นิพพานัง ปรมัง สุญญัง (ความดับไม่มีเชื้อเป็นความว่างอย่างยิ่ง)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supanon2011, 2 กรกฎาคม 2012.

  1. supanon2011

    supanon2011 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มิถุนายน 2011
    โพสต์:
    133
    ค่าพลัง:
    +84
    เมื่อเดือนที่แล้วได้ไปทำบุญไหว้พระที่สำนักเซ็นมี่สิงถัง(มหายาน) ซึ่งอยู่ในเมืองไทยนี่แหละได้หนังสือแจกชื่อว่า"ภพแห่งสุญญตา"อ่านดูแล้วมีลีลาภาษาท่วงทำนองธรรมคล้ายๆกับเถรวาทของไทย เมื่อท่านผู้เฒ่าซึ่งเป็นนักธรรมะพิจารณาดูแล้วผ่าน ก็เลยเป็นเรื่องของนักธรรมโม้อย่างผู้เขียน มานำเสนอกับผู้สนใจในการศึกษาและปฏิบัติทางพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาในธรรมให้สูงยิ่งๆขึ้นไป รูปแบบการเขียนจะนำเสนอของหลวงปู่ ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ซึ่งพุทธศาสนิกชนเชื่อกันว่าเป็นพระอริยะเจ้าองค์หนึ่งในเมืองไทย เนื่องจากลีลาในการแสดงธรรมคล้ายๆกัน จะนำเสนอเป็นตอนๆเหมือนลครซีรี่ส์ คงไม่ใช่แบบเกาหลีหรือไทยเพราะมันมั่วๆกันอยู่ ส่วนคนที่มีหน้าที่ต้องนำไปลงต่อ ก็จงทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ผลบุญกุศลจะได้คุ้มครอง หากตอนที่จะตายจิตสามารถเกาะผลบุญนี้ได้ รับรองว่าไม่ไปอบายภูมิ

    เรื่องนี้ให้ชื่อว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง (ความดับไม่มีเชื้อเป็นความว่างอย่างยิ่ง)เริ่มตอนแรก สำนักเซ็นฯกล่าวว่า"สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นไปตามธรรมชาติคือมีเหตุปัจจัยก็เกิดการรวมตัว เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยก็จะดับสูญ ผู้ที่มีปัญญาที่เข้าถึงสุญญตาอย่างครบสมบูรณ์เท่านั้นจึงจะบรรลุความรู้แจ้ง"มีผู้คงแก่เรียนได้ไปถามหลวงปู่ดูลย์พระอริยะเจ้าแห่งวัดบูรพารามจ.สุรินทร์ ว่าคำกล่าวหรือคำเทศน์ของท่านดูคล้ายนิกายเซ็น ท่านตอบว่าสัจจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัจจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เมื่อมีนักปราชญ์สรรหาคำพูดที่สมบูรณ์ในการอธิบายสัจจธรรม เราย่อมต้องอาศัยแนวทางในสัจจธรรมที่ตนเองเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดนำเผยแผ่ต่อผู้ที่มุ่งสัจจธรรมออกไปอีก โดยไม่คำนึงถึงหรือไม่ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดๆเลยแม้แต่น้อย (มรรคผลคงไม่ได้เกิดจากการพูดการคิดกระมัง ถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิด)

    ตอนที่2สำนักเซ็นฯนี้กล่าวว่าการบำเพ็ญพุทธธรรมนั้นสำคัญอยู่ที่พิจารณา ภาวะแห่งตนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสังขตธรรม(สิ่งปรุงแต่ง)ทั้งหลาย เมื่อเห็นภาวะแห่งตนแล้วก็จะเริ่มมุ่งสู่ปัญญาแห่งพุทธะ น่าเสียดายที่ผู้บำเพ็ญส่วนใหญ่จะคลำหาอยู่ใน84000พระธรรมขันธ์ ระหว่างนั้นก็ยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งตกอยู่ในสังขตธรรม เวียนว่ายไปในวัฏฏะ ถ้าหากสามารถมองเห็นภาวะแห่งตนปราศจากการยึดติดใดๆ โดยมีจิตเป็นตัวสท้อนให้เห็นสรรพสิ่งก็จะเริ่มเข้าสู่พุทธธรรม หลวงปู่ดูลย์เคยกล่าวเตือนว่านักปฏิบัตธรรมนั้นปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริงนั่นคือ"จิต"ให้กำหนดดูที่จิตให้เข้าใจจิตของตนอย่างลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจได้ลึกซึ้งแล้วนั่นเป็นหลักธรรม ผู้ใดหลงไหลยึดติดในตำราอาจารย์ไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ก็ต้องอาศัยตำราอาจารย์เช่นกัน

