คติความเชื่อ&ปริศนาธรรมมากมาย...เกี่ยวกับ "ศพ"!!!

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย คนมีกิเลส, 14 มิถุนายน 2008.

  1. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    พิธีกรรมเมื่อมีศพคนตาย

    [​IMG]


    การจุดเทียนขี้ผึ้ง

    ในสมัยโบราณ เมื่อคนเจ็บสิ้นลมหายใจแล้ว ให้จุดเทียนขี้ผึ้งหนัก ๑ บาทมีไส้ ๗ ไส้ไว้จนกว่าเทียนดับ เป็นอันสิ้นสงสัยเพราะคนป่วยตายแน่ ทั้งนี้เนื่องจากบางทีคนป่วยอาจสลบหรือเพียงหมดสติไปชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่ผลีผลามรีบร้อนจัดการศพในทันทีที่สิ้นใจ

    การเฝ้าศพหรือเฝ้าผี

    หากมีคนตายในบ้านในเวลาค่ำ ไม่สามารถนำศพบรรจุโลงได้ทัน จะต้องมีการนอนเฝ้าศพหรืออยู่เป็นเพื่อนศพ โดยการนำผ้าขาวหรือผ้าห่มมาคลุมศพไว้ตั้งแต่หัวถึงเท้า จุดตะเกียงหรือเปิดไฟให้สว่าง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความวังเวงน่ากลัวนั่นเอง

    คติความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ

    คนโบราณเชื่อกันว่า ถ้าแมวดำกระโดดข้ามศพ จะทำให้ศพนั้นผุดลุกขึ้นมาหรือทำให้ปีศาจคนอง ด้วยเหตุนี้หากศพนอนอยู่ในที่ซึ่งมีฝาเรือนกั้นไม่มิดชิด ต้องกางมุ้งให้ศพด้วยบางท้องที่จะให้ศพนอนตรงรอด หรือขื่อบ้าน หันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเพราะเชื่อกันว่าเป็นทิศของคนตาย ด้วยเหตุนี้จึงถือคติไม่นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก

    คติความเชื่อเกี่ยวกับการกางมุ้งให้ศพ

    การนำผ้าห่มมาคลุม หรือกางมุ้งให้ศพ ก็เพื่อไม่ให้มองเห็นแล้วเกิดความกลัว ต้องระวังอย่ายก หรือถือข้าวของข้ามศพเพราะถือเป็นการไม่ให้ความเคารพ บางคนมีคติความเชื่อว่าต้องกางมุ้งให้ศพเพียง ๒ หูคร่อมศพไว้ และเมื่อคนป่วยสิ้นใจลูกหลานอาจร้องไห้เศร้าโศกอาลัยรัก ควรระวังอย่าให้น้ำตาไปโดนร่างของศพ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้วิญญาณของผู้ตายเป็นห่วงลูกหลานไม่ยอมไปสู่สุคติ

    การอาบน้ำศพ - พิธีรดน้ำศพ

    การอาบน้ำศพเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในพิธีทำศพ ซึ่งจะทำกันก่อนนำศพใส่โลง เหตุที่ต้องมีการอาบน้ำศพ เพราะต้องการให้ร่างกายของคนตายสะอาดบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับที่พวกพราหมณ์ในอินเดียลงอาบน้ำชำระบาปในแม่น้ำ
    ในสมัยโบราณ การอาบน้ำศพจะทำการอาบกันจริงๆ คือต้มน้ำด้วยหม้อดิน ซึ่งในหม้ออาจใส่ใบไม้ต่างๆ ต้มลงไปด้วยเช่น ใบหนาด ใบส้มป่อย ใบมะขาม ใบหนาดนั้นถือกันว่าเป็นใบไม้ทีผีกลัวและใช้ปัดรังควานได้
    การอาบน้ำศพจะอาบด้วยน้ำอุ่นก่อน แล้วจึงอาบด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง ฟอกด้วยส้มมะกรูด เมื่อล้างจนสะอาดหมดจดแล้ว จึงฟอกด้วยขมิ้นชันสดและผิวมะกรูดตำละเอียด ต่อจากนั้นจึงทำการแต่งตัวให้ศพ
    แต่การอาบน้ำศพในปัจจุบัน เรียกว่า พิธีรดน้ำศพ คือ ใช้น้ำพุทธมนต์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำมนต์ ผสมกับน้ำฝนหรือน้ำสะอาด บางทีใช้น้ำอบไทยร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความหอม เมื่อถึงเวลาอาบน้ำศพ ซึ่งจะทำกันหลังจากที่คนป่วยตายไม่นานนักเพราะศพยังสดอยู่ ญาติมิตรและผู้คนทั่วไปกล้าที่จะเข้าใกล้ เนื่องจากยังไม่มีกลิ่นหรือขึ้นอืด สัปเหร่อหรือผู้ใหญ่จะจัดให้ศพนอนในที่อันสมควร จับมือข้างหนึ่งยื่นออกมายังหมอนใบเล็กที่รองรับ
    ลูกหลานของผู้ตาย จะทำหน้าที่ใช้ขันใบเล็กๆ ตักน้ำมนต์จากขันใหญ่ส่งให้กับผู้ที่มาทำการรดน้ำศพ โดยการเทน้ำลงบนมือของผู้ตาย กล่าวคำไว้อาลัย หรือกล่าวขอให้วิญญาณของผู้ตายจงไปสู่สุคติ ไม่ต้องห่วงอาลัยมีกังวล

    ปริศนาธรรมในการทำพิธีรดน้ำศพ

    การรดน้ำศพเป็นปริศนาธรรม ให้เห็นว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ว แม้นำของหอมหรือน้ำอบน้ำมนต์ใดๆ มาราดรด ก็ไม่อาจที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ควรประมาท เร่งขวนขวายสร้างบุญกุศลและคุณงามความดีไว้ เพราะท่านยังโชคดีที่มีโอกาสได้กระทำ ส่วนคนที่ตายนั้นหมดโอกาสไปแล้ว

    มีต่ออีกครับ....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มิถุนายน 2008
  2. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    [​IMG]

