายังบ้านปลายนาใต้เมืองกำแพงเพชร เป็นเวลาเย็น จึงแลเห็นโรงหนึ่งตั้งอยู่ปลายทุ่งนา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงได้ชักม้าไปถึงโรงนั้นไม่เห็นมีคนผู้ใหญ่อยู่ได้ เห็นแต่หญิงสาวตนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพผู้นั้นจึงบอกแก่นางสาวคนนั้นว่า ข้ากระหายน้ำ เจ้าจงตักน้ำมาให้ข้ากินสักขันเถิด นางสาวคนนั้นจึงวิ่งด่วนเข้าไปในห้อง หยิบได้ขันล้างหน้าใบหนึ่งแล้วจ้วงตักน้ำในหม้อกลั่น แล้วล้วงไปหักดอกบัวหลวงในหนองน้อยข้างโรงนั่นสองสามดอก แล้วฉีกกลีบเด็ดเอาแต่เกสรบัวโรยลงไปในขันน้ำนั้นจนเต็ม แล้วนำส่งให้บนหลังม้า เจ้าคุณทัพรับเอามาเป่าเกสรเพื่อแหวกหาช่องน้ำแล้วต้องเอาริมฝีปากเบื้องบนเม้มเกสรไว้ แล้วดูดดื่มน้ำจนหมดขันด้วยอยากกระหายน้ำ ครั้นดื่มน้ำหมดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจึงถามนางสาวคนนั้นว่า เราอยากกระหายน้ำสู้อุตสาห์บากหน้ามาขอน้ำเจ้ากิน เหตุไฉนจึงแกล้งเราเอาเกสรบัวโรยลงส่งให้เรากินน้ำของเจ้าลำบากนัก เจ้าแกล้งทำเล่นแก่เราหรือ

