นิทานมงคลธรรม (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 14 ธันวาคม 2008.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    [​IMG]

    นิทานมงคลธรรม
    โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=11543



    ๏ พระเทวทัตกับเจ้าชายอชาตศัตรู

    เรื่องนี้รู้กันเป็นส่วนมากอยู่แล้ว ขอเล่าสั้นๆ

    พระเทวทัตอยากเป็นใหญ่ อยากให้ญาติโยมนับถือเหมือนนับถือพระอัครสาวกและพระผู้ใหญ่อื่นๆ จึงไปคบหากับเจ้าชายอชาตศัตรู และทำการล้างสมองเจ้าชาย ให้ยึดราชบัลลังก์พระราชบิดา (พระเจ้าพิมพิสาร) อชาตศัตรูจับพระราชบิดาขังคุกจนสิ้นพระชนม์ เทวทัตเองหวังจะเป็นใหญ่ หาวิธีกำจัดพระพุทธองค์ต่างๆ นานา แต่ก็ล้มเหลว ในที่สุดจึงถูกแผ่นดินสูบ

    อชาตศัตรูหลังจากได้บัลลังก์แล้วก็บรรทมไม่หลับ สำนึกได้ว่าตนได้ก่ออนันตริยกรรมยากที่จะแก้ไขเสียแล้ว จึงไปกราบขอขมาพระพุทธองค์ ฟังพระธรรมเทศนา ถวายตนเป็นสาวกนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

    อชาตศัตรูฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แทนที่จะบรรลุมรรคผล แต่เพราะได้ "ขุดรากถอนโคนตนเอง" แล้ว จึงได้อย่างมากเพียงศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ตรัสว่า นี้เพราะผลแห่งการคบคนพาลสันดานชั่วอย่างเช่นเทวทัต อชาตศัตรูจึงถลำลงลึก ดีที่พระพุทธองค์มาฉุดช่วยไว้ได้ จึงพอทุเลาเบาบางลงได้บ้าง

    พระพุทธวจนะตรัสเตือนไว้ว่า "ไม่พึงคบคนเลว ไม่พึงคบคนต่ำช้า พึงคบคนดี พึงคบคนสูงสุด"

    คำหลังทรงใช้ว่า "ปุริสุตตม" บุรุษที่สูงสุด หมายถึงคนที่ดีที่สุด สูงด้วยคุณธรรม ไม่ใช่สูง 180 นิ้ว อะไรทำนองนั้นหนา ขอรับ...
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ ดาบสสอนบุตร

    พระสิริมังคลาจารย์ยกมาสาธก เพื่อเตือนสติว่า การคบคนพาลไม่ดี มีแต่โทษ ไม่มีคุณเลย อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องดาบสสอนบุตร เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ในอดีตกาลอันยาวนานโพ้น (เมื่อมีคำว่า โพ้น แสดงว่ายาวมาก ไกลมาก ขอรับ)

    ดาบสท่านหนึ่ง บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมพานต์ โอวาทที่ดาบสสอนลูกเป็นประจำ คือ อย่าคบคนพาลเป็นอันขาด

    วันหนึ่งเมื่อบุตรชายเรียนศิลปวิทยาจนสำเร็จแล้ว อยากจะไปใช้ชีวิตในเมืองหลวงเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ไปลาบิดา บิดาก็อนุญาต ก่อนไปได้ให้โอวาทบุตรว่า...

    ผู้ใดไม่มีความชั่วทางกายวาจาใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้วพบผู้นั้น เจ้าจงคบหาท่าน ประพฤติตนเหมือนบุตรเชื่อฟังบิดา

    ผู้ใดเป็นคนประพฤติธรรม แม้เป็นคนประพฤติธรรมปานนั้นก็ไม่หยิ่ง ไม่โอ้อวดคนอื่นว่าตนเป็นคนประพฤติธรรม เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบหาท่านผู้นั้น

    ลูกเอ๋ย ถ้าแม้นว่าพื้นชมพูทวีปจะไร้มนุษย์ไซร้ เจ้าก็อย่าคบคนกลับกลอก ตลบตะแลง รักง่ายหน่ายเร็ว จงหลีกคนชั่วนั้นให้ห่างไกล ดุจคนขี้ขลาดหลีกอสรพิษร้าย ดุจคนเกลียดคูถ หลีกหนทางอันเปื้อนคูถ ดุจคนเดินทางหลีกทางอันขรุขระ

    ลูกเอ๋ย ความฉิบหายทั้งหลาย มักเกิดขึ้นแก่ผู้ที่คบคนพาลสันดานชั่วแท้ เจ้าอย่าไปคบหาคนพาลเลยนะลูก เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล นำมาแต่ทุกข์ ให้ห่างคนพาลไว้ทุกเวลา ดุจดังห่างจากศัตรูอันร้ายกาจ

    ลูกเอ๋ย พ่อขอร้อง เจ้าจงจำคำของพ่อไว้ให้ดี เจ้าอย่าคบหากับคนพาลสันดานชั่วเป็นอันขาด เพราะการคบหากับคนพาลสันดานชั่ว มีแต่ทางพินาศและฉิบหาย

    ฟังโอวาทนี้แล้วคงเห็นลึกถึงความรู้สึกภายในใจของผู้เป็นพ่อใช่ไหมครับ สั่งแล้วสั่งอีก อย่าคบคนชั่ว อย่ามั่วคนผิด เพราะคบกเฬวรากพวกนี้มีแต่เสียคน เหม็นตั้งแต่ยังไม่ตายก็มีครับ...
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ คนเกลียดคนพาลที่สุด

    ดาบสท่านหนึ่งบำเพ็ญพรตอย่างเคร่งครัด กินผลไม้ที่หล่นจากต้น เมื่อผลไม้หมดแล้ว ก็เอาใบมันมากินหรือต้มน้ำดื่มจนร่างกายซูบผอม ท้าวสักกะเทวราชต้องการจะทดสอบความเคร่งครัดของดาบส จึงจำแลงกายเป็นคนชรา ยืนแสดงอาการขออาหาร ดาบสก็เอาใบไม้ที่กำลังต้มน้ำดื่มมาให้จนหมด วันที่สองวันที่สามก็ทำอย่างนี้ จนพระอินทร์เธอเห็นใจ จึงสำแดงตัวแล้วกล่าวว่า เห็นความแน่วแน่ของดาบสแล้ว จะให้พร อยากได้พรอะไรให้เอ่ยปากขอได้ จะประทานให้ดังประสงค์

    ดาบสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว อาตมาขอเพียงข้อเดียวคือ อย่าได้เห็น อย่าได้ยิน อย่าได้คบ อย่าได้สนทนากับคนพาลเลย

    พระอินทร์จึงถามว่า คนพาลมาทำอะไรให้ท่านเจ็บช้ำน้ำใจหรือ ท่านจึงไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน และไม่อยากคบหา

    ดาบสตอบว่า คนพาลไม่ได้มาทำอะไรให้เจ็บใจดอก แต่คนพาลนั้น ปัญญาทราม ชอบแนะนำในสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ และขวนขวายในสิ่งที่มิใช่ธุระ

    คนพาลแนะนำยาก เขาพูดด้วยดีๆ ก็โกรธ คนพาลไม่รับรู้ระเบียบวินัย คนพรรค์นี้ไม่เห็นเสียเลยดีกว่า

    เออ แน่ะ อะไรจะปานนั้น...
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ นกแขกเต้าสองตัว

    มีนกแขกเต้าอยู่สองตัว พ่อแม่เดียวกัน เขาว่านกพันธุ์นี้พูดได้ ทำนองนกแก้วนกขุนทองนั้นแหละ บังเอิญคราวหนึ่งเกิดพายุหมุน (ลมหัวด้วน) พัดพานกทั้งสองตัวไปคนละทิศคนละทาง

    ตัวหนึ่งไปตกใกล้ที่อยู่ของพวกโจร ตกลงมายังกองหอกกองดาบพอดี พวกโจรมาพบเข้าจึงเอามันไปเลี้ยงไว้ และตั้งชื่อว่า "สัตติคุมพะ" (แปลว่า ไอ้หอก เพราะตกลงใกล้ที่เก็บอาวุธ)

    พวกโจรนั้นก็รู้กันอยู่แล้ว ยังชีพด้วยการปล้นฆ่า วันๆ ก็วางแผนว่าจะไปปล้นที่ไหน อย่างไร กิริยาอาการก็ไม่สำรวมพูดจากันแต่เรื่องฆ่าๆ ปล้นๆ มึงมาพาโวย นกมันก็เลียนเสียงพูดของพวกโจร

    อีกตัวหนึ่งไปตกที่สวนดอกไม้ของพวกฤาษี พวกฤาษีจึงเอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อ "ปุบผกะ" (แปลว่า ไอ้ดอกไม้) อาศรมของพวกฤาษี พวกนักพรตก็จะพูดจาแต่ถ้อยคำอันไพเราะ นกก็จำไว้ และเลียนเสียงตาม

    อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าปัญจาละเสด็จไปล่าเนื้อ พลัดหลงกับข้าราชบริพาร เสด็จไปองค์เดียว ทรงพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งกลางป่า พลันทรงสะดุ้งตื่น เพราะมีเสียงร้องว่า "ฆ่ามันเลย ปล้นมันเลย" ทรงนึกว่าพวกโจรจักมาปล้น ทรงหันไปตามเสียงที่ได้ยิน ก็ทอดพระเนตรเห็นนกตัวน้อยร้องเสียงคน จึงเสด็จต่อไปเพราะขืนอยู่พวกโจรอาจตามมาได้

    เสด็จไปถึงอาศรมของฤาษี ขณะนั้นพวกฤาษีไม่อยู่ มีนกแขกเต้าตัวเดียวเฝ้าอยู่ นกเห็นมีคนเดินเข้ามา ก็ร้องต้อนรับอย่างสุภาพว่า "สวาคะตัม" (แปลว่า ยินดีต้อนรับๆ)

    พระราชาทรงพอพระทัย ที่ได้ยินเสียงนกร้องปฏิสันถารเช่นนั้น เมื่อพวกฤาษีกลับมา จึงทรงเล่าเรื่องนกทั้งสองให้พวกฤาษีทราบ

    พวกฤาษีจึงถวายพระพรว่า นกแขกเต้าสองตัวนี้ เดิมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียว ภายหลังถูกพายุพัดพาไปตกคนละที่ ตัวนั้นอยู่กับพวกโจร จึงกล่าววาจาหยาบเลียนแบบพวกโจร ส่วนตัวนี้อยู่กับพวกอาตมา จึงพูดจาไพเราะดังที่เห็นนี้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ ม้ามงคล

    ม้าทรงพระราชาพระองค์หนึ่ง มีคนเลี้ยงชื่อ สิริทัต เป็นคนขาเดี้ยง เดินกะโผลกกะเผลก เวลาคนเลี้ยงม้าจูงม้า แกก็เดินกะเผลกตามลักษณะของคนขาเดี้ยง ม้าเดินตามหลัง เห็นเจ้านายเดินอย่างนั้น จึงกระทำตามบ้าง

    จนวันหนึ่ง พระราชาทรงสังเกตเห็นม้าเดินผิดปกติ จึงรับสั่งให้ตามสัตวแพทย์มาตรวจว่าม้าป่วยเป็นโรคอะไร สัตวแพทย์ตรวจเช็กอาการโดยละเอียดก็ไม่พบอะไรผิดปกติ พระราชารับสั่งว่า มันต้องมีสิ ไม่อย่างนั้น ม้าข้ามันจะเดินขาเดี้ยงอย่างนั้นได้อย่างไร ตรวจดูให้ดีอีกครั้งซิ สัตวแพทย์ก็ตรวจโดยละเอียดอีกก็ไม่พบสาเหตุ มึนอยู่ตั้งนาน พลันสายตาเหลือบเห็นคนเลี้ยงม้าโขยกเขยกเข้ามา ก็นึกได้ จึงกราบทูลพระราชาให้ลองเปลี่ยนคนเลี้ยงม้าดู ม้าอาจจะอาการดีขึ้นก็ได้

    เมื่อเปลี่ยนคนเลี้ยงม้าให้เป็นคนขาดีแล้ว สักพักเท่านั้นม้าของพระราชาก็เดินเป็นปกติ ไม่เดินขาเดี้ยงอีกต่อไป

    เล่านิทานเรื่องนี้แล้ว ผู้แต่งคัมภีร์ก็สรุปว่า...

    นี่แหละคืออิทธิพลของการอยู่ใกล้ชิดกัน

    ม้าขาไม่เดี้ยง แต่คนเลี้ยงขาเดี้ยง ม้าก็เลยเดินตามคนเลี้ยงที่ขาเดี้ยง นานวันเข้าก็เลยกลายเป็นม้าขาเดี้ยงไปด้วย

    เรื่องมันก็เป็นประการฉะนี้แล...
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ ช้างมหิฬามุข

    ช้างทรงของพระราชาเมืองพาราณสี (คราวนี้ พระเจ้าพรหมทัต เจ้าเก่าครับ) ชื่อ มหิฬามุข เป็นช้างมงคล ช้างดี สงบเสงี่ยม กิริยามารยาทเรียบร้อย เชื่อฟังควาญช้าง ภาษาบาลีท่านใช้คำสูงว่า

    "เป็นช้างที่มีศีล สมบูรณ์ด้วยมารยาท ไม่เบียดเบียนใคร"

    วันหนึ่ง พวกโจรมาวางแผนการปล้นอยู่ข้างๆ โรงช้างเสียงโจรพูดกันได้ยินไปถึงพญาช้างว่า ต้องไม่ปรานีมัน ฆ่ามันเลย กระทืบมันเลย ถ้าใครขัดขืนก็ฆ่ามันให้ตายเลย

    คงมิใช่ครั้งเดียวดอกครับ พวกโจรห้าร้อยนั้นคงมาซ่องสุมปรึกษาหารือกัน ณ จุดนั้นบ่อย จนพญาช้างจำได้ ช้างได้ยินดังนั้น ก็คิดว่าพวกนี้มาสอนเราให้ทำอย่างนั้น

    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มหิฬามุขที่เคยแสนจะเรียบร้อย สงบเสงี่ยม ก็กลับกลายเป็นคนละคน พอนายควาญช้างมา จะพามันไปให้พระราชาทรง มันก็เฉย ไม่ทำตามเหมือนเคย ครั้นพอเคี่ยวเข็ญมันมากเข้า มันก็โมโห จับควาญช้างฟาดกับพื้นดิ้นตายในทันที

    ควาญคนไหนก็เอามันไม่อยู่ จนร่ำลือกันว่าช้างนั้นดุร้ายทั้งๆ ที่ไม่ตกมัน แต่อาการมันก็เสมือนตกมัน ปุโรหิตที่ปรึกษาพระราชาพิจารณาหาสาเหตุที่ช้างกลายเป็นเช่นนั้นอยู่นาน ในที่สุดก็สันนิษฐานว่า ช้างอาจได้รู้ได้เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีก็ได้ จึงกราบทูลพระราชาให้ทดลองดู โดยนิมนต์สมณะชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล มานั่งเทศน์นั่งสอนใกล้ๆ โรงช้างนั้นติดต่อกันหลายวัน พระคุณเจ้าก็เทศนาว่าด้วย ศีล มารยาท ต้องมี กาย วาจา ใจ สงบไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่าใคร ควรมีมารยาทงดงามอ่อนน้อมถ่อมตน ว่านอนสอนง่าย อะไรประมาณนี้

    พญาช้างได้ยินบ่อยๆ ก็คิดว่า พวกนี้ต้องการให้เราทำอย่างนี้ จึงทำตาม ไม่ดุร้าย ไม่ฆ่าใครอีกต่อไป ควาญสั่งให้ทำอะไรก็ทำตาม...
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ ปริพาชกไหว้แพะ

    ปริพาชกคนหนึ่งโง่แกมหยิ่งคนหนึ่ง เดินเข้าไปยังเมืองพาราณสี ผ่านไปยังสถานชนแพะ (คงคล้ายๆ กับสถานที่ชนวัว ชนไก่ อะไรทำนองนั้น) ที่มีคนสัญจรไปมาคับคั่ง

    แพะตัวหนึ่ง เห็นปริพาชก ต้องการจะขวิดให้ถนัด จึงย่อกายลง

    "แหม แพะตัวนี้ฉลาดจริง คนในที่นี้มากมายยังรู้จักว่าเราเป็นใคร แพะตัวนี้ตัวเดียวรู้ว่าเราเป็นผู้ทรงศีล" นึกว่าแพะมันก้มไหว้ตน จึงประนมมือรับ ประชาชนตะโกนบอกปริพาชกว่า "สาธุจี (พระคุณเจ้า) แพะกำลังจะขวิดท่าน รีบหนีไป"

    "ใครว่า แพะมันไหว้เราต่างหาก" ปริพาชกตอบอย่างอารมณ์ดี

    "สัตว์หน้าขนไว้ใจได้ที่ไหน สาธุจี รีบหนีไปเถอะ"

    พระคุณเจ้าไม่สนใจ ยืนประนมมือรับไหว้แพะอยู่ แพะมันวิ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว เอาเขาเสยร่างปริพาชกลอยขึ้นแล้วตกลงพื้นดิน แกครวญครางด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัสก่อนสิ้นใจตาย

    "ใครก็ตามบูชา (เคารพนับถือ) คนชั่วที่ไม่ควรบูชา ย่อมจะถูกคนชั่วนั้นทำร้ายเอา เหมือนเราผู้โง่เขลา ยกมือไหว้แพะโดนแพะขวิดเอา นอนรอความตายอยู่ ณ บัดนี้"

    นี้วาทะสุดท้ายของปริพาชกไหว้แพะ ก่อนสิ้นชีวิต ความก็แจ่มแจ้งแล้ว เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการบ้านการเมือง ที่มีการเลือกตั้งออกบ่อย ขอ "คอมเมนต์" เพิ่มเติมสักเล็กน้อย

