นางแก้วคู่บารมี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 31 พฤษภาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    [​IMG]


    ตอนที่ 1 ( คำปรารภ )

    ในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้าในปัจจุบันกาลนั้น พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญบารมีที่เรียกว่า พุทธการกธรรม มานานแสนนาน โดยใช้เวลาถึง ๒๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป ในช่วงแรกนั้นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญพุทธบารมีมาอย่างโดดเดี่ยว จนเมื่อบารมีสะสมเพิ่มพูนเข้าเขตปรมัตถบารมี คือ ในช่วง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปสุดท้าย จึงเริ่มมีผู้บำเพ็ญบารมีตามเพื่อเป็นอัครสาวก อัครสาวิกา และพระสาวกผู้เป็นเอตทัคคะด้านต่างๆ

    ในบรรดาผู้อธิษฐานสร้างบารมีติดตามพระโพธิสัตว์มานั้น มีบุคคลสำคัญยิ่งคนหนึ่งที่ติดตามร่วมสร้างบารมีมาด้วยกันอย่างนานแสนนาน อาจจะนานยิ่งกว่าพระสาวกองค์ใดๆ เป็นบุคคลผู้มีจิตเมตตา มีความเสียสละ ไม่แพ้พระโพธิสัตว์ เป็นคู่ครอง และเป็นคู่บุญบารมีร่วมกันข้ามภพข้ามชาติโดยไม่มีจิตคิดทอดทิ้งกัน

    ในหลายพันโกฏิกัปที่พระโพธิสัตว์เกิดมาเป็นคนยากจน คู่บารมีของพระองค์ก็จะเกิดมาเป็นหญิงยากจน มีศีล มีจาคะ และมีปัญญาเสมอกัน เป็นคู่ครองที่มีความรักและความเข้าใจกันเป็นอย่างดี

    และในหลายร้อยชาติ ที่พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพระเจ้าบรมจักรพรรดิ มีเดชาฤทธิ์ปกแผ่ครอบคลุมมหาทวีปทั้งสี่ มีรัตนะ ๗ ประการคู่บารมีบรมโพธิสมภาร เมื่อนั้นคู่บารมีของพระองค์ก็จะบังเกิดเป็นอัครมเหสี เป็นอิตถีรัตนะ เป็นนางแก้วคู่บารมีแห่งพระองค์

    หนังสือ "นางแก้วคู่บารมี" นี้ ได้รวบรวมอดีตชาติของนางแก้วคู่บารมีของพระโพธิสัตว์ที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งชาวพุทธรู้จักกันดีในนาม พระนางพิมพา หรือพระนางยโสธรา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ เรื่องราวทั้งหลายได้เริ่มร้อยเรียงตั้งแต่ครั้งที่พระนางพิมพาเริ่มตั้งความปรารถนาในอดีตกาลอันแสนไกล และความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้นั้น ก็ได้ร้อยรัดให้นางแก้วและพระโพธิสัตว์ได้เกิดมาสร้างสมบุญบารมีร่วมกัน ได้เกิดมาพบกัน เป็นคู่ครองกันในเกือบทุกชาติที่ได้เกิดมา จนมาถึงชาติอันเป็นที่สุด
    เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือนี้รวบรวมมาจากชาดกต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และอรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากชื่อชาดกที่ได้อ้างอิงไว้แล้วในแต่ละเรื่อง ส่วนบางเรื่องที่ปรากฎในคัมภีร์อื่นว่าเป็นอดีตชาติของนางแก้ว แต่ไม่มีปรากฏในอรรถกถา ๒ ฉบับดังกล่าว เช่น เรื่องพระสุธนกับนางมโนราห์ในสุธนชาดก เป็นต้น ได้ละไว้ไม่ขอนำมากล่าวถึง

    คุณความดีทั้งหลายที่อาจเกิดจากการรวบรวมหนังสือเล่มนี้ ขอมอบให้แก่ "นางแก้ว" ผู้มีจิตเสมอกัน มีกุศลกรรมเสมอกัน มีความมั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นที่รักของบุญกรรม เป็นคู่บุญบารมีของพระโพธิสัตว์ทุกคน

    ขอขอบคุณสตรีผู้มีจิตบริสุทธิ์เสมอนางแก้ว ผู้ซึ่งปรารภให้เริ่มลงมือเขียน และขอบคุณเทวีผู้ปรากฏในนิมิตให้เขียนหนังสือเล่มนี้ต่อจนจบ


    http://bannpeeploy.exteen.com/20080130/entry
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 2 ( พระนางพิมพา /นางแก้วคู่บารมี )

    พระนางพิมพา เป็นพระนามของชายาเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาได้เสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสมณโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนางเป็นที่รู้จักในหลายพระนาม คือ ยโสธรา ยโสธราพิมพา ภัททา กัจจานา และภัททากัจจานา

    พระนางพิมพานั้นได้เริ่มต้นติดตามเป็นคู่รักคู่บารมีพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่ครั้งต้น ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปก่อน ได้ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ได้ร่วมสร้างบุญบารมีมากับพระโพธิสัตว์ยาวนานกว่าสตรีอื่น

    บางชาติ พระนางพิมพาก็เกิดมาเป็นเพียงหญิงชาวบ้านฐานะต่ำต้อย แต่บางชาติก็ได้เกิดเป็นนางแก้วชายาของพระบรมจักรพรรดิ แต่ไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะใด ในฐานะที่เป็นคู่บารมี พระนางพิมพาก็ต้องมีความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ คือ ต้องเกิดเป็นหญิงซึ่งถือเป็นอภัพฐานะมาโดยตลอด ต้องเสียสละทรัพย์เพื่อช่วยพระโพธิสัตว์บริจาคทาน ต้องเสียสามีอันเป็นที่พึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์ต้องออกบวช ต้องเสียบุตรธิดา และแม้แต่ต้องเสียชีวิตและร่างกายตนเอง เพื่อให้พระโพธิสัตว์บริจาคเป็นมหาทาน

    ความเสียสละและความทุกข์ยากทั้งปวงของพระนางพิมพา ได้เปิดเผยออกมาจากวาจาของพระนางเอง เมื่อพระนางในเพศพระอรหันต์ได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้าเสด็จเข้านิพพาน ว่า

    "...ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าเมื่อหม่อมฉันท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร หากมีความพลั้งพลาดใดในพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด ...

    ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันชื่อ ยโสธรา เป็นปชาบดีของพระองค์
    ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันเมื่ออยู่ในพระราชวังของพระองค์ ได้เป็นประธานใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ และอาจารสมบัติ นารีทั้งมวลเคารพหม่อมฉันเหมือนพวกมนุษย์เคารพเทวดา

    ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉันย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ข้าแต่พระมุนีมหาวีรเจ้าขอพระองค์พึงทรงระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันเถิด

    ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
    ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันงดเว้นอนาจารในสถานที่ไม่ควร แม้ชีวิตก็ยอมสละเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ได้...

    ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันเพื่อให้เป็นภรรยาผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันมิได้เสียใจในเรื่องนั้นเลย

    ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันเพื่ออุปการะหลายพันโกฏิกัป เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันมิได้เสียใจในเรื่องนั้นเลย

    ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันเพื่อประโยชน์เป็นอาหารหลายพันโกฏิกัป หม่อมฉันมิได้เสียใจในเรื่องนั้นเลย หม่อมฉันบริจาคชีวิตหลายพันโกฏิกัป เพื่อให้ประชุมชนพ้นจากภัย ก็ยอมสละชีวิตของหม่อมฉันให้

    ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันย่อมไม่เคยหวงเครื่องประดับและผ้านานาชนิดซึ่งอยู่ที่ตัว เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

    ข้าแต่พระมหามุนี ทรัพย์ ข้าวเปลือก ปัจจัย เครื่องบริจาค บ้าน นิคม ไร่นา บุตร ธิดา ช้าง ม้า โค ทาสี ทาสา มากมายนับไม่ถ้วน พระองค์ทรงบริจาคแล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ พระองค์ทรงตรัสบอกหม่อมฉันว่า เราย่อมให้ทานพวกยาจก เมื่อเราให้ทานอันอุดม เราย่อมไม่เห็นเธอเสียใจ

    ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันยอมรับทุกข์มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วนเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ข้าแต่พระมหามุนีหม่อมฉันได้รับสุขย่อมอนุโมทนา และในคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ เป็นผู้ยินดีแล้วในที่ทุกแห่งเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
    ...
    หม่อมฉันมีอายุ ๗๘ ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัย ถึงความเป็นผู้มีกายเงื้อมลงแล้ว ขอกราบทูลลาพระมหามุนี หม่อมฉันมีวัยแก่ มีชีวิตน้อย จักละพระองค์ไป มีที่พึ่งของตนได้ทำแล้ว มีมรณะใกล้เข้ามาในวัยหลัง

    ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันจักถึงความดับในคืนวันนี้ มิได้มีชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ จักไปสู่นิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นบุรีอันไม่มีความแก่ ความตายและไม่มีภัย
    ...."

    พระนางพิมพาจึงนับว่าเป็นคู่รักยิ่งกว่าคู่รัก เป็นคู่ครองยิ่งกว่าคู่ครอง เป็นเนื้อคู่ยิ่งกว่าเนื้อคู่ เป็นคู่บารมี และเป็นนางแก้วแห่งพระโพธิสัตว์ ที่สมควรยกย่องบูชา
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    [​IMG]


    ตอนที่ 3 ( สุมิตตราพราหมณี /ปฐมจิตอธิษฐาน )
    ย้อนหลังไปในอดีตกาลล่วงมาได้ ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปครั้งนั้น พระนางพิมพาเกิดมาเป็นนางสุมิตตาพราหมณี อาศัยอยู่ในอมรวดีนครอันรุ่งเรือง

    ในครั้งนั้น เป็นพุทธกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระทีปังกร อันเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔ ในมหากัปนั้น และเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔ ใน ๒๘ พระองค์เมื่อนับถึงองค์ปัจจุบัน เมื่อพระทีปังกรตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงเผยแผ่พุทธศาสนาอยู่ที่รัมมกนคร

    ครั้งหนึ่ง ชาวนครอมรวดีได้อัญเชิญเสด็จพระทีปังกรพร้อมพระสาวกขีณาสพ ๔ แสนรูปให้มารับมหาทานในนคร ในวันที่พระทีปังกรพุทธเจ้าจะเสด็จพุทธดำเนินมานั้น มหาชนผู้มีศรัทธาจำนวนมากก็พากันมารอรับเสด็จ ได้ช่วยกันถากถางทางและปรับพื้นที่ขรุขระมีน้ำขังให้ราบเรียบ เพื่อให้พระทีปังกรเสด็จดำเนินได้โดยสะดวก

    นางสุมิตตาพราหมณีผู้มีศรัทธา ก็ได้มารอรับเสด็จพระทีปังกรร่วมกับมหาชน ในมือนางถือดอกบัวมา ๘ กำ เตรียมมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

    ขณะนั้นเอง นางสุมิตตาพราหมณีก็ได้เห็นดาบสผู้ทรงอภิญญารูปหนึ่ง คือ สุเมธดาบส เหาะมาในนภากาศ สุเมธดาบสมองลงมาเห็นมหาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก จึงได้ลงมาสอบถาม เมื่อรู้ว่าพระทีปังกรพุทธเจ้ากำลังจะเสด็จดำเนินมาก็มีศรัทธา ขอร่วมในการปรับถนนด้วย ชาวเมืองเห็นว่าท่านสุเมธดาบสเป็นผู้มีฤทธิ์ จึงได้แบ่งงานบริเวณที่เป็นหลุมเป็นแอ่ง และมีน้ำท่วมขังมาก ให้ท่านดาบส

    สุเมธดาบสมีปิติยินดีเป็นอันมากที่จะได้เฝ้าพระพุทธองค์ จึงดำริว่าหากตนใช้ฤทธิ์ปรับถนน แม้งานจะสำเร็จรวดเร็ว แต่ก็ไม่ชื่นใจ ไม่สมกับศรัทธาที่ตนมี จึงได้อดทนขนดินทรายมาถมหลุมบ่อด้วยแรงกายเช่นสามัญชนทั่วไป

    การกระทำของสุเมธดาบสนี้ สร้างความศรัทธาและความชื่นชมแก่นางสุมิตตาพราหมณีที่เฝ้ามองอยู่ยิ่งนักเมื่อสุเมธดาบสยังปรับพื้นที่ไม่เสร็จดี พระทีปังกรพุทธเจ้า พร้อมพระสาวก ๔ แสนรูปก็เสด็จดำเนินมา สุเมธดาบสเห็นไม่ทันการณ์ เพราะยังมีบ่อที่น้ำท่วมขังอยู่ช่วงตัวหนึ่ง จึงตัดสินใจทอดตัวลงนอนปิดทับแอ่งน้ำนั้น ตั้งใจถวายชีวิตให้พระทีปังกรและพระสาวกเดินไปบนแผ่นหลังของตน

    พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จมายืนอยู่ที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงตรวจสอบดูด้วยพระสัพพัญญุตาญาน ก็รู้ว่าสุเมธดาบสผู้นี้เป็นหน่อเนื้อพระโพธิสัตว์ผู้มีบารมีเต็ม เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ เป็นผู้สร้างสมพุทธการกธรรมมาแล้วถึง ๑๖ อสงไขย สมควรแก่การได้รับลัทธยาเทศได้แล้ว พระองค์จึงได้ทรงประกาศพุทธพยากรณ์ว่า

    "ท่านทั้งหลายจงดูดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้ ดาบสผู้นี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จในที่สุดแห่งสี่อสงไขยกับเศษแสนกัปนับแต่นี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคตม
    ในอัตภาพนั้นของเขา จักมีนครนามว่า กบิลพัสดุ์ เป็นที่อยู่อาศัย พระมารดาทรงพระนามว่ามายา พระบิดาทรงพระนามว่าสุทโธทนะ พระอุปติสสะเป็นอัครสาวก พระโกลิตะเป็นอัครสาวกที่สอง พระอานนท์เป็นพุทธอุปฐาก พระเขมาเถรีเป็นอัครสาวิกา พระอุบลวรรณาเถรีเป็นอัครสาวิกาที่สอง เขามีญาณแก่กล้าแล้วออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรอย่างใหญ่ รับข้าวปายาสที่โคนต้นไทร เสวยที่ฝั่งเเม่น้ำเนรัญชรา ขึ้นสู่โพธิมณฑล และจักตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์"

    ชาวเมืองและเทพเทวดาทั้งหลายในที่นั้น เมื่อได้ฟังพุทธพยากรณ์แล้ว ต่างก็กล่าวสาธุการ สนั่นดังไปทั่วทั้งไตรภูมิ ขณะนั้นเอง นางสุมิตตา ผู้เห็นเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้น ก็เกิดปิติศรัทธาไปกับสุเมธดาบส นางจึงได้แบ่งดอกบัว ๕ กำ ให้สุเมธดาบสใช้บูชาพระพุทธเจ้า ส่วนดอกบัวอีก ๓ กำ นางนำไปถวายพระพุทธเจ้าแทบพระบาทของพุทธองค์ แล้วกล่าววาจาว่า

    "ข้าพระบาทได้แลเห็นท่านดาบสเหาะลงมาจากนภากาศ ช่วยขนดินทรายมาปรับผิวทาง ข้าพระบาทมีความศรัทธาในท่านดาบส เมื่อเห็นท่านดาบสทอดกายเป็นสะพาน ข้าพระบาทยิ่งมีปีติและศรัทธา บัดนี้ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ท่านดาบสว่า จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ข้าพระบาทนี้ยิ่งมีปิติและศรัทธาไปกับท่านดาบสยิ่งนัก ข้าพระบาทขอตั้งความปรารถนา จะเป็นคู่สุข คู่ทุกข์ คู่ยาก ช่วยท่านดาบสสร้างสมบารมีให้สมบูรณ์"

    พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงทรงตรวจสอบ นางสุมิตตาพราหมณี ด้วยพระสัพพัญญุตาญาณ แล้วจึงตรัสวาจาพยากรณ์ว่า "ดูกรฤาษีผู้ใหญ่ อุบาสิกาผู้นี้ จักเป็นผู้มีจิตเสมอกัน มีกุศลกรรมเสมอกัน ทำกุศลร่วมกัน เป็นที่รักของบุญกรรม เพื่อประโยชน์แก่ท่าน น่าดู น่าชม น่ารัก น่าชอบใจยิ่ง มีวาจาอ่อนหวาน จักเป็นธรรมทายาทผู้มีฤทธิ์ของท่าน ความปรารถนาของอุบาสิกานี้จะสำเร็จตามปรารถนา"

    เหล่ามนุษย์และเทพยดาต่างสาธุการดังก้องขึ้นอีกครั้ง แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำดอกไม้ ๘ กำโปรยบูชาสุเมธดาบส ทรงกระทำประทักษินแล้วดำเนินหลีกไป เหล่าพระขีณาสพทั้งสี่แสนก็บูชาพระดาบสด้วยของหอมและพวงดอกไม้ แล้วดำเนินหลีกไป

    เมื่อพระภิกษุสงฆ์เดินไปหมดแล้ว สุเมธดาบสซึ่งบัดนี้ได้เป็นพระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนตามลัทยาเทศนั้นแล้ว ก็ลุกขึ้นนั่งบนกองดอกไม้ พิจารณาตนเองด้วยอภิญญาญาณ ทบทวนพุทธการกธรรมคือบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ที่ได้บำเพ็ญเพียรมา เมื่อพิจารณาครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็บังเกิดแผ่นดินสั่นหวั่นไหว แล้วเหล่าเทพเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุก็ประชุมกัน สักการะด้วยสุคนธมาลัยทิพย์ แล้วกล่าวอำนวยพร

    แล้วสุเมธดาบสก็เหาะกลับไปป่าหิมพานต์ เจริญอภิญญาสมาบัติมิให้เสื่อม เมื่อสิ้นอายุขัยก็ไปอุบัติในพรหมโลก

    ในชาตินี้จึงเป็นชาติสำคัญของพระโพธิสัตว์ และพระนางพิมพาผู้ซึ่งเป็นคู่บารมี เนื่องจากเป็นชาติที่พระโพธิสัตว์ได้รับลัทยาเทศจากพระพุทธเจ้า และพระนางพิมพาก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน นับจากชาตินี้เป็นต้นไป ทั้งสองจึงได้เกิดมาสร้างสมบุญบารมีต่างๆ ร่วมกันตามที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ นับเป็นบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ที่บุคคลทั่วไปทำได้อย่างยากยิ่งนัก
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 4 ( เจ้าหญิงประภาวดี /ด้วยจิตคิดเกลียดชัง)


    ในอดีตกาล พระนางพิมพา ได้เกิดเป็นสตรีผู้เป็นพี่สะใภ้ ส่วนพระโพธิสัตว์เกิดเป็นน้องสามี ทั้งสองอยู่ร่วมบ้านกันเนื่องจากพระโพธิสัตว์นั้นยังไม่มีภริยา

    วันหนึ่ง พี่สะใภ้ทอดขนมที่มีรสชาติอร่อยยิ่งนัก และแจกบริโภคกันจนหมด โดยแบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้ให้น้องสามีที่ไปป่า ขณะนั้น มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาบิณฑบาต พี่สะใภ้จึงนำขนมที่เก็บไว้มาถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า คิดว่าเดี๋ยวค่อยทำให้ใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ทำน้องสามีก็กลับมาจากป่าเสียก่อน พี่สะใภ้จึงบอกกับน้องสามีว่า

    "น้องชายเอ๋ย จงทำจิตใจให้ผ่องใสเถิด ขนมอันเป็นส่วนของน้อง พี่ได้ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว"
    ฝ่ายน้องสามีกลับโกรธว่า

    "เจ้ากินขนมอันเป็นส่วนของเจ้าหมดแล้ว กลับมาเอาขนมอันเป็นส่วนของข้าไปถวายพระ ชิชะแล้วข้าจักกินอะไรเล่า" แล้วเขาก็รีบตามพระปัจเจกพุทธเจ้าไปทวงขนมทอดในบาตรกลับคืนมา

    ฝ่ายพี่สะใภ้ก็รีบไปยังเรือนมารดา ไปเอาเนยใสที่ใหม่และใสสะอาด มีสีคล้ายดอกจำปามาใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าแทนขนมทอดจนเต็มบาตร และเมื่อได้เห็นเนยใสแผ่เป็นรัศมีออกไปนางจึงตั้งความปรารถนาว่า

    "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อใดที่ดิฉันได้ไปเกิดในเบื้องหน้า ขอให้ร่างกายของดิฉันจงปรากฎมีรัศมีเปล่งปลั่ง และมีรูปร่างสดสวยงดงามเป็นอย่างยิ่งเถิดอนึ่ง ขออย่าให้ดิฉันได้อยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันกับคนที่เป็นอสัตบุรุษ ดังน้องผัวของดิฉันคนนี้เลย"

    ฝ่ายน้องสามีเห็นดังนั้น จึงเอาขนมทอดของตนใส่ลงในบาตรที่เต็มด้วยเนยใส แล้วตั้งความปรารถนาว่า

    "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พี่สะใภ้ของข้าพเจ้าคนนี้ แม้จะอยู่ในที่ไกลแสนไกลตั้งร้อยโยชน์ก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้าพึงมีความสามารถไปนำเธอมาเป็นบาทบริจาริกาของข้าพเจ้าให้จงได้เถิด"

    เมื่อละอัตภาพจากชาตินั้นแล้ว พี่สะไภ้และน้องสามีต่างก็ไปตามกรรม

    กาลเวลาล่วงมาถึงสมัยหนึ่ง ณ นครกุสาวดี แคว้นมัลละ มีพระราชาปกครองทรงพระนามว่า พระเจ้าโอกกากราช มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สีลวดี และมีสนมนางในแวดล้อมอีก ๑๖,๐๐๐ นางพระนางสีลวดีกับพระสนมทั้งหมด ไม่มีผู้ใดเลยที่ให้กำเนิดราชโอรสหรือราชธิดาแก่พระราชา ชาวเมืองทั้งหลายจึงมาร้องเรียนพระราชา ขอให้พระองค์ทรงปล่อยพระสนมทั้งหมดไปเป็นนางฟ้อนโดยธรรม ๗ วัน เผื่อว่าพระสนมจะได้มีบุตร ซึ่งพระราชาก็ทรงยอมกระทำตามคำของชาวเมือง แต่ก็ไม่มีพระสนมคนใดให้บุตรแก่พระองค์เลย
    ชาวเมืองจึงกราบทูลว่า เพราะนางเหล่านั้นไม่มีบุญจึงไม่มีบุตร แต่พระอัครมเหสีสีลวดีนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ขอให้พระราชาปล่อยพระนางไปเป็นนางฟ้อน คงจะได้พระโอรสเป็นแน่แท้

    พระราชาจึงรับสั่งให้ตีกลองร้องเป่า ประกาศว่าพระราชาจะทรงปล่อยพระนางเจ้าสีลวดีให้เป็นนางฟ้อนโดยธรรมเพื่อให้ได้บุตร บรรดาผู้ชายทั้งหลายจึงมาประชุมกันเนืองแน่น

    ด้วยเดชะแห่งศีลของพระนางสีลวดี พิภพของท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการร้อน ท้าวสักกะทรงทราบเหตุจึงแปลงกายเป็นพราหมณ์แก่ไปรอรับพระนางสีลวดีด้วยเมื่อพระนางสีลวดีเสด็จออกมาหน้าประตูพระนคร ท้าวสักกะก็ใช้อานุภาพไปอยู่ข้างหน้า บดบังชายอื่นเสียหมดสิ้น แล้วจูงมือพระนางสีลวดีไป ฝ่ายพระราชาและชาวเมืองเห็นพระนางสีลวดีไปกับพราหมณ์แก่ ก็เสียใจว่าพราหมณ์นั้นไม่สมควรแก่พระนางเลย

    ท้าวสักกะทรงพาพระนางสีลวดีไปยังวิมานในเทวโลก แล้วตรัสให้พรพระนางข้อหนึ่งตามแต่จะขอ พระนางสีลวดีจึงทูลขอพระโอรส ๑ องค์ ท้าวสักกะตรัสว่าจะให้ ๒ องค์ โดยองค์หนึ่งมีปัญญาแต่รูปไม่งาม กับอีกองค์หนึ่งรูปงามแต่ปัญญาน้อยกว่า พระนางจะเลือกองค์ไหนให้ไปประสูติก่อน พระนางสีลวดีก็เลือกโอรสที่มีปัญญาก่อน

    ท้าวสักกะตรัสให้พรนั้น แล้วทรงประทานสิ่งของ ๕ อย่างแก่พระนาง คือ หญ้าคา ผ้าทิพย์ จันทน์ทิพย์ ดอกปาริฉัตรทิพย์ และพิณ แล้วทรงพาพระนางเหาะกลับไปคืนในห้องบรรทมพระราชา แล้วทรงลูบท้องพระนางให้บังเกิดบุตร
    ฝ่ายพระราชาทรงตื่นจากพระบรรทม ทอดพระเนตรเห็นพระอัครมเหสี จึงตรัสถามความเป็นมา พระนางสีลวดีก็กราบทูลตามความเป็นจริงพร้อมแสดงของ ๕ อย่างนั้น พระราชาจึงทรงเชื่อต่อมาพระนางสีลวดีก็ประสูติพระราชโอรส ๒ องค์ พระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นพระราชโอรสองค์โตมีนามว่า กุสติณ ส่วนองค์เล็กมีนามว่า ชยัมบดี

    กุสติณราชกุมารนั้น เมื่อเจริญวัยขึ้นก็มีปัญญามาก ทรงสำเร็จในศิลปศาสตร์ทั้งหมดได้ด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง แต่พระองค์นั้นรูปไม่งาม ด้วยอกุศลกรรมจากชาติที่ไปทวงขนมคืนจากในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า
    เมื่อกุสติณราชกุมารอายุได้ ๑๖ ชันษา พระราชบิดาจะมอบราชสมบัติพร้อมจัดหาพระชายาและพระสนมให้ แต่กุสติณกุมารดำริว่าตนเองรูปไม่สวย แม้ได้พระธิดาที่สวยไปด้วยรูปมาเป็นชายา นางก็คงจะหนีไป พระองค์จึงทรงปฏิเสธพระราชบิดาและพระราชมารดาไปถึง ๓ ครั้ง