    นางสาวคนนั้นตอบว่า "ดิฉันจะได้คิดแกล้งท่านนั้นก็หาไม่ ที่ดิฉันเอาเกสรบัวโรยลงในขันน้ำให้เต็มนั้น เพราะดิฉันเห็นว่า ผากแดดแผดลมเหนื่อยมา และกระหายน้ำด้วย ก็เพื่อป้องกันเสียซึ่งอันตรายแห่งท่าน เพื่อจะกันสำลักน้ำและสะอึกน้ำ และกันจุกแน่นแห่งท่านผู้ดื่มน้ำของดิฉัน ถ้าท่านไม่มีอันตรายในการดื่มน้ำแล้ว น้ำจะได้ทำประโยชน์แก้กระหายแห่งท่าน ดิฉันจะพลอยได้ประโยชน์เพราะให้น้ำแก่ท่าน ท่านสมปรารถนาแล้วก็จะเป็นบุญแก่ดิฉัน เหตุนี้ดิฉันจึงโรยเกษร" เจ้าคุณแม่ทัพฟังคำนางสาวตอบอย่างไพเราะอ่อนหวาน ถ้อยคำที่ให้การมานั้นก็พอฟัง จึงลงมาจากหลังม้าแล้วถามว่า "ตัวของเจ้าก็เป็นสาวเต็มเนื้อแล้ว มีใครๆมาหมั้นหมายผูกสมัครรักใคร่เจ้าบ้างหรือยัง" นางสาวบอกว่า "ยังไม่เห็นมีใครๆ มารักใคร่หมั้นหมายดิฉัน และดิฉันก็ยังไม่ได้ไปเที่ยวบอกใครว่าเป็นสาว มัวแต่หลบซ่อนตัวอยู่ ด้วยบ้านเมืองเกิดยุ่งนุ่งถุงมานานจนกาลบัดนี้ จึงมิได้มีใครเห็นว่าดิฉันเป็นสาว" เจ้าคุณทัพว่า "ถ้ากระนั้นเราเองเป็นผู้ที่ได้มกเห็นเจ้าเป็นสาวก่อนคน เจ้าต้องยอมตกลงเป็นคู่รักของเรา เราจะต้องเป็นคู่ร่วมรักของเจ้าสืบไป เจ้าจะพร้อมใจยินยอมเป็นคู้รักของเราโดยสุจริตหรือว่าประการใด"
    นางสาวตอบว่า "การที่ท่านจะมาเป็นคู่รักของดิฉันนั้น ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งอยู่แล้ว แต่ทว่าการจะมีผัวมีเมียกันตามประเพณีนั้น ดิฉันไม่ทราบเรื่อง จะว่าประการใดแก่ท่านก็ไม่มีอะไรจะว่า เรื่องการผัวการเมียนั้น ท่านต้องเจรจากับผู้ใหญ่ขึงจะทราบการ" เจ้าคุณแม่ทัพถามว่า "ผู้ใหญ่ของเจ้าไปไหน" นางสาวตอบว่า "ไปรดน้ำถั่วจวนจะกลับแล้ว" เจ้าคุณแม่ทัพขยับเดินเข้าให้ใกล้ นางสาวไพล่วิ่งปรู๋ออกแอบที่หลังโรงเลยไม่เข้าหา ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ต้องนั่งเฝ้าโรงคอยท่าบิดามารดาของนางสาวต่อไป จนเกือบตะวันตกดินจวนค่ำฝ่ายตาผล ยายลา กลับมาถึงโรงแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพได้เห็นแล้ว จึงยกมือขึ้นไหว้ตายายก็น้อมตัวก้มลงไหว้ตอบ ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ก้มลงไหว้ให้ต่ำลงไปอีก ตายายก็หมอบลงไปไหว้อีก ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็หมอบไว้อยู่อย่างนั้น ต่างคนต่างหมอยตัวกันอยู่นั่น ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายยายแกเป็นคนปากเร็ว แกนึกขันและประหลาดใจแกจึงเปิดปากถามออกไปก่อนว่า "นี่เป็นขุนนางมาแต่บางน้ำบางกอก เหตุไฉนจึงมาหมอบกราบไหว้ข้าเจ้า เป็นชาวบ้านนอกเป็นชาวทุ่งชาวป่า เป็นคนยากจน ท่านจะมาหมอบไหว้ข้าเจ้าทำไม" เจ้าคุณแม่ทัพบอกว่า "ฉันมาสมัครเข้ามาเป็นลูกเขยท่านทั้งสอง จ้ะ"ยายถามว่า "ท่านเห็นดีงามอย่างไร เห็นลูกสาวฉันเป็นอย่างไร ท่านจึงจะมายอมตัวเป็นลูกเขยเล่า" เจ้าคุณแม่ทัพว่า "ฉันเห็นบุตรสาวท่านดีแล้ว พอใจแล้ว จึงเข้ามาอ่อนน้อมยอมตัวเป็นลูกเขยท่าน" ท่านเจ้าคุณแม่ทัพเล่าถึงกาลแรกมาขอน้ำและนางเอาเกสรบัวโรยลงและได้ต่อว่า นางได้โต้ตอบถ้อยคำน่าฟังน่านับถือ จึงทำให้เกิดความรักปราณีขึ้น และตั้งใจจะเลี้ยงดูจริงๆ จึงต้องทนอยู่คอยท่า เพื่อจะแสดงความเคารพและขอเป็นเขย ขอให้แม่พ่อมีเมตตากรุณาเห็นแก่ไมตรีที่ได้มาอ่อนน้อมพูดจาโดยเต็มใจจริงๆ ตามวาจาที่ว่ามานี้ทุกอย่าง "ขอพ่อแม่ได้โปรดอนุญาตยกนางสาวลูกนั้นให้เป็นสิทธิ์แก่ฉันในวันนี้" ยายตาแกร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า "โอตายจริง ข้าเจ้าเป็นคนยากจนข่นแค้นและต่ำศักดิ์ ทั้งผ้าผ่อนที่หลับที่นอนก็เหม็นตืดเหม็นสาบ ทั้งเครื่องเย่าเครื่องเรือนก็ขัดขวาง ทั้งถ้วยชามรามไหทีดีงามก็ไม่มี ฉิบหายป่นปี้แต่ครั้นบ้านเมืองเกิดยุ่งนุงนังหลายครั้งหลายครามาแลตัวนางหนูเล่าก็ยังไม่เป็นภาษา ทั้งจริตกิริยาก็ยังป่าเถื่อน ไม่เหมือนชาวใต้ จะใฝ่สูงเกินศักดิ์เกินสมควรไปละกระมังพ่อคุณ"

