ดุลยภาพของชีวิต..ในมุมมองของพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 2 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,496
    ดุลยภาพของชีวิต ในมุมมองของพระพุทธศาสนา

    [​IMG]

    เพราะสุขและทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นที่มนุษย์จะต้องศึกษาพัฒนาทั้งสุขและทุกข์เพื่อให้มีดุลยภาพในการดำเนินชีวิต ให้ชีวิตดำเนินไปในแนวทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติ แต่ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มีวัตถุพรั่งพร้อม มนุษย์มีความเข้าใจผิดว่าวัตถุคือสิ่งที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหมดของชีวิต ยิ่งมีวัตถุมาปรนเปรอมากเท่าใดก็ย่อมจะมีความสุขมากเท่านั้น มนุษย์จึงพยายามพัฒนาทางด้านวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกาย แต่ในทางจิตใจหาได้พัฒนาไม่ ดังนั้นมนุษย์จึงเสีย ดุลยภาพของชีวิตไป ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวัตถุ ทำให้มนุษย์มีใจเสาะ เปราะบาง อ่อนแอ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก

    ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นมนุษย์เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงต้องตกอยู่ ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ เมื่อสุขและทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิตจึงนับว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะต้องรู้เท่าทันและพัฒนาให้ชีวิตเกิดดุลยภาพอันจะทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติได้ อย่างเป็นปกติ ดังนั้นทั้งสุขและทุกข์เป็นคุณสมบัติชนิดหนึ่งที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องกล่าวคือ สุขคือสิ่งที่มนุษย์จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในชีวิตส่วนทุกข์คือสิ่งที่มนุษย์จะต้องกำหนดรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง หน้าที่ต่อทุกข์ของมนุษย์ได้แก่การรู้เท่าทัน ส่วนสุขนั้นมีหน้าที่พัฒนาให้เกิดขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของหน้าที่ทั้งต่อสุขและทุกข์นั้นสามารถกล่าวโดยสรุปตามหลักการของพระพุทธศาสนาได้ ๒ ประการ ดังนี้


    ๑. การรู้เท่าทันทุกข์ พระพุทธศาสนามองว่าชีวิตและสรรพสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติทั้ง ๓ ประการคือ ๑) การเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ๒) การตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) ๓) การไม่มีตัวตนที่แท้จริงเพราะปรากฏรูปร่างขึ้นมาได้ด้วย เหตุปัจจัย (อนัตตา) ทั้ง ๓ ประการนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่ากฎธรรมชาติ ซึ่งสรรพสิ่งทั้งโลกและชีวิตจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎทั้ง ๓ ประการนี้ อาการทั้งสองเบื้องต้นคือการเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) และการตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) แสดงอาการปรากฏให้เห็นได้ง่ายโดยรูปของการเปลี่ยนแปลง เช่นการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง เป็นต้น ส่วนประการสุดท้ายคือการไม่มีตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) เป็นสภาพที่จะต้องใช้ปัญญาในการสืบหาความจริงตามเหตุปัจจัย

    ทุกข์คือกฎของธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อทั้งโลก และชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจึง ต้องตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุ ปัจจัย จากกฎธรรมชาติคือสิ่งทั้งปวงมีการเปลี่ยนแปลงนี้จึงมีผลต่อมนุษย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยตรงคือชีวิตร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตาม กฎธรรมชาติโดยที่มนุษย์ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง โดยอ้อมคือการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั้นทำให้มีผลต่อจิตใจมนุษย์โดยก่อให้เกิดทุกข์เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามที่มนุษย์ปรารถนาจะให้เป็น เมื่อว่าโดยหลักการของพระพุทธศาสนาที่มองว่าสรรพสิ่งที่รวมตัวกันด้วยเหตุปัจจัยล้วนตกอยู่ภายใต้อาการคือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปซึ่งเป็นอาการของการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีหลักการว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องรู้ด้วยปัญญา การเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติไม่ควรมีอิทธิพลเหนือจิตใจของมนุษย์ และไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะเอาชีวิตเราเข้าไปเป็นทุกข์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ต้องรู้เท่าทันทุกข์ที่มีตามธรรมชาติที่โยงมาหาชีวิต กล่าวโดยสรุปคือทุกข์มีไว้เพื่อรู้เท่าทัน (ทุกขัง ปริญเญญยัง) ไม่ใช่มีไว้เพื่อเป็นทุกข์