    ต่อมาครั้งที่ ๔ กุสติณกุมารคิดว่าไม่สมควรที่จะปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผล พระองค์จึงได้นำทองคำมาปั้นเป็นรูปหญิงสาว ด้วยอำนาจบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ ทองคำนั้นก็เป็นรูปหญิงสาวสวยงามปานเทพอัปสรในสรวงสวรรค์ มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งมีชีวิตจริง จนแม้แต่ช่างทองยังเข้าใจผิดว่าเป็นเทพธิดาจริงๆ

    กุสติณกุมารให้ช่างทองนำรูปทองไปถวายพระราชา และทูลว่าพระองค์จะครองเรือนและรับราชสมบัติ หากได้อภิเษกกับหญิงงามเสมอรูปปั้นนี้

    พระราชาจึงให้อำมาตย์นำรูปทองแห่ไปตามเมืองต่างๆ เพื่อเสาะหาหญิงสาวที่งามเสมอรูปทองนั้นอำมาตย์พร้อมขบวนบริวารจึงนำรูปปั้นทองขึ้นตั้งไว้บนยาน แล้วเที่ยวเสาะหาไปทั่วชมพูทวีป โดยเมื่อขบวนมาถึงที่ที่มหาชนชุมนุมกัน ก็จะปล่อยยานนั้นไว้ และคอยฟังมหาชนว่าเขาจะพูดอย่างไรเกี่ยวกับรูปปั้นนั้น
    ฝ่ายมหาชนทั้งหลาย ครั้นมองดูรูปทองนั้น คิดว่าเป็นหญิงจริงๆ จึงพากันชมเชยว่า หญิงผู้นี้งามประดุจเทพอัปสร นางมาจากไหนกัน เหตุใดจึงมายืนอยู่ในที่นี้ หญิงงามปานเทพธิดานี้ในเมืองเราไม่เคยมี เมื่อได้ยินว่าเมืองนี้ไม่มีหญิงใดงามเท่ารูปทอง อำมาตย์ก็จะเคลื่อนขบวนไปเมืองอื่น

    จนกระทั่งไปถึงเมืองสาคละ แคว้นมัททะในครั้งนั้น พระนางพิมพา ได้มาเกิดเป็นพระราชธิดาองค์โตในจำนวนราชธิดา ๘ พระองค์ของพระเจ้ามัททราช มีนามว่า เจ้าหญิงประภาวดี พระราชธิดาของพระเจ้ามัททราชนั้น แต่ละองค์มีรูปโฉมงดงามเปรียบประดุจนางฟ้า แต่พระธิดาประภาวดีนั้นทรงมีความงามเลิศกว่าพระธิดาองค์ใด เพราะพระนางมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระสรีระ คล้ายแสงดวงอาทิตย์อ่อน ด้วยกุศลกรรมจากการใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยเนยใส

    วันหนึ่ง พระนางประภาวดีตรัสสั่งให้นางทาสี ๘ คน ไปตักน้ำมาสำหรับสรงสนาน โดยมีพระพี่เลี้ยงคนหนึ่งที่เป็นหญิงค่อมตามออกมาดูที่ท่าน้ำ นางพี่เลี้ยงมองไปเห็นรูปทองคำที่ตั้งอยู่ริมทาง เข้าใจว่าเป็นพระนางประภาวดี จึงเข้าไปหา กราบทูลว่าพระธิดาใช้นางทาสีมาตักน้ำ แล้วเหตุใดจึงมายืนดักอยู่ที่นี้ ถ้าพระราชาทรงทราบพวกนางจะเดือดร้อน พูดแล้วก็เอามือแตะรูปนั้นจึงได้รู้ว่าเป็นทอง ไม่ใช่พระราชธิดา

    ฝ่ายอำมาตย์ที่ยืนสังเกตการณ์อยู่ เข้ามาสอบถามนางพี่เลี้ยงค่อมจนรู้ความ จึงนำรูปทองนั้นและเครื่องราชบรรณาการทั้งหลายเข้าไปถวายพระเจ้ามัททราช กราบทูลว่า พระเจ้าโอกกากราชประสงค์จะสู่ขอพระนางประภาวดีให้แก่พระโอรสองค์โต และจะมอบราชสมบัติให้พระโอรสนั้น

    พระเจ้ามัททราชก็ทรงรับด้วยความยินดี พระเจ้าโอกกากราชและพระนางสีลวดีจึงเสด็จมารับพระนางประภาวดีกลับนครกุสาวดีด้วยพระองค์เอง พระนางสีลวดีนั้น เห็นว่าลูกสะใภ้ของตนมีความงามปานเทพธิดา หากได้แลเห็นพระโอรสกุสติณเต็มตาก็คงรังเกียจ และหนีไป พระนางจึงออกอุบายหลอกพระนางประภาวดีว่า ตามธรรมเนียมของมัททราชสกุล ห้ามพระชายาพบหน้าพระสวามีในเวลากลางวันอย่างเด็ดขาดจนกว่าจะตั้งพระครรภ์เสียก่อน พระนางประภาวดีไม่รู้ก็ทรงรับอุบายนั้นไว้

    แล้วพระเจ้าโอกกากราชก็ทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายกุสติณขึ้นครองราชสมบัติสืบแทน และตั้งพระนางประภาวดีเป็นพระมเหสี โดยทั้งสองต่างยังไม่เคยเห็นหน้ากันในเวลากลางวันเลย เมื่ออยู่ร่วมกันในเวลากลางคืนนั้น รัศมีแห่งพระนางประภาวดีก็ไม่มากพอจะทำให้เห็นพระพักตร์พระสวามีได้

    ผ่านไป ๒-๓ วัน พระเจ้ากุสราชก็อ้อนวอนพระมารดา อยากดูหน้าชายาของตน พระมารดาก็บอกให้รอไปก่อน แต่อ้อนวอนหนักเข้า พระมารดาจึงออกอุบายให้พระเจ้ากุสราชไปรอที่โรงช้าง ทำตัวเหมือนคนเลี้ยงช้าง แล้วพระนางจะพาพระนางประภาวดีเสด็จไป

    ระหว่างเสด็จดูโรงช้าง พระเจ้ากุสราชก็หยิบมูลช้างก้อนหนึ่งขว้างไปที่หลังพระนางประภาวดีเพื่อจะได้ให้นางหันมา พระนางประภาวดีทรงกริ้วเป็นอย่างมาก ทูลพระมารดาให้ลงโทษ ฝ่ายพระมารดาก็ทรงปลอบประโลมให้หายกริ้ว
    ต่อมาพระเจ้ากุสราชอยากเห็นหน้าพระชายาอีก พระมารดาจึงพาพระนางประภาวดีเสด็จดูโรงม้า พระเจ้ากุสราชก็เอามูลม้าขว้างไปเหมือนเดิม พระนางประภาวดีก็ทรงกริ้วใหญ่ แต่พระมารดาก็ทรงปลอบประโลมเหมือนเดิม

    วันต่อมา พระนางประภาวดีทรงใคร่จะได้เห็นหน้าพระสวามีบ้าง จึงทูลบอกแก่พระมารดา แต่พระนางสีลวดีก็บอกให้รอไปก่อน เมื่อรบเร้าหนักเข้า พระมารดาจึงบอกว่าพรุ่งนี้พระเจ้ากุสราชจะเสด็จเลียบพระนคร ให้พระนางประภาวดีไปแอบดูเอาเอง

    วันรุ่งขึ้น พระมารดาก็สั่งให้ พระชยัมบดีอนุชา ทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ ประทับนั่งบนหลังช้าง แล้วให้พระเจ้ากุสราชประทับนั่งบนอาสนะข้างหลัง แล้วทรงพาพระนางประภาวดีไปประทับยืนดูที่สีหบัญชร

    เมื่อพระนางประภาวดีเห็น ก็สำคัญผิดว่าเราได้พระสวามีที่มีความงามสมควรกันแล้ว ก็ทรงมีพระทัยโสมนัส

    ฝ่ายพระเจ้ากุสราช เมื่อทรงทอดพระเนตรขึ้นมาเห็นพระนางประภาวดี พระองค์ก็แสดงอาการยั่วเย้า พระนางประภาวดีไม่พอพระทัย ทูลพระมารดาให้ลงโทษ แต่พระมารดาก็แก้ต่างให้ พระนางประภาวดีจึงเริ่มสงสัยว่านายควาญช้างคนนี้คงจะเป็นพระเจ้ากุสราชเป็นแน่ แต่เพราะพระองค์มีหน้าตาน่าเกลียด จึงไม่ยอมแสดงองค์

    พระนางประภาวดีจึงทรงกระซิบสั่งนางค่อมพี่เลี้ยง ให้ไปคอยดูว่าองค์ไหนคือพระเจ้ากุสราช โดยหากเป็นพระเจ้ากุสราช พระองค์จะต้องเสด็จลงจากหลังช้างก่อน

    นางค่อมก็ตามไปแอบดู จึงรู้ความจริงว่าพระเจ้ากุสราชนั้นคือองค์ที่ประทับด้านหลัง ฝ่ายพระเจ้ากุสราช เมื่อลงจากหลังช้าง มองมาเห็นนางค่อมก็รู้ว่านางมาแอบดูจึงรับสั่งให้เรียกนางค่อมมา แล้วตรัสกำชับห้ามนางบอกเรื่องนี้แก่พระนางประภาวดีอย่างเด็ดขาด นางค่อมนั้นจึงกลับไปทูลพระนางประภาวดีว่า พระเจ้ากุสราชผู้เสด็จประทับอยู่บนอาสนะข้างหน้าเสด็จลงก่อน พระนางประภาวดีก็ทรงเชื่อถ้อยคำของนางค่อมนั้น

    วันต่อมา พระเจ้ากุสราช ประสงค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นหน้าพระชายา จึงทรงทูลอ้อนวอนพระราชมารดา พระมารดาจึงพาพระนางประภาวดีเสด็จไปยังอุทยาน ส่วนพระเจ้ากุสราช ลงไปแอบอยู่ในสระบัว และเอาใบบัวกำบังไว้เมื่อพระนางประภาวดีเห็นสระโบกขรณีอันดารดาษไปด้วยดอกบัวสีสวย จึงเสด็จลงสรงน้ำพร้อมด้วยนางบริจาริกาทั้งหลาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นดอกบัวที่พระเจ้ากุสราชถือซ่อนอยู่ก็อยากได้ จึงทรงเอื้อมพระหัตถ์ออกไปลำดับนั้น พระเจ้ากุสราช จึงทรงเปิดใบบัวออก แล้วคว้าพระนางด้วยพระหัตถ์พลางร้องว่า เราคือพระเจ้ากุสราช พอพระนางประภาวดีได้ทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์ของพระสวามีเต็มตาก็ตกใจ ทรงร้องขึ้นด้วยสำคัญว่าเป็นยักษ์ แล้วทรงถึงวิสัญญีภาพ อยู่ในที่นั้นเอง

    ครั้นพอพระนางประภาวดีรู้สึกพระองค์ก็ทรงเสียพระทัยว่า คนอัปลักษณ์ที่เอามูลช้างขว้างเราที่โรงช้างคือพระเจ้ากุสราช คนอัปลักษณ์ที่เอามูลม้าขว้างเราที่โรงม้าคือพระเจ้ากุสราช คนอัปลักษณ์ที่หยอกล้อเราบนหลังช้างคือพระเจ้ากุสราช คนอัปลักษณ์ที่จับมือเราในกอบัวคือพระเจ้ากุสราช เราไม่ต้องการพระเจ้ากุสราชที่มีพระพักตร์อัปลักษณ์เช่นนี้ เราจะทิ้งพระองค์ไป

    ดำริดังนั้นแล้วจึงตรัสสั่งอำมาตย์ที่ตามเสด็จมากับพระนาง ให้จัดเตรียมพาหนะเสด็จกลับสาคละนคร อำมาตย์เหล่านั้นจึงไปกราบทูลให้พระเจ้ากุสราชทรงทราบพระเจ้ากุสราชทรงดำริว่า หากพระนางไม่ได้กลับ ดวงหทัยของพระนางคงจะแตกเป็นแน่ จึงควรปล่อยให้พระนางกลับไปก่อน แล้วค่อยไปนำพระนางกลับคืนมาภายหลัง ดำริดังนี้แล้วจึงทรงอนุญาตให้พระนางประภาวดีเสด็จกลับไปได้

    แต่เมื่อพระนางประภาวดีเสด็จจากไปแล้ว พระเจ้ากุสราชก็ทรงเศร้าโศกเสียพระทัย เฝ้าแต่รำพึงคิดถึงพระชายา พระองค์ไม่ได้สนพระทัยพระสนมนางอื่นแม้แต่เพียงนางเดียว พระราชนิเวศน์ที่เคยรุ่งเรืองของพระองค์จึงเงียบสงัดวังเวงคล้ายไม่มีใครอยู่ พระเจ้ากุสราชทรงรำพึงว่า บัดนี้ พระนางประภาวดีคงกลับถึงเมืองสาคละแล้ว จึงเสด็จไปเฝ้าพระมารดา กราบทูลว่า พระองค์จะไปตามพระนางประภาวดีที่รักคืนมากราบทูลลาแล้ว พระเจ้ากุสราชก็ทรงเหน็บพระแสงอาวุธ ๕ อย่าง กหาปณะพันหนึ่ง พร้อมทั้งภาชนะพระกระยาหาร และทรงถือพิณเสด็จออกจากพระนคร

    ด้วยพละกำลังของพระองค์ เพียง ๒ วันก็เสด็จถึงเมืองสาคละ พระเจ้ากุสราชได้ถือพิณไปบรรเลงที่โรงช้างต้น พระนางประภาวดีได้ยินเสียงพิณก็รู้ว่าพระเจ้ากุสราชเสด็จมาตาม แต่นางไม่ยอมออกมาพบหน้า พระเจ้ากุสราชดำริว่าวิธีนี้คงไม่ได้ผล พระองค์จึงเอาพิณไปเก็บ

    วันรุ่งขึ้น พระเจ้ากุสราชได้ไปยังบ้านนายช่างหม้อ ขอฝากตัวเป็นศิษย์ และเพียงวันเดียวเท่านั้น ก็ทรงขนเอาดินมาจนเต็มเรือน และทรงปั้นภาชนะเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หลายชนิดหลากสี สำหรับส่วนที่ปั้นให้พระนางประภาวดีโดยเฉพาะนั้น ได้ทรงกระทำให้มีลวดลายเป็นรูปต่างๆ ที่ทำให้พระนางประภาวดีมองเห็นได้แต่เพียงองค์เดียวเท่านั้น เมื่อเผาภาชนะนั้นแล้ว นายช่างหม้อก็นำไปยังราชตระกูล พระเจ้ามัททราชทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสถามว่าใครทำ นายช่างหม้อกราบทูลว่า ศิษย์ของข้าพระองค์ทำ พระราชาจึงตรัสว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นศิษย์ของเจ้า ผู้นั้นจงเป็นอาจารย์ และเจ้าจงศึกษาศิลปะในสำนักของเขาเถิด

    แล้วพระเจ้ามัททราชก็ให้ช่างหม้อนำภาชนะเล็กๆ ไปถวายพระธิดาเมื่อพระนางประภาวดีทรงรับภาชนะที่พระเจ้ากุสราชทำขึ้นโดยเฉพาะ พระนางก็เห็นรูปพระเจ้ากุสราชบนภาชนะ จึงได้ขว้างภาชนะนั้นทิ้งลงบนพื้น พระเจ้ากุสราชทรงดำริว่าหากพระองค์ยังอยู่เรือนช่างปั้นหม้อ ก็จะไม่มีโอกาสพบหน้าพระชายา พระองค์จึงเสด็จไปขอเป็นศิษย์นายช่างสาน แล้วนำใบตาลมาประดิษฐ์เป็นของใช้ให้พระนางประภาวดี

    พระนางประภาวดีก็เห็นรูปพระเจ้ากุสราชอีก จึงทรงกริ้วและขว้างลงบนพื้น รับสั่งว่าใครอยากได้ก็จงเอาไปเถิด

    พระเจ้ากุสราชจึงไปยังสำนักของนายช่างร้อยดอกไม้ ทรงร้อยพวงมาลาที่สวยงามถวายพระนางประภาวดี ก็ถูกพระนางประภาวดีจับขว้างทิ้งลงพื้นอีก

    พระเจ้ากุสราชจึงไปขอทำงานในห้องต้นเครื่องพระราชา พระราชาทรงชอบฝีมือการปรุงอาหาร จึงรับสั่งให้พระเจ้ากุสราชเป็นพ่อครัวทำเครื่องเสวยประจำพระองค์วันรุ่งขึ้น พระเจ้ากุสราชจัดแจงเครื่องเสวยเสร็จแล้ว ก็จัดเครื่องเสวยใส่หาบเสด็จไปยังปราสาทของพระนางประภาวดี

    พระนางประภาวดีไม่ยอมเปิดทวารรับ ทรงตรัสว่านางไม่ปรารถนาผู้มีผิวพรรณชั่วเช่นพระเจ้ากุสราช ขอให้พระองค์เสด็จกับกุสาวดี และไปหานางยักษ์ที่มีรูปชั่วเสมอกันมาเป็นมเหสีเถิดอาหารที่พระเจ้ากุสราชทำมาให้นั้น พระนางประภาวดีไม่ยอมแตะต้องเลย พระนางแลกอาหารนั้นกับอาหารผักต้มของนางค่อม แล้วกำชับไม่ให้นางค่อมบอกใครว่าพระเจ้ากุสราชเสด็จติดตามมาหลายวันผ่านไป พระเจ้ากุสราชทรงอยากรู้ว่าพระนางประภาวดีมีความเสน่หาอาลัยในพระองค์บ้างหรือไม่ เมื่อหาบเครื่องเสวยผ่านหน้าปราสาทของพระนาง พระองค์จึงแกล้งกระทืบบาทเสียงดัง แล้วทำทีเป็นสลบล้มลงอยู่ที่หน้าทวารนั้นเอง

    พระนางประภาวดีได้ยินเสียง เปิดทวารออกมาดู เห็นพระเจ้ากุสราชสิ้นสติอยู่จึงได้เข้าไปช้อนพระเศียรตรวจดูลมหายใจ พระเจ้ากุสราชได้ทีจึงถ่มน้ำลายถูกตัวนาง พระนางประภาวดียิ่งโกรธพระเจ้ากุสราชมากยิ่งขึ้น ทรงด่าว่าพระองค์อย่างรุนแรงแล้วเสด็จกลับเข้าพระตำหนัก แม้พระเจ้ากุสราชจะพูดง้องอนอย่างไรพระนางก็ไม่หายโกรธ

    ฝ่ายนางค่อมก็ช่วยเกลี้ยกล่อมพระนางประภาวดี กราบทูลให้พระนางมองความงามที่ความดีและพระปรีชาสามารถของพระเจ้ากุสราช อย่ามองที่พระรูปโฉมเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

    เวลาผ่านไป ๗ เดือน พระเจ้ากุสราชก็ทรงเบื่อระอาที่ไม่ได้เห็นหน้าพระชายาของตนเลย จึงคิดจะเสด็จกลับกุสาวดี

    ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่าพระเจ้ากุสราชทรงเบื่อระอาพระทัย จึงดำริว่าจะต้องช่วยให้พระองค์สมประสงค์ จึงเนรมิตทูต ๗ คน ส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ ๗ นคร ว่าพระนางประภาวดีทรงละทิ้งพระเจ้ากุสราชกลับมาแล้ว ถ้าพระราชาองค์ใดมีพระประสงค์ในพระนาง ก็จงเสด็จมารับเอาพระนางประภาวดีไปเถิด

    พระราชาทั้ง ๗ นครนั้น ต่างองค์ต่างนำขบวนมารับพระนางประภาวดี เมื่อมาถึงสาคละ ขบวนของพระราชาทั้ง ๗ นครก็ได้มาพบกัน ต่างองค์ต่างโกรธ เข้าใจว่าพระเจ้ามัททราชดูถูกที่ยกราชธิดาองค์เดียวให้กับกษัตริย์ถึง ๗ องค์
    พระราชา ๗ นครจึงพร้อมใจกันยกพลล้อมพระนครสาคละ แล้วส่งสาส์นไปหาพระเจ้ามัททราชว่าจะออกรบหรือจะส่งพระนางประภาวดีออกมา

    พระเจ้ามัททราชเมื่อได้รับสาส์นก็ทรงกริ้วพระธิดา ว่านางมีพระสวามีผู้เป็นเลิศในชมพูทวีปแล้วยังละทิ้งพระองค์มา รังเกียจว่าพระสวามีมีหน้าตาอัปลักษณ์ บัดนี้สมควรแล้วที่จะตัดร่างพระธิดาเป็น ๗ ท่อน แล้วส่งไปให้พระราชาทั้ง ๗ นคร

    พระนางประภาวดีทรงสดับแล้วก็ตกพระทัยกลัว เสด็จไปหาพระมารดากรรแสงไห้คร่ำครวญอยู่พระมารดาจึงเสด็จไปหาพระเจ้ามัททราช แต่พระเจ้ามัททราชก็แจ้งโทษพระธิดาว่า เพราะพระธิดาไม่ทำตามคำของมารดาบิดา ละทิ้งพระสวามีมา ทำให้มีศึกมาติดพระนครเช่นนี้ บัดนี้พระธิดาเป็นผู้ทำให้ตระกูลเสียหาย ก็ต้องแก้ไขด้วยตัวของพระธิดาเอง

    พระมารดาหมดทางช่วยจึงกลับมาหาพระธิดาประภาวดี บอกว่าหากนางไม่หลงมัวเมาในรูปโฉมจนละทิ้งพระเจ้ากุสราชมา วันนี้พระเจ้ากุสราชก็คงจะประทับอยู่ที่นี้และช่วยขับไล่ทัพของกษัตริย์ ๗ นครนี้ไปได้

    พระนางประภาวดีจึงกราบทูลความจริงว่า พระเจ้ากุสราชนั้นประทับอยู่ในนครนี้แล้วถึง ๗ เดือน

    พระมารดาไม่เชื่อ พระนางประภาวดีจึงเปิดบานพระแกล ชี้ให้พระมารดูว่าพระเจ้ากุสราชนั้นปลอมพระองค์เป็นพนักงานต้นเครื่อง ผู้ที่บัดนี้กำลังก้มพระองค์ทำงานล้างหม้ออยู่

    พระมารดาจึงรีบไปกราบทูลพระเจ้ามัททราชให้ทรงทราบ พระเจ้ามัททราชจึงรีบไปหาพระเจ้ากุสราช และรับสั่งให้ตามพระธิดามาขอขมา

    พระเจ้ากุสราชนั้นมีพระประสงค์จะทำลายมานะของพระชายา จึงได้ราดน้ำบนพื้นรอบตัวจนเป็นโคลนไปหมด เมื่อพระนางประภาวดีมาถึง พระนางก็ละทิ้งทิฏฐิมานะหมอบกราบขอขมาโทษบนพื้นโคลนที่แทบพระบาทของพระเจ้ากุสราช กราบทูลวิงวอนให้พระองค์ทรงช่วย และพระนางจะไม่ชิงชังพระองค์อีกแล้ว

    เมื่อพระเจ้ากุสราชทรงเห็นว่าพระชายาทรงละมานะแล้ว จึงตรัสกับพระนางว่า

    "ที่เรา พระเจ้ากุสราช ทิ้งกุสาวดีนครติดตามน้องประภาวดีมาก็เพราะอำนาจแห่งความรัก พี่ทนทำงานหนักไร้เกียรติและยศศักดิ์อยู่ที่นี่ ไม่ใช้กำลังหาญหักทำลายสาคละนครให้ราบและฉุดคร่าน้องกลับคืนไป ก็เพราะความรัก
    ดวงหทัยของพี่ได้มอบความรักให้น้องประภาวดีแล้วทั้งสิ้น พี่จึงไม่เหลือใจไว้โกรธเคืองหรือเกลียดชังน้องเลย ไม่ว่าเรื่องใด และไม่ว่าเวลาใด และพี่จะไม่ยอมให้ผู้ใดมาย่ำยีที่รักของพี่เป็นอันขาด"

    แล้วพระเจ้ากุสราชก็ตรัสสั่งให้ทหารจัดแจงเทียมรถ พระองค์จะเสด็จออกไปจับกษัตริย์ทั้ง ๗ นครนั้นมาให้ได้

    พระเจ้ากุสราชทรงชำระล้างองค์และทรงฉลองพระองค์เสียใหม่ และให้พระเจ้ามัททราชเสด็จดูพระองค์ออกศึกอยู่บนพระราชวัง

    พระเจ้ากุสราชทรงยกทัพออกจากพระนคร ทรงเปล่งพระสุรเสียงประกาศดังก้องไปทั้งชมพูทวีปว่า

    เราคือพระเจ้ากุสราช ใครรักชีวิต ก็จงยอมอ่อนน้อมกับเราเสียเถิด"

    กษัตริย์ ๗ นคร ได้ยินเสียงประกาศของพระเจ้ากุสราช ก็ตกใจกลัว กองทัพแตกกระจายเหมือนฝูงเนื้อแตกหนีราชสีห์

    พระเจ้ากุสราชจับกษัตริย์ทั้ง ๗ นครนั้นได้ ท้าวสักกเทวราชจึงได้ประทานแก้วมณีให้พระองค์ดวงหนึ่ง จากนั้นพระเจ้ากุสราชก็นำตัวกษัตริย์ ๗ นคร มาถวายพระเจ้ามัททราชให้ทรงลงพระอาญา แต่พระเจ้ามัททราชตรัสว่ากษัตริย์ทั้ง ๗ นี้ ไม่ได้เป็นศัตรูของพระองค์ แต่เป็นศัตรูของพระเจ้ากุสราชโดยตรง จึงขอให้พระเจ้ากุสราชตัดสินพระทัยเอง

    พระเจ้ากุสราชจึงกราบทูลขอพระราชธิดาอีก ๗ องค์ของพระเจ้ามัททราชให้แก่กษัตริย์เหล่านั้น ซึ่งพระเจ้ามัททราชก็ตกลงและจัดพิธีอภิเษกสมรสให้

    หลังพิธีอภิเษกสมรสกษัตริย์ ๗ นคร กับพระธิดาทั้งหลายแล้ว พระเจ้ากุสราชก็พาพระนางประภาวดีเสด็จกลับกุสาวดี ทั้งสองพระองค์ทรงประทับนั่งเคียงข้างกันบนราชรถ และด้วยอานุภาพของแก้วมณี พระรูปโฉมของพระเจ้ากุสราชก็หายอัปลักษณ์ แต่กลับงดงามดังเทพบุตรเหมาะสมกับพระสิริโฉมของพระนางประภาวดีผู้เป็นพระชายา