    ตอนที่3สำนักเซ็นฯนี้ใช้ปรัชญาปารมิตตาหฤทัยสูตรเป็นแนวทางการปฏิบัติ เป็นธรรมะแห่งปัญญาโพธิ หลักสำคัญคือ"จากจิตสู่จิต"จิตนั้นหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เหนือกาละเทศะ อาศัยกายเนื้อที่มีอยู่บำเพ็ญให้บรรลุธรรมกายจิตดั้งเดิม จึงจะเป็นมูลฐานในการเรียนรู้พุทธะ เพื่อการหลุดพ้นจากความเกิดความตาย อันเป็นหลักคิดและเป็นกิจในการบำเพ็ญพุทธธรรม หลวงปู่ดูลย์สอนว่าการดูจิตนั้นสำคัญมาก ถ้าอ่านจิตตนเองได้แล้วก็จะเห็นอริยะสัจจ์แห่งจิต ทุกข์ก็เกิดที่จิต ตัณหาคือสมุทัยก็เกิดที่จิต นิโรธนิพพานก็ประจักษ์ที่จิต อริยะมรรคก็ดำเนินอยู่ที่จิต ถ้าเห็นเข้ามาที่จิตตนเองการปฏิบัติก็ลัดสั้นนิดเดียว

    ตอนที่4สำนักเซ็นฯนี้มีแนวกรอบกว้างๆคือหลักไตรธรรมลักษณ์ คือสรรพสิ่งอนิจจัง สัพพธรรมไร้อัตตา นิพพานสันตินิรันดร์ หลวงปู่ดูลย์สอนอยู่เสมอว่า ให้ทำความเข้าใจกับสภาวะธรรมอย่างชัดแจ้งในความเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง สลายไป อย่าได้ทุกข์โศรกเพราะสภาวะเหล่านั้นเป็นเหตุ หัวข้อกัมมัฏฐานที่ท่านให้พิจารณาอยู่เสมอก็คือสัพเพสังขารา สัพเพสัญญา อนัตตา(แปลว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง ความจำได้หมายรู้ทั้งปวง ล้วนไม่ใช่อัตตาหรือไร้อัตตา)

    ตอนที่5หลักบำเพ็ญจิตของสำนักเซ็นฯนี้คือผู้บำเพ็ญต้องเห็นสัจจธรรมจากจิตแห่งตน ภูมิจิตเหมือนสุญญตากาศไม่มีการยึดติดแม้หนึ่งธุลี เมื่อปรมาจารย์แห่งนิกายเซ็นแนะนำให้พิจารณาเข้าสู่ปัญญาปารมิตตาชั้นสูง ก็จะเห็นขันธ์ห้าเป็นความว่าง เมื่อขันธ์ห้าว่างอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงจะเข้าสู่ประตูแห่งสุญญตาได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระมหาเถระฝ่ายวิปัสสนาได้ไต่ถามหลวงปู่ฯว่าจะต้องปฏิบัติถึงขั้นไหน จึงสิ้นภพสิ้นชาติตัดวัฏฏะสงสารได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านตอบว่า"พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาหรือพฤติแห่งจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล"ตอนต่อไปก็จะเป็นธรรมของหลวงปู่ดูลย์อย่างเดียว(เก็บความมาจากข้อเขียนของท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์)