    นักเลือกตั้งทั้งหลายมักจะอ้างตนว่าเป็นคนดี เสนอหน้ามาให้ประชาชนเลือก แจกโน่นแจกนี่ สัญญาโน่นสัญญานี่ ทั้งๆ ที่กฎหมายห้าม แต่เขามีวิธีการเลี่ยงบาลีกันอย่างเฉลียวฉลาด

    หน้าที่ของประชาชนก็คือต้องใช้วิจารณญาณดูให้ดีหน่อยเถอะครับ คนที่ว่าตนดีๆ นั้นมันดีจริงหรือไม่ ดีอย่างไร สมควรที่จะ "ยกย่อง" ให้ปรากฏไหม สมควรจะเลือกเข้าสภาไหม

    นักการเมืองประเภท "ปริพาชกไหว้แพะ" ก็ป่วยการเลือกเข้ามา เป็นอัปมงคลมากกว่ามงคล ส.ว.สมัครเข้ามาเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริต แต่ก็โดนถอดเสียเอง ก็ไม่ไหวเช่นเดียวกัน คุณว่าไหมขอรับ...
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การอยู่ในถิ่นเหมาะสม

    มงคลต่อไป ภาษาพระว่า "อยู่ในประเทศที่เหมาะ" ประเทศก็คือ "ถิ่น" อยู่ในประเทศที่เหมาะ ก็คืออยู่ในถิ่นที่เหมาะ เหมาะกับอะไร เหมาะกับการดำรงชีวิต เหมาะกับพฤติกรรมนั่นแล

    สมมติว่าจะค้าขาย เช่น ขายก๋วยเตี๋ยว ก็จะต้องมองหา "ทำเล" ที่จะค้าขาย ตรงไหนมีผู้คนผ่านไปมามาก ก็ตั้งร้านตรงนั้น รับรองค้าขายเจริญรุ่งเรือง

    พระอรรถกถาจารย์เน้นว่า อยู่ถิ่นที่เหมาะทำให้เจริญนั้น มุ่งเน้นความเจริญด้วยคุณธรรม มากกว่าความเจริญทางด้านวัตถุ ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ คือ อยู่ในถิ่นที่จะมีโอกาสได้ "อนุตตริยะ" (สิ่งยอดเยี่ยม) 6 อย่าง คือ ได้เห็นยอดเยี่ยม เช่น เห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังยอดเยี่ยม เช่น ได้ฟังธรรม ได้ลาภยอดเยี่ยม เช่น ได้บรรลุธรรม ได้การศึกษายอดเยี่ยม เช่น ได้ฝึกฝนอบรมตน ได้ปรนบัติยอดเยี่ยม เช่น ได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า และได้รำลึกยอดเยี่ยม เช่น ได้ระลึกพระรัตนตรัย
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ วักกลิมาณพ

    ชายหนุ่มชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง เห็นพระพุทธเจ้าแล้วติดใจในรูปสมบัติอันงามสง่าของพระองค์ จึงติดใจมาขอบวชอยู่ด้วย เพื่อมีโอกาสเฝ้าดูพระสิริโฉม พระพุทธองค์ก็ไม่ตรัสอะไร

    อยู่มาระยะหนึ่ง พระองค์ตรัสกับท่านแรงๆ ว่า "วักกลิประโยชน์อะไรด้วยการดูร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ ผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา ผู้เห็นเราชื่อว่าเห็นธรรม" จึงขับไล่เธอออกจากสำนัก

    พระวักกลิน้อยใจ จึงหนีไปคิดจะปลงชีพตัวเอง แต่พระพุทธองค์เสด็จไปช่วยได้ทัน ในที่สุด วักกลิได้บรรลุพระอรหัตตผล

    นี้แสดงว่า วักกลิอยู่ถิ่นที่เหมาะสม ได้มีโอกาสรับใช้พระพุทธเจ้า ได้ฝึกฝนตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา ได้รำลึกถึงความดีของพระพุทธองค์ และได้บรรลุมรรคผล
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ นางวิสาขา

    นางเป็นสะใภ้ของตระกูลที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาถึงจะอยู่ในเมืองหลวง แต่ก็นับว่าไม่ใช่ปฏิรูปเทศ

    ในกาลต่อมาด้วยความสามารถของนาง นางได้แปรถิ่นที่ไม่เหมาะ ให้กลายเป็นถิ่นที่เหมาะขึ้นมาจนได้ คือ นางพูดกับพระที่มาบิณฑบาต ขณะที่พ่อของสามีกำลังรับประทานอาหารอยู่และไม่ยินดีใส่บาตรว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด คุณพ่อของดิฉันกำลังกิน "ของเก่า"

    ทำเอาเศรษฐีโกรธมาก แต่เมื่อนางอธิบายว่า กินของเก่าคือ ที่ได้เกิดมาร่ำรวยในปัจจุบัน ก็เพราะบุญเก่าที่สร้างสมไว้ มาบัดนี้ไม่ทำบุญใหม่เพิ่มเติมเลย อาศัยบุญเก่าเท่านั้น เศรษฐีจึงสำนึกตน หันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสนับสนุนศรีสะใภ้ให้ทำบุญทำกุศลตามศรัทธาด้วย ไม่กีดขวางอีกต่อไป
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การทำบุญไว้ในปางก่อน

    มงคลข้อต่อไป การมีความดีเป็นทุนเดิม หมายถึง ทำบุญมากสร้างสมความดีมาแต่อดีตมาก ความดีงามที่เราสะสมไว้แต่ปางก่อน จะดลบันดาลให้เรามีความเจริญ

    เรียนหนังสือมาด้วยกัน ผลัดกันสอบได้ที่หนึ่งกับที่สองเสมอ จบการศึกษาแล้วได้เข้าทำงาน ได้เงินเดือนเริ่มต้นเท่ากัน เหตุการณ์ผ่านไปสักระยะหนึ่ง คนหนึ่งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อีกคนหนึ่ง "แป้ก" อยู่ในตำแหน่งเดิม

    ถามว่ามีอะไรที่ทำให้สองคนแตกต่างกัน ตอบว่ามีบุญ หรือคุณงามความดีสะสมมาไม่เท่ากัน ภาษาไทยเรียกว่า วาสนาไม่ถึง บุญเก่ามีไม่พอ (บุญเก่าไม่จำเป็นต้องเป็นบุญในชาติก่อนเสมอไป ความดีงามที่มีอยู่ในชาตินี้แหละ กำลังจะได้รับแต่งตั้ง แต่มีคนติงว่าคุณสมบัติไม่เหมาะ) เลยกินแห้ว
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ ไก่ขี้โม้

    ณ เทวาลัยนอกเมืองแห่งหนึ่ง มีไก่หลายตัวอาศัยอยู่ คืนหนึ่งไก่ตัวที่จับอยู่ข้างบนถ่ายรดไก่อีกตัวข้างล่าง

    "ใครขี้รดหัวข้าวะ" เสียงถามด้วยความโกรธ

    "ทานโทษเพื่อน ไม่ทันระวัง แต่ไม่เป็นไรดอก ข้ามิใช่ไก่ธรรมดา ใครได้กินข้า จะได้กหาปณะพันหนึ่งไม่ทันข้ามวัน"

    "กระจอก ถ้าใครกินเนื้อสันข้า จะได้เป็นพระราชา ใครกินเนื้อติดหนัง จะได้เป็นเสนาบดี ถ้าเป็นหญิงจะได้เป็นพระมเหสี ใครกินเนื้อติดกระดูก จะได้เป็นขุนคลัง ถ้าเป็นพระจะได้เป็นพระอาจารย์ พระราชา" ไก่ตัวบนคุยบ้าง

    คนหาฟืนคนหนึ่งกลับจากป่าไม่ทันประตูเมืองปิด จึงอาศัยนอนที่เทวาลัยนั้น ได้ยินดังนั้น จึงย่องขึ้นไปจับไก่ตัวบน เอาไปฆ่าย่างอย่างดี แล้วชวนภรรยาไปอาบน้ำชำระกาย ก่อนกิน วางถาดไก่ย่างไว้บนฝั่ง อาบน้ำพลางครึ้มอกครึ้มใจ จะได้เป็นพระราชามหากษัตริย์ บังเอิญขณะนั้น ถาดใส่ไก่ย่างถูกลมพัดแรงลงไปยังแม่น้ำ ลอยไปตามกระแสน้ำ

    นายควาญช้างกำลังให้ช้างอาบน้ำอยู่ทางใต้น้ำ เห็นเข้าจึงนำถาดไก่ย่างกลับไปบ้าน กำลังจะกินให้อร่อย ดาบสรูปหนึ่งที่เป็นผู้คุ้นเคยกับครอบครัวของนายครวญช้าง รู้ว่าอะไรเป็นอะไรจึงรีบไปที่บ้านนายควาญช้าง เขาจึงนำไก่ย่างไปถวายท่าน ดาบสฉันเฉพาะเนื้อติดกระดูก แบ่งเนื้อสันให้นายควาญช้าง และเนื้อติดหนังให้ภรรยานายควาญช้าง ก่อนจากไปได้พูดเป็นปริศนาว่า "รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ไม่นานโยมทั้งสองจะโชคดี"