    เมื่อพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีเสด็จกลับถึงกุสาวดีแล้ว ก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองตลอด ๗ วัน แล้วทั้งสองพระองค์ก็ปกครองกุสาวดีให้รุ่งเรืองตลอดมา

    ชยัมบดีอนุชา มาเกิดเป็น พระอานนท์
    นางค่อม มาเกิดเป็น นางขุชชุตตราอุบาสิกา
    พระเจ้ากุสราช มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    พระนางประภาวดี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 5 ( นางสุชาดา /รูปสมบัติเป็นทุกข์ภัย )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาเกิดเป็นหญิงงามชื่อ สุชาดา ส่วนพระโพธิสัตว์เกิดเป็นบุตรชายคหบดี ทั้งสองอยู่ในกรุงพาราณสี นางสุชาดานั้นเป็นหญิงที่งามทั้งกายและใจ ความงามของนางเปรียบได้ดังความงามของเทพอัปสร ท่วงท่าการเยื้องกรายก็งดงามดั่งนางกินนรี กิริยามารยาทงดงามสมเป็นกุลสตรี มีความเอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ มีวาจาน่ารัก และเป็นผู้รักษาศีล นางจึงเป็นที่หมายปองของชายทั้งกรุงพาราณสี

    เมื่อโตเป็นสาว บิดามารดาก็จัดการให้นางสุชาดาแต่งงานกับบุตรชายคหบดี ทั้งสองสามีภรรยาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต่างมีรักเดียวใจเดียว และนางสุชาดาก็ได้ปรนนิบัติบิดามารดาสามีจนเป็นที่รักใคร่ของบิดามารดาของสามีด้วย
    วันหนึ่ง นางสุชาดาบอกสามีว่าอยากจะกลับไปเยี่ยมมารดาบิดา สามีของนางจึงจัดแจงเตรียมของกินของใช้บรรทุกยาน ให้นางสุชาดานั่งข้างหลัง ส่วนตัวเองนั่งหน้า ทำหน้าที่ขับยานพาภริยาไป

    เมื่อเดินทางเข้าไปในกรุงพาราณสี นางสุชาดาก็ลงจากยานมาเดินเท้า วันนั้นพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จออกกระทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนางสุชาดาก็หลงรักรูปโฉมของนาง จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปสืบดูว่านางเป็นใคร มีสามีหรือยัง

    อำมาตย์กลับมากราบทูลพระราชาว่านางสุชาดามีสามีแล้ว สามีของนางคือคนที่ขับยานนั้นพระราชาได้ฟังก็ทรงมีพระหทัยเร่าร้อนด้วยถูกกิเลสตัณหาเข้าแผดเผา คิดหาทางจะฆ่าสามีแล้วยึดเอาภริยาแสนงามนั้นมา ดำริแล้วจึงรับสั่งให้ราชบุรุษแอบเอาปิ่นมณีมีค่าไปซ่อนไว้ในยานของนางสุชาดา

    เมื่อราชบุรุษไปทำตามแผนแล้ว พระราชาก็ประกาศว่าปิ่นมณีของพระองค์หายไป ทรงรับสั่งให้ปิดประตูพระนคร และให้ทหารค้นหาปิ่นมณีที่หายไปให้จงได้เมื่อทหารตรวจมาถึงยานสามีของนางสุชาดาก็พบปิ่นมณีที่ซ่อนไว้ จึงได้จับเขามัดแขนไพล่หลัง นำตัวมาเฝ้าพระราชา พระราชารับสั่งให้โบยด้วยหวาย แล้วเอาตัวไปตัดหัวที่นอกเมือง

    นางสุชาดาเห็นสามีโดนจับก็ทิ้งยาน เดินร้องไห้คร่ำครวญรำพันตามไปข้างหลัง จนถึงนอกเมือง พวกทหารก็จับสามีของนางนอนลงเตรียมตัดศีรษะนางสุชาดาเห็นดังนั้น จึงตั้งสติรำลึกถึงคุณแห่งศีลที่นางได้รักษาไว้เป็นที่ตั้ง แล้วกล่าวรำพันอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า

    "เทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายสมณพราหมณ์ล้วนสรรเสริญว่าท่านเป็นผู้รักษาโลก รักษาคนทำดี บัดนี้สามีคนดีของข้ากำลังจะถูกประหาร พวกท่านไปอยู่กันเสียที่ไหน เหตุใดไม่ออกมาปกปักรักษา เทพเจ้าเจ้าขา...สมณพราหมณ์ทั้งหลายล้วนสรรเสริญว่าท่านเป็นผู้อนุเคราะห์ผู้รักษาศีล บัดนี้สามีผู้มีศีลของข้ากำลังจะถูกคนทุศีลทำร้ายโดยไม่ได้ไต่สวน เหตุใดท่านจึงไม่รักษาเขา"

    คำพร่ำรำพันของนางสุชาดานั้น ส่งผลให้อาสนะของท้าวสักกเทวราชแสดงอาการร้อนขึ้น พระองค์จึงทรงตรวจดู พบว่าพระราชากรุงพาราณสีกำลังกระทำเหตุชั่วช้า ท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จลงจากเทวโลก บันดาลให้ร่างสามีของนางสุชาดากับพระราชานั้นสลับกัน ร่างสามีนางสุชาดาไปอยู่บนคอช้างพระราชา ส่วนร่างพระราชามานอนแทนที่ เพชฌฆาตไม่ทันมองจึงได้ตัดเศียรพระราชาขาด

    แล้วท้าวสักกเทวราชก็ปรากฏพระองค์ขึ้น แต่งตั้งให้สามีเป็นพระราชา และให้นางสุชาดาเป็นพระมเหสี มีเทวโองการให้พระราชาองค์ใหม่ตั้งอยู่ในราชธรรม แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับคืนเทวโลกฝ่ายพวกอำมาตย์ พราหมณ์ และคหบดี เห็นท้าวสักกเทวราชมาแต่งตั้งพระราชาองค์ใหม่ให้ ต่างก็ชื่นชมยินดีกันถ้วนหน้า

    พระเจ้ากรุงพาราณสี มาเกิดเป็น พระเทวทัต
    ท้าวสักกเทวราช มาเกิดเป็น พระอนุรุทธ
    พระราชาสวามี มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    นางสุชาดา มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 6 ( วิสัยหเศรษฐีภริยา /เกี่ยวหญ้าทำทานยามไร้สมบัติ )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาเกิดเป็นภริยา ส่วนพระโพธิสัตว์เกิดเป็นสามี เป็นวิสัยหเศรษฐี
    ทั้งสองเป็นเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นถึง ๘๐ โกฏิ เป็นผู้ประกอบศีล ๕ และมีอัธยาศัยในการให้ทานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สร้างโรงทานไว้ถึง ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ที่กลางพระนคร และที่ประตูบ้านของตน ท่านเศรษฐีและภริยาให้ทานคิดเป็นทรัพย์วันละหกแสนทุกวัน

    อานุภาพของการบริจาคทานของวิสัยหเศรษฐีกับภริยานั้น ทำให้ภพของท้าวสักกเทวราชสั่นไหว บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์แสดงอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงตรวจดูเห็นวิสัยหเศรษฐีทำบุญใหญ่ จึงเกรงไปว่าหากวิสัยหเศรษฐีทำบุญให้ทานเช่นนี้ต่อไป ตำแหน่งองค์อัมรินทราธิราชของพระองค์อาจเคลื่อน แล้วเศรษฐีจะมาเป็นท้าวสักกะแทนพระองค์

    ดำริดังนั้นแล้ว ท้าวสักกเทวราชจึงบันดาลให้ทรัพย์ของเศรษฐีอันตรธานไปสิ้น
    เมื่อทรัพย์ของเศรษฐีหายไปหมด บ่าวไพร่ก็กระจัดกระจายแยกย้ายกันไป วิสัยหเศรษฐีและภริยาจึงช่วยกันค้นหาทรัพย์ที่จะนำมาใช้บริจาคทานต่อไปได้ แต่ค้นเท่าไรก็ไม่พบเจอทรัพย์ที่มีค่า

    เศรษฐีและภริยาช่วยกันค้นหาทรัพย์อีกครั้ง คราวนี้ภริยาเศรษฐีไปพบมัดหญ้าที่คนตัดหญ้าทิ้งไว้ที่ประตู นางจึงเอามัดหญ้านั้นมาให้เศรษฐีดู วิสัยหเศรษฐีเห็นเข้าก็ดีใจ คิดว่านี่แหละคือทรัพย์ที่ใช้บริจาคได้ แล้วเศรษฐีก็ชวนภริยาออกไปเกี่ยวหญ้ามาขาย เอาเงินที่ได้มาบริจาคทาน

    แต่เงินที่ได้จากการขายหญ้านั้นน้อยนัก เมื่อแบ่งส่วนไปให้ทานเสียแล้ว เงินที่เหลืออยู่เป็นค่าอาหารก็ไม่ค่อยจะเต็มอิ่ม วิสัยหเศรษฐีกับภริยาจึงอยู่อย่างอดอยาก พอขึ้นวันที่ ๗ วิสัยหเศรษฐีก็ทนไม่ไหวเป็นลมล้มลง

    ท้าวสักกเทวราชเห็นวิสัยหเศรษฐีเป็นลม จึงมาปรากฏกาย กล่าวเตือนให้เศรษฐีรู้จักประหยัด ยับยั้งการให้ทานลงเสียบ้าง หากเศรษฐีไม่ให้ทานมากเหมือนก่อน พระองค์จะคืนทรัพย์สมบัติให้

    วิสัยหเศรษฐีกล่าวยืนยันว่าแม้ต้องเหนื่อยยากและยากจน ก็จะยังให้ทานต่อไป ท้าวสักกเทวราชจึงถามเศรษฐีว่า

    "ท่านจะทำทานไปเพื่อประโยชน์สิ่งใด การทำทานของท่านทำให้ทรัพย์ของท่านเสื่อมสูญ พบแต่ความลำบาก หรือเพราะท่านต้องการเทวสมบัติของเรา"

    วิสัยเศรษฐีตอบท้าวสักกเทวราชว่า

    "ข้าพเจ้าทำทานนี้มิได้มุ่งหวังมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือพรหมสมบัติ อีกทั้งมิได้หวังจะตำแหน่งท้าวสักกะของท่าน แต่ข้าพเจ้าปรารถนาโพธิญาน ข้าพเจ้าจึงให้ทาน"

    ท้าวสักกเทวราชได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมยินดีในความปรารถนาของเศรษฐี จึงได้บันดาลให้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของเศรษฐีกลับคืนมาดังเดิม
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 7 ( ภริยาช่างหม้อ /หนีสามีออกบวช )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาเกิดมาเป็นภริยาของพระโพธิสัตว์ ผู้มาเกิดเป็นช่างหม้ออยู่ในกรุงพาราณสี ทั้งสองมีบุตร ๑ คน และธิดา ๑ คน
    วันหนึ่งมีพระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ พระองค์เสด็จมาจากเงื้อมเขานันทมูลในป่าหิมพานต์มารับภัตตาหารในนคร นายช่างหม้อจึงนิมนต์ไปถวายภัตตาหารที่เรือนของตน

    นายช่างหม้อได้ทูลถามเหตุแห่งการออกบวช พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นจึงได้แสดงเหตุให้ฟัง

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ เคยเป็นพระราชานามว่า กรกัณฑะ ในทันตปุรนคร วันหนึ่งเสด็จประพาสราชอุทยาน ได้เสวยผลมะม่วงทิพย์ที่หน้าอุทยาน ขากลับเห็นมะม่วงทิพย์ต้นนั้นถูกอำมาตย์และข้าราชบริพารแย่งชิงกันเก็บผล จนกิ่งหักทำลายลง ส่วนต้นอื่นที่ไม่มีผลยังสมบูรณ์ดี พระองค์จึงเห็นโทษของการครองเรือนว่าเหมือนมะม่วงที่มีผล ส่วนการบรรพชาเป็นเช่นต้นมะม่วงที่ไม่มีผล ผู้มีทรัพย์นั่นแหละมีภัย เมื่อเห็นแจ้งทุกข์ภัยตลอดแล้วพระองค์ก็สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าและเสด็จออกบรรพชา

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ เคยเป็นพระราชานามว่า นัคคชิ ในตักกศิลานคร วันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นหญิงนั่งบดของหอมอยู่ นางสวมกำไลข้อมือข้างละอัน กำไลหยกเหล่านั้นไม่กระทบกันจึงไม่เกิดเสียง แต่เมื่อนางถอดกำไลหยกมาสวมข้อมือข้างเดียวกัน กำไลนั้นก็กระทบกันและเกิดเสียงดังขึ้น พระองค์จึงเห็นโทษของการอยู่ครองเรือนว่าต้องมีการกระทบกัน ทะเลาะกัน จึงทรงพิจารณาไตรลักษณ์ แล้วสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าและเสด็จออกบรรพชา

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ เคยเป็นพระราชานามว่า นิมิราช ในมิถิลานคร วันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งคาบชิ้นเนื้อบินไปในอากาศ มีเหยี่ยวตัวอื่นบินไล่จิกตีเพื่อแย่งชิ้นเนื้อ เหยี่ยวตัวนั้นทนไม่ไหวก็ปล่อยชิ้นเนื้อลง พอเหยี่ยวตัวใหม่มาคาบชิ้นเนื้อนั้นต่อไป เหยี่ยวตัวใหม่ก็จะถูกเหยี่ยวตัวอื่นจิกตีเหมือนเหยี่ยวตัวแรก พระองค์จึงเห็นว่าเหยี่ยวตัวใดคาบชิ้นเนื้ออยู่นั่นแหละเป็นทุกข์ แต่ถ้าปล่อยเมื่อไรก็พ้นทุกข์เมื่อนั้น ตัวพระองค์เองมีสนมหมื่นหกพันนาง มีสภาพดังเช่นเหยี่ยวคาบเนื้อ จึงทรงพิจารณาไตรลักษณ์ แล้วสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าและเสด็จออกบรรพชา

    พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ เคยเป็นพระราชานามว่า ทุมมุขะ ในกปิลนคร วันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นวัวตัวผู้เดินตามวัวตัวเมียด้วยกิเลส ครั้งนั้น มีโคถึกตัวใหญ่ เกิดหึงหวงวัวสาว จึงไล่ขวิดวัวหนุ่มที่ติดตามมาจนไส้ทะลักตายไปหลายตัว พระองค์ทรงเห็นอำนาจของตัณหา จึงกำหนดไตรลักษณ์ และสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในที่นั้นและเสด็จออกบรรพชา

    ภริยานายช่างหม้อนั่งฟังธรรมจากพระปัจเจกพุทธเจ้า มีปิติว่าโชคดีที่ได้ฟังธรรม จิตใจของนางน้อมนำไปทางบรรพชา จึงบอกสามีว่านางปรารถนาจะออกบวช ปรารถนาจะพ้นไปจากมือชาย และท่องไปลำพังผู้เดียว

    นายช่างหม้อฟังแล้วก็นิ่งเงียบอยู่ ภริยานายช่างหม้อรู้ว่าสามีคงไม่ยอมให้ตนออกบวชแน่เพราะบุตรธิดานั้นยังเล็ก จึงออกอุบายให้นายช่างหม้อดูแลลูกไว้ก่อน ส่วนตนเองจะไปตักน้ำ

    ภริยาช่างหม้อถือหม้อน้ำทำทีเหมือนเดินไปท่าน้ำแล้วหนีไป แล้วออกบวชเป็นปริพพาชิกาในสำนักของดาบสใกล้นคร

    ฝ่ายนายช่างหม้อรู้ว่าภริยาของตนหนีไปบวชแล้ว ก็อยู่เลี้ยงดูบุตรธิดาจนเติบโตเลี้ยงตัวเองได้ แล้วออกบวชบ้าง

    วันหนึ่ง นางปริพพาชิกาภริยาเก่าได้มาพบกับปริพาชกอดีตนายช่างหม้อกำลังภิกขาจารอยู่ในนครพาราณสี จึงเข้ามาไหว้แล้วถามถึงบุตรธิดาว่ามีใครเลี้ยงดู
    ปริพาชกอดีตนายช่างหม้อตอบว่าบุตรธิดานั้นโตแล้ว อย่าได้เป็นห่วงอีกเลย พวกเราจงบวชต่อไปเถิดหลังจากนั้นทั้งสองก็ต่างไปตามทางเส้นทางธรรมของตน ไม่ได้กลับมาพบกันอีก

    ภริยานายช่างหม้อ มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
    นายช่างหม้อ มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    บุตร มาเกิดเป็น พระราหุล
    ธิดา มาเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 8 ( สัมมิลลหาสินีกุมารี /ทิ้งทรัพย์บวชเป็นดาบสินี )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาไปอุบัติในพรหมโลก ได้เสวยพรหมสมบัติอยู่นานแสนนาน ครั้นจุติแล้วก็ได้มาบังเกิดในตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ อยู่ในแคว้นกาสี มีนามว่า สัมมิลลหาสินีกุมารี
    สัมมิลลหาสินีกุมารี เป็นผู้มีรูปงาม ความงามของนางนั้นเปรียบได้กับนางเทพอัปสร กิริยาอาการก็เรียบร้อยอ่อนช้อย น่ารัก น่าดูชม และเนื่องจากเป็นผู้มาจากพรหมโลก สัมมิลลหาสินีกุมารีจึงเป็นหญิงพรหมจารินี ไม่มีอำนาจกิเลสตัณหาแม้เพียงนิดเจือปนในจิตใจ

    ในกาลครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้จุติจากพรหมโลก มาอุบัติในตระกูลพราหมณ์เศรษฐี ๘๐ โกฏิ แห่งนครพาราณสี เมื่อเจริญวัยขึ้นก็ได้เล่าเรียนศิลปะในสำนักตักศิลาจนจบ บิดามารดาจึงจะจัดการหาคู่ครองให้ แต่บุตรพราหมณ์ไม่ปรารถนาการครองเรือน จึงบ่ายเบี่ยงบิดามารดาเรื่อยมา

    เมื่อถูกบิดามารดารบเร้าบ่อยเข้า บุตรพราหมณ์จึงออกอุบายหลีกเลี่ยงการครองเรือนโดยให้ช่างปั้นทองคำเป็นรูปหญิงงาม บอกบิดามารดาว่าตนเองยินดีจะครองเรือนหากได้หญิงงามเช่นรูปทองนี้เป็นภรรยา

    บิดามารดาจึงให้บริวารยกรูปทองคำนั้นไปเที่ยวค้นหาหญิงงามทั่วชมพูทวีป
    ขบวนแห่รูปทองผ่านมาถึงหน้าเรือนของสัมมิลลหาสินีกุมารี บริวารในเรือนนั้นมองเห็นรูปทองก็พูดถามกันว่า เหตุใด สัมมิลลหาสินี จึงมายืนอยู่ที่นี้

    ขบวนแห่รูปทองได้ยินก็รู้ว่ากุมารีบ้านนี้งามเหมือนรูปทอง จึงได้นำความกลับไปบอกเศรษฐีพาราณสี พราหมณ์เศรษฐีจึงมาสู่ขอสัมมิลลหาสินีไปเป็นสะไภ้ที่เรือนตน

    เมื่อพระโพธิสัตว์บุตรพราหมณ์และนางสัมมิลลหาสินีอยู่ร่วมเตียงในห้องเดียวกัน ทั้งสองก็ไม่เคยแลดูกันด้วยอำนาจกิเลสเลย ทั้งสองอยู่ร่วมกันเหมือนพรหม ๒ องค์ อยู่ในที่เดียวกัน

    กาลเวลาผ่านไป บิดามารดาของพราหมณ์ก็ทำกาลกิริยาตายลง เมื่อทำการฌาปนกิจสรีระของบิดามารดาแล้ว พราหมณ์พระโพธิสัตว์จึงบอกนางสัมมิลลหาสินีภริยาว่า ทรัพย์สมบัติของตระกูลพี่ ๘๐ โกฏิ และทรัพย์ของตระกูลเธออีก ๘๐ โกฏิ พี่ไม่ปรารถนา ขอยกให้เธอทั้งหมด พี่จะออกบวช

    นางสัมมิลลหาสินีกล่าวว่า ข้าแต่พี่ท่าน ดิฉันไม่อาจทิ้งท่านได้ เมื่อท่านออกบวช ดิฉันก็จะออกบวชด้วย

    เมื่อต่างคนต่างประสงค์จะออกบวช ทั้งสองจึงช่วยกันบริจาคทรัพย์เป็นทานจนหมด แล้วออกบวชเป็นดาบสและดาบสินี อาศัยผลหมากรากไม้เป็นอาหารอยู่ในหิมวันตประเทศ

    ดาบสและดาบสินีทั้งสองอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลานาน ต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยวบ้าง จึงออกจากหิมวันตประเทศจาริกเข้ามาในเมืองพาราณสี แล้วเข้าไปอาศัยอยู่ในราชอุทยาน

    เมื่อได้บริโภคอาหารอยู่ในเมืองได้ไม่นาน นางดาบสินีก็เกิดอาพาธลงโลหิต และอาการหนักขึ้นทุกวันเพราะไม่มียามารักษา

    ถึงเวลาออกภิกขาจาร พระดาบสก็ประคองร่างดาบสินีออกจากราชอุทยาน เมื่อถึงประตูพระนคร ดาบสินีก็หมดแรงเดินทางต่อไม่ไหว ท่านดาบสจึงพยุงร่างนางให้นอนพักบนแผ่นกระดานที่ศาลาแห่งหนึ่ง แล้วท่านดาบสก็ปลีกตัวไปภิกขาจาร

    นางดาบสินีนอนทุกข์ทรมานด้วยโรคโลหิตอยู่บนแผ่นกระดานนั้น รอพระดาบสกลับมา แต่ยังไม่ทันที่พระดาบสจะกลับมา นางก็ทำกาลกิริยาตายไปอย่างเดียวดาย

    มหาชนผู้เดินทางผ่านไปมา เห็นดาบสินีรูปงามนอนตายอยู่ริมทาง ก็พากันสงสารและร่ำไห้เสียดายรูปสมบัติที่น่ารักของนาง

    ฝ่ายพระดาบส เมื่อกลับมาเห็นดาบสินีนอนสิ้นใจอยู่ ปลงใจได้ว่าธรรมดาสังขารเป็นของไม่เที่ยง ย่อมมีอันแตกทำลายได้เป็นธรรมดา ดำริดังนี้แล้วจึงนั่งบนแผ่นกระดานแผ่นเดียวกัน แล้วบริโภคอาหาร

    มหาชนที่ยืนห้อมล้อมอยู่เห็นอาการสงบนิ่งของท่านดาบสจึงถามว่า ท่านผู้เจริญ ปริพาชิกานี้เป็นอะไรกับท่าน

    ท่านดาบสตอบว่า เมื่อตอนเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นภริยาของเรา
    มหาชนกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกเราเห็นภริยารูปงามของท่านตายยังพากันเสียใจ อดร่ำไห้ไม่ได้ แต่เหตุใดท่านจึงสงบนิ่งอยู่ได้ ไม่ร้องไห้เศร้าโศกเลย
    ท่านดาบสตอบว่า นางปริพาชิกานี้เมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอย่อมเป็นที่รักของเรา มีเมตตาต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน แต่สังขารนั้นเป็นของไม่เที่ยง อายุสังขารย่อมล่วงไป เสื่อมไป บัดนี้เธอไปสู่ปรโลกแล้ว ความพลัดพรากจากกันเกิดขึ้นแล้วเป็นธรรมดา จึงไม่ควรต้องตามเศร้าโศกถึงกันอีก

    พระดาบสและมหาชนได้ช่วยกันฌาปนกิจสรีระของนางดาบสินี จากนั้น พระดาบสก็เดินทางกลับสู่หิมวันตประเทศ บำเพ็ญฌานและอภิญญาให้บังเกิด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 9 ( จอมนางแห่งพาราณสี / ลวงพระสวามีด้วยผมหงอก )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาได้เกิดมาเป็นยอดสตรี ทรงเป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี พระนางทรงมีพระโอรสองค์หนึ่งนามว่า พรหมทัตราชกุมาร

    พรหมทัตราชกุมารมีพระสหายสนิทนามว่า สุสีมกุมาร บุตรชายของราชปุโรหิตผู้ซึ่งเกิดวันเดียวกัน

    เมื่อพรหมทัตกุมารและสุสีมกุมารเจริญวัยขึ้น ต่างก็ได้ไปเล่าเรียนศิลปะศาสตร์ที่เมืองตักกสิลาด้วยกัน สำเร็จแล้วก็กลับมารับราชการในกรุงพาราณสี
    เมื่อพระเจ้าพาราณสีสิ้นพระชนม์ พระราชบุตรก็ขึ้นครองเมืองเป็นพระเจ้าพรหมทัต และตั้งให้สุสีมะเป็นราชปุโรหิต

    วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตทรงเสด็จประทักษิณพระนคร โดยมีสุสีมะปุโรหิตนั่งบนหลังช้างไปด้วย

    ฝ่ายพระราชชนนีประทับดูพระเจ้าพรหมทัตอยู่ที่ช่องพระแกล เมื่อทอดพระเนตรเห็นสุสีมะปุโรหิตก็ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์ จึงเสด็จเข้าห้องบรรทม ทรงงดพระกระยาหาร ตรอมพระทัยด้วยความเสน่หาในราชปุโรหิต

    พระเจ้าพรหมทัตทรงสดับว่าพระราชมารดาประชวรจึงเสด็จไปเยี่ยม แต่เมื่อตรัสถามอาการ พระราชมารดาก็ไม่ทรงตอบเพราะความละอาย พระเจ้าพรหมทัตจึงให้มเหสีของพระองค์เป็นผู้ทูลถามพระอาการ

    มเหสีพระเจ้าพรหมทัตไปเอาใจซักถามอาการพระราชมารดา ในที่สุดพระราชมารดาก็เปิดเผยเรื่องที่ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์สุสิมะปุโรหิตให้ฟัง

    เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ พระองค์จึงมาเข้าเฝ้าพระราชมารดา กราบทูลว่าไม่ต้องกังวลพระทัย พระองค์จะตั้งสุสิมะปุโรหิตให้ครองเมือง และตั้งพระราชมารดาให้เป็นพระมเหสี