    การแต่งตัวให้ศพ การหวีผมให้ศพและปริศนาธรรม

    เมื่อทำพิธีอาบน้ำศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องจัดการแต่งตัวหวีผมศพให้เรียบร้อย เกี่ยวกับการหวีผมให้ศพนั้น มีคติความเชื่อเป็นหลายนัย บ้างให้หวีสามหนเท่านั้น บ้างก็ว่าให้หวีกลับไปข้างหน้าซีกหนึ่งไปข้างหลังอีกซีกหนึ่ง หมายถึงหวีสำหรับคนตายครึ่งหนึ่งสำหลับคนเป็นครึ่งหนึ่ง
    หลังจากหวีผมเสร็จ จะต้องหักหวีที่ใช้ทิ้งหรือโยนใส่ไปในโลงศพ ตอนหักหวีให้กล่าวเป็นภาษาบาลี "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" เป็นปริศนาธรรม หมายถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร แม้หวีดีๆ ก็ยังต้องหักเป็นท่อนใช้การไม่ได้ในวันหนึ่งชีวิตของมนุษย์เราก็เช่นกัน
    หวีที่ใช้หวีผมให้ศพนั้น คนเป็นจะไม่นำมาใช้อีก จึงต้องหักทิ้ง

    การนุ่งผ้าให้ศพ

    เมื่ออาบน้ำ หวีผม ให้ศพเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการนุ่งผ้าแต่งตัวให้ศพ ซึ่งจะกระทำไม่เหมือนกับการแต่งตัวของคนเป็น คือ
    ๑. ให้ใช้ผ้าขาวนุ่งในชั้นแรก เอาชายพกไว้ข้างหลังแล้วนำเสื้อขาวมาสวมให้ โดยเอารังดุมไว้ข้างหลังให้ต่างกับการใส่เสื้อคนเป็น แล้วเย็บเนาเป็นตะเข็บลงมาหาเอวทั้ง ๒ ข้าง ให้ห่มผ้าเฉียงจากขวามาซ้าย
    ๒. เสร็จแล้วจึงนำเสื้อผ้าใหม่อีกชุดหนึ่ง มาสวมใส่ทับข้างนอกอย่างที่คนธรรมดาใส่กันทั่วไปตามปกติ

    ปริศนาธรรมของการนุ่งผ้าให้ศพ

    การแต่งตัวนุ่งห่มให้ศพของคนโบราณแบบนี้ เป็นปริศนาธรรมให้เห็นว่า คนเราเกิดด้วยทิฏฐิ ตายด้วยทิฏฐิ อวิชชาปิดหน้าปิดหลัง การนุ่งห่มอย่างแรกหรือชั้นแรกที่อยู่ข้างใน หมายถึงความตาย การนุ่งห่มชั้นนอก หมายถึงการเกิด อันคนเรามีเกิดแล้วก็มีวันดับวนเวียนอยู่ในสังสารวัฎ
    ในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้ทำพิธีอาบน้ำศพ แต่งตัวและนุ่งผ้าศพอย่างสมัยโบราณกันแล้ว คงมีแต่การรดน้ำศพที่มีดังกล่าวมาแล้ว ส่วนเสื้อผ้านั้นนิยมสวมใส่ชุดใหม่ให้ศพ
    การทำศพของคนโบราณ มีปริศนาธรรมอยู่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มรดน้ำศพ ไปจนถึงตอนเผา




    ประเพณีที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการทำศพอีก ๒ อย่าง ที่ยึดถือกันมา คือ
    • การตำหมากใส่ปากศพ และ
    • การนำเงินใส่ปากศพ
    การตำหมากใส่ปากศพ

    เมื่อทำพิธีอาบน้ำแต่งตัวและรดน้ำศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตำหมากใส่ปากศพ ๑ คำหรือถ้าคนตายยังมีฟันอยู่ ก็ใช้หมากเจียนพลูที่เป็นคำๆ หักใส่ปากศพ เป็นปริศนาธรรมว่า แม้หมากพลูที่คนตายเคยชอบนักหนา เมื่อตายแล้วก็ไม่สามารถเคี้ยวกินได้ ขนาดตำป้อนให้แล้วก็ยังไม่รู้จักเคี้ยวไม่รู้จักคาย หรือแม้แต่ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ตายไปก็ไม่มีใครนำติดตัวไปได้ นอกจากบุญกุศลและคุณความดีที่สร้างไว้เท่านั้นที่จะติดตัวไป

    การนำเงินใส่ปากศพ

    การนำเงินใส่ปากศพ มีคติที่มาหลายนัย บ้างว่าเป็นปริศนาธรรมเช่นเดียวกับการตำหมากใส่ปากศพ คือ ตายแล้วก็ไม่สามารถเอาทรัพย์สินติดตัวไปไม่ได้ แม้เงินที่อมไว้ในปากสัปเหร่อก็ล้างเอาไปเสีย อีกนัยหนึ่งบอกว่าคนสมัยโบราณเอาเงินใส่ปากศพเพื่อให้สัปเหร่อเป็นค่าจ้างเผา
    บางคติว่าเงินที่ใส่ปากศพนั้น สำหรับให้วิญญาณของคนตายใช้เป็นค่าเดินทาง หรือค่าจ้างสำหรับคนพายเรือ ที่ทำหน้าที่พาดวงวิญญาณของผู้ตายข้ามแม่น้ำไปสู่ดินแดนของคนตายหรือโลกของวิญญาณ
    นอกจากคนไทยแล้ว ชนชาติอื่นๆ เช่น จีน กรีกโบราณ ยิว ฯลฯ ก็มีการนำเงินใส่ปากศพโดยมีคติเกี่ยวกับความเชื่อแตกต่างกันไป

    มีต่ออีกครับ....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มิถุนายน 2008
  3. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    การปิดหน้าศพ

    ในสมัยโบราณ การทำศพบางแห่งจะมีการปิดหน้าศพด้วยขี้ผึ้งหนาประมาณครึ่งนิ้วกว้างพอปิดหน้าศพได้พอดี บางทีปิดเฉพาะดวงตาและปากเท่านั้น หรือใช้ผ้าปิดแทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาพอุจาดตา และป้องกันไม่ให้แมลงมาวางไข่

