ทิพยอาภา(ห้องสมุดแห่งจักรวาล)-ประสบการณ์ในสมาธิ

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย แว๊ด, 15 ธันวาคม 2008.

  1. แว๊ด

    แว๊ด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    982
    ค่าพลัง:
    +509
    เราไม่ได้ชื่อ ทิพยอาภา

    เราเป็น ทิพยอาภา

    สำเนียงนั้นเป็นระรอกระริ้วกังวานใส ละม้ายใช้ท่อนแก้ววนรอบขอบระฆังเงิน จะก่อให้เกิดเสียงหึ่งเบา ๆ คลี่คลายทยอยไล่ห่างออกไปทุกที จากสั้นแสงสี จะมลังเมลืองสลับสับเปลี่ยน ชมพูกุหลาบ แก่ อ่อน ระรินรวมกับฟ้าแกมม่วง น้ำเงินอัญชัน แล้วเส้นสาย สีเหลืองทองก็จะเจิดจรัสแปมปน

    เสียง แสง สี อันวิจิตรม้วนหมุน

    สีมิใช่มีแค่เจ็ดสี หากแปรเปลี่ยนนับร้อยนับพัน

    อาการหมุนวนนั้นดุจคลี่คลายมิรู้จบ

    เสียงเสนาะนุ่มดุจลมพัดผ่านแพรไหม เริงรื่น

    "นี่แหละทิพยอาภา"

    เรา "คิดว่า" จะชะโงกดูให้ชัด หากพอ "ตั้งใจ" ภาพ ทั้งหมดก็เสมือนเวลากะพริบตาแล้วหายไปทันที โลกกลับเป็นปัจจุบันที่เป็นอยู่ หากเสียงสุดท้ายที่ละลิบราวดังมาจากขอบฟ้าโพ้นละม้ายเตือน

    "จิตเคลื่อน"

    เราถอนใจ กระแสโศกจากอก ทยอยถะถั่งไหลขึ้นสู่ลำคอ ทำให้สะอึกอ้อนอาดูร จากนั้นน้ำตาจะค่อย ๆ ซึม...ซึมเต็มบอกแก้วตาอาลัย

    คลื่นอลังการคลายหายสู่ฟากฟ้า

    การ"เห็น"ทิพยอาภามิใช่ง่ายเลย ใครที่เคยเห็นความเจิดจรัสของแสงเหนือ แสงใต้มาแล้ว นั่นล่ะ พอละม้าย ๆ เป็นแค่ส่วนเสี้ยวแห่งทิพยอาภา

    เราจะพบเมื่อยู่ในภวังจิต

    จิต สงบ สงัด ระงับ

    เมื่อ"สันตติ" คือการเกิด-ดับเป็นช่วง ๆ ยุติ

    "สันติ"จะบังเกิดทันที

    เรา มายาวดี ผู้มี "รูปไม่แน่นอน" ผู้ที่รูปเป็นอนิจจัง ปรับเปลี่ยนไปเสมอ รูปซึ่งมิใช่อะไรเลย นอกจากความเคลื่อนไหวและเผาไหม้ ตัวตนของเรา วันนี้กับเมื่อวาน คนเดียวกันหรือ

    อายุของเราเมื่อวาน กับวันนี้เท่ากันหรือ

    เพียงเราเอ่ยคำ "ปัจจุบัน"...ปัจจุบันก็ลอยหายไปเสียแล้ว เราจึงเป็นมายา เลื่อนไหลไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ในยามสงบ รำงับ เราจะพบตัวเอง นั่งเล่นบนเส้นด้ายขีดคั่นระหว่างความมือและความสว่าง

    "ข้างบนอะไร" เราแหงน สงสัย

    "แล้วข้างล่างล่ะ" เราก้ม สมสัยอีกเช่นกัน

    เรามักจะพักอยู่เงียบ ๆ ระหว่างเส้นขีดคั่นนั้น เป็นการพักจิต ไม่เคยคิดล่วงล้ำ จนพอใจจึงปล่อยจิตให้ปลิวคล้ายขนนกฟ่องฟ้า สู่นิทราอันไม่มีแม้แต่ความฝัน

    ฝันไปใย แม้แต่ฝันก็หลอกลวง

    ขั้นแรก...เรานั่งเล่นบนเส้นด้ายนั้นไม่ไม่นาน จิตจะถอย และหรือแม้การ "ไป"ก็ทำได้ไม่บ่อยนัก หากพยายามทำจนชำนาญ มีสิ่งที่พระท่านสอนว่า

    "ทำบ่อย ๆ เข้า-ออก ให้เชี่ยวชาญ จนมีวสี"

    เราจึงไปได้บ่อยขึ้น แต่พบว่า "อยากไป-ไปไม่ได้ ไม่อยาก-ก็ไปไม่ได้ อยู่เฉย ๆ ไม่สนใจอยากและไม่อยาก-ไปได้

    เรารู้แค่ว่า มันไปของมันเอง ถ้าเราไร้เสียซึ่งจุดหมาย ปลายทาง จิต...กลับรู้จุดหมายของตน