    ตอนที่6 มีครั้งหนึ่งหลวงปู่ดูลย์ไปธุดงค์กับเด็กน้อยลูกศิษย์ เห็นสัตว์ต่างๆวิ่งหนีกันจ้าละหวั่นแม้กระทั่งงูจงอาง ท่านกับลูกศิษย์ก็หลบไปคอยดู ต่อมาก็เห็นพญาตะขาบตัวใหญ่ยาวประมาณวากว่าๆเลื้อยผ่านมา ท่านจึงสอนเด็กน้อยลูกศิษยืของท่านว่า บุคคลผู้มีปัญญาแม้มีอำนาจในโลก ต้องไม่มัวเมาผยองหยิ่งว่าหาผู้เสมอเหมือนตนมิได้ ส่วนผู้ที่ประสบภัยพิบัติหรือตกอยู่ในภาวะอับจน ก็ไม่ควรหมดอาลัยตายอยาก ควรทำจิตใจให้สงบตั้งมั่นอยู่ ก็จะค่อยๆหาทางออกให้แก่ตนได้ เพราะทุกปัญหาต้องมีทางออกและทางแก้ของมัน สัตว์เมื่อตื่นภัยสามารถสื่อสารถึงกันได้ และไม่ทำอันตรายกัน แต่มนุษย์นั้นโหดร้ายนอกจากมุ่งร้ายเฉพาะหน้าแล้ว ยังมีการประทุษร้ายลับๆด้วยวิธีการสารพัด

    ตอนที่7 มีวันหนึ่งสามเณรน้อยกับสามเณรใหญ่สองรูปเถียงกันเรื่องจิตพระอรหันต์ เมื่อความทราบถึงหลวงปู่ฯท่านอธิบายว่า จิตมีสภาพรับรู้อารมณ์ ตราบใดที่มีจิตการรับรู้อารมณ์ย่อมมีเป็นธรรมดาโดยไม่ต้องสงสัย บุคคลธรรมดารับรู้อารมณ์อย่างใดพระอรหันต์ก็รับรู้อารมณ์อย่างนั้น ที่ต่างจากบุคคลทั่วไปคือจิตของท่านไม่มีเมฆหมอกแห่งกิเลสปกคลุม กล่าวคือท่านหมดความยึดมั่นถือมั่นโดยสิ้นเชิง ไม่มีทั้งความพอใจและความรังเกียจในสิ่งใดๆ ดังนี้จึงเรียกว่านิพพาน จิตของท่านเป็นอิสระอยู่เหนือความดึงดูดและผลักดันของสรรพสิ่ง เป็นอิสระชั่วนิรันดร์

    ตอนที่8 ในเรื่องวัตถุมงคลความศักดิ์สิทธิ์เคยมีคนไปถามหลวงปู่ฯท่านตอบว่า"มันก็ดีเป็นการช่วยกำลังใจ แต่ก็เป็นภาระที่ต้องเก็บรักษาดูแล ในที่สุดก็ต้งละต้องทิ้งไป"ท่านสรุปในตอนท้ายว่า"จงเอาในสิ่งที่เอาได้ จงอย่าเอาในสิ่งที่เอาไม่ได้"