    การมัดตราสัง

    ก่อนนำศพใส่โลก ต้องทำพิธีมัดตราสังด้วยด้ายสายสิญจน์ นิยมมัดเป็น ๓ เปลาะ คือ ที่คอ ที่มือและที่เท้า มีผู้แต่งคำโครงอธิบายปริศนาธรรมของการมัดตราสังเป็น ๓ เปลาะไว้ดังนี้


    <CENTER><TABLE width="60%" border=0><TBODY><TR><TD width="70%">มีบุตรห่วงหนึ่งเกี้ยว </TD><TD width="30%">พันคอ </TD></TR><TR><TD width="70%">ทรัพย์ผูกบาทาคลอ </TD><TD width="30%">หน่วงไว้ </TD></TR><TR><TD width="70%">ภริยาเยี่ยงอย่างปอ </TD><TD width="30%">รึงรัด มือนา </TD></TR><TR><TD width="70%">สามห่วงใครพ้นได้

    </TD><TD width="30%">จึงพ้นสงสาร </TD></TR></TBODY></TABLE></CENTER>

    [​IMG]



    ในการมัดตราสังศพ
    • เมื่อนำบ่วงคล้องคอ สัปเหร่อจะว่าคาถา ปุตโต คีว หมายความว่า ลูกคือห่วงผูกคอ เมื่อเวลามัดว่าคาถารัดประคดอก เป็นห่วงที่๑
    • แล้วโยงเชือกมากลางตัว ทำเป็นห่วงตะกรุดเบ็ด ผูกหัวแม่มือของศพที่พนมมือกรวยดอกไม้ธูปเทียนอยู่ รวบมือศพผูกให้พนมไว้ที่หน้าอก ว่าคาถา ธน หตุเถ ความหมายว่า ทรัพย์คือห่วงผูกมือ ในเวลามัดว่าคาถารัดประคดเอว เป็นห่วงที่ ๒
    • แล้วโยงเชือกมาที่เท้าทำเป็นบ่วงผูกหัวแม่เท้ารวบรัดเท้าผูก ให้ข้อเท้าทั้งสองติดกันว่าคาถา ภริยา ปาเท หมายความว่า ภรรยา คือห่วงผูกเท้า เป็นห่วงที่ ๓ (แม้ศพผู้หญิงก็ว่าคาถาแบบเดียวกัน) บางตำราว่าใช้คาถา ธน ปาเท ไม่ใช่ ภริยา ปาเท และบางตำราก็ให้ผูกจากเท้าขึ้นมาก่อน
    เสร็จแล้วให้เอาผ้าขาวผืนใหญ่ห่อตัวศพโดยขมวดไว้ด้านศีรษะ เพื่อจะได้เป็นการสะดวก เมื่อเวลาเปิดเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพก่อนเผา แล้วเอาด้ายดิบขนาดนิ้วหัวแม่มือ มัดเป็นเปลาะๆ ให้แน่นเป็น ๕ เปลาะ เป็นปริศนาธรรม หมายถึง นิวรณ์ ๕ คือ
    ๑. กามฉันทะ
    ๒. ความพยาบาท
    ๓. ความง่วงเหงาหาวนอน
    ๔. ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
    ๕. ความลังเลใจ
    ทั้ง ๕ ประการนี้คือสิ่งขวางกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี
    เหตุที่ต้องมัดศพอย่างแน่นหนา เพราะในสมัยโบราณไม่มียาสำหรับฉีดรักษาศพ จึงต้องมัดไว้ให้ดีเพื่อให้ผ้าซับเลือดน้ำเหลืองและป้องกันโลงแตกเพราะศพขึ้นอืด

    มีต่ออีกครับ....
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มิถุนายน 2008
  4. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    พิธีเบิกโลง