    สามวันต่อมา ข้าศึกยกทัพมาโจมตีเมืองหลวง พระราชาคิดพิลึกอย่างไรไม่รู้ให้นายควาญช้างแต่งตัวเป็นพระราชา พระองค์เองปลอมเป็นทหารเลว ออกรบกับทหารทั้งหลาย บังเอิญสิ้นพระชนม์ในสนามรบ

    พอสงครามสงบ เหล่าเสนามาตย์เห็นว่า ไหนๆ นายควาญช้างก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์แล้ว สมควรให้เขาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงยกนายควาญช้างขึ้นเป็นพระราชาปกครองบ้านเมืองสืบแทน

    นิทานประเภท "ราชรถ" มาเกย
    แต่ก่อนมีมากมายหลายเรื่อง แต่พิเคราะห์ให้ดี
    คนที่ราชรถจะมาเกยได้ ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม
    เนื่องจากได้สร้างบุญกุศลไว้มาก
    คนตัดฟืนมองเห็นตำแหน่งใหญ่โตอยู่แค่เอื้อม
    แต่ก็ชวดได้เป็น...
    อย่างนี้พระท่านว่าไม่มี "ปุพเพกตปุญญตา"
    แปลว่า บุญไม่ถึงครับ
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การคบบัณฑิต

    เมื่อไม่ให้คบคนพาลสันดานชั่วแล้ว ท่านก็บอกให้คบบัณฑิต ซึ่งบัณฑิตในที่นี้มิได้หมายถึงคนคงแก่เรียน ได้ดีกรีสูงๆ ไม่เกี่ยวกัน ท่านหมายถึงคนที่คิดดี พูดดี ทำดี และคนที่ดำรงชีวิตโดยใช้ปัญญา

    คนที่เป็นบัณฑิตอีกทัศนะหนึ่ง คือ คนที่ทำเป้าหมาย 2 ประการสมบูรณ์ เป้าหมายระดับพื้นฐาน คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ (พึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายชั้นที่สอง คือ สัมปรายิกัตถะ (เจริญด้วยคุณธรรม) ท่านไม่หมายสูงไปถึงคนที่บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เพราะหายาก ใครพบก็นับว่าเป็นบุญของผู้นั้น

    ที่ท่านว่าคบบัณฑิตเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ ก็เพราะบัณฑิตจะไม่ทำตนและคนที่ทำตามคำสอนของตนถึงความพินาศฉิบหาย ตรงกันข้าม กลับได้ความสำเร็จและความสุข ขอนำนิทานของท่านมาประกอบดังนี้

    มหาสุตตโสม

    เรื่องนี้ค่อนข้างยาว พระสิริมังคลาจารย์นำมากล่าวเฉพาะคำคมที่นันทพราหมณ์สอน มหาสุตตโสมว่า การคบกับสัตบุรุษนั้นคุ้มครองเขาได้ดีกว่าสมาคมกับพวกอสัตบุรุษมากมายเสียอีก

    เรื่องมีอยู่ว่า พระราชาเมืองพาราณสีชอบเสวยเนื้อทุกวันขาดไม่ได้ พ่อครัวก็ปิ้งเนื้อถวายทุกวัน วันหนึ่งเป็นวันพระหาเนื้อไม่ได้ จึงไปตัดเอาขาคนที่ตายใหม่ๆ ในป่าช้ามาย่างมาปิ้งอย่างดีถวาย พระราชาติดใจในรสเนื้อ จึงซักถามจนได้ความจริงว่าเป็นเนื้อมนุษย์ จึงสั่งให้พ่อครัวไปหามาให้เสวยทุกวัน จนนักโทษในคุกหมด

    หลังจากนั้น จึงสั่งให้พ่อครัวดักจับคน ฆ่าเอาเนื้อส่วนที่ดีๆ มาปรุงอาหารถวาย จนลือทั่วเมืองว่าเกิดมีโจรอำมหิตฆ่าคนเพื่อเฉือนเอาเนื้อไปกิน เสนาบดีจึงวางแผนจับได้ สืบไปจนกระทั่งรู้ความจริงว่าพระราชาเป็นตัวการสั่งให้พ่อครัวทำ

    เสนาบดีจึงขอร้องให้พระราชาเลิกเสวยเนื้อคน แต่ไม่สำเร็จจนกระทั่งต้องเนรเทศออกจากเมือง เมื่อออกจากเมืองไป เธอก็ไล่จับคนกินเนื้อ จนได้ชื่อว่า มหาโจรโปริสาท (โจรกินคน) เป็นที่หวาดกลัวของประชาชน

    วันหนึ่งมหาโจรโปริสาทไปจับพราหมณ์ที่กำลังจะข้ามน้ำเอาใส่บ่าแบกหนีไป ชายฉกรรจ์ที่รับจ้างพราหมณ์จะพาข้ามน้ำวิ่งตาม โปริสาทเหยียบตอไม้แหลม ตอไม้ทะลุฝ่าเท้าเลือดอาบจึงปล่อยพราหมณ์ แกโขยกเขยกหนีรอดไปจนได้ ไปพักอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ บวงสรวงเทพบนต้นไม้ว่า ถ้าแผลหายเร็วๆ จะนำเอากษัตริย์จากพระนครทั้งหลายมาเซ่นไหว้บูชา บังเอิญไม่ถึงเจ็ดวันแผลก็หาย แกก็เข้าใจว่า เป็นเพราะอานุภาพเทวดา

    จึงไปจับเอากษัตริย์จากเมืองต่างๆ มาผูกเท้าแขวนให้ศีรษะห้อยลง เทวดาที่สิงอยู่บนต้นไม้เห็นความทารุณของโปริสาทจึงจำแลงกายเป็นนักบวช โปริสาทคิดว่านักบวชก็เท่ากับกษัตริย์จับมาเซ่นเทพเจ้าก็คงจะดีเหมือนกัน จึงวิ่งไล่จับ ไล่เท่าไรก็ไม่ทันนักบวชนั้นจึงสำแดงตนว่าคือเทพบนต้นไม้ใหญ่ จึงสั่งว่ายังขาดพระราชาอีกองค์ คือ มหาสุตตโสม ให้ไปนำตัวมา ไม่อย่างนั้นพิธีกรรมนั้นจักไม่สมบูรณ์

    โปริสาทจึงไปจับมหาสุตตโสม แต่มหาสุตตโสมรับปากจะฟังธรรมจากพราหมณ์ในวันรุ่งขึ้น มหาสุตตโสมจึงขอให้โปริสาทปล่อยกลับไปฟังธรรมก่อน เสร็จแล้วจะกลับมา โปริสาทขอคำมั่นว่าจะมาแน่ๆ จึงปล่อยตัวไป

    และแล้ว โปริสาทก็ต้องทึ่งในความเป็นผู้มีสัจจะของมหาสุตตโสม ที่กลับมาตามสัญญา มหาสุตตโสมกล่าวสอนให้โปริสาทเลิกกันเนื้อมนุษย์ ด้วยการยกเหตุผล และเล่าเรื่องในอดีตมาประกอบ โปริสาทขอฟังธรรมที่มหาสุตตโสมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อไปฟังว่าดีอย่างไร มหาสุตตโสมจึงกล่าวให้ฟัง โปริสาทจึงพอใจและจะให้พร ขอให้มหาสุตตโสมขอมา 4 ข้อ

    มหาสุตตโสมขอให้โปริสาทมีอายุยืนปราศจากโรค ข้อสอง ขอให้ปล่อยกษัตริย์ทั้งหลายที่จับตัวมา ข้อสาม ขอให้ส่งกษัตริย์เหล่านั้นคืนเมือง ข้อสี่ ขอให้โปริสาทเลิกกินเนื้อมนุษย์ เมื่อโปริสาทอิดออด ไม่กล้าให้พรข้อสุดท้าย มหาสุตตโสมก็ท้วงว่าไม่ควรเสียสัจจะ ตัวท่านเองยังรักษาสัจจะ แล้วโปริสาทก็เคยเป็นกษัตริย์ จะทำลายสัจจะเสียย่อมหาควรไม่ โปริสาทจึงให้พรทั้งสี่ตามที่ขอ ในที่สุดกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนมีศีลธรรม เลิกกันเนื้อมนุษย์ และไม่ทำบาปอีกต่อไป

    สรุปว่า การคบบัณฑิตเช่นมหาสุตตโสมนั้น ทำให้คนชั่วคนบาปเลิกทำชั่ว มีสุคติเป็นไปในเบื้องหน้า ด้วยประการฉะนี้แล
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การตั้งตนไว้ชอบ

    มงคลข้อต่อไป ข้อที่ว่า "การตั้งตนไว้ชอบ" เป็นมงคลสูงสุด

    การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอย่างไรเป็นมงคล (เหตุให้เจริญ) อย่างไร

    พระอรรถกถาจารย์ท่านขยายความให้เข้าใจดีว่า "ตน" ก็คือจิต ตั้งตนก็คือตั้งจิตของเรานั้นแล กล่าวคือ ให้ตั้งอยู่ในศรัทธา ศีล สุตะ และจาคะ ปัญญา นั้นเอง ฝึกฝนตนเองให้เปี่ยมด้วยคุณธรรมเหล่านี้ รับรองว่าเจริญแน่นอน ขอยกนิทานมาสาธกดังนี้

