"ตุ่มสามโคก"

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย Aqua-ma-rine, 17 กรกฎาคม 2008.

  1. Aqua-ma-rine

    Aqua-ma-rine เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    820
    ค่าพลัง:
    +1,242
    [​IMG]

    วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย

    เหนือฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกแลไกลไปข้างหน้าเป็นคุ้งน้ำกว้างใหญ่ แผ่นดินนี้ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีไว้ใช้กันทุกครัวเรือน

    "ตุ่มสามโคก " ตุ่มดินเผาเนื้อดินสีแดงจากฝีมือชาวรามัญ เมืองสามโคกที่อพยพมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ดังความปรากฏใน " พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส " ความว่า...

    " ลุศักราช ๑๐๒๑ ครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยาสมบูรณ์อยู่เย็นเป็นสุขด้วยบารมีสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ขณะนั้นฝ่ายข้างเมืองอังวะเกิดศึกเพราะจีนฮ่อ ชื่อ อูติงผา พากันอพยพประมาณพันหนึ่งหนีมาพึ่งอยู่ที่เมืองอังวะ ชาวเมืองฮ่อยกทัพตามยังเมืองอังวะ จะให้ส่งตัวฮ่อพันหนึ่งให้พระเจ้าอังวะไม่ส่ง กองทัพฮ่อจึงตั้งล้อมเมืองอังวะไว้

    ฝ่ายนางนันทมิตรผู้เป็นอาพระเจ้าอังวะครองเมืองเมาะตะมะแจ้งเหตุ ดังนั้นจึงเกณฑ์มอญสามสิบสองได้สามพันเศษยกไปตามทาง มอญไม่เต็มใจชวนกันหนีกลับมาเป็นอันมาก

    นางนันทมิตรจับเอามอญที่หนีนั้นใส่ตะรางไว้เพื่อจะคลอกไฟเสีย ฝ่ายสมิงเปอแจ้งดังนั้นก็คิดกันกับพวกเพื่อนสมิงสิบเอ็ดคนคุมไพร่มอญห้าพันยกเข้าเผาเมืองเมะตะมะไหม้ แล้วจับตัวนางนันทมิตรมัดจำไว้ แล้วคิดกันว่าเราจะทำการครั้งนี้ ถ้ารู้ถึงพระเจ้าอังวะก็จะพากันตายเสียสิ้นเราหาที่พึ่งไม่ได้ ครั้งนี้จำจะต้องไปพึ่งกรุงพระนครศรีอยุธยาจึงจะพ้นภัย

    คิดพร้อมกันแล้วคุมกันอพยพครอบครัวประมาณหกพันเศษ พร้อมทั้งตัวนางนันทมิตรรีบหนีเข้ามาบอกให้เสนาบดีนำกราบทูลพระกรุณาทุกประการ จึงทรงพระกรุณาสั่งให้สมิงรามัญเก่าทั้งนายและไพร่ออกไปรับเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี แล้วจัดแจงให้ไปอยู่ที่สามโคก โปรดให้สมิงตัวนายสิบเอ็ดคนเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม โปรดพระราชทานเงินตราผ้าเสื้อเป็นอันมาก "

    ... ชาวมอญที่อพยพเข้ามาได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูให้ตั้งหลักแหล่งอยู่ เป็นพวกริมฝั่งตะวันตกของลำน้ำเจ้าพระยาที่สามโคก ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โปรดให้แต่งตั้งผู้นำชาวมอญปกครองดูแลกันมียศศักดิ์ลดหลั่นกันเช่นพระยาเกียรติ พระยาราม โดยขึ้นอยู่กับพระยาบำเรอภักดี พระยารามัญวงศ์จักรีมอญผู้ควบคุมกองมอญทั้งหมด ชาวมอญมีฐานะเป็นไพร่หลวงเช่นเดียวกับชาวไทยมีหน้าที่เข้าเวรรับราชการตามกำหนดปีละหกเดือน