    พิธีเบิกโลงในแต่ละท้องที่อาจมีแตกต่างกันไปบ้าง หลังจากทำพิธีมัดตราสังเสร็จแล้ว จะไม่นำศพใส่โลงในทันที ต้องทำพิธีเบิกโลงก่อน โดย
    • เอาไม้ไผ่มาจักเป็นซีกเล็กๆ ทำเป็นบันได ๔ ขั้น หรือให้มี ๓ ช่องกว้างยาวเท่ากับโลง สำหรับวางบนปากโลง
    • เอาเฝือกผืนหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่ ๗ ซีกถักติดกันเหมือนแร่ง วางก้นโลงเอาผิวไม้ขึ้น ไว้ระยะห่างเพื่อรองรับอย่างเสื่อ
    • แล้วจึงเอาไม้ไผ่มาผ่าให้โตขนาดนิ้วก้อย ยาวพอสมควร ผ่าข้างหนึ่งสำหรับคาบปากโลงเป็นระยะจนครบ ๘ อันเป็นทำนองไม้ตับปิ้งปลา และผ่าอีกข้างหนึ่งสำหรับคาบสายสิญจน์วางทางขวาก่อนให้รอบโลง ไม้นี้เรียกว่า ปากกาจับโลง
    • เอาเทียน ๘ เล่มพาดที่ปากโลงระหว่างปากกาทั้ง ๘ ช่อง กับมีกระทงใบตองขนาดเล็กใส่กุ้งพล่าปลายำ หรือจะเป็นอาหารอย่างอื่นๆ ก็ได้ นำมาวางบนปากโลงทั้ง ๘ ช่องใกล้เทียนที่ติดไว้ ให้เป็นเครื่องสังเวยเทพทั้ง ๘ ทิศ
    • สัปเหร่อจะทำน้ำมนต์สำหรับรดโลง ต้องเตรียมขันและเทียนติดพาดปากขันเล่มหนึ่ง เงินค่ายกครู แต่ก่อนประมาณ ๖ สลึง
    • สัปเหร่อจุดเทียนเป็นคู่ๆ ตั้งแต่ด้านปลายเท้าไปด้านศีรษะ แล้วตั้งต้นทำน้ำมนต์ธรณีสาร ใช้สำหรับประพรมแก้เสนียดจัญไร แล้วว่าคาถา
      สิโรเม พุทธเทวญ จ
      นลาเฏ พรหมเทวตา
      หทย นรายกญเจว
      เทวหต ปรเม สุราฯ
      ปาเท วิสสณุกญเจว
      สพพกมมา ปสิทธิ เม
      เป็นการเชิญ พระพุทธ พระธรรม พระนารายณ์ พระปรเมศวร พระวิศวกรรม มาเข้าสิงกายให้ทำกรรมต่างๆ สำเร็จ บทตั้งแต่ สิทธิกิจจ เป็นบทให้พระเจ้าเรือน มีดังนี้
      สิทธิกิจจ สิทธิกมม
      สิทธการิย ตถาคโต
      สิทธิลาโภ นิรนตร
      สิทธิเตโช ชโย นจจ
      สิทธิกมม ปสิทธิ เม
      สพพสิทธิ ภวนตุ เม
    • เสร็จแล้วสัปเหร่อจะนำน้ำมนต์ลูบหน้าเสยผม ๓ ครั้ง ประพรมโลง ๓ หน หยิบเทียนที่ติดปากโลงมาจุดด้ายสายสิญจน์ที่วงรอบโลง จุดเทียนเป็นคู่ๆ จากปลายเท้าให้ไหม้ขาดทุกช่อง เว้นช่องด้านสกัดที่จะใช้เป็นหัวโลง เอามีดหมอ กดด้ายสายสิญจน์ที่กลางหัวโลงเสกคาถาว่า พุทธ ปจจกขามิ ธมม หจจกขามิ สงฆ ปจจกุขามิ ๓ หน
    • ความนี้สัปเหร่อจะถามว่า โลงของใคร ลูกหลานก็ตอบว่า โลงของ...(ชื่อผู้ตาย) หรือบางที สัปเหร่อก็ถามเองตอบเอง บางทีถามหนเดียว บางทีก็ถามตอบอย่างนั้น ๓ หน
    • เสร็จแล้วสัปเหร่อจึงเอามีดหมอสับปากโลง ๓ ครั้ง โดยการสับตรงกลางก่อน แล้วจึงสับซ้ายขวา หรือบางทีสับเป็นรูปกากบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายว่าด้านนี้เป็นทิศศีรษะหัวโลง
    • ต่อจากนั้น จึงผลักเครื่องเซ่น ไม้ปากกา เทียน และด้ายสายสิญจน์ที่เหลืออยู่ลงไปในโลงให้หมด เอาใบตองบางทับเฝือกและของที่ผลักลงใส่โลง ส่วนใหญ่นิยมใช้ใบตองต้นกล้วยตานีที่ใบไม่แตกยอดไม่หัก ๓ ยอดมาปู
      ด้วยเหตุนี้ในการตัดใบตองมาใช้ทั่วไป ชาวบ้านจึงหักยอดเสียก่อน เพราะใบตองที่ไม่ได้หักยอดถือว่าเป็นใบตองรองผี
      เฝือก ใบตอง ที่ใส่ในโลงศพล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น คือ ชี้ให้เห็นว่า ร่างกายของเราก็เหมือนกับเฝือกที่นำไม้ไผ่มาสานต่อกันเป็นซี่ๆ ในที่สุดก็ต้องแยกสลายจากกัน
    http://www.banfun.com/culture/death2.html
     
  5. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    การนำศพไปวัด

    [​IMG]


    การเคลื่อนย้ายศพ ไม่ว่าจะเพื่อนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัด เคลื่อนศพจากบ้านไปเผา มีธรรมเนียมปฏิบัติดังนี้
    • หากเป็นการตั้งศพสวดอภิธรรมที่บ้าน ในวันเคลื่อนศพไปเผาที่วัด เจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันเช้าที่บ้าน ส่วนใหญ่นิยมนิมนต์เพียง ๔ รูปหรือตามต้องการ แต่เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วนิมนต์พระเพียง ๔ รูปทำหน้าที่จูงศพไปวัด หากมีลูกหลานผู้ตายบวชเณรหน้าศพ ก็ให้มาร่วมจูงศพด้วย โดยเดินต่อจากพระ
    • หากต้องการนำศพไปตั้งสวดอภิธรรมที่วัด ก็ให้พระมาจูงศพเช่นเดียวกัน หลังจากที่สัปเหร่อทำพิธีนำศพใส่โลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากมืดค่ำกะทันหัน ก็อาจตั้งศพไว้ที่บ้านคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้าจึงค่อยนิมนต์พระมาฉันเช้าแล้วจูงศพไปวัด
    การเคลื่อนขบวนศพ

    ในการเคลื่อนขบวนศพนั้น ให้ลูกหลานของผู้ตายถือกระถางธูป และรูปของผู้ตายนำหน้าต่อมาจึงเป็นพระสงฆ์ ๔ รูป ถือสายสิญจน์ที่ต่อมาจากการมัดตราสังศพ และโยงออกมาหน้าโลงซึ่งสัปเหร่อได้จัดเตรียมไว้ไห้แล้ว สายสิญจน์ที่ให้พระจับเวลาสวดศพทุกคืนก็ใช้เส้นเดียวกันนี้
    สำหรับญาติพี่น้องคนอื่นๆ ก็ช่วยกันแยกโลงศพ หรือนำศพตั้งไว้บนรถเข็นช่วยกันเข็นประคองตามกันไปเป็นขบวน เดินไว้อาลัยไปตลอดทางจนกว่าจะถึงวัด หากวัดอยู่ไกลจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเคลื่อนศพก็ได้ หากไม่ต้องการนำรถของตนเองมาขนศพเพราะเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง ก็สามารถขอเช่ารถของทางวัดหรือมูลนิธิได้