    หมู่โจรห้าร้อย

    โจรปล้นฆ่าคนมาจำนวนมาก วันหนึ่งถูกชาวบ้านหมู่ใหญ่รวบรวมกำลังต่อสู้ เมื่อสู้ชาวบ้านไม่ได้ จึงหนีเอาตัวรอด ไปพบพระภิกษุรูปหนึ่ง ขอให้ท่านช่วยเป็นที่พึ่งให้ด้วย เพราะชาวบ้านจำนวนมากกำลังไล่ล่า พระภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ที่พึ่งอื่นไม่มีนอกจากศีลเท่านั้น พวกเธอจงถือศีล 5 ให้บริบูรณ์ จะปลอดภัย

    พวกโจรห้าร้อยก็สมาทานศีลห้า และรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด พวกชาวบ้านตามมาพบเข้า จึงจับโจรเหล่านั้นฆ่าตายอย่างง่ายดาย (เพราะพวกโจรไม่ต่อสู้) โจรห้าร้อยตายไปไปเกิดเป็นเทวบุตรบนสรวงสวรรค์

    จุติจากสวรรค์แล้วมาเกิดในตระกูลชาวประมง วันหนึ่งจับปลาทองที่มีกลิ่นปากเหม็นได้ จึงนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล

    พระเจ้าปเสนทิโกศลนำปลาไปแสดงให้พระพุทธองค์ และภิกษุสงฆ์ดู พอปลาอ้าปากหาวเท่านั้น กลิ่นเหม็นฟุ้งตลบไปทั่วพระนคร (พูดเว่อร์ไปหน่อย) พระพุทธองค์จึงตรัสบอกบุรพกรรมของปลาทองปากเหม็นให้ที่ประชุมทราบ

    ชาวประมง อดีตโจรห้าร้อยได้ฟังก็สลดใจ เลิกละอาชีพประมง ออกบวชเป็นพระ บำเพ็ญสมาธิวิปัสสนา ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล

    สรุปตรงนี้ก็คือ อดีตโจรห้าร้อยตั้งตนอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ก็ย่อมได้รับอานิสงส์ คือ เกิดในสวรรค์และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

    ในนิทานนี้ เอ่ยถึงนิทานย่อยอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ปลาทองปากเหม็น นี่แสดงว่า ตั้งตนไว้ผิด ย่อมได้ความเสื่อมขนาดหนักดังปลาพิลึกตัวนี้

    ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีพี่น้องสามคน ออกบวชในพระพุทธศาสนา ภิกษุและภิกษุณีผู้น้องเรียนพุทธวจนะจนเชี่ยวชาญเป็นพหูสูต เมื่อรู้มากก็มีทิฐิมานะมาก หนักข้อถึงขนาดดูหมิ่นภิกษุผู้ทรงศีลทรงธรรมอื่นๆ แค่นั้นยังไม่พอ ยังอวดตนว่าได้รู้พระธรรมเอง ไม่ได้เรียนมาจากไหน ลบหลู่ดูหมิ่นพระศาสดาทำนองว่าข้านี้ใหญ่ที่สุด เก่งที่สุด ไม่มีใครเกิน

    ภิกษุณีน้องสาวก็สนับสนุน และปฏิบัติเยี่ยงเดียวกัน ในขณะที่ภิกษุน้องชายไม่เห็นด้วย ไปตักเตือนให้พี่ชายและน้องสาวสำนึกตัวให้ดีว่า พวกตนเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ประพฤติในธรรมวินัยของพระองค์ ไม่ควรลืมตน ทำการลบหลู่ดูหมิ่นพระรัตนตรัย

    แต่สองพี่น้องไม่ฟัง ยังคงฮึกเหิมอย่างนั้น จนสิ้นอายุขัยตายไปแล้วก็ไปตกนรกหมกไหม้เป็นเวลานาน

    มาพุทธกัปนี้ ภิกษุผู้พี่ใหญ่มาเกิดเป็นปลาทองสวยงามมาก ถูกชาวประมงจับได้ นำไปถวายพระราชา พระราชานำไปแสดงให้พระพุทธองค์ชม พร้อมทูลถามความเป็นมาของปลาทองปากเหม็น

    พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ปลานี้เกิดมามีผิวทอง เพราะตอนบวชได้มีใจเลื่อมใสมาแต่ต้น ประพฤติพรหมจรรย์มา อานิสงส์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์จึงทำให้มีสีทองอร่าม แต่ภิกษุนั้นเรียนธรรมที่พระตถาคตแสดงจนเป็นพหูสูต กลับปฏิเสธว่าไม่ได้เรียนรู้จากใคร แถมยังคัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้าบางเรื่องบางประเด็นด้วย จึงบันดาลให้มาเกิดเป็นปลาทองปากเหม็น

    นี้แสดงว่า การตั้งตนไว้ผิด ย่อมนำมาซึ่งความวิบัติด้วยประการฉะนี้แล...
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ภรรยาพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ

    พราหมณ์มีภรรยาสาวสวยคนหนึ่ง สองคนนับถือคนละศาสนา พราหมณ์นับถือศาสนาพราหมณ์ พราหมณีเป็นพุทธสาวิกา แต่ก็อยู่กันมาด้วยความสงบพอสมควร เพราะฝ่ายภรรยาประนีประนอม สามีให้ช่วยทำบุญ เช่น เลี้ยงพราหมณ์ เซ่นไหว้ตามประเพณีพราหมณ์ เธอก็ทำ แม้ว่าสามีจะไม่สนใจพระพุทธศาสนา ก็ไม่ว่าอะไร ปล่อยให้เขาทำไปตามศรัทธา

    มีอย่างเดียวที่สามีไม่ยินยอม ก็คือ เวลาอยู่ต่อหน้าพวกพราหมณ์ อย่าเอ่ยชื่อถึงพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์สาวก ให้พวกพราหมณ์ระคายหู

    แต่ก็อย่างว่า คนที่เคยสวดมนต์นมัสการพระรัตนตรัยอย่างสม่ำเสมอนั้น ย่อมจะพลั้งเผลอบ้าง เวลาสะดุดหรือจะล้ม เธอก็หลุดอุทานออกมาว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต" หลุดออกมาทีไรก็ถูกสามีตะเพิดทุกที

    วันหนึ่ง สามีจะเลี้ยงพระ พราหมณ์กำชับภรรยาว่า เวลาเลี้ยงพระของเขาอยู่นั้น อย่าเผลอเอ่ยถึงพระของนางเป็นอันขาด นางก็รับปากรับคำเป็นอย่างดี

    ขณะยกถาดอาหารจะไปถวายพระพราหมณ์ นางก็สะดุดล้มลง จึงอุทานว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต"

    พระพราหมณ์กำลังสวาปามอาหารอยู่ ก็บ่นว่า วันนี้บุญไม่เป็นบุญเสียแล้ว พวกเราได้ยินเสียงกาลกิณีเต็มสองหู จึงลุกจากอาสนะเดินหนีไปพร้อมกัน พลางหันหน้ากลับมาด่าพราหมณ์เจ้าภาพอย่างเสียๆ หายๆ

    พราหมณ์เสียใจมากที่พิธีทำบุญถูกยกเลิกกลางคัน โกรธภรรยาหัวฟัดหัวเหวี่ยง ลงจากเรือนไปหาพระพุทธเจ้า เพื่อต่อว่าเป็นต้นเหตุให้ภรรยาหลงใหล และทำให้ขายหน้า

    ไปถึงก็ด่าฉอดๆ ด่าจนรู้สึกหายเหนื่อยแล้ว เห็นพระพุทธเจ้าประทับนิ่ง ไม่ตอบโต้อะไร จึงถามว่า สมณะโคดม คนเราฆ่าอะไรได้จึงจะเป็นสุข พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมีแต่ก่อทุกข์ ก่อเวรภัย ฆ่าความโกรธในใจเราสิ จึงจะมีความสุขสงบเย็นได้

    พราหมณ์พิจารณาตามกระแสพระดำรัส และเห็นดีด้วย เพราะตอนที่ตนโกรธ เห็นช้างเท่าหมูนั้น จิตใจมันร้อนรุ่ม กระวนกระวาย หัวอกแทบจะระเบิด แต่พอความโกรธมันสงบลง มันผ่อนคลาย เบาสบาย จึงไม่คิดด่าใครอีกต่อไป

    ขอบวชเป็นสาวกพระพุทธศาสนา ไม่ช้าไม่นานเขาก็อยู่เหนือความโกรธ ได้บรรลุภาวะที่ดับเย็นสนิทแล้วแล...
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    พราหมณ์ขี้เหนียว

    ในเมืองแห่งหนึ่ง มีพราหมณ์อภิมหามัจฉริยะ (จอมมหาขี้เหนียว) อยู่อย่างปอนๆ ใส่เสื้อผ้าราคาถูก กินอาหารพื้นๆ ราคาถูก ไม่มีเสียละที่จะขึ้นเหลา สั่งหูฉลาม ซุปเยื่อไผ่แพงๆ รสชาติอร่อยๆ มากิน ไม่ใช่ไม่อยาก แต่อยาก เห็นคนอื่นกินแล้วน้ำลายไหล แต่สามารถควบคุมความอยากของตนเอาไว้ได้