    จิต กำหนดสรรพสิ่ง

    โดยมี "กรรม" เป็นกลไก

    และ "วิบาก" แห่งกรรมนำร่อง

    การพักจิตเริ่มจากแตะแล้วถอย ในตอนต้นจะพิศวงต่อจุดที่ไปถึง "นั่นอะไร"

    จะไม่มีคำตอบ จะงงงัน "มันที่ไหน"

    การคอยหาคำตอบจะเนิ่นนานจนท้อ ต่อมาจึงถอย "ช่างเถอะ จะอะไรก็ช่าง"

    พอเราหมดความสนใจ จิตจะหวนกลับไปสู่ที่หมายของมัน ณ เส้นคั่นแห่งความมืดและความสว่าง เวลาแห่งการพักอยู่ ณ จุดนั้น เราจะเพิ่มขึ้นทีละนิด จน "อยู่" ได้เท่าที่พอใจ จะสุขในความสงบเปลี่ยวเปล่าอ้างว้าง

    สุขแห่งความสงบ

    สุขกว่าการได้ทุกสรรพสิ่ง

    วัตถุจะให้ความสุขอันไม่เคยเติมเต็ม แต่ความสงบให้ความสุขอิ่มเอิบ ซาบซ่านทั้งตัว การได้พัก ณ เส้นของฟ้า จึงเป็นความสุขที่ให้ความปีติ ที่เต็มความหมายแห่งคำ...ปีติสุข

    เราถือว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ "นั่งเล่น" การนั่งเล่นจึงนานขึ้น...นานขึ้น

    ที่มา : ทิพยอาภา โดย มายาวดี (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ธันวาคม 2008
  2. แว๊ด

    แว๊ด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    982
    ค่าพลัง:
    +509
    แล้วความพิศวงก็มาเยือน เสียง...คล้ายระฆังแก้ว พลิ้วแผ่วอยู่ไกล ๆ แสงทองคล้ายฟ้าแลบ จะพุ่งสุดโพ้นเมื่อตั้งใจเพ่งพินิจ...เช่นเคย...จะหาย แม้ตนเองก็ละลิ่วกลับคืน

    "มองได้ อย่าสนใจ"

    เสียงเสนาะดังเป็นระลอก เช่นเราเคาะแก้วเพียงครั้งเดียว แล้วสำเนียงนั้นก็คลายคลี่ห่าง เรา"ลอง" กระทำดังนั้น

    และแล้วแสงทองอำไพเฉิดฉัน พุ่งสูง-ต่ำ สลับเฉกเช่น น้ำพุเริงระบำ การดูนิ่ง ๆ อย่างชื่นชม มิได้ทำให้แสงวิจิตหาย แต่ความอยากเท่านั้นจะทำให้หาย เราเริ่มรู้วิธีดูเล่นเฉย ๆ

    จากสุดขอบฟ้าโพ้น

    แสง สี ค่อยม้วนตัวหมุนวน

    "เวที" เป็นจุดไกล จากนั้นขยายกว้าง หมุนใกล้เข้ามา มิช้า ม่านแห่งสีก็เสมือนครอบคลุม ทุกอณูแห่งบรรยากาศระยิบระยับ หากใครเคยเห็นเพชรต้องแสงสว่าง รุ้งรวง นั่น...เฉกเดียวกัน

    เสียง...กรุ๋ง..กริ๋ง...ตามมา

    คีตาอันไม่เคยบรรเลงในโลกกังวานขึ้น

    จากนั้น สี แสง เสียง สอดบรรสานเป็นหนึ่งเดียว

    ทิพยอาภาอุบัติแล้ว!

    ในความเสนาะ สูง-ต่ำ เสมือนจะ"บอก" อะไรบางประการ หากเอียงโสตสดับ ทิพยคีตาก็จะจางหาย

    "ฟังด้วยจิต"

    ความรู้ในความคิดแวบเข้ามา มิใช่รู้ด้วยสมอง แต่ "รู้" นั้นต่างหากแทรกซึมสู่สมอง เราปล่อยวางอย่างนุ่มนวล อ่อนโยน เสมือนขนนกชิ้นบางที่ปลิวไปในอากาศ บัดนั้นแหละ เราตระหนักในวจนา เราไม่ได้ชื่อทิพยอาภา

    เราเป็นทิพยอาภา

    ความปีติพุ่ง เราจับภาษาแห่งคีตาทิพย์ได้แล้ว

    ทว่าพอสติจางเพราะตั้งใจดูและฟัง ภาพทั้งหมดมลาย เหตุ...จิตเคลื่อน ดังคำเตือน

    ทิพยอาภาทั้งหมด แยกห่างกลายเป็นปัจจุบัน แวบเดียวแท้ที่รับรู้แห่ง "รู้อันกระจ่างแจ้งภายใน" มิใช่รู้จากจำภายนอก แต่เป็นรู้จากจิต ภาวะแห่งจิตเป็นทิพยภาวะ บัดนี้ทิพยภาวะเลือนสิ้น รอยโศกลึกกลางอก ม่านน้ำตาอบอุ่น ล้วนสอนตัวเอง

    ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข

    ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ที่พอใจ เป็นทุกข์

    เมื่อจะดับ ดับที่ใดเล่า?