    การนำศพออกจากบ้าน

    เมื่อจะเริ่มเคลื่อนศพ ตามคติโบราณจะไม่ยกศพออกทางประตูเหมือนคนปกติ และไม่ให้ศพลอดใต้ขื่อ บางทีก็ต้องรื้อฝาบ้านข้างหนึ่งเพื่อนำศพออกก็มี ทั้งนี้เพราะเรือนสมัยก่อนประตูค่อนข้างเล็กและขื่อเตี้ย การยกศพต้องช่วยกันหลายคนจึงเบียดเสียดไม่สะดวก ฝากระดานของบ้านสมัยก่อนสามารถถอดออกได้สะดวก เพราะใช้วิธีเข้าลิ่มไม่ได้ทำตายตัวเหมือนปัจจุบัน
    เมื่อยกศพออกทางฝาบ้าน ต้องทำบันได ๓ ขั้นไว้เป็นทางลง ไม่ลงบันไดเดียวกับคนเป็นใช้อยู่ประจำ บันได ๓ ขั้นนี้ทำไว้ชั่วคราวไม่แข็งแรงนัก พอคนขึ้นลงก็หักโดยง่าย เป็นเคล็ดความเชื่อว่า ทำให้วิญญาณไม่สามารถหาทางย้อนกลับมาบ้านได้ จะได้ไปผุดไปเกิดเสีย ไม่มัววนเวียนอยู่บนโลกด้วยความเป็นห่วงลูกหลานและทรัพย์สมบัติ
    แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยถือเคร่งครัดเท่าไรนัก เพราะบางทีฝาบ้านเป็นปูนหรืออิฐหากทลายเพื่อเอาศพออกคงเป็นเรื่องใหญ่แน่

    การทำประตูป่า

    ประตูป่า คือ การนำกิ่งไม้มาปักไว้ตรงประตูที่จะนำศพออกจากบ้าน โดยรวบกิ่งไม้มัดไว้เป็นซุ้มหรือคูหา เมื่อนำศพออกไปพ้นประตูแล้วก็ให้รื้อทิ้งเสีย เพราะเชื่อกันว่า วิญญาณของผู้ตายจะกลับบ้านไม่ได้ เพราะประตูป่าที่จำไว้เป็นเครื่องหมายถูกรื้อไปแล้ว หากมองเป็นปริศนาธรรมก็คือ คนที่ตายไปแล้วย่อมไม่สามารถย้อนกลับหรือฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่หากไม่เร่งสร้างคุณงามความดีก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะคนตายนั้นไม่มีโอกาสเช่นเราอีกแล้ว

    การชักฟาก ๓ ซี่

    เป็นคติความเชื่อเช่นกัน สมัยโบราณใช้ไม้ไผ่มาผ่าทำฟากเป็นซี่ๆ สำหรับปูพื้นเรือนและทำฝา เมื่อนำศพออกจากบ้านแล้ว ให้ซักฟากออก ๓ ซี่ เพื่อลวงไม่ให้วิญญาณจำบ้านได้ และปริศนาธรรม อธิบายเกี่ยวกับเรื่องไตรลักษณ์ คือ รูป สังขาร วิญญาณ ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่จีรังยั่งยืน เมื่อความตายมาเยือนไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ ต้องละสังขารทิ้งร่างไว้เหมือนกับเรือนที่ว่างเปล่า

    http://www.banfun.com/culture/death3.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มิถุนายน 2008
  6. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    การตีหม้อน้ำและหม้อไฟนำศพ

    ในสมัยโบราณ เมื่อนำศพออกจากบ้านแล้ว จะมีการตีหม้อน้ำ ๓ ใบ ด้วยไม้ซีก (ไม่นิยมใช้ไม้ท่อนเพราะต้องหักทิ้ง) เมื่อตีหม้อดินใส่น้ำซึ่งเตรียมไว้แตกแล้ว ก็หักไม้ทิ้งเสีย เป็นปริศนาธรรมหมายถึงการแตกสลายของสังขาร หรือธาตุต่างๆ เช่น ธาตุน้ำที่มาชุมนุมกันเป็นร่างกาย เมื่อแยกออกจากกันแล้วก็ต้องกลับไปเป็นธาตุเหล่านั้นเหมือนเช่นเดิม
    สำหรับหม้อไฟ หรือตะเกียงที่จุดไว้หน้าศพนั้น เมื่อเวลาเผาศพก็นำใส่เข้าไปในกองฟืนขณะที่ตีหม้อน้ำทั้ง ๓ ใบทิ้งนั้น คนบนเรือนก็ใช้พัดโบกไปทั้ง ๔ ทิศ

    การซัดข้าวสาร

    การซัดข้าวสารในปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว แต่สมัยโบราณเมื่อนำศพออกจากบ้านต้องทำการซัดข้าวสาร หรือบางทีก็ซัดเกลือขึ้นไปบนหลังคาด้วย พร้อมว่าคาถา
    คจฉ อมุมหิ พุทธปัด แปลใจความได้ว่า จงไปทางโพ้นเถิด พระพุทธเจ้าปัดแล้ว

    <CENTER></CENTER>เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรหรือความอัปมงคลทั้งหลายให้จากไป

    การโปรยข้าวตอกข้าวสาร

    ในระหว่างที่เคลื่อนศพไปวัดนั้น บางทีมีการโปรยข้าวตอกหรือข้าวสารไปตลอดทาง เป็นปริศนาธรรมเตือนใจว่า ข้าวตอกข้าวสารไม่งอกขึ้นมาได้อีกฉันใด คนที่ตายย่อมไม่อาจฟื้นขึ้นมาฉันนั้น

    การใช้ไม้ขีดทางนำหน้า

    การใช้ไม้ขีดทางนำหน้าเมื่อเคลื่อนขบวนศพ ก็เป็นปริศนาธรรมเช่นกัน หมายถึงการเดินตามกันไปเป็นวัฏสงสาร ในวันนี้เรานำศพคนตายไปเผา วันต่อๆ ไป ทุกคนก็ต้องไปตามเส้นทางสายนี้เช่นเดียวกัน ไม่มีใครสามารถหลีกหนีพ้นได้