    ๒. การพัฒนาสุข พระพุทธศาสนามองว่าความสุขเป็นสิ่งพัฒนาได้ เพราะความสุขเมื่อเกิดขึ้นอย่างถูกต้องแล้วจะเป็นคุณสมบัติในใจของมนุษย์ โดยพระพุทธศาสนาให้เหตุผลว่าเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาได้ความสุขซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิตจึงเป็นสิ่งพัฒนาได้เช่นกัน เมื่อเราพัฒนาความ สุขให้ประณีตขึ้น สูงขึ้นก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้นคือทำให้ชีวิตของเรามีคุณธรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และความสุขที่เราพัฒนาขึ้นนอกจากจะเกื้อกูลต่อตนเองแล้วยังทำให้เกื้อกูลต่อผู้อื่นหรือสังคมด้วย เพราะปกติถ้าการแสวงหาความสุขเพียงเพื่อตนเองโดยไม่มีการพัฒนาความสุขให้สูงขึ้นจะทำให้มีการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อให้ตนเองได้รับความสุข แต่หากมีการพัฒนาความสุขให้สูงขึ้น ความสุขที่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นตามลำดับนั้นจะทำให้สังคมมีสันติมากขึ้น

    ระดับของความสุขตามนัยของพระพุทธศาสนานั้นมีขอบเขตที่กว้างขวาง แต่ในที่นี้สามารถสรุปได้ ๕ ระดับ คือ

    ความสุขขั้นที่ ๑ ได้แก่ความสุขที่เกิดจากวัตถุ (สามิสสุข) ความสุขชนิดเป็นความสุขที่เกิดจากการเสพวัตถุทางตา หู จมูก ลิ้น กายของมนุษย์ ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่อิงอาศัยวัตถุภายนอก มนุษย์ต้องแสวงหาวัตถุภายนอกเพื่อเสพความสุขชนิดนี้ ข้อเสียของความสุขชนิดนี้คือเมื่อจำต้องอาศัยวัตถุภายนอกมนุษย์จึงจำต้องแสวงหาให้ได้มากที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองจึงมีการเบียดเบียนกันเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุอันจะตอบสนองความต้องการของตนเอง หากมนุษย์ยึดติดกับความสุขชนิดนี้โดยไม่พัฒนาให้ถึงความสุขขั้นสูงขึ้นก็ก่อให้เกิดการเบียดเบียนกันเพราะต่างก็ต้องแสวงหาวัตถุให้ได้มากที่สุดตามความต้องการ สำหรับการเสพความสุขชนิดนี้พระพุทธศาสนาได้ให้หลักการคือศีล ๕ เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกันหรือเพื่อให้มีการเบียดเบียนกันน้อยที่สุดคือ

    (๑) ให้เสพความสุขโดยไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น
    (๒) ไม่ให้ละเมิดสิทธิทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
    (๓) ไม่ให้ละเมิดคู่ครองของผู้อื่น
    (๔) ไม่ให้ทำลายผลประโยชน์ ผู้อื่นด้วยถ้อยคำ
    (๕) ไม่ให้สร้างความไม่ปลอดภัยผู้อื่นด้วยการเสพสิ่งเสพติด
    และความสุขชนิด ดี มีข้อบกพร่องคือด้านตนเองมีความบกพร่องเพราะต้องแสดงว่าอยู่เป็นประจำเพื่อให้ได้ความสุข ด้านสังคมก็มีการเบียดเบียนกันเพราะต่างก็แสวงหากัน