    วันหนึ่งเดินทางกลับจากเฝ้าพระมหากษัตริย์ แวะเยี่ยมบ้านเศรษฐีน้อย (คือ มีหุ้นน้อยกว่าตัวเอง ซึ่งมีมากเสียจนจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่) เห็นเศรษฐีน้อยบริโภคข้าวมธุปายาสอย่างดี ส่งกลิ่นหอมโชยมาต้องจมูกจนน้ำลายสอ อนุเศรษฐีจึงร้องเชิญว่า "ท่านเศรษฐี เชิญทานข้าวด้วยกัน ข้าวปายาสกำลังร้อนเชียวเชิญครับๆ"

    เศรษฐีกลืนน้ำลายเอื๊อก อยากกิน แต่นึกถึงวันข้างหน้าว่า ถ้าเรากินของเขาในวันนี้ วันหน้าเราก็จะต้องเลี้ยงเขาตอบ ทรัพย์เราก็จะร่อยหรอไปเปล่าๆ ว่าแล้วก็สั่นศีรษะดิกๆ ไม่ยอมกิน ทั้งๆ ที่ใจอยากกินแทบจะขาด

    จึงรีบลงจากเรือนของเศรษฐีน้อยๆ ถึงบ้านก็ไม่กินอะไรนอนห่มผ้าคลุมโปง ครางหงิงๆ

    ภรรยาทราบเรื่องสามีป่วยเพราะอยากกินข้าวมธุปายาสจึงร้องด้วยความสงสารว่า โถ พ่อ เรื่องแค่นี้ก็ทุกข์ร้อนด้วย เราไปซื้อข้าวมาหุงมธุปายาสกินเองก็ได้ จะเอาแค่ไหน เลี้ยงคนทั้งซอยก็ย่อมได้ สามีตาเหลือก ร้องว่า อย่าเชียวนะ เปลือง "ถ้าเช่นนั้นเลี้ยงเฉพาะเราสองคนก็ได้" สามีกล่าวต่อว่า เธอเกี่ยวอะไรด้วย เปลืองเปล่าๆ ให้ฉันกินคนเดียว

    "ถ้างั้นพี่จัดการเอง ขี้เหนียวแม้กับเมีย ไม่ยุ่งด้วยแล้ว"

    สามีจึงหาเครื่องปรุงข้าวมธุปายาส ออกไปหาทำเลหุงข้าวมธุปายาสใกล้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง ในป่าละเมาะนอกเมือง คิดว่าคงไม่มีใครมาเห็นและขอส่วนแบ่ง

    ท้าวสักกะเทวราช ผู้เคยเป็นพ่อของตาพราหมณ์ขี้เหนียวจึงจำแลงกายเป็นพราหมณ์เฒ่าหูหนวกเดินมาใกล้ๆ ร้องถามว่า ใครทำอะไรอยู่ เห็นควันไฟ สงสัยว่ากำลังหุงข้าวเลี้ยงพราหมณ์ใช่ไหม ฉันขอรับเศษข้าวของพวกพราหมณ์ด้วยจะได้ไหม

    พราหมณ์ขี้เหนียวร้องลั่น ไม่ใช่ๆ อย่าเข้ามา ไม่มีการเลี้ยงพราหมณ์ดอก "ว่าไงนะ จะหุงกินเองหรือ ถ้างั้นขอกินด้วยคน ไม่กินมากดอก"

    พราหมณ์ขี้เหนียวร้องลั่น "ไม่ใช่โว้ย ไอ้แก่หูหนวก ไปที่อื่น"

    ร้องอย่างไรพราหมณ์เฒ่าก็ทำท่าไม่ได้ยิน เดินเข้ามาจนได้แล้วกล่าวโศลกว่า...

    "มีน้อยควรให้น้อย มีปานกลางควรให้ปานกลาง มีมากแล้วค่อยให้มาก จงให้ทานด้วย กินเองด้วย กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข"

    พราหมณ์ขี้เหนียวกล่าวว่า ท่านพูดเข้าที ถ้าเช่นนั้นเราจะแบ่งให้นิดหน่อย จากนั้นปัญจสิขเทพบุตรก็มากล่าวโศลกว่า

    ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้วกินอาหารคนเดียว ผู้นั้นนับว่ากลืนกินเบ็ด หย่อนลงด้วยสายยาวๆ ท่านโกสิยะ เราขอเตือนสติท่านจงให้ทานด้วย จงกินด้วย ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้วกินคนเดียว ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุข"

    พราหมณ์กล่าวว่า "ท่านก็กล่าวเข้าที นั่งลง เราจะให้หน่อยหนึ่ง"

    จากนั้นมาตุลีเทพบุตรก็มากล่าวโศลกว่า...

    ใครรำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ทำการเซ่นสรวงแก่เทพทั้งหลาย ที่ท่าพหุกา ท่าคยา ท่าโทณะ หรือท่าใดก็ตาม ย่อมจะได้อานิสงส์บ้าง ท่านโกสิยะ เราขอเตือนสติท่าน จงให้ทานด้วย จงกินเองด้วย ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้วกินอาหารคนเดียว ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุข

    เศรษฐีขี้เหนียวกล่าวว่า ท่านก็พูดเข้าที นั่งลง ท่านจะได้หน่อยหนึ่ง

    เศรษฐีขี้เหนียว กำลังเผชิญกับอาคันตุกะผู้เหนียวกว่าไม่ยอมไปไหน นั่งรอส่วนแบ่งอยู่ด้วยกัน 5 คน คือ พระอินทร์จำแลงเป็นพราหมณ์เฒ่า สุริยเทพบุตร จันทเทพบุตร มาตุลีเทพบุตร และปัญจสิขเทพบุตร ต่างก็จำแลงกายเป็นหนุ่มหล่อมาขอส่วนแบ่ง

    เศรษฐียกหม้อมธุปายาสลงจากเตา กล่าวว่า พวกท่านจงเอาใบตองมา คิดให้คนละกระทงใบตองก็พอวะ จะได้ไม่เปลือง อาคันตุกะทั้ง 5 ยื่นมือเปล่าออกไป ใบตองตึงขนาดใหญ่มาอยู่ที่มือทันที เศรษฐีว่าใบไม้นั้นใหญ่ไป เอาใบตะเคียนก็พอ อาคันตุกะขอเอาใบตะเคียนมา แต่กลายเป็นใบตะเคียนยักษ์โตขนาดโล่ทหาร

    เศรษฐีจำใจเอาทัพพีตักให้คนละเล็กละน้อย ตักไปๆ ข้าวมธุปายาสพร่องลง เหลือติดหม้อนิดหน่อย เล่นเอาเจ้าภาพใจแป้วดูจะกินอิ่มหรือเปล่านี่ อะไรทำนองนี้

    ขณะนั้น ปัญจสิขเทพบุตรจำแลงกายเป็นสุนัขตัวใหญ่เดินเข้ามาจะถ่ายปัสสาวะใส่ข้าวมธุปายาส อาคันตุกะทั้งหลายก็เอามือปิดกระทงของตนไว้ เศรษฐีก็รีบปิด แต่สุนัขก็ถ่ายรดมือแกจนได้

    แกโกรธถือท่อนไม้ไล่ตีสุนัข มันวิ่งเร็วจนตามไม่ทัน วกมาปัสสาวะในหม้อข้าวมธุปายาสจนได้ คราวนี้สุนัขกลับเป็นผู้ไล่กัดเศรษฐี เศรษฐีหนีสุนัขแล้วมาขอให้อาคันตุกะทั้งหลายช่วยไล่สุนัขไป

    อาคันตุกะทั้งหมดก็ลอยขึ้นในอากาศ สำแดงตนให้ปรากฏ แกตกใจ ถามว่าพวกท่านเป็นใคร พระอินทร์กล่าวว่า นี้คือสุริยะเทพบุตร นี้คือจันทะเทพบุตร นี้มาตุลีเทพบุตร ส่วนสุนัขที่เยี่ยวใส่หม้อข้าวท่านคือปัญจสิขเทพบุตร ส่วนเราคือสักกะเทวราช

    พวกเราเห็นว่าท่านขี้เหนียวนัก มีทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ใช้สอยเอง ไม่เลี้ยงดูบุตรภรรยา และคนที่ควรเลี้ยงอย่างดี ที่เหลือก็ไม่จุนเจือสังคม บุญทานก็ไม่เคยทำ ท่านตายไปจะตกนรกหมกไหม้ เราจึงมาเตือนท่าน ท่านยกท่านขึ้นจากนรก

    ว่าแล้วก็หายวับไป เศรษฐีนึกสลดใจที่ตนไม่ทำประโยชน์อะไรให้แก่ตน คนอื่น และสังคม เพราะความขี้เหนียว รีบกลับบ้านประกาศให้ขนข้าวของจากคลังให้ทานแก่ยากจนวณิพกทั้งหลาย สร้างโรงทานสี่มุมเมืองเป็นการใหญ่ กลายเป็นคนละคนไปเลย