    แล้วพระเจ้าพรหมทัตก็เสด็จไปเกลี้ยกล่อมให้สุสิมะปุโรหิตรับเป็นพระราชา ให้พระราชมารดาเป็นมเหสี ส่วนพระองค์ทรงเป็นอุปราช

    สุสิมะปุโรหิตจึงได้อภิเษกสมรสกับพระราชชนนี และขึ้นครองกรุงพาราณสีเป็นสุสีมะราชา

    เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานวันเข้า สุสีมะราชาก็ทรงเบื่อทรงหน่ายการครองเรือน ทรงละกามทั้งหลาย ทรงมีพระทัยน้อมไปในการบรรพชา ไม่ทรงอาลัยไยดีด้วยอำนาจกิเลส ประทับยืน ประทับนั่ง และเสด็จบรรทมแต่ลำพังพระองค์เดียว

    ฝ่ายพระมเหสีก็ทรงดำริว่า พระราชาไม่ร่วมอภิรมย์กับเรา ประทับยืน ประทับนั่ง และทรงบรรทมแต่ลำพังพระองค์เดียว คงเป็นเพราะพระราชายังหนุ่มอยู่ แต่เรานั้นมีเกศาหงอกแล้ว หากพระราชามีผมหงอกเช่นเดียวกับเรา พระราชาคงร่วมอภิรมย์กับเราเหมือนเดิม

    วันหนึ่ง พระมเหสีจึงทรงทำทีเป็นหาเหาบนพระเศียรของพระราชา แกล้งถอนพระเกศาพระราชาออกมาเส้นหนึ่งทิ้งไป แล้วถอนเกศาหงอกเส้นหนึ่งของพระนางเองให้พระราชาทอดพระเนตร เพ็ดทูลว่าพระเกศาของพระองค์หงอกแล้ว
    สุสิมะราชาทอดพระเนตรเห็นผมหงอกก็ตกพระทัย รำพึงว่าชราและมรณะมาถึงพระองค์แล้ว ถึงกาลที่พระองค์จะต้องออกบรรพชา

    ฝ่ายพระมเหสีก็ทรงตกพระทัยเช่นกัน เพราะพระนางตั้งใจจะลวงพระราชาเพื่อผูกมัดพระทัยพระองค์ไว้ แต่กลายเป็นว่าสุสิมะราชากลับอยากเสด็จออกผนวช พระนางจึงทูลความจริงให้ทรงทราบว่าผมหงอกนั้นเป็นของพระนางเอง ขอพระองค์อย่าได้ออกบวชเลย

    แต่สุสีมะราชาไม่เปลี่ยนพระทัย ทรงตรัสแสดงโทษของของรูปสมบัติ และแสดงคุณของการบรรพชาให้พระมเหสีฟัง จากนั้นก็มอบราชสมบัติคืนให้แก่พระเจ้าพรหมทัต ทรงทอดทิ้งราชสมบัติแล้วออกบวชเป็นดาบส เจริญอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจึงได้ไปอุบัติในพรหมโลก

    พระเจ้าพรหมทัต มาเกิดเป็น พระอานนท์
    สุสีมะราชา มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    พระมเหสี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 11 ( ราชธิดาพระเจ้าโกศล /จากนางทาสีเป็นมเหสีพระราชา )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาได้มาเกิดเป็นราชธิดาผู้เลอโฉมปานเทพธิดาของพระเจ้าปัสเสน แคว้นโกศล เมื่อเจริญวัยขึ้น พระนางก็ได้อภิเษกสมรสเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี

    พระเจ้าพรหมทัตนั้นทรงอภิเษกสมรส พร้อมกับการราชาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติกรุงพาราณสีสืบต่อจากพระราชบิดาที่สวรรคต

    ขณะที่พระองค์เสด็จขึ้นประทับนั่งบนราชบัลกังก์ พระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพาร ดูพราหมณ์และคหบดี ดูเหล่าสนมนางฟ้อนนางรำ ๑๖,๐๐๐ นาง ทรงทอดพระเนตรดูปราสาทราชมณเฑียร และราชทรัพย์ทั้งมวล แล้วพระองค์ก็ทรงระลึกขึ้นได้ว่า อำนาจและราชสมบัติเหล่านี้ของพระองค์นั้น เกิดขึ้นเพราะการให้ทานขนมกุมมาสเพียง ๔ ก้อน ในชาติก่อน

    พระองค์ทรงปิติในผลของทาน จึงได้ขับเป็นลำนำเพลงท่ามกลางชุมนุมชนนั้น พวกนางฟ้อนนางรำได้ยินพระราชาขับลำนำ ก็เข้าใจว่าเป็นเพลงโปรดพระราชา จึงจดจำนำไปร้องกันต่อไป

    ฝ่ายพระมเหสีได้ยินคำร่ำลือเรื่องเพลงโปรดของพระราชาก็ใคร่รู้ แต่ไม่กล้าทูลถาม

    วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตตรัสให้พรแก่พระมเหสี ตอบแทนที่พระนางทำคุณความดีอย่างหนึ่ง พระมเหสีกราบทูลว่าพรใดๆ พระนางก็ไม่ประสงค์ พระนางต้องการเพียงฟังลำนำเพลงของพระองค์เท่านั้น

    พระราชารับสั่งให้ขออย่างอื่น พระมเหสีก็ไม่ยอม พระราชาจึงตรัสว่าพระองค์จะให้พรนั้น แต่จะไม่บอกแก่พระมเหสีองค์เดียวในที่ลับ แต่จะประกาศให้ประชาชนทั้งหลายได้รับรู้ทั่วกันด้วย

    แล้วพระราชาก็ให้ตีกลองป่าวร้องไปทั่วพระนคร

    เมื่ออำมาตย์ข้าราชบริพารและมหาชนมาพร้อมเพรียงกัน พระราชาก็เสด็จประทับบนรัตนบัลลังก์ ทรงขับร้องเป็นลำนำ ​
    <DD class=story-color>"...
    <DD class=story-color>เรายาจกยากไร้ไม่มีทรัพย์
    <DD class=story-color>ขนมอับกุมมาสเป็นอาหาร
    <DD class=story-color>เราศรัทธาละสิ้นถวายทาน
    <DD class=story-color>พระปัจเจก ๔ ท่านจากนันทมูล
    <DD class=story-color>แล้วตั้งจิตอธิษฐานต้องการผล
    <DD class=story-color>ความยากจนเกิดชาติไหนขอให้สูญ
    <DD class=story-color>ด้วยผลทานความดีทวีคูณ
    <DD class=story-color>ครองไอยศูรย์สมบัติราชธานี
    <DD class=story-color>..."
    พระเจ้าพรหมทัตทรงแสดงธรรม โดยตรัสเล่าบุรพกรรมของพระองค์ให้มหาชนฟังว่าชาติก่อนของพระองค์นั้นทรงเกิดเป็นคนรับใช้ที่ยากจนของเศรษฐีคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสีนี้เอง
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>วันหนึ่ง เขาได้ถือขนมกุมมาสราคาถูก ๔ ก้อนจากตลาดเพื่อนำมาเป็นอาหารเช้า ระหว่างทางได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์มาบิณฑบาต เขาจึงได้ถวายขนมกุมมาสทั้ง ๔ ก้อนนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า อธิษฐานว่า ด้วยผลแห่งการถวายขนมกุมมาส ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้พบกับความยากจนอีกเลย และขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จพระโพธิญานด้วยเถิด
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์รับขนมกุมมาสแล้วก็นั่งลงฉัน ณ ที่นั้น ฉันเสร็จแล้วได้ให้อนุโมทนาแล้วเหาะกลับสู่เงื้อมเขานันทมูล
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>เมื่อถวายทานนี้แล้ว ชายยากจนก็เฝ้าระลึกถึงทานนี้อยู่เสมอ เมื่อสิ้นชีวิตจึงได้มาเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>เมื่อพระมเหสีฟังลำนำเพลงของพระราชาแล้ว จึงกราบทูลว่า
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>"อันทศพิธราชธรรมของพระราชานั้นประกอบด้วย ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม บัดนี้ พระองค์ทรงรำลึกรู้ถึงอานิสงส์ของผลทานแล้ว กาลต่อไป ก่อนที่พระองค์จะเสวย ก็ควรจะนำของเสวยนั้นแบ่งเป็นทานเสียก่อน"
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>พระเจ้าพรหมทัตฟังคำพระมเหสีแล้ว จึงดำรัสถามบ้างว่า
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>"ดูก่อนน้องนางผู้เจริญ เราบอกกุศลกรรมในภพก่อนแก่เธอแล้ว บัดนี้เราพิจารณาดูเธอในท่ามกลางหญิงเหล่านี้ เราไม่เห็นหญิงใดแม้แต่คนเดียวที่งามปานเทพอัปสรเช่นเธอ ทั้งรูปร่าง ผิวพรรณ การเยื้องกราย กิริยา และเสน่หาของหญิง เราอยากรู้ว่าเธอทำกุศลกรรมใดไว้ จึงได้รับสมบัตินี้"
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>พระมเหสีนั้นก็เป็นผู้ระลึกถึงอดีตชาติได้ จึงได้กราบทูลพระราชาว่า
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>"ชาติก่อนนั้นหม่อมฉันเกิดเป็นนางทาสี เป็นผู้สำรวมกายและใจ รักษาศีล ละเว้นบาปทั้งปวง วันหนึ่งหม่อมฉันได้รับอาหารส่วนของหม่อมฉัน จึงได้เดินออกมาหาที่รับประทาน หม่อมฉันได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้นำอาหารนั้นใส่บาตร ด้วยผลแห่งทานที่ถวายแก่ผู้ทรงศีลบริบูรณ์ หม่อมฉันจึงได้เกิดมาเป็นราชธิดาพระเจ้าโกศล"
    <DD class=story-color>
    <DD class=story-color>ครั้นพระราชาและพระมเหสีได้เล่าบุรพกรรมของตนแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ช่วยกันทำบุญให้ทาน ทรงให้สร้างศาลาทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ที่กลางพระนคร ๑ แห่ง ที่ประตูพระราชวัง ๑ แห่ง ทรงรักษาศีล และรักษาอุโบสถตลอดพระชนม์ชีพของทั้งสองพระองค์
    </DD>
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 11 ( พระสมุททวิชยาเทวี /อัญเชิญพระปัจเจกพุทธเจ้า )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาเกิดเป็น พระสมุททวิชยาเทวี มเหสีของพระเจ้าเภรุวมหาราช แห่งเภรุวนคร พระนางเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีศีล และสมบูรณ์ด้วยญาณ

    วันหนึ่ง พระเจ้าเภรุวมหาราชเสด็จทอดพระเนตรโรงทาน ทรงดำริว่าผู้มารับทานนั้นล้วนแต่เป็นผู้ทุศีล พระองค์ประสงค์จะถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นอยู่ไกลถึงป่าหิมพานต์ พระองค์จึงทรงกังวลว่าจะส่งใครไปนิมนต์ท่านมาได้

    ฝ่ายพระเทวีเมื่อได้ทราบความกังวลของพระราชา จึงได้ทูลว่าถ้าพระองค์อยากถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ขอให้พระราชาพร้อมชาวพระนครทั้งหมดร่วมกันรักษาศีล แล้วจึงทำพิธีนิมนต์ไปทั้ง ๔ ทิศ

    พระราชาพร้อมข้าราชบริพารจึงพากันถืออุโบสถศีล และประกาศไปทั้งพระนครให้ชาวเมืองรักษาศีลด้วย

    วันแรก พระราชาเสด็จประทับที่พระลานหลวง ทรงกราบเบญจางคประดิษฐ์เหนือพื้นดินผินพระพักตร์ไปทางทิศปราจีน แล้วกล่าวนมัสการอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าในทิศปราจีนให้มารับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

    วันรุ่งขึ้น ไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเลย เพราะในทิศปราจีนไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระราชาจึงทรงนมัสการไปทางทิศทักษิณ ก็หามีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาไม่

    วันที่ ๓ ทรงนมัสการไปทางทิศปัจฉิม ก็หามีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาไม่

    วันที่ ๔ ทรงนมัสการไปทางทิศอุดร ครั้นทรงนมัสการแล้ว ก็ซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ อธิษฐานว่า ขอพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่อยู่ในหิมวันตประเทศ ด้านทิศอุดร จงมารับภิกษาหารของข้าพเจ้า ดอกมะลิได้ลอยไปตกลงเหนือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ ที่เงื้อมเขานันทมูล

    พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นพิจารณาดูก็รู้ว่าพระราชานิมนต์ วันรุ่งขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์จึงเหาะมารับภัตตาหารที่พระราชวัง

    เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ามารับภัตตาหารครบ ๗ วัน ก็ได้กล่าวอนุโมทนาแก่พระราชา แล้วเหาะกลับเงื้อมเขานันทมูล บริขารที่พระราชาถวายก็ลอยตามไป

    พระราชาพร้อมด้วยพระสมุททวิชยาเทวีอัครมเหสี ก็ได้ถวายทานจนตลอดพระชนมายุ ครั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ได้เสด็จไปสู่สวรรค์ ​

    <DD>พระสมุททวิชยาเทวี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
    <DD>พระเจ้าเภรุวราช มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า </DD>
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 12 ( นางสีดา /ชายาพระราม )


    ในอดีตกาล มีพระราชากรุงพาราณสี ทรงพระนามว่าพระเจ้าทศรถ พระองค์ทรงมีพระมเหสี และพระสนมบริวารแวดล้อม ๑๖,๐๐๐ นาง
    พระเจ้าทศรถ ทรงมีพระโอรสและพระธิดากับพระมเหสีรวม ๓ พระองค์ คือ รามกุมาร ลักษณ์กุมาร และสีดากุมารี

    ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าทศรถสิ้นพระชนม์ พระเจ้าทศรถจึงทรงแต่งตั้งพระเทวีอื่นขึ้นเป็นมเหสีแทน และมีพระโอรสกับมเหสีใหม่ นามว่า ภรตกุมาร

    ในวันที่พระมเหสีใหม่ทรงประสูติพระโอรสนั้น พระเจ้าทศรถทรงตรัสให้พรอย่างหนึ่งพระมเหสี แต่พระนางทรงเฉยไว้ ยังไม่ขอรับพรนั้น จนกระทั่งภรตกุมารอายุได้ ๘ พรรษา พระนางจึงกราบทูลพระสวามีว่าจะขอพรที่พระองค์เคยตรัสว่าจะให้ โดยขอราชสมบัติให้แก่ภรตกุมาร

    พระเจ้าทศรถไม่ทรงยินยอม เพราะราชสมบัตินี้ควรเป็นของรามกุมาร ราชโอรสองค์โต พระองค์ทรงต่อว่าพระมเหสีที่คิดแย่งราชบัลลังค์ไปให้โอรสของตน แต่พระมเหสีก็ยังทูลขออยู่เรื่อยๆ จนพระเจ้าทศรถทรงเกรงว่าพระมเหสีอาจคิดร้ายโอรสของพระองค์ พระเจ้าทศรถจึงทรงรับสั่งถามโหราจารย์ว่าพระองค์จะมีพระชนม์ชีพอีกกี่ปี โหราจารย์กราบทูลว่า ๑๒ ปี

    พระเจ้าทศรถจึงรับสั่งให้พระโอรสมาเข้าเฝ้า ทรงรับสั่งให้พระรามและพระลักษณ์ไปอยู่ป่า และให้เสด็จกลับพระนครในอีก ๑๒ ปีข้างหน้า เพื่อรับราชสมบัติเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระรามและพระลักษณ์ จึงกราบทูลลาพระราชบิดาเสด็จสู่ป่า

    ฝ่ายนางสีดาพระกนิษฐา เมื่อเห็นพระเชษฐาทั้งสองเสด็จไปสู่ป่าก็ร้องไห้ เข้าไปถวายบังคมลาพระราชบิดาและเสด็จตามพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ไปด้วย
    ทั้งสามไปสร้างอาศรมอยู่ในป่า พระรามนั้นทรงประทับอยู่ที่อาศรม ส่วนพระลักษณ์และนางสีดาทำหน้าที่หาผลไม้มาบำรุงพระราม

    กาลเวลาล่วงไป ๙ ปี พระเจ้าทศรถผู้มีพระราชหฤทัยเป็นทุกข์เพราะคิดถึงโอรสและธิดาที่ไปอยู่ป่า ก็ทรงเสด็จสวรรคตก่อนเวลาที่โหราจารย์กราบทูลไว้ เมื่อปลงพระบรมศพพระราชาแล้ว พระมเหสีจะตั้งให้พระภรตขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เสนาอำมาตย์ไม่ยินยอม คัดค้านว่าราชสมบัตินี้ต้องเป็นของพระราม

    พระภรตเห็นชอบกับบรรดาเสนาอำมาตย์ จึงชักชวนอำมาตย์ให้แต่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ไปอัญเชิญเสด็จพระรามให้เสด็จกลับมาครองเมือง

    เนื่องจากพระเจ้าทศรถทรงรับสั่งให้พระรามเสด็จกลับเมื่อครบ ๑๒ ปี แต่เวลานี้ยังไม่กำหนดเวลานั้น พระรามจึงไม่ยอมเสด็จกลับมาครองเมืองทันที เมื่อเสนาอำมาตย์กราบทูลอ้อนวอน พระรามจึงมอบรองเท้าหญ้าของพระองค์ให้อำมาตย์นำกลับมาเป็นตัวแทนของพระองค์

    เสนาอำมาตย์จึงนำขบวนกลับพระนคร อัญเชิญรองเท้าหญ้าขึ้นประทับบนราชบัลลังค์ ให้เป็นกษัตริย์ครองเมืองอยู่ ๓ ปี

    ระหว่าง ๓ ปีนี้ เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ช่วยกันปฏิบัติราชการแทนองค์พระราม เมื่อมีคดีความให้ตัดสิน อำมาตย์ก็จะพิจารณาตัดสินต่อหน้าบัลลังค์ที่ประทับของรองเท้าหญ้า หากตัดสินคดีไม่ถูกต้องยุติธรรม รองเท้าหญ้าก็จะแสดงอาการกระทบกัน อำมาตย์ก็จะต้องตัดสินคดีใหม่ ถ้ารองเท้านิ่งเงียบอยู่ แสดงว่าตัดสินชอบแล้ว

    เมื่อครบ ๓ ปี พระรามจึงเสด็จกลับมาครองกรุงพาราณสี ทรงแต่งตั้งนางสีดาเป็นอัครมเหสี และครองราชสมบัติโดยธรรมอยู่หมื่นหกพันปี

    พระเจ้าทศรถ มาเกิดเป็น พระเจ้าสุทโธทนะ
    พระราชมารดา มาเกิดเป็น พระนางสิริมหามายา
    พระราม มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    นางสีดา มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
    พระลักษณ์ มาเกิดเป็น พระสารีบุตร
    พระภรต มาเกิดเป็น พระอานนท์
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 13 ( โพธิปริพพาชิกา /ผู้ไม่ข้องในเมถุน )


    ในอดีตกาล พระนางพิมพาจุติจากพรหมโลก มาเกิดเป็นกุมารีงดงามในตระกูลมั่งคั่งในแคว้นกาสี ส่วนพระโพธิสัตว์ก็จุติจากพรหมโลกมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ผู้มั่งคั่งชาวกาสีเช่นเดียวกัน บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า โพธิกุมาร ​
    <DD> <DD>ครั้นเจริญวัยขึ้น โพธิกุมาร ก็ได้ไปเรียนสรรพวิชาที่เมืองตักกศิลา เมื่อโพธิกุมารสำเร็จการศึกษาแล้ว บิดามารดาจึงจัดการนำกุมารีนั้นมาให้เป็นภรรยา
    <DD> <DD>เนื่องจากจุติมาจากพรหมโลกทั้งคู่ ทั้งสองจึงไม่มีใจในการครองเรือนเลย แม้จะอยู่ร่วมห้องกัน แต่ทั้งสองก็ไม่เคยแลดูกันด้วยอำนาจแห่งราคะ ทั้งสองเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ขึ้นชื่อว่าเมถุนธรรมต่างไม่เคยประสบแม้ในฝัน<DD>
    <DD>ต่อมาเมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้ว โพธิกุมารจึงบอกกุมารีภริยาว่าเธอจงรับทรัพย์ ๘๐ โกฏินี้ไว้เถิด เราจักออกบวชในถิ่นหิมพานต์เพื่อทำที่พึ่งแก่ตน
    <DD> <DD>นางกุมารีภริยาจึงถามว่า การบรรพชานั้นทำได้แต่บุรุษเท่านั้นหรือ
    <DD>โพธิกุมารตอบว่าแม้สตรีก็บรรพชาได้
    <DD> <DD>นางกุมารีภริยาจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ฉันก็จะไม่ขอรับเขฬะที่ท่านถ่มทิ้งไว้ ฉันจะออกบวชด้วย<DD>
    <DD>ตกลงกันดังนั้นแล้ว ทั้งสองก็เอาทรัพย์มาบริจาคทานเป็นการใหญ่ แล้วออกบวชไปสร้างอาศรม เลี้ยงชีวิตด้วยผลาผลอยู่ในป่า
    <DD> <DD>กาลเวลาผ่านไป ๑๐ ปี ญานสมาบัติก็ยังไม่ได้บังเกิดแก่ดาบสและปริพพาชิกาทั้งสองเลย ทั้งสองจึงเที่ยวจาริกไปตามชนบทเรื่อยไป จนกระทั่งมาถึงนครพาราณสีจึงได้ไปพักอาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน<DD>
    <DD>วันหนึ่ง พระเจ้าพาราณสีเสด็จออกประพาสราชอุทยาน ทรงทอดพระเนตรเห็นดาบสและนางปริพพาชิกา นางปริพพาชิกานั้นแม้อยู่ในเพศนักบวชก็ยังดูงามเลิศมีเสน่ห์เป็นที่ต้องตา ทำให้พระเจ้าพาราณสีมีพระทัยปฏิพัทธ์ด้วยอำนาจกิเลส
    <DD> <DD>พระเจ้าพาราณสีจึงเข้าไปถามพระดาบสว่า นางปริพพาชิกาผู้นี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยา หรือเป็นน้องสาว หรือเป็นใครอื่น<DD>
    <DD>โพธิดาบสตอบว่าไม่ได้เป็นอะไรกัน แต่เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นภริยาของข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้ออกบวช อาศัยธรรมเดียวกัน เป็นผู้ถือพรหมจรรย์เสมอกัน
    <DD> <DD>พระเจ้าพาราณสีจึงทรงลองหยั่งเชิงดูว่าว่าถ้าพระองค์นำนางไป พระดาบสจะทำอย่างไร จึงตรัสถามว่า ดูก่อนท่านดาบส ถ้ามีใครใช้กำลังฉุดคร่าพาเอานางปริพพาชิกาผู้นี้ไป ท่านจะทำอย่างไร<DD>
    <DD>โพธิดาบสตอบว่า หากใครมาฉุดรั้งนางไป ข้าพเจ้าย่อมต้องโกรธ แต่ข้าพเจ้าจะระงับความโกรธนั้นให้เสื่อมไป แต่หากความโกรธของข้าพเจ้าไม่เสื่อมไป ข้าพเจ้าก็จะข่มห้ามความโกรธนั้นเสียด้วยเมตตาภาวนาโดยพลัน
    <DD> <DD>พระราชาผู้มีกำหนัดหนักในนางปริพาชิกา มีพระหทัยบอดแล้วด้วยอำนาจกามราคะ เมื่อได้ฟังพระดาบสจึงสั่งให้ราชบุรุษบังคับพานางปริพพาชิกาไปยังพระราชนิเวศน์<DD>
    <DD>ฝ่ายพระดาบสเมื่อเห็นนางปริพาชิกาถูกบังคับพาไปต่อหน้า ความโกรธก็ปรากฎขึ้นดุจอสรพิษถูกฉุดดึงออกจากจอมปลวก คิดว่านางนั้นไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ ด้วยชาติ ตระกูล มารยาท และบรรพชา ไม่มีอะไรที่ทำให้เราไม่รักนาง แม้กำลังของเราก็มีมากดังช้างสาร อยากจะลุกขึ้นบดขยี้ราชบุรุษที่ฉุดลากนางนั้น
    <DD> <DD>แต่เมื่อหวนคิดว่าที่ตนออกบวชก็เพราะเหตุแห่งโพธิญาน การบรรลุพระโพธิญานได้นั้นต้องรักษาศีลมิให้ขาดในที่ทั้งปวง พระสัพพัญญุตาญาณนี้เป็นที่รักของเรายิ่งกว่านางปริพาชิการ้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า เราจะอดทนอดกลั้นความโกรธไว้ แม้ใครจะแทงหรือฟันร่างนางให้ขาดเป็นชิ้นๆ เราก็จะไม่เผลอทำลายศีลบารมีของเรา<DD>
    <DD>ดำริแล้วโพธิดาบสก็ข่มใจไว้ไม่ยอมแลดูนางอีก
    <DD> <DD>เมื่อราชบุรุษนำนางปริพพาชิกาไปสู่พระราชนิเวศน์แล้ว พระเจ้าพาราณสีก็เสด็จตามไป เกลี้ยกล่อมนางด้วยลาภยศเป็นอันมาก แต่นางปริพาชิกาก็ได้พรรณนาโทษของยศและคุณของบรรพชาให้พระราชาฟัง<DD>
    <DD>พระราชาได้ฟังจึงทรงดำริว่าปริพาชิกาผู้นี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้พระดาบสนั้น เมื่อปริพาชิกานี้ถูกฉุดมาก็มิได้แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใดเลย การทำสิ่งผิดในผู้มีคุณธรรมเหมือนสองท่านนี้ไม่สมควรเลย จึงดำริจะพาปริพาชิกากลับคืนไปยังอุทยานแล้วขอขมาต่อท่านทั้งสอง
    <DD> <DD>พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษพานางปริพาชิกากลับคืนราชอุทยาน ส่วนพระองค์เสด็จล่วงหน้าไปหาพระดาบสก่อน เห็นพระดาบสนั่งเย็บจีวรอยู่ แม้พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้แล้วก็ไม่รู้ตัวจึงไม่ได้กล่าวเชื้อเชิญพระราชา พระราชาเข้าใจว่าพระดาบสโกรธ ไม่ยอมเจรจาด้วย ตรัสว่า<DD>
    <DD>ท่านบรรพชิตผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าพานางปริพาชิกานั้นไป ท่านรู้สึกโกรธข้าพเจ้าบ้างหรือไม่
    <DD> <DD>โพธิดาบสได้ฟังจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ความโกรธเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าแล้วและยังไม่เสื่อมคลายไป แต่ข้าพเจ้าได้ยับยั้งความโกรธนั้นไว้ มหาบพิตร บุคคลใดถูกความโกรธเข้าเผาผลาญ ความโกรธเข้าครอบงำ บุคคลนั้นย่อมเหมือนถูกไฟเผา เป็นผู้ใช้กำลัง ความน่ากลัว เป็นผู้เสื่อมยศ และละกุศลกรรม ผู้ถูกความโกรธครอบงำย่อมเป็นผู้ไร้ปัญญา <DD>
    <DD>พระราชาได้ฟังธรรมจากโพธิดาบสแล้วเกิดความเลื่อมใส เมื่อราชบุรุษพานางปริพาชิกามาถึง พระราชาจึงได้ขอขมาโทษท่านทั้งสอง
    <DD> <DD>โพธิดาบสและนางปริพพาชิกาอาศัยอยู่ในราชอุทยานนั้นต่อมา จนเมื่อนางปริพพาชิกาสิ้นชีวิตลง โพธิดาบสจึงเดินทางออกจากราชอุทยานไปสู่ป่าหิมพานต์ ยังฌาณและสมาบัติให้เกิด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปสู่พรหมโลก