    ชาวมอญเมืองสามโคกได้ก่อตั้งและบูรณะวัดต่างๆ ในชุมชนได้แก่ วัดสิงห์ วัดสามโคก วัดสระแก วัดแจ้ง วัดป่าฝ้าย และวัดไก่เตี้ย ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อพระพุทธศาสนา ในด้านอาชีพส่วนหนึ่งได้ทำการเกษตร ทำนาทำไร่ และค้าขาย

    ในอีกส่วนหนึ่งเป็นช่างปั้นมาก่อนตั้งแต่อยู่เมืองเมาะตะมะ ได้ก่อตั้งเตาเผาตุ่มขึ้นตามริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดสิงห์ วัดไก่เตี้ย วัดป่าฝ้าย ได้ปั้นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อ ไห กระปุก อ่าง โอ่ง กระโถน กระถาง กระทะ เตา ตุ่ม นำบรรทุกไปขายยังหัวเมืองต่างๆทั่วเมืองไทย

    ตำนานตุ่มสามโคก

    ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลสามโคก ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ......

    " นานมาแล้วมีมอญสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ แมะกะลอย คนน้องชื่อ แมะกะเล็ด ทั้งสองคนเคยมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาสืบมาแต่รามัญประเทศ ได้อพยพหลบภัยมาอยู่ยังแผ่นดินสยามประเทศ อยู่ที่บ้านสามโคก

    ทั้งสองคนได้ช่วยกัน ขุดดินเป็นเนินถมเป็นโคกให้สูงขึ้นพ้นฤดูน้ำหลากสองโคก และได้ก่อเตาเผา หม้อ ไห เตา ตุ่มโคกหนึ่งเป็นของผู้พี่แมะกะลอย โคกสองเป็นของน้องชื่อแมะกะเล็ด กิจการของทั้งสองพี่น้องเจริญรุ่งเรืองมีเรือมารับซื้อรับขายกันมากมาย เพื่อนำไปขายยังหัวเมืองต่างๆ ครอบครัวและหมู่บ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

    ต่อมาแมะกะเล็ดได้ทำตัวเสเพล ไม่ขยันประกอบกิจการ คบคนพาลเป็นมิตร ไม่สนใจประดิษฐ์คิดปั้น และควบคุมการผลิต จนเป็นผลให้ลูกค้าต่างหลีกหนี ไม่นิยมซื้อเครื่องปั้นดินเผา จึงเกิดจิตใจริษยากิจการของพี่ชายที่นับวันแต่จะเจริญยิ่งขึ้น

    คืนหนึ่งแมะกะเล็ดได้รวบรวมสมัครพรรคพวกอันธพาลของตนกลุ่มหนึ่งแล้วลอบเข้าไปเผาทำลายเตาเผาตุ่มของพี่ชายแมะกะลอยพินาศวอดวายสิ้น ผู้เป็นพี่นั้นสุดจะแค้น และเสียใจที่น้องมาทำกับตนดังโจรเข้าปล้นทำลายล้าง ต่างก็ตัดใจได้มิได้คิดอาฆาตร้ายหรือตอบโต้แต่อย่างไร

    กลับคิดมีมานะรวบรวมกันขุดแต่งโคกขึ้นใหม่ให้อยู่ใกล้บ้านตน เพื่อสะดวกในการดูแลและก่อตั้งเตาเผาขึ้นใหม่ เอาใจใส่ประดิษฐ์คิดปั้น มิช้ามินานกิจการก็เจริญรุ่งเรืองกว่าเดิม แมะกะเล็ดผู้น้องผู้มีจิตริษยาและหลงผิดคิดว่าทำลายเตาเผาตุ่มของพี่ชายเสียแล้วกิจการของตนคงเจริญ