    จากนั้นไม่นาน เศรษฐีสร้างศาลาริมป่าหิมพานต์ ออกบวชเป็นนักพรต บำเพ็ญศีลภาวนาอย่างเคร่งครัด ตายไปไปเกิดเป็นเทพบริวารของท้าวสักกะเทวราช ท้าวสักกะเห็นหน้าก็จำได้ กล่าวอนุโมทนาในการกระทำของอดีตเศรษฐี ประทานนางเทพกัญญา นามว่า หิริเทวี ให้ปรนนิบัติ

    จุติจากสวรรค์แล้วมาเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี ในสมัยพุทธกาลนี้ ด้วยอุปนิสัยที่มีมาแต่ปางก่อน เขาเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า บวชมาแล้วเป็นพระที่ยินดีในการบริจาคทาน บิณฑบาตได้มาแล้ว ถ้าปฏิคาหก (ผู้รับทาน) มีอยู่ใกล้ ก็ไม่ยอมฉันภัตตาหารที่ได้มานอกจากจะให้แก่ปฏิคาหก

    พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญภิกษุรูปนั้นว่า เป็นผู้มีจิตใจเอื้ออารี เปี่ยมด้วยสาราณียธรรม แล้วตรัสเล่าสุธาโภชนชกดกให้ภิกษุทั้งหลายฟัง

    เรื่องก็จบลงเพียงเท่านี้ ท่านพระอรรถกถาจารย์นำนิทานเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพื่อแสดงว่า คนที่ตั้งตนไว้ผิด ภายหลังตั้งตนไว้ถูกอย่างเช่นเศรษฐีขี้เหนียวคนนี้ ภายหลังละทิ้งนิสัย "ตังเม" กลายเป็นคนใจบุญสุนทาน ก็ได้รับอานิสงส์มากมายดังกล่าวมา
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การตั้งใจฟังโดยมาก

    มงคลข้อต่อไปเกี่ยวกับ พาหุสัจจะ ความเป็นพหูสูต คือ คนที่ฟังมาก ศึกษามาก พูดให้เข้าใจคือ ผู้คงแก่เรียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเป็นคนคงแก่เรียนเป็นเหตุให้ถึงความเจริญ เพราะคนที่รู้ข้อมูลมากๆ ข้อมูลเหล่านั้นย่อมเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจในการนำมาพิจารณาเพื่อเกิดปัญญาอย่างแท้จริง

    พาหุสัจจะ การได้ศึกษามาก การมีข้อมูลมาก ยังมิใช่ปัญญาแท้จริงถ้าจะเป็นปัญญาก็แค่อนุโลมเท่านั้น การมีความรู้ระดับพาหุสัจจะไม่จำเป็นจะต้องบรรลุมรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าผู้บรรลุมรรค ผล นิพพานมีพาหุสัจจะเป็นพื้นฐานก็ย่อมมีประโยชน์ เพราะจะได้อาศัยความรู้ในเชิงวิชาการนั้นอธิบายประสบการณ์โดยตรงให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น

    ขอนำนิทานมาสาธกสักเรื่องดังนี้

    พระอานนท์พุทธอนุชา

    พระอานนท์...เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธเจ้า ออกบวชพร้อมกับเจ้าศากยะ เจ้าโกลิยะ และนายภูษามาลา รวมทั้งหมด 67 คน

    บวชมาแล้วก็มีความอุตสาหะ พยายามศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างดียิ่ง ได้บรรลุโสดาปัตติผล ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากตอนที่คณะสงฆ์สรรหาบุคคลเพื่อมารับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากถาวร

    พระสงฆ์ขอร้องให้ท่านรับหน้าที่นี้ เพราะไม่มีใครสามารถทำได้ดีเท่ากับท่านพระอานนท์

    พระอานนท์ขอเสนอเงื่อนไข 8 ข้อ สามในแปดข้อนั้นมีใจความว่า...

    เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาที่ใด ขอให้พระพุทธองค์พาท่านไปด้วย

    ถ้าไม่มีโอกาสไปฟัง เมื่อกลับมาแล้วขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงให้ฟังซ้ำด้วย

    ถ้าท่านเกิดมีความสงสัยในเรื่องใด ขอให้ประทานอนุญาตให้เข้าเฝ้าทูลถามให้หายสงสัยเมื่อนั้น

    เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ท่านพระอานนท์ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธองค์มากกว่าพระสาวกรูปใด เรียกได้ว่าไม่มีหัวข้อธรรมใดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ประชาชนจะหลุดรอดมันสมองของท่านพระอานนท์ไปได้ ท่านได้บันทึกไว้ในมันสมองของท่านหมดทุกเรื่อง ท่านจึงเป็นผู้รอบรู้ทรงจำพระพุทธวจนะได้มากที่สุด

    คุณสมบัตินี้เองที่พระมหากัสสปะมองข้ามไม่ได้ เมื่อท่านพระมหากัสสปะดำริทำสังคายนาครั้งที่ 1 รวบรวมพระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาได้ 499 รูป ยังขาดอีกรูปจึงจะครบ 500 ตามที่ตั้งใจไว้ ท่านจำต้องเว้น "ที่นั่ง" นี้ไว้เพื่อพระอานนท์

    ตอนนั้นพระอานนท์ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านมหากัสสปะจะรับก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ แต่จะเว้นท่านไม่เอาท่านมาร่วมเลยก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์รูปเดียวก็จะไม่สำเร็จสมบูรณ์

    เมื่อพระอานนท์รู้ตัวว่าท่านมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานใหญ่เช่นนี้ ท่านจึงตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียร (ความหมายก็คือคร่ำเคร่งฝึกสมาธิวิปัสสนาเป็นการใหญ่ ไม่พักไม่ผ่อนติดต่อกันหลายวัน) จนเหนื่อยอ่อน

    คืนวันหนึ่ง ขณะนั่งสมาธิ เดินจงกรมติดต่อกัน จนเวลาล่วงเลยตีหนึ่งสองยาม ท่านรู้สึกเมื่อยล้าต้องการจะพักสักเล็กน้อยแล้วค่อยมาทำต่อ พอท่านนั่งลงจะเอนกายลงพักผ่อน เท้าข้างหนึ่งยังไม่พ้นพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ท่านก็เกิด "ความสว่างโพลงภายใน" คือ บรรลุพระอรหัตตผลทันที

    การบรรลุพระอรหัตตผลของท่านจึงพ้นจากอิริยาบถทั้งสี่ คือจะอยู่ในระหว่างนั่งก็ไม่ใช่ ยืนก็ไม่ใช่ เดินก็ไม่ใช่ นอนก็ไม่ใช่

    ในการทำสังคายนาครั้งนั้นพระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นผู้วิสัชนาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ท่านได้เล่าให้ฟังถึงข้ออรรถข้อธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆ แก่ที่ประชุมสงฆ์ โดยไม่ผิดเพี้ยนเลย

    ความเป็นผู้ฟังมาก จำได้มาก ของพระอานนท์ จึงเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเองและพระพุทธศาสนาโดยรวม ด้วยประการฉะนี้...
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การศึกษาศิลปวิทยา

    มงคลข้อต่อไปเกี่ยวกับ ศิลปะเป็นเหตุให้บรรลุถึงความเจริญ

    เมื่อพระบาลีท่านใช้คำว่า "สิปปะ" (ศิลปะ)

    ดูเหมือนว่าท่านจำเพาะเจาะจงหมายถึง "ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ" ไม่ใช่เฉพาะเรื่องจิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ หากรวมถึงวิชาการทุกชนิดรู้ธรรมดาๆ ไม่เรียกว่ามีศิลปะ

    ต้องรู้ลึกซึ้งถึงกึ๋นและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงจะเรียกว่า "มีศิลปะ" ความเชี่ยวชาญอย่างนี้แม้จะวิชาหรือสาขาเดียวก็ยังชีพอยู่ได้อย่างสบาย

    ดังครูสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า "รู้อะไรให้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"

    นี้แหละครับ สิปปัญจะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง

    ลองฟังนิทานเรื่องนี้ดูครับ...