    <DD> พระเจ้าพาราณสี มาเกิดเป็น พระอานนท์
    <DD> โพธิดาบส มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    <DD> นางปริพพาชิกา มาเกิดเป็น พระนางพิมพา </DD>
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 14 ( พระนางอุทัยภัทรา /ถือพรหมจรรย์ตามสู่สวรรค์)


    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชโอรสอัครมเหสีของพระเจ้ากาสี พระนามว่าอุทัยภัทร ส่วนพระนางพิมพามาเกิดพระกนิษฐาต่างมารดา พระนามว่า อุทัยภัทรา
    เมื่ออุทัยภัทรกุมารเจริญวัยขึ้นและเรียนจบศิลปะศาสตร์ทั้งหลายแล้ว พระเจ้ากาสีก็จะให้อภิเษกสมรสแล้วจะมอบราชสมบัติให้ แต่อุทัยภัทรกุมารไม่ประสงค์การครองเรือน ทรงประพฤติพรหมจรรย์มาตลอด จึงหาทางบ่ายเบี่ยง โดยให้ช่างทองสร้างรูปสตรีด้วยทองคำสุกปลั่ง และกราบทูลพระราชาบิดาว่าหากมีหญิงใดงามเสมอเหมือนรูปทองคำนี้จึงจะอภิเษกด้วย

    พระราชาจึงให้อำมาตย์นำรูปทองคำนั้น เที่ยวตระเวณหาหญิงงามไปทั่วชมพูทวีป แต่ไม่พบหญิงใดงามเสมอรูปทองคำ ยกเว้นพระราชธิดาอุทัยภัทราเพียงพระองค์เดียวที่ข่มจนรูปทองนั้นหมองไป

    พระราชาจึงมอบราชสมบัติให้อุทัยภัทรกุมาร และอภิเษกให้พระราชธิดาอุทัยภัทราเป็นอัครมเหสี

    พระเจ้าอุทัยภัทรและพระนางอุทัยภัทรา ประทับอยู่ร่วมห้องเดียวกัน แต่ทั้งสองก็ทรงประพฤติพรหมจรรย์ เนื่องจากจุติมาจากพรหมโลกทั้งคู่ จึงต่างไม่ปรารถนาในกามสุข

    ทั้งสองพระองค์ตกลงกันว่าหากใครสิ้นพระชนม์ลงไปก่อน และไปอุบัติในที่ใด ผู้นั้นต้องกลับมาบอกอีกฝ่ายด้วย

    กาลล่วงมาได้อีก ๗๐๐ ปี พระเจ้าอุทัยภัทรก็สวรรคต พระนางอุทัยภัทราทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ โดยมีหมู่อำมาตย์ร่วมกันปกครองราชสมบัติสืบต่อมา
    พระเจ้าอุทัยภัทรเมื่อสวรรคตแล้วได้ไปอุบัติเป็นท้าวสักกเทวราชในดาวดึงส์ แต่พระองค์ไม่สามารถจำความหลังได้ตลอดสัปดาห์หนึ่ง เมื่อเวลาล่วงไป ๗๐๐ ปีมนุษย์ พระองค์จึงทรงระลึกได้ ทรงดำริว่าจะมาทดลองพระมเหสีอุทัยภัทรา

    คืนวันนั้น ท้าวสักกเทวราชก็ทรงถือถาดทองคำ ๑ ถาด บรรจุเหรียญมาสกมาเต็มถาด เข้าไปหาพระนางอุทัยภัทราในห้องบรรทม และตรัสกับพระนางว่า

    "ดูก่อนนางผู้งดงามหาที่ติมิได้ ตลอดราตรีนี้ เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมอภิรมย์กันในห้องพระบรรทมอันอลงกตนี้"

    พระนางอุทัยภัทราแปลกพระทัยถามว่า

    "ท่านเป็นใคร เหตุไฉนจึงมาหาเรา"

    ท้าวสักกเทวราชตรัสตอบว่า

    "เราเป็นเทวดาประจำตำหนักนี้ หากพระนางยินดีร่วมอภิรมย์ด้วย เราจะมอบถาดทองคำนี้ให้พระนาง"

    พระนางอุทัยภัทราทรงสดับแล้วก็ตรัสตอบว่า

    "อย่าเลย นอกจากพระเจ้าอุทัยภัทรแล้ว ข้าพเจ้าไม่พึงปรารถนาเทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์ผู้อื่นเลย ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ท่านจงไปเสียเถิด อย่ากลับมาอีก"

    ท้าวสักกเทวราชก็หายวับไปจากที่นั้น
    วันรุ่งขึ้นเวลาเดิม ท้าวสักกเทวราชก็กลับมาอีกครั้งพร้อมถาดเงินเต็มเปี่ยมด้วยเหรียญทองคำ ตรัสกับพระนางอุทัยภัทราว่า

    "พระราชธิดาผู้เจริญ อันว่าเมถุนกามนั้นชื่อว่าเป็นความยินดีสูงสุด ขอพระนางโปรดอย่าพลาดจากความยินดีนั้นเสียเลย วันนี้เราจะมอบถาดเงินเต็มด้วยเหรียญทองนี้แด่พระนาง"

    พระนางอุทัยภัทราทรงดำริว่า ถ้าสนทนาปราศรัยด้วยเทพบุตรนี้คงมาบ่อยๆ พระนางจึงเงียบเสีย ท้าวสักกเทวราชทรงทราบความที่พระนางไม่ตรัส จึงหายวับไปจากที่นั้น

    วันรุ่งขึ้นเวลาเดิม ท้าวสักกเทวราชก็ถือถาดโลหะเต็มด้วยเหรียญกระษาปณ์ ตรัสว่า

    "พระนางผู้เจริญ เชิญพระนางปรนเปรอด้วยกามเถิด เราจะมอบถาดโลหะ เต็มด้วยเหรียญกระษาปณ์แด่พระนาง"

    พระนางอุทัยภัทราตรัสตอบว่า

    "ธรรมดาชายหมายจะให้หญิงเอออวยด้วยทรัพย์ ย่อมประมูลราคาสูงขึ้นจนให้ถึงความพอใจ ของท่านกลับตรงกันข้าม ท่านประมูลราคาลดลง"

    ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า

    "ดูก่อนพระนางผู้มีพระวรกายอันงดงาม อายุและวรรณะของมนุษย์โลกย่อมเสื่อมทรามลง แม้ทรัพย์สำหรับพระนางก็จำต้องลดลงด้วย เพราะวันนี้พระนางชราลงกว่าวันก่อน

    ดูก่อนพระราชบุตรีผู้ทรงพระยศ เมื่อเรากำลังเพ่งมองพระนางอยู่อย่างนี้ พระฉวีวรรณของพระนางย่อมเสื่อมไป เพราะวันคืนล่วงไป

    ดูก่อนพระราชบุตรีผู้มีพระปรีชา เพราะเหตุนั้น พระนางพึงประพฤติพรหมจรรย์เสียแต่วันนี้ทีเดียว จะได้มีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้นอีก"

    พระนางอุทัยภัทราจึงตรัสถามว่า

    "เทวดาทั้งหลายไม่แก่เหมือนมนุษย์หรือไร? เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มีหรือไร? ดูก่อนเทพบุตร ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก ร่างกายของเทวดาเป็นอย่างไรเล่า?"

    ท้าวสักกเทวราช จึงตรัสบอกแก่พระนางว่า

    "เทวดาทั้งหลายไม่แก่ชราเหมือนพวกมนุษย์ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มี ฉวีวรรณอันเป็นทิพย์ของเทวดาเหล่านั้นผุดผ่องยิ่งขึ้นทุกๆ วัน และโภคสมบัติก็ไพบูลย์ขึ้น

    ในหมู่มนุษย์ ความเสื่อมถอยทางรูปเป็นประจักษ์พยานว่าเกิดแล้วมานาน แต่ในหมู่ทวยเทพ รูปสมบัติที่ละเอียดงามยิ่งขึ้น และบริวารสมบัติที่มากขึ้น เป็นประจักษ์พยานว่าเกิดมานานแล้ว

    เทวโลกนั้นไม่เสื่อมถอยเป็นธรรมดาด้วยประการฉะนี้ เหตุนั้น พระนางจงเสด็จออกผนวชเสียเถิด ครั้นจุติจากมนุษย์โลกอันมีแต่ความเสื่อมถอยนี้แล้ว จะได้ไปสู่เทวโลกอันมีแต่สิ่งที่ไม่รู้จักเสื่อมถอย"

    พระนางอุทัยภัทราจึงตรัสถามทางไปเทวโลก
    ท้าวสักกเทวราชตรัสบอกแก่พระนางว่า

    "บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่ทำบาปต่างๆ ประพฤติมั่นในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เป็นผู้เชื่อมั่นศรัทธาในวิบากแห่งทาน ชอบสงเคราะห์ทาน อ่อนโยน มีวาจาน่าคบหาเป็นสหาย บุคคลดำรงอยู่ในคุณธรรมนี้พึงไปเทวโลก"

    พระนางอุทัยภัทราชื่นชมในคำสอนนั้น จึงตรัสถามว่า

    "ข้าแต่ท่านผู้มีผิวพรรณงดงามยิ่ง ข้าพเจ้าขอถาม ท่านเป็นใครกันหนอจึงมีร่างกายสง่างามนัก"

    ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสตอบว่า

    "ดูก่อนพระนางเจ้าผู้เลอโฉม ข้าพเจ้าคือพระเจ้าอุทัยภัทร มาที่นี่ตามที่เคยตกลงกันไว้ บัดนี้ข้าพเจ้ามาบอกพระนางแล้วก็จะขอลาไป"

    พระนางอุทัยภัทราทรงดีพระทัยจนน้ำพระเนตรไหล เปล่งวาจาว่า

    "ทูลกระหม่อม พระองค์คือพระเจ้าอุทัยภัทร หม่อมฉันไม่สามารถจะอยู่ห่างพระองค์ได้ โปรดสอนหม่อมฉันด้วยวิธีที่เราทั้งสองจะได้พบกันใหม่อีกเถิดเพคะ"

    ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสสอนพระนางว่า

    "ดูก่อนพระน้องนาง
    ทรัพย์ทั้งแผ่นดินของพระราชานั้น ที่สุดพระราชาก็ต้องทิ้งทรัพย์นั้นไป มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ภริยาและสามี พร้อมทั้งทรัพย์ แม้เขาเหล่านั้น ต่างก็จะละทิ้งกันไป

    ดูก่อนพระน้องนาง
    ร่างกายนี้เป็นเพียงที่พักพิงชั่วคราว วัยย่อมล่วงไปรวดเร็วประดุจกระแสเชี่ยวของแม่น้ำ ขึ้นชื่อว่าความหยุดอยู่แห่งวัยนั้นไม่มีเลย แม้ปรารถนาว่า สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว อย่าแตกสลาย ก็ไม่เป็นไปได้
    ดูก่อนพระน้องนาง

    เธออย่าถึงความประมาทเลย จงเป็นผู้ไม่ประมาท จงเป็นผู้ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้สมบูรณ์ คือ เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นจากการลักและฉ้อฉลทรัพย์ เป็นผู้เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่โลภอยากได้ของเขา เป็นผู้ไม่คิดร้ายพยาบาทปองร้ายเขา และเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิไม่หลงผิดจากหลักธรรม กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นหนทางให้พระน้องนางไปสู่สวรรค์"

    ท้าวสักกเทวราชประทานโอวาทแด่พระนางอุทัยภัทราแล้ว ก็เสด็จกลับสู่ดาวดึงส์

    วันรุ่งขึ้น พระนางอุทัยภัทราก็ทรงมอบราชสมบัติให้พวกอำมาตย์ แล้วออกบวชประพฤติพรตอยู่ในพระราชอุทยาน เมื่อสิ้นอายุก็ไปบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกเทวราชในดาวดึงส์
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 15 (จันทกินรี /ผู้ไม่มีใจออกห่าง)


    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกินนรในป่าหิมพานต์ ส่วนพระนางพิมพามาเกิดเป็นภริยา นามว่า จันทา ทั้งสองอาศัยอยู่ที่ จันทบรรพต ​
    ครั้งนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จสู่ป่าหิมพานต์มาล่าสัตว์ลำพังพระองค์เดียว พระองค์ทรงเสด็จตามลำน้ำน้อยๆ สายหนึ่งขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งไปถึงต้นน้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่ากินนรและกินนรี ณ จันทบรรพต

    ครั้งนั้น จันทกินนรและจันทกินนรีผู้ภริยาลงมาเที่ยวเก็บเล็มของหอมและกินเกษรดอกไม้ นุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้าเล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียงจะเจื้อยแจ้ว เมื่อมาถึงลำน้ำสายน้อย ทั้งสองก็หยุดตรงคุ้งน้ำ โปรยปรายดอกไม้ลงไป และลงเล่นน้ำอย่างสำราญ

    เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วก็เอาดอกไม้มาโปรยปรายเหนือหาดทราย ตกแต่งเป็นที่นอน จันทกินนรเป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงหวานฉ่ำ จันทกินนรีก็ฟ้อนรำและร้องเพลงอยู่เคียงใกล้สามี

    พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงสดับเสียงของกินนรกินนรีนั้น ก็ทรงค่อยๆ ย่องเข้าไปยืนแอบในที่กำบัง เมื่อทอดพระเนตรเห็นนางกินนรีก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ ดำริว่าจะต้องยิงกินนรนั้นเสีย แล้วชิงนางกินนรีนี้มา

    ดำริแล้วก็ทรงยิงจันทกินนรจนล้มลง นางจันทกินรีเห็นสามีล้มลงคิดว่าเป็นท่วงทีการร่ายรำ ยังไม่รู้ว่าสามีถูกยิง จนเมื่อเห็นเลือดไหลออกมารู้ว่าสามีถูกยิงแล้ว จึงเข้าไปประคองกอดด้วยความตกใจ

    จันทกินนรอดทนต่อความเจ็บปวด บอกนางจันทกินนรีว่า

    "ดูก่อนจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว ลมปราณของพี่กำลังจะดับ พี่เห็นจะต้องละชีวิตไปแล้วในวันนี้

    ..ดูก่อนจันทา ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะพี่ต้องพรัดพรากจากเจ้าไปแล้ว

    ..ดูก่อนจันทา พี่จะเหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าถูกเผาบนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้ถูกตัดราก ความโศกของพี่ครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะพี่ต้องพรัดพรากจากเจ้าไปแล้ว

    ..ดูก่อนจันทา น้ำตาของพี่หลั่งไหลเหมือนฝนที่ตกลงสู่บรรพตแล้วไหลไปไม่ขาดสาย ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะพี่ต้องพรัดพรากจากเจ้าไปแล้ว"

    แล้วจันทกินนรก็แน่นิ่งไป นางจันทกินนรีเข้ามาดูสามีของตน เห็นเลือดหลั่งไหลออกจากกายสามีก็ตกใจ นางไม่อาจสะกดกลั้นความโศกที่มีต่อสามีที่รักไว้ได้ จึงได้ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง

    เมื่อพระเจ้าพาราณสีปรากฏพระองค์ออกมา นางจันทกินนรีก็รู้ว่าโจรผู้นี้เองที่ยิงสามีเรา นางจึงหนีไปอยู่บนยอดเขา กล่าวคำบริภาษพระราชาว่า

    "พระราชาใด ยิงสามีผู้เป็นที่รักของเรา ทำให้เราเป็นหม้ายที่ชายป่า พระราชานั้นเป็นคนเลวทรามโดยแท้

    พระราชาใด ยิงสามีของเรา ทำให้เราต้องเศร้าโศก ขอให้มารดาของพระราชานั้นจงโศกเศร้าเหมือนใจเรานี้

    พระราชาใด ยิงสามีของเรา ทำให้เราต้องเศร้าโศก ขอให้ชายาของพระราชานั้นจงโศกเศร้าเหมือนใจเรานี้

    พระราชาใด ยิงสามีของเราเพราะรักใคร่ในตัวเรา เป็นเหตุให้เราต้องพรากจากสามีสุดที่รัก ขอให้มารดาของพระราชานั้นอย่าได้พบหน้าบุตรและสามีผู้เป็นที่รักอีกเลย

    พระราชาใด ยิงสามีของเราเพราะรักใคร่ในตัวเรา เป็นเหตุให้เราต้องพรากจากสามีสุดที่รัก ขอชายาของพระราชานั้นจงอย่าได้พบหน้าบุตรและสามีผู้เป็นที่รักอีกเลย"

    พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสปลอบนางกินนรีว่า

    "ดูก่อนกินนรีผู้มีนัยน์ตาเบิกบานดังดอกไม้ เธออย่าร้องไห้ไปเลย เราจะให้เธอเป็นอัครมเหสีของเรา เธอจะได้รับการยกย่องบูชา ได้เป็นใหญ่เหนือหญิง ๑๖,๐๐๐ นาง"

    นางจันทกินนรีฟังคำพระเจ้าพาราณสีแล้ว นางจึงบริภาษว่า
    "ดูก่อนพระราชา ท่านกล่าววาจาอะไร แม้ว่าเราจะต้องตาย เราก็ไม่ยอมสมัครสมานกับคนพาลชั่วช้าฆ่าสามีที่รักของเราดังเช่นตัวท่าน"

    พระเจ้าพาราณสีได้ฟังคำด่าว่าของนางกินนรีหนักเข้าก็พิโรธ หมดความหลงที่มีในตัวนาง ตรัสตอบว่า

    "นี่แน่ะนางกินนรีผู้ขี้ขลาด เจ้าจงไปอยู่ในป่า แวดล้อมด้วยมฤคา และเก็บกินใบไม้ตามทางของเจ้าต่อไปเถิด"

    ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพาราณสีก็เสด็จจากไปอย่างหมดเยื่อใย
    เมื่อแน่ใจว่าพระเจ้าพาราณสีไม่กลับมาแล้ว นางจันทกินนรีก็ลงมากอดสามี แล้วอุ้มขึ้นสู่ยอดเขา ยกศีรษะวางไว้บนตัก พลางร่ำไห้ว่า

    " ข้าแต่สามีที่รักของข้า ต่อไปนี้ซอกเขาและเถื่อนถ้ำที่เราสองเคยร่วมอภิรมย์ คงจะอ้างว้างว่างเปล่าจากเงาของท่าน ข้าจะอยู่อย่างเงียบเหงาและอ้างว้างได้อย่างไร

    ..ข้าแต่สามีที่รักของข้า ต่อไปนี้แผ่นผาไม้เขียวน่ารื่นรมย์ และผาไม้ดอกที่สวยงาม จะว่างเปล่าปราศจากเงาของท่าน แล้วข้าจะอยู่รื่นรมย์กับความสวยงามนี้ตามลำพังได้อย่างไร

    ..ข้าแต่สามีที่รักของข้า ต่อไปนี้ลำธารที่เต็มไปด้วยดอกโกสุม ยอดเขาที่เขียวขจี และเขาคันทมาศที่เต็มไปด้วยสรรพยา จะว่างเปล่าปราศจากเงาของท่าน ข้าจะไม่ได้เห็นท่านอีก ข้าจะอดกลั้นความคิดถึงท่านได้อย่างไร"

    นางร่ำไห้แล้วก็ลูบคลำจันทกินนรด้วยความอาลัยรัก เมื่อนางวางมือลงตรงอกรู้สึกว่ายังมีไออุ่นอยู่ จึงคิดว่าสามีของนางนั้นยังไม่ตาย นางจึงกล่าวอ้อนวอนเทพยดาจนทำให้พิภพของท้าวสักกเทวราชเกิดอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชรู้เหตุจึงแปลงเป็นพราหมณ์ถือกุณฑีน้ำมาหลั่งรดร่างจันทกินนร

    ทันใดนั้นเอง บาดแผลและพิษก็หายสิ้น จันทกินนรก็ลุกขึ้นได้ ท้าวสักกเทวราชได้ประทานโอกาสแก่ทั้งสองให้อยู่บนยอดเขา อย่าลงมาเที่ยวเล่นใกล้ถิ่นมนุษย์อีก เสร็จแล้วพระองค์ก็เสด็จกลับคืนเทวโลก

    พระเจ้าพาราณสี มาเกิดเป็น พระเทวทัต
    <DD> ท้าวสักกเทวราช มาเกิดเป็น พระอนุรุทธ
    <DD> จันทากินนรี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
    <DD> จันทกินนร มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า </DD>
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ตอนที่ 16 ( สุภัททาเทวี /นางแก้ว )


    พระบรมจักรพรรดิ คือ พระราชาผู้มีบุญญาธิการและบุญฤทธิ์สูงสุดประมาณ ทรงเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา จัดเป็น ๑ ใน ๔ บุคลควรบูชาอันหาได้ยากยิ่งในโลก คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ และพระบรมจักรพรรดิ
    คำว่าพระบรมจักรพรรดินั้น บางครั้งก็เรียกว่า พระเจ้าจักรพรรดิ พระบรมจักร หรือ พระเจ้าธรรมิกราช

    การที่จะได้เป็นพระบรมจักรพรรดินั้น ไม่ใช่ได้มาด้วยตระกูล ไม่ได้มาด้วยอำนาจ และไม่ได้มาด้วยกำลัง แต่ได้มาด้วยบุญบารมีที่สร้างสมไว้อย่างเพียงพอในอดีต รักษาทศพิธราชธรรมในปัจจุบัน และสามารถรักษาจักรวรรดิวัตรอันเป็นวัตรปฏิบัติสำหรับพระบรมจักรพรรดิโดยเฉพาะได้สมบูรณ์

    พระบรมจักรพรรดิทุกพระองค์ จะทรงอุบัติขึ้นในชมพูทวีปเท่านั้น และทรงอุบัติในช่วงที่อายุขัยของชาวชมพูทวีปยืนยาวระหว่าง ๘๐,๐๐๐ ปี ขึ้นไปถึงอสงไขยปี

    เนื่องจากพระบรมจักรพรรดิไม่ได้อุบัติโดยตระกูล ดังนั้น พระบรมจักรพรรดิทุกพระองค์จึงเริ่มจากการเป็นพระราชาธรรมดาก่อน เมื่อรักษาทศพิธราชธรรมและรักษาจักรวรรดิวัตรได้สมบูรณ์แล้ว รัตนะ ๗ ประการคู่บุญบารมีก็จะบังเกิดขึ้น คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว และขุนพลแก้ว
    จักรแก้ว เป็นยานพิเศษสำหรับพระบรมจักรพรรดิ สามารถนำพาพระบรมจักรพรรดิเสด็จดำเนินไปได้ในนภากาศ และสามารถเสด็จราชดำเนินไปยังทวีปใหญ่ทั้งสี่ และทวีปน้อยสองพันได้โดยง่ายดาย

    ช้างแก้ว เป็นช้างมงคลอันประเสริฐ สีขาวสะอาด มีอิทธิฤทธิ์พาพระบรมจักรพรรดิเหาะไปได้

    ม้าแก้ว เป็นม้ามงคล ลักษณะงดงาม มีอิทธิฤทธิ์พาพระบรมจักรพรรดิเหาะไปได้

    แก้วมณี เป็นดวงแก้วขนาดโต ๔ ศอก แวดล้อมด้วยดวงแก้วเล็กๆ ๘๔,๐๐๐ ดวง มีรัศมีส่องสว่างดุจกลางวัน มีอิทธิฤทธิ์ช่วยบันดาลให้มหาชนสำเร็จสมความปรารถนานางแก้ว เป็นสตรีคู่บารมีของพระบรมจักรพรรดิ

    คหบดีแก้ว หรือขุนคลังแก้ว เป็นผู้มีตาทิพย์ สามารถมองเห็นขุมทรัพย์ได้ชัดเจนทั้งในดินและในน้ำ

    ขุนพลแก้ว เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉลียวฉลาดเกินคนทั้งหลาย เป็นผู้มีเจโตปริยญาน เป็นผู้รู้ใจของมหาชนในขอบเขต ๑๒ โยชน์ได้อย่างชัดเจน

    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระราชาในกุสาวดีนคร ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

    เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะขึ้นครองราชสมบัตินั้น พราหมณ์ปุโรหิตก็แนะนำให้พระองค์ทรงรักษาจักรวรรดิวัตร เพื่อจะได้สำเร็จเป็นพระเจ้าบรมจักรพรรดิ
    เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรได้ครบถ้วนสมบูรณ์ รัตนะทั้ง ๗ ประการก็บังเกิดแก่พระองค์

    เริ่มจากการอุบัติของจักรแก้วที่ลอยล่องมาจากนภากาศ ตามด้วยช้างแก้ว ม้าแก้ว และแก้วมณี

    เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีจักรแก้วแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังทวีปใหญ่ทั้งสี่ คือ ปุพพวิเทหทวีป ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีป ซึ่งพระราชาในแดนต่างๆ ในทวีปทั้งสี่นั้นต่างก็ยอมสามิภักดิ์ในบุญญาธิการของพระองค์
    ในครั้งนั้น พระนางพิมพาได้เกิดมาเป็นราชธิดาตระกูลมัททราช ในอุตรกุรุทวีป และได้มาเป็นนางแก้วแห่งพระมหาสุทัสสนะบรมจักรพรรดิ