    กลับตรงกันข้ามฐานะกลับตกต่ำลง ลูกค้าต่างหลีกหนี ได้รับความยากลำบาก ขาดมิตรคบค้าสมาคมด้วยก็สำนึกผิด คิดขึ้นมาก็ละอายแก่ใจ ในวาระสุดท้ายก็ต้องย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น "

    ตุ่มสามโคก นั้นรู้จักกันทั่วไปมีใช้กันทุกครัวเรือน ใช้เป็นตุ่มน้ำดื่มน้ำใช้ ล้างชาม ล้างเท้า ใส่ข้าวสาร มีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความต้องการ ขนาดใหญ่ปากกว้าง ๓๓-๓๖ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๕-๖๕ ซ.ม. ก้นโอ่ง ๒๙-๓๑ ซ.ม. สูง ๕๕-๖๕ ซ.ม. ขนาดเล็กปากกว้าง ๒๖-๒๙ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางคืน ๓๔-๓๗ ซ.ม. ก้นโอ่ง ๑๘-๒๑ ซ.ม. สูง ๒๖-๓๐ ซ.ม.

    ตุ่มสามโคกนี้ชาวรามัญเรียกว่า " อีเลิ้ง " มีลักษณะเนื้อดินสีแดงเหมือนอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะตุ่มค่อนข้างหนารูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ กลางป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน

    ดังมีสำนวนเปรียบเทียบคนที่มีร่างกายอ้วนท้วมสมบูรณ์ว่า อ้วนเหมือนตุ่มสามโคก ลักษณะพิเศษของตุ่มสามโคกคือเมื่อใส่น้ำไว้ดื่ม จะเก็บรักษาความเย็นของน้ำได้ดี เนื่องจากเนื้อดินเผาไม่เคลือบน้ำยา น้ำจึงซึมซับจับเนื้อดินไว้ดีเก็บความเย็นไว้ได้ดีเหมือนมีตู้เย็นไว้ใช้ในบ้าน

    ชาวรามัญได้ทำการผลิตซื้อขายกันมาตั้งแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ดังความปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิจ พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๓๓ ที่สละราชสมบัติออกบวชแล้วถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้พรรณนาสภาพบ้านเมืองตลาดร้านค้าในกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า ....

    " ถนนย่านสามม้าตั้งแต่ ตภานในไก่กระขัน ออกไปจนถึงหัวมุมพระนครมีชื่อตำบลหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจันอบขนมแห้งจีนต่างต่างหลายชนิดหลายอย่าง แลช่างจีนทำโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้น้อยใหญ่ด้านต่างๆขายต่อไป ช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้แลปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขายขาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างอีเลิ้ง และทำสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย "

    ..... จากข้อความในพงศาวดารที่กล่าวอ้างมานี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนในสมัยอยุธยานั้นใช้ตุ่ม " อีเลิ้ง " ใส่น้ำดื่มน้ำใช้กันทั่วไป มีช่างชาวจีนได้ผลิตถังไม้ใส่น้ำขายแข่งกับอีเลิ้งของชาวรามัญ แต่ไมได้รับความนิยมซึ่งจะเห็นได้จากการใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

    ในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ชาวมอญเมืองสามโคกได้นำอ่าง กระทะ เตา อีเลิ้ง ตุ่มสามโคก ล่องเรือไปขายยังเมืองบางกอก ตามคูคลองต่างๆ ส่งผลให้กลายเป็นหมู่บ้าน ตลาดและคูคลองตามสินค้าที่นำไปขาย เช่น คลองโอ่งอ่าง ตลาดนางเลิ้ง ตั้งแต่สืบนั้นมา

    เวลาร่วมเลยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) " สุนทรภู่ " จินตกวีเอกของไทย ท่านได้บวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดพระเชตุพนและได้ลงเรือล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยาไปอยุธยา มุ่งหมายจะไปวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ หวังจะไปแก้อาถรรพ์เพื่อจะได้ยาอายุวัฒนะมากินให้มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัย ล่องเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยาทั้งแจวทั้งพายมืดไหนนอนนั่น โดยมีลูกชายหนูพัดกับหนูตาบติดตามไปด้วย ผ่านมายังเมืองสามโคก ท่านพรรณนาไว้ว่า

