จาก ปึกเตียน....ถึง พระราชวังบ้านปืน

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 10 เมษายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,175
    มนู จรรยงค์ ช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ ถ้าคิดจะเที่ยวไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเที่ยวทะเล และทะเลที่ผมไปมานี้ก็คือ หาดปึกเตียน ปึกเตียนอยู่กึ่งกลางระหว่าง หาดเจ้าสำราญ กับ หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระยะทางก็ไม่ไกลแค่ 130 กว่า กม.เท่านั้นเอง สามารถไปเช้าเย็นกลับ หรือไปเย็นเช้ากลับก็ได้ เพราะมีรีสอร์ทสวยๆ งามๆ ให้พักหลายแห่ง ร้อนนี้ใครยังไม่มีที่ไปเที่ยวที่ไหนผมขอแนะนำให้ไปพักผ่อนหาดปึกเตียนนี้ดีที่สุด เพราะบรรยากาศดีมุมสงบ เหมาะจะพาครอบครัวไปเล่นน้ำทะเล โต้คลื่นแหวกว่ายให้คลายร้อน

    ตรงที่เราไปพักเป็นหาดที่ค่อนข้างเงียบสงบ เพราะอยู่ห่างจาก หาดปึกเตียน ไปทางใต้เล็กน้อย หาดปึกเตียนจริงๆ เขาจะมีรูปปั้นพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร สุดสาคร และม้านิลมังกร ตัวละครในบทกวีของท่าน สุนทรภู่ หน้าร้อนนักท่องเที่ยวจะไปคับคั่งอยู่ตรงนั้นเป็นพิเศษ เพราะมีร้านรวงที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งที่น่านั่งจิบเบียร์เย็นๆ รับลมทะเลกับเพื่อนที่ถูกคอจนกว่าจะเมากันไปข้าง ไม่เมาไม่เลิก อะไรทำนองนี้

    เหนือปึกเตียนขึ้นไปหน่อยเป็น หาดเจ้าสำราญ หาดเจ้าสำราญเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ เล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จฯ มาที่นี่พร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงดงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนถึงปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุด ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เมื่อปี พ.ศ.2466

    ทิศใต้ต่ำกว่าปึกเตียนลงไปหน่อย แต่เป็นชายหาดที่ติดต่อกันทั้ง 3 แห่ง เป็นที่ตั้งของ หาดชะอำ เป็นชายหาดที่สวยงานและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา

    เขียนถึงหาดปึกเตียน แต่ก็ไปเกี่ยวพันหรือพัวพันกับหาดเจ้าสำราญ และชะอำเข้าจนได้ เหมือนกับเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะท่านผู้อ่านส่วนมากก็คงจะไปเที่ยวมากันจนเบื่อแล้ว แต่ปึกเตียนนี่ผมเพิ่งเคยไปนอนเป็นครั้งแรกก็เลยตื่นเต้นเป็นธรรมดา เลยเผลอไปใช้คำว่า พัวพัน เป็นภาษาลาวไปฉิบ คำว่า พัวพัน ถ้าลาวใช้เต็มๆ ว่า กระทรวงพัวพันภายในประเทศ ก็ตรงกับคำว่า กระทรวงมหาดไทย ของไทย หรือ กระทรวงพัวพันนอกประเทศ ก็หมายถึง กระทรวงการต่างประเทศของไทยนั่นเอง

    ผมไปนอนอยู่ที่ปึกเตียนแค่คืนเดียว รีสอร์ทชื่ออะไรก็จำไม่ได้ แต่ก็หลับสบายดีมาก รุ่งขึ้นก็แวะเข้าไปเที่ยวในเมืองเพชรบุรีก่อนกลับกรุงเทพฯ

    ก่อนอื่นมารู้จักประวัติความเป็นมาของจังหวัดเพชรบุรีกันสักนิด เพชรบุรีเป็นจังหวัดภาคกลางที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 123 กม. เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย และมีหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงขอม และสมัยทวารวดี ทั้งยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยา

    เพชรบุรีมีพื้นที่ 6,200,000 กว่า ตร.กม. สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับสหภาพพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กม. ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบไปจนจรดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 80 กม. พื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่เพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กม. แม่น้ำบางกลอย มีความยาว 44 กม. และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18 กม. โดยเฉพาะแม่น้ำเพชรบุรีในอดีตเป็นแม่น้ำที่ใสสะอาด และมีความเยือกเย็นมาก เวลามีงานพระราชพิธีเขาจะนำน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีไปใช้

    ประชากรจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนา สวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด ทำขนมหวาน เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง

    สมัยเด็กๆ ที่ทำให้ผมรู้จักจังหวัดเพชรบุรีก็คือ เขาวัง ขนมหม้อแกง แม่น้ำเพชร ข้าวเกรียบงา ขนมขี้หนู ชมพู่เมืองเพชร จาวตาลเชื่อม และข้าวแช่ ซึ่งอร่อยมาก ไม่มีที่ไหนสู้ได้ ข้าวขัดนุ่มนวล น้ำหอมกรุ่นด้วยดอกมะลิ และกระดังงา กับแกล้มก็มีทั้ง ลูกกะปิ ปลาหวาน เนื้อเค็มฝอย และหัวไชโป้ผัดไข่ใส่น้ำตาล แม่ค้าจะหาบหม้อดินข้างหนึ่ง และกระจาดข้างหนึ่งตระเวนขายไปตามตลาดและหน้าเขาวัง ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วแม่ค้าหาบข้าวแช่เร่ขาย ผมยังจำได้ติดตาแม่ค้าบางคนเป็นลาวโซ่งก็มี สังเกตจากการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีคล้ำมีลายๆ ที่ผ้าถุง และเกล้าผมมวย เวลานี้ไม่เรียกว่าลาวโซ่งแล้ว เปลี่ยนมาเรียกว่า ไทยทรงดำ

    เมื่อรถแล่นเข้าตัวเมืองเขาก็พาไปแวะชม พระราชวังบ้านปืน หรือ พระรามราชนิเวศน์ มีทหารเฝ้า ไม่เปลี่ยวเหมือนสมัยก่อนที่ผมเคยเดินผ่านน่ากลัวมาก ตอนเด็กผมเคยไปเรียนชั้น ม.1-ม.2 อยู่ปีหรือ 2 ปี เคยได้ยินกิตติศัพท์ว่าผีดุ ความจริงยิ่งกว่าผีอีก นั่นก็คือ เปรต ตัวสูงๆ ส่งเสียงร้องน่าหวั่นไหวพิลึก ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนท้าย

    พระราชวังบ้านปืน ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เลือกบริเวณที่จะสร้างพระตำหนัก และทรงขอซื้อที่ดินด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดย นายคาลเดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2452 แล้วเสร็จในปี 2459 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ในปี 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ฯลฯ

    และเกิดร้างในบางช่วงที่มิได้ทำอะไร ช่วงนี้เองจะปิดไฟมืดมิด เพราะไม่มีคนอยู่ ก็เลยมีเรื่องผีๆ สางๆ เข้ามาพัวพัน เอ๊ยเกี่ยวข้อง เด็กๆ บางคนก็กลัว บางคนก็กล้า เพราะรู้เท่าทันผู้ใหญ่ที่เอามาใช้หลอกเด็กไม่ให้เที่ยวในเวลากลางคืน ไม่เฉพาะแต่ผีเท่านั้นที่ชุกชุม เปรต ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน มีคนเห็นเดินสูงโย่งเย่ง เด็กรุ่นพี่ที่กล้าหน่อยเล่าให้ฟังขณะไปโรงเรียนเช้าตรู่วันนั้นว่า เมื่อคืนเขาเห็นเปรตที่หน้าพระราชวังบ้านปืน แต่ไม่ดุร้ายอย่างที่คิด เขาได้ยินเสียงร้องวี้ดๆ ระหว่างเดินผ่านหน้าวังจะกลับบ้าน เผอิญฝนตกลงมาอย่างหนัก เห็นเงาเปรตวิ่งตะคุ่มๆ แล้วเอาหัวเข้าไปซุกต้นตาลเพื่อหลบฝน ผมก็เพิ่งจะรู้ว่าเปรตนั้นก็กลัวเปียกเหมือนกับคนเหมือนกัน

    มันก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเปรตมีจริงหรือไม่ สงสัยเพื่อนของผมจะตาฝาดไปหรือเปล่า เพราะสมัยก่อนหน้าพระราชวังบ้านปืนเต็มไปด้วยดงตาล (สัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี) ทั้งนั้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...