    พระนางสุภัททาเทวี เป็นผู้มีพระสิริโฉมงดงาม ทรวดทรงสมบูรณ์ ไม่สูงเกินไม่ต่ำเกิน ไม่ผอมเกินไม่อ้วนเกิน ไม่ดำเกินไม่ขาวเกิน เป็นหญิงงาม น่ารัก น่าชม ใครเห็นต้องถูกตาติดใจ ใครเห็นจะต้องเลื่อมใส

    ผิวพรรณวรรณะของพระนางนั้นนุ่มเนียนดุจปุยนุ่น ผิวกายมีไออุ่นยามเมื่อพระบรมจักรพรรดิเย็น และผิวกายจะเย็นในยามที่พระบรมจักรพรรดิร้อน และมีรังสีสว่างกระจ่างนวลประมาณ ๑๒ ศอก

    ผิวกายของพระนางมีกลิ่นหอมระเหยออกมาตลอดเวลา กลิ่นหอมนั้นเหมือนกลิ่นหอมแห่งดอกนิลุบลที่บานแย้ม

    วาจาของพระนาง เป็นวาจาที่นุ่มนวลอ่อนหวาน และมีกลิ่นหอมพุ่งออกจากปากในเวลาไอหรือพูด

    เวลาต่อมา ก็บังเกิดคหบดีแก้วและขุนพลแก้ว ทำให้พระเจ้ามหาสุทัสสนะเป็นพระบรมจักรพรรดิโดยสมบูรณ์

    อำนาจของพระเจ้ามหาสุทัสสนะนั้นยิ่งใหญ่มาก เพียงพระองค์ทรงดำริสิ่งใด สิ่งนั้นก็สำเร็จสมบูรณ์ ทำให้กุสาวดีนครในสมัยของพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ต่างๆ สำหรับบำรุงมหาชน

    พระเจ้ามหาสุทัสสนะบรมจักรพรรดิ ทรงปกครองกุสาวดีและทวีปทั้งสี่อยู่นานแสนนานกว่า ๘๐,๐๐๐ ปี วันหนึ่ง พระองค์ก็ทรงเสด็จทรงจากสุธัมมาปราสาทไปประทับในป่าตาล

    พระนางสุภัททาเทวี ทอดพระเนตรเห็นพระอาการจึงตามเสด็จ กราบทูลให้พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงพระสำราญและพอพระทัยในราชสมบัติ แต่พระเจ้ามหาสุทัสสนะดำรัสตอบว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในวันนี้

    พระนางสุภัททาเทวีทรงกรรแสงร่ำไห้ เหล่าสตรีแปดหมื่นสี่พันนางก็พากันร้องไห้ร่ำไร แม้หมู่อำมาตย์ทั้งปวงก็ไม่มีแม้คนเดียวที่อดกลั้นความโศกไว้ได้ ต่างร้องไห้ระงมทั่วกัน

    พระเจ้ามหาสุทัสสนะบรมจักรพรรดิ จึงทรงสั่งสอนพระเทวีและอำมาตย์ทั้งหลายว่า

    "พวกเธอทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียงคร่ำครวญไปเลย เพราะสังขารทั้งหลายนี้ ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
    ดูก่อนสุภัททาเทวีผู้เจริญ มีพระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้นที่ระงับวัฏฏะนี้ได้ และได้ชื่อว่าเป็นสุขอย่างแท้จริง อื่นๆ ที่จะชื่อว่าเป็นสุขกว่านิพพานนั้นไม่มีเลย
    พวกเธอทั้งหลายจงให้ทาน จงรักษาศีล จงกระทำอุโบสถกรรม ดังนี้แล้ว ได้เป็นผู้มีเทวโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า"

    เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะบรมจักรพรรดิทรงสิ้นพระชนม์แล้ว รัตนะ ๗ ประการ ก็เสื่อมไป คือ จักรแก้วและแก้วมณีได้อันตรธานไป คุณของช้างแก้วและม้าแก้วก็เสื่อมไป คุณสมบัติของนางแก้วก็เสื่อมไป ตาทิพย์ของคหบดีแก้วก็เสื่อมไป และเจโตปริยญาณของขุนพลแก้วก็เสื่อมไป
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    มเหสีพระเจ้าสุตโสม

    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็น พระสุตโสมกุมาร โอรสพระเจ้าพรหมทัต แห่งสุทัสนนคร มีพระอนุชานามว่า โสมทัตกุมาร เมื่อพระสุตโสมเจริญวัยขึ้น พระเจ้าพรหมทัตก็ตั้งให้เป็นพระเจ้าสุตโสม ครองเมืองสุทัสนนครสืบมา ​
    พระเจ้าสุตโสมมีพระชายา ๗๐๐ องค์ และมีสนมนารีอีก ๑๖,๐๐๐ นาง

    ในครั้งนั้น พระนางพิมพามาเกิดเป็นพระอัครมเหสี พระนามว่า จันทาเทวี ทรงมีพระโอรส ๒ องค์

    วันหนึ่ง พระเจ้าสุตโสมเห็นผมหงอกบนศีรษะเส้นหนึ่ง ทรงเห็นภัยของชราและมรณะ จึงตรัสเรียกเสนาอำมาตย์มาประชุมกันและประกาศสละราชสมบัติเพื่อออกผนวช

    เสนาอำมาตย์ทูลคัดค้าน อ้างเหตุว่าพระชายาและพระสนมนารีทั้งหลายจะขาดที่พึ่ง พระเจ้าสุตโสมตรัสตอบว่า

    "สนมนารีเหล่านี้ยังสาวยังสวยอยู่ เธอสามารถหาพระราชาอื่นเป็นที่พึ่งได้ ส่วนเราจะปฏิบัติธรรมเพราะต้องการสวรรค์"

    อำมาตย์จึงไปกราบทูลพระราชบิดาและพระราชมารดาให้ทรงทราบ พระราชบิดาและพระราชมารดาก็ทัดทานว่า โอรสและธิดานั้นยังเล็ก จะมีความทุกข์ทั้งกายและใจที่ขาดบิดา รอให้โอรสธิดาเจริญวัยก่อนจึงค่อยบวช พระเจ้าสุตโสมยืนยันจะออกบวช กราบทูลว่า

    "สรรพสังขารไม่ว่าจะดำรงอยู่สั้นหรือยืนยาวสิ้นกาลนาน ในที่สุดก็ต้องพลัดพรากจากกัน เพราะในโลกสันนิวาสนี้ สังขารขึ้นชื่อว่าเป็นของเที่ยงนั้นไม่มีเลย"

    อำมาตย์จึงไปแจ้งพระชายาที่รักทั้ง ๗๐๐ ของพระเจ้าสุตโสม พระชายาเหล่านั้นจึงลงจากปราสาท ต่างยึดข้อพระบาท ร้องไห้คร่ำครวญ พระเจ้าสุตโสมก็ตรัสยืนยันจะออกบวช

    "ใจเรานี้มีความกรุณาในเธอทั้งหลาย แต่เราปรารถนาสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราจึงจะออกบวช"

    อำมาตย์จึงไปทูลพระนางจันทาเทวีอัครมเหสีผู้กำลังทรงพระครรภ์อยู่ พระมเหสีทูลถามว่า เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงมีเยื่อใยทั้งแก่เราและทารกในครรภ์ ขอให้พระองค์รออยู่จนประสูติแล้วค่อยออกบวช พระเจ้าสุตโสมตรัสให้พรพระมเหสีและบุตรในพระครรภ์แล้วยืนยันว่าจะออกบวช

    "ครรภ์ของเธอแก่แล้ว ขอเธอจงประสูติพระโอรสด้วยความสวัสดีเถิด ส่วนเราจะละโอรสและเธอไปบวช"

    พระมเหสีจึงเสด็จกลับขึ้นบนปราสาทร้องไห้น่าเวทนา พระโอรสองค์โตก็ร้องไห้อยู่กับพระมารดาส่วนพระโอรสองค์รองชันษา ๗ ขวบ เสด็จไปหาพระบิดาทูลทัดทาน พระเจ้าสุตโสมจึงมอบแก้วมณีให้พี่เลี้ยง แล้วให้พี่เลี้ยงพาโอรสไปเล่นแก้วมณีที่อื่น

    ฝ่ายอำมาตย์ เข้าใจว่าพระเจ้าสุตโสมคิดว่าราชทรัพย์มีน้อยจึงออกบวช จึงเปิดพระคลังให้ทอดพระเนตรราชทรัพย์ พระเจ้าสุตโสมก็ยืนยันในการบวช

    "คลังน้อยของเราก็ไพบูลย์ คลังใหญ่ของเราก็บริบูรณ์ ปฐพีมณฑลเราก็ชนะแล้ว แต่เราจักละสิ่งนั้นออกบวช"

    ฝ่าย กุลพันธนเศรษฐี ก็เข้ามากราบทูลคัดค้าน พร้อมถวายทรัพย์ของตระกูลตนให้ทั้งหมด

    "ดูก่อนเศรษฐี เรารู้ว่าทรัพย์ของท่านมีมาก และท่านก็บูชาเรา แต่เราปรารถนาสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องบวช"

    พระเจ้าสุตโสมตรัสเรียก เจ้าชายโสมทัต อนุชามามอบราชสมบัติให้

    "ดูกร โสมทัต พี่กระสันจักออกบวช เหมือนไก่ป่าถูกขังกระสันจะออกจากในกรง ความไม่ยินดีในฆราวาสครอบงำพี่ พี่จะบวชในวันนี้ เธอจงครอบครองราชสมบัตินี้เถิด"

    เจ้าชายโสมทัตเห็นพระเจ้าสุตโสมจะออกบวชแน่ จึงขอออกบวชด้วย พระเจ้าสุตโสมตรัสห้ามไว้ เกรงว่าประชาราษฎร์จะขาดที่พึ่ง

    เสนาอำมาตย์และประชาราษฎร์ เห็นว่าไม่อาจทัดทานพระราชาของตนได้ ต่างก็ร้องไห้เสียใจอยู่ พระเจ้าสุตโสมจึงแสดงธรรมว่า

    "ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกกันไปเลย ถึงเราจะดำรงอยู่ได้นาน ก็จะต้องพลัดพรากจากท่านทั้งหลายในที่สุด เพราะสังขารทั้งหลายจะได้ชื่อว่าเที่ยงนั้นไม่มี

    บัดนี้ ความชราได้ครอบงำเราแล้ว ชีวิตที่เหลือเป็นของน้อยดุจน้ำในโคลน บัณฑิตจึงไม่ควรประมาท คนพาลผู้ประมาทเพราะมีตัณหาผูกไว้แล้ว ย่อมไปบังเกิดในนรก สัตว์เดียรัจฉาน เปรต และอสุรกาย"

    แสดงธรรมแล้ว พระเจ้าสุตโสมก็เสด็จขึ้นบนปราสาทชั้น ๗ เอาพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นบรรพชิต เสด็จจาริกไปแต่ผู้เดียวยังป่าหิมพานต์ ประชาชนจำนวนมากก็ตามเสด็จไปบวชเป็นฤาษีจนเต็มพื้นที่กว้างถึง ๓๐ โยชน์

    พระฤาษีทั้งหมดประพฤติธรรมตามที่พระสุตโสมฤาษีสั่งสอน สิ้นชีวิตแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก


    <DD> พระราชบิดาพระราชมารดา มาเกิดเป็น ศากยมหาราชสกุล <DD> พระเจ้าสุตโสม มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
    <DD> พระนางจันทาเทวี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
    <DD> พระโอรสองค์โต มาเกิดเป็น พระสารีบุตร
    <DD> พระโอรสองค์รอง มาเกิดเป็น พระราหุล
    <DD> กุลพันธนเศรษฐี มาเกิดเป็น พระกัสสปะ
    <DD> มหาเสนาบดี มาเกิดเป็น พระโมคคัลลานะ
    <DD> โสมทัตอนุชา มาเกิดเป็น พระอานนท์ </DD>
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    นางพระยานาคกัญญา


    [​IMG]

    นางแก้วคู่บารมี


    เรียบเรียง โดย อังคาร


    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นชายยากจนในนครอังครัฐ



    <DD>วันหนึ่งได้ไปดูพิธีพลีกรรมของพระเจ้าอังคติราชที่ริมน้ำจัมปานที ได้เห็นพระยาจัมเปยยนาคราช นำบริวารจากนาคพิภพใต้แม่น้ำขึ้นมารับพลีกรรม ชายยากจนหลงใหลและปรารถนาอำนาจและทิพย์สมบัติของพระยานาค จึงได้เร่งทำบุญและรักษาศีลตั้งจิตอธิษฐานขอเสวยทิพย์สมบัตินั้น<DD>

    <DD>เมื่อพระยานาคราชทำกาลกิริยาไปได้ ๗ วัน ชายยากจนก็ตาย และไปบังเกิดเป็นพระยาจัมเปยยนาคราชสมความปรารถนา ซึ่งในครั้งนั้น พระนางพิมพาก็มาอุบัติเป็นอัครมเหสีนามว่า สุมนาเทวี<DD>

    <DD>พระนางสุมนาเทวี เป็นผู้บำเรอความสุขให้พระยานาคราช โดยนำหมู่นางนาคมาณวิกาแสนโสภามากล่อมบำเรอ จนวิมานนาคเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินดุจทิพย์วิมานของท้าวสักกะในดาวดึงส์สวรรค์<DD>

    <DD>ต่อมา พระยาจัมเปยยนาคราชเกิดความเบื่อหน่ายในเพศพระยานาค ทรงอยากไปเกิดเป็นมนุษย์เพื่อค้นหาสัจจธรรม จึงได้รักษาอุโบสถศีลอยู่ในปราสาท<DD>

    <DD>แต่เมื่อนางนาคมาณวิกาที่ตกแต่งกายงดงามยั่วยวนพากันไปเข้าเฝ้า ศีลของพระยานาคก็ขาดลงอยู่เนืองๆ<DD>

    <DD>พระองค์จึงออกจากปราสาทไปรักษาศีลในพระราชอุทยาน แต่นางนาคมาณวิกาก็ติดตามไปทำให้ศีลขาดอีก<DD>

    <DD>พระยานาคราชจึงดำริว่าการจะรักษาศีลได้นั้นต้องไปยังแดนมนุษย์ ครั้งถึงวันอุโบสถ พระองค์จึงขึ้นมารักษาศีลบนโลกมนุษย์ และตั้งสัจจะว่าแม้ต้องเสียชีวิตพระองค์ก็จะรักษาศีลไว้มิให้ขาด ตั้งสัจจะแล้วก็ขนดกายรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้ทางเดิน<DD>

    <DD>เมื่อประชาชนทั้งหลายเดินผ่านไปมาเห็นพระยานาคขนดจอมปลวกอยู่ รู้ว่าเป็นพระยานาคผู้มีฤทธิ์ จึงช่วยกันจัดทำมณฑปให้ เกลี่ยพื้นโดยรอบให้ราบเรียบ และหาเครื่องหอมมาบูชา<DD>

    <DD>พระยานาคราชจึงขึ้นมารักษาอุโบสถศีล ณ ที่นั้นเป็นประจำ<DD>

    <DD>อยู่มาวันหนึ่ง พระนางสุมนาเทวีทูลถามพระสวามีว่า พระองค์เสด็จไปรักษาศีลในเมืองมนุษย์บ่อยๆ เมืองมนุษย์นั้นอันตราย หม่อมฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์มีภัย <DD>

    <DD>พระยาจัมเปยยนาคราชจึงพาพระนางสุมนาเทวีมาที่สระโบกขรณี ตรัสว่าหากพระองค์ได้รับอันตราย น้ำในสระนี้จะขุ่นมัว ถ้าพญาครุฑจับเอาไป น้ำจะเดือดพลุ่งขึ้นมา และถ้าหมองูจับเอาไป น้ำจะกลายเป็นสีแดงเหมือนโลหิต<DD>

    <DD>แล้วพระยานาคราชก็ขึ้นมารักษาอุโบสถศีลตามปกติ


    <DD>ครั้งนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อลุททกพราหมณ์ ไปเรียนเวทมนต์เป็นหมองูที่เมืองตักกศิลา เมื่อเรียนจบเดินทางกลับบ้านผ่านมาทางนั้น ได้เห็นพระยานาคนอนขนดจอมปลวกอยู่ หมองูจึงคิดว่าถ้าจับงูใหญ่นี้ไปแสดงในเมืองก็จะได้ทรัพย์มากมาย<DD>

    <DD>คิดดังนั้นแล้วหมองูก็ร่ายมนต์ ทำให้พระยานาคเจ็บปวดไปทั้งร่างกาย เมื่อเปิดตาดูเห็นหมองูร่ายมนต์อยู่จึงดำริว่า หากเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป หมองูนี้จะมอดไหม้เหมือนกองเถ้า เราก็จะพ้นจากความเจ็บปวด แต่ศีลของเราก็จะพลอยด่างพร้อย<DD>

    <DD>ดำริแล้ว พระยานาคก็หลับตาข่มความเจ็บปวดไว้<DD>

    <DD>หมองูร่ายมนต์แล้วเคี้ยวโอสถพ่นไปที่กายของพระยานาคราช ด้วยอานุภาพของมนต์และแห่งโอสถ ร่างของพระยานาคก็พองบวมขึ้น แล้วหมองูก็ฉุดหางพระยานาคลากลงจากจอมปลวก บีบลำตัวด้วยไม้ให้ทุพพลภาพ จับศีรษะบีบเค้นให้ปากอ้า แล้วพ่นโอสถเข้าไปในปาก ทำให้พระทนต์ของพระยานาคหลุดถอน ปากเป็นสีแดงเต็มไปด้วยโลหิต<DD>

    <DD>พระยานาคราชทรงอดกลั้นทุกขเวทนา ทรงหลับพระเนตรอยู่ด้วยเกรงว่าศีลของพระองค์จะขาด<DD>

    <DD>หมองูนั้นยังไม่หยุด ขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระยานาคตั้งแต่หางขึ้นไป คล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียด จับหางทุบแล้วจับม้วนพับไปมาอย่างผืนผ้า ทำให้พระยานาคเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส<DD>

    <DD>เมื่อมั่นใจว่าพระยานาคหมดกำลังแล้ว หมองูจึงเอาเถาวัลย์มาถักเป็นกระโปรง ลากพระยานาคเข้าไปในเมือง และเปิดการแสดงโดยจับร่างพระยานาคบิดเป็นรูปต่างๆ ทั้งทรงกลมและทรงเหลี่ยม อีกทั้งบังคับให้ฟ้อนรำทำพังพานร้อยอย่างพันอย่าง<DD>

    <DD>มหาชนดูแล้วชอบใจก็ให้ทรัพย์แก่หมองูเป็นอันมาก เมื่อได้ทรัพย์แล้วหมองูก็หากบมาให้เป็นอาหาร แต่พระยานาคไม่ยอมเสวยเพราะรักษาศีล หมองูเอาข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งให้พระยานาคก็ไม่เสวย<DD>

    <DD>หมองูได้นำพระยานาคตระเวณเปิดการแสดงไปทั่วตลอดเดือนหนึ่ง ในที่สุดก็มาถึงกรุงพาราณสี และเปิดการแสดงที่หน้าประตูเมือง


    <DD>ครั้งนั้น พระเจ้าอุคคเสน ครองกรุงพาราณสี ทรงรับสั่งให้หมองูนำพระยานาคมาเปิดการแสดงที่พระลานหลวงในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอุโบสถ แล้วก็ให้ป่าวประกาศการแสดงไปทั่วพระนคร<DD>

    <DD>เมื่อพระราชาเสด็จออกมาทอดพระเนตร หมองูก็เปิดการแสดง ให้พระยานาคแสดงและฟ้อนรำหลายอย่าง ประชาชนชอบใจพากันปรบมือโบกผ้าด้วยความรื่นรมย์<DD>

    <DD>ฝ่ายพระนางสุมนาเทวีนาคกัญญา ทรงระลึกว่าพระสวามีที่รักของเราเสด็จไปนานครบหนึ่งเดือนแล้ว พระองค์ทรงมีเหตุเภทภัยอะไรหรือเปล่าหนอจึงไม่กลับมา พระนางจึงเสด็จไปตรวจดูสระโบกขรณี เห็นน้ำกลายเป็นสีแดงดังโลหิตก็ทรงทราบว่าพระสวามีของตนถูกหมองูจับเอาไป พระนางจึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวก เห็นร่องรอยที่พระสวามีถูกหมองูจับลากไป พระนางก็ทรงกรรแสงร่ำไห้คร่ำครวญ เสด็จดำเนินติดตามรอยนั้นไปจนถึงนครพาราณสี เห็นหมองูกำลังเปิดการแสดงอยู่<DD>

    <DD>พระนางสุมนาเทวีเสด็จไปยืนอยู่ในนภากาศ ทอดพระเนตรลงมาเห็นพระสวามีกำลังฟ้อนรำถวายพระราชาและถูกทรมานก็สงสารจนน้ำพระเนตรไหล เมื่อพระยานาคเงยหน้าดูเห็นพระมเหสีก็เกิดความละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดหลบอยู่ในกระโปรง<DD>

    <DD>ฝ่ายพระราชาเห็นอาการของพระยานาคราช ก็ทรงสงสัย ครั้นมองไปในอากาศเห็นพระนางสุมนาเทวี จึงตรัสถามว่า


    <DD class=story-color>"ท่านผู้มีความงามผ่องใส เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นเทพธิดา หรือคนธรรพ์ หรือเป็นหญิงมนุษย์ เหตุใดท่านจึงเศร้าหมองและนองด้วยหยาดน้ำตา ท่านมาที่นี้เพื่อประสงค์สิ่งใด"


    <DD>พระนางสุมนาเทวีจึงตอบว่า


    <DD class=story-color>"ข้าแต่พระราชา หม่อมฉันมิใช่เทพธิดา หญิงคนธรรพ์ หรือหญิงมนุษย์ แต่หม่อมฉันเป็นนาคกัญญาแห่งนาคนคร<DD class=story-color>

    <DD class=story-color>พระยานาคที่หมองูแสดงอยู่นั้นคือสวามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียเถิด"


    <DD>พระราชาตรัสถามว่า


    <DD class=story-color>"ดูก่อนนางนาคกัญญา นาคราชนั้นมีกำลังอันแรงกล้า ไฉนจึงถูกหมองูจับได้เล่า"


    <DD>พระนางสุมนาเทวีจึงกราบทูลให้พระราชาทรงทราบว่า อิทธิฤทธิ์ของพระยานาคนั้น เพียงพ่นลมหายใจ หมองูก็จะมอดไหม้เป็นกองเถ้า แต่พระยานาคราชนี้เป็นผู้รักษาศีลจึงสู้อุตส่าห์อดกลั้นรับความทุกข์ ด้วยเกรงว่าศีลนั้นจะขาด<DD>

    <DD>พระราชาได้ฟังแล้วจึงขอไถ่ตัวพระยานาคราชด้วยทอง ๑๐๐ แท่ง ภรรยารูปงาม ๒ คน โคอุสุภะ ๑๐๐ ตัว และแก้วมณีเป็นอันมาก แล้วให้ปล่อยตัวพระยานาค<DD>

    <DD>พระยานาคจึงได้กลายร่างเป็นมาณพน้อย ตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอันงดงาม ส่วนพระนางสุมนาเทวีก็ลอยมาจากอากาศมายืนเคียงข้างพระภัสดา<DD>

    <DD>พระยานาคราชได้ยืนประคองอัญชลี ขอบพระทัยพระราชา แล้วทูลเชิญเสด็จพระราชาไปชมทิพย์สมบัติอันโอฬารในนาคพิภพตลอด ๗ วัน เมื่อพระราชาเสด็จกลับ พระยานาคยังได้มอบทรัพย์สมบัติให้อีกหลายร้อยเล่มเกวียน


    <DD>[ พระเจ้าอุคคเสนราช มาเกิดเป็น พระสารีบุตร

    <DD>หมองู มาเกิดเป็น พระเทวทัต

    <DD>พระยาจัมเปยยนาคราช มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า

    <DD>พระนางสุมนาเทวี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา ]
    </DD>
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    คู่บารมีพระมหาชนก


    [​IMG]


    นางแก้วคู่บารมี


    เรียบเรียง โดย อังคาร

    ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่า มหาชนก ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ ทรงมีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ พระอริฏฐชนก กับพระโปลชนก