    ความสุขขั้นที่ ๒ ได้แก่ความสุขที่เกิดจากการให้ ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขร่วมกันเพราะผู้ให้ก็เป็นสุขผู้รับก็เป็นสุข เป็นความสุขที่ไม่เบียดเบียนกัน เปลี่ยนจากการเอาหรือการได้เป็นการให้ ดังปรากฏคำสอนเรื่องทานเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญสำหรับคฤหัสถ์

    ความสุขขั้นที่ ๓ ได้แก่ความสุขที่ใช้ชีวิตให้ถูกต้องตามธรรมชาติไม่ให้หลงในโลกสมมุติ

    ความสุขขั้นที่ ๔ ได้แก่ความสุขที่เกิดจากการปรุงแต่งในจิตใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุภายนอกแต่ทำให้เกิดมีได้ด้วยการปรุงแต่ให้เกิดมีขึ้นในจิตใจโดยวิธีการ ๕ อย่างคือ
    (๑) ความเบิกบานใจ (ปราโมทย์)
    (๒) ความอิ่มใจ (ปีติ)
    (๓) ความสงบใจ (ปัสสัทธิ)
    (๔) ความสุขใจ (สุข) และ
    (๕) ความมีจิตตั้งมั่น ( สมาธิ)
    ความสุขขั้นที่ ๕ ได้แก่ความสุขเหนือการปรุงแต่งที่เกิดจากปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ พระพุทธศาสนายืนยันถึงระดับของความสุขทั้ง ๕ ระดับเหล่านี้และเห็นว่าความสุขทั้ง ๕ ระดับนี้เป็นธรรมชาติที่มนุษย์สามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้ตามลำดับ

    กล่าวโดยสรุปคือเมื่อเราผ่านโลกผ่านชีวิตมาได้ระดับหนึ่ง เราก็คงเข้าใจคำว่า ชีวิตมีขึ้นมีลงได้อย่างชัดเจน นั่นก็หมายความว่าไม่มีใครโชคร้ายไปตลอดและไม่มีใครโชคดีไปตลอด ชีวิตมีสุขและมีทุกข์ปนกันไปแต่ ประเด็นที่สำคัญที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือทำอย่างไรเราจะใช้ชีวิตให้มีดุลยภาพระหว่างสุขและทุกข์ โดยรู้ให้เท่าทันทุกข์และพัฒนาสุขอย่างมีหลักการ โดยในยาม ที่มีสุขเราก็ไม่หลงระเริงลืมตนจนกลายเป็นการสร้างทุกข์ให้คนอื่นหรือยึดติดเพียงความสุขในระดับต้น ๆ ไม่พัฒนาความสุขให้สูงขึ้น และทำอย่างไรในยามที่เรามีทุกข์ก็ไม่ใช่จมดิ่งอยู่กับทุกข์อย่างไม่รู้วันรู้คืนแต่รู้จักสร้างปัญญาให้รู้เท่าทันทุกข์.

    พระมหาทวี มหาปัญโญ (ละลง) ผอ.โครงการหลักสูตรพุทธ ศาสตรดุษฏีบัณฑิต (พธ.ด.)

    -----------------------------

    ธรรมะอินเทรนด์ โดยพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)

    : ของขวัญอันยั่งยืน

    ใครต่อใครก็คงปรารถนาจะมี “ชีวิตที่ดี” แต่ อะไรคือความหมายของการมีชีวิตที่ดี บางทีก็เป็นเรื่องที่ยากจะนิยาม

    ในพุทธศาสนา เรามีวิธีนิยามชีวิตที่ดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การกำหนด “เป้าหมายที่ดี” ให้กับชีวิต เมื่อชีวิตบรรลุถึงเป้าหมายที่ดีนั้นได้แล้ว ก็เท่ากับว่า คน ๆ หนึ่ง ได้บรรลุถึง “ชีวิตที่ดี” แล้ว

    อะไรคือเป้าหมายของชีวิตที่ดีเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีตามแนวพุทธ

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชีวิตที่ดีต้องมีเป้าหมาย อย่างน้อย ๓ ระดับด้วยกัน
    (๑) เป้าหมายของชีวิตที่ดีในปัจจุบัน (ระดับที่เห็นได้ด้วยตา)
    (๒) เป้าหมายของชีวิตที่ดีในอนาคต (ระดับเลยตาเห็น)
    (๓) เป้าหมายของชีวิตที่ดีในขั้นสูงสุด (ระดับการมีชีวิตสมบูรณ์)

    เป้าหมายของชีวิตที่ดีในปัจจุบัน

    องค์ประกอบของการมีชีวิตที่ดีในปัจจุบัน หมายถึง การมีชีวิตที่ดีในระดับที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกทั่ว ๆ ไปในระดับชีวิตประจำวัน และการมีตัวตนอยู่ในสังคม มี ๔ มาตรฐาน คือ

    ๑) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน
    ๒) มีงานมีเงิน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ
    ๓) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
    ๔) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ


    เป้าหมายของชีวิตที่ดีในอนาคต


    องค์ประกอบของการมีชีวิตที่ดีในอนาคต หมายถึง การมีชีวิตที่ดีในระดับที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หากแต่เป็นเรื่องความเจริญงอกงามภายในของจิตใจ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจึงจะรู้ว่ามีความเจริญพัฒนามากน้อยเพียงไร มี ๕ มาตรฐาน คือ
    ๑) มีความอบอุ่นซาบซึ้งใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็งด้วยศรัทธา
    ๒) มีความภูมิใจในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงามด้วยความสุจริต
    ๓) มีความอิ่มใจในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจอันเสียสละ
    ๔) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ด้วยปัญญา
    ๕) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี


    เป้าหมายของชีวิตที่ดีในขั้นสูงสุด

    องค์ประกอบของ การมีชีวิตที่ดีในขั้นสูงสุด หมายถึง การมีชีวิตที่ดีในระดับที่สามารถอยู่ในโลกได้ อย่างมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ มีภูมิคุ้มกันในการเผชิญชีวิตทั้งในยามปกติและในยามวิกฤติได้อย่างสงบและเป็นฝ่ายได้กำไร อยู่เสมอ กระทั่งขั้นสูงสุด คือ การมีชีวิตที่เป็น อิสระจากความทุกข์ทั้งปวงสามารถดำเนินชีวิต ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ มีชีวิตที่สงบสุขอย่างแท้จริง มี ๔ มาตรฐาน คือ

    ๑) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปร ก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง
    ๒) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ
    ๓) สดชื่น เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้
    ๔) รู้เท่าทันและทำการตรงเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใสเป็นอยู่ด้วยปัญญา

    เป้าหมายของชีวิตที่ดีดังกล่าวมานี้ คือ ดัชนีชี้วัดการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคล ใครปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีงามล้ำเลิศ ก็ควรพัฒนาชีวิตตามแนวทางข้างต้นนี้ให้สมบูรณ์ไปทีละขั้น อย่างน้อยที่สุด แม้ยังไม่สามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด ก็ควรยกระดับชีวิตให้มีชีวิตที่ดีงามระดับพื้นฐาน ๔ ประการเบื้องต้นให้สมบูรณ์เสียก่อน จากนั้น จึงค่อย ๆ พัฒนาต่อไปตามลำดับจนกว่าจะถึงขั้นสูงสุดที่สามารถอยู่ในโลกแต่ไม่ถูกโลก “กัด” ได้อย่างรื่นรมย์

    ชีวิตที่ดีนั้น เป็น “ของขวัญ” ที่ไม่มีใครสามารถหยิบยื่นให้เราได้ มีก็แต่ตัวเราเท่านั้นจะที่ต้องหยิบยื่นให้แก่ตัวเองด้วยตัวเองและเพื่อตัวเอง.