    รูปแห่งเรายังเป็นมายา ไหลเลื่อน แล้ว"ภาพ" ไยจะคงทน สิ่งอันเป็นทิพยะ จะปรากฏต่อเมื่อเข้าสู่ภาวะ เดียวกัน

    สัตว์โลกนี้จะเห็นโลกนี้

    การจะเห็นโลกอื่นได้

    ต้องน้อมเข้าสู่...สิ่งนั้น

    สิ่งนั้น...จะไม่น้อมเข้ามาหาเรา

    เริ่มใหม่!

    มรรคาใด ๆ ก็ตาม...แรก ๆ จะขรุขระ เต็มไปด้วยขวากหนาม ยากแก่การเดินทาง ทว่าเมื่อเดินกลับไป-กลับมา ทวนทบบ่อย ๆ ขวากหนามจะถูกบดขยี้ ความขรุขระจะราบเรียบเป็นลำดับ วสี...ความชำนาญจะมากขึ้นต่อการเดินทางนั้น

    จิต นำลิ่วไปสู่จุดหมายของมันเอง

    ทิพยอาภาปรากฏขึ้นแล้ว!
     
  3. แว๊ด

    แว๊ด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    982
    ค่าพลัง:
    +509
    เราเสมือนอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้างอันไร้ขอบเขต ไม่มีรูป มีแต่จิตรับรู้ เวทีแห่งแสง สี เสียง เริ่มเปิดฉาก เรา ต้องค่อย ๆ คลาย บางอย่างที่คล้ายเปลือกห่อหุ้มออก เราละม้ายดักแด้ในรังที่กำลังอึดอัด อยากสลัดเปลือกทิ้งเพื่อเป็นผีเสื้อโบยบินสู่ฟ้ากว้าง

    จิต ถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกหยาบเป็นชั้น ๆ

    แม้ในภาวะ...ไร้ร่าง "ร่าง" เปรีบด้วยคุกขังจิต ถึงจิตจะสลัดออกจากร่าง จิตก็ยังหยาบ ละเอียด ประณีต หุ้มเป็นเปลือกซ้อน ๆ กัน จิตแต่ละชั้นจะรู้แค่ภาวะที่เป็นเท่านั้น

    เราอยู่ในจิตอันหยาบ ต้องประคองจิตให้นิ่ง แน่วแน่....เฉกประคองลูกไก่เพิ่งหลุดจากเปลือกไว้ในอุ้งมือ

    คีตาทิพย์บรรเลง รู้...จากภายนอก สอดประสานรู้ของจิต จะว่าเป็นการสนทนาก็มิใช่ จะว่าเป็นการรู้ฝ่ายเดียวก็มิเชิง...เป็นความรู้ แทรกซึมให้ความรู้

    สิ่งไม่เคยรู้ ไม่นึกว่าจะมี ซึมผ่านเข้ามา

    เหมือนน้ำ ซึมทั่วกระดาษซับ

    ทิพยางค์ สดใส ชื่นชม ราวเบิกบานต่อสรรพสิ่งทั้งสิ้นทั้งมวล

    "ถูกทางแล้ว"

    เราสังเกตุเห็น หรือจะเรียกว่า "รู้เห็น" ก็ได้ เพราะ ทั้งสองสิ่งประสานเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าเราสงบ อ่อนโยน ความอลังการแห่งสีจะชัดเจน มลังเมลือง ถ้าจิตไหว สีจะระริกแยกกัน เป็นสีเข้มโดด ๆ ที่แปมปนสีดำ ไร้ความวิจิตร แม้แต่เสียงที่ราวเครื่องดนตรีนับพันชิ้นบรรเลงประสาน ก็จะเริ่มแยกเสียงพร่า หนัก

    ความหยาบ เบา แห่งจิต แยกได้ดังนี้

    ฉะนั้นเมื่อใด สีเริ่มระริกไหว เสียงทุ้ม หนัก เราต้อง กลับมาประคองจิตไว้ก่อน แล้วจึงเข้าไปสู่องค์แห่งความรู้นั้น...ทิพยภาวะเป็นดังที่เป็น

    เราต่างหากจะ "แตะ" ได้หรือไม่

    จิตหยาบจะแตะได้แค่ขอบ

    จิตละเอียดเป็นคลื่นเดียวกัน จึงเข้าสู่ภาวะเดียวกัน

    เราต้องค่อยเคลื่อนเข้าหาอย่างนุ่มนวล ขอบนอกสุดแห่งทิพยอาภานุ่มดุจละอองไหม ซาบซ่านด้วยความหฤหรรษ์ จิตของเราหยาบแข็งเสียนี่กระไร ขณะแตะเชื่อมหากแล้วกระแสบางอย่างจะค่อยระรินซึมเข้ามา ทำให้ความหยาบกระด้างคล้ายกลายเป็นนุ่มนวล ภาพที่เห็นทางจิต ล้วน ๆ