    เจ้าคุณแม่ทัพว่า "ข้อนั้นพ่อแม่อย่ามีความวิตกหวาดกลัวอะไรเลย ข้อสำคัญก็คือ แม่พ่อยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ฉันเด็ดขาดแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของฉันฝ่ายเดียว ตามที่แม่พ่อยกขึ้นเป็นทางปรารมภ์นั้น เป็นธุระของฉันหมดทุกอย่าง ขอแต่ว่าอย่าเกี่ยงงอนขัดขวางดิฉันเลย"

    ยายลา ตาผล ขอทุเลาถามเจ้าตัวว่า "มันอยากมีผัวหรืออย่างไรไม่ทราบ" แล้วก็ออกไปตามหาที่หลังโรง ตายายพูดกับลูกสาว ลูกสาวพูดกับพ่อกับแม่ได้ยินแต่กระจู๋กระจี๋กระเส่าๆ กระซิบกระซาบอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็กลับมา แล้วนั่งลงถามว่า "ในเวลานี้ท่านก็มาแต่ตัวกับม้าตัวหนึ่ง ถ้าหากว่าดิฉันทั้งสองพร้อมใจยกอีงุดลูกสาวฉันให้เป็นเมียท่าน ท่านจะจัดการประการใดแก่ดิฉันเพื่อให้เป็นมงคล จงว่าให้ดิฉันฟังก่อนเถิดเจ้าข้ะ"

    เจ้าคุณแม่ทัพถอดแหวนออกจากนิ้วแล้วบอกว่า "แหวนวงนี้มีราคาสูง ถ้าว่าท่านบิดามารดายินยอมพร้อมใจ ยกแม่งุดให้เป็นเมียเป็นสิทธิ์แก่ฉันแล้ว ฉันจะยกแหวนวงนี้ ตีราคาทำสัญญาให้ไว้เป็นสินถ่าย ๒๐ ชั่ง คิดเป็นทุนเป็นค่าของหมั้นขันหมากผ้าไหว้อยู่ใน ๒๐ ชั่ง ทั้งค่าเครื่องเย่าเครื่องเรือนเบี้ยเลี้ยงค่าเลี้ยงค่าดู ค่าเครื่องเส้นวักตั๊กแตนเสร็จในราคา ๒๐ ชั่ง ด้วยแหวนวงนี้" สองตายายได้ฟังดีใจ เต็มใจ พร้อมใจ ตกลงยกลูกสาวให้ตามปรารถนา เจ้าคุณแม่ทัพก็จัดแจงยืมพานปากกระจับทองเหลืองมาแล้วเขียนสัญญาถ่ายแหวนแล้วเอาใบตองรองก้นพานแล้ววางแหวนที่ว่านั้นลงบนใบตองรองในพาน เชิญเข้าไปคุกเข่าส่งให้ตายายๆ ก็ให้ศีลให้พร เป็นต้นว่า ขอให้พ่อมีความเจริญด้วยลาภยศ ให้เป็นเจ้าคนนายคนเถิด แล้วจัดแจงหุงข้าว ต้มแกง พล่ายำ ตำน้ำพริก ต้มผัก เผาปลา เทียบสำรับตามป่าๆ แล้วเชิญให้อาบน้ำทาดินสีพอง ยายตาก็อาบน้ำ ลูกสาวก็อาบน้ำ ตาตักน้ำให้ม้ากิน พาไปเลี้ยงให้กินหญ้า ครั้นเจ้าคุณแม่ทัพอาบน้ำทาดินสีพองแล้ว ลูกสาวทาขมิ้นแล้ว ยายก็ยกสำรับปูเสื่อลำแพน แล้วเอาผ้าขาวม้าปูบนเสื่อลำแพน ยายเชิญเจ้าคุณแม่ทัพให้รับประทานอาหาร

    ยายตาก็รับประทานพร้อมกัน นางงุดนั้นให้กินภายหลัง ครั้นรับประทานอาหารแล้วต่างคนนั่งสั่งสนทนากัน ครั้นเวลา ๔ ทุ่ม จึงพาลูกสาวออกมารดนำรดท่า เสร็จแล้วก็ส่งมอบหมายฝากฝังตามธรรมเนียมของชาวเมืองกำแพงเพชรอันเคยทำพิธีมาแต่ก่อน