    <DD>เมื่อพระมหาชนกสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ และตั้งอนุชาคือพระโปลชนกเป็นอุปราช<DD>
    <DD>แต่มีอำมาตย์คนหนึ่งคอยทูลยุยงว่าพระโปลชนกจะชิงราชสมบัติ นานวันเข้าพระเจ้าอริฏฐชนกก็หลงเชื่อจึงให้จับพระโปลชนกจองจำไว้<DD>
    <DD>พระโปลชนกทรงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้คิดกบฏต่อพระเชษฐา ขอให้เครื่องจองจำทั้งหมดจงหลุดออก ตั้งสัตย์อธิษฐานเสร็จ เครื่องจองจำก็หลุดหักเป็นท่อนๆ และประตูก็เปิดออก พระโปลชนกจึงเสด็จหนีออกไปได้<DD>
    <DD>พระโปลชนกไปอาศัยอยู่นอกพระนคร ชาวบ้านที่จำพระองค์ได้ก็มาสมทบเป็นบริวาร เมื่อมากเข้าจึงยกกองทัพมาตีพระนคร พระอริฏฐชนกออกไปรบด้วยก็เสียทีสิ้นพระชนม์ในสนามรบ<DD>
    <DD>พระโปลชนกจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าโปลชนกสืบต่อมา
    <DD>พระเจ้าโปลชนกนั้นไม่ทรงมีพระโอรส มีแต่ราชธิดาองค์หนึ่งนามว่า เจ้าหญิงสีวลี<DD>
    <DD>เมื่อพระเจ้าโปลชนกกำลังจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงคิดวิธีหาคู่ครองที่เหมาะสมแก่ราชธิดา จึงได้ตรัสสั่งอำมาตย์กำหนดวิธีการคัดเลือกพระราชาองค์ใหม่ว่าต้องสามารถเสร็จกิจ ๔ ประการ คือ<DD>
    <DD>๑. เป็นผู้ที่พระราชธิดาสีวลียินดี
    <DD>๒. เป็นผู้รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม
    <DD>๓. เป็นผู้สามารถยกธนูหนักพันแรงคนยกขึ้นได้
    <DD>๔. เป็นผู้สามารถนำขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ แห่ง ที่พระองค์ทรงฝังไว้ออกมาได้ คือ ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ภายใน ขุมทรัพย์ภายนอก ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก ขุมทรัพย์ขาขึ้น ขุมทรัพย์ขาลง ขุมทรัพย์ที่ไม้รังใหญ่ทั้งสี่ ขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง ขุมทรัพย์ที่ปลายขนหาง ขุมทรัพย์ที่น้ำ ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้<DD>
    <DD>ต่อมาพระเจ้าโปลชนกก็สิ้นพระชนม์ หลังจากได้จัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายจึงได้ประชุมปรึกษากันว่า ใครเล่าจะเป็นที่ยินดีของพระราชธิดา<DD>
    <DD>ปรึกษากันแล้วมีความเห็นว่า เสนาบดีทั้งหลายแห่งพระราชานั้นคงเป็นที่ยินดีแก่พระราชธิดา จึงแจ้งให้เสนาบดีมาหาพระราชธิดา แต่พระราชธิดาสีวลีผู้ทรงปัญญาได้ทดลองสั่งเสนาบดีเหล่านั้น เสนาบดีก็ทำตามคำสั่งดังข้าราชบริพาร พระราชธิดาจึงเห็นว่าเสนาบดีเหล่านั้นไม่มีปัญญาเพียงพอ จึงไม่ทรงยินดี<DD>
    <DD>เมื่อไม่สามารถทำให้พระราชธิดายินดีได้ บรรดาอำมาตย์ก็ทดลองข้ออื่น คือ ผู้ที่รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ผู้ที่ยกธนูหนักพันแรงคนยก หรือผู้ที่รู้ขุมทรัพย์ แต่ก็ไม่มีผู้ใดเลยที่สามารถทำได้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง<DD>
    <DD>เมื่อหมดหนทางจะเสาะหาพระราชาองค์ใหม่ ตามวิธีของพระเจ้าโปลชนก ปุโรหิตจึงแนะนำให้แต่งราชรถมงคลเพื่อเสี่ยงทายหาผู้สืบราชสมบัติ ม้าเทียมราชรถมงคลอันวิจิตรก็พาราชรถนั้นทำประทักษิณพระราชนิเวศน์ แล้วขึ้นสู่ถนนใหญ่ ทำประทักษิณพระนคร แล้วออกทางประตูด้านตะวันออก บ่ายหน้าตรงไปยังอุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลาในอุทยานแล้วหยุดอยู่เตรียมรับเสด็จขึ้น<DD>
    <DD>ปุโรหิตที่ติดตามราชรถเสี่ยงทายไปเห็นมีบุรุษผู้หนึ่งนอนหลับอยู่บนศิลา จึงเรียกเหล่าอำมาตย์มาบอกว่า ท่านผู้นี้นอนอยู่บนแผ่นศิลา แต่ว่าพวกเรายังไม่รู้ว่าเขาจะมีปัญญาสมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่ ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีขึ้นโดยเร็วเถิด ถ้าเขาเป็นคนมีปัญญาเขาคงจะไม่ลุกขึ้น ไม่แลดู แต่ถ้าเป็นคนกาลกาลกิณี เขาก็จะตกใจกลัว ลุกขึ้นสะทกสะท้านและหนีไป<DD>
    <DD>เมื่อเสียงประโคมดนตรีดังขึ้นกึกก้อง บุรุษผู้นั้นก็ตื่นขึ้น ครั้นมองมาเห็นราชรถเสี่ยงทายแล้วก็ไม่ได้ตกใจ และไม่สนใจ พลิกตัวเอาผ้าคลุมโปงนอนต่อไป
    <DD>ปุโรหิตจึงเข้าไปตรวจดูเท้าของบุรุษผู้นั้น เมื่อเห็นลักษณะแล้วก็รู้ว่าเป็นมหาบุรุษ จึงสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้นอีก แล้วกล่าวเชิญบุรุษนั้นเข้าสู่พระราชวังเพื่อครองราชสมบัติ

    <DD>บุรุษผู้นี้แท้จริงแล้วคือพระมหาชนก โอรสของพระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนกซึ่งหลบหนีออกจากวังเมื่อพระเจ้าอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์<DD>
    <DD>พระนางนั้นเสด็จหนีออกมาทางประตูทิศอุดร มีท้าวสักกเทวราชจำแลงกายเป็นคนแก่ขับเกวียนพาพระนางไปส่งยังนครกาลจำปากะซึ่งอยู่ห่างออกไป ๖๐ โยชน์<DD>
    <DD>เมื่อถึงนครกาลจำปากะแล้ว พระมเหสีก็ได้ไปอาศัยอยู่กับอุทิจจพราหมณ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์อยู่ในนครกาลจัมปากะ<DD>
    <DD>ต่อมาพระมเหสีก็ประสูติพระโอรสนามว่า มหาชนกกุมาร และหลอกพระโอรสว่าเป็นบุตรของพราหมณ์<DD>
    <DD>มหาชนกกุมารนั้นเป็นเด็กมีกำลังและมีมานะเพราะเป็นชาติเชื้อกษัตริย์ เมื่อเล่นกับเด็กอื่นๆ ไม่ถูกใจก็จับเด็กอื่นตีบ้างลากบ้าง เด็กนั้นก็ร้องไห้บอกเพื่อนๆ ว่าลูกหญิงหม้ายรังแก<DD>
    <DD>มหาชนกกุมารจึงกลับไปถามพระมารดาว่าบิดาของพระองค์เป็นใคร พระมารดาตอบว่าบิดาของกุมารนั้นคืออุทิจจพรหามณ์<DD>
    <DD>วันรุ่งขึ้น มหาชนกกุมารก็บอกเพื่อนๆ ว่าพราหมณ์เป็นบิดาของเรา เด็กพวกนั้นพากันหัวเราะเยาะบอกว่าไม่ใช่<DD>
    <DD>มหาชนกกุมารรู้ว่าพระมารดาไม่บอกความจริง เมื่อถึงเวลาดื่มนม มหาชนกกุมารจึงกัดพระถันมารดาไว้ ถามว่า ใครเป็นบิดา ถ้าแม่ไม่บอก ฉันจะกัดพระถันของแม่ให้ขาด<DD>
    <DD>พระมารดาไม่อาจปิดพระโอรสได้อีก จึงตรัสบอกความจริงว่า บิดาคือพระเจ้าอริฎฐชนกแห่งกรุงมิถิลา พระบิดาถูกโปลชนกอนุชาปลงพระชนม์ ส่วนตัวแม่หนีมาสู่นครนี้ และได้อุทิจจพราหมณ์ช่วยดูแลให้แม่เป็นน้องสาว<DD>
    <DD>ตั้งแต่นั้นมา แม้ใครจะว่าเป็นบุตรหญิงหม้าย มหาชนกกุมารก็ไม่กริ้ว ตั้งใจว่าเมื่อเติบใหญ่จะไปทวงราชสมบัติคืน<DD>
    <DD>ครั้นมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี มหาชนกกุมารจำเริญวัยเป็นหนุ่มรูปงาม เล่าเรียนจบศาสตร์ต่างๆ ในสำนักของอุทิจจพราหมณ์แล้ว พระองค์ทรงคิดว่าถึงเวลาต้องกลับไปทวงราชสมบัติคืน จึงทูลถามว่าพระมารดามีทรัพย์สิ่งใดติดตัวมาบ้างหรือไม่ พระองค์จะขอเอาทรัพย์นั้นไปค้าขายเป็นทุนก่อนคิดอ่านในการชิงราชสมบัติกลับคืน<DD>
    <DD>พระมารดาจึงเอาบรรดาแก้วมณีที่นำติดตัวมาด้วยให้มหาชนก พระโอรสก็รับเอาทรัพย์กึ่งหนึ่งไปซื้อสินค้าและแต่งเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ

    <DD>เมื่อล่องเรือไปในมหาสมุทรได้ ๗ วัน ผ่านคลื่นลมที่รุนแรง เรือไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ทำท่าจะแตกลงกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงมีสติ รู้ว่าเรือจะอัปปาง จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนยเสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ประทับยืนเกาะเสากระโดงกำหนดทิศว่าเมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ เมื่อเรือจมลงก็ทรงกระโดดจากยอดเสาล่วงพ้นฝูงปลาและเต่าไปได้ด้วยพลกำลัง<DD>
    <DD>พระมหาชนกทรงว่ายน้ำอยู่กลางสมุทรเป็นเวลา ๗ วัน ทรงสังเกตพระจันทร์บนท้องฟ้ารู้ว่าวันนี้เป็นวันเพ็ญ จึงบ้วนพระโอฐด้วยน้ำเค็ม และสมาทานอุโบสถศีล<DD>
    <DD>ในกาลนั้น นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษาสมุทรเผลอเสวยทิพยสมบัติเพลินอยู่ ถึงวันที่ ๗ จึงได้ตรวจดู เห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่กลางสมุทร จึงรีบเหาะมาลอยอยู่กลางอากาศตรงหน้า<DD>
    <DD>นางมณีเมขลาต้องการลองพระทัยพระมหาชนก จึงถามว่า

    <DD class=story-color>"นี่ใครหนอ ยังอุตสาหะว่ายน้ำอยู่เพื่อประโยชน์อันใด ฝั่งมหาสมุทรอยู่ที่ไหนก็มองไม่เห็น"

    <DD>พระมหาชนกตรัสตอบว่า

    <DD class=story-color>"อันว่าความเพียรนั้นไม่เสียหาย แม้จะมองไม่เห็นฝั่งก็ต้องพยายาม สักวันหนึ่งจะต้องถึง"

    <DD>นางมณีเมขลากล่าวอีกว่า

    <DD class=story-color>"ฝั่งมหาสมุทรนั้นไกลจนประมาณไม่ได้ ความพยายามของท่านนั้นเปล่าประโยชน์ ท่านจะตายเสียก่อนจะถึงฝั่ง"

    <DD>พระมหาชนกตรัสตอบว่า

    <DD class=story-color>"แม้เราต้องตายด้วยความเพียร หมู่ญาติ เทวดา และพระพรหมทั้งหลายก็ไม่อาจติเตียนเราได้ เพราะเราได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว"

    <DD>นางมณีเมขลาถามต่อว่า

    <DD class=story-color>"การทำความพียรโดยมองไม่เห็นทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ ท่านจะเพียรพยายามไปทำไมกัน"

    <DD>พระมหาชนกตรัสตอบว่า

    <DD class=story-color>"ดูก่อนแม่เทพธิดา ถ้าเราละความเพียรเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านนั้น เหมือนลูกเรือทั้งหลายที่จมลงใต้มหาสมุทร เป็นอาหารของเต่าและปลา แต่เราตั้งอยู่ในความเพียร เราจึงยังว่ายน้ำอยู่ผู้เดียว ยังมีชีวิตอยู่ได้ในทะเลนี้ แม้หนทางสำเร็จจะมีเพียงเล็กน้อย เราก็จะพยายามสุดกำลังเพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้"

    <DD>นางมณีเมขลากล่าวสรรเสริญความเพียรของพระมหาชนกแล้ว จึงอุ้มพระมหาชนกพาไปวางไว้บนแผ่นศิลาในสวนมะม่วงแห่งมิถิลานคร ซึ่งพระมหาชนกก็บรรทมหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย<DD>
    <DD>เวลาเดียวกันนั้น ก็เป็นเวลาที่มิถิลานครกำลังเสี่ยงทายหาพระราชาองค์ใหม่ ซึ่งราชรถเสี่ยงทายก็ได้วิ่งตรงมาสู่พระมหาชนก บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายจึงอภิเษกพระมหาชนกเป็นกษัตริย์แห่งมิถิลานครสืบไป

    <DD>ฝ่ายพระราชธิดาสีวลี ต้องการจะลองปัญญาพระมหาชนก จึงตรัสสั่งราชบุรุษให้ไปทูลเชิญพระราชาองค์ใหม่มาเฝ้า ซึ่งหากพระมหาชนกไปหาและกระทำการนอบน้อมเหมือนเสนาอำมาตย์อื่นก็แสดงว่าไม่มีปัญญา แต่พระมหาชนกฟังคำทูลเชิญของราชบุรุษแล้วกลับแสร้งทำเป็นไม่ได้ยิน แม้พระราชธิดาจะทูลเชิญถึง ๓ ครั้ง พระมหาชนกก็ไม่ได้สนพระทัย พระราชธิดาจึงทรงคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาจริง<DD>
    <DD>วันหนึ่ง พระมหาชนกก็เสด็จไปหาพระราชธิดา เมื่อพระสีวลีเทวีราชธิดาทอดพระเนตรเห็นพระมหาชนกเสด็จมาก็ตกพระทัย รีบออกมารับเสด็จ พระมหาชนกทรงเกี่ยวพระกรพระราชธิดา ขึ้นประทับบนราชบัลลังก์ ภายใต้มหาเศวตฉัตร ตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งถามว่า พระราชาตรัสสั่งสิ่งใดไว้ก่อนสวรรคตบ้าง<DD>
    <DD>อำมาตย์จึงกราบทูลความ ๔ ข้อ ที่พระเจ้าโปลชนกตรัสสั่งไว้<DD>
    <DD>พระมหาชนกจึงตรัสว่า<DD>
    <DD>ข้อ ๑. พระนางสีวลีราชธิดาเสด็จมารับ ให้เกี่ยวพระกรของเธอแล้ว ข้อนี้เป็นอันว่า พระราชธิดายินดีแล้ว<DD>
    <DD>ข้อ ๒. พระมหาชนกทรงถอดเข็มทองคำบนพระเศียร ประทานให้พระนางสีวลีนำไปวางบนบัลลังก์สี่เหลี่ยม แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า ด้านที่พระราชธิดาวางเข็มทองคำนั้นคือหัวนอน<DD>
    <DD>ข้อ ๓. พระมหาชนกได้ทรงยกธนูหนักพันแรงคนยก ขึ้นได้ง่ายดุจยกกงดีดฝ้าย<DD>
    <DD>ข้อ ๔. เรื่องขุมทรัพย์ ๑๖ แห่ง พระมหาชนกก็สามารถไขปริศนาและขุดขุมทรัพย์ขึ้นมาได้ทั้งหมด<DD>
    <DD>ประชาชนทั้งหลายก็แซ่สร้องสรรเสริญว่าพระราชานี้ทรงเป็นบัณฑิต<DD>
    <DD>พระมหาชนก ทรงอภิเษกสมรสและแต่งตั้งให้พระนางสีวลีเป็นอัครมเหสี ทรงปกครองมิถิลานครด้วยทศพิธราชธรรม และทรงโปรดให้รับพระมารดาและพราหมณ์มาอยู่ที่มิถิลานคร และให้สร้างศาลาโรงทานหกหลัง คือท่ามกลางพระนครหนึ่ง ที่ประตูพระนครทั้งสี่ และที่ประตูพระราชนิเวศน์หนึ่ง

    <DD>พระมหาชนกครองราชสมบัติติดต่อมาได้ ๗,๐๐๐ ปี มีพระโอรสองค์หนึ่งนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร<DD>
    <DD>วันหนึ่ง นายอุทยานนำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆ มาถวาย พระมหาชนกอยากชมอุทยานผลไม้นั้น จึงทรงช้างเสด็จประพาสอุทยาน<DD>
    <DD>ที่ใกล้ประตูพระราชอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงสองต้นมีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นหนึ่งมีผล ผลนั้นมีรสหวานและหอมมาก แต่ใครๆ ก็ไม่อาจเก็บผลจากต้นนั้น เพราะพระราชายังมิได้เสวย<DD>
    <DD>พระมหาชนกประทับบนคอช้าง ทรงเก็บเอาผลหนึ่งมาเสวย เป็นผลมะม่วงที่อร่อยดุจผลไม้ทิพย์ จึงตั้งใจจะเสวยอีกเวลาเสด็จกลับ<DD>
    <DD>เมื่อพระราชาเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยานแล้ว คนอื่นๆ ทั้งอุปราชจนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้า รู้ว่าพระราชาเสวยผลมะม่วงต้นนี้แล้ว ก็แย่งชิงกันเก็บเอาผลมากินกันจนต้นมะม่วงนั้นหักทำลายและโค่นลง<DD>
    <DD>เมื่อพระมหาชนกเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่าทำไมต้นมะม่วงนี้จึงหักโค่นลง อำมาตย์กราบทูลว่ามหาชนแย่งชิงผลมะม่วงที่มีรสอร่อยกัน ส่วนอีกต้นหนึ่งที่ไม่มีผลยังปลอดภัย<DD>
    <DD>พระราชาทรงสดับดังนั้นจึงดำริว่า ต้นไม้นี้มีวรรณะสดเขียวตั้งอยู่ได้เพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักโค่นลงเพราะมีผล ราชสมบัตินี้ก็เหมือนผลมะม่วง เราจะไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล เราจะเป็นเหมือนต้นไม้หาผลมิได้<DD>
    <DD>คิดดังนั้นแล้ว พระมหาชนกก็อธิษฐานเป็นดังผู้ออกบวช เสด็จขึ้นประทับบนปราสาท ให้เข้าเฝ้าได้เฉพาะผู้เชิญเครื่องเสวยเท่านั้น<DD>
    <DD>ล่วงไป ๔ เดือน พระมหาชนกก็ปรารถนาจะออกบวชอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษให้นำผ้าย้อมฝาดและบาตรดินมาให้ ทรงปลงพระเกศา เปลี่ยนเครื่องทรงเป็นบรรพชิต เสด็จจงกรมไปมาในปราสาทตลอดวันนั้น เช้าวันรุ่งขึ้นก็เสด็จลงจากปราสาท<DD>
    <DD>วันนั้น พระนางสีวลี ได้ตรัสเรียกพระสนม ๗๐๐ นาง ให้ตามเสด็จไปเฝ้าพระมหาชนก พระนางเดินสวนกับพระมหาชนกก็จำไม่ได้ คิดว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงถวายความเคารพแล้วยืนหลบอยู่ เมื่อขึ้นไปบนปราสาท เห็นพระเกศาตกหล่นอยู่จึงได้รู้ว่าพระมหาชนกออกบวชแล้ว<DD>
    <DD>พระนางสีวลีรีบเสด็จตามพระมหาชนก ไปทันกันที่หน้าพระลาน ทูลอัญเชิญให้เสด็จกลับ แต่พระราชาก็ไม่เสด็จกลับ แม้พระเทวีและพระสนมจะจับพระบาทร้องไห้อ้อนวอนอย่างไรก็พระทัยแข็งอยู่<DD>
    <DD>พระนางสีวลี จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปจุดไฟเผาเรือนเก่าศาลาเก่า แล้วกราบทูลพระมหาชนกว่าไฟไหม้กรุงมิถิลา<DD>
    <DD>พระมหาชนกตรัสตอบว่า กรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญ แต่ของอะไรๆ ส่วนตัวของเรายังมิได้ถูกเผาผลาญเลย<DD>
    <DD>ตรัสแล้ว พระมหาชนกก็เสด็จออกทางประตูทิศอุดร<DD>
    <DD>พระนางสีวลี จึงรับสั่งให้อำมาตย์จัดทหารมาแสดงเหตุการณ์ให้เหมือนโจรเข้าปล้นฆ่าชาวบ้าน แล้วไปกราบทูลพระมหาชนก<DD>
    <DD>พระมหาชนกรู้ว่าเป็นอุบายของพระเทวี จึงตรัสว่า เมื่อมิถิลาถูกโจรปล้น พวกโจรมิได้นำอะไรๆ ของเราไปเลย<DD>
    <DD>พระมหาชนกเสด็จดำเนินต่อไป โดยมีพระเทวีและมหาชนจำนวนมากติดตามเสด็จ<DD>
    <DD>พระมหาชนกทรงตรัสถามผู้ติดตามมา ว่าใครคือพระราชาของท่าน มหาชนกราบทูลว่าคือพระองค์ พระมหาชนกจึงขีดเส้นลงบนพื้น ตรัสว่า ถ้าใครทำขีดนี้ของพระราชาขาดทำลาย ให้ลงโทษคนผู้นั้น<DD>
    <DD>ตรัสแล้วก็เสด็จดำเนินต่อไป พระเทวี อำมาตย์ และมหาชน ก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ตรงนั้นไม่กล้าก้าวข้ามไป จนเส้นบนพื้นเลือนหายไปเองจึงได้ติดตามพระมหาชนกต่อไป<DD>
    <DD>ในกาลนั้น พระนารทะดาบส ตรวจดูด้วยญาน เห็นพระมหาชนกออกบวช พระดาบสเกรงว่าพระมหาชนกจะแพ้ภัยพระเทวีและผู้ติดตาม จึงเหาะมาลอยในอากาศอยู่ตรงหน้าพระมหาชนก ให้โอวาทว่า เมื่อทรงเพศบรรพชิตแล้ว อย่าถือองค์ว่าเป็นกษัตริย์ ให้สมาคมด้วยสัตบุรุษ อย่าเบื่อหน่ายในการรักษาศีล บริกรรม เข้าฌาน และบำเพ็ญพรหมจรรย์ ให้โอวาทเสร็จแล้วก็เหาะกลับไป<DD>
    <DD>พระดาบสอีกรูปหนึ่ง ชื่อว่า มิคาชินะ ก็เหาะมาปรากฏแก่พระมหาชนก ถวายโอวาทให้เป็นผู้ไม่ประมาท แล้วเหาะกลับไปยังที่อยู่ของตน<DD>
    <DD>เมื่อมิคาชินะดาบสกลับไปแล้ว พระนางสีวลีก็เสด็จมาทัน กราบทูลพระสวามีว่า ขอให้พระองค์จงกลับไปอภิเษกราชโอรสขึ้นเป็นพระราชาก่อนแล้วค่อยบวช พระมหาชนกตรัสตอบว่า สมณะ เป็นผู้ไม่มีบุตร พระโอรสนั้นเป็นบุตรของชาวมิถิลา จึงให้ชาวมิถิลาเป็นผู้อภิเษก ตรัสแล้วก็เสด็จดำเนินต่อไป โดยมีพระเทวีตามหลังมิได้ห่าง<DD>
    <DD>เมื่อเสด็จถึงถูนนคร พระมหาชนกทรงเห็นเนื้อก้อนหนึ่งที่สุนัขขโมยมา และทิ้งไว้ที่กลางทาง พิจารณาแล้วว่าเป็นเนื้อไม่มีเจ้าของ จึงหยิบเนื้อนั้นใส่บาตร แล้วไปนั่งเสวยอยู่ริมทาง<DD>
    <DD>พระเทวีทรงดำริว่า พระมหาชนกเสวยเนื้อที่น่าเกลียดเช่นนี้แล้ว แม้ราชสมบัติพระองค์ก็คงไม่ใยดี และคงจะไม่เสด็จกลับเป็นแน่ แต่ด้วยความอาลัย พระนางก็ยังสู้เสด็จติดตามพระสวามีต่อไป<DD>
    <DD>เมื่อเสด็จถึงประตูถูนนคร พระมหาชนกเห็นกุมารีนางหนึ่งเล่นทรายอยู่ ข้อมือข้างหนึ่งสวมกำไลหนึ่งอันไม่มีเสียงดัง แต่ที่ข้อมืออีกข้างหนึ่งสวมกำไลสองอันจึงมีเสียงกำไลดังกระทบกัน พระมหาชนกจึงคิดอุบายถามกุมารีว่า เหตุใดกำไลนี้จึงมีเสียงดัง<DD>
    <DD>กุมารีนั้นกล่าวว่า ข้าแต่พระสมณะ เสียงเกิดจากกำไลสองอันกระทบกัน เหมือนบุคคลสองคนอยู่ร่วมกันจึงวิวาทกัน ท่านเป็นเพศนักบวช จงเที่ยวไปคนเดียวเถิด อย่าได้พาภริยารูปงามนี้เที่ยวไปเลย ภริยานี้จะทำอันตรายแก่เพศบรรพชิตของท่าน<DD>
    <DD>พระมหาชนกจึงหันมาบอกพระเทวีว่า ต่อไปเราอย่าร่วมทางกันให้เป็นที่ติเตียนอีกเลย เราไม่ได้เป็นสวามีของเธอ และเธอก็ไม่เป็นมเหสีของเราอีก<DD>
    <DD>พระนางสีวลีได้ฟังพระดำรัสของพระมหาชนกแล้ว กราบทูลว่าพระองค์จงถือเอาทางเบื้องขวา ส่วนข้าพระองค์จะถือเอาทางเบื้องซ้าย กราบทูลแล้วเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูรไว้ได้ก็เสด็จร่วมทางมาอีก จนเข้าถูนนครด้วยกัน<DD>
    <DD>เมื่อเสด็จเข้าพระนครแล้ว พระมหาชนกก็ไปบิณฑบาตจนมาถึงเรือนนายช่างศร เห็นช่างศรกำลังหลับตาเล็งและดัดลูกศรให้ตรง<DD>
    <DD>พระมหาชนกจึงตรัสถามช่างศรเป็นอุบายว่า เหตุใดท่านจึงหลับตาดูลูกศรด้วยตาเพียงข้างเดียว<DD>
    <DD>ช่างศรกล่าวว่า เล็งลูกศรด้วยตาสองข้างไม่อาจสำเร็จเพราะความพร่ามัว ต้องเล็งด้วยตาข้างเดียวจึงจะเห็นชัด ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์ ท่านชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวและบำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด อย่าพาภริยานี้เที่ยวไปเลย ภริยานี้จะทำอันตรายแก่ท่าน<DD>
    <DD>พระมหาชนกจึงหันมาตรัสบอกพระเทวีว่า ต่อไปเราอย่าร่วมทางกันให้เป็นที่ติเตียนอีกเลย เราไม่ได้เป็นสวามีของเธอ และเธอก็ไม่เป็นมเหสีของเราอีก เราจงเดินแยกทางกันเถิด<DD>
    <DD>พระเทวีได้ฟังคำตัดขาดของพระสวามี ไม่อาจกลั้นความโศกาดูรได้ จึงทรงกรรแสงและสิ้นสติล้มลง พระมหาชนกก็เสด็จเข้าสู่ป่าไป<DD>
    <DD>เมื่อฟื้นคืนสติมาแล้ว พระนางเจ้าสีวลีก็เสด็จกลับพระนคร อภิเษกทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วโปรดให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์ ในตำบลที่พระมหาชนกตรัสกับช่างศร ตรัสกับกุมารี และตรัสกับดาบสทั้งสอง และจัดหาของหอมมาบูชา แล้วพระนางก็ถือบวชอยู่ในอุทยานหลวงอยู่จนสิ้นพระชนม์