    ขบวนศพห้ามผ่านเรือกสวนไร่นา

    ในสมัยโบราณหนทางยังไม่ค่อยสะดวกนัก การหามศพต้องหามไปตามทางเดินจะลัดผ่านไร่นาของคนอื่นไม่ได้ อาจเพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับความตายว่าเป็นอัปมงคล หรือขบวนแห่มีคนเป็นจำนวนมาก หากเดินตัดผ่านไร่นา อาจไปเหยียบข้าวกล้าพืชไร่ได้รับความเสียหาย

    การเรียกบอกหนทางแก่วิญญาณผู้ตาย

    เมื่อนำศพไปวัด ขบวนแห่ศพผ่านที่ไหนลูกหลานผู้ตายก็จะเอามือเคาะโลงเพื่อบอกให้รู้ตัวไปตลอดทาง เช่น ลงจากบ้านแล้ว เลี้ยวขวาไปตามทาง ผ่านโรงเรียนแล้ว ข้ามสะพานแล้ว ถึงวัดแล้ว ทั้งนี้เป็นคติความเชื่อว่า เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายตามร่างไป

     
  7. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    พิธีกรรมเมื่อไปงานศพ ฟังพระสวด


    การไปงานศพ (ไปฟังพระสวด)

    เมื่อไปถึงควรแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพ แต่บางครั้งต้องดูตามสถานการณ์ เพราะการพูดกระตุ้นให้เจ้าภาพเกิดความเศร้าโศกขึ้นมาอีกคงไม่เหมาะสมนัก บางทีเจ้าภาพยุ่งอยู่กับการต้อนรับแขก จนเกือบจะลืมเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปได้ชั่วคราวแล้ว ผู้ไปเคารพศพอาจแสดงออกด้วยอากัปกิริยาแทนคำพูดก็ได้
    เจ้าภาพ หรือตัวแทนของเจ้าภาพจะนำไปจุดธูปเคารพศพ หากมีการจัดที่พุทธบูชาไว้ด้วยเช่น
    เมื่อนำศพไปตั้งสวดอภิธรรมที่วัด ต้องจุดธูปเทียนไหว้พระก่อน ด้วยธูปสามดอก แล้วจึงจุดธูปไหว้ศพเพียงดอกเดียว บางแห่งลูกหลานของผู้ตายจะคอยจุดธูปส่งให้กับแขก หากต้องจุดธูปเอง ควรใช้ไม้ขีดหรือจุดกับตะเกียงที่ตั้งไว้ต่างหาก อย่ายื่นธูปไปจุดกับเทียนที่ตั้งไว้หน้าศพ เป็นการไม่เหมาะสม
    หากนำพวงหรีดไปไว้อาลัย ควรส่งให้เจ้าภาพหรือคนทีมีหน้าดูแลรับไปติดตั้ง ไม่ควรหาติดตั้งเอาเองตามใจชอบ ปัจจุบันไม่นิยมพวงหรีดที่ทำจากโฟม โดยทั่วไปจะใช้พวงหรีดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติซึ่งย่อมสลายง่าย หรือใช้พวงหรีดที่ดัดแปลงมาจากผ้าเพราะเมื่อเสร็จงานแล้วเจ้าภาพสามารถถวายให้พระนำไปใช้ประโยชน์ได้

    การสวดศพ

    พระที่นิมนต์มาสวดพระอภิธรรมหน้าศพ นิยมนิมนต์เพียง ๔ รูป หากทำพิธีสวดที่บ้านต้องจัดรถคอยรับส่ง และจัดหาคนทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรม คือ กล่าวนำอาราธนาศีล อาราธนาธรรม ฯลฯ ไว้ให้เรียบร้อย
    เมื่อพระมาถึงแล้ว เจ้าภาพต้องจุดธูปเทียนที่พระพุทธ และตู้พระธรรม กล่าวคำอาราธนา พระจึงจะเริ่มทำการสวดได้ บางงานเจ้าภาพนั่งรอไม่เห็นพระท่านเริ่มสวดเสียที พระท่านก็นั่งรอไม่เห็นเจ้าภาพจุดธูปเทียนและกล่าวอาราธนาเสียที จึงควรเรียนรู้การทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมเอาไว้บ้าง

    การเคาะโลงให้ผู้ตายฟังพระสวด

    เมื่อพระเริ่มสวด ลูกหลานของผู้ตายจะเคาะโลงเบาๆ เพื่อเรียกให้ฟังพระสวดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือลูกหลานยังคงปฏิบัติกับผู้ตายเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เป็นความผูกพันภายในครอบครัว

    การบรรเลงปี่พาทย์มอญ

    หากเจ้าภาพมีฐานะดี ก็จัดหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลงเป็นทำนองวังเวง พอพระสวดพระอภิธรรมจบ ปี่พาทย์ก็ขึ้นรับ ฟังแล้วชวนให้เศร้าโศกเข้ากับบรรยากาศ

    การเลี้ยงอาหารแขกที่มาฟังพระสวด

    ตามธรรมเนียมของการสวดอภิธรรม พระจะสวดทั้งหมด ๔ จบ แต่บางแห่งก็แตกต่างกันไป เมื่อพระสวดได้ ๒ จบ หรือ ๓ จบแล้วจึงทำการหยุดพัก ช่วงนี้เจ้าภาพจึงนำอาหารที่จัดเตรียมไว้มาเลี้ยงแขก เสร็จแล้วจึงฟังพระสวดต่อจนครบ ๔ จบ

    สำหรับผู้ไปร่วมพิธีเผาศพหรือไว้อาลัยผู้ตายก่อนทำการเผา หรือเมื่อไปฟังพระสวดอภิธรรมศพ เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ให้ล้างหน้าล้างตาก่อนเข้าบ้าน บางทีนำใบทับทิมใส่ในขันแล้ววักน้ำในขันนั้นล้างหน้า เพื่อความเป็นสิริมงคล

    http://www.banfun.com/culture/death4.html
     
  8. คนมีกิเลส

    คนมีกิเลส เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    3,973
    ค่าพลัง:
    +19,432
    พิธีกรรมเมื่อไปงานเผาศพ

    [​IMG]