    ส่วนเจ้าคุณแม่ทัพรับตัวแล้ว ก็หลับนอนอยู่ด้วยนางงุดในกระท่อมโรงนาจนรุ่งสางสว่างฟ้าแล้ว ตื่นขึ้นอาบน้ำ รับประทานอาหารแล้วก็ลาตายายขึ้นม้ามาบัญชาการที่กองทัพ พอเวลาค่ำสั่งการเสร็จสรรพแล้ว ห่อเงิน ๒๐ ชั่งมาสู่โรงบ้านปลายนาถ่ายแหวนคืนสัญญาแล้วก็หลับนอน เช้ากลับค่ำไป เป็นนิยมมาดังนี้ แม่ทัพนายกองทั้งปวงจะได้ล่วงรู้และร่ำลือให้อื้อฉาวก็เป็นอันว่าหามิได้ แต่บุตรชายของเจ้าคุณแม่ทัพซึ่งนอนอยู่ในค่ายมีอายุ ๘ ขวบโดยปี จะรู้ก็เข้าใจว่าไปดูแลตรวจตราบัญชาการ แต่เป็นดังนี้นานประมาณเดือนเศษ ตามสังเกตรู้ว่านางงุดตั้งครรภ์ ต่อแต่นั้นก็เพียงแต่ไปมาถามข่าว

    ครั้นมีท้องตราหากองทัพกลับ เจ้าคุณแม่ทัพก็ไปล่ำลาและสั่งสอนกำชับกำชาโดยนานับประการ จนนางเข้าใจราชการตลอดรับคำทุกประมาร แล้วท่านก็คุมทัพกลับกรุงธนบุรี

    ครั้นนางงุดได้แต่งงานแล้ว เมื่อเดือนแปด ปีมะแม สัปตศก แล้วก็ตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ยังอ่อนๆอยู่นั้น นางงุดไปปรึกษาหารือด้วย ตาผล ยายลา ผู้เป็นบิดามารดาว่าจะคิดการขึ้นล่องค้าขายกรุงธนบุรีและเมืองเหนือนั้น ครั้นคนทั้งสามปรึกษาตกลงเห็นชอบพร้อมใจกันแล้ว คนทั้งสามจึงได้รวบรวมเงินต้นทุนที่ได้ไว้ ปันส่วนออกเป็นค่าเรือ ค่าสินค้า ค่ารองสินค้า ค่าจ้างคน ค่าซ่อมแซมอุดยาเรือ มั่นคงเรียบร้อยแล้ว จึงละโรงนานั้นเสีย ส่วนนาและไร่ผักก็ให้เขาเช่าเสียแล้ว พากันลงอยู่ในเรือใหญ่ จัดการซื้อสินค้าบรรทุกเรือนั้นเต็มระวาง

    ครั้นถึงกำหนดล่องกรุงธนบุรี จึงเรียกคนแจวออกเรือ ล่องลงมาถึงบ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรีแล้ว เข้าจอดเรืออาศัยท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม เป็นคนเคยอยู่เมืองเหนือแต่ก่อน และนายทองนางเพียนได้ลงมาอยู่บางขุนพรหม ครั้นตาผลจัดการจอดเรือเรียบร้อยแล้ว จึงผ่อนสินค้าขายส่งจนหมดลำ จึงจัดซื้อสินค้าบางกอกและสินค้าเมืองปักษ์ใต้ บรรทุกเรือตามระวางแล้ว พอถึงวันกำหนดจึงแจวกลับขึ้นไปปากน้ำโพจำหน่ายในตลาดเมืองเหนือ ตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ขึ้นไป จนถึงเมืองกำแพงเพชร ครั้นคนทั้งสามซื้อและขายหมดเสร็จแล้วก็กลับบรรทุกสินค้าเมืองเหนือกลับล่องเรือลงมาจอดท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม ค้าขายโดยนิยมดังนี้ ล่วงวันและราตรีมาถึงเก้าเดือน ได้กำไรมากพอแก่การปลูกเรือนแล้ว จึงเหมาช่างไม้ให้ปลูกเป็นเรือนแพสองหลังแฝด มีชานสำหรับผึ่งแดดพร้อมทั้งครัวไฟ บันไดเรือนบันไดน้ำ จำนองที่ดินลงในถิ่นบางขุนพรหมเหนือบ้านนายทอง นางเพียนขึ้นไปสัก ๔ ว่าเศษ เพื่อเหตุจะได้อาศัยคลอดลูกและใช้ผูกพักผ่อนหย่อนสินค้า เห็นเป็นการสะดวกดีที่สุด

    ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือนหก ปีวอก อัฏฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) นางงุดปั่นป่วนครรภ์เป็นสำคัญรู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตรโดยฉับไว บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายที่ล่ำสัน หมู่ญาติมิตรก็ได้มาพร้อมกันช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพยาบาล

    ครั้นบุตรนั้นเจริญวัฒนาการประมาณได้สักเดือนเศษ ญาติมิตรพากันมาสังเกต ตรวจตราจับต้อง ประคองทารกน้อยขึ้นเชยชม บางคนคลำถูกกระดูกแขนเห็นเป็นแกนกระดูกท่อนเดียวกัน ก็พากันเฉลียวใจโจทย์กันไปโจทย์กันมา ครั้นช้อนทารกขึ้นนอนบนขาเพื่อจะอาบน้ำจึงพากันเห็นปานดำที่กลางหลังอยู่หนึ่งดวง ต่างคนต่างก็ทักท้วงกันไปทายกันมาพูดไปต่างๆ นานาเป็นวาจาต่ำบ้างสูงบ้างเป็นความเห็นของคนหมู่มาก ทักทายหลายประการ จึงทำความรำคาญให้แก่นางงุดไม่สบายใจ เกรงไปว่าวาสนาตัวน้อย จะไม่สามารถคอยเลี้ยงลูกคนนี้ยาก นางงุดถึงออกปากอ้อนวอนบิดา นายทองและนางเพียน ให้ช่วยสืบเสาะดูให้รู้ว่าพระสงฆ์องค์เจ้ารูปใดอยู่วัดไหนที่อย่างดีมีอยู่บ้างในแถวนี้ เห็นพระสงฆ์ที่ดี มีศีลธรรมวิชาภูมิรู้ปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ในวัดใด ขอได้ช่วยพาบุตรไปถวายเป็นลูกท่านองค์นั้นในวัดนั้นด้วยเถิด

    นายทอง นางเพียนจึ่งพากันนิ่งนึกตรึกตราไปทุกวัน ในแถบนั้นจึงคิดถึงหลวงพ่อแก้ว วัดบางลำพูบน จึงบอกแก่นายผลว่า หลวงพ่ออาจารย์แก้ววัดบางลำพูบนนี้ท่านดีจริง ดีทุกสิ่งตามที่กล่าวมานั้น ทั้งเป็นพระสำคัญเคร่งครัด ปริยัติ ปฏิบัติก็ดี วิชาก็ดี มีผู้คนไปมานับถือขึ้นท่านมากถ้าพวกเราไปออกปากฝากถวายเจ้าหนูแก่ท่าน เห็นท่านจะไม่ขัดข้อง เพราะท่านมีอัธยาศัยกว้างขวางดี เมื่อคนทั้ง ๔ นิ่งปฤกษาหารือตกลงเห็นพร้อมใจกันแล้ว จึงได้พากันลงเรือช่วยกันแจวล่องมาวัดบางลำพูบนเมื่อเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ถึงแล้วก็พากันขึ้นวัด นางงุดอุ้มเบาะลูกอ่อนพาไปนอนแบเบาะไว้มุมโบสถ์วัดบางลำพู ตอนข้างใต้หน้ากุฏิพระอาจารย์แก้ว แล้วนายทองนางเพียน จึงไปเที่ยวตามหาพระอาจารย์แก้ว เวลาเย็นนั้นท่านพระอาจารย์แก้วเคยลงกระทำกิจกวาดลานวัดทุกๆ วันเป็นนิรันดรมิได้ขาด

    นายทอง นางเพียน มาหาพบหลวงพ่อ กำลังกวาดลานข้างตอนเหนืออยู่ นายทอง นางเพียนจึงทรุดตัวลงนั่งยองยอง ยกมือทั้งสองขึ้นประนมไหว้ แล้วออกวาจาปราสรัยบอกความตามที่ตนประสงค์มาทุกประการ ฝ่ายหลวงพ่ออาจารย์แก้ว ฟังคำทำนายนางเพียนแล้วตรวจนิ้วมือ ดูรู้ฤกษ์ยามตามตำรา ท่านจึงพิงกวาดไว้ที่ง่ามต้นไม้แล้วก็มาขึ้นกุฏิ ออกนั่งที่สำหรับรับแขกบ้านทันที