    ที่ แดง จิดจ้า กว่าทับทิม

    ที่ เขียว ยิ่งมรกต เฉิดฉัน

    ที่ เหลือง งามกว่าบุษ-ราคัม

    ที่ ฟ้า ดั่ง ไพลิน น้ำเลื่อมพราย

    สี ที่เคยเห็นทางจักขุ กับสี ที่ "รู้เห็น" ทางจิตแตกต่างกันลิบลับ

    "จิตยิ่งละเอียดเท่าใด ยิ่งจะเห็นคลื่นความละเอียดมากขึ้นเท่านั้น จักขุเองยังเห็นสีแค่เจ็ดสี ความจริงยังมีคลื่นแสงอีกมากมายที่จักขุไม่เห็น ฉะนั้นจงหัด...ดู...ด้วยจิต" ทิพยอาภาให้ความรู้แก่เรา เราเคยชินต่อการ...พูด ทว่าพอจะเปล่งสำเนียง แสง สี จะม้วน เคลื่อนไหว ไร้ระเบียบทันที

    "คลื่นเสียงกับคลื่นจิตแตกต่างกัน"

    ทิพยอาภาเตือนนุ่มนวล และดูเหมือนจะพยายามควบคุมคลื่นให้เข้าระเบียบเดิม

    "หัดใช้จิต ความคิดเป็นคลื่น ดูนี่..."

    ในความเคยชินจาก...มองตรงหน้า ทำให้คิดว่ากำลังมองตรงไป ทั้ง ๆ ยามใช้จิต การ "รู้เห็น" จะรอบหมด ไม่มี ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง บน-ล่าง

    "ตรงหน้า" คือแผ่นสีฟ้าใสปนกุหลาบอ่อน

    ราวกับมองจอภาพอะไรสักอย่าง

    สำเนียงที่ผ่านเข้ามาทางสมองคือ "ลองคิดซิ"

    แน่นอน ความคิดแรกคือ "ท่านเป็นใคร"

    "จอภาพ" มีเส้นสีหม่นมัววิ่งเป็นรอยหยัก

    "คลื่นความคิด" การรู้เห็นมาพร้อมกัน ความเคยชินในภาษาที่เราคุ้นเคยอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการบอก "ความคิดไม่แจ่มใส เพราะดูจากเส้นสายสีมัว"

    เรากำลังได้รับคำอธิบาย หากก็ยังคิด...ทำไมเป็น เช่นนั้น แค่ถาม ท่านเป็นใคร

    "สงสัยอีกแล้ว ความแจ่มใสเป็นอย่างไรนะหรือ ดูแค่ที่จิตเจ้าพอรับได้ จะแสดงให้ดู ในคลื่นแห่งจิตเจ้าเป็นอยู่นะ" คำบอกเล่านุ่มนวล "นี่คือความแจ่มใส"

    เส้นสว่างโรจน์ ยิ่งเหล็กกล้าหลอมละลาย ยิ่งสายวัชระโชติช่วง แวบผ่านไป เราสะดุ้ง และพอจิตไหว ภาพทั้งหมดก็คล้ายจะ "ล้ม"

    "ประคองจิต" คำสั่งนุ่ม ๆ ทำให้ได้สติ สติเท่านั้นที่จะประคองจิตไว้ได้

    "ถูกต้องแล้ว จิตยังหม่น มัว เพราะคิดถึงรูป เมื่อเจ้าคิด...เราเป็นใคร เจ้าคิดแค่รูป รูปเจ้าเองยังเป็นมายา เป็นอนิจจัง ท้ายสุดอนัตตามิใช่หรือ คิดเช่นนี้ไย สรรพสิ่งทั้งหมดจริงแท้ เป็นแค่พลังงานเท่านั้น ต้องหัดคิดใหม่"

    "ทุกสรรพสิ่ง ทุกอย่างเป็นพลังงานหรือ?"

    "ถูกต้อง ทุกสรรพสิ่ง เจ้าจะ "ดู" อะไรล่ะ"

    "ก้อนหิน"

    (มีต่อ....ว่างแล้วจะมาพิมพ์ใหม่)
     
  4. แว๊ด

    แว๊ด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    982
    ค่าพลัง:
    +509
    ตอนที่ 2

    เรามิได้ลองดี เรามิได้แกล้งถาม หากจิตเราหยาบขนาดนั้น ทิพยอาภาจะเลือนหาย เพราะคลื่นอันหยาบ จะแตะความละเอียดประณีตมิได้ เพียงเราพิศวงโดยแท้กับความรู้ใหม่

    สรรพสิ่งทั้งหมดเป็นแค่พลังงาน

    ก้อนหินที่แข็งที่สุดเล่า จะเป็นฉันใด

    "ได้ซิ"

    คำตอบรับง่ายเสียเหลือเกิน แล้วจู่ ๆ "ภาพ" ตรงหน้าก็เกิดขึ้น จะว่างตรงหน้าก็ไม่ถูกนัก ขณะเป็นจิตจะไม่สามารถรู้เลยว่าหน้า-หลังอยู่ด้านไหน แต่ก้อนหินขนาดไม่ใหญ่ ลอยอยู่ในความว่าง เสมือนวัตถุลอยในอวกาศ

    "พิจารณา......"