    นำศพเวียน ๓ รอบก่อนนำขึ้นเมรุ

    หากตั้งศพสวดบำเพ็ญกุศลที่วัด ในตอนเช้าของกำหนดทำพิธีเผา ลูกหลานก็จะช่วยกันหามโลงศพเวียนรอบเมรุ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปตั้งไว้บนเมรุ หากตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ครั้นเคลื่อนศพมาถึงวัดแล้วก็ให้ทำการเวียนรอบเมรุก่อน ๓ รอบเช่นกัน จึงจะนำไปตั้งบนเมรุ บางแห่งมีการนำโลงกระแทกเมรุก่อน ๓ ครั้ง จึงนำขึ้นไปตั้ง นิยมหันหัวศพไปทางทิศตะวันตก
    การเวียนศพต้องเวียนซ้าย ต่างกับการเวียนเทียนหรือแห่นาค ซึ่งเป็นงานมงคลจะทำการเวียนขวาเรียกว่า ทักษิณาวรรต การเวียนศพ ๓ รอบเป็นการเวียนเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ตาย และเป็นปริศนาธรรมเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในสามภพ คือ ในโลก นรก และสวรรค์

    การทิ้งเบี้ยให้ตากลียายกลา

    สมัยโบราณ เมื่อนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ หรือเชิงตะกอนแล้ว ต้องทิ้งเบี้ย ๓๓ เบี้ยให้ตากลียายกลา ซึ่งเป็นเจ้าของป่าช้า เพื่อซื้อที่ให้ผีอยู่และเป็นค่าจ้างเผา เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้วแต่จะใช้วิธีโปรยทาน

    <CENTER></CENTER>สาเหตุที่โยน ๓๓ เบี้ยมีคติเป็นหลายนัย บ้างว่าเป็นการแสดงคุณบิดา ๒๐ เบี้ย มารดา ๑๒ เบี้ย (รวมได้ ๓๒ เบี้ย อีก ๑ เบี้ยไม่ทราบว่าหายไปไหน) บางทีก็ว่า ๓๒ เบี้ยนั้นหมายถึงอาการ ๓๒ นั่นเอง

    การจุดพลุสัญญาณ

    ในสมัยโบราณ บ้านเรือนแต่ละหลังอยู่ห่างกัน จึงใช้เสียงพลุเป็นสัญญาณ อาจจะจุดเมื่อเริ่มเคลื่อนศพไปวัดลูกหนึ่ง เมื่อถึงวัดแล้วลูกหนึ่ง เมื่อพระสวดมาติกาลูกหนึ่ง และยิงลูกสุดท้ายเมื่อทำพิธีเผา ไม่มีข้อจำกัดอันใดจะให้มีการจุดพลุหรือไม่ก็ได้ แต่ตามต่างจังหวัดยังนิยมจุดกันอยู่

    พิธีในวันเผา

    เมื่อตั้งศพไว้บนเมรุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพจะนิมนต์พระมาเลี้ยงอาหารเพลที่ศาลาสวดอภิธรรม เสร็จแล้วทำการถวายจตุปัจจัย ทอดผ้าบังสุกุล กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ตอนบ่ายมีการเทศนา ๑ กัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่พระท่านจะเทศน์ เกี่ยวกับเรื่องการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความไม่เที่ยงของสังขาร ต่อจากนั้นก็มีการสวดมาติกา กล่าวชีวประวัติของผู้ตาย การทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ และทำการเผาหรือประชุมเพลิง

    การกล่าวถึงชีวประวัติของผู้ตาย

    เมื่อผู้ร่วมพิธีเผาและไว้อาลัยแด่ผู้ตายมาพร้อมกันแล้ว ก่อนทำพิธีวางดอกไม้จันทน์ อาจมีการกล่าวถึงชีวประวัติของผู้ตายอย่างย่อๆ ส่วนใหญ่จะบอกถึงวันเดือนปีเกิด ชื่อบิดามารดาบุตรธิดา หน้าที่การงาน และคุณความดีของผู้ตาย สุดท้ายเป็นการกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมไว้อาลัย

    การชักผ้าบังสุกุล

    เมื่อใกล้เวลาเผา เจ้าภาพจะเชิญแขกผู้มีเกียรติหรือผู้ที่เคารพนับถือร่วมทอดผ้าบังสุกุล โดยเรียกชื่อทีละคน ผู้ที่ได้รับเชิญก็เดินไปที่หน้าเมรุ หยิบผ้าบังสุกุลซึ่งลูกหลานของผู้ตายวางไว้บนพาน หยิบไปเฉพาะผ้าบังสุกุลเท่านั้น นำไปวางไว้ในพานหน้าโลงศพบนเมรุ
    เจ้าภาพหรือผู้มีหน้าที่ในการทำพิธี จะเชิญพระสงฆ์องค์หนึ่งให้ขึ้นไปพิจารณาผ้าบังสุกุลหรือซักผ้าบังสุกุล ทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะครบแขกที่เชิญหากมีแขกคนสำคัญอาจให้ทอดเป็นคนสุดท้าย เรียกว่า ทอดผ้ามหาบังสุกุล วิธีการนั้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อขึ้นบันไดไปบนเมรุเพื่อทอดผ้า ให้เดินลงทางด้านข้างของเมรุ ไม่ควรเดินย้อนกลับตรงทางขึ้น

    การโปรยทาน

    การโปรยทาน เป็นการอุทิศส่วนกุศลแทนผู้ตาย คล้ายเป็นการแจก หรืออุทิศทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มี ให้กับคนที่อยู่เบื้องหลัง เป็นปริศนาธรรมทำนองตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เงินโปรยทานนี้ชาวบ้านนิยมเก็บไว้เป็นขวัญถุง