    ตาผล นางงุด ก็ประคองบุตรน้อยขึ้นกุฏิ เข้ากราบกรานพระอาจารย์แก้ว แล้วจึงกล่าวคำว่า กระผมเป็นตาของอ้ายหนูน้อย อีแม่มันนั้นเป็นลุกสาวของกระผมๆ กับอีแม่มันมีความยินยอมพร้อมใจกันยกอ้ายหนูน้อยถวายหลวงพ่อเป็นสิทธิขาดแต่วันนี้ ขอหลวงพ่อได้โปรดปรานีโปรดอนุเคราะห์ รับอ้ายเจ้าหนูน้อยเป็นลูกของหลวงพ่อด้วยเถิดภ่ะค่ะ ครั้นกล่าวคำเช่นนั้นแล้ว จึงพร้อมกันอุ้มเบาะทารกขึ้นวางบนตักหลวงพ่อพระอาจารย์แก้ว แล้วก็ถอยมานั่งอยู่ห่างตามที่นั่งอยู่เดิมนั้น

    ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว ตั้งใจรับเด็กอ่อนไว้แล้ว ท่านก็ตรวจตราพิจารณาดู ท่านก็รู้ด้วยการพิจารณา รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาสามารถทั้งเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียนทั้งประกอบด้วยความเพียรและความอดทน ทั้งจะเป็นบุคคลที่เปรื่องปราชญ์อาจหาญ ทั้งจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญวิทยาคม ทั้งจะมีแต่คนนิยมฤๅชาปรากฏ ทั้งจะเป็นคนกอรปด้วยอิสริยศบริวารยศมาก ทั้งจะเป็นคนประหลาดแปลกกว่าคน ทั้งจะเจริญทฤฆชนม์มีอายุยืนนาน ครั้นพระอาจารย์แก้วตรวจวิจารณ์ชะตาราศีแล้ว จึงผูกข้อมือเสกเป่าเข้าปากนวดนาบด้วยนิ้วของท่าน เพื่อรักษาเหตุการณ์ตาลทราง หละ ละลอก ทรพิศม์ ไม่ให้มีฤทธิมารบกวนแก่กุมารน้อยต่อไป แล้วท่านก็ฝากให้นางงุดช่วยเลี้ยง กว่าจะได้สามขวบเป็นค่าจ้างค่าน้ำนมข้าวป้อนเสร็จปีละ ๑๐๐ บาท แล้วท่านก็ประกาศสั่งซ้ำว่า อย่าให้มารดากินของขมและของเผ็ดร้อน และของบูดแฉะเกรงขีระรสธาราจะเสีย แล้วท่านก็กำชับสั่งนายผลให้เอาใจใส่ระไวระวังคอยเตือน อย่าให้นางแม่มันเล่นเล่อเหม่อประมาท คอยขู่ตวาดนางแม่มันอย่าให้กินของแสลงตามที่เราห้ามจงทำตามทุกประการ

    ฝ่ายตาผล นางงุด พนมมือรับปฏิญาณแล้วกราบกรานลา รับเบาะลูกน้อยมาแล้วลงกุฏิ พากันมาลงเรือปู้แหระ ช่วยกันแจวแชะแชะมาจนถึงเรือใหญ่ท่าหน้าบ้านบางขุนพรหมแล้วก็รออยู่พอหายเหนื่อย จนอายุเด็กเจริญขึ้นได้ ๓ เดือน จึงหาฤกษ์โกนผมไฟในเดือน ๙ ปีวอก ฉศกนั้น ครั้นกำหนดวันฤกษ์แล้วจึงนายผลออกไปวัดบางลำพูบน นิมนต์ท่านพระอาจารย์แก้ว แล้วขอเผดียงสงฆ์อีก ๔ รูป รวมเป็น ๕ รูป เข้ามาเจริญพระปริตรพุทธมนต์ในเวลาเย็น รุ่งขึ้นฤกษ์โกนผมไฟ แล้วนิมนต์รับอาหารบิณฑบาตร

    ครั้นนายผลทราบว่า พระอาจารย์ทราบแล้วจึงนมัสการลากลับมา เที่ยวบอกงานและจัดหาเครื่องบูชา เครื่องใช้สอย โตกถาดภาชนะ ทั้งเครื่องบุดาดอาสนะพร้อมแม่ครัว เมื่อถึงวันกำหนด พระสงฆ์มาพร้อม จึงเผดียงขึ้นสู่โรงพิธีบนเรือนแพที่ปลูกใหม่นั้น แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มการสวดมนต์ ครั้นสวดมนต์แล้ว พระสงฆ์กลับแล้วจึงจัดการเลี้ยงดูกัน