    เราเพ่งจดจ่อ "ก้อนหิน" แกว่งไกว

    "พิจารณา..." ทิพยอาภาเตือน "พิจารณา คือมอง เฉย ๆ สบาย ๆ เหมือนเวลาหายใจ ถ้าไปกำหนด เพ่ง เข้า-ออก จะเหนื่อย เกร็ง ถ้าหายใจเรียบ ๆ เรื่อย ๆ ปล่อยให้เป็นไป จิตเป็นแค่ผู้ดู ผู้สังเกตุการณ์ พิจารณาความจริงที่เขาเป็นไป จึงสงบ"

    ถูกต้องแล้ว! เมื่อเข้าสู่สมาธิ หาก "เพ่ง" จะเกิดอาการล้ารวดเร็ว ทุกขเวทนาจะเริ่ม เราพบว่าถ้าปล่อยวางทั้งหมดผ่อนคลายตลอดทั้งร่างนั้น ลมหายใจอันเป็นสะพานระหว่างร่างกายกับจิต จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป เราแค่เป็นผู้ดู

    ขั้นแรก ร่างกายจะคลาย นุ่มนวล ไร้อาการเกร็ง

    ต่อมาสมองที่คล้ายเกลียวเชือกขมวดจะโปร่ง สว่าง คุก...ร่างที่คุมขังของจิต จะคลายความบีดรัด

    จิต...จึงเป็นอิสระจากร่าง

    หลักแห่งพิจารณษ คือมองอย่างเป็นจริง ผ่อนคลายสู่ธรรมชาติ เส้นทางนี้เองเป็นมรรคานำเรามาสู่เส้นขีดคั่นแห่งความมืดและความสว่าง

    "ถูกต้อง" จิตอันยังกระด้างของเรา ละม้ายละลายหลอมราวกับการยอมรับนั้น

    "เมื่อจิตเป็นพลังงาน จึงจะรับรู้พลังงานอื่นได้"

    "ก้อนหิน" ลอยโดดเด่นให้เราพิจารณา ก้อนหินที่เราเคยรู้จัก ขรุขระ แข็ว ยากนักที่จะแตกทำลาย แต่เมื่อ พิจารณา...แปลก "ก้อนหิน" มีเส้นสายสอดประสานแน่นหนาเป็นสีมัว ๆ

    "อณูเกาะติดกัน"

    "ก้อนหิน" คือเส้นสายสอดประสานขัดกันคล้ายลายผ้า หากหนาแน่น และมีจุดเกาะติด ราวมีเกาะเกี่ยวกันไว้

    ความรู้ปราดแล่นราวสายฟ้า

    การเกาะเกี่ยวของพลังงาน!

    และ...ดูเหมือน...จะด้วยอะไรก็ตาม เส้นสายที่ยึดเหนี่ยวกันอ่อนล้า หลุดจากกันเป็นช่วง ๆ "ก้อนหิน" แหลกละเอียด เป็นเม็ดทราย ทราย...ย่อยเป็นธุลี ปลิวฟุ้ง

    คีตาอันอ่อนโยน บอกอย่างสงบ สำรวม ราวเคารพต่อคำบอกนั้น "สรรพสิ่งวิบัติ ธรรมมะแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

    เราได้คำตอบ แม้แต่ก้อนหินก็เป็นแค่พลังงาน

    "พิจารณา...ในลม มีดิน ละอองน้ำรวมทั้งอุตุ คือความร้อนในไฟ" เรา...เห็นเปลวไฟตรงหน้า "พิจารณา ต่อไปในเปลวไฟ มีธุลีดิน ละอองน้ำ ลมเป่า ดินเล่า...มีความอุบอุ่น คืออุตุ มีช่องว่างให้ลมแทรก มีน้ำซาบซึม ในพระคงคาก็มีสิ่งเหล่านี้เช่นกัน แม่ธาตุทั้งสี่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แม่ธาตุซึ่งประกอบเป็นรูปในทุกสรรพสิ่งเป็นดังนี้"

    เรา...จะว่ารู้สึกก็มิได้ น่าจะเป็นการรับรู้มากกว่า พลังงานแห่งจิตไหวกระเพื่อม

    "ประคองจิต อย่ากระเพื่อม เคลื่อนตาม การรู้อันเป็นสัจจะ จะทำให้พลังงานแปรเปลี่ยน"

    โอ...เฉกนี้เองที่ "ผู้รู้แจ้ง" กล่าวว่า

    "เมื่อรู้จะระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ โลกธาตุจะหวั่นไหว"

    ทิพยอาภาอ่านความคิดคำนึงเราได้เสมอ

    "พลังงานที่ละเอียดจะเป็นเส้นตรง พุ่งเร็วดุจสายวัชระ นั่นเอง ที่ทำให้ธาตุขันธ์แปรปรวนรุนแรง ตอนนั้นแหละ หากควบคุมธาตุขันธ์ไม่ได้ ผู้สำเร็จจะเข้าสู่มรณกาล การพิจารณาอย่างเดียวจะควบคุมได้"

    "เช่นนั้น ธาตุขันธ์มนุษย์เป็นเช่นไร"

    ทิพยดุริยางค์เริงรื่น "ถูกต้อง ควรพิจารณาตน การเดินตามมรรคาจะเริ่มแล้ว เส้นทางนี้จะอีกยาว ไกล พักจิตเสียก่อน รอ...."
     