    บุรุษเปลี้ย

    บุรุษเปลี้ยคือคนแคระครับ แกเรียนศิลปะการดีดก้อนกรวดจนเชี่ยวชาญ ไม่ใช่แค่ดีดก้อนกรวดเล่นนะครับ แกสามารถเอาก้อนกรวดเล็กๆ ดีดใส่ใบไม้บนต้นไม้ ฉลุเป็นรูปสัตว์นานาชนิดได้สวยสดงดงามมาก ความเชี่ยวชาญระดับนี้ถึงจะมีรูปร่างแคระแต่ก็อาศัยยังชีพได้สบาย

    แกก็รับจ้างเด็กๆ ดีดฉลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ตามที่เด็กขอร้อง ได้ค่าจ้างทีละเล็กละน้อยพอยังชีพตามประสาคนยากจน

    ความเก่งกาจของบุรุษเปลี้ยลือกระฉ่อนไปไกลถึงพระกรรณของพระราชา พระราชาทรงมีปัญหาที่แก้ไม่ตกมาเป็นเวลานานพอได้ยินเรื่องบุรุษเปลี้ยดีดกรวดก็ทรงนึกอะไรขึ้นมาได้ รับสั่งให้มหาดเล็กไปตามหาบุรุษเปลี้ยผู้นั้นทันที

    ปัญหาอะไรหรือครับที่รบกวนพระราชหฤทัยของพระราชาจนถึงต้องสั่งให้ตามหาบุรุษเปลี้ย ปัญหาก็คือ ในพระราชสำนักมีปุโรหิตอยู่คนหนึ่ง มีความรู้ความสามารถดีมาก ทุกอย่างดีหมดแต่เสียตรงที่แกเป็นคนพูดมาก ลงได้พูดแล้วล่ะก็หยุดยาก จนพระราชาทรงรำคาญพระราชหฤทัย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจะให้ปุโรหิตปากมากสงบปากสงบคำได้

    บุรุษเปลี้ยคนนี้แหละจะช่วยได้ มหาดเล็กจึงไปตามหาบุรุษเปลี้ยที่ชนบท นำตัวมาเข้าเฝ้าพระราชา พระองค์ตรัสกับบุรุษเปลี้ยว่า ในวังมีคนพูดมากอยู่คนหนึ่ง เธอทำอย่างไรก็ได้ให้เจ้าหมอนั่นมันสงบปากให้ได้

    เมื่อบุรุษเปลี้ยกราบทูลว่าแกไม่สามารถทำได้ เพราะชั่วชีวิตแกก็รู้แต่วิชาดีดกรวดฉลุรูปสัตว์อย่างเดียว

    "เอ็งก็ลองเอาวิชาดีดกรวดอะไรของเอ็งดีดอะไรสักอย่างเข้าปากปุโรหิตเวลามันอ้าปากพูดชีวะ" พระราชาทรงแนะนำ

    บุรุษเปลี้ยจึงไปเตรียมมูลแพะ (ขี้แพะ) มาไว้ แล้วก็นั่งอยู่หลังม่านด้านหลังพระที่นั่ง เมื่อปุโรหิตเข้าเฝ้าถวายคำปรึกษา ปุโรหิตกำลังอ้าปากจะพูดบุรุษเปลี้ยก็ดีดขี้แพะด้วยความฉับไวเข้าปาก ปุโรหิตก็กลืนเอื๊อกเข้าลำคอไป ก็นึกว่ากลืนน้ำลาย พออ้าปากทีก็ดีดฉับเข้าไปอีกหนึ่งเอื๊อก อ้าอีกทีก็อีกเอื๊อก กว่าจะพูดจบก็รู้สึกว่าหนักท้องทีเดียว

    พระราชาตรัสถามว่า "เป็นไงท่านปุโรหิต วันนี้กินขี้แพะไปกี่ก้อน เต็มพุงเชียวนะ ฮะฮะฮ่าฮ่า" ทรงพระสรวลด้วยความสำเริงสำราญพระราชหฤทัยยิ่งนัก

    ตั้งแต่นั้นต่อมาปุโรหิตผู้ "ทอล์กคะถีพ" กลับกลายเป็นคนพูดน้อย สงบปากสงบคำดีมาก แทบจะเรียกว่า "ถีบ" ยังไม่ "ทอล์ก" เลย

    บุรุษเปลี้ยได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลอย่างงาม จนกลายเป็นเสี่ยเปลี้ยไปในบัดดล เพราะความเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการดีดก้อนกรวดเพียงอย่างเดียวแท้ๆ ที่บุรุษเปลี้ยแกได้อยู่ดีมีสุขถึงปานนี้

    แต่ต้องระวังอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อมีความเชี่ยวชาญในวิชาใดก็ตาม ต้องใช้ในทางที่ถูกต้อง สุจริต ยุติธรรม หาไม่แล้วจะประสบกับหายนะเอาได้ ดังนิทานเรื่องที่สอง
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    บุรุษนิรนาม

    บุรุษนิรนามคนหนึ่งเรียนศิลปะดีดก้อนกรวดจากจอมยุทธ์แคระจนเชี่ยวชาญ อาจารย์แคระกำชับว่าศิลปะนี้อย่านำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เบียดเบียนหรือฆ่าผู้อื่น บุรุษนิรนามก็รับปากอย่างดี

    แต่ด้วยความคะนอง วันหนึ่งเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งออกจากณาณสมาบัติเดินบิณฑบาตอยู่ บุรุษนิรนามอยากทดสอบความแม่นยำของตน กำลังมองหาเป้าเคลื่อนที่อยู่ พอเห็นพระปัจเจกพุทธะเดินมาก็คิดว่า ธรรมดาสมณะไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีครอบครัว ถึงเราดีดกรวดใส่หูตาย คงไม่มีใครทราบ คิดแล้วก็ดีดก้อนกรวดเข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวาด้วยความชำนาญ

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทนความเจ็บปวดไม่ไหว จึงได้ล้มลงมรณภาพ ณ ที่นั้นเอง ไม่มีใครทราบว่าพระท่านมรณภาพอย่างปัจจุบันทันด่วนเพราะอะไร เห็นแต่เลือดไหลออกจากหูทั้งสองดังท่อน้ำแตก แต่ไม่ทราบสาเหตุ

    ในเวลาต่อมา บุรุษนิรนามนั้นยังไปคุยอวดความเก่งของตัวว่าตัวเองนั้นมือแม่นขนาดไหน ขนาดดีดก้อนกรวดใส่หูพระรูปหนึ่งเข้าหูซ้ายทะลุหูขวายังกะจับวาง ไม่บอกไม่มีใครรู้นะว่าเป็นฝีมือของเขาเอง

    ประชาชนพอทราบเรื่องเข้าก็พากันรุมประชาทัณฑ์จนตาย

    นี่เพียงแค่ก้อนกรวดธรรมดาๆ ถ้าดีดเก่ง เชี่ยวชาญอย่างบุรุษเปลี้ยก็สามารถเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าให้ใช้ความเก่งนั้นในทางที่ผิด ก็ย่อมประสบหายนะดุจดังชายคนที่สองในเรื่องนี้แล
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    152
    ค่าพลัง:
    +147,907
    ๏ การมีวินัยที่ฝึกดีแล้ว

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า...ภิกษุที่ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ถูกสิ่งที่เห็นที่ได้ยิน ยั่วยวน ชวนให้เคลิบเคลิ้ม เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน ไม่ยินดียินร้าย ก็อยู่รอดปลอดภัย ดุจเต่ารอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของสุนัขจิ้งจอกฉะนั้น

    ดังนิทานเรื่องต่อไปนี้ เกี่ยวกับพระที่ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่ใช่พระภิกษุ แต่เป็นฤาษี นามว่า หาริตดาบส

    หาริตดาบส

    คราวหนึ่งพระราชาต้องไปปราบกบฏที่ชายแดน รับสั่งให้พระมเหสีสาวสวยช่วยดูแลอาหารบิณฑบาตให้พระคุณเจ้าแทน เหตุการณ์ก็เป็นไปตามปกติ

    อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากเตรียมสำรับกับข้าวจะถวายพระแล้ว มเหสีก็ทรงสรงสนานเสร็จ และก็กำลังแต่งองค์ทรงเครื่องอยู่

    หลวงพ่อฤาษีท่านมาเร็วไปหน่อย เหาะลงมายังตำหนักลดเพดานลงมาเรื่อยๆ เสียงปะทะผ้า "คากรอง" (เครื่องนุ่งห่มของฤาษี) ดังพับๆๆ พระมเหสีตกใจผุดลุกขึ้นจะเข้าไปในห้องส่าหรีหลุด ขณะพระมเหสีกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องอยู่

    หลวงพ่อแลเห็นพอดี เสียสำรวม หล่นตุ๊บลง ดีว่าใกล้ถึงพื้นอยู่แล้ว ไม่เป็นไรมาก จากนั้นตำราก็ว่าไว้สั้นๆ ว่า "แล้วทั้งสองก็ถึงศีลวิบัติ" understood ว่างั้นเถอะ ฉันเสร็จฌานเสื่อม ต้องเดินกลับ เหตุการณ์ก็เป็นมาเรื่อยๆ จนเสียงลือแซดไปหมด แฟ็กซ์บ้าง มือถือบ้าง ทำงานหนัก ว่างั้นเถอะ

    พระราชาเสด็จกลับมาทรงทราบเรื่อง ก็ไปจับเข่าฤาษีถามว่า จริงหรือเปล่าที่เขาลือกัน ฤาษีแกก็ชื่อดีนะ ตอบว่า "จริงขอถวายพระพร" อาตมาเสียสำรวมไปหน่อย

    ขอโอกาสสักพัก ว่าแล้วก็ปิดประตูกระท่อม นั่งเข้าฌานสักพักหนึ่งก็บรรลุฌานขั้นสูง ไม่เสื่อมอีกต่อไป แล้วเปิดประตูกระท่อมออกมาแสดงธรรมให้พระราชาฟัง เรื่องการไม่สำรวมระวังในกาม มันทำให้ชีวิตพรหมจรรย์มัวหมอง เสียพระ เสียผู้เสียคน อาตมาก็เกือบไปแล้ว ว่าอย่างนั้น
     

แชร์หน้านี้

Loading...