    ตอนที่9 หลักคำสอนการภาวนาที่สอนพระมงคลวัฒนคุณเมื่อครั้งเป็นสามเณรว่า ในการปฏิบัติให้ปฏิบัติที่จิตที่ใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้ นั่นคือมีสติกำกับใจให้เป็นสติถาวร เปรียบเหมือนหลอดไฟที่สว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เดี๋ยวสว่างเดี๋ยวดับ หรืออยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา ท่านให้ภาวนาว่า"พุทโธ"รู้อยู่ที่พุทโธไม่ให้ส่งใจไปรู้สิ่งอื่นอย่างอื่น พุทโธหมายถึงรู้ ตื่น เบิกบาน นั่นคือตัวสติ ท่านสอนต่อว่าใจนี้ไม่ได้ต้องอยู่จำเพาะตรงนั้นตรงนี้ คำว่าใจอยู่กับใจหมายถึงคิดตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น ความคิดคือตัวจิตตัวใจ เรื่องมีแค่นี้แต่มีคำอธิบายเรื่องนี้ของครูบาอาจารย์ต่อว่า เวลาจิตฟุ้งซ่านมากอย่าไปทำเพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้ไม่มีกำลังใจในการทำครั้งต่อไปอีกเมื่อสามารถกำหนดพุทโธไปได้เรื่อยๆด้วยความสบายๆ ในที่สุดคำภาวนาพุทโธก็จะหายไป ไม่ต้องมาภาวนาพุทโธอีก พุทโธดับเมื่อตอนที่จิตอยู่จุดไหนก็ระลึกรู้ในจุดนั้น ท่านให้สังเกตุพฤติ(กิริยา)แห่งจิตไปเรื่อยๆอะไรเกิดขึ้นก็รู้แล้วละวางไม่ต้องไปปรุงแต่ง เมื่อมีสติรู้แบบนี้ไปเรื่อยๆเนืองๆบ่อยๆ ก็จะเข้าใจได้เองว่ากิเลสปรุงจิตหรือจิตปรุงกิเลส ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆเนืองๆบ่อยๆ จิตก็จะเข้าสู่มรรคผล ขอจบด้วยคำสอนของหลวงพ่อพุธ ฐานิโยว่า การปฏิบัติไม่มีอะไรมาก"จิตมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก"แค่นี้เท่านั้น เมื่อรู้แล้วก็ปล่อยวางเสียอย่าไปเอาในสิ่งที่เอาไม่ได้หลวงปู่สอนไว้

    ตอนสุดท้าย เรื่องนิพพานนังปรมังสุญญังก็จบลงไปแล้ว แต่ท่านผู้เฒ่าให้เขียนตอนนี้ขึ้นมาเพื่อให้เรื่องสมบูรณ์เพียงพอ ที่ท่านผู้อ่านผู้อ่านจะใข้วิจารณญาณ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์กับตน เป็นการรับผิดชอบในสิ่งที่เขียน ในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนาไม่ว่านิกายใดๆ ท่านจะใช้หลักคือศิลการไม่เบียดเบียน สมาธิความตั้งใจมั่นเพื่อเป็นฐานของปัญญาในการพ้นทุกข์ อันเรียกกันว่า"สัมมาสมาธิ"และปัญญารู้ยิ่งเห็นจริงตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือรู้แจ้งเห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น ส่วนวิธีการปฏิบัติก็แตกต่างกันไปตามจริตวิสัย ท่านผู้เฒ่าบอกต่อจากประสบการณ์ ท่านได้ไปเสวนากับนักปฏิบัติหลายสำนัก พอจะสันนิษฐานถึงความน่าจะเป็น(ขัดท่านว่าทำไมครับ ท่านตอบว่าในการปฏิบัติเราจะรู้จริงเฉพาะที่เราทำได้จริง ส่วนที่เราไม่ได้ทำจริงเราไม่รู้ มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่รู้จริง ดังนั้นจึงต้องเอาพระธรรมเป็นแบบ "จึงต้องใช้คำว่าน่าจะเป็น"จึงจะเป็นสัมมาวาจา)การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์นั้น ไตรธรรมลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุม ประตูแรกที่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ต้องเดินผ่านคือ อนิจจังความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่สัมผัสได้ง่าย ในวิปัสสนาญาณ9คือ อุทยัพพยนุปัสสนาญาณและภังคานุปัสสนาญาณ เมื่อเห็นอนิจจังชัดแจ้งตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็นแล้ว จะเห็นทุกขังภาวะที่ถูกเบียดเบียนบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ(หรือการปรุงแต่ง) และจะทำให้เห็นอนัตตา ความไร้อัตตาตัวตน บุคคล เรา เขา เพราะเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปมันก็ดับไปตามเรื่องของมัน ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ส่วนในการปฏิบัติต่อจากนี้ไปใครจะทำอย่างไรแบบไหน ก็เป็นไปตามการเรียนรู้และศรัทธาของตน..
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 กรกฎาคม 2012

แชร์หน้านี้

Loading...