    -----------------------------

    สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา

    ตามรูปศัพท์ “ปาฏิหาริย์” แปลได้ว่า “ความหมายพิเศษ” ในพุทธธรรมท่านกล่าวถึงปาฏิหาริย์ ไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ

    1. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหน หายตัว เนรมิตคนเดียวเป็นหลายคน เดินผ่านฝาผนังหรือกำแพงได้ ฯลฯ
    2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการรู้ใจคนหรือการทายใจคนออกว่าคิดอะไร มีความต้องการอย่างไรเป็นต้น
    3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการสอนคนให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม นำผู้ฟังให้ ละความชั่ว ทำความดี มีชีวิตที่ประเสริฐได้จริงในชีวิตนี้

    ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งและอย่างที่สอนนั้น พระพุทธเจ้าทรงรับรอง ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แต่ไม่มีผลข้างเคียงก็คือ ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีซึ่งจะเป็นผลดี แต่ถ้าหากมีเจตนาร้ายนำไปใช้ในทางหลอกลวงคนก็จะก่อผลเสียอย่างมหาศาล เช่นกรณีพระเทวทัตแสดงปาฏิหาริย์ แห่งแคว้นมคธหลงศรัทธายกให้เป็นพระอาจารย์ จากนั้นพระเทวทัตจึงยุให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาต คือ ปลงพระชนม์พระบิดา ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่ พระบิดาเท่านั้นที่สิ้นพระชนม์ พระมารดาก็ตรอมพระทัยสิ้นตามไปด้วยอีกองค์ ต่อมาเท้าเธอเองก็ถูกพระนัดดาปฏิวัติยึดอำนาจ และจากนั้นราชวงศ์นี้ ก็ทำปิตุฆาต (ลูกฆ่าพ่อ) ต่อกันมากกว่า 5 ชั่วคน จนในที่สุดอำมาตย์และประชาชนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาล้มล้างราชวงศ์ แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน

    ส่วนพระเทวทัตเมื่อ “เริงในฤทธิ์” มากขึ้น ๆ ก็ถึงกลับตั้งตัวตนเองขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง แต่แล้วเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้ความจริง ก็ทรง ถอนการอุปถัมภ์ จากนั้นพระเทวทัตจึงล้มป่วย และมรณภาพอย่างสังเวช เพราะถูกแผ่นดินสูบ (ความหมายในการตีความคือ ถูกประชาทัณฑ์จนมรณภาพอย่างน่าสมเพชท่ามกลางฝูงชนที่คั่งแค้น)

    ทั้ง อิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์นั้น จะเก่งแค่ไหน ก็ยังตกอยู่ในอำนาจ ของกิเลส เก่งแสนเก่ง ก็ไม่เก่งไปกว่ากิเลสที่ครอบงำอยู่ดี

    ส่วนปาฏิหาริย์ประการที่สามนั้น พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมากกว่าปาฏิหาริย์ที่แท้ เพราะทำให้คนพ้นทุกข์ได้

    ปาฏิหาริย์ชนิดที่สาม ทุกคนสามารถพัฒนาให้เกิดแก่ตนเองในชีวิตนี้ เพียงแค่พาตนเองสู่ธรรมที่เรียกว่าการ “เจริญ สติ”

    ในโลกนี้จะมีปาฏิหาริย์ใดยิ่งไปกว่าการที่คนธรรมดา ๆ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคนที่พ้นทุกข์ได้เป็นไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ที่สุดแห่งปาฏิหาริย์คือ การมีชีวิตพิชิตความทุกข์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

    ปัญหาของการศึกษาพุทธประวัติไม่ใช่ว่ามีปาฏิหาริย์มากหรือน้อยเกินไปหรอก ปัญหาอยู่ที่ว่า เรามีปัญญามากพอที่จะ “ถอดรหัส” ปาฏิหาริย์เหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก.

    เรียบเรียงจากหนังสือ "โมงยามแห่งความสุข" ว.วชิรเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ กรุงเทพมหานคร


    -------------
    Daily News Online > หน้าบทความ > จิตเหนืออารมณ์ > ดุลยภาพของชีวิต ในมุมมองของพระพุทธศาสนา
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • monk.jpg
      monk.jpg
      ขนาดไฟล์:
      42.7 KB
      เปิดดู:
      388

แชร์หน้านี้

Loading...