  5. แว๊ด

    แว๊ด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    982
    ค่าพลัง:
    +509
    เรารับรู้ถึงกระแสอุ่น-เย็น คือจะอุ่นแบบร้อนก็มิใช่ จะเย็นเช่นหนาวก็มิเชิง เป็นบรรยากาศสบายยิ่ง ค่อยรินเข้ามา แสงยะยิบครอบคลุม เสียงกรุ๋ง-กริ๋ง เป็นท่วงทำนอง ปลิวแผ่วสูง-ต่ำ ครอบคลุม

    "มันตรา..."

    เราได้ยินคล้าย ๆ ดังนั้น จนจับกระแสสูง ๆ ต่ำ ๆ ได้ อ๋อ...มนตรา เสียงสวดมนต์เป็นทำนองล่องลอย เราสะดื้อในอก เป็นความปีติ มนตราทิพย์ไพเราะ มิใช่เช่นมนุษย์ผู้เร่งรีบ หยาบกร้านทางจิต แม้ยามสาธยายมนต์ก็ละลนระรัวเร่งให้จบโดยเร็ว

    กระทำอย่างเป็น "หน้าที่"

    กับกระทำด้วย "จิตศรัทธา" แตกต่างกัน

    เราลอยละล่อง ปลิวคล้ายขนนก สู่นิทราอันสงบในกระแสมันตรา

    เมื่อ "หลับ" มนุษย์หลับจริงหรือ

    จิตบางส่วนยังกระทำหน้าที่ดิ้นรนเปะปะบังคับมิได้

    ในยามที่ว่าหลับ ยังกระเสือกกระสนกระวนกระวายมิสุดสิ้น และเมื่อว่าตื่น ก็จะกลับมาต่อสู้ ดิ้นรนในอีกภาค จนกว่จะได้หลับโดยจิตสงบนั่นแหละ จะรู้ถึงการหลับโดยแท้จริง กระแสสุดท้าย ไกล ๆ ทรงพลัง

    โอม.....

    เราเห็นแสงสีทองเจิดจ้าเป็นเส้นสายแปลก หากเราก็ รู้ นั่นคือแสงแห่งพลังนั้น

    อีกภาคแห่งชีวิตที่ต้องดำรงอยู่ไร้ความหมาย โดยพลัน เราจะต่อสู้ดิ้นรนไปเพื่ออะไร เพื่อให้ คุก คือร่างขังจิตไว้ยาวนานกระนั้นหรือ

    เราจะแบกคฤงคารเป็นภาระหนักหนาต่อไปหรือ เราจะก้มหน้ากระทำ...กระทำ โน่น...นี่...มิสิ้นสุดหรือ

    วันนี้ พรุ่งนี้ กระทำซ้ำซาก เหมือน ๆ กัน

    หัวเราะ เพื่อร้องไห้ พิไร แล้วสรวลสันต์

    มีเพื่อให้หมดพลัน เกิด ดับหมุนตามไป

    นี่ไง คือ "จักร" ที่หมุนวน ทุก ร่าง หลังโกงแบกภาระเดินโซซัดโซเซ แล้วระหว่างเดินก็ยังเอื้อมมืออันละโมบ เก็บ...เก็บ สองข้างทางตวัดบรรทุกไว้บนหลังตัวเอง

    โลภะ จึ่งเป็นกิเลสตัวแรกของมนุษย์

    โทสะ เพราะไม่เคยสมประสงค์ทางใจจึงตามมา

    ท้ายสุด...โมหะ...หลง หลงอันร้ายคือหลงในอัตตา แห่งตน

    เมื่อเรากระวนกระวาย รอ...รอที่จะกลับไปสู่ทิพยอาภา การรอนั้นสูญเปล่าอีก จากกระวนกระวายสู่โศกาอาดูร "คุก" ยิ่งแน่นหนา บีบรัด

    "ปล่อยแล้วแต่จะเป็นไป"

    เมื่อจะ วาง วางที่ใดหรือ ต้อง "วางใจ" เมื่อวาง....จะว่าง คุกแห่งจิตจะค่อยเผยออก เรากลับไปนั่งเล่น ณ ที่เดิม

    "เจ้ารู้จักประตูแห่งจิตแล้ว" คีตาทิพยาปลอบโยน ดุจเราเป็นเด็กน้อยที่ถูกขัง วิ่งวนหาทางออก