    ครั้นรุ่งเช้าพระสงฆ์มาพร้อมนั่งอาสน์ จึงนำเด็กออกมาฟังพระสวดมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วโกนผมไฟกันไปเรื่อย แล้วจัดอาหารบิณบาตรอังคาสแก่พระสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ทำภัตกิจ อนุโมทนาแล้วกลับ จึงจัดการประพรมเย่าเรือนจุณเจิมเรือและเรือนเสร็จ

    ครั้นจัดการทำบุญให้ทานเสร็จแล้ว พักผ่อนพอหายเหนื่อยจึงจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ได้เต็มระวางแล้วจึงออกเรือไปเมืองเหนือ จำหน่ายสินค้า ก็จัดรองสินค้าเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำพานิชกรรมสัมมาอาชีวะอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เกิดหมุนภูลเถามั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นหลายสิบเท่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นมากขึ้นเป็นลำดับมา ตาผล ยายลา นางงุด จึงได้ละถิ่นถานทางเมืองกำแพงเพชรเสียลงมาจับจองจำนองหาที่ดินเหนือเมืองพิจิตรปลูกคฤหาสถานตระหง่านงามตามวิสัยมีเรือนอยู่ หอนั่ง ครัวไฟ บันไดเรือน บันไดน้ำ โรงสี โรงกระเดื่อง โรงพักสินค้า โรงเรือน รั้วล้อมบ้าน ประตูหน้าบ้าน ประตูหลังบ้าน ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น จึงได้มีความชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่นั้น มีธุระปะปังอันใดก็ได้สังสรรค์ไปมา ทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลัก ยินดีรักในการทำบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้าปรากฏในเมืองพิจิตรสืบไป

    ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้นท่านองค์นี้ดีมากในทางความรู้วิชาอาคมก็ขลังมาก วิชาฝ่ายนักเลงต่างๆ พอใช้ เป็นที่เคารพยำเกรองของหมู่นักเลงขยั้นเกรองกลัวท่านมาก ท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่พระองค์นี้ เชี่ยวชาญชำนาญรอบรู้ในคัมภีร์มูลประกรณ์ทั้ง ๕ คัมภีร์หามีผู้เปรียบเทียบเท่าท่านในเมืองนั้นในคราวนั้นมิได้ ใช่แต่เท่านั้นท่านขลังในอาคมทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีทางภูตทางผีทางปีศาจก็เก่งพร้อม ห้ามเสือห้ามจรเข้ ห้ามสัตว์ร้ายก็ได้ เสกเป่าให้คนและสัตว์ร้ายอ่อนเพลียเสียกำลัง ยืนงงนั่งจังงังก็ทำได้ พระสงฆ์ในเมืองพิจิตรเกรองกลัวท่านมากตลอดแขวงตลอดคุ้ม ไม่มีวัดไหนล่วงบัญญัติกัตติกสัญญาณาบัติเลย ทั้งเจ้าเมืองกรมการก็ยำเกรมขามท่านพระครูวัดใหญ่มาก ใช่แต่เท่านั้น ท่านกอรปด้วยเมตตากรุณาอนุกูล สัปปุรุส อุบาสิกา สานุศิษย์ มิตรญาติ สงเคราะห์อนุเคราะห์ อารีอารอบทั่วไป มีอัธยาศัยกว้างขวาง เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลคนที่ ควรสงเคราะห์ ไม่จำเพาะบุคคล ข่มขี่ขัดเกลากิเลสด้วยไม่โลภโมห์โทสันต์ ขันติธรรมก็พอใช้ วินัยก็พอชม มีผู้นิยมสู่หามาไปมิได้ขาด ทั้งฉลาดในข้อปฏิสัณฐาน การวัดก็จัดจ้านเอาใจใส่ การปฏิสังขรก็เข้าใจปะติประต่อก่อปรุงถาวร วัตถุกรรมแนะนำภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ให้รู้จัดกิจถือพระพุทธศาสนาให้กอรปด้วยประสาทะศรัทธามั่นคง จำนงแน่ในพระรัตนตรัยหมั่นเอาใจใส่สอนศิษย์ให้รู้ทางประโยชน์ดี
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...