    <DD>[ อุทิจจพราหมณ์ มาเกิดเป็น พระกัสสปะ
    <DD> นางมณีเมขลา มาเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี
    <DD> นารทดาบส มาเกิดเป็น พระสารีบุตร
    <DD> มิคาชินดาบส มาเกิดเป็น พระโมคคัลลานะ
    <DD> นางกุมาริกา มาเกิดเป็น พระเขมาเถรี
    <DD> ช่างศร มาเกิดเป็น พระอานนท์
    <DD> สีวลีเทวี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา
    <DD> ทีฆาวุกุมาร มาเกิดเป็น พระราหุล
    <DD> พระมหาชนก มาเกิดเป็น พระสมณโคตมพุทธเจ้า ] </DD>
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,900
    ภริยามโหสถ



    [​IMG]


    นางแก้วคู่บารมี


    เรียบเรียง โดย อังคาร


    ในอดีตกาล พระเจ้าวิเทหราชเป็นกษัตริย์ปกครองมิถิลานคร พระองค์มีราชบัณฑิต ๔ คน คือ เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และเทวิน
    <DD>ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นบุตรของสิริวัฒกะเศรษฐีกับนางสุมนา ในขณะที่เกิด ท้าวสักกเทวราชได้นำแท่งโอสถมาใส่มือให้ แท่งโอสถนี้ต่อมาได้ใช้รักษาโรคปวดหัวของสิริวัฒกะเศรษฐีจนหาย และยังรักษาชาวเมืองได้อีกมากมาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรชายว่า มโหสถ</DD>
    <DD>
    <DD>มโหสถเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งเมื่อมีอายุได้ ๗ ขวบ มโหสถเล่นกับสหาย พอดีมีลมฝนพัดมา ทุกคนต่างก็วิ่งหนีเข้าศาลา บางคนหกล้ม บางคนเหยียบกัน มโหสถจึงคิดว่าถ้าสร้างศาลาเสียก็จะมีที่เล่น ไม่ต้องหนีฝนให้ลำบากอีก จึงชวนสหายให้เอาเงินมารวมกันคนละหนึ่งกหาปณะเพื่อใช้สร้างศาลา<DD>
    <DD>มโหสถออกแบบศาลาให้มีทั้งสนามเด็กเล่น ห้องวินิจฉัยคดี และห้องพักสำหรับคนเดินทาง ภายในก็ให้ช่างเขียนมาเขียนจิตรกรรมจนงามเหมือนสุธรรมาศาลาในเทวโลก<DD>
    <DD>เมื่อสร้างศาลาเสร็จแล้ว มโหสถก็ให้สร้างสระโบกขรณีที่ดารดาษด้วยปทุมชาติ ๕ ชนิด ให้สร้างสวนปลูกไม้ดอกและไม้ผลอยู่ริมสระ และใช้ศาลานั้นเป็นที่เล่น เป็นที่วินิจฉัยคดี เกียรติคุณของมโหสถจึงเป็นที่กล่าวขานไปไกล<DD>
    <DD>ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ในวันที่มโหสถเกิดนั้น พระองค์ทรงพระสุบิน โหราจารย์ได้ทำนายว่าจะมีบัณฑิตมาเกิดใหม่ บัณฑิตผู้นี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าบัณฑิตทุกคน บัดนี้กาลเวลาผ่านมา ๗ ปีแล้ว พระองค์จึงส่งอำมาตย์ออกตามหาผู้ที่เกิดมาเป็นบัณฑิตคนที่ ๕ นี้<DD>
    <DD>อำมาตย์ตามหาบัณฑิตที่ ๕ จนมาถึงศาลาของมโหสถ เห็นความมหัศจรรย์ของศาลาก็รู้ว่าคนทำต้องมีปัญญา เมื่อสอบถามรู้ว่าบุตรสิริวัฒกะเศรษฐีอายุ ๗ ขวบเป็นผู้สร้าง สอดคล้องกับพระสุบิน จึงได้ส่งทูตกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชทรงมีพระทัยยินดี จะรับมโหสถเข้าวัง แต่บัณฑิตทั้ง ๔ กราบทูลคัดค้านว่าใครๆ ก็สร้างศาลาได้ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นบัณฑิตจริง<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชจึงให้อำมาตย์คอยพิจารณามโหสถต่อไป ซึ่งอำมาตย์ก็เห็นมโหสถใช้สติปัญญาต่างๆ แต่บัณฑิตทั้ง ๔ ก็ยังคัดค้านเรื่อยมา<DD>
    <DD>อำมาตย์ที่คอยเฝ้าดูมโหสถนั้น ได้เห็นมโหสถใช้ปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การไล่เหยี่ยวเพื่อชิงชิ้นเนื้อคืน การพิสูจน์หาเจ้าของโค การพิสูจน์หาแม่ของเด็กตัวจริง การตัดสินหาเจ้าของเครื่องประดับตัวจริง เป็นต้น<DD>
    <DD>ในที่สุด พระเจ้าวิเทหราชก็รับสั่งให้นำมโหสถมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งรับสั่งให้พาบิดาและนำม้าอัสดรมาด้วย มโหสถจึงขอให้บิดานำม้าอัสดรมาเข้าเฝ้าก่อน ส่วนตนเองจะตามมาทีหลัง และได้นัดแนะแผนกับบิดาไว้ก่อน<DD>
    <DD>สิริวัฒกะเศรษฐีนำม้าอัสดรมาเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช แล้วนั่งอยู่ในที่อันควรรออยู่ ฝ่ายมโหสถก็จับฬามาตัวหนึ่งมาเข้าเฝ้าทีหลัง เมื่อมาถึง บิดาก็ลุกให้มโหสถผู้เป็นบุตรลงนั่งแทนที่ตน บัณฑิตทั้งหลายจึงพากันหัวเราะเยาะ พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเสียพระทัย ตรัสว่าบิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตร มโหสถให้บิดาลุกให้นั่งนั้นไม่สมควร<DD>
    <DD>มโหสถกราบทูลว่า หากพระราชาเห็นว่าบิดาประเสริฐกว่าบุตรก็ให้รับฬาที่ตนนำมา เพราะฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร และหากเห็นว่าบิดาประเสริฐกว่าบุตร ก็ควรรับบิดาของตนไว้เป็นบัณฑิต<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชทรงพอพระทัยในสติปัญญา จึงรับมโหสถไว้เป็นราชบุตร มโหสถจึงได้รับราชการอยู่ในพระนคร<DD>
    <DD>ในกาลนั้น ปรากฏมีแสงแก้วมณีในสระโบกขรณี พระเจ้าวิเทหราชรับสั่งให้เสนกบัณฑิตนำแก้วมณีขึ้นมาถวาย เสนกบัณฑิตจึงระดมพลมาวิดน้ำจนหมดสระแต่ก็หาแก้วมณีไม่พบ ครั้นปล่อยน้ำลงไป แก้วมณีก็ปรากฏขึ้นอีก เสนกบัณฑิตวิดน้ำซ้ำก็ยังหาแก้วมณีไม่พบ<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชจึงรับสั่งให้มโหสถเป็นผู้หาแก้วมณี<DD>
    <DD>มโหสถไปยืนที่ฝั่งสระโบกขรณี แลดูก็รู้ว่าที่เห็นเป็นเพียงเงา แก้วมณีจริงไม่ได้อยู่ในสระ แต่อยู่บนยอดตาล จึงให้คนปีนไปนำแก้วมณีลงมาถวายพระเจ้าวิเทหราชได้<DD>
    <DD>วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสราชอุทยานกับพระนางอุทุมพรมเหสี ระหว่างทาง พระนางอุทุมพรทอดพระเนตรเห็นชายรับจ้างถางหญ้าคนหนึ่งที่ริมทาง พระนางก็ทรงพระสรวล พระเจ้าวิเทหราชทรงตรัสถาม พระมเหสีกราบทูลว่าบุรุษนั้นเคยเป็นสามีของพระนาง แต่เขาเป็นกาลกิณี ไม่อาจอยู่ร่วมกับพระนางซึ่งเป็นศรีได้ จึงได้เป็นแค่คนตัดหญ้า<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชไม่ทรงเชื่อ จะประหารพระมเหสี แต่ก่อนประหาร พระองค์ได้ตรัสถามมโหสถก่อน มโหสถก็กราบทูลว่ากาลกิณีนั้นไม่อาจอยู่ร่วมกับศรีได้จริง เหมือนท้องฟ้าย่อมไม่อยู่ร่วมกับแผ่นดิน เหมือนฝั่งมหาสมุทรสองฝั่งไม่อาจอยู่ร่วมกัน<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชจึงหายกริ้ว ไม่ทรงลงโทษพระมเหสี พระมเหสีจึงทูลขอมโหสถเป็นพระอนุชาของพระนาง<DD>
    <DD>เรื่องชายตัดหญ้ากับพระนางอุทุมพรนี้มีที่มา คือ พระนางอุทุมพรเป็นธิดาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ และชายรับจ้างเป็นศิษย์คนโตของบิดานาง ตามธรรมเนียมนั้นอาจารย์จะยกธิดาให้แก่ศิษย์คนโต ดังนั้นเมื่อมาณพคนนี้เรียนจบ ก่อนกลับบ้านเมืองอาจารย์ก็ยกธิดาให้เป็นภริยา<DD>
    <DD>แต่เนื่องจากมาณพคนนี้เป็นกาลกิณี ไม่คู่ควรกับสตรีผู้เป็นศรี ไม่อาจร่วมห้องหรือร่วมเตียงกันได้ แม้แต่เดินคู่กันก็อึดอัดลำบากใจ มาณพนั้นจึงคิดหาทางหนีอยู่ตลอดเวลา<DD>
    <DD>วันหนึ่ง มาณพปีนขึ้นไปเก็บผลมะเดื่อกิน ภริยาอยู่โคนต้นร้องขอมะเดื่อกินบ้าง มาณพบอกว่าให้ขึ้นไปเก็บเอาเอง นางจึงปีนขึ้นไปเก็บลูกมะเดื่อ มาณพได้ทีรีบโดดลงมา แล้วเอาหนามมาวางสุมโคนมะเดื่อไว้ไม่ให้นางลงมาได้ แล้วรีบหนีไป<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับจากประพาสอุทยานผ่านมา เห็นนางกุมารีอยู่บนต้นมะเดื่อ เกิดจิตปฏิพัทธ์ เมื่อซักถามรู้ความว่านางไม่มีเจ้าของ จึงรับนางมาแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสี พร้อมทั้งเรียกนามพระนางว่าอุทุมพรเทวี ตามชื่อของต้นมะเดื่อ<DD>
    <DD>มโหสถรับราชการจนมีอายุได้ ๑๖ ปี พระนางอุทุมพรเทวีทรงดำริว่า บัดนี้น้องชายของเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราควรจะทำอาวาหมงคลแก่เธอ แต่มโหสถคิดว่านางกุมารีที่พระนางอุทุมพรหาให้อาจไม่เป็นที่ชอบใจ จึงกราบทูลว่าจะขอเวลาหากุมารีที่จะมาเป็นภริยาเอง<DD>
    <DD>แล้วมโหสถก็ปลอมตนเป็นช่างชุนผ้าออกเดินทางเสาะหาภริยาลำพังคนเดียว<DD>
    <DD>ครั้งนั้น พระนางพิมพาเกิดเป็นนางอมรากุมารี ธิดาของตระกูลเศรษฐีเก่า แต่บัดนี้กลับยากจนลง<DD>
    <DD>วันหนึ่ง อมรากุมารีนำอาหารไปให้บิดาและเดินสวนทางกับมโหสถ พอเห็นหน้ามโหสถ นางก็คิดว่ามาณพนี้เป็นคนฉลาด หากได้เป็นสามีก็จะทำให้ตระกูลมั่งคั่ง<DD>
    <DD>ส่วนมโหสถเห็นหน้านางก็คิดว่านางเป็นคนมีปัญญา อยากรู้ว่านางมีสามีหรือยัง จึงกำมือเข้าเป็นสัญญานถาม อมรากุมารีรู้ความหมายจึงแบมือเป็นสัญญานว่านางยังไม่มีสามี<DD>
    <DD>พอมโหสถรู้ว่านางยังไม่มีสามี จึงเข้าไปใกล้ถามว่า

    <DD class=story-color>มโหสถ นางผู้เจริญ เธอชื่ออะไร<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ข้าแต่นาย สิ่งใดไม่มีในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบัน สิ่งนั้นเป็นชื่อของดิฉัน<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ ชื่อว่าความไม่ตายไม่มีในโลก ฉะนั้นเธอจึงชื่อว่า อมรา<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ถูกแล้ว นาย<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ เธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อใคร<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ข้าพเจ้านำไปเพื่อบุรพเทวดา<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ บิดามารดาชื่อว่าบุรพเทวดา เธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อบิดาของเธอใช่หรือไม่<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ถูกแล้ว<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ บิดาของเธอทำงานอะไร<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี บิดาของดิฉันทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ แน่ะนางผู้เจริญ การไถนาชื่อว่าการทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง บิดาของเธอไถนาใช่หรือไม่<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ถูกแล้ว<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ บิดาของเธอไถนาอยู่ที่ไหน<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ชนทั้งหลายไปในที่ใดคราวเดียว ภายหลังไม่กลับมา บิดาของดิฉันไถนาในที่นั้นแล<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ ป่าช้าชื่อว่าสถานที่แห่งชนทั้งหลายไปคราวเดียว ภายหลังไม่กลับ ชะรอยบิดาของเธอจะไถนาในที่ใกล้ป่าช้า<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ถูกแล้ว<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ แน่ะนางผู้เจริญ วันนี้เธอจะกลับหรือไม่กลับ<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ข้าแต่นาย ถ้ามาฉันจะยังไม่กลับ ถ้าไม่มาฉันจักกลับ<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>มโหสถ แน่ะนางผู้เจริญ บิดาของเธอชะรอยจักไถนาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ครั้นเมื่อน้ำมาเธอจักไม่กลับ ครั้นเมื่อน้ำไม่มาเธอจักกลับ<DD class=story-color>
    <DD class=story-color>อมรากุมารี ถูกเจ้าค่ะ

    <DD>ทั้งสองเจรจาโต้ตอบกัน แล้วอมรากุมารีก็เชิญมโหสถให้ดื่มข้าวต้ม มโหสถดื่มข้าวต้มเสร็จจึงถามทางไปเรือนของนาง และแยกทางกันไป<DD>
    <DD>มโหสถเดินไปตามทางที่อมรากุมารีบอก ไปพบมารดาของอมราเทวี บอกว่าตนเองเป็นช่างชุนผ้า มารดาอมราเทวีบอกว่าผ้ามี แต่ค่าจ้างไม่มี มโหสถบอกว่าตนไม่เอาค่าจ้าง นางจึงเอาผ้าเก่าๆ มาให้ชุน<DD>
    <DD>เมื่อชุนผ้าเสร็จ มโหสถก็บอกมารดาอมรากุมารีให้ไปบอกชาวบ้านว่าตนมารับจ้างชุนผ้า ชาวบ้านก็นำผ้ามาให้ชุน เพียงวันเดียวก็ได้ค่าจ้างถึงพันหนึ่ง<DD>
    <DD>มโหสถพักอยู่ในบ้านของอมรากุมารีเพื่อสังเกตนาง วันหนึ่งได้บอกให้นางใช้ข้าวสารกึ่งทะนาน ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงข้าวสวย<DD>
    <DD>นางอมรารับคำสั่งแล้วก็ตำข้าว เอาข้าวสารที่สมบูรณ์ต้มเป็นข้าวต้ม เอาข้าวสารหักมาหุงเป็นข้าวสวย เอาปลายข้าวทำขนม แล้วประกอบกับข้าวสำหรับข้าวสวยข้าวต้มนั้น<DD>
    <DD>นางอมรายกข้าวต้มมาก่อน รสข้าวต้มนั้นอร่อยถูกปากมาก แต่มโหสถก็แกล้งคายทิ้ง แกล้งว่านางหุงข้าวต้มไม่เป็น<DD>
    <DD>นางอมราไม่ได้รู้สึกโกรธ บอกว่าถ้าข้าวต้มไม่อร่อยก็ลองชิมขนมดู มโหสถก็ทำอาการไม่อร่อยและพูดอย่างเดิม<DD>
    <DD>นางอมราจึงกล่าวว่า ถ้าขนมไม่อร่อย ท่านจงกินข้าวสวย แล้วยกข้าวสวยมาให้ มโหสถก็ทำเป็นขัดเคือง ขยำข้าวต้มข้าวสวยและขนมเข้าด้วยกัน แล้วเอามาทาตัวนางอมราแล้วไล่ให้นางไปยืนอยู่ที่ประตู<DD>
    <DD>นางอมราไปยืนที่ประตู ประนมมือกล่าวว่า ดีจ้ะนาย มโหสถพอใจจึงเรียกนางอมรากุมารีให้เข้าไปหา แล้วหยิบผ้าสาฎกจากในไถ้ผืนหนึ่งส่งให้นาง บอกให้นางอาบน้ำชำระกายแล้วใช้ผ้านี้แต่งกายมา เมื่อนางอมราทำตามคำสั่งแล้ว มโหสถก็เอาทรัพย์ที่ได้จากการชุนผ้า พร้อมทั้งทรัพย์อีกพันกหาปณะที่เตรียมมามอบให้บิดามารดา ขอนางอมราเป็นภริยา และพานางเดินทางกลับนคร<DD>
    <DD>ระหว่างเดินทางกลับ เมื่อเดินเข้าป่า นางอมราก็จะกางร่ม แต่เมื่อเดินในที่โล่ง นางกลับเก็บร่ม เมื่อเดินในที่แห้ง นางอมราก็ถอดรองเท้าเดิน แต่เมื่อมีน้ำขัง นางกลับสวมรองเท้า มโหสถจึงถามว่าเหตุใดนางจึงทำเช่นนั้น<DD>
    <DD>อมรากุมารีตอบว่า ในป่ามีต้นไม้เยอะ ไม่รู้ว่าจะมีอะไรตกใส่ศีรษะหรือเปล่าจึงกางร่ม แต่เดินกลางแจ้งนั้นไม่มีอะไรตกใส่ศีรษะแน่จึงเก็บร่มเสีย ส่วนเดินในที่แห้งมองเห็นว่าพื้นไม่มีอันตรายจึงถอดรองเท้า แต่ในที่น้ำขังมองไม่เห็นว่ามีเศษไม้เศษหินหรืออะไรที่เป็นอันตรายหรือไม่ จึงสวมรองเท้า<DD>
    <DD>มโหสถได้ฟังก็นึกชมปัญญาของนาง<DD>
    <DD>เดินทางมาถึงต้นพุทราต้นหนึ่ง มโหสถใช้ให้นางอมราขึ้นไปเก็บลูกพุทรา อมรากุมารีถามว่าจะกินร้อนหรือกินเย็น มโหสถตอบว่ากินร้อน อมรากุมารีก็เก็บพุทราโยนลงบนฝุ่น มโหสถต้องเก็บมาเป่าก่อนกิน พอบอกว่าจะกินเย็น อมรากุมารีก็โยนผลพุทราลงบนหญ้า มโหสถก็เก็บกินได้ทันทีโดยไม่ต้องเป่าก่อน<DD>
    <DD>เมื่อถึงพระนคร มโหสถพาอมรากุมารีไปฝากไว้ที่เรือนคนเฝ้าประตู แล้วสั่งให้บุรุษนำทรัพย์พันกหาปณะไปเกี้ยว อมรากุมารีเห็นว่าบุรุษนั้นไม่คู่ควรเท่าสามีของตนจึงไม่สนใจ แม้มโหสถจะส่งบุรุษมาถึง ๓ ครั้งนางก็ไม่สนใจ มโหสถจึงสั่งให้บุรุษไปฉุดนางมา<DD>
    <DD>เมื่ออมรากุมารีมาพบมโหสถที่เป็นเศรษฐีก็จำไม่ได้ นางแลดูมโหสถแล้วหัวเราะแล้วร้องไห้ มโหสถซักถามถึงเหตุทั้งสองนั้น นางก็บอกว่า

    <DD class=story-color>"ข้าแต่นาย ดิฉันเห็นสมบัติของท่าน ก็รู้ว่าท่านทำกุศลไว้ในปางก่อนจึงได้สมบัตินี้ โอ.. ผลบุญทั้งหลายน่าอัศจรรย์หนอ นึกในใจดังนี้จึงได้หัวเราะ ก็เมื่อดิฉันร้องไห้ ก็ร้องไห้ด้วยความกรุณาในตัวท่าน ด้วยสงสารว่าบัดนี้ท่านมาทำร้ายในวัตถุที่คนอื่นปกครองหวงแหน ท่านจะต้องไปสู่นรก"

    <DD>มโหสถจึงให้บุรุษพานางส่งกลับไปที่เรือนเดิม แล้วไปกราบทูลให้พระนางอุทุมพรทรงทราบ พระนางอุทุมพรจึงส่งวอไปรับ ให้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง แล้วจัดพิธีอาวาหมงคลอมรากุมารีกับมโหสถอย่างยิ่งใหญ่<DD>
    <DD>อมรากุมารีกับมโหสถอยู่ร่วมกันมาได้ระยะหนึ่ง บัณฑิตทั้งสี่ก็วางแผนใส่ร้ายมโหสถ โดยสี่บัณฑิตได้ไปขโมยพระจุฬามณี สุวรรณมาลา ผ้าคลุมบรรทมกัมพล และราชาภรณ์ ของพระเจ้าวิเทหราชมา แล้วให้นางทาสีนำไปหลอกขายที่เรือนมโหสถ<DD>
    <DD>นางอมราเห็นว่ามีพิรุธ จึงรับซื้อไว้ แต่ได้ให้นางทาสีนั้นทำบันทึกให้ว่าชื่ออะไร มาจากเรือนไหน และนำอะไรมาขาย ราคาเท่าไร<DD>
    <DD>ต่อมา บัณฑิตทั้งสี่ก็เพ็ดทูลพระเจ้าวิเทหราชว่ามโหสถขโมยสิ่งของพระราชาไป พระเจ้าวิเทหาราชทรงกริ้วมโหสถ สั่งให้ทหารมาจับตัว แต่มโหสถรู้ตัวจึงแอบหลบหนีไปก่อนและหลบไปเป็นช่างหม้ออยู่นอกเมือง<DD>
    <DD>ฝ่ายบัณฑิตทั้งสี่ ต่างคนต่างไปหานางอมราที่เรือน นางอมราก็วางแผนขุดหลุมพาดไม้กระดานไว้ เมื่อบัณฑิตนั้นเข้ามา นางก็เหยียบกระดานกลให้บัณฑิตทั้งสี่ตกลงไปในหลุมที่เต็มไปด้วยคูถสกปรก ครั้นรุ่งเช้าจึงปล่อยให้ทั้งสี่ขึ้นมาจากหลุม ให้อาบน้ำ โกนผมและหนวดจนล้านเลี่ยน โรยตัวด้วยนุ่นจนทั่วเหมือนวานรเผือกแล้วมัดมาถวายพระเจ้าวิเทหราช<DD>
    <DD>นางอมรากราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบ แต่พระองค์ยังทรงกริ้วอยู่ จึงไม่ตรัสว่าอะไร<DD>
    <DD>ฝ่ายเทวดาที่สิงอยู่ในเศวตฉัตร ไม่ได้ฟังธรรมจากมโหสถนานเข้าจึงดำริว่าจะหาทางช่วยให้มโหสถกลับเข้าวัง<DD>
    <DD>คืนนั้น เทวดาจึงปรากฏตัวมาถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราชว่า บุคคลใดทำร้ายร่างกายและปากของผู้อื่นด้วยมือและเท้าทั้งสอง แต่บุคคลนั้นกลับเป็นที่รักของผู้ถูกทำร้าย บุคคลนั้นคือใคร<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชทรงถามปัญหานี้กับบัณฑิตทั้งสี่ แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ตกค่ำ เทวดามาทวงคำตอบและบอกพระเจ้าวิเทหราชว่าคำถามนี้นอกจากมโหสถบัณฑิตแล้วไม่มีใครตอบได้ เปรียบเหมือนเมื่อต้องการไฟก็ไม่ควรเป่าเอาจากหิ่งห้อย เมื่อต้องการนมก็ไม่ควรรีดจากเขาโค หากพระเจ้าวิเทหราชตอบปัญหาไม่ได้จะลงโทษให้พระเศียรแตก<DD>
    <DD>พระเจ้าวิเทหราชจึงต้องส่งอำมาตย์ ๔ คนออกไปตามมโหสถกลับมา มโหสถสามารถตอบปัญหาเทวดาได้ว่าบุคคลในปัญหานั้นคือบุตรอันเป็นที่รัก เขาจึงได้กลับมารับราชการกับพระเจ้าวิเทหราชดังเดิม และอยู่ครองเรือนกับนางอมราตลอดมา<DD>

    <DD>[ พระเจ้าวิเทหราช มาเกิดเป็น กาฬุทายีภิกษุ
    <DD> พระนางอุทุมพรเทวี มาเกิดเป็น โคตมีภิกษุณี
    <DD> สิริวัฒนะเศรษฐี มาเกิดเป็น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช
    <DD> นางสุมนา มาเกิดเป็น พระนางสิริมหามายา
    <DD> เสนกบัณฑิต มาเกิดเป็น กัสสปภิกษุ
    <DD> ปุกกุสะบัณฑิต มาเกิดเป็น โปฏฐปาทภิกษุ
    <DD> กามินทะบัณฑิต มาเกิดเป็น อัมพัฏฐภิกษุ
    <DD> ปุกกุสะบัณฑิต มาเกิดเป็น โปฏฐปาทภิกษุ
    <DD> เทวินทบัณฑิต มาเกิดเป็น โสณทัณฑกภิกษุ
    <DD> มโหสถ มาเกิดเป็น พระสมณโคตมพุทธเจ้า
    <DD> นางอมรา มาเกิดเป็น พระนางพิมพา ] </DD>
     

แชร์หน้านี้

Loading...