    <TABLE width="58%" align=center border=0><TBODY><TR><TD width="50%">.... " เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา</TD><TD width="50%">ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง </TD></TR><TR><TD>ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด</TD><TD>แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง </TD></TR><TR><TD>ทั้งห่มผ้าตาถี่เหมือนสีรุ้ง</TD><TD>ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน </TD></TR><TR><TD>เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ</TD><TD>เหมือนฟ้าแลบแลพาดแทบขาดศีล </TD></TR><TR><TD>นี่หากเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน</TD><TD>เจียนจะเป็นปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง </TD></TR><TR><TD>ชาวบ้านปั้นอี่เลิ้งใส่เพิงพะ</TD><TD>กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง </TD></TR><TR><TD>เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง</TD><TD>ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ </TD></TR><TR><TD>เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดจ้า</TD><TD>จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน </TD></TR><TR><TD>ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร</TD><TD>คารมมอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมือง " .... </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ท่านสุนทรภู่ได้ระบุภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจากเตาสามโคกที่ผลิตสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย จากสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือ " อีเลิ้ง " ตุ่มสามโคกตุ่มดินเผา ซึ่งเป็นภาชนะบรรจุที่ใหญ่ที่สุดจากเตาแหล่งนี้ และได้ผลิตมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓)

    " นายโมรา " ทหารกรมมหาดเล็กตลกหลวง มีหน้าที่อ่านหนังสือตลกถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาทรงเครื่องใหญ่ได้ตามเสด็จประพาสพระราชวังบางประอิน ทางเรือล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ผ่านเมืองสามโคก ได้แต่งนิราศไว้ความว่า

    <TABLE width="50%" align=center border=0><TBODY><TR><TD>... " หนึ่งโคกเขตชื่อตั้ง</TD><TD>เมืองปทุม </TD></TR><TR><TD>มอญมากกว่าไทยคุม</TD><TD>พวกพ้อง </TD></TR><TR><TD>ทำอิฐโอ่งอ่างชุม</TD><TD>ตาลดก ดงนา </TD></TR><TR><TD>ยลแต่มอญไม่ต้อง</TD><TD>จิตเพ้อเสมอสมร " ... </TD></TR></TBODY></TABLE>


    ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายไปผลิตที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ชาวรามัญที่เกาะเกร็ดได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค

    ลักษณะตุ่มสามโคกที่เกาะเกร็ดนั้นมีการตกแต่งปากและไหล่ของตุ่มเป็นเกลียวเชือก ลายกลีบบัว ลายเครือเถา ลายกนก รูปทรงของตุ่มเพียงสูงขึ้น ป่องกลางน้อยลง เทคนิคการผลิตดีขึ้น สามารถผลิตตุ่มขนาดใหญ่ๆ ได้

    ปัจจุบันนี้หาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตามบ้านเรือนนั้นหาอยู่ได้น้อยมาก คงเหลือตุ่มสามโคก เตาปากเกร็ด

    และจะหมดไปในที่สุดด้วยวิวัฒนาการทางเทคนิคของโอ่งดินเผาเคลือบผิวน้ำหนักเบาของช่างปั้นชาวจีน ซึ่งได้รับความนิยมจนติดตลาดการค้าแทนตุ่มสามโคก "โอ่งมังกร " เมืองราชบุรี ซึ่งชาวมอญเมืองสามโคกรับมาขายสืบต่อแทนตุ่มสามโคกจนถึงปัจจุบัน

    ..............................................................

    ตีพิมพ์ใน ความรู้คือประทีป ฉบับเดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๓๕
     
  2. gatsuja

    gatsuja เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    837
    ค่าพลัง:
    +876
    ที่บ้านผมก็มีครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...