    "ต่อไปเจ้าจะรู้จักสวิตช์ ปิด เปิด ในชั่ววิบตา"

    "สวิตช์ รู้จักสวิตช์หรือ" เราประหลาดใจ

    "ความรู้อยู่ในอากาศ" กระแสรื่นเริงยั่วเย้า "เถอะเจ้าช่างสงสัย ต่อ ๆ ไป เจ้าจะรู้เองว่า ทำไมความรู้อยู่ในอากาศ เมื่อใดเจ้าจะเปิดสวิตช์หาความรู้นั้นมาใช้ได้ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มิใช่หรือ วิจิกิจฉา ความสงสัยเป็นศรัตรูสำคัญ ความสงสัยในผู้อื่น กระทั่งความสามารถของตน ต้องหาความเข้าใจ แต่ถ้าเมื่อใดยังสงสัยโดยไร้เหตุผล โดยไม่พยายามทำความเข้าใจ จะไม่มีทางก้าวหน้าทางจิตเลย ณ ที่นี้มีแต่จิต ความบริสุทธิ์แห่งจิตมีเพิ่มมากเท่าใด พลังแห่งจิตจะสูงขึ้นเท่านั้น"

    "เมื่อไม่สงสัยจะหาเหตุผลได้อย่างไร"

    "กลับไปสู่หลักพิจารณา"

    เราพยายามจะ "พิจารณา"ตามคำบอก หากพอพยายาม เราก็รู้สึกเหมือนตัวเองกลับเป็นดักแด้ที่ถูกผูกพันรัด...รัด จนพยายามสะบัด

    เราติดอยู่ในบ่วงนั้น

    แล้วลำแสงสีทองก็แวบขึ้น น้อยนิดดุจละอองแห่งทองคำเปลว จิตเราประหวัดถึงกระแสทรงพลัง

    โอม!

    กระแสสะเทือนระริกไหว แล้วสิ่งร้อยรัดก็พลันคลาย พิจารณา! จิตเราเอง สอนเราเอง

    ปล่อยให้พิจารณาอย่าเพ่ง เพ่งเมื่อใด จะเกร็ง รัดเมื่อนั้น

    เราวาง...ที่ใจ ปล่อยอย่างนุ่มนวล เช่นปล่อยฟองสบู่ฟ่องฟ้า เพราะหากเราสะบัดแรงสักนิด ฟองอันงดงามเคลือบประกายรุ้งร่วงจะพลันสลาย

    "เจ้าได้รู้จัก ฉันทะคือความพอใจ วิริยะคือความเพียร จิตตะคือความเอาใจใส่ และวิมังสา คือการใคร่ครวญแล้ว"
     
  6. แว๊ด

    แว๊ด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    982
    ค่าพลัง:
    +509
    กระแสต่อไปดื่มด่ำ นอบน้อม "เหล่านี้คือ อิทธิบาทสี่ แห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเจ้ารู้แจ้งในธรรมะเหล่านี้เมื่อใด เจ้าจะเริ่มรู้ถึงการ เกิด ดับ ซึ่งจะดำเนินไปรวดเร็วต่อเนื่องเป็นสันตติ ความสั่นสะเทือนแห่งพลังงานจะเพิ่มขึ้น...เพิ่มขึ้น ความหยาบกระด้าง ที่หุ้มจะสลายไป ต่อไปเจ้าจะรู้ความจริงอันสูงสุดของรูปและนาม เจ้าจะได้เห็นการเกิด ดับ ตลอดเวลา และแจ้งถึงความไม่มีตัวตน"

    เราปล่อยให้กระแส "ความรู้ในอากาศ" จากทิพยอาภาชำแรกเข้าสู่จิตเสมือนน้ำทำให้ดินอ่อนตัว ความกระด้างมลายลงอีกวาระ

    "ถูกต้อง เจ้าดำเนินถูกมรรคาแล้ว การเกิด ดับ เป็นปกติ ถ้าเจ้าคิดว่าการเกิดเป็นชีวิต การดับเป็นความตาย สองสิ่งนี้ก็แค่ด้านของกันและกัน เจ้าหมุนอยู่ในจักรนี้มิมีวันสิ้นสุด วันที่เจ้าเกิด ความตายก็อุบัติตามมาและ วันใดที่เจ้าตาย การเกิดก็รออยู่" กระแสเสนาะผ่อนเบา ราวปราณีต่อสรรพสิ่งอันหมุนวนอยู่กระนั้น "มรณวิถี" เป็นสะพานสู่มรณกาล และนำไปสู่จุติ ปฏิสนธิ"

    เมื่อปล่อยจิตให้พิจารณาเองโดยไม่เพ่ง ไม่สงสัย ปล่อยให้จิตพิจารณาด้วยความเป็นอิสระ น่าเแปลก สิ่งที่วาบขึ้นในรู้คิดคือ "รูปและนาม ข้องเกี่ยวอย่างไร เกิดดับ คู่กันอย่างไร"