    การวางดอกไม้จันทน์

    เมื่อชักผ้ามหาบังสุกุลเสร็จแล้ว เจ้าภาพก็จะนำดอกไม้จันทน์มาแจกให้กับผู้มาร่วมไว้อาลัยคนละ ๑ ช่อ หรือนำใส่ถาดไปวางไว้หน้าเมรุ ครั้นได้เวลาเผา พระก็จะสวดพระอภิธรรม ผู้มาร่วมพิธีจึงทยอยขึ้นบันไดเมรุ นำช่อดอกไม้จันทน์ไปวางไว้ในพานหน้าศพ แล้วเดินลงทางบันไดด้านข้าง ไม่ควรย้อนกลับลงไปทางที่ขึ้นมา เพราะจะทำให้ชนหรือเกะกะขวางทางคนอื่นๆ ที่กำลังจะขึ้น
    การวางดอกไม้จันทน์นี้ หากเป็นสมัยโบราณที่มีการเผาบนเชิงตะกอนกลางแจ้ง ผู้มาร่วมพิธีก็จะถือฟืนติดมือกันมาคนละท่อน นำมาวางรวมกัน ซึ่งถ้าได้ไม้จันทน์ก็จะเป็นการดีเพราะเวลาเผามีกลิ่นหอม เมื่อพร้อมกันแล้วสัปเหร่อจึงทำการจุดไฟ

    มอญร้องไห้

    หากเจ้าภาพมีฐานะดี จัดให้มีวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลงในงานตลอดงาน หรือเฉพาะในวันเผาเมื่อเริ่มพิธีเผา คือผู้มาร่วมไว้อาลัยทำการวางดอกไม้จันทน์ ก็จะมีพิธีมอญร้องไห้โดยคนในคณะปี่พาทย์เป็นผู้ร้องคร่ำครวญ พรรณนาถึงคุณงามความดีของผู้ตายด้วยความอาลัยรัก ผู้ร้องจะร้องอย่างโหยหวนเข้ากับบรรยากาศ พลอยทำให้ลูกหลานของผู้ตายเกิดความเศร้าโศกพากันร้องไห้

    การขอบคุณผู้มาร่วมพิธีและการมอบของที่ระลึก

    เมื่อถึงตอนทำพิธีเผาศพ เจ้าภาพและลูกหลานของผู้ตายจะไปยืนอยู่ที่บันไดทางลงของเมรุ ซึ่งมักทำไว้ ๒ ฟาก เมื่อผู้มาร่วมพิธีวางช่อไม้จันทน์เสร็จและเดินลงมา เจ้าภาพก็กล่าวขอบคุณ หากจะมอบของที่ระลึกก็มอบให้ในตอนนี้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ร่วมพิธีก็จะมอบซองใส่เงินช่วยงานให้เจ้าภาพเช่นกัน พร้อมกล่าวขอบคุณและกล่าวคำอำลา

    การเผาศพในปัจจุบัน

    เมื่อแขกทยอยกลับกันไปบ้างแล้ว เหลือแต่ผู้ที่สนิทสนมกับเจ้าภาพซึ่งรออยู่รอบๆ เมรุ สัปเหร่อจะทำการเปิดโลงศพ เพื่อให้ลูกหลานได้ดูหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจึงต่อยผลมะพร้าวให้แตก เอาน้ำมะพร้าวซึ่งถือกันว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ล้างหน้าศพ แล้วจึงนำเข้าเตาเผา
    หากเป็นผู้มีฐานะดี จะจัดสร้างเมรุเผาศพขึ้นมาต่างหาก มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม เวลาเผาก็ใช้วิธีจุดลูกหนู เป็นชนวนให้วิ่งตามเส้นเชือกไปสู่โลงศพ

    การเอาผ้าโยนข้ามศพ

    ประเพณีบางแห่งจะมีการนำผ้าขาวหรือเสื้อผ้าของผู้ตายตัวหนึ่ง โยนไปมาข้ามกองไฟที่กำลังลุกไหม้ ๓ ครั้ง เป็นปริศนาธรรม หมายถึงว่าผู้ตายได้ข้ามพ้นของร้อนทั้ง ๓ อย่างไปพ้นแล้วของร้อนนั้นได้แก่ โลภะ คือ ความโลภ โทสะ คือ ความโกรธ และ โมหะ คือ ความหลง
    ผ้านั้นบางทีก็ใช้ผ้าขาวที่คลุมโลงเมื่อโยนแล้วให้นำไปถวายพระ หรือให้เป็นทานแก่คนยากจน

    การชักฟืน ๓ ดุ้น

    ในสมัยโบราณ ทำการเผาศพกันที่เชิงตะกอนเรียกว่าเผาสด คือนำกองฟืนมาสุมกันแล้วนำศพไปวางไว้ข้างบน เมื่อจุดไฟเผาแล้ว ผู้มาร่วมพิธีต้องรอสัปเหร่อชักฟืนออกมา ๓ ดุ้นก่อนจึงจะกลับบ้านได้ เป็นอุบายให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เมื่อตายแล้วร่างย่อมถูกเผามอดไหม้ทิ้งไว้แต่คุณงามความดี หรือเป็นปริศนาธรรมว่า ฟืนติดไฟทั้ง ๓ นั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นกองไฟที่แผดเผาให้เร่าร้อนอยู่ในวัฏสงสาร เมื่อชักออกหรือหลุดพ้นได้แล้วย่อมพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

    เมื่อกลับจากงานศพ

    สำหรับผู้ไปร่วมพิธีเผาศพหรือไว้อาลัยผู้ตายก่อนทำการเผา หรือเมื่อไปฟังพระสวดอภิธรรมศพ เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ให้ล้างหน้าล้างตาก่อนเข้าบ้าน บางทีนำใบทับทิมใส่ในขันแล้ววักน้ำในขันนั้นล้างหน้า เพื่อความเป็นสิริมงคล บางทีมีคติความเชื่อว่า เมื่อกลับจากงานศพต้องเดินวกวนอ้อมไปอ้อมมา เพื่อไม่ให้ผีตามมาถึงบ้านได้ สำหรับเจ้าภาพและลูกหลาน หลังจากทำพิธีเผาแล้ว เมื่อจะเดินทางกลับบ้านต้องกลับลวดเดียวให้ถึงบ้านเลย ห้ามไปแวะที่อื่น ผู้ที่ถือรูปของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน ให้นำรูปกลับมารวดเดียวให้ถึงบ้านอย่าแวะกลางทาง แล้วนำรูปไปติดไว้ในที่อันสมควร

    http://www.banfun.com/culture/death5.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...