    คีตาทิพย์กังวาน กระแสงเริงรื่น เป็นคลื่น กระจายไปจนไกลโพ้น แล้กว็เกิดแสงวิจิตรสอดประสานงดงาม คลื่นทิพย์จะประกอบด้วยแสงและสีเสมอ

    "ทิพยภูมิ จะมีกระแสสูงสุด ยินดีอย่างลึกล้ำเมื่อเห็นมนุษย์คนใดคนหนึ่ง เริ่มพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปบนมรณวิถี ตลอดทุกช่วงเวลา ตลอดลมหายใจแห่งมนุษย์ แต่มนุษย์ก็กลัวมรณกาล เจ้าย่างไปบนเส้นทางด้วยตัวสั่นระรัว เจ้า่อยากมีอมตภาพ เจ้าไม่ยอมรับรู้ การตายคือการเกิด มนุษย์คร่ำเคร่งกับการหวาดกลัวตาย จริงแท้ เกิดดับ เป็นสิ่งคู่กัน"

    เรารับกระแสนั้น น้อมรับตาม เปลือกที่หุ้มจิตนุ่มเป็นลำดับ

    "การที่เจ้าจะได้รู้เห็นถึงมรณวิถี..." ทิพยอาภาย้ำ ถึงความรู้ว่าจะเป็นการรู้เห็นไปพร้อมกัน

    "เจ้าต้องเป็นผู้สังเกตุการณ์ที่ดี ไม่หวั่นไหว รู้เห็น โดยวางอุเบกขา ไม่มีอารมณ์ วางเฉยในทุกสถานการณ์ เจ้าจึงจะรู้เห็นทั้งสองด้านได้"

    "เหมือนดูทีวี" พอคิดก็ได้รับคำรับรอง

    "คงอย่างนั้น ถ้าภาพเหล่านั้นเจ้าเรียกทีวี" กระแสมีแววล้อเลียน

    "เจ้าจะได้ดูทีวีของทิพยภพ หากจิตของเจ้าไม่มั่นคง เจ้าจะมิรู้เห็น อารมณ์จึงเข้าไปเกี่ยวข้องมิได้ ไม่เหมือนทีวีของเจ้า" ทิพยอาภาเริ่มให้ความรู้ แต่การปฏิบัติต้องเป็นของเราเอง....

    "มนุษย์ต้องสั่งสอนตนเองได้"

    เราเริ่มลิงโลด แค่เริ่มสิ่งรอบตัวก็แกว่งไกว เราพยายามสะกด หากแสงเริ่มเข้มข้น

    "อุเบกขาคือ รู้เห็น แล้วนิ่ง ขันติคือการกดเอาไว้ การกดเป็นการข่ม กลั้น เกร็ง"

    บททดสอบบทนี้ยากเย็น เราค่อยผ่อนคลายอีกวาระ

    "ธรรมชาติของจิต ความจริงนุ่มนวล อ่อนโยน อารมณ์ กิเลส ตัณหา ต่างหาก ไปทำให้จิตหยาบ กระด้าง จงกลับสู่ธรรมชาติของจิต"

    หากมี "ร่าง" การสูดลมหายใจอาจเป็นการผ่อนคลาย การระบายลมหายใจออกจะทำให้สงบ

    การไม่มีรูป มีแต่จิต ยากเย็นที่จะสงบ คลาย

    หากเมื่อกระทำได้ ความสงบจะลึกล้ำกว่าความสงบที่เคยรู้จัก

    ทิพยอาภาสัมผัสเราด้วยจิต จิตจึงถึงจิต รับรู้จิตได้ อย่างถ่องแท้ เป็นจริง ไม่สามารถเสแสร้งได้

    "ถูกต้อง"

    แม้คำยอมรับนั้น เราก็ต้องสงบ วางเฉย ยินดียังมิได้

    "เจ้าจะได้รู้เห็น รูปนาม มรณวิถี และมรณกาลของมนุษย์ อันเป็นธรรมะสูงสุดแห่งพระพุทธองค์"

    (มีต่อ.....การทิ้งภาวนา เพื่อเข้าสู่ความว่าง)

    ไปหาซื้ออ่านเอา ขี้เกียจพิมพ์แล้ว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ธันวาคม 2008
  7. pinkdemon

    pinkdemon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    1,606
    ค่าพลัง:
    +157
    ยืนยันด้วยคนค่ะ บทความข้างบนทั้งหมดนี้มาจาก หนังสือ เรื่อง ทิพยอาภา (คัมภีร์มรณะ) ของ มายาวดี (อีกนามปากกาหนึ่งของป้าทมยันตีค่ะ)
     
  8. walaphako

    walaphako ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    1,165
    ค่าพลัง:
    +1,599
    อนุโมทนาสาธุค่ะ ได้อ่านจากในหนังสือขวัญเรือนมาแล้วรอบนึง ชอบอ่านค่ะ
     
  9. อำพัน

    อำพัน สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    10
    ค่าพลัง:
    +4
    ขอบคุณค่ะ ที่พิมพ์ให้อ่าน
    กำลังอยากได้